พลอย ธรรมาภิรานนท์ เรื่อง
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนธันวาคม 2558 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นำคณะนักธุรกิจเข้าหารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เรื่องการปฏิรูปประเทศ การหารือดังกล่าวนำมาซึ่งการแต่งตั้งคณะกรรมการภาครัฐและภาคเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ (Public-Private Steering Committee) ซึ่งเป็นแกนหลักในการขับเคลื่อนกลไกประชารัฐในเวลาต่อมา
ในทางหนึ่งอาจมองได้ว่า นายทุนนักธุรกิจเหล่านี้ทำไปด้วยความหวังดี และอยากเห็นประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามสำคัญว่า แท้จริงแล้ว ชนชั้นนายทุนมีจุดยืนต่อการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตยอย่างไร?
เพื่อทำความเข้าใจจุดยืนของนายทุนไทยต่อการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย เราอาจย้อนไปศึกษาจุดยืนของนายทุนไทยตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตลอดระยะเวลา 25 ปีที่ผ่านมา เราจะพบว่า นายทุนไทยเปลี่ยนจุดยืนทางการเมือง จากที่เคยสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงปี 2535-2540 กลับมาหันหลังให้ประชาธิปไตยตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2544 เป็นต้นมา
การตอบคำถามว่า เหตุใดนายทุนไทยจึงเปลี่ยนจุดยืนต่อประชาธิปไตย เราต้องตอบให้ได้ก่อนว่า นายทุนเหล่านี้คือใคร และมีแรงจูงใจอะไรในการเข้าไปมีบทบาทในการเมือง
ความหลากหลายของนายทุน
ในภาพกว้าง นายทุนไทยในปัจจุบันอาจแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มหลัก ดังนี้
(1) นายทุนเก่า
นายทุนกลุ่มนี้ปรากฏตัวเด่นชัดในยุคที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยเติบโตอย่างรวดเร็วด้วยแรงสนับสนุนจากรัฐ ผ่านนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมที่สำคัญคือ การให้สิทธิประโยชน์ด้านภาษี และการอำนวยความสะดวกในการหาเงินกู้
ดังนั้น เพื่อสร้างอิทธิพลในการกำหนดนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน นายทุนเก่าจึงต้องสร้างความสัมพันธ์กับข้าราชการ ทั้งโดยการแต่งตั้งข้าราชการเป็นบอร์ดในบริษัทและโดยการแต่งงาน ในขณะเดียวกัน นายทุนกลุ่มนี้ก็ให้ความสนับสนุนทางการเงินแก่พรรคการเมือง นักการเมือง และหนังสือพิมพ์ด้วย ตัวอย่างธุรกิจของกลุ่มนายทุนเก่าขนาดใหญ่ เช่น ธนาคารกรุงเทพ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นต้น
(2) นายทุนท้องถิ่น
นายทุนกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจท้องถิ่นในยุคของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มีการขยายถนนและระบบสาธารณูปโภคไปยังพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ นายทุนท้องถิ่นเติบโตขึ้นจากการประกอบธุรกิจในท้องถิ่น โดยเฉพาะธุรกิจก่อสร้าง ขณะที่บางส่วนก็ประสบความสำเร็จจากธุรกิจสีเทา เช่น การค้าไม้
ด้วยเหตุนี้ นายทุนท้องถิ่นจึงจำเป็นต้องสร้างสายสัมพันธ์กับข้าราชการ เพื่อคุ้มครองธุรกิจของตน ในช่วงต้นทศวรรษ 2530 นายทุนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยหันมาเล่นการเมืองโดยตรง ทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ จนสามารถกุมตำแหน่งข้างมากในคณะรัฐมนตรีและรัฐบาลได้ในช่วงกลางทศวรรษ 2530 ตัวอย่างของนายทุนท้องถิ่น เช่น ตระกูลศิลปอาชา ตระกูลเทียนทอง ตระกูลเทือกสุบรรณ
(3) นายทุนใหม่
นายทุนใหม่เติบโตขึ้นจากการพัฒนาอุตสาหกรรมในช่วงปลายทศวรรษ 2520 และต้นทศวรรษ 2530 ส่วนใหญ่ประกอบธุรกิจในภาคบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม เช่น ธุรกิจก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และโทรคมนาคม ซึ่งจำเป็นต้องใช้ใบอนุญาตหรือสัมปทาน
ด้วยเหตุนี้ สายสัมพันธ์ทางการเมืองจึงเป็นเสมือนช่องทางลัดสำหรับการทำธุรกิจ บทบาททางการเมืองของนายทุนใหม่มีทั้งการเป็นที่ปรึกษาพรรคการเมือง ผู้สนับสนุนทางการเงินให้แก่พรรคการเมือง หรือแม้กระทั่งดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) โดยตรง ตัวอย่างนายทุนใหม่ที่มีอิทธิพลทางการเมือง เช่น ทักษิณ ชินวัตร (อดีตเจ้าของสัมปทานธุรกิจดาวเทียมไทยคมและบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่) และไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ (อดีตเจ้าของกิจการอสังหาริมทรัพย์เครือบ้านฉางกรุ๊ป)
ข้อสังเกตสำคัญสองประการที่ได้จากการวิเคราะห์พัฒนาการของระบบทุนนิยมไทย คือ หนึ่ง ชนชั้นนายทุนไทยประกอบด้วยนายทุนหลายกลุ่มที่มีผลประโยชน์ทางธุรกิจแตกต่างกัน และ สอง ความช่วยเหลือจากรัฐมีบทบาทสำคัญในการก่อร่างสร้างตัวของระบบทุนนิยมและชนชั้นนายทุนไทย ส่งผลให้นายทุนไทยไม่เป็นอิสระจากรัฐ และพึ่งพิงความสัมพันธ์กับรัฐเพื่อให้ธุรกิจเติบโต
ช่วงพัฒนาประชาธิปไตย: ต่างกลุ่ม ต่างบทบาท
ในช่วงปี 2535-2540 นายทุนจำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียกร้องให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยไทย อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาบริบทแวดล้อมของการเมืองไทยในช่วงดังกล่าวจะพบว่า กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนที่ส่งผลให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงนี้ตั้งอยู่บนผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจมากกว่าความต้องการยกระดับการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบอบการเมืองแบบตัวแทน ดังจะเห็นได้จากเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2534 เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 และกระแสสนับสนุนให้รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540
ก่อนหน้าเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นั้น นายทุนไทยมิได้เป็นผู้สนับสนุนประชาธิปไตย นายทุนไทยจำนวนมากสนับสนุนรัฐบาลของนายอานันท์ ปันยารชุน ที่มาจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 เนื่องจากนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ ภาพลักษณ์มือสะอาดของนายอานันท์ ตลอดจนความรู้ความสามารถ และความใกล้ชิดกับภาคธุรกิจของคณะรัฐมนตรีและตัวนายอานันท์เอง ยิ่งไปกว่านั้น ในปี 2535 นายทุนท้องถิ่นซึ่งเป็นนักการเมืองจำนวนหนึ่ง ก็ลงสมัครรับเลือกตั้งกับพรรคสามัคคีธรรมที่มีสายสัมพันธ์ใกล้ชิดกับ รสช. เหตุการณ์เหล่านี้เป็นข้อยืนยันได้อย่างดีว่า นายทุนไทยให้ความสำคัญต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจมากกว่าอุดมการณ์ประชาธิปไตย
อย่างไรก็ตาม ภายหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 นายทุนขนาดใหญ่ก็ออกมาเคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประชาธิปไตย ทั้งการออกแถลงการณ์ร่วมเพื่อแสดงจุดยืนทางการเมืองครั้งแรกโดยสมาคมธุรกิจ 3 สมาคมหลัก ได้แก่ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย รวมถึงการจัดตั้งกลุ่มนักธุรกิจเพื่อประชาธิปไตย (ฺBMS) เพื่อสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยในไทยมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตาม สาเหตุหลักของการเคลื่อนไหวดังกล่าวมาจากการที่เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ ทั้งด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว[1]
กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนไทยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย ปรากฏเด่นชัดอีกครั้งในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ 2540 นายทุนเจ้าของธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ กลาง เล็ก จำนวนมาก เรียกร้องให้มีการปฏิรูปการเมือง และรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าว ซึ่งอาจถือเป็นเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากที่สุดฉบับหนึ่งของไทย เหตุผลสำคัญของกระแสสนับสนุนประชาธิปไตยในช่วงนี้คือ นายทุนไทยมองว่า วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ที่ส่งผลกระทบร้ายแรงต่อพวกเขา มีสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการคอร์รัปชั่น และความไร้ประสิทธิภาพของนักการเมืองกลุ่มนายทุนท้องถิ่น
อย่างไรก็ตาม นายทุนไทยมิได้มีความเห็นพ้องต้องกันไปเสียทั้งหมด นักการเมืองนายทุนท้องถิ่น เช่น นายเสนาะ เทียนทอง กลับคัดค้านการปฏิรูปการเมืองในช่วงดังกล่าว เนื่องจาก ระบบการเลือกตั้งภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 มีผลทำให้บทบาทและอำนาจทางการเมืองของนายทุนท้องถิ่นลดลง ตัวอย่างเช่น การเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อเอื้อให้นายทุนขนาดใหญ่ระดับประเทศเข้าสู่ตลาดการเมืองได้ง่ายขึ้น ในขณะที่นายทุนท้องถิ่นมีอำนาจต่อรองลดลง จากจำนวนเก้าอี้ ส.ส. ที่ลดลงโดยเปรียบเทียบ
สาเหตุที่นายทุนไทยแต่ละกลุ่มมีบทบาททางการเมืองและแรงสนับสนุนต่อการพัฒนาประชาธิปไตยแตกต่างกันในเหตุการณ์เดียวกันเป็นเพราะนายทุนไทยไม่ได้รวมตัวกันเป็นชนชั้นที่เข้มแข็ง กล่าวคือ นายทุนแต่ละกลุ่มมีผลประโยชน์ทางธุรกิจแตกต่างกัน ทั้งนี้เนื่องจากกระบวนการทำให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialization) ของไทยเกิดขึ้นหลายระลอก ไม่ได้เป็นการปฏิวัติอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนของระบบเศรษฐกิจพร้อมกันเหมือนอย่างประเทศในยุโรปตะวันตก
ช่วงประชาธิปไตยถดถอย: หันหลังให้ประชาธิปไตย
หลังจากปี 2544 เป็นต้นมา บทบาทของนายทุนไทยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยกลับเป็นไปในทิศทางตรงกันข้ามกับช่วงก่อนหน้า กล่าวคือ กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนไทยขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตยอย่างชัดเจน และมีส่วนทำให้ประชาธิปไตยไทยถดถอยมาจนถึงปัจจุบัน
ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 รัฐบาล “ของนายทุน-โดยนายทุน-เพื่อนายทุน”[2] ของนายทักษิณ ชินวัตร ใช้อำนาจในลักษณะที่ไม่เป็นไปตามหลักการประชาธิปไตย ทั้งการควบคุมสื่อ การทำลายระบบการถ่วงดุลอำนาจ โดยการแทรกแซงองค์กรอิสระ รัฐบาลทักษิณมีความเป็นอำนาจนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนนักวิชาการจำนวนมากออกมาวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้ง เช่น ศ.ดร.เกษียร เตชะพีระ ที่ให้คำนิยามระบอบทักษิณว่าเป็นระบอบสมบูรณาญาสิทธิทุนจากการเลือกตั้ง (elected capitalist absolutism)
การกุมอำนาจทางการเมืองและการเอื้อผลประโยชน์ให้พวกพ้องของรัฐบาลทักษิณ ทำให้นายทุนที่อยู่นอกวงสูญเสียผลประโยชน์ และนำไปสู่กิจกรรมทางการเมืองที่ขัดกับอุดมการณ์ประชาธิปไตย กรณีที่เห็นได้ชัดคือ ความขัดแย้งทางธุรกิจระหว่างนายทักษิณกับนายสนธิ ลิ้มทองกุล อดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ ทำให้นายสนธิผันตัวไปเป็นแกนนำกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในปี 2549 อันนำมาซึ่งการรัฐประหารในเดือนกันยายนปีเดียวกัน
ตัวอย่างอีกกรณีหนึ่งคือ นายทุนในเขตเมืองจำนวนมากเข้าร่วมชุมนุมกับกลุ่มต่อต้านเครือข่ายทักษิณ โดยเฉพาะคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข (กปปส.) ในปี 2556 ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่ามาจากสาเหตุหลัก คือ ความต้องการปกป้องเงินงบประมาณของประเทศจากการคอร์รัปชั่นของนักการเมือง เพราะนายทุนกลุ่มนี้มองว่าพวกเขาเป็นกลุ่มที่เสียภาษีมากที่สุด และความรู้สึกไม่มั่นคงจากอำนาจและบทบาททางการเมืองของชนชั้นกลางใหม่ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยทั้งกลุ่มพันธมิตรและ กปปส. ต่างก็มีแนวคิดที่ไม่สอดคล้องกับการพัฒนาประชาธิปไตย เช่น เรียกร้องให้ทหารเข้าแทรกแซงทางการเมือง ต้องการนายกรัฐมนตรีและสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้ง ตลอดจนปิดล้อมและก่อกวนการเลือกตั้ง
นายทุนไทย: สนับสนุนประชาธิปไตยเป็นบางครั้ง-รักษาผลประโยชน์ถาวร
ทฤษฎีว่าด้วยการพัฒนาประชาธิปไตยหลายชิ้นมองว่า ชนชั้นนายทุนจะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนผ่านจากการเมืองระบอบอำนาจนิยมหรือระบอบศักดินาไปสู่ระบอบประชาธิปไตย แต่ในกรณีของไทยนั้น นายทุนกลับมิได้เป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยและสถาบันการเมืองแบบรัฐสภา กิจกรรมทางการเมืองของนายทุนไทยในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า บทบาทของนายทุนไทยในกระบวนการพัฒนาประชาธิปไตยนั้น แตกต่างกันไปตามแต่ละกลุ่ม และแต่ละเหตุการณ์
ปรากฏการณ์ดังกล่าวสอดคล้องกับทฤษฎีผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข (contingent democrats) ของอีวา เบลลิน ซึ่งเสนอว่า ชนชั้นนายทุนในประเทศกำลังพัฒนาไม่ได้สนับสนุนระบอบประชาธิปไตยเสมอไป แต่จะผลักดันให้เกิดการพัฒนาประชาธิปไตยก็ต่อเมื่อการพัฒนานั้นส่งผลดีต่อผลประโยชน์ทางธุรกิจของตน กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ นายทุนในประเทศกำลังพัฒนาเป็น “ผู้สนับสนุนประชาธิปไตยแบบมีเงื่อนไข เพราะพวกเขาเป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของตนเองแบบถาวร” (“Capitalists are contingent democrats for the very reason that they are consistent defenders of their material interests,” เบลลิน, 2543)
สาเหตุที่ทำให้นายทุนไทยไม่สนับสนุนประชาธิปไตยอย่างต่อเนื่องนั้น มีอย่างน้อย 2 ประการ ได้แก่ความไม่เป็นอิสระจากรัฐ และความรู้สึกไม่มั่นคงที่มาพร้อมกับระบอบประชาธิปไตย
ประการแรก การที่นายทุนไทยต้องพึ่งพิงความช่วยเหลือจากรัฐในการก่อร่างสร้างตัวนั้น ทำให้ผลประโยชน์ทางธุรกิจของนายทุนไทย ตั้งอยู่บนความสัมพันธ์ที่ไม่ค่อยจะโปร่งใสนักกับข้าราชการชั้นสูง เช่น การจ่ายเงินใต้โต๊ะเพื่อให้ได้สัมปทาน หรือการแต่งตั้งข้าราชการเป็นบอร์ดของบริษัท เพื่อให้รัฐออกนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของตน เป็นต้น ในแง่นี้ ระบอบประชาธิปไตยที่จะนำมาซึ่งความโปร่งใสและการถ่วงดุลอำนาจ จึงไม่น่าพิสมัยนักในมุมมองของนายทุนไทย
ประการที่สอง ในทางหนึ่ง ประชาธิปไตยเป็นระบอบที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วม พัฒนาการของประชาธิปไตยจะทำให้คนหมู่มาก ซึ่งได้แก่ ชนชั้นกลางล่างและชนชั้นล่าง มีอำนาจทางการเมืองมากขึ้น ในทางกลับกัน ก็ทำให้ชนชั้นนายทุน ซึ่งเป็นคนส่วนน้อยของประเทศ มีอำนาจและอิทธิพลในการกำหนดนโยบายต่างๆ ของประเทศลดลง จากการที่นักการเมืองต้องมีความรับผิดรับชอบต่อคนส่วนใหญ่ของประเทศ ท้ายที่สุด พัฒนาการของประชาธิปไตยจะนำไปสู่การ “กระจาย” ผลประโยชน์ แทนที่จะเป็นการ “รวบ” ผลประโยชน์ของนายทุน
ในประเด็นนี้ นักวิชาการหลายคนเสนอว่า สาเหตุที่นายทุนไทยจำนวนมากหันหลังให้ประชาธิปไตยในช่วงของรัฐบาลทักษิณนั้น ส่วนหนึ่งเกิดขึ้นจากการพัฒนาประชาธิปไตยในช่วงปี 2540 ที่ทำให้นายทุนเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงภายใต้ระบบประชาธิปไตยนั่นเอง
อ่านเพิ่มเติม
1. อภิชาต สถิตนิรามัย. 2556. รัฐไทยกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ: จากกำเนิดทุนนิยมนายธนาคารถึงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540. นนทบุรี: ฟ้าเดียวกัน.
2. อภิชาต สถิตนิรามัย, ยุกติ มุกดาวิจิตร และนิติ ภวัครพันธุ์. 2556. “รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ โครงการวิจัยทบทวนภูมิทัศน์การเมืองไทย”, ได้รับทุนสนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.).
3. Bellin, Eva. 2000. “Contingent democrats: industrialists, labor, and democratization in late-developing countries”. World Politics, 52 (2), pp. 175-205.
4. Hicken, Allen. 2006. “Party fabrication: constitutional reform and the rise of Thai Rak Thai”. Journal of East Asian Studies, 6, pp. 381-407.
อ้างอิง
1. สังศิต พิริยะรังสรรค์. 2526. ทุนนิยมขุนนางไทย พ.ศ.2475-2503. กรุงเทพฯ: สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
2. Phongpaichit, Pasuk. & Baker, Chris. 2002. Thailand: economy and politics.New York: Oxford University Press.
3. Hewison, Kevin. 2005. “Neo-liberalism and domestic capital: the political outcomes of the economic crisis in Thailand”. The Journal of Development Studies, 41 (2), pp. 310-330.
4. McCargo, Duncan. & Pathmanand, Ukrist. 2005. The Thaksinization of Thailand. Copenhagen: Nordic Institute of Asian Studies Press.
เชิงอรรถ
[1] ดร.โอฬาร ไชยประวัติ อดีตกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ และแกนนำกลุ่ม BMS ได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารดอกเบี้ย ฉบับเดือนธันวาคม ปี 2536 ว่า “เรานั่งทำธุรกิจของเราอยู่เฉยๆ อยู่ๆ วันดีคืนดี เขาก็มาทำอะไรให้กระทบมาถึงเราได้ … พูดง่ายๆ ก็คือ ทำให้เกิดความเสียหายต่อวงการท่องเที่ยวมากกว่าวงการแบงก์ แต่ที่จริงมันกระทบไปทุกวงการ เราก็คิดว่า เรามีจิตสำนึกที่ว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่เราจะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบ และพยายามที่จะนำทางนักการเมือง ระบบการเมือง ให้ไปในทิศทางที่อย่างน้อยคิดถึงเราบ้างก่อนที่จะทำอะไรบ้าๆ บอๆ ในอนาคต”
[2] ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายทุนใหญ่ระดับประเทศคนแรก ที่เข้ามารับตำแหน่งผู้นำในการเมืองแบบเปิด พร้อมกันนั้น เรายังได้เห็นนายทุนขนาดใหญ่เข้ากุมอำนาจในคณะรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ไทย โดยพวกพ้องของทักษิณนั้น ส่วนมากเป็นนายทุนขนาดใหญ่ที่รอดพ้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 มาได้ เช่น กลุ่มที่ประกอบธุรกิจโทรคมนาคม สื่อ ยานยนต์ และเกษตรอุตสาหกรรม แต่ก็ยังมีนายทุนท้องถิ่นร่วมด้วย