fbpx
“ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน” – Thai Civic Education

“ประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนไม่ใช่แค่เนื้อหา แต่เป็นกระบวนการเรียนรู้และปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู-นักเรียน” – Thai Civic Education

ณรจญา ตัญจพัฒน์กุล และ ปรางชณา ภัทรนรากุล เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

“ไปต่อแถว!”

เสียงของกลุ่มนักเรียนที่ดังกึกก้องบริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการเมื่อวันพุธที่ 19 สิงหาคม 2563 กลายเป็นวาทะที่ดังก้องกังวานในระบบการศึกษาไทยไปแล้วเรียบร้อย

เพียงแค่วลีสั้นๆ กลั่นกรองออกมาได้ทั้ง ‘สภาพจริง’ และ ‘ความหวัง’ ในรั้วโรงเรียนอย่างคมคาย มุมหนึ่ง “ไปต่อแถว!” คือการสะท้อนวัฒนธรรมแบบผู้ใหญ่-ผู้น้อยที่ต้องเคารพกฎระเบียบของสังคม แต่อีกมุมหนึ่ง “ไปต่อแถว!” คือการเรียกร้องการปฏิบัติต่อกันด้วยเกียรติและความเคารพ

พูดอีกอย่าง นี่คือภาพแทนของการปะทะกันระหว่างวัฒนธรรมอำนาจและวัฒนธรรมพลเมืองที่ไม่ลงรอยกันในโลกการศึกษา

เมื่อมองลงไปให้ลุ่มลึกขึ้น คำถามสำคัญที่ซ้อนอยู่ภายใต้แก่นของปรากฏการณ์นี้คือ ความเป็นพลเมือง วัฒนธรรมประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนจะงอกงามในรั้วโรงเรียนได้อย่างไร? และทำไมค่านิยมเหล่านี้จึงสำคัญต่อสังคมที่เราอยู่?

นี่คือโจทย์แห่งอนาคตที่มูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย หรือ ‘Thai Civic Education Foundation’ พยายามผลักดันให้โรงเรียนเป็นพื้นที่สร้างนักเรียนให้กลายเป็นพลเมืองประชาธิปไตย กล้าคิด กล้าตั้งคำถาม กล้าลงมือทำเพื่อสังคมที่ดีกว่า

101 ชวน ทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย (Thai Civic Education Foundation) อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและประธานมูลนิธิ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรองประธานมูลนิธิ และ ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1 ผู้ทำงานร่วมกับมูลนิธิอย่างเข้มข้น สนทนาตั้งแต่แก่นความคิด ความฝันและการลงมือสร้าง ‘ความเป็นพลเมือง’ ในแบบฉบับ Thai Civic Education การทำความเข้าใจและเสริมสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยในห้องเรียนในฐานะครู ไปจนถึงอุปสรรคในการสร้าง ‘ความเป็นพลเมือง’ ในระบบการศึกษาไทยภาพใหญ่

หมายเหตุ: สัมภาษณ์เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล - ทัศนวรรณ บรรจง - อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ - ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล – ทัศนวรรณ บรรจง – อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ – ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต

จุดเริ่มต้นของ Thai Civic Education คืออะไร คุณมองเห็นอะไรในการศึกษาไทยจึงมารวมตัวกัน

ทัศนวรรณ:  Thai Civic Education เริ่มจากการทำงานร่วมกับเครือข่ายของมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ต (Friedrich-Ebert-Stiftung: FES) ที่ทำงานเรื่องการพัฒนาประชาธิปไตย ซึ่งส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตยมเข้มแข็งคือการสร้างความตระหนักรู้ถึงความเป็นพลเมือง

ในสังคมไทย ตอนนี้หลายองค์กรที่ทำงานสนับสนุนการสร้างประชาธิปไตยอย่างศูนย์ส่งเสริมพัฒนาประชาธิปไตยและการเลือกตั้งของ กกต. หรือสถาบันพระปกเกล้า และผู้มีส่วนร่วมสำคัญอย่างโรงเรียนต่างเห็นพ้องต้องกันว่าต้องสร้าง ‘พลเมืองประชาธิปไตย’ หรือ ‘พลเมืองที่ดี’ อย่างไรก็ตาม แต่ละหน่วยงานให้ความหมายของความเป็นพลเมืองที่แตกต่างหลากหลายมาก จากการพูดคุยกับองค์กรเหล่านี้ จะพบว่าความหมาย ‘พลเมืองดี’ ค่อนไปทางอนุรักษนิยมหากเทียบกับค่านิยมสากล คือ ‘เคารพกฎหมาย เคารพสิทธิหน้าที่’ โดยที่ไม่ตั้งคำถามกับสังคม เราเลยชวนกลุ่มต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาคุยกันว่าการสร้างประชาธิปไตยและพลเมืองไทยควรจะถูกกำหนดไปในทิศทางไหน

วัชรฤทัย: ความสนใจที่อยากทำงานร่วมกับ Thai Civic Education เริ่มมาจากสถานการณ์ทางการเมืองที่มีการชุมนุมของฝ่ายพันธมิตรฯ และ นปช. ในช่วงปี 2550 ทั้งสองฝ่ายต่างก็บอกว่า การชุมนุมของตนนั้นเป็นไปเพื่อประชาธิปไตย ตอนนั้นกำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาเอกอยู่ ก็ตั้งคำถามว่า ‘ทำไมคนไทยเข้าใจประชาธิปไตยไปคนละทิศทาง คนไทยเข้าใจประชาธิปไตยว่าอย่างไรกันแน่’

เราเชื่อว่าประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเพียงแค่ระบอบการปกครองเท่านั้น แต่ยังนำไปสู่สังคมที่เป็นธรรม คิดว่าการศึกษาน่าจะมีส่วนหล่อหลอมความคิดของคน เลยตัดสินใจทำวิจัยเกี่ยวกับการปลูกฝังความเป็นประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในโรงเรียนที่มีความคิดก้าวหน้า

ณัฏฐเมธร์: อย่างแรก ผมเป็นครูที่ไม่ได้จบครู พอทำงานในโรงเรียน รู้สึกว่าความคิดของเรากับครูที่จบมาทางครุศาสตร์โดยตรงและวัฒนธรรมในโรงเรียนมีช่องว่าง มีความคลาดเคลื่อนกันอยู่ เราคิดแบบหนึ่ง แต่เขาคิดอีกแบบหนึ่ง วัฒนธรรมในโรงเรียนก็เป็นอีกแบบหนึ่ง

อีกอย่างหนึ่งคือ พอเราไม่ได้จบครุศาสตร์มา เลยไม่มีเครือข่ายในการทำงาน ในขณะที่เพื่อนครูที่จบครุศาสตร์มามีพี่น้อง มีเครือข่ายอยู่โรงเรียนอื่น เราอยากมีเครือข่ายครูเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ สนับสนุนการทำงานของเรา มีความคิดที่ตรงกับเรา เป็นพื้นที่ที่ไม่ทำให้รู้สึกว่าความคิดของเราแตกต่างไปจากครูท่านอื่นๆ ซึ่งต้องยอมรับว่ามีความคิดไปทางอนุรักษนิยม เลยเป็นแรงจูงใจที่ทำให้เรากระโดดเข้ามาทำกับ Thai Civic Education

อรรถพล: ช่วงที่เริ่มเข้ามาร่วมกับ Thai Civic Education คือช่วงที่มีประเด็นการออกแบบกรอบหลักสูตรวิชาสังคมศึกษาที่ผมมีโอกาสเข้าไปช่วยทำด้วย สิ่งที่เห็นคือ มีแต่คนทำงานเชิงนโยบายกับนักวิชาการมานั่งคุยกัน แต่ไม่มี ‘ชีวิตจริง’ ในโรงเรียนอยู่วงสนทนา ในฐานะที่ผมเป็นทั้งครูสังคมศึกษาและครูสอนครูเลยเสนอไอเดียว่าน่าจะดึง ‘ครู’ ซึ่งเป็นคนที่จะนำหลักสูตรไปสอนจริง นำโครงการไปปฏิบัติจริงเข้ามาร่วมด้วย

ในเชิงนโยบาย ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การเขียนหลักสูตร แต่อยู่ที่ระหว่างทางจาก ‘นโยบาย’ ไปสู่ ‘การปฏิบัติ’ ระหว่างทางมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นค่อนข้างมาก การเขียนคำคำหนึ่งลงในหลักสูตรไม่ได้การันตีเลยว่าคนเขียนหลักสูตรกับครูผู้สอนจะตีความตรงกัน อย่างคำว่า ‘สิทธิมนุษยชน’ ก็เป็นคำที่เขียนอยู่ในหลักสูตรมานานแล้ว ประเด็นอยู่ที่ว่าครูสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วยพื้นฐานความเข้าใจแบบไหน ต่อให้เขียนหลักสูตรใหม่ก็ตาม แต่ถ้าครูไม่เข้าใจ หรือเข้าใจผิด การเปลี่ยนแปลงก็จะไม่เกิด แต่เมื่อมีการรวมตัวทำงานกันเป็นเครือข่าย ก็มีการปรับความคิดความเข้าใจให้ตรงกัน และผลักดันความคิดแบบเราไปให้ไกลและครอบคลุมมากขึ้น

มุมมองอีกมุมหนึ่งในฐานะครูสอนครู ลูกศิษย์ หรือครูรุ่นใหม่ที่เพิ่งจบออกไปสอนในโรงเรียนมักจะเจอครูอาวุโสหรือครูที่มีกระบวนทัศน์อีกแบบหนึ่ง เกิดเป็นความอึดอัดคับข้องใจในการทำงาน เราเห็นว่าปล่อยไว้แบบนี้คงไม่ดีแน่ๆ เพราะสักวันหนึ่ง ครูเหล่านี้อาจหมดศรัทธาที่จะทำงานในระบบการศึกษาก็ได้ เครือข่ายครูสร้างพลเมืองประชาธิปไตยเป็นหนทางหนึ่งที่จะดึงครูเหล่านี้ที่อยู่กันอย่างกระจัดกระจายมาเจอกัน ทำงานข้ามโรงเรียน

เมื่อมองการเรียนการสอนประชาธิปไตย-สิทธิมนุษยชนในรั้วโรงเรียนไทย คุณเห็นอะไรบ้าง

วัชรฤทัย: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่ากระบวนการหล่อหลอมพลเมืองประชาธิปไตยไม่ได้เกิดจากแค่การออกแบบหลักสูตรหรือเขียนตำราเรียน สิ่งเหล่านี้ถูกกำหนดอยู่แล้วว่าเป็นเนื้อหาที่นักเรียนต้องเรียน แต่อีกส่วนที่สำคัญคือวัฒนธรรมในโรงเรียน หรือที่เรียกว่า ‘หลักสูตรแฝง’ (hidden curriculum) ซึ่งจะกำหนดว่าหล่อหลอมความเป็นพลเมืองแบบไหนออกมา

เราต้องตั้งคำถามว่าชุดความคิดแบบไหนที่ ‘แฝง’ อยู่ในหลักสูตรโดยที่ไม่ได้เขียนให้เราเห็นอย่างชัดเจน แต่ไปปรากฏอยู่ในปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคลต่างๆ ในโรงเรียน และถ้าเราลองมองวัฒนธรรมในโรงเรียนไทยและปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียน มันก็สะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมที่ครอบสังคมไทยอยู่ด้วยว่าเป็นวัฒนธรรมแบบไหน อย่างการที่ครูเรียกชื่อนักเรียนด้วยชื่อล้อเลียนหรือดูถูกที่สะท้อนให้เห็นทัศนคติว่า ‘ฉันกำลังตัดสินเธออยู่นะ’ หรือ ‘ฉันไม่ได้เคารพเธอนะ’ หรือการที่ครูดูถูกคำตอบที่นักเรียนตอบในห้องว่าเป็นคำตอบที่ ‘โง่’ คือการหล่อหลอมวัฒนธรรมอำนาจนิยมในรั้วโรงเรียน

นอกจากนี้ ระเบียบต่างๆ ในโรงเรียนอย่างเรื่องการเข้าแถว กฎระเบียบทรงผม ชุดนักเรียน ก็นับได้ว่าเป็นหลักสูตรแฝงได้เหมือนกัน

ณัฏฐเมธร์: ปกติหลักสูตรที่โรงเรียนใช้จะระบุชัดเจนว่า เรียนวิชาอะไรบ้าง ผู้เรียนต้องทำอะไรบ้าง และเมื่อเรียนจบหลักสูตรออกมาแล้วผู้เรียนต้องมีคุณลักษณะอย่างไร แต่นอกเหนือจากการสอน มันมีวิธีการปฏิบัติในโรงเรียนที่ไม่ได้ระบุไว้ในหลักสูตร แต่พอโรงเรียนหรือครูปฏิบัติแล้วได้ผลลัพธ์บางอย่างออกมา ซึ่งบางครั้งผลลัพธ์ที่ว่านั้นไม่ได้ตรงกับผลสัมฤทธิ์ที่หลักสูตรระบุไว้ เช่น หลักสูตรระบุว่า ‘ผู้เรียนต้องเคารพความเป็นพลเมืองของผู้อื่น’

ในห้องเรียนก็มีการสอนหลักการสิทธิมนุษยชน สอนเรื่องความเท่าเทียม แต่ถ้าวิธีการที่ครูปฏิบัติต่อนักเรียนกลับมีท่าทีแบบอำนาจนิยม แม้ว่าท้ายที่สุด นักเรียนตอบเรื่องสิทธิมนุษยชนได้หมดเลย แต่ด้วยวัฒนธรรมการปฏิบัติที่ว่ามา กลายเป็นว่านอกจากครูจะปฏิบัติกับนักเรียนด้วยการใช้อำนาจบีบบังคับแล้ว นักเรียนกันเองก็ไม่ได้ปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพ ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากการซึมซับวิธีการที่โรงเรียนใช้ ทั้งๆ ที่ในหลักสูตรไม่ได้ระบุไว้ว่าต้องการให้นักเรียนออกมามีคุณลักษณะความเป็นพลเมืองเช่นนี้ เราเลยเรียกว่า ‘แฝง’ (hidden)

ทัศนวรรณ: เรามองว่านี่ไม่ใช่หลักสูตรแฝง แต่เป็นสิ่งที่ปรากฏโจ่งแจ้งว่าโรงเรียนต้องการให้นักเรียนทำตามระเบียบที่โรงเรียนกำหนด ซึ่งแสดงความเป็นอนุรักษนิยมและอำนาจนิยมอย่างชัดเจน

ทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย และ อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย
ทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย และ อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย

ถ้าอย่างนั้น ก็ขึ้นอยู่กับการตีความคำต่างๆ ที่ปรากฏในหลักสูตรด้วยหรือไม่?

ทัศนวรรณ: ใช่ค่ะ การตีความเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะหลักสูตรเขียนไว้ก็จริง แต่โรงเรียนไม่ได้ระบุไว้ชัดเจนว่าต้องปฏิบัติอย่างไร

ณัฏฐเมธร์: วิธีปฏิบัติที่ไม่อยู่ในกรอบประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในรั้วโรงเรียนอาจเกิดได้จากทั้งการ ‘ตีความ’ หรือ ‘ความเข้าใจที่ตกหล่น’ การตีความที่แตกต่างกันของผู้ปฏิบัตินั้นมาจากแนวคิดและอคติที่ต่างกันออกไป แต่บางเรื่องเกิดจากความเข้าใจที่ตกหล่น มองไม่ครบ เช่น มองว่าประชาธิปไตยคือการลงคะแนนเสียงโดยใช้เสียงข้างมากและเคารพเสียงส่วนมากเท่านั้น หลายครั้งที่ในโรงเรียนหรือนักเรียนเองนำการโหวตไปใช้ตัดสินใจ แต่ไม่ได้นำกระบวนการการอภิปรายถกเถียง พูดคุยให้ได้มุมมองหลายๆ แง่มุมไปใช้ด้วย เพราะเข้าใจว่าประชาธิปไตยคือเสียงข้างมาก ก็นำญัตติขึ้นมาโหวตเลย คนแพ้โหวตก็ต้องจำยอมทำตามคนที่โหวตชนะ ซึ่งตรงนี้ผิดสาระสำคัญของความเป็นประชาธิปไตย

แล้ว ‘พลเมืองประชาธิปไตย’ ในความคิดความฝันของ Thai Civic Education มีหน้าตาอย่างไร

ทัศนวรรณ: คุณลักษณะหนึ่งที่สำคัญของพลเมืองคือ ‘ความคิดเชิงวิพากษ์’ (critical thinking) หากเราไม่ตั้งคำถามต่อสิ่งที่มีอยู่หรือสิ่งที่เกิดขึ้น ก็จะไม่สามารถคิดนอกกรอบได้ และนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงแก่สังคมได้ยาก

หลายคนอาจคิดว่า critical thinking คือการวิพากษ์ ‘วิจารณ์’ (criticize) แต่ที่จริงแล้วมันไม่ใช่แค่เพียงการวิจารณ์สังคมอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องเป็นการวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างสรรค์ นำไปสู่การพัฒนาและเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีกว่าเดิม

ถ้าถามว่าพลเมืองเรามีความคิดเชิงวิพากษ์แล้วหรือยัง ส่วนตัวคิดว่าสังคมไทยตอนนี้กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะในปัจจุบัน โลกดิจิทัลช่วยให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารและประเด็น controversial มากขึ้น การคิดเชิงวิพากษ์ก็ตามมา เราเชื่อในพลังของคนรุ่นใหม่มาก

อีกลักษณะหนึ่งจากมุมมองแบบเฟมินิสต์ที่อยากให้อยู่ในสำนึกความเป็นพลเมืองคือ ‘การสร้างอำนาจร่วม’ (power sharing) แน่นอนว่าที่ไหนมีสังคม ที่นั่นย่อมมีอำนาจ เพียงแค่มีคน 2 คนที่เข้ามาเกี่ยวข้องกันก็กลายเป็นเรื่องของอำนาจแล้ว หากเราอยากสร้างพลเมืองที่เคารพซึ่งกันและกัน ก็ต้องมีการแบ่งกระจายอำนาจกัน แม้กระทั่งในความสัมพันธ์แบบครอบครัวก็ตาม

วัชรฤทัย: ในฐานะคนที่ทำเรื่องสิทธิมนุษยชนศึกษา อยากให้พลเมืองเคารพคุณค่าของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

เวลาพูดถึงการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อาจจะนึกภาพออกยากว่าต้องเคารพกันอย่างไร ที่จริงแล้ว มันคือการมองคนเท่าเทียมกัน เห็นคุณค่าของมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ว่าจะมีฐานะ สีผิว เพศสภาพอย่างไร ไม่ว่าจะอยู่ในสถานะเชิงอำนาจต่ำหรือสูง เป็นครูหรือเป็นนักเรียน ต่างก็ต้องได้รับการปฏิบัติด้วยความเคารพ นี่คือสิ่งที่เราอยากปลูกฝังพลเมือง เพราะในสังคมไทยมีอคติแฝงในรูปของการปฏิบัติอยู่เยอะมาก แม้ว่าเราจะพยายามไม่แสดงออกก็ตาม

แน่นอนว่ามนุษย์ทุกคนย่อมมีอคติ เรารักทุกคนไม่ได้ แต่เราจะปฏิบัติอย่างไรให้ไม่เป็นการดูถูกผู้อื่นแม้ว่าเขาจะเห็นต่างกับเรา เพราะเราต้องวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ต้องอยู่บนฐานของเหตุผลด้วยเหมือนกัน

ณัฏฐเมธร์: พลเมืองต้องมีทั้ง ‘ความคิดเชิงวิพากษ์’ ควบคู่ไปกับ ‘ความเคารพ’ ด้วย ในสังคมไทย ความเคารพมักจะถูกตีความในความหมายแค่ว่า ‘ผู้น้อยเคารพผู้ใหญ่’ ซึ่งเป็นชุดความสัมพันธ์เชิงอำนาจ มีผู้ใหญ่-ผู้น้อย แต่คำนี้ไม่ได้ถูกตีความในความหมายว่า ‘ทุกคนเท่าเทียมกัน ต้องเคารพซึ่งกันและกัน’ ซึ่งหากจะเกิดขึ้นได้ เราต้องยอมรับก่อนว่าทุกคนมีสิทธิที่จะคิดไม่เหมือนเรา หากเราเปิดใจยอมรับได้ ตรงนี้จะนำไปสู่ความเคารพที่ไกลกว่าการเคารพใครสักคนหนึ่งเพียงเพราะอายุ ตำแหน่ง หรืออำนาจหน้าที่

แต่ท่าทีในการออกความเห็นก็สำคัญเหมือนกัน ตรงนี้คือจุดที่ว่าทำไมการวิพากษ์ต้องมีเรื่องการเคารพและยอมรับด้วย หากขาดตรงนี้ไป ใช้ถ้อยภาษาที่รุนแรงในการวิพากษ์วิจารณ์ก็อาจเป็นอุปสรรคขวางกั้น เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นได้ส่วนหนึ่งก็ต้องมาจากการยอมรับฟังซึ่งกันและกันด้วย

อรรถพล: คำหนึ่งที่เรานึกถึงเสมอคือ ‘พลเมืองที่มุ่งเน้นความยุติธรรม’ (justice-oriented citizen) จากงานเขียนของ Joel Westheimer ซึ่งความป็นพลเมืองที่มุ่งเน้นความยุติธรรมก็มีคุณสมบัติอื่นมาเกี่ยวข้องเช่นกัน อย่างหนึ่งคือเราต้องการเห็นพลเมืองที่มีความคิดเชิงวิพากษ์ มองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมที่นำไปสู่ปรากฏการณ์ความไม่เป็นธรรมในสังคม ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงสังคมทั้งโครงสร้างอย่างเป็นระบบ หลายครั้งที่เราเห็นคนลุกขึ้นมาทำจิตอาสาช่วยเหลือสังคม แม้ว่าจะช่วยคนที่ตกทุกข์ได้ยาก แต่ก็ช่วยได้แค่เป็นกรณีๆ ไป บางครั้งก็ฉาบฉวย ไม่สม่ำเสมอ พลังในการเปลี่ยนแปลงเลยน้อย หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง ต้องเปลี่ยนเชิงโครงสร้าง

ยิ่งไปกว่านั้น การคิดเชิงวิพากษ์ที่มองเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างต้องนำไปสู่ ‘การมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์’ (constructive engagement) หมายความว่าต้องมีส่วนร่วมในการสร้างความเปลี่ยนแปลงสังคมเชิงบวก แต่ที่ต้องระวังคือ การเคลื่อนไหวด้วยความโกรธและความไม่พอใจอาจกลายเป็นการขับเคลื่อนด้วยความเกลียดชังในที่สุด ซึ่งสุดท้ายก็คือการผลักให้คนเห็นต่างเป็นคู่ขัดแย้ง เพราะฉะนั้น หากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่สังคม ต้องจูงใจกันให้ได้

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรองประธานมูลนิธิ Thai Civic Education
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำสาขาวิชาการสอนสังคมศึกษา คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและรองประธานมูลนิธิ Thai Civic Education

ทำไมประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนต้องเริ่มจากห้องเรียน และโรงเรียนแบบไหนที่จะหล่อหลอม ‘พลเมืองประชาธิปไตย’ ในฝันของ Thai Civic Education

อรรถพล: ประชาธิปไตยต้องเริ่มจากในห้องเรียน ต้องทำให้ครูฟังเสียงของเด็ก เชื่อว่าเด็กมีคุณค่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือ เราเรียน ‘เกี่ยวกับ’ ประชาธิปไตย (learning ‘about’ democracy) ท่องแต่เนื้อหาว่าประชาธิปไตยคืออะไร สิทธิมนุษยชนคืออะไรอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเรียนรู้ ‘ผ่าน’ วัฒนธรรมประชาธิปไตย (learning ‘through’ democratic culture) ที่เกิดจากบรรยากาศในห้องเรียนด้วย เมื่อเกิดความเป็นประชาธิปไตยขึ้นในห้องเรียน นักเรียนก็จะเริ่มเชื่อในความเป็นประชาธิปไตย

แต่วัฒนธรรมเช่นนี้ต้องไม่จบแค่ในห้องเรียน หากมีห้องเรียนเพียงห้องเดียวที่เป็นห้องเรียนประชาธิปไตย แต่ถ้าอีก 7-8 วิชาครูไม่เปิดกว้าง รวบอำนาจไว้ที่ตนเอง ความเชื่อนี้ก็จะเกิดได้ยาก เพราะฉะนั้น ประชาธิปไตยในโรงเรียนจะเกิดขึ้นได้ต้องเริ่มจากในห้องเรียน

การสร้างสำนึกความเป็นพลเมืองอาจเริ่มโดยไม่ต้องพูดถึง ‘ความเป็นพลเมืองหรือความเป็นประชาธิปไตย’ ก่อนเสียด้วยซ้ำ แต่เริ่มต้นได้จาก ‘การเป็นสมาชิกที่ดีของกลุ่ม-ของห้องเรียน’ โดยเฉพาะในการเรียนการสอนเด็กเล็ก หากเด็กตระหนักรู้ถึงการเป็นสมาชิกร่วมของสังคมห้องเรียน-โรงเรียน มีความรู้สึกเป็นเจ้าของร่วมของสังคมในโรงเรียน ความเป็นพลเมืองในสังคมใหญ่ก็จะเกิดขึ้นได้ไม่ยาก

ณัฏฐเมธร์: จากประสบการณ์ในโรงเรียน วัฒนธรรมประชาธิปไตยจะเกิดขึ้นจริงได้ ต้องมีพื้นที่ของความให้เกียรติและไว้เนื้อเชื่อใจเกิดขึ้น โดยเฉพาะเวลาที่จัดการเรียนแบบให้มีการถกเถียงกันในห้องเรียน

แต่ทีนี้ โรงเรียนหรือครูหลายๆ คนก็อาจจะมองว่าการฟังเด็ก ให้เด็กแสดงความคิดความเห็นคือการตามใจเด็ก แต่การที่เราฟังเด็กไม่ได้หมายความว่าเราวางบทบาทครูลงแล้วเข้าข้างเด็ก เราก็ยังวางสถานะเป็นครูอยู่ เพียงแต่ว่าเราต้องสอนให้เขารู้ว่านี่คือหน้าที่ อย่างในคาบที่ผมเปิดให้มีการแสดงความคิดเห็นหรือลงมือทำ นักเรียนก็ต้องเต็มที่ แต่ในคาบที่ผมต้องบรรยาย เขาก็ต้องตั้งใจฟัง หรืออย่างเวลาเข้าแถว พอผมบอกกับนักเรียนว่า “ทั้งหมดนิ่ง” ทุกคนเงียบหมด การที่เด็กยอมฟังตรงนี้ไม่ได้หมายความว่าผมเป็นครูเผด็จการ ใช้อำนาจกดดันเขานะ แต่เกิดจากการที่ผมรับฟังนักเรียนมาตลอด เราต้องฟังเขาเมื่อเราต้องเป็นผู้ฟัง ส่วนเขาก็จะฟังเราเมื่อเขาต้องเป็นผู้ฟังเช่นกัน เกิดจากการให้เกียรติในสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างพูด เคารพและยอมรับกัน เราต่างตกลงและทำหน้าที่ของตัวเอง

มีมุมไหนในโรงเรียนอีกที่ช่วยสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยให้นักเรียนได้

ณัฏฐเมธร์: การยอมรับความผิดพลาดของคนที่มีอำนาจในโรงเรียนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าครูยอมรับข้อผิดพลาดของตัวเองต่อเด็กได้ เวลานักเรียนทำผิด เขาก็จะยอมรับกับเราอย่างตรงไปตรงมา แล้วคุยกันต่อได้ว่าจะปรับปรุงแก้ปัญหากันต่อไปได้อย่างไร

อย่างผมเองมักจะให้นักเรียนเขียนฟีดแบ็กการสอน มีอยู่ครั้งหนึ่ง ห้องที่ผมสอนได้คะแนนเฉลี่ยต่ำที่สุดในระดับชั้น ทั้งๆ ที่นักเรียนห้องนี้น่าจะมีศักยภาพมากกว่านี้ ส่วนหนึ่งน่าจะเพราะเขาเป็นเด็กสายวิทย์ที่คุ้นชินกับการท่องจำมากกว่าการใช้ความคิดเชิงวิพากษ์ พอมาเรียนวิชาที่ค่อนข้างเน้นการแลกเปลี่ยนความเห็นเลยไม่ถนัด

แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือเพราะผมมักติดภารกิจนอกห้องเรียนตรงกับเวลาที่มีคาบของนักเรียนห้องนี้ คือไม่ได้ปล่อยไปเลย แต่สอนไม่ค่อยต่อเนื่อง เพราะฉะนั้น วันประกาศคะแนน ผมจึงให้เด็กเขียนว่าตัวเองมีข้อผิดพลาดอะไรในการเรียนบ้าง และอยากให้ผมปรับปรุงอะไรบ้าง โดยที่ต้องใช้ภาษาที่เหมาะสม เหตุผลว่าทำไมถึงให้นักเรียนเขียนถึงข้อผิดพลาดก็เพราะอยากขอโทษ อยากยอมรับข้อผิดพลาดที่ไม่ได้สอนอย่างสม่ำเสมอต่อนักเรียนก่อน

อรรถพล: ถ้าเรามีวัฒนธรรมแบบนี้ มีครูเป็นต้นแบบก็จะช่วยหล่อหลอมให้นักเรียนมีความเชื่อว่าเราต้องมีส่วนในการรับผิดรับชอบร่วมกัน ตระหนักว่าต่างคนต่างก็เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เกิดขึ้น

 

ทำไมสังคมประชาธิปไตยต้องมี ‘การมีส่วนรับผิดชอบร่วมกัน’

อรรถพล: หากคิดออกมานอกห้องเรียน การจะเริ่มลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม เด็กต้องตั้งคำถามเป็น ต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามกับประเด็นและปรากฏการณ์ในสังคม ถกเถียงกับประเด็นเหล่านี้อย่างรอบด้านจนตกผลึกว่าปัญหาอะไรในสังคมที่นักเรียนหรือโรงเรียนจะสามารถมี ‘ส่วนร่วม’ ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้บ้าง หรืออยู่ในขอบเขตความรับผิดชอบของเราหรือไม่ แล้วจึงเริ่มลงมือทำ กระบวนการเช่นนี้ เป็นการเรียนรู้ความเป็นพลเมืองผ่านการปฏิบัติจริง (learning through civic action) หากไม่ตั้งต้นแบบนี้ การจะเปลี่ยนแปลงสังคมก็จะไม่ ‘คลิก’ ไปที่โครงสร้าง หรือแก้ปัญหาเพียงแค่ปลายเหตุ ไม่ได้แก้ทั้งระบบอย่างยั่งยืน

ณัฏฐเมธร์: มีหลายครั้งที่โรงเรียนทำโครงการแก้ไขปัญหาในชุมชน แต่กลับให้ความสำคัญกับภาพลักษณ์ความสำเร็จของโครงการมากกว่าสิ่งที่เด็กจะได้เรียนรู้ระหว่างกระบวนการ หรือผลลัพธ์ที่ยั่งยืน อย่างการทำโครงการบำบัดน้ำเสียรอบโรงเรียนด้วยการโยน EM Ball อันดับแรกต้องตั้งคำถามว่า EM Ball แก้ไขปัญหาน้ำเสียได้อย่างยั่งยืนหรือไม่ หน้าที่ของครูคือ ต้องกระตุ้นให้เด็กนักเรียนคิดตั้งคำถามว่า ทำไมน้ำถึงเสีย ปัญหาน้ำเสียควรอยู่ในความรับผิดชอบของใคร หากเทศบาลไม่เป็นคนลงมือแก้ไขแล้วจะไปเสนอให้ใครเป็นผู้แก้ไข

ทัศนวรรณ: การลงมือแก้ปัญหาในฐานะพลเมือง (civic action) โดยการทำจิตอาสาไม่ใช่เรื่องผิดหรือเลวร้าย แต่ต้องไม่ละเลยการมองปัญหาเชิงโครงสร้างว่าปัญหาเกิดขึ้นจากอะไร กลไกไหนในสังคมที่ต้องเข้าไปแก้ ต้องไม่ทำแค่ผิวๆ หรือแค่ทำบุญบริจาคโดยไม่ตั้งคำถามว่าโครงสร้างการกระจายทรัพยากรในสังคมเป็นธรรมหรือไม่

ทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย - อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย - ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1
ทัศนวรรณ บรรจง ผู้อำนวยการมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย – อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ อาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลและประธานมูลนิธิการศึกษาเพื่อสร้างพลเมืองไทย – ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1

เท่าที่ฟังมา ระบบอาวุโส-วัฒนธรรมอำนาจกับวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่ให้ความสำคัญกับความเท่าเทียม ต่างก็ต้องการสังคมที่มีระเบียบ และพลเมืองที่รู้เคารพหน้าที่ สองวัฒนธรรมนี้ดูประนีประนอมกันมาก เราต้องคิดกับวัฒนธรรมเหล่านี้อย่างไร

วัชรฤทัย: ระเบียบที่สังคมประชาธิปไตยต้องการ ไม่ใช่ระเบียบในความหมายที่ว่ามีคนบอกแล้วเราต้องทำตาม แต่ระเบียบที่ว่านี้เกิดจากความเข้าใจว่า ‘ทำไมต้องทำและรับผิดชอบต่อสิ่งนั้น’ หนึ่งในโจทย์ใหญ่ของสังคมไทยในตอนนี้คือ เรามีวิธีสอนด้วยการบอก แต่ไม่ได้ชวนตั้งคำถามต่อไปว่าทำไมต้องทำ

หรืออย่างเนื้อหาการสอนเรื่องสิทธิมนุษยชนก็มีเรื่องความรับผิดชอบนี้ ซึ่งจริงๆ ในการตีความแบบสิทธิมนุษยชน ตัวอย่างของความรับผิดชอบคือ หากเพื่อนในห้องเรียนอยากเรียน เราก็ต้องไม่ไปยุ่งหรือก่อความรำคาญระหว่างที่เพื่อนในห้องกำลังเรียน ซึ่งก็เป็นกติกาของสังคมอยู่แล้ว

ถ้าเรามองออกไปนอกรั้วโรงเรียน ยังมี ‘ใคร’ และ ‘ที่ไหน’ อีกบ้างที่ช่วยส่งเสริมความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยได้

ณัฏฐเมธร์: มีหลายตัวแสดงมากที่มีบทบาท ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว ชุมชน หน่วยงานต้นสังกัดของโรงเรียน หน่วยงานรัฐหรือหน่วยงาน NGOs อื่นๆ ที่จะช่วยสนับสนุน เติมเต็มในส่วนที่โรงเรียนต้องการได้ และที่สำคัญคือ ต้องเห็นภาพรวมของความสัมพันธ์ระหว่างผู้มีบทบาทเหล่านี้กับโรงเรียน แต่ปัญหาอยู่ที่ว่าเราไม่มีการบูรณาการองค์ความรู้จากหน่วยงานต่างๆ เพราะในไทย เวลาหน่วยงานต่างๆ ปฏิบัติงานก็รับคำสั่งจากศูนย์กลางและมองอย่างแยกส่วน โรงเรียนก็รับคำสั่งโดยตรงจากกระทรวงศึกษาธิการ แค่นี้โรงเรียนก็ถูกปิดกั้นในการบูรณาการกับภาคส่วนอื่นๆ ของสังคมแล้ว แม้กระทั่งกับชุมชนในละแวกใกล้เคียงเองก็ตาม

ทัศนวรรณ: ถ้าเราอยากสร้างวัฒนธรรมประชาธิปไตย แม้กระทั่งสภาพแวดล้อมในเมือง อาคาร ท้องถนน ที่อยู่อาศัยก็มีส่วนสำคัญ การออกแบบเมืองที่ inclusive เพื่อให้ทุกคนใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันได้อย่างเท่าเทียม อย่างผังเมืองที่เอื้อให้คนเดิน ขี่จักรยานได้ มีรถสาธารณะราคาเข้าถึงได้ ไม่ต้องมีรถส่วนตัว สภาพแวดล้อมเหล่านี้ก็มีส่วนหล่อหลอมหรือ socialize วัฒนธรรมพลเมืองประชาธิปไตยเหมือนกัน

วัชรฤทัย: อีกอย่างคือพื้นที่ที่สนับสนุนการเรียนรู้ ที่ต่างประเทศอย่างเยอรมนีกับออสเตรเลีย เขามีแหล่งการเรียนรู้ที่น่าสนใจ เข้าถึงง่าย รวมทั้งเอื้อให้เกิดการตั้งคำถามอีกด้วย

ในพื้นที่การสร้างความเป็นพลเมืองประชาธิปไตย Thai Civic Education วางบทบาทของตัวเองไว้ตรงไหน

อรรถพล: เราสนับสนุนและช่วยเตรียมพร้อมให้ครูไปสร้างพลเมืองในเชิงแนวคิดและคอนเซ็ปต์ เปิดอบรบทำเวิร์กช็อป เปิดหลักสูตรฝึกครู ซึ่งเวิร์กช็อปที่ว่าไม่ใช่แค่การให้ความรู้เชิงเนื้อหาอย่างเดียว แต่เน้นการตั้งคำถาม ถกเถียง แลกเปลี่ยนวิธีการระหว่างครู

นอกจากนี้ เรายังพยายามจะสร้างเครือข่ายครูเพื่อสนับสนุนการทำงานและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วย เพราะถ้าอบรมครูอย่างเดียวแล้วจบ ไม่มีการสานต่อก็เหมือนลงแรงเสียเปล่า เพราะพอกลับไปสอนคนเดียวก็อาจเปลี่ยนแปลงได้แค่ในห้องเรียนตัวเอง แต่ถ้ามีเครือข่ายการทำงานที่เชื่อมโยงครูจากหลายๆ โรงเรียน มันก็มีพลังมากขึ้น

เมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา พอครูในภาคเหนือ อีสาน ใต้เริ่มร่วมตัวเป็นเครือข่ายที่เข้มแข็งได้ งานที่เราทำก็งอกงาม ขยายไปยังภูมิภาคอื่นๆ เยอะมาก ครูในเครือข่ายที่ย้ายไปเป็นศึกษานิเทศก์ก็เริ่มทำงานกับโรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาแล้ว เวลาเสนอความคิด หากรวมกลุ่มได้ อำนาจต่อรองกับระดับบนก็จะมากกว่า

ยิ่งไปกว่านั้น เราสนับสนุนให้ครูทดลองเขียนคู่มือการสอนหรือผลิตสื่อการสอน ออกแบบแพ็กเกจการสอน กิจกรรม ผลิตชุดความรู้ที่เกี่ยวกับการสร้างความเป็นพลเมืองเอง อย่างครูที่ไปช่วยทำโปรเจ็กต์รู้เท่าทันสื่อยุคดิจิทัลก็ได้ผลผลิตแบบนี้ออกมา เพราะครูที่จะสร้างความเป็นพลเมืองต้องไม่ได้แค่สอนตามหลักสูตรและแบบเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องออกแบบวิธีการสอนด้วยตัวเองเป็นเช่นกันว่าต้องสอนอย่างไร

มองกลับไปที่การสอนในรั้วโรงเรียน เป็นที่รู้กันดีว่านักเรียนมีโอกาสได้รู้จักกับประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนจากวิชาหน้าที่พลเมือง อยากทราบว่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนยังสอนในวิชาอื่นได้อีกไหม

อรรถพล: ทุกวิชา แต่เราอาจมองว่าการสร้างประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในห้องเรียนที่มีครูวิชาสังคมเป็นแกน เพราะมันอยู่ในเนื้อหาวิชาของเขาอยู่แล้ว

วัชรฤทัย: ประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่ใช่เรื่องของเนื้อหา แต่เป็นเรื่องของกระบวนการคิด วิธิตั้งคำถาม ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียนและผู้สอนที่ต้องอยู่บนฐานของความเคารพ ความเปิดกว้าง และรับฟัง

ณัฏฐเมธร์: ผมมองว่าความหมายที่บรรจุอยู่ในคำๆ หนึ่งสำคัญมาก เพราะมันมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมคน หากใช้คำว่า ‘สอน’ แม้แต่ครูส่วนใหญ่ก็จะมองแต่เรื่องเนื้อหาเป็นหลัก แต่หากพูดถึงการ ‘จัดการเรียนรู้’ เราจะมองภาพกระบวนการหล่อหลอมคนให้มีลักษณะตามที่เราต้องการ

ถ้าต้องสอนคณิตศาสตร์เรื่องฟังก์ชันเลขชี้กำลัง แต่อยากให้เด็กมีความเป็นพลเมือง แน่นอนว่าในเชิงเนื้อหาทำไม่ได้แน่ๆ  แต่มันอยู่ที่กระบวนการการสอนที่สร้างให้เด็กมีความเป็นพลเมือง สามารถอภิปราย ยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลายของกันและกันได้

เพราะฉะนั้น เราต้องไปให้ไกลกว่าคำว่า ‘สอน’ พลเมือง ไม่เช่นนั้น เราก็จะมองเรื่องประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนไม่หลุดออกไปจากการเป็นเนื้อหาของวิชาหน้าที่พลเมือง ถ้าเราใช้คำว่า ‘การจัดการเรียนรู้เพื่อการสร้างความเป็นพลเมือง’ ก็จะไม่ถูกจำกัดกรอบว่าต้องเป็นแค่วิชาสังคมหรือครูสังคมเท่านั้นที่สอน ด้วยความเป็นประชาธิปไตยและเคารพสิทธิมนุษยชน

อรรถพล: ครูคณิตศาสตร์ยุคใหม่ที่โตมากับการสอนคณิตศาสตร์แบบ open approach ก็จะเคารพเด็กว่าแต่ละคนมีลำดับความคิด และวิธีการในการแก้โจทย์เดียวกันต่างกัน เพราะฉะนั้น ในการสอนจะไม่มีการตั้งโจทย์บนกระดานแล้วสอนวิธีทำไล่ไปตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงบรรทัดที่ออกมาเป็นคำตอบ แต่เป็นการฝึกคิดหาวิธีการแก้โจทย์แล้วนำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการกับเพื่อนในห้อง ถ้าเพื่อนแก้โจทย์พลาด ก็ช่วยกันหาว่าตรงไหนที่พลาดไป

หรืออย่างวิชาภาษาอังกฤษ การที่เด็กแต่ละคนออกเสียงสำเนียงไม่เหมือนกันก็ไม่ใช่เรื่องผิด ที่สำคัญคือสื่อสารถูกต้องหรือไม่ ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือในการเข้าใจวัฒนธรรมอื่นได้ ครูก็มีส่วนนำในการประเด็นทางสังคมต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบริบทโลกก็ยกมาชวนถกเถียงพูดคุยในห้องเรียนได้

ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1
ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต ศึกษานิเทศก์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพฯ เขต 1

อย่างในวิชาประวัติศาสตร์ที่ยังสอนแต่ประวัติศาสตร์กระแสหลัก มองว่ามันเป็นอุปสรรคไหม

อรรถพล: มองว่าเป็นความท้าทาย

ต่อให้เป็นประวัติศาสตร์เรื่องเดียวกัน แต่ถ้าเป็นครูที่มีความพร้อมในการจัดกระบวนการสอนตามวิถีพลเมืองไม่เหมือนกัน ก็จะสอนประวัติศาสตร์ไม่เหมือนกัน อย่างครูที่เติบโตในเครือข่ายที่ทำงานเรื่องการสร้างความเป็นพลเมืองมาแล้วสักพักหนึ่ง เวลาสอนประวัติศาสตร์จะไม่ได้สอนแต่เรื่องเล่าที่ผลิตซ้ำความทรงจำแบบเดียว แต่ยังสอนว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักคืออะไร ประวัติศาสตร์กระแสรองคืออะไร แล้วเรียนรู้จากการตั้งคำถาม ชวนหาหลักฐานต่างๆ มายืนยัน เปิดมุมมองและความเป็นไปได้ใหม่ๆ ของเรื่องเล่าทางประวัติศาสตร์  มองในอีกแง่ เราสามารถหยิบประวัติศาสตร์กระแสหลักฉบับกระทรวงศึกษาธิการมาเป็นสื่อในการสอนว่าถูกเขียนด้วยคนที่มีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบไหน อำนาจเบื้องหลังเรื่องเล่าเหล่านี้คืออะไร เพราะฉะนั้นครูจึงเป็นฟันเฟืองที่สำคัญมาก

ณัฏฐเมธร์: มุมที่ท้าทายอยู่ที่ว่า ครูผู้สอนวางการวัดผลอย่างไร ไม่ว่าจะเป็นวิชาอะไรก็ตาม หากครูมีธงที่ปลายทางว่านักเรียนต้องคิดและตอบแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น สำนึกความเป็นพลเมืองอย่างที่เราว่ากันมาก็อาจเกิดขึ้นได้ยาก

ในวิชาประวัติศาสตร์ เราอาจไม่ต้องมองประวัติศาสตร์กระแสหลักในฐานะงานที่บอกเล่าข้อเท็จจริงก็ได้ แต่ถ้าหากเราโยนประวัติศาสตร์ฉบับนี้ทิ้งไปเลยเพราะมองว่าเป็นงานวิชาการที่ไม่มีคุณภาพ เราอาจมองข้ามการนำมันมาขบคิดและตั้งคำถามว่า ประวัติศาสตร์แบบนี้ส่งอิทธิพลต่อความคิดของคนในสังคมอย่างไรในปัจจุบัน

นอกจากการปะทะกันของวัฒนธรรมอำนาจนิยม-วัฒนธรรมประชาธิปไตยแล้ว ยังมีอุปสรรคอะไรอีกที่ขัดขวางไม่ให้ความเป็นประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนงอกงามในโรงเรียน  

วัชรฤทัย: ถ้าพูดในเชิงการศึกษา การสร้างพลเมืองไม่ได้เป็นเป้าหมายหลักของระบบการศึกษาเท่ากับการที่เด็กเรียนจบไปแล้วต้องมีงานทำในระบบเศรษฐกิจ หรือไม่ได้เป็นเรื่องที่คนให้ความสนใจเท่าไรนัก

อรรถพล: การสร้างความเป็นพลเมืองถูกให้ความสำคัญในฐานะตัวหนังสือที่เขียนในหลักสูตร แต่การปฏิบัติยังทำด้วยความเชื่อทางการศึกษาแบบเก่าคือ เตรียมพร้อมคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน ทำให้การให้น้ำหนักกับการพูดคุยเรื่องความเป็นพลเมืองในโรงเรียนกลายเป็นเรื่องฉาบฉวยมาก กลายเป็นว่าก็มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกิดขึ้นเยอะมาก มองแค่ว่าการมีวิชาหน้าที่พลเมือง สอนเรื่องประชาธิปไตย มีการกำหนดชั่วโมงทำจิตอาสาก็เพียงพอแล้วต่อการสร้างพลเมือง

หากมองในมุมของนโยบายการออกแบบหลักสูตรและการศึกษา แม้ว่ากำลังจะมีการเปลี่ยนไปใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะที่มีเป้าหมายให้เด็กใช้ความรู้ผนวกกับทักษะและคุณลักษณะในชีวิตจริงได้ และนี่ก็เป็นโอกาสที่สำนึกความเป็นพลเมืองจะถูกผลักดันให้เป็นหนึ่งใน 10 สมรรถนะหลักของนักเรียน แต่โจทย์ท้าทายอยู่ที่ว่า ในบรรดากรรมการที่มาจากต่างหน่วยงานมีชุดความคิดเรื่องความเป็นพลเมืองที่ต่างกันมาก มองกันคนละแบบเลย เพราะฉะนั้น ทางออกจึงอยู่ที่การถกเถียงอภิปรายกัน

ทัศนวรรณ บรรจง - อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ - ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต - ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล
ทัศนวรรณ บรรจง – อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ – ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต – ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล

คุยกันมาถึงตรงนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าครูคือฟันเฟืองสำคัญในการเปลี่ยนแปลง แน่นอนว่ายังมีครูที่ยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการสร้างสำนึกความเป็นพลเมือง มีหนทางไหนบ้างไหมที่จะช่วยให้ครูเหล่านี้ตื่นตัว

ณัฏฐเมธร์: ถ้าจะเปลี่ยนครูให้เห็นความสำคัญของการสร้างพลเมือง ก็ต้องไปเปลี่ยนที่ระบบการศึกษา เพราะระบบการศึกษาเป็นตัวกำหนดว่าปลายทางต้องการผู้เรียนที่มีลักษณะแบบไหน ระบบต้องการเห็นเด็กแบบไหน ครูก็พร้อมที่จะสร้างเด็กออกมาตามที่ระบบคาดหวัง ถ้าเป็นระบบการศึกษาที่เน้นภาพความสำเร็จ เด็กบางส่วนที่ไม่เก่งก็จะถูกกันไปเลย แล้วครูก็ไปเน้นให้ความสำคัญกับแค่เด็กเก่ง แต่ถ้าระบบการศึกษาเปลี่ยนปลายทางว่าต้องพัฒนาเด็กไม่เก่ง ครูก็จะมุ่งหาทางพัฒนาเด็กเหล่านี้ เพราะฉะนั้น ถ้าจะให้ครูทั้งระบบการศึกษาตื่นตัวในการสร้างความเป็นพลเมือง ระบบก็ต้องกำหนดปลายทางว่าต้องการเด็กที่มีสำนึกความเป็นพลเมือง

อรรถพล: หากครูที่ว่านี้หมายถึงครูทั่วประเทศ ผมมองว่าต้องเปลี่ยนทั้งหมดในเชิงระบบการศึกษา แต่ Thai Civic Education ในฐานะเครือข่าย เราก็พยายามกระจายแก่นความคิดของเราผ่านหลายๆ ช่องทาง อย่างการจัดเวิร์กช็อปหลักสูตรอบรมการสอนความเป็นพลเมืองประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนให้กับครู แต่ก็ต้องอาศัยเวลาเหมือนกันกว่าครูที่มาเข้าร่วมจะเริ่มอยู่ตัว

ทาง Thai Civic Education ไม่ได้มองว่าครูจะต้องเปลี่ยนความคิดตั้งแต่เวิร์กช็อปครั้งแรก เพราะเวิร์กช็อปแต่ละครั้งจะค่อยๆ เปลี่ยนวิธีคิด หรือครูบางคนอาจจะ ‘คลิก’ กับวิธีการสอนหรือเครื่องมือต่างๆ ที่เราให้ไปตอนสอนนักเรียนจริงๆ ก็ได้ ก็ต้องเกิดจากการลองผิดลองถูก นอกจากนี้เราก็ยังเป็นเครือข่ายการเรียนรู้ระหว่างครูกันเอง เพราะฉะนั้นเราพยายามกระจายเครือข่ายการทำงานให้เป็นพื้นที่รวมตัวของครูที่มีความเชื่อเหมือนๆ กันไปสู่ภูมิภาคให้มากที่สุด

เราทำงานกับต้นทางการผลิตครูเหมือนกัน ในเครือข่ายก็มีอาจารย์จากครุศาสตร์ ศึกษาศาสตร์จากหลากหลายสถาบันเข้ามาช่วยเตรียมครูรุ่นใหม่ให้มีความรู้เกี่ยวกับคอนเซ็ปต์พลเมืองประชาธิปไตยและทัศนคติในการจัดการสอนเตรียมความเป็นพลเมืองที่แม่นยำชัดเจน หรือแม้กระทั่งร่วมมือกับคณะอื่นๆ ที่ต้องสอนวิชาเชิงเนื้อหาให้ครูอย่างรัฐศาสตร์

การสื่อสารสาธารณะก็สำคัญ เพราะฉะนั้นวงเสวนาที่ Thai Civic Education จัดหลายๆ ครั้งก็เปิดให้ทุกคนฟังได้ ไม่ต้องเชื่อเหมือนเราก็ฟังได้

หากเราจะเปลี่ยนครู แน่นอนว่าแค่เครือข่ายของเราเครือข่ายเดียวไม่สามารถเปลี่ยนได้ เราก็พยายามจะเปิดพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างเครือข่ายต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวกับความเป็นพลเมือง

 

เรายังมีความหวังรอวันที่วัฒนธรรมพลเมืองจะงอกงามในรั้วโรงเรียนได้ไหม

อรรถพล: ผมตอบเสมอ ใครที่คิดจะทำงานการศึกษาไม่มีหน้าที่ที่จะต้องหมดหวัง การมีความหวังเป็นหน้าที่ของคนทำงานการศึกษา คุณต้องทำงานให้ดีที่สุดเท่าที่คุณจะทำได้ สร้างการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุดเท่าที่คุณจะฝากไว้ได้ แต่ก็ต้องไม่ใจร้อน เพราะแรงที่เราลงไปจะไม่เห็นผลในชั่วพริบตา

วัชรฤทัย: การสื่อสารและโน้มน้าวให้คนที่มองต่างไปจากเราให้เขาเห็นว่าสิ่งที่เราทำนั้นเป็นทั้งเรื่องการสร้างพลเมืองและการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดย ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ เป็นงานที่ต้องขับเคลื่อนด้วยความหวัง มันเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้

ณัฏฐเมธร์: ผมก็ยังมีความหวังกับการทำงาน เพียงแต่ว่าเวลาเราหวัง ถ้าเราหวังเกินกว่ากำลังที่เราทำได้ พอเราทำไม่สำเร็จก็อาจหมดหวังได้ เพราะฉะนั้นเราอยู่ในจุดไหน เราทำได้แค่ไหน เราก็หวังในจุดที่เราทำได้ ภาพความสำเร็จอาจจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราตายไปแล้วก็ได้ ก็เป็นเรื่องปกติของสังคมที่กำลังเปลี่ยนผ่าน

ทัศนวรรณ: ได้ค่ะ แต่ความหวังของเราต้องอยู่บนฐานของความเป็นจริง ไม่คาดหวังให้เป็นอย่างในอุดมคติ ทำเท่าที่เราทำได้ ค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป (ยิ้ม)

ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล - ทัศนวรรณ บรรจง - อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ - ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต -
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล – ทัศนวรรณ บรรจง – อ.ดร.วัชรฤทัย บุญธินันท์ – ศน.ณัฏฐเมธร์ ดุลคนิต –

ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save