fbpx
จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (5)

จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (5)

ศุภมิตร ปิติพัฒน์ เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

1

คณะราษฎรกับการจำกัดอำนาจกษัตริย์ไว้ใต้รัฐธรรมนูญ

 

กล่าวอย่างตรงไปตรงมา ร่างรัฐธรรมนูญในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย เพราะทั้งผู้โปรดเกล้าฯ ให้ร่างรัฐธรรมนูญ และผู้ร่างรัฐธรรมนูญขึ้นถวายไม่มีผู้ใดเชื่อว่าประชาชนไทยในเวลานั้นพร้อมหรือเหมาะกับการปกครองประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดและเป็นผู้ใช้อำนาจนั้นเลือกผู้ขึ้นมาปกครองประเทศ

แต่ก็มิได้หมายความว่าในหมู่ชนชั้นนำเวลานั้นจะไม่มีการคิดเตรียมการแต่อย่างใดสำหรับการเปลี่ยนแปลงระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ผู้ที่อยู่บนยอดสูงสุดก็เห็นแล้วว่าเป็นระบอบที่พ้นสมัยและขาดประสิทธิภาพ ร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังเตรียมการจึงมุ่งไปที่การหาทางแก้ไขข้อจำกัดที่มีอยู่ในระบอบเดิมตามทัศนะและปัญหาที่ชนชั้นนำเองเผชิญอยู่ในระบบบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนการเตรียมการที่จะ ‘เล่นกับ’ ระบอบรัฐสภาที่เชื่อกันว่าในวันหนึ่งวันใดที่ใกล้เข้ามาจะมีการเรียกร้องจากประชาชน การเตรียมการเป็นไปโดยวิธีคิดที่จะทำกันอย่างค่อยเป็นค่อยไปเป็นขั้นเป็นตอนเพราะเชื่อว่าด้วยวิธีเช่นนี้ การจัดริเริ่มทดลองประชาธิปไตยจึงจะไม่เป็นอันตราย โดยตั้งใจจะเริ่มต้นที่การจัดการเรียนรู้ของประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการปกครองส่วนท้องถิ่นก่อน ผ่านการจัดตั้งเทศบาลขึ้นในท้องที่ต่างๆ เปรียบเทียบว่าเหมือนกับ “การค่อยๆ จัดยาให้ทีละน้อยอย่างระมัดระวัง และถ้าผลปรากฏว่าการทดลองนี้ล้มเหลวในทุกขั้นตอน ถึงตอนนั้นก็อาจทำให้ประชาชนคล้อยตามได้ว่าประชาธิปไตยมิใช่การปกครองสำหรับสยาม” [1]

คณะราษฎรเห็นพ้องกับความเห็นของชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ข้างต้นบางประการ

ประการแรก เป็นความเห็นพ้องที่รุนแรงกว่ามาก แต่ตรงกันว่า ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถึงกาลวอดวายแล้วทั้งในแง่ความพ้นสมัย และความไม่มีประสิทธิภาพภายในตัวระบบเองที่แก้ไม่ตก เป็นตุ้มถ่วงแทนที่จะเป็นจักรกลพัฒนาบ้านเมืองและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎรเจริญก้าวหน้าดีขึ้นได้

ประการที่สอง ผู้นำคณะราษฎรเห็นข้อจำกัดของประชาชนสยามในเวลานั้นเช่นกันที่ยังจะใช้สิทธิทางการเมืองตามหลักการของประชาธิปไตยเลยยังไม่ได้ และเห็นว่าการจัดการศึกษาเพื่อให้ประชาชนพร้อมดีขึ้นสำหรับการใช้สิทธิทางการเมืองการปกครองยังเป็นของที่ต้องทำอีกมาก ดังการให้การศึกษาปรากฏเป็นหนึ่งในหลักหกประการของคณะราษฎร

ประการที่สาม การจะไปสู่ประชาธิปไตยสมบูรณ์ที่ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดใช้สิทธิของเขาเองในการเลือกผู้ปกครองจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่งต้องใช้เวลาตามกำหนดระยะหนึ่ง จะทำในทันทียังไม่ได้ แต่ระยะเวลาที่กำหนดของคณะราษฎรมีเกณฑ์ชัดเจนกว่าที่พบในการอภิปรายระหว่างชนชั้นนำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

แต่จุดแตกต่างที่สำคัญที่สุดระหว่างคณะราษฎรและชนชั้นนำของระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อันเป็นความแตกต่างในหลักการขั้นพื้นฐาน อยู่ที่จุดตั้งต้นว่าที่จะดำเนินการอย่างเป็นขั้นเป็นตอนไปเพื่อให้เกิดประชาธิปไตยนั้นต้องตั้งต้นที่ไหน คณะราษฎรเสนอว่าต้องตั้งต้นที่การเปลี่ยนผู้ถืออำนาจสูงสุดจากกษัตริย์มาเป็นประชาชน และการจำกัดอำนาจและการใช้อำนาจของกษัตริย์ให้เป็นตามเท่าที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดไว้

อันที่จริงในจุดตั้งต้นนี้ คำประกาศคณะราษฎรบ่งว่า “ถ้ากษัตริย์ตอบปฏิเสธหรือไม่ตอบภายในกำหนดโดยเห็นแก่ส่วนตนว่าจะถูกลดอำนาจลงมาก็จะได้ชื่อว่าทรยศต่อชาติ และก็เป็นการจำเป็นที่ประเทศจะต้องมีการปกครองอย่างแบบประชาธิปไตย กล่าวคือประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้นอยู่ในตำแหน่งตามกำหนดเวลา” แต่ต่อมา เปลี่ยนมาเป็นว่า “ถ้าใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในชั่ว 1 นาฬิกานับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรก็จะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน โดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่นขึ้นเป็นกษัตริย์” [2]

ด้วยเหตุนี้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารยอมรับ “ที่จะช่วยเป็นตัวเชิดเพื่อให้คุมโครงการตั้งรัฐบาลให้เป็นรูปวิธีเปลี่ยนแปลงตั้งพระธรรมนูญโดยสะดวก” เพราะ “เห็นแก่ความเรียบร้อยของอาณาประชาราษฎร์ ไม่อยากให้เสียเลือดเนื้อ กับทั้งเพื่อจัดการโดยละม่อมละมัยไม่ให้ขึ้นชื่อว่าได้จลาจลเสียหายแก่บ้านเมือง” จุดสิ้นสุดของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และจุดตั้งต้นแรกในการวางระบอบใหม่จึงได้เริ่มขึ้น

และในพระราชหัตถเลขาถึงผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารฉบับนี้ ปรากฏข้อความบ่งชี้ความแตกต่างในความตั้งใจของแต่ละฝ่ายที่จะกลายเป็นประเด็นปัญหาระหว่างกันต่อมา นั่นคือ “คณะทหารมีความปรารถนาจะเชิญให้ข้าพเจ้ากลับพระนคร เป็นกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” กับ “ความจริงข้าพเจ้าได้คิดอยู่แล้วที่จะเปลี่ยนแปลงทำนองนี้ คือมีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ[3]

ระบอบการปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้พระธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน กับระบอบการปกครองที่มีพระเจ้าแผ่นดินปกครองตามพระธรรมนูญ เป็นระบอบที่ยึดหลักการต่างกันมาก และเมื่อความตั้งใจของแต่ละฝ่ายมีจุดตั้งต้นที่ระบอบอันมีหลักการแตกต่างกัน ระบอบที่เป็นจุดตั้งต้นของแต่ละฝ่ายนี้ในที่สุดจะกลายเป็นจุดปักหลัก (anchoring) สำหรับตั้งแนวเทียบกับข้อเสนอของแต่ละฝ่ายในการต่อรองที่จะเกิดขึ้นตามมา และกำหนดพิสัยของความตกลงที่เป็นไปได้ ว่ามีอยู่กว้างหรือแคบเพียงใด หรือว่าไม่มีเลย ในการที่จะประนีประนอมเข้าหากัน

โดยการยึดถือหลักการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงระบอบที่ไม่เพียงแตกต่างกันมาแต่ต้น แต่ทั้ง 2 ฝ่ายมิได้มีโอกาสที่จะแลกเปลี่ยนกันอย่างเต็มที่เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ลงตัวร่วมกันและเข้าใจตรงกันก่อนลงมือเปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยความยินยอมพร้อมใจของทั้ง 2 ฝ่าย หากเป็นการยึดอำนาจก่อนแล้วอีกฝ่ายจึงให้การยอมรับ แล้วจึงมาตั้งต้นต่อรองหารือกันในสถานการณ์ที่ความไว้วางใจระหว่างกันไม่มีอยู่ และโดยเหตุที่อีกฝ่ายหนึ่งใช้การจำกัดอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่งเป็นเครื่องนิยามความหมายที่เป็นหัวใจของระบอบใหม่ ในขณะที่อีกฝ่ายเป็นฝ่ายคืนอำนาจโดยบังคับของสถานการณ์ และมองว่าอำนาจกลายเป็นของคนอีกกลุ่มที่ยังไปไม่ถึงประชาชนตามที่อีกฝ่ายอ้าง ความไม่พอใจจากการถูกจำกัดอำนาจ และความตึงเครียดเมื่อเห็นการเคลื่อนไหวในทางที่เข้าใจได้ว่าอีกฝ่ายกำลังหาทางเอาอำนาจกลับคืน จึงขัดขวางความสัมพันธ์ระหว่างกันและทำลายบรรยากาศที่จะทำงานร่วมกันอย่างราบรื่น

การต่อรองและความขัดแย้ง ซึ่งตามปกติเป็นธรรมดาของความสัมพันธ์ทางการเมือง แต่โดยเหตุที่ต่างฝ่ายต่างมองความขัดแย้งจากจุดปักหลักที่ยากจะหาระยะพิสัยที่มีทางประนอมเข้าหากันได้ เพราะจุดปักหลักที่แต่ละฝ่ายยึดเป็นหลักการพื้นฐานสำหรับนิยามระบอบอันพึงปรารถนาของตนนั้น ดำรงอยู่พร้อมกันไม่ได้ หรือไม่อาจจะได้ไว้ด้วยกัน และเมื่อมีเหตุการณ์มาซ้ำเติมความหวาดระแวงกันให้เพิ่มขึ้นไปอีก การร่วมมือกันประคับประคองระบอบใหม่และวางรากฐานประเพณีให้แก่การปกครองที่มีกษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยผู้ร่วมสถาปนาทั้ง 2 ฝ่ายในที่สุดแล้วจึงเกิดขึ้นไม่ได้

แต่ในระยะเริ่มต้น ดูเหมือนว่าจะเป็นไปได้

 

2

การประนีประนอม

 

ความตั้งใจของคณะราษฎรที่จะจำกัดอำนาจของพระมหากษัตริย์ไว้ให้อยู่ใต้รัฐธรรมนูญโดยเคร่งครัด และจะใช้ระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญนี้เป็นจุดตั้งต้นระบอบใหม่ ปรากฏออกมาเป็นรูปธรรมในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ดังนี้

รัฐธรรมนูญฉบับแรกประกาศในมาตรา 1 ว่า อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย ผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรประกอบด้วยกษัตริย์ สภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมการราษฎร และศาล แต่เนื้อหารัฐธรรมนูญมอบอำนาจไว้ที่สภาผู้แทนราษฎรมากที่สุด และออกแบบมาเพื่อเปลี่ยนอำนาจออกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์โดยตรง รัฐธรรมนูญจัดกษัตริย์อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครอง เป็นประมุขสูงสุดของประเทศ “ถูกฟ้องร้องคดีอาชญายังโรงศาลไม่ได้ เป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎรจะวินิจฉัย” สภาผู้แทนราษฎรจึงมีอำนาจเหนือกษัตริย์โดยนัยแห่งมาตรา 6 นี้

ในส่วนที่เกี่ยวกับอำนาจของกษัตริย์ในการพิจารณาการออกกฎหมายของสภา รัฐธรรมนูญให้เวลากษัตริย์ 7 วันสำหรับพิจารณาพระราชบัญญัติที่ออกและถ้าไม่เห็นพ้อง ก็ส่งพระราชบัญญัติคืนมายังสภา แต่ถ้าสภายืนยันและกษัตริย์ยังไม่เห็นพ้อง สภามีอำนาจออกประกาศพระราชบัญญัตินั้นได้ เสนาบดีกระทรวงต่างๆ รับผิดชอบต่อกรรมการราษฎร และกรรมการราษฎรให้เลือกจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและให้กรรมการราษฎรรับผิดชอบต่อสภา อำนาจอภัยโทษเป็นของคณะกรรมการราษฎร เพียงแต่ให้นำความขึ้นขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตก่อน ในรูปนี้รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงเป็นการเอาอำนาจของกษัตริย์ที่ถูกแทนที่ด้วยอำนาจของประชาชนมาไว้ที่สภาผู้แทนราษฎร

ที่มาของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจึงมีความสำคัญว่าคณะราษฎรออกแบบไว้อย่างไรในรัฐธรรมนูญฉบับแรก ที่สร้างขึ้นเพื่อจำกัดอำนาจกษัตริย์ การออกแบบแบ่งเป็น 3 สมัย สมัยแรกคณะผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารของคณะราษฎรเป็นผู้ใช้อำนาจแทนในการจัดตั้งผู้แทนราษฎรชั่วคราวจำนวน 70 นายเป็นสมาชิกสภา ในสมัยที่สองภายใน 6 เดือนหลังจากสมัยแรกหรือจนกว่าสถานการณ์ในประเทศจะเข้าสู่ปกติ จะแบ่งสมาชิกสภาออกเป็น 2 ประเภท สมาชิกประเภทที่ 1 มาจากการเลือกตั้งโดยอ้อม คุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นผู้แทนต้องสอบไล่วิชาการเมืองได้ตามหลักสูตรที่สภาจะได้ตั้งขึ้นไว้ และจะต้องได้รับความเห็นชอบของสมาชิกสภาในสมัยแรกก่อน สมาชิกประเภทที่ 2 ได้แก่ผู้เป็นสมาชิกสภาอยู่แล้วในสมัยที่ 1 ในสมัยที่สามจึงให้เหลือแต่สมาชิกประเภทที่ 1 ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรง โดยสมัยที่สามจะเริ่มขึ้นเมื่อราษฎรทั่วพระราชอาณาเขตสอบไล่วิชาประถมศึกษาได้เกินครึ่งหนึ่ง และอย่างช้าต้องไม่เกิน 10 ปีนับแต่ประกาศใช้ธรรมนูญนี้

โดยนัยในทางปฏิบัติ รัฐธรรมนูญฉบับแรกจึงเป็นรัฐธรรมนูญที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์จริงๆ โดยผู้ที่จะมาจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้ใต้รัฐธรรมนูญได้แก่สมาชิกสภาที่แต่งตั้งโดยผู้นำคณะราษฎร อย่างน้อยก็ในช่วง 10 ปีแรก

การออกแบบระบอบจำกัดอำนาจกษัตริย์ตามรัฐธรรมนูญฉบับแรกนี้ได้รับการประนีประนอมระหว่างกัน โดยพระปกเกล้าฯ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมให้แก่คณะผู้ก่อการทำให้คณะราษฎรมีฐานะถูกต้องตามกฎหมาย และทรงรับพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม พุทธศักราช 2475 ตามที่ผู้นำคณะราษฎรเสนอไว้พิจารณา เมื่อทรงคืนกลับมา ทรงเติมคำว่า ‘ชั่วคราว’ ต่อท้ายคำว่าธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยนัยนี้ จุดตั้งต้นด้วยการยอมถูกจำกัดอำนาจของกษัตริย์ภายใต้สภาที่คุมการแต่งตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรขึ้นมาโดยผู้นำคณะราษฎรนี้ จึงเป็นระยะเวลา ‘ชั่วคราว’ ตามไปด้วย จนกว่าจะมีการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่

การประนีประนอมระหว่างคณะราษฎรกับรัชกาลที่ 7 ในตอนต้นนอกเหนือจากการทรงยอมรับที่จะเป็นพระมหากษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญ ทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และการยอมรับของฝ่ายคณะราษฎรว่ารัฐธรรมนูญฉบับแรกที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์โดยตรงนั้นเป็นรัฐธรรมนูญชั่วคราวดังที่กล่าวมาแล้ว ยังรวมถึงการที่คณะราษฎรขอพระราชทานขมาโทษที่ได้กล่าวล่วงเกินพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์จักรีในแถลงการณ์ที่ออกมาในวันก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง โดยผู้นำคณะราษฎรได้แก่พระยาพหลพลพยุหเสนาและและหลวงประดิษฐมนูธรรมได้ขอพระราชทานขมาโทษเมื่อได้โปรดเกล้าฯ ให้เข้าเฝ้าในวันที่ 30 มิถุนายน 2475 และสมาชิกคณะราษฎรได้ทำพิธีขอขมาโทษอย่างเป็นทางการอย่างเปิดเผยอีกครั้งหนึ่งในวันที่ 7 ธันวาคม ก่อนหน้าวันพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญฉบับถาวร 3 วัน

แต่การประนีประนอมที่สำคัญที่สุดระหว่างคณะราษฎรกับพระปกเกล้าฯ ซึ่งน่าจะเป็นจุดตั้งต้นระบอบใหม่ให้ดำเนินไปด้วยดี คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร ซึ่งได้ผลออกมาเป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรสยาม 10 ธันวาคม 2475 ตัวอย่างสำคัญของการประนีประนอม เช่น

เรื่องแรกเป็นการปรับแก้การจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ในรัฐธรรมนูญฉบับแรกให้เอื้อเฟื้อต่อพระราชอำนาจยิ่งขึ้น เช่นการบัญญัติพระราชอำนาจว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้  และตัดข้อความเกี่ยวกับอำนาจของสภาที่จะวินิจฉัยเรื่องการจะฟ้องร้องคดีอาญาพระมหากษัตริย์ออกไป กำหนดให้ทรงดำรงตำแหน่งจอมทัพสยาม ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจที่จะพระราชทานอภัยโทษ ในขณะเดียวกันมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่าพระบรมวงศานุวงศ์ตั้งแต่ชั้นหม่อมเจ้าขึ้นไป โดยกำเนิดหรือโดยแต่งตั้งก็ตาม ย่อมดำรงอยู่ในฐานะเหนือการเมือง ในส่วนที่เป็นการวางระเบียบจำกัดการทรงใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์ตามวิถีของระบอบรัฐธรรมนูญนั้น ได้แยกมาเขียนไว้ในมาตรา 57 ว่า “บทกฎหมาย พระราชหัตถเลขา และพระบรมราชโองการใดๆ เกี่ยวกับราชการแผ่นดิน ท่านว่ารัฐมนตรีนายหนึ่งต้องลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเป็นผู้รับผิดชอบ”

เรื่องที่สองเป็นเรื่องถ้อยคำและพระราชประเพณี ตามที่ปรีดีบันทึกไว้ในภายหลังว่าได้เปลี่ยนการใช้คำว่ากษัตริย์มาเป็นพระมหากษัตริย์ตามพระราชกระแสของพระปกเกล้าฯ และการยินยอมว่ามีพระราชประเพณีที่พระมหากษัตริย์จะต้องทรงกล่าวคำปฏิญาณในเวลาขึ้นเสวยราชสมบัติอยู่แล้ว จึงไม่ต้องระบุไว้ในรัฐธรรมนูญให้ทรงปฏิญาณต่อรัฐธรรมนูญอีก [4]

แต่ประเด็นสำคัญของการประนีประนอมในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่น่าจะสร้างความพอพระราชหฤทัยแก่รัชกาลที่ 7 ได้มากที่สุดน่าจะอยู่ที่รัฐธรรมนูญได้บรรจุพระราชปรารภนี้ลงไป

 

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ประกาศความพระราชปรารภว่าข้าราชการทหาร พลเรือน และอาณาประชาราษฎรของพระองค์ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สยามราชอาณาจักรได้มีการปกครองตามวิสัยอารยประเทศในสมัยปัจจุบัน

ทรงพระราชดำริเห็นว่า สมเด็จพระเจ้าแผ่นดินในพระบรมราชจักรีวงศ์ได้เสด็จเถลิงถวัลยราชย์ผ่านสยามพิภพ ทรงดำเนินพระราโชบายปกครองราชอาณาจักรด้วยวิธีสมบูรณาญาสิทธิราชย์ภายในทศพิธราชธรรมจรรยา ทรงทำนุบำรุงประเทศให้รุ่งเรืองไพบูลย์สืบมาครบ 150 ปีบริบูรณ์ ประชาชาวสยามได้รับพระบรมราชบริหารในวิถีความเจริญนานาประการโดยลำดับ จนบัดนี้มีการศึกษาสูงขึ้นแล้ว มีข้าราชการประกอบด้วยวุฒิปรีชาในรัฐาภิบาลโนบายสามารถนำประเทศชาติของตน ในอันที่จะก้าวหน้าไปสู่สากลอารยธรรมแห่งโลกโดยสวัสดี สมควรแล้วที่จะพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ข้าราชการและประชาชนของพระองค์ได้มีส่วนมีเสียงตามความเห็นชอบในการจรรโลงประเทศสยามให้วัฒนาการในภายภาคหน้า จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานรัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามตามความประสงค์ …

 

ไม่ถึงกับต้องนำประกาศคณะราษฎรมาเทียบ แต่เทียบกับคำปรารภในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว ที่เขียนว่า “ …มีพระบรมราชโองการดำรัสเหนือเกล้าฯ สั่งว่า โดยที่คณะราษฎรได้ขอร้องให้อยู่ใต้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามเพื่อบ้านเมืองจะได้เจริญขึ้น และ โดยที่ได้ทรงยอมรับคำขอร้องของคณะราษฎร จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชบัญญัติขึ้นไว้โดยมาตราต่อไปนี้ …” ก็จะเห็นได้ว่าคณะราษฎรย่อมมองจากมุมของตนว่าพวกเขาได้ยอมถอยออกจากจุดตั้งต้นเดิม และต้องคิดว่าจากประกาศหลักการคณะราษฎรอันเป็นจุดตั้งหลักแต่แรกนั้น พวกเขาก็ได้ยอมให้มากแล้ว โดยที่พวกเขาไม่ได้ลืมความเป็นจริงเกี่ยวกับสภาพความเจริญของบ้านเมืองในเวลานั้น กับการจัดการศึกษาของประชาชนที่จนถึงเวลานั้นคนที่ความรู้ยังไม่พออ่านออกเขียนได้ยังมีอยู่มากและเป็นอุปสรรคต่อการมีส่วนร่วมทางการเมือง พวกเขาจึงวางเป้าหมายไว้ชัดในคำประกาศหลักการของคณะราษฎร 6 ประการ และตั้งใจที่จะดำเนินการเรื่องนั้นต่อโดยให้ความสำคัญแก่เรื่องโครงการด้านการสร้างความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นอันดับต้น

หลายคนเห็นว่าจุดตั้งต้นของความขัดแย้งจนประนีประนอมกันไม่ได้เริ่มต้นที่การเสนอเค้าโครงการเศรษฐกิจของปรีดี พนมยงค์ และพระราชวิจารณ์เค้าโครงการฉบับนั้น แต่เมื่อพิจารณาจากโครงสร้างของพระราชอำนาจและการใช้พระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญแล้ว การได้นายกรัฐมนตรีที่เป็นฝ่ายคณะราษฎรระดับดี 1 น่าจะเป็นผลดีต่อความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลและสภามากกว่าการได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ใช่ฝ่ายคณะราษฎร เพราะเมื่อนายกรัฐมนตรีมีความเห็นแตกต่างจากสภา การตัดสินใจดำเนินการของนายกรัฐมนตรีและการรับสนองพระบรมราชโองการใดๆ ของนายกรัฐมนตรี ถ้าตัวนายกฯเป็นสมาชิกระดับดี 1 ของคณะราษฎร ก็อาจช่วยลดความเข้าใจผิด ความสงสัยไม่แน่ใจ หรือการดำเนินการใดๆ ในนามพระมหากษัตริย์ก็น่าจะไม่เป็นการนำพระองค์ไปสู่การเผชิญหน้าในลักษณะที่เป็นคู่ขัดแย้งทางการเมืองกับสมาชิกในคณะรัฐบาลหรือกับสภาโดยตรง

แต่การตัดสินใจอย่างระมัดระวังต่อข้อครหาเรื่องการฉวยอำนาจมาไว้ในมือของพรรคพวกตนเอง ทำให้ผู้นำคณะราษฎรเลือกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกผู้ก่อการเข้ามาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเกินกว่าครึ่ง และได้เลือกบุคคลที่ไม่ได้เป็นสมาชิกคณะราษฎรคือพระยามโนปกรณ์นิติธาดาเป็นนายกรัฐมนตรี และเมื่อเกิดความขัดแย้งภายในรัฐบาลและระหว่างรัฐบาลกับสภาขึ้นมา การดำเนินการของนายกรัฐมนตรีเพื่อชัยชนะทางการเมืองได้ขยายผลความขัดแย้งด้วยการดึงพระมหากษัตริย์เข้ามาในความขัดแย้งด้วย

และตั้งแต่กบฏบวรเดชเป็นต้นมา ความสัมพันธ์ใดๆ ระหว่างพระมหากษัตริย์กับรัฐบาลและสภาก็ไม่กลับคืนมาเป็นปกติได้อีกต่อไป

 


อ้างอิง

[1] “Democracy in Siam,” in Benjamin A. Batson, ed., Siam’s Political Future: Documents from the End of the Absolute Monarchy (Ithaca, NY: Southeast Asian Program, Department of Asian Studies, 1974), p. 49.

[2] ประเสริฐ ปัทมะสุคนธ์, รัฐสภาไทยในรอบ 42 ปี (กรุงเทพฯ: มูลนิธิธนาคารกรุงเทพ, 2526), หน้า 7, 10.

[3] เพิ่งอ้าง, หน้า 11.

[4] ปรีดี พนมยงค์, “ประชาธิปไตยและร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นกับการร่างรัฐธรรมนูญ,” ใน แนวความคิดของปรีดี พนมยงค์ (กรุงเทพฯ: มูลนิธิปรีดี พนมยงค์และสำนักพิมพ์สุขภาพใจ, 2553), หน้า 256.

 

หมายเหตุ : บทความนี้ปรับมาจากส่วนหนึ่งของรายงานวิจัย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 กับแนวคิดและเงื่อนไขทางการเมืองในการฟื้นฟูสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ภายหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 รายงานวิจัยดังกล่าวอยู่ภายใต้โครงการวิจัยต่อเนื่องที่ทำเสนอต่อสถาบันพระปกเกล้า คือ โครงการ ‘จากมวลชนปฏิวัติสู่มวลชนประชาธิปไตยกับพระมหากษัตริย์: ศึกษาพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชในกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทย’ ซึ่งมีศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร เป็นหัวหน้าโครงการ ศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ เป็นที่ปรึกษา และเอกลักษณ์ ไชยภูมี เป็นผู้ช่วยวิจัย บทความและรายงานวิจัยส่วนนี้ได้รับความเห็นอันเป็นประโยชน์ยิ่งจากบุคคลทั้ง 3 และได้รับทุนสนับสนุนจากสถาบันพระปกเกล้า แต่ความรับผิดชอบเกี่ยวกับเนื้อหาและการตีความเป็นของผู้วิจัย-ผู้เขียนเอง

 

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (1)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (2)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (3)

อ่าน จุดตั้งต้นการปกครองระบอบพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญของไทย (4)

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save