fbpx
จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (ตอนจบ)

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (ตอนจบ)

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

จุดตั้งต้นจากเอกสารพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ

 

เอกสารพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นที่รับทราบแพร่หลายกว้างขวาง มีการตีความเสนอความหมายความเข้าใจออกมามากจากประวัติศาสตร์นิพนธ์หลายกระแส และมีผู้นำไปใช้ประโยชน์ในการเคลื่อนไหวทางการเมืองหรือต่อต้านการเคลื่อนไหวต่างกรรมต่างวาระหลายคราว [1] แต่ผู้วิจัยเสนอว่าเอกสารฉบับนี้ ถ้าพิจารณาโดยลำพังไม่นำบริบทที่เป็นข้อโต้แย้งในระหว่างการเจรจาต่อรองระหว่างรัฐบาลกับพระปกเกล้าและความขัดแย้งก่อนหน้านั้นมาพิจารณา เราก็จะได้เอกสารที่ยืนยันความกลมกลืนระหว่างพระมหากษัตริย์กับหลักการของรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตยได้อย่างดีที่สุด

แต่มันก็เป็นเอกสารที่มีปัญหาอยู่ในตัว เพราะเอกสารเดียวกันนี้ได้ปฏิเสธคณะราษฎร สภาผู้แทนราษฎร และจุดกำเนิด 2475 ที่ตั้งต้นการปกครองตามระบอบพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ว่า

ข้าพเจ้าเห็นว่ารัฐบาลและพวกพ้องใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุตติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามของข้าพเจ้าต่อไปได้

ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยฉะเพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริงไม่ประสบผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป [2]

และถ้าเราพิจารณาเอกสารพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติคู่กับคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติแล้ว จะเห็นความหมายและความเข้าใจอีกแบบตีคู่กันขึ้นมา ว่า

รัฐบาลได้ทราบว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีข้อข้องพระราชหฤทัยบางประการ ซึ่งถ้ารัฐบาลมิได้จัดถวายให้เป็นการสมพระราชประสงค์แล้ว พระองค์ก็จะทรงสละราชสมบัติได้ รัฐบาลจึงรีบจัดถวายเพื่อให้ต้องพระราชหฤทัยทุกประการ … พระองค์ได้ทรงขอร้องต่อรัฐบาลหลายประการ ในประการที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ รัฐบาลก็ได้จัดสนองเท่าที่จะจัดถวายได้ ในส่วนที่ขัดกับรัฐธรรมนูญ ก็เป็นอันนอกเหนืออำนาจที่รัฐบาลจะจัดถวายได้ตามพระราชประสงค์ ในที่สุดได้แสดงพระราชประสงค์มาว่าขอให้นำเรื่องทั้งหมดเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรเพื่อวินิจฉัย ซึ่งรัฐบาลก็ได้ปฏิบัติตามพระราชประสงค์ … ซึ่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรได้ทำการอภิปรายกันแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้เห็นชอบพร้อมกันที่รัฐบาลปฏิบัติไป และลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ผ่านระเบียบวาระไปได้ตามข้อบังคับการประชุมและการปรึกษาของสภาผู้แทนราษฎร [3]

เอกสารทั้ง 2 เมื่อพิจารณาควบคู่กันจะเห็นปัญหาว่ายังมีความยังไม่ลงรอยกันในระหว่างผู้ที่ทำหน้าที่ในสภา รัฐบาล และพระมหากษัตริย์เกี่ยวกับระบอบรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย ความไม่ลงรอยกันเกี่ยวกับหลักการในตัวรัฐธรรมนูญและหลักประกันการทำงานของระบอบประชาธิปไตย และความไม่ลงรอยกันระหว่างผู้ที่ร่วมกันสถาปนาระบอบใหม่ภายหลังการอวสานของสมบูรณาญาสิทธิราชย์

ความสำคัญของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2489 และ ‘ระบอบประชาธิปไตยอันพรั่งพร้อมไปด้วยสามัคคี’ จึงอยู่ที่การเป็นความพยายามอีกครั้งหนึ่งที่จะประสานความไม่ลงรอยกันในระดับรากฐานนี้ให้กลับคืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันสำหรับจะใช้เป็นจุดตั้งต้นระบอบการปกครองประชาธิปไตยของไทยต่อไป

จุดประสานที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ 2489  ได้แก่ การนำข้อท้วงติงที่ปรากฏในเอกสารพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติมาพิจารณาและกำหนดเป็นหลักการสำคัญของรัฐธรรมนูญ

มาตรา 82 กำหนดว่า “การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิพากษาพิจารณาคดีใดคดีหนึ่ง หรือที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลธรรมดาที่มีตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้นๆ จะกระทำมิได้”

มาตรา 13 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา หรือลัทธินิยมใดๆ และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมของประชาชน”

มาตรา 14 กำหนดว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในร่างกายเคหสถานทรัพย์สินการพูดการเขียนการพิมพ์การโฆษณาการศึกษาอบรมการชุมนุมสาธารณะการตั้งสมาคมการตั้งคณะพรรคการเมืองหรือการอาชีพทั้งนี้ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย”

มาตรา 62 ที่กำหนดให้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติใหม่ให้เป็นการประชุมร่วมกันของสภาผู้แทนราษฎรกับพฤฒสภา

และอีกจุดหนึ่งที่เป็นการสนองตอบต่อข้อทักท้วงที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติคือการยกเลิกสมาชิกสภาประเภทที่ 2 ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2475 ดังที่รัชกาลที่ 7 ทรงวิจารณ์ไว้เป็นข้อใหญ่ที่ทรงอยากให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่รัฐบาลและสภาในเวลานั้นไม่สนองตามพระราชประสงค์ว่า

โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับจะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆ นั้นจะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเปนพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนซึ่งราษฎรเป็นผู้เลือก เช่น ในฉบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการจะไม่ให้เปนผู้แทนราษฎรเลย ฉบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำร้องขอของข้าพเจ้า แต่ก็ยังให้มีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง 1

และ

… การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก 2 ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ 2 ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไปไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เปนพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ [4]

ดังนั้น จึงกล่าวได้ว่ารัฐธรรมนูญ 2489 จึงคือความพยายามประสานการไม่ลงรอยที่ปรากฏในพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติกับเอกสารคำแถลงการณ์ของรัฐบาลเกี่ยวกับการสละราชสมบัติให้ประนอมเข้าหากันได้ ที่จะทำให้ปรีดีสามารถยืนยันได้อีกครั้งหนึ่งในสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรปี 2489 ว่า

เมื่อคณะราษฎรได้ขอพระราชทานรัฐธรรมนูญพระองค์จึงพระราชทานด้วยดี พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณแก่ชาวไทย ข้าพเจ้าจึงขอให้ท่านทั้งหลายที่อยู่ ณ ที่นี้ และบรรดาชาวไทยทั้งหลายจงระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและเทิดพระเกียรติของพระองค์ไว้ชั่วกัลปาวสาน [5]

 

2

เอกสารเปลี่ยนสถานะ ‘เจ้านายเล็กๆ ยุวกษัตริย์’

 

เมื่อแรกพระราชสมภพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลมีพระยศในชั้นหม่อมเจ้า อันเป็นสถานะสุดท้ายของความเป็นเจ้าตามระบบเจ้านายไทย แต่เมื่อรัชกาลที่ 7 ทรงมีประกาศพระบรมราชโองการในเดือนพฤศจิกายน 2470 ให้เลื่อนพระยศหม่อมเจ้าที่เป็นพระโอรสธิดาในสมเด็จเจ้าฟ้าชั้นเอกกับมารดาที่มิได้เป็นเจ้า ขึ้นเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า “ตามประกาศนี้ข้าพเจ้าและน้องชายองค์แรกได้เลื่อนเป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้า พร้อมกับหม่อมเจ้าอีก 9 องค์ ส่วนน้องชายองค์เล็กนั้นในเมื่อประสูติหลังประกาศ ก็เป็นพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าทันที โดยทั่วไปคนจะเรียกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลว่า ‘พระองค์ชาย’ และจะเรียกพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลยเดชว่า ‘พระองค์เล็ก’” [6]

ในอีกเกือบ 8 ปีต่อมา เอกสารของรัชกาล 7 ที่จะมีผลเปลี่ยนสถานะของสมาชิกในราชสกุลมหิดลครั้งสำคัญที่สุดไม่ได้มาในรูปของประกาศพระบรมราชโองการ แต่เป็นพระราชหัตถเลขาประกาศสละราชสมบัติ ในพระราชหัตถเลขาฉบับนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงระบุว่า “ไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์”

รัฐบาลนำพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มีนาคม 2478 และหลังจากที่รัฐมนตรีกระทรวงวังเสนอรายพระนามพระราชวงศ์ที่มีสิทธิสืบราชสันตติวงศ์ตามกฎมณเฑียรบาลให้สภาพิจารณาโดยพระนามพระองค์เจ้าอานันทมหิดลอยู่ในลำดับแรก และสมาชิกสภามีการอภิปรายความเห็นกันอย่างกว้างขวางแล้ว สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในวันที่ 7 มีนาคม 2478 ให้อัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดลขึ้นทรงราชย์ตั้งแต่วันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวสละราชสมบัติเป็นต้นไป

การขึ้นครองราชย์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เป็นการขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 2475 แต่เมื่อทรงบรรลุนิติภาวะ ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การครองราชย์และการปฏิบัติพระราชกิจานุกิจต่อจากนั้นจึงจะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้

ลายพระราชหัตถเลขาฉบับสุดท้ายที่ทรงมีมาลงวันที่ 27 และ 29 พฤษภาคม 2489 ทรงเล่าถึงการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเลือกสมาชิกวุฒิสภา [พฤฒสภา] ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของพรรคพวกของนายกรัฐมนตรี วันที่ 1 มิถุนายนจะมีการเปิดสภาทั้งสอง ต่อจากนั้นจะมีการตั้งประธานต่างๆ ตั้งนายกรัฐมนตรี การก่อตั้งคณะรัฐมนตรี และการรับรองผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ แล้วก็จะเสด็จไปได้ … [7]

แต่แล้ว การตั้งต้นใหม่ในการวางระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญก็ได้เลื่อนเวลาที่เป็นจุดเริ่มต้นอีกครั้ง

 

 


อ้างอิง

[1] นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, กรณี ร. 7 สละราชสมบัติ : การตีความและการสานต่อความหมายทางการเมือง (กรุงเทพฯ: คบไฟ, 2550). ล่าสุดได้แก่งานของหม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, ประชาธิปก ประชาธิปไตย (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2560).

[2] เอกสารนี้มีพิมพ์เผยแพร่มาก ดูเอกสารต้นฉบับลายพระหัตถ์ได้ใน หม่อมราชวงศ์พฤทธิสาณ ชุมพล, เพิ่งอ้าง, หน้า 254-259.

[3] “แถลงการณ์เรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ” (กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์ศรีปัญญา, 2560), หน้า 244-246 และ 250

[4] “ พระราชหัตถเลขาพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประกาศสละราชสมบัติ,” ใน ชัยอนันต์ สมุทวณิช และขัตติยา กรรณสูต, รวบรวม, เอกสารการเมืองการปกครองไทย พ.ศ. 2417-2477 (กรุงเทพฯ: โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2518), หน้า 400 – 401.

[5] ปรีดี พนมยงค์, แนวความคิดประชาธิปไตยของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, 2553), หน้า 457- 460.

[6] สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์, เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์ (กรุงเทพฯ: อมรินทร์พรินติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง, 2559) หน้า 40.

[7] เจ้านายเล็กๆ – ยุวกษัตริย์, อ้างแล้ว, หน้า 285.

 

 

หมายเหตุ : บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้ง 3 และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง

 

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (2)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (3)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (4)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (5)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save