fbpx
ผมไม่มีเพื่อนเป็นทหารเกณฑ์

ผมไม่มีเพื่อนเป็นทหารเกณฑ์

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ทหารเกณฑ์ในโลกอันแตกต่าง

 

“คนในมณฑลอีสานซึ่งเลือกคัดส่งมารับราชการทหารอย่างทุกวันนี้ ตกอยู่ในชนชั้นเลวที่มีความผิดหรือไม่สามารถจะกระทำการอย่างอื่นได้แล้วจึงส่งมาเป็นทหาร พาให้คนทั้งหลายแลเห็นว่าทหารเป็นบุคคลจำพวกที่เลวทรามกว่าพลเมืองสามัญ”

กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ไปรเวตที่ 27/1083 ศาลาว่ากลางมหาดไทย 27 เมษายน ร.ศ. 122[1]

 

เมื่อลองหวนกลับไปนึกถึงเพื่อนที่เคยเรียนหนังสือด้วยกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เมื่อประมาณ 30 ปีก่อน ผมขอสารภาพเลยว่าในความทรงจำถึงเพื่อนที่รู้จักมักคุ้นกันนั้นไม่มีใครสักคนเดียวที่ต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ภายหลังการเรียนจบในระดับปริญญาตรี

แต่ละคนต่างก็สามารถไปแสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตได้อย่างที่ต้องการ บางคนก็ไปทำงาน บางคนก็ไปเรียนต่อเนติบัณฑิต ปริญญาโท หรือบางคนก็ไปเรียนต่อต่างประเทศ

ไม่ใช่เพียงเท่านั้น เมื่อมาทำงานเป็นคนสอนหนังสือในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผมก็ได้พบกับปรากฏการณ์ในลักษณะคล้ายคลึงกัน นับตั้งแต่เริ่มทำงานเมื่อยี่สิบปีที่ผ่านมาจวบจนกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่ได้ยินเลยว่ามีเพื่อนอาจารย์คนไหนที่เคยต้องไปเป็นทหารเกณฑ์ก่อนที่จะมาประกอบอาชีพเป็นคนสอนหนังสือ

แทบทั้งหมดเมื่อจบระดับปริญญาตรีแล้วก็ไปเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไม่ว่าจะเป็นในประเทศหรือต่างประเทศ ก่อนจะมาประกอบอาชีพสอนหนังสือเมื่อสำเร็จการศึกษา

ฟังดูแล้วช่างน่ามหัศจรรย์เป็นอย่างยิ่ง คนรอบๆ ตัวของผมล้วนมีวิถีชีวิตราวกับว่ากำลังอยู่ในประเทศที่ไม่มีการเกณฑ์ทหารแบบบังคับ หรือทำให้ดูเสมือนว่าการเป็นทหารนั้นเป็นเรื่องของเจตจำนงอันเป็นเสรีของปัจเจกบุคคลโดยแท้ เมื่อเขาไม่อยากเป็นทหารเกณฑ์ก็ไม่ต้องเป็น

 

หนีเกณฑ์ทหาร ด้วยการเรียน รด.

 

แต่แทบทุกคนก็รู้ว่าการเกณฑ์ทหารในสังคมไทยเป็นเรื่องของการบังคับด้วยอำนาจรัฐไม่ใช่เป็นเรื่องของความสมัครใจ ระบบดังกล่าวเป็นผลสืบเนื่องมาตั้งแต่การถือกำเนิดขึ้นของรัฐสมัยใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 5 และติดต่อมาจวบจนกระทั่งปัจจุบัน มีการบัญญัติกฎหมายขึ้นมาเป็นเครื่องมือในการกำกับให้ผู้คนต้องมีหน้าที่ในการเป็นทหารอย่างไม่อาจจะหลีกเลี่ยง

และไม่ใช่เพียงการใช้อำนาจบังคับตามกฎหมายเท่านั้น มีความพยายามในการสร้างความหมายให้กับการเข้ารับการเกณฑ์ทหารว่าเป็น ‘หน้าที่ของชายไทยผู้รักชาติ’ ซึ่งต้องปฏิบัติตาม โวหารจากผู้นำกองทัพหลายยุคหลายสมัยก็ล้วนแต่พยายามปลูกฝังความเข้าใจในลักษณะนี้

แต่การให้ความหมายดังกล่าวก็ดูจะไม่ประสบความสำเร็จมากนักในห้วงเวลาปัจจุบัน ดังเป็นที่ตระหนักกันเป็นอย่างกว้างขวางว่าความรักของผู้คนที่มีต่อประเทศชาติอาจปรากฏได้ในหลากหลายรูปแบบ หรือแม้หลายคนอาจจะมีความรักชาติเป็นต้นทุนแต่ในชีวิตจริงก็อาจมีความจำเป็นในด้านการทำมาหากิน หรือการทำหน้าที่อื่นๆ ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดต่อชีวิตของบุคคลคนนั้น

จึงทำให้เราสามารถเห็นภาพคุ้นตาในวันของการเข้ารับการจับใบดำใบแดงในแต่ละปีก็คือ บุคคลที่รอดพ้นจากการเป็นทหารเกณฑ์ล้วนแสดงความปิติยินดีกันอย่างเอิกเกริกราวกับสามารถรอดพ้นจากการตกไปอยู่ขุมนรกก็มิปาน

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงกลุ่มคนที่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร ส่วนใหญ่ของคนที่เข้าสู่ระบบนี้ก็ไม่ใช่ลูกหลานของชนชั้นกลางหรือชนชั้นสูง เพราะตามกฎหมายการเกณฑ์ทหารได้เปิดช่องให้บุคคลกลุ่มนี้สามารถได้รับการยกเว้นหากเป็นบุคคลที่เข้าเรียนเป็นนักศึกษาวิชาทหาร (หรือเป็นที่รู้จักกันทั่วไปว่า รด.) คุณสมบัติประการหนึ่งของการเรียนในหลักสูตรนี้ก็คือ ต้องศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลายไปจนถึงมหาวิทยาลัย

เป็นที่แน่นอนว่าลูกหลานของชนชั้นกลางคือคนส่วนใหญ่ที่ยังสามารถอยู่ในระบบการศึกษาระดับนี้ ขณะที่ลูกหลานของคนเกือบจนหรือคนจนมีจำนวนน้อยมากที่สามารถหลุดรอดไปถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลายและในระดับอุดมศึกษา สถิติของความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาแสดงให้เห็นว่าเด็กของครอบครัวที่จนที่สุด (เมื่อจำแนกกลุ่มคนออกเป็น 5 กลุ่มตามระดับรายได้) สามารถเข้าสู่มหาวิทยาลัยเพียง 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ย่อมหมายความถึงว่าโอกาสของการเรียน รด. ของคนกลุ่มนี้ก็หดหายไปด้วยเช่นกัน

ผมเคยตั้งคำถามในชั้นเรียนระดับปริญญาตรีว่ามีนักศึกษาคนไหนที่ไปเรียน รด. เพราะความรักชาติเป็นแรงจูงใจหลักบ้าง คำตอบที่กลับมาก็เป็นที่คาดหมายได้ไม่ยากว่าเป้าหมายสำคัญของการเรียน รด. ก็คือ ไม่ต้องการเข้าสู่ระบบการเกณฑ์ทหาร ไม่ใช่เรื่องรักชาติบ้านเมืองหรือการเตรียมพร้อมรบกับอริราชศัตรูแต่อย่างใด

บรรดาลูกหลานชั้นกลางและชนชั้นสูงอาศัยช่องทางนี้ในการหลบเลี่ยงการรับใช้ชาติภาคบังคับไปได้อย่างง่ายดาย ไม่รวมไปถึงวิธีการใต้ดินในการหลบเลี่ยงการเกณฑ์ทหารซึ่งหลายคนก็เชื่อกันว่าจะเกิดขึ้นได้หากมีอำนาจและทุนทรัพย์เพียงพอ จึงทำให้พอจะมองเห็นภาพได้ว่าคนที่ต้องเข้าแถวเพื่อรอการจับใบดำใบแดงนั้นคือคนกลุ่มไหนเป็นหลัก

ดังนั้น ไม่ต้องแปลกใจครับว่าทำไมไม่มี ‘งานดีๆ’ แบบเกาหลีมาทำงานกวาดบ้านถูบ้านให้กับเหล่าคุณหนูทั้งหลาย

 

ฤาเป็นแค่ไพร่ทหาร

 

แม้จะอธิบายกันว่าชนชั้นสูงของไทยได้ยกเลิกระบบไพร่ทาสมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่ในห้วงเวลาเดียวกันก็มีการสร้างระบบการเกณฑ์ทหารเชิงบังคับอันทำให้ชายไทย ‘ทุกคน’ ต้องมีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงานในรูปแบบใหม่ ซึ่งระบบการเกณฑ์ทหารในความเป็นจริงคือการมุ่งบังคับกับผู้คนบางกลุ่มเป็นสำคัญ

สถานะและชนชั้นหลักของบรรดาทหารเกณฑ์ทั้งหลายเป็นกลุ่มคนที่แตกต่างไปจากคนชั้นกลางและคนชั้นสูง รวมทั้งอำนาจในการต่อรอง เรียกร้อง ต่อสู้ กับโครงสร้างอำนาจในระบบการเกณฑ์ทหาร ด้วยเหตุนี้เราจึงมักได้ยินเรื่องของการนำทหารเกณฑ์ไปเลี้ยงนก เลี้ยงไก่ ล้างรถ ปอกทุเรียน ปอกขนุน ทำความสะอาดบ้าน และอื่นๆ อีกมาก (ซึ่งมักถูกอธิบายว่าเป็นเรื่องของความมี ‘น้ำใจ’ ของทหารเกณฑ์ต่อผู้บังคับบัญชา)

ข่าวคราวในลักษณะดังกล่าวนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่และก็จะไม่ใช่เรื่องสุดท้าย หากพิจารณาพร้อมกันไปกับกรณีความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับทหารเกณฑ์ โดยเฉพาะกรณีที่นำไปสู่ความตายซึ่งมีให้เห็นมาอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ก็มักจะจบลงด้วยการให้คำอธิบายว่ามีสาเหตุมาจากการติดเชื้อในกระแสเลือดและจบลงโดยทางฝ่ายญาติของผู้ตายก็ไม่ติดใจเอาความแต่อย่างใด

ขณะที่การเสียชีวิตของทหารเกณฑ์มีให้ได้ยินบ่อยครั้ง แต่ในอีกด้านหนึ่ง แทบไม่เคยมีข่าวว่าให้ได้ยินว่ามีนักเรียน รด. ต้องเสียชีวิตในระหว่างการเรียนหรือการฝึกแต่อย่างใด

แน่นอนว่าหากมีกรณีหลังเกิดขึ้นมันจะเป็นต้นทุนที่แพงมากเกินไปสำหรับผู้รับผิดชอบในการให้คำตอบต่อสังคมมากกว่ากรณีแรกอย่างเห็นได้ชัด ท่าทีและมุมมองที่มีต่อคนสองกลุ่มนี้มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ อันเป็นผลให้กระบวนการและความเข้มข้นในการฝึกระหว่างนักเรียน รด. และทหารเกณฑ์จึงมีแตกต่างกันมาก ทหารเกณฑ์ไม่ใช่คนที่ต้องได้รับการปฏิบัติเยี่ยงเดียวกับคนกลุ่มอื่นในสังคม

แม้อาจไม่ใช่ไพร่สม ไพร่ส่วย แต่เขาเหล่านี้ก็ไม่ได้มีสิทธิและเสรีภาพอย่างที่มนุษย์พึงได้รับในสังคมสมัยใหม่ สถานะของทหารเกณฑ์ในห้วงเวลาปัจจุบันจึงเป็นการตรึงให้คนกลุ่มหนึ่งต้องติดอยู่กับการบังคับใช้แรงงานกึ่งบังคับภายใต้ข้ออ้างว่าเพื่อรับใช้อำนาจรัฐ แต่ก็อาจต้องรับใช้ผู้มีอำนาจรัฐปะปนกันไปอย่างแยกไม่ออก

ถ้าหากการเป็นทหารเกณฑ์เป็นหนทางเดียวในการแสดงออกถึงความปรารถนาดีต่อชาติ ผมก็ใคร่ขอเสนอให้ทุกคนควรต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหาร โดยไม่เปิดช่องทางให้บุคคลบางกลุ่มจะสามารถหลีกหนีไปได้ง่ายๆ เช่นการเรียน รด.

ในอีกด้านหนึ่ง หากการแสดงออกซึ่งความปรารถนาดีรวมถึงการสร้างความเจริญต่อชาติบ้านเมืองและสังคมส่วนรวมสามารถกระทำได้ในหลากหลายลักษณะ เช่น ความสามารถด้านดนตรี กีฬา ศิลปะ งานวิชาการ การทำงานสาธารณกุศล บรรเทาสาธารณภัย การสร้างสรรค์นวัตกรรมทางปัญญา เป็นต้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องนิยามความหมายของการรักชาติเพียงแค่การมีหน้าที่ไปจับใบดำใบแดงมิใช่หรือ

 


[1] อ้างใน ธนัย เกตวงกต, ประวัติศาสตร์การเกณฑ์ทหารในสังคมไทย (มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท, 2560) หน้า 2 สืบค้นระบบออนไลน์ https://library.fes.de/pdf-files/bueros/thailand/14043.pdf

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023