fbpx
ความสุขและความทุกข์ในเศรษฐกิจไทย

ความสุขและความทุกข์ในเศรษฐกิจไทย

วิมุต วานิชเจริญธรรม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพประกอบ

 

1.

ทุกวันนี้ เราเห็นได้ว่า ผู้ขับรถส่งอาหารที่วนเวียนมายืนรอหน้าร้านอาหารนั้น มีจำนวนมากกว่าลูกค้าที่เข้ามารับประทานในร้านเสียอีก ไม่ว่าจะเป็นร้านก๊วยเตี๋ยวเรือหน้าปากซอย หรือร้านสุกี้ในห้างสรรพสินค้า

นี่เป็นเพราะวิถีชีวิตรูปแบบใหม่ของผู้บริโภคเมืองกรุง ที่ปักหลักอยู่บ้านมากกว่าจะออกไปเสี่ยงกับการติดเชื้อโควิด-19 นอกบ้าน และการปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคนี้ก็ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและตลาดแรงงานอย่างมหาศาลในช่วงปีที่ผ่านมา

ธุรกิจส่งอาหารและร้านค้าออนไลน์เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคได้ดีในยามที่ต้อง ‘อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ’ แต่ธุรกิจในวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมอย่าง ร้านค้าปลีก สนามกีฬา หรือโรงหนัง กลับประสบปัญหาขาดรายได้จนถึงขั้นต้องปิดกิจการและเลิกจ้างงานไปก็มี เพราะเมื่อคนไม่เข้าห้างเพื่อทานอาหาร บรรดาร้านค้าและโรงหนังในห้างสรรพสินค้าก็พลอยเสียลูกค้าไปด้วย

เมื่อจำนวนคนใช้บริการในสถานที่ดังกล่าวลดน้อยลง พนักงานในบางตำแหน่งจึงกลายเป็นส่วนเกินของธุรกิจ อาทิ พนักงานเสิร์ฟอาหาร พนักงานทำความสะอาดในร้านอาหาร และพนักงานในโรงภาพยนตร์ เป็นต้น ดังนั้นการปลดคนงานออกจึงเป็นสิ่งที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

เป็นวิบากกรรมสำหรับคนทำงานและผู้ประกอบการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากวิถีชีวิตดั้งเดิมสู่ยุคสมัยของวิถีใหม่

 

2.

“สวนดุสิตโพล เผย!!! ประชาชนมีความสุขในช่วงโควิด-19”

ข้อความข้างต้นนี้เป็นพาดหัวข่าวที่ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 ทำเนียบรัฐบาล นำมาเผยแพร่ผ่านทางสื่อต่างๆ เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2564 แน่นอนว่าการโปรยหัวข่าวเช่นนี้ย่อมทำให้ผู้คนตั้งข้อสงสัยว่าไปสำรวจใครที่ไหนกัน ใครจะมามีความสุขในช่วงโควิด-19 นี้

สวนดุสิตโพลสำรวจความเห็นประชาชนผ่านช่องทางออนไลน์ โดยใช้คำถามว่า “ในยามทุกข์จากโควิด-19 เราเชื่อว่าท่านน่าจะมีความสุขอยู่บ้าง โปรดบอกความสุขของท่านมา 3 อย่าง” ถ้าอ่านคำถามกันดีๆ เราจะเห็นว่า สวนดุสิตโพลต้องการค้นหาสิ่งที่พอจะช่วยเยียวยาจิตใจประชาชนในช่วงเวลาที่มี ‘ทุกข์’ มากกว่าที่จะพยายามสำรวจจำนวนคนมี ‘สุข’ ดังที่ศูนย์ข้อมูลฯ นำมาเผยแพร่

สวนดุสิตโพลรายงานผลสำรวจว่า ความสุขของชาวไทยในช่วงโควิดคือ การ “มีเวลาให้ตัวเอง” และ “ได้อยู่กับครอบครัว” มากขึ้นกว่าแต่ก่อน รวมทั้ง “ไม่ต้องตื่นเช้า” เพื่อเร่งรีบออกไปเผชิญกับรถติดในเมืองกรุง

เราคงพอจะคาดเดากันได้ว่า ที่คนเลือกตอบเช่นนี้เป็นเพราะช่วงที่ผ่านมาต้องปรับการใช้ชีวิตจากวิถีปกติดั้งเดิมมาเป็นการ Work from Home หรืออยู่บ้านเรียนออนไลน์กัน ซึ่งตามจริงแล้ว การทำงานและการเรียนทางไกลนั้นก็ไม่ใช่เรื่องสนุกสนานแต่อย่างใด ตรงกันข้ามกลับสร้างความเหนื่อยล้าและบั่นทอนสภาพจิตใจยิ่งกว่าการทำงานหรือการเรียนตามวิถีดั้งเดิม

ไม่เพียงเท่านั้น การทำงานหรือเรียนหนังสือที่บ้าน ทำให้ร้านอาหารหรือร้านค้าในบริเวณใกล้เคียงที่ทำงานหรือสถานศึกษาต้องสูญเสียลูกค้าจำนวนมากไป ซึ่งนั่นส่งผลให้รายได้ของกิจการต้องหดหายตามไปด้วย

คนอยู่บ้านก็ไม่ได้มีความสุขเต็มร้อย หลายธุรกิจก็สูญเสียรายได้ ดังนั้นสิ่งที่ศูนย์ข้อมูลฯ ทึกทักว่าเป็น ‘ความสุข’ แท้ที่จริงกลับเจือปนด้วยความทุกข์เข็ญที่มากโข

 

3.

เมื่อพูดถึงความทุกข์ทางเศรษฐกิจมหภาค นักเศรษฐศาสตร์มีตัวชี้วัดหนึ่งที่เรียกกันว่า ‘ดัชนีความทุกข์’ (Misery Index) ที่ช่วยให้เราเห็นความรุนแรงของความยากลำบากทางเศรษฐกิจที่ผู้คนเผชิญอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง

ดัชนีความทุกข์นี้ถูกคิดค้นขึ้นโดยนักเศรษฐศาสตร์นามว่า อาเธอร์ โอกุน (Arthur Okun) ในช่วงต้นทศวรรษ 1970s โอกุนได้นำเอาตัวเลขของปัญหาเศรษฐกิจหลักที่คุกคามความเป็นอยู่ของคนอเมริกันในยุคนั้น ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ และอัตราว่างงาน มาคิดรวมกัน

ด้วยความที่ดัชนีความทุกข์เป็นตัวเลขที่เข้าใจง่าย สามารถสื่อให้สาธารณะเข้าใจถึงความรุนแรงของปัญหาทางเศรษฐกิจหลักๆ ได้อย่างไม่ซับซ้อน ดัชนีนี้จึงถูกใช้เป็นตัวชี้วัดผลงานในด้านเศรษฐกิจของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในยุคสมัยต่อๆ มาด้วย

ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงปี 1980 ซึ่งเป็นช่วงปลายสมัยของประธานาธิบดี จิมมี คาร์เตอร์ อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ คิดเป็นร้อยละ 12.5 แต่ในขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ก็ได้เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทำให้มีอัตราการว่างงานสูงถึงร้อยละ 7.2 เมื่อรวมตัวเลขทั้งสองเข้าด้วยกัน จะได้ค่าดัชนีความทุกข์เท่ากับ 19.7

ตัวเลขนี้ถูกนำไปใช้โจมตีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจของคาร์เตอร์ เนื่องจากค่าดัชนีความทุกข์ในปีที่คาร์เตอร์เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเท่ากับ 12.7 นั่นหมายความว่าปัญหาเศรษฐกิจได้เลวร้ายลงมากในช่วง 4 ปีที่เขาเป็นประธานาธิบดี และนั่นเป็นเหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้คาร์เตอร์พ่ายการเลือกตั้งให้กับโรแนลด์ เรแกนจากพรรครีพับลิกันในปีนั้น

หลังจากนั้นก็มีการเสนอตัวชี้วัดที่ครอบคลุมมากขึ้น ในปี 1999 ศาสตราจารย์ โรเบิร์ต แบโร (Robert Barro) แห่งมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ได้เสนอให้รวมอัตราดอกเบี้ยและส่วนเบี่ยงเบนจากค่าแนวโน้มของอัตราเติบโตจีดีพีสหรัฐฯ ไว้ในการคำนวณด้วย ต่อมาในปี 2011 สตีฟ แฮงกี้ (Steve Hanke) นักวิชาการเศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ ได้ปรับปรุงวิธีคำนวณโดยต่อยอดจากแนวคิดของแบโร และเผยแพร่ออกมาเป็นรายงานอันดับประเทศเรียงตามค่าของดัชนีความทุกข์ โดยตั้งชื่อว่า Hanke Annual Misery Index (HAMI)

ตามแนวคิดของแฮงกี้ สิ่งที่สร้างความทุกข์ให้กับคนในระบบเศรษฐกิจประกอบด้วย ค่าครองชีพที่สูง (สะท้อนด้วยค่าอัตราเงินเฟ้อ) การที่ประชาชนเผชิญต้นทุนการกู้ยืมที่แพง (สะท้อนด้วยอัตราดอกเบี้ย) และการที่คนไม่มีงานทำ ขาดรายได้ (ซึ่งชี้วัดได้ด้วยอัตราการว่างงาน) ในขณะที่การขยายตัวทางเศรษฐกิจถือเป็นสิ่งที่ช่วยบรรเทาความลำบากในทางเศรษฐกิจได้ ดังนั้นดัชนีความทุกข์ของแฮงกี้ (HAMI) จึงเกิดจากการรวมอัตราเงินเฟ้อ อัตราดอกเบี้ย และอัตราว่างงานเข้าด้วยกัน แล้วหักลบด้วยอัตราการขยายตัวของจีดีพี (เขียนเป็นสูตรคำนวณได้คือ อัตราเงินเฟ้อ + อัตราดอกเบี้ย + อัตราว่างงาน – อัตราขยายตัวของจีดีพี)

อันดับของประเทศที่มีค่าดัชนีความทุกข์ (HAMI) สูงสุด 5 อันดับแรกในปี 2019 เป็นดังนี้

 

ประเทศ ปัจจัยสำคัญ ค่าดัชนีความทุกข์ (HAMI)
เวเนซุเอลา อัตราเงินเฟ้อ 7,459
อาร์เจนตินา อัตราดอกเบี้ย 1,361
อิหร่าน อัตราเงินเฟ้อ 75
บราซิล อัตราดอกเบี้ย 52.3
ยูเครน อัตราดอกเบี้ย 31.4

 

ส่วนอันดับท้ายตารางนั้นเป็นกลุ่มประเทศที่มีดัชนีความทุกข์ต่ำ โดยสามอันดับบ๊วยล้วนเป็นประเทศในเอเชียทั้งสิ้น

 

ประเทศ ปัจจัยสำคัญ ค่าดัชนีความทุกข์ (HAMI)
สิงคโปร์ อัตราดอกเบี้ย 8.4
ไทย อัตราดอกเบี้ย 3.7
ญี่ปุ่น อัตราว่างงาน 3.2

 

ในปี 2019 ไทยมีดัชนีความทุกข์ต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ของโลก เป็นรองเพียงญี่ปุ่นเท่านั้น หากเทียบดัชนีความทุกข์ระหว่างไทยกับเวเนซุเอลาแล้ว จะเห็นถึงความแตกต่างราวฟ้ากับดิน ไทยเรามีค่าดัชนีน้อยนิดเพียง 3.7 ในขณะที่ดัชนีความทุกข์ของเวเนซุเอลานั้นเหยียบหลัก 7 พันกว่าๆ สาเหตุหลักคือ เวเนซุเอลามีปัญหาเศรษฐกิจเรื้อรังและมีอัตราเงินเฟ้อสูงที่สุดในโลกในตอนนี้ ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราเงินเฟ้อในปี 2019 เพียงร้อยละ 0.71 เท่านั้น และยังมีอัตราว่างงานต่ำมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลกอีกด้วย โดยอยู่ที่เพียงร้อยละ 0.75 ในปีนั้น

หากใช้ดัชนีความทุกข์ตามนิยามของโอกุน เราจะพบว่า ในปี 2019 ดัชนีความทุกข์ของไทยจะค่าเพียง 1.46 ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเทศที่มีค่าดัชนีต่ำที่สุดในโลก จนหนังสือพิมพ์ในบ้านเรายกให้เป็นประเทศที่มีความสุขมากที่สุดในโลกไปเลย (คงมองในมุมกลับว่า การมีทุกข์น้อยคือมีสุขมากนั่นเอง)

 

4.

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีคนพยายามบอกว่า นี่เป็นความสำเร็จในด้านการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาลปัจจุบัน ที่สามารถทำให้ไทยเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก (ถ้าจะเรียกให้ถูกต้องคือมีค่าดัชนีความทุกข์ต่ำที่สุด) อย่างไรก็ดี การจะยกเครดิตให้กันแบบนั้นคงไม่ถูกต้องเท่าไหร่นัก ด้วยเหตุผลหลัก 2 ประการ

ประการที่หนึ่ง การที่ไทยมีอัตราเงินเฟ้อต่ำมีที่มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น

1) บทบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยในการดำเนินนโยบายการเงินแบบเป้าหมายเงินเฟ้อที่สัมฤทธิ์ผลจนทำให้คนไทยมีการคาดการณ์เงินเฟ้อที่ต่ำ ซึ่งดีต่อเสถียรภาพด้านราคา

2) แนวโน้มราคาสินค้าโภคภัณฑ์และพลังงานในตลาดโลกที่มีเสถียรภาพและอยู่ในระดับต่ำกว่าในอดีต

3) ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในยุคโลกาภิวัฒน์ที่เพิ่มการแข่งขันในตลาด จนผู้ขายต้องแย่งลูกค้าด้วยวิธีการลดราคาอย่างดุเดือด

ประการที่สอง อัตราการว่างงานของไทยไม่ได้สะท้อนภาพตลาดแรงงานอย่างครบถ้วน ดังที่ได้เขียนไว้ในบทความก่อนหน้า แรงงานจำนวนมากที่ถูกจัดว่ามีงานทำ มีชั่วโมงทำงานเพียงแค่ 1 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ เรียกได้ว่ามีงานทำแต่รายได้ไม่พอเลี้ยงชีพ

ทั้งสองเหตุผลชี้ชัดว่า ค่าดัชนีที่ต่ำนั้นไม่ใช่ผลงานของรัฐบาลปัจจุบันแต่อย่างใด ตรงกันข้าม หากเรานับรวมกลุ่มแรงงานที่ ‘เสมือนว่างงาน’ (แรงงานที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน) กับคนที่ไม่มีงานทำแล้ว อัตราว่างงานของไทยเราจะสูงกว่าที่ปรากฏมาก

ในบทความ ‘ผลกระทบโควิด 19 ต่อตลาดแรงงานไทย‘ โดย ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ และคณะ ได้ชี้ว่า จำนวนผู้ว่างงานทั้งประเทศในไตรมาสที่ 2 ของปี 2563 นั้นมีจำนวนถึง 745,176 คน ซึ่งสูงกว่าจำนวนที่พบในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนหน้า แต่หากนับจำนวนผู้ที่ทำงานน้อยกว่า 4 ชั่วโมงต่อวัน จะพบว่ามีมากถึง 5,311,407 คน เทียบกับผู้เสมือนว่างงานในปีก่อนหน้าที่มีจำนวนเพียง 2,021,913 คน (ดูรูปภาพที่ 1 ประกอบ)

 

รูปภาพที่ 1 : จำนวนผู้ว่างงานและเสมือนว่างงาน ไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 และ 2563

 

เราจะเห็นได้ว่า ปีที่ผ่านมา จำนวนคนว่างงานและเสมือนว่างงานเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งย่อมทำให้ดัชนีความทุกข์ของประเทศไทยมีค่ามากขึ้นหรือทุกข์หนักขึ้นกว่าแต่ก่อนนั่นเอง

ตัวชี้วัดที่มีวิธีคำนวณง่ายๆ ตัวนี้ สามารถฟันธงได้ว่า ช่วงเวลาที่ผ่านมา ประเทศไทยเราไม่ได้มีความสุขอย่างที่เขาบอกต่อๆ กันมา

MOST READ

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

Economy

23 Nov 2023

ไม่มี ‘วิกฤต’ ในคัมภีร์ธุรกิจของ ‘สิงห์’ : สันติ – ภูริต ภิรมย์ภักดี

หากไม่เข้าถ้ำสิงห์ ไหนเลยจะรู้จักสิงห์ 101 คุยกับ สันติ- ภูริต ภิรมย์ภักดี ถึงภูมิปัญญาการบริหารคน องค์กร และการตลาดเบื้องหลังความสำเร็จของกลุ่มธุรกิจสิงห์

กองบรรณาธิการ

23 Nov 2023

Economy

19 Mar 2018

ทางออกอยู่ที่ทุนนิยม

ในยามหัวเลี้ยวหัวต่อของบ้านเมือง ผู้คนสิ้นหวังกับปัจจุบัน หวาดหวั่นต่ออนาคต และสั่นคลอนกับอดีตของตนเอง
วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร เสนอทุนนิยมให้เป็น ‘grand strategy’ ใหม่ของประเทศไทย

วีระยุทธ กาญจน์ชูฉัตร

19 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save