fbpx
เสียงก้องของแรงงาน-สตาร์ทอัพไทยในเถื่อนถ้ำ

เสียงก้องของแรงงาน-สตาร์ทอัพไทยในเถื่อนถ้ำ

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

ขณะที่รัฐบาล คสช. อยู่เกินวาระ 4 ปีในการปกครองประเทศ ยังไม่มีบันทึกว่าผู้มีอำนาจในรัฐบาลคนใดจะพูดถึงเศรษฐกิจไทยว่าย่ำแย่อย่างไร

แน่นอน, ไม่ใช่แค่เรื่องเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ในสายตาของ คสช. นั้นทุกมิติดีหมด และมีความพัฒนาอย่างยิ่งยวด !?!

แม้สังคมไทยจะทราบว่า คสช. พยายามเดินหน้าประเทศไทยต่อด้วยยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีและงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2562 ถึง 3 ล้านล้านบาท คำถามที่ลอยเคว้งอยู่ในสายลม คือ แล้วพลเมืองไทยจะมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตาชีวิตทางเศรษฐกิจของตัวเอง และการใช้เงินจำนวนมหาศาลของประเทศอย่างไร ในขณะที่พลเมืองไทยยังไม่สามารถเลือกตั้งผู้นำของตัวเองได้

ประท้วง คสช. 4 ปี

ระหว่างนี้ 101 Spotlight ชวนผู้คนในภาคเศรษฐกิจตั้งแต่แรงงานตัวเล็กที่เพิ่งถูกปลด ร้านอาหารชื่อดังในย่านเมืองเก่าที่ใฝ่ฝันจะเป็นคัลเจอร์คลับ ไปจนถึงผู้ผลิตคราฟท์เบียร์ที่เพิ่งเริ่มต้นสร้างแบรนด์ในปีเดียวกับการรัฐประหาร และดีไซน์เนอร์จากวงการสตาร์ทอัพไทยที่เพิ่งไปคว้ารางวัลนวัตกรรมยอดเยี่ยมมาจากต่างประเทศ มาร่วมมองทรัพย์สินและความทรงจำที่หลงเหลืออยู่ในกระเป๋าสตางค์ของตัวเอง

มากกว่านั้น อะไรคือสิ่งที่พวกเขาผ่านพบเผชิญในห้วงวิกฤตการเมืองที่ผ่านมา อะไรคือความฝันของคนทำธุรกิจขนาดเล็ก เมื่อพวกเขาลุกขึ้นประกาศยืนตรงข้ามกับระบอบอำนาจนิยม อะไรคือหัวใจของการทำธุรกิจที่มีเสียงเต้นเป็นจังหวะประชาธิปไตย

ยุครัฐประหาร แรงงานไม่มีเครื่องมือต่อรอง

ถ้า บุญยืน สุขใหม่ เป็นเด็กดีของนายทุนและทหาร วันนี้เขาอาจได้ตำแหน่งสำคัญในโรงงานที่เขาเคยทำอยู่ แต่เพราะหัวจิตหัวใจที่ยืนตรงข้ามนายทุนและทหารเสมอมา วันนี้เขาเลยไม่มีสถานะอะไรในโรงงานอีก เพราะถูกศาลแรงงานตัดสินให้ออกจากงานเมื่อเดือนพฤษจิกายน 2559

หนุ่มโคราชร่ำเรียนสายอาชีพด้านช่างยนต์ เข้าทำงานในโรงงานมาตั้งแต่ปี 2530 ผ่านงานอุตสาหกรรมมาทั้งปิโตรเคมี และงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ จนกลายมาเป็นนักเคลื่อนไหวสิทธิแรงงาน

บุญยืน สุขใหม่
บุญยืน สุขใหม่

ประชาไทรายงานว่า ในปี 2536-2538 บุญยืนเข้าร่วมเป็นกรรมการฝ่ายจัดตั้งและคุ้มครองแรงงาน สภาองค์การลูกจ้างแรงงานแห่งประเทศไทย และก้าวเดินไปสู่ตำแหน่งอื่นๆ ตามเส้นทางของนักสหภาพ ไม่ว่าจะเป็นรองประธานกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก (2548-2550) เลขาธิการกลุ่มสหภาพแรงงานภาคตะวันออก (2550-2552) เลขาธิการคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ (2548-2550) ประธานคณะทำงานกลุ่มแรงงานบ่อวินสัมพันธ์ (2550-2552) รองประธานฝ่ายวิชาการ สภาองค์การลูกจ้างแรงงานสัมพันธ์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2553-2554 และเป็นผู้ประสานงานกลุ่มพัฒนาแรงงานสัมพันธ์ตะวันออก ตั้งแต่ปี 2552-ปัจจุบัน

บุญยืนได้รับรางวัลสมชาย นีละไพจิตร ประจำปี 2557 ในฐานะนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิแรงงาน เขาใช้นอกเวลางานเคลื่อนไหวและให้คำปรึกษาด้านสิทธิแรงงานแก่เพื่อนผู้ใช้แรงงาน โดยเปิดบ้านของตัวเองเป็นสถานที่ให้คำปรึกษา และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้แทนฝ่ายลูกจ้างในบอร์ดประกันสังคมปี 2557

เส้นทางของการไม่เป็นเด็กดีของบุญยืนเป็นอย่างไร เขาทำวีรกรรมอะไรให้ทุนไทยไม่พอใจ วีรกรรมของเขาส่งผลให้เขามีชีวิตอย่างไรภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหารตลอด 4 ปีที่ผ่านมา

บุญยืนบอกกับ 101 ว่า เขาตั้งสหภาพแรงงานแห่งแรกในจังหวัดระยองขึ้นเมื่อปี 2536 และใช้สิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเรียกร้องความเป็นธรรมให้แรงงานมาตลอด กระทั่งเมื่อปี 2558 เขาถูกบริษัท ไอที ฟอร์จิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด ที่เขาทำงานอยู่ยื่นฟ้องต่อศาลแรงงานภาค 2 ว่าเขาได้ฝ่าฝืนข้อบังคับการทำงานเกี่ยวกับกฎระเบียบการทำงาน และระบุว่าเขาเป็นบุคคลด้อยประสิทธิภาพในการทำงาน

“บริษัทอ้างว่าผมหยุดงานบ่อย แต่จริงๆ เวลาอยู่โรงงาน ทุกคนทราบว่าบริษัทให้ผมนั่งอยู่เฉยๆ ภายใต้กล้องวงจรปิด 2 ตัวมา 10 กว่าปีแล้ว ตั้งแต่ตั้งสหภาพฯ แต่ผมคิดว่าสาเหตุจริงๆ คือผมน่าจะไปขัดใจ คสช. มากกว่า”

เขาชวนย้อนไปในปี 2556 ซึ่งเขาได้รับเลือกตั้งให้เป็นบอร์ดประกันสังคมในฐานะผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง บอร์ดประกันสังคมทั้งหมดมี 15 คน เป็นผู้แทนฝ่ายนายจ้าง 5 คน ฝ่ายลูกจ้าง 5 คน และภาครัฐ 5 คน พอ คสช. ยึดอำนาจเข้ามาปกครองประเทศ ในเดือนตุลาคมปี 2558 รัฐบาลต้องการกู้ยืมเงินจากประกันสังคม 2 แสนล้านบาท แต่บอร์ดตั้งเงื่อนไขว่าถ้าต้องการกู้ยืมให้ใช้หนี้เดิม 6 หมื่นกว่าล้านบาทมาก่อน ต้องทำให้ถูกต้องตามกลไก

“ผมจำได้ว่าเราประชุมกันวันศุกร์ พอวันอาทิตย์บอร์ดประกันสังคมก็ถูกสั่งปลดด้วย ม.44 ผมเป็นบอร์ดที่ผ่านการเลือกตั้งเข้ามาเป็นชุดสุดท้าย แล้วต่อมาเดือนธันวาคมปีนั้น ผมก็ถูกบริษัทฟ้องศาลให้เลิกจ้าง” บุญยืนเล่าด้วยความขำขื่น

บุญยืนบอกว่าในกรณีการถูกเลิกจ้าง ถ้าเป็นเมื่อก่อนที่ยังมีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ แรงงานจะนัดเคลื่อนไหวหยุดงานได้ปกติ แต่พอยุค คสช. แรงงานกระดิกอะไรไม่ได้เลย เพราะเจอ พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ และคำสั่ง คสช. 3/2558 ซ้อนเข้ามาอีกชั้นหนึ่ง

“เรียกว่ากระสุนด้านไปเลย เราไม่มีสิทธิที่จะง้างหมัด ขบวนการแรงงานหมดสภาพ เวลาคุณจะยื่นข้อเรียกร้อง แต่เจอนายจ้างอ้างกฎหมาย อ้างทหารปุ๊บ คุณหมดสิทธิชุมนุม เครื่องมือต่อรองไม่เหลือแล้ว พอสภาพเป็นแบบนี้มันเลยเอื้อให้นายจ้างกล้าที่จะละเมิดสิทธิของแรงงานทุกรูปแบบ”

แรงงานหนุ่มโคราชชี้ให้เห็นปัญหาของภาคแรงงานไทยว่า ธรรมชาติของทุนมันกดขี่ขูดรีดอยู่แล้ว พอกฎหมายมีช่องว่าง ทุนก็ยิ่งไฟเขียวทำอะไรไม่ต้องคำนึงสิทธิมนุษยชน แม้ว่ากฎหมายที่ช่วยแรงงานยังไม่สมบูรณ์นัก แต่ว่าพวกเขายังสามารถชุมนุมได้ ใช้กลไกทางสังคมได้ ทุกวันนี้เวลาจะประชุมหรือจัดกลุ่มศึกษาให้สหภาพแรงงานสักทีก็มีทหารไปยืนดู ถึงแม้ไม่ถึงขนาดคุกคาม แต่มันทำให้สมาชิกสหภาพเกิดความหวาดกลัวสะสมได้

อดีตแรงงานที่ถูกพิษรัฐประหารบอกอีกว่า นอกจากมิติการเคลื่อนไหวที่ถูกกฎหมายพิเศษทำให้แรงงานอ่อนเปลี้ย ในมิติการส่งเสริมการลงทุนที่เรียกกันตอนนี้ว่า 4.0 ข้อเท็จจริง คือ รัฐไม่ได้คำนึงว่าคนไทยจะตกงานหรือไม่ รัฐไม่คำนึงว่าคนไทยจะได้รับการพัฒนายังไง รัฐอ้างว่าประเทศต้องมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น โดยเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามา มีการส่งเสริมการลงทุนอย่างมหาศาล มีการนำเข้าเครื่องจักรเพิ่มขึ้น แต่ทั้งหมดไม่ได้ทำให้เกิดการจ้างงาน และยังนำไปสู่การปลดคนงานมหาศาลด้วยซ้ำ

ถ้ามองจากสายตาคนนอก ทิศทางก็ต้องเดินไปสู่เทคโนโลยีใหม่เต็มรูปแบบ แล้วปัญหาคืออะไร บุญยืนอธิบายว่า ปัญหาคือแรงงานไม่มีอำนาจต่อรอง ความเหมาะสมคือรัฐควรส่งเสริมให้คนอยู่กับเทคโนโลยีได้ ไม่ใช่เอาเทคโนโลยีมาแทนคนทั้งหมด แปลว่านโยบาย 4.0 ของรัฐ ไม่ได้มองคนเป็นคน แต่เอาทิ้งไปเมื่อไหร่ก็ได้

“ต่างจากญี่ปุ่นที่เขาพัฒนาทั้งคนและเทคโนโลยีไปพร้อมกัน เพราะเทคโนโลยีต้องใช้คนดูแล แต่ของไทยนี่การจ้างงานก็เริ่มเปลี่ยนไป ในบางโรงงานของบริษัทชื่อดัง เมื่อก่อนมีพนักงานประมาณ 8,000 คน ตอนนี้เหลือพนักงานจริงๆ ประมาณ 3,500 คน ที่เหลือเขาเอานักศึกษามาใช้งานแทนเพื่อลดต้นทุน ยังไม่นับระบบรีเฟรชคน ที่บางบริษัทขายโรงงานลูกไป แล้วไปเปิดโรงงานใหม่ ปัญหาคือเขาไม่เอาคนจากโรงงานเก่ามาทำ ใช้วิธีรับสมัครใหม่ ปัญหาคือมีคน 200 กว่าคนที่อายุงานเขาเกิน 15-20 ปี เงินเดือนถึง 20,000 บาทแล้ว แต่การไปเริ่มงานใหม่แปลว่าเขาต้องกลับไปได้ฐานเงินเดือนเริ่มต้นแค่หมื่นกว่าบาท ในขณะที่นายทุนก็ยังสามารถสะสมมูลค่าส่วนเกินได้มากขึ้นไปอีก”

นี่คือสภาพความเป็นจริงที่แรงงานไทยกำลังเผชิญ แล้วความท้าทายในการดิ้นรนต่อสู้คืออะไร บุญยืนตอบทันทีว่า ดิ้นรนไม่ได้ ตราบใดที่ประเทศไม่เป็นประชาธิปไตย แรงงานไม่มีทางเรียกร้องสิทธิอะไรได้เลย เช่น ถ้าเป็นการถูกเลิกจ้างในภาวะปกติ สหภาพแรงงานจะร้องเรียนมากระทรวงแรงงาน หรือกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แต่พอเป็นยุครัฐประหาร กระบวนการยุติธรรมทุกอย่างตายหมด

บุญยืนทิ้งท้ายว่า แม้จะเรียกร้องอะไรกับรัฐบาลทหารไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาเชื่อว่าพอจะเป็นแสงสว่างอันน้อยนิดที่อาจจะพาไปสู่ทางรอดในอนาคต คือ การกลับมาสร้างและสนับสนุนวิธีคิดประชาธิปไตยในขบวนการแรงงาน เพราะขบวนการแรงงานส่วนใหญ่เลือกไปเป็นส่วนหนึ่งของการรัฐประหาร และแม้จะเหลือแรงงานที่เชื่อมั่นในประชาธิปไตยอยู่ไม่มาก แต่ก็เป็นความหวังสุดท้ายที่เขามองเห็น

 

‘เฮมล็อก’ คัลเจอร์คลับกับความเป็นจริง

“พอขาเศรษฐกิจหัก ขาวัฒนธรรมก็เดินไม่ไหว ถ้าพูดตรงๆ ผมหมดอาลัยตายอยากนะ มองไม่เห็นอนาคตว่าสังคมไทยจะกลับมาเป็นปกติเมื่อไหร่ ทุกวันนี้คือทำไปแบบเท่าที่มีแรง” ปีติ กุลศิโรรัตน์ เจ้าของร้านเฮมล็อก (Hemlock) เปิดใจกับ 101 ถึงการประคับประคองร้านอาหารไทย บรรยากาศสไตล์เมดิเตอร์เรเนี่ยนแห่งแรกในย่านถนนพระอาทิตย์ ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจและการเมืองในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา

ปีติผันตัวมาจากนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยในยุคพฤษภาฯ 35 เมื่อกองทัพกลับกรมกอง บรรยากาศทางการเมืองเปิด เศรษฐกิจกำลังเฟื่องฟู เขาเล็งหาทำเลใจกลางพระนคร และตัดสินใจเปิด ‘เฮมล็อก’ วันแรกในวันครอบครัว 14 เมษายน 2537 และต่อมา เนตรนภิส วรศิริ คู่รักของเขาก็ออกจากงานนักข่าวมาร่วมหัวจมท้ายที่เฮมล็อกด้วยกัน

ปีติ กุลศิโรรัตน์ และเนตรนภิส วรศิริ
ปีติ กุลศิโรรัตน์ และเนตรนภิส วรศิริ

เนตรนภิสบอกว่า สมัยนั้นเศรษฐกิจดีมาตั้งแต่ยุครัฐบาลน้าชาติ (ชาติชาย ชุณหะวัณ) ทุกอย่างบูม ทุกวงการกำลังเติบโตและพัฒนา หนังสือพิมพ์ผู้จัดการกำลังมีชื่อเสียง ค่ายเพลงเบเกอรี่มิวสิคก็กำลังดัง

ขณะที่ปีติบอกว่า การทำร้านเฮมล็อกเป็นผลพวงมาจากความตื่นตัวของแวดวงนักศึกษาธรรมศาสตร์ที่ทำกิจกรรมด้วยกัน เมื่อภารกิจการเมืองบนท้องถนนจบไป เราจึงมองหาพื้นที่ที่สามารถทำเป็นคัลเจอร์คลับ และร้านอาหารเป็นทางเลือกที่เราคิดว่าน่าจะทำได้ดี

“สมัยนั้นเฮมล็อกเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรมของปัญญาชน มีทั้งการฉายหนังสั้น หนังทดลอง ในขณะที่ร้านอาหารในสมัยนั้นเต็มไปด้วยร้านแนวคาวบอยตะวันตก เปิดเพลงวงดิ อีเกิ้ลส์ แต่เฮมล็อกขายทั้งไวน์และชา เราพยายามหาจุดกึ่งกลางระหว่างตะวันออกกับตะวันตกเรามีจัดเสวนาบ่อยๆ มีการถกเถียงกันทั้งเรื่องประวัติศาสตร์ การวิจารณ์ศิลปะ วรรณกรรม”

ครั้งนั้นคู่รักเฮมล็อกคิดว่า หลังพฤษภาฯ 2535 จะเป็นยุคสุดท้ายของทหารที่เข้ามาแทรกแซงการเมืองไทย และถ้ามองจากสายตาในวันนั้น ไม่มีทางคิดออกว่าจะถอยหลังมาสู่วันนี้ได้อย่างไร แม้แต่วิกฤตเศรษฐกิจ 2540 พวกเขายังบอกว่าเฮมล็อกก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ เลย ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

“คนแน่นทุกวัน ไม่ว่าวันธรรมดาหรือเสาร์อาทิตย์ แน่นทุกวันติดต่อกันถึง 7 ปี”

แต่เมื่อสังคมไทยเจอวิกฤตการเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พวกเขาบอกว่าร้านได้รับผลกระทบเต็มๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะตำแหน่งที่ตั้งของร้านอยู่ในทำเลที่ใกล้พื้นที่ในการต่อสู้ทางการเมือง เฮมล็อกห่างจากถนนราชดำเนินและสนามหลวงแค่ 1 กิโลเมตร ทุกครั้งที่มีชุมนุมคนคงไม่อยากผ่านเข้ามา

“ที่ชัดเจนที่สุดคือลูกค้าที่เป็นเพื่อนๆ เรา แตกเป็นเสี่ยงๆ ชัดเจน เหมือนกับว่าสังคมไทยถูกผ่ากลางตั้งแต่บนสุดจนถึงล่างสุด”

เนตรนภิสบอกอีกว่า นอกจากคนเข้าร้านน้อยลง คนที่เข้ามาร้านซึ่งเป็นรู้จักคุ้นเคยกันก็ยังเอาอารมณ์อันอึดอัดเข้ามาในร้านด้วย มันเกิดภาวะตึงเครียดใส่กัน เวลาเจอหน้ากันก็คุยกันลำบาก เขาผู้เป็นเจ้าบ้านต้องคอยประคับประคองอารมณ์ลูกค้าไป

จากความตั้งใจที่จะให้ร้านเป็นคัลเจอร์คลับ ปีติบอกว่า มันหายไปโดยปริยาย และเต็มไปด้วยความเบื่อหน่าย การที่พวกเขาเคยเป็นแอคติวิสต์มาก่อน ทำให้เข้าใจได้ว่าความคิดทางการเมืองนั้นสามารถแลกเปลี่ยนกันได้

“แต่วันนี้มันไม่ใช่การแลกเปลี่ยนแล้ว ความขัดแย้งทางการเมืองมันทำลายไปทุกพื้นที่จริงๆ เราเห็นบรรยากาศแบบนี้มาตลอดในช่วง 10 ปีนี้ เป็นบรรยากาศที่บั่นทอนการทำร้านมาก”

ปีติเล่าว่าในช่วงปี 2548-2549 เศรษฐกิจกำลังไปได้ดี เขาขยายกิจการร้าน เปิดสาขาเฮมล็อกเพิ่มที่ถนนข้าวสารในวันที่ 1 มกราคม 2550 – วันเดียวกับที่ระเบิดลงกรุงเทพฯ พอดี

“ลงทุนไปเยอะมาก เปิดได้ 4 เดือน เราต้องกลั้นใจเลิกกิจการ เพราะลูกค้าไม่มีเลย เราหาเงินหมุนไม่ได้ ทั้งที่อยู่ในทำเลที่น่าจะไปได้ดี พอเราล้มเหลวครั้งนั้น เราใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปีในการล้างหนี้ และค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา แต่แทนที่สังคมไทยจะฟื้นตัวได้ใหม่หลังการเลือกตั้งปี 2554 กลายเป็นว่าพอรัฐประหาร 2557 มันไม่ใช่แค่เละเทะ ต้องเรียกว่าพังพินาศ”

“หัวใจของร้านที่เคยเป็นพื้นที่ทางปัญญา ถูกกลบไปด้วยอคติ ไม่มีใครอยากใช้ปัญญาอีก ทุกคนเหนื่อยล้ากับสภาพสังคม ร้านเฮมล็อกทำได้เพียงแต่ประคับประคองตัวเองให้รอดไปวันๆ ไม่ใช่ว่าเรายอมแพ้ ความฝันที่จะเป็นคัลเจอร์คลับยังอยู่ แต่เพราะสังคมมันหมดพลังที่จะทำให้เป็นรูปธรรม ตอนนี้ขอแค่ได้กินข้าวให้อร่อยก็พอใจแล้ว” ปีติพูดพลางหัวเราะ

เมื่อเลี่ยงยุคสมัยอันมืดหม่นไม่ได้ แล้วจะปรับอารมณ์อย่างไรดี เมื่อวันดีคืนดีเดินเข้าร้านไปฟังเปียโนบรรเลงอันไพเราะ จิบไวน์หนึ่งแก้วให้พอรื่นรมย์ พอเดินออกจากร้านกลับพบว่ามีรถถังจอดขวางถนน พร้อมทหารหน้าตาขึงขังติดอาวุธอีกหนึ่งกองร้อย

ปีติยิ้มเจื่อนนิ่งคิดนาน ก่อนอธิบายว่าอารมณ์สุนทรีย์อาจจะเกิดขึ้นได้ในภาวะสงครามหรือสังคมที่เต็มไปด้วยการกดขี่ก็ได้ มีตัวอย่างจากศิลปินชื่อดังของโลกหลายคนที่สร้างงานศิลปะอันก้องโลกได้ในภาวะสังคมแตกสลาย แต่คำถามคือเราปรารถนาจริงๆ หรือว่าต้องการอยู่ในสังคมที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งถึงขนาดเอาเป็นเอาตายกัน เพื่อให้มีอารมณ์สุนทรีย์

“เราไม่มั่นใจว่าเราจะทำอย่างไรกับร้านต่อไปในอนาคต ในความหมายของการเป็นคัลเจอร์คลับ ถ้าเราต้องอยู่ในภาวะสังคมแบบนี้ต่อไป มันไม่ใช่แค่ร้านจะอยู่อย่างไร ถ้าประเทศไปต่อไม่ได้ ก็ไม่ต้องถามถึงร้านเลย ความมั่นใจของเราไม่ได้เป็นเอกเทศ แต่มันเชื่อมกับความไม่มั่นใจของประเทศด้วย”

ทำไมการทำธุรกิจต้องไปเกี่ยวข้องกับการเมือง หลับหูหลับตาค้าขายไปอย่างเดียวได้หรือไม่ ปีติตอบไวว่าเขาก็ไม่ได้อยากให้เป็นแบบนี้ แต่ร้านเฮมล็อกเกิดขึ้นเพราะอุดมคติที่อยากเห็นพื้นที่ทางปัญญา คนมาร้านสามารถเสวนากันได้อย่างเสรี ไม่ต้องกังวลว่าจะแตกหักกัน

คู่รักเฮมล็อกฉายสภาพความเป็นจริงที่เขาเห็นวันนี้ว่า ภาวะแบบนี้เป็นภาวะที่ทุกคนพยายามดิ้นรนเอาตัวรอด จะให้ใครจะมาสนใจว่าลายผ้าปูโต๊ะร้านนี้เป็นอย่างไร ภาพศิลปะที่แขวนโชว์อยู่บนผนังร้านเป็นอย่างไร รายละเอียดในเมนูเป็นอย่างไร ไม่มีใครอยากอ่านเมนูเพื่อจินตนาการว่าอาหารเป็นอย่างไร ทุกคนอยากดูรูปเพื่อให้ง่ายต่อการเลือก

“เฮมล็อกอยู่มาได้ แต่ก็อยู่ได้แบบเซ็งๆ เมื่อก่อนช่วงไฮซีซั่นมี 4 เดือน ทุกวันนี้เหลือเดือนเดียว แต่โลว์ซีซั่นจาก 2 เดือนยืดไปเป็น 6-7 เดือน ถนนพระอาทิตย์เคยมีเทศกาลดนตรีแจ๊ส แต่เดี๋ยวนี้แม้แต่เทศกาลลอยกระทงยังไม่มีเลย ทุกวันนี้เราแค่กลับมาคุมคุณภาพพื้นฐานให้ได้ กับข้าวยังอร่อย เรายังเสิร์ฟเอง คุยกับลูกค้าเอง” เนตรนภิสพูดพลางส่องคราบแก้วไวน์ที่ล้างแล้ว ก่อนใช้ผ้าเช็ดคราบนั้นออก

จิบคราฟท์เบียร์ในบรรยากาศรัฐประหาร

Sandport Beer คราฟท์เบียร์แห่งตำบลท่าทราย นนทบุรี ที่ ตูน-ศุภพงษ์ พรึงลำภู และเพื่อนปลุกปั้นขึ้นมาด้วยเหตุผลว่าเป็นคนชอบดื่ม ก่อนจะตัดสินใจลงทุนผลิตเบียร์ขายเอง ตูนเคยทำงานอยู่ในใจกลางเมืองกรุงเทพฯ และเห็นว่าความเจริญกลับกระจุกตัวอยู่แต่ในเมือง เมื่ออาศัยอยู่ในความแออัดนานวันเข้า ทำให้เขามองกลับไปที่ย่านที่เขาเติบโตขึ้นมา คือ ท่าทราย นนทบุรี

ศุภพงษ์บอกกับ 101 ว่า ตอนนั่งกินเบียร์อยู่ในเมือง ดื่มไปคิดไป ถ้าแถวบ้านมีเบียร์ดีๆ สักแบรนด์ นักดื่มฝั่งเอกมัยก็อาจมาดื่มมาแถวบ้านบ้าง หรือนักดื่มที่อยู่นนทบุรีอยู่แล้วก็ไม่ต้องเดินทางเข้าไปในเมือง ทำให้อยากลองทำเบียร์โอท็อปขึ้นมา “จริงๆ แถวบ้านผมก็ไม่ได้แย่ขนาดนั้น และมันปลอดโปร่ง เหมาะกับการดื่มมากกว่า”

ตูน-ศุภพงษ์ พรึงลำภู
ตูน-ศุภพงษ์ พรึงลำภู

ช่วงสงกรานต์ 2557 ไอเดียต้นกำเนิดของ Sandport Beer สว่างวาบขึ้นมา ตูนบอกว่าได้คุยกับเพื่อนๆ กว่าสิบคนที่สนใจว่าจะทำเบียร์ ซึ่งไม่มีใครเคยทำมาก่อนเลย “พอทำออกมาครั้งแรก เอ้ย มันอร่อย เรารู้สึกว่า บางทีนี่อาจจะเป็นเส้นทางของพวกเรา ผมมีความเชื่อว่าทุกคนมีความเก่งเฉพาะตัว ถ้าเรารักมัน เราจะทำมันออกมาอย่างดี” แต่เบียร์จิบแรกที่ชื่นใจ ไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะได้รับอนุญาตทำธุรกิจได้ทันที เพราะเมื่อเป็นเรื่องของแอลกอฮอล์แล้ว เต็มไปด้วยข้อกฎหมายที่เขาไม่เคยรู้มาก่อน

“เบียร์ไม่ได้มีสถานะเหมือนสุราชุมชน เราเคยเข้าใจว่าสุราโอท็อปก็มี ไวน์ลิ้นจี่ก็มี ถ้ามีเบียร์ท่าทรายก็น่าจะดี แต่ปรากฏว่าไม่ใช่ จะทำเบียร์บรรจุขวดขายได้ ต้องมีกำลังผลิต 10,000,000 ลิตรต่อปี เลยคิดจะไปยื่นหนังสือเรียกร้อง”

ระหว่างที่ไฟแรง ทดลองทำเบียร์เพิ่มสูตรและอยากให้ภาครัฐทบทวนข้อกฎหมายใหม่ กองทัพก็ยึดอำนาจในเดือนพฤษภาคมปีนั้น ตูนรู้ตัวว่าอำนาจปืนไม่น่าจะฟังเสียงเรียกร้องของเขา เลยหันกลับไปทดลองผลิตเบียร์เงียบๆ ที่บ้านให้ได้คุณภาพดีเสียก่อน

“ประชาธิปไตยบ้านเรา มันจะงงๆ แต่อย่างน้อยก็ยังเป็นระบบตัวแทนอยู่ ถ้าเรามีเจตนาที่ดี ผมว่ารัฐบาลน่าจะฟัง ผมเชื่อว่าผลผลิตของเราจะให้ประโยชน์แก่ชุมชน หรือการท่องเที่ยวได้ แต่การจะออกกฎหมายในรัฐบาลทหาร มันไม่ผ่านระบบตัวแทน การอธิบายแบบนี้คงไม่สำเร็จ และแอลกอฮอล์ก็ยังมีภาพเป็นผู้ร้ายของสังคมไทย”

ทางออกเดียวของผู้ผลิตเบียร์รายย่อยที่ต้องการบรรจุขวดขายในไทยอย่างถูกกฎหมาย คือ ต้องไปผลิตที่ต่างประเทศ และนำเข้ามาเสียภาษีให้ถูกต้อง และตูนคิดว่าช่วงเวลานี้ต้องพึ่งตัวเองไปก่อน เขาตัดสินใจนำสูตรเบียร์บินไปไต้หวันและกัมพูชา เพื่อจ้างโรงงานเบียร์ผลิตในปริมาณ 3,000 ลิตรมาลองตลาดในไทย และชื่อ Sandport Beer ก็เริ่มปรากฏให้คอเบียร์กลุ่มเล็กๆ ได้รู้จักเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2557 ซึ่งขณะนั้นยังไม่ถูกกฎหมาย

เขาอธิบายปัญหาเรื่องเบียร์ในไทยอีกว่า นอกจากกฎหมายไม่เปิดให้ผู้ผลิตรายย่อย ยังมีปัจจัยทางสังคมที่มองว่าแอลกอฮอล์ทำให้สังคมเสื่อมทราม ลองนึกภาพว่าถ้าพวกเขาไปเดินขบวนเรียกร้องให้มีเสรีในการผลิตเบียร์ เขาคงโดนต่อต้านไม่น้อย

หรืออีกวิธีหนึ่งหากผู้ผลิตรายเบียร์ต้องการค้าขายในไทย กฎหมายยังเอื้อในลักษณะ Brewpub หรือโรงเบียร์เพื่อการบริโภค มีกำลังผลิตได้ 100,000 ลิตรต่อปี เน้นผลิตขายเฉพาะพื้นที่ ห้ามบรรจุ เช่น โรงเบียร์เยอรมันตะวันแดง แต่ตูนคิดว่าถ้ามองแบบชาวบ้านธรรมดาคงเข้าถึงยาก

“ผมเคยทราบว่า เจ้าหน้าที่สรรพสามิตอธิบายเรื่องทำไมเบียร์ถึงเป็นสุราชุมชนไม่ได้ เขาให้เหตุผลว่าตอนที่ออกกฎหมายสุราชุมชน ลักษณะของการทำสาโทมันมีขั้นตอนไม่ซับซ้อน อุปกรณ์ก็ไม่มากเหมือนการผลิตเบียร์ การทำสาโท มีลูกแป้ง มีกระติกน้ำ มีข้าวเหนียว ก็จะสามารถผลิตได้”

ส่วนการผลิตเบียร์ ตูนบอกว่าในสายตาของรัฐ ต้องมีควบคุมคุณภาพเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคไปในตัว แต่จะดีจะแย่ ตูนย้ำว่าเบียร์ไม่ได้อันตรายมาก และอุปกรณ์ธรรมดาก็สามารถผลิตเบียร์ได้ เขาเคยรีเสิร์ชว่ามีใครเคยตายเพราะเบียร์บ้างหรือไม่ ซึ่งพบว่ามีที่แอฟริกา ผู้ผลิตใส่ดีจระเข้เข้าไป อาจเป็นสูตรเฉพาะแต่คงจะผิดสัดส่วน ทำให้มีคนเสียชีวิต

จากวันริเริ่มปี 2557 ผ่านมา 4 ปี อะไรคือความท้าทายของผู้ผลิตเบียร์รายย่อยในสังคมที่ยังมองเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นภัย เจ้าของ Sandport Beer อธิบายว่า ความท้าทายของเราคือการทำธุรกิจที่ภาครัฐไม่ได้สนับสนุน แต่กลับถูกจัดเก็บภาษีเยอะมาก แต่ถ้าธุรกิจอะไรที่ได้สนับสนุนจากภาครัฐ กลับไปได้สวยมาก หรืออย่างในยุโรปก็มีการงดเว้นภาษีให้ผู้ผลิตรายเล็กหรือโรงเบียร์ขนาดเล็กไปเลย

“นอกจากเรื่องข้อกฎหมายที่วันหนึ่งจะต้องปรับเปลี่ยน ผมอยากให้มองในมิติวัฒนธรรม อย่างที่ญี่ปุ่นก็มีโรงเหล้าอะวาโมริ ที่เกาะโอกินาวะ ผู้ใหญ่เขาจะซื้อเหล้าให้เด็กที่เพิ่งเกิด แล้วให้เก็บไว้ อีก 20 ปีค่อยให้เขาเปิด ถือเป็นของที่ระลึก”

ยังไม่นับเรื่องมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจที่สามารถยกระดับชุมชนได้ ตูนมองว่าเบียร์เป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มียอดบริโภคสูงสุดในโลก การผลิตเบียร์สามารถใช้วัตถุดิบของไทยเพื่อเพิ่มความหลากหลายในรสชาติและรสนิยมได้ เช่น ตอนนี้มีคนไทยใช้มะแขว่น น้ำผึ้ง กล้วยตาก ดอกอัญชันมาทำเบียร์แล้ว

“ที่อเมริกาจะมีหมู่บ้านเล็กๆ ทั่วไปที่มีเบียร์ดี และเขามีข้อบังคับว่าคุณต้องขายในรัฐของคุณเท่านั้น ยกเว้นคุณขายจนเต็มแล้ว ถึงจะได้สิทธิขยายโรงงาน กรณีแบบนี้มันดึงดูดนักท่องเที่ยว หากผมอยากกินเบียร์เมืองนี้ ผมก็มาชิม แล้วก็เอาเบียร์ของผมมาฝาก เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน”

ถ้าเป็นในสังคมที่เปิดกว้างทางความคิด ตูนมองอีกว่า การเสนอไอเดียจะหลากหลายและเกิดประโยชน์กว่าในสังคมที่ปิดกั้นการแสดงความเห็น เช่น ถ้าคุณเห็นลูกค้าเมาเกินไป คุณก็ควรหยุดเสิร์ฟ หรือควรมีบริการน้ำเปล่าให้ ทุกบาร์ควรมีเครื่องเป่าแอลกอฮอล์ ในบางประเทศ คนขายต้องรับผิดชอบด้วย ถ้าลูกค้าดื่มแล้วไปประสบอุบัติเหตุ หรือแม้แต่คนเสิร์ฟ อาจต้องสอบหรือได้รับการอบรม เพราะเป็นงานที่เอื้อให้ผู้บริโภคขาดสติได้

“คราฟท์เบียร์ไม่ใช่แค่เรื่องแอลกอฮอล์ แต่ยังรวมถึงวัฒนธรรมของการดื่ม ถ้าสังเกตดูขวดคราฟต์เบียร์ของต่างประเทศ จะมีบอกส่วนผสมต่างๆ บอก tasting note บอกความเป็นมาของแนวคิดว่าทำไมเขาถึงผลิตแบบนี้ มันสนุกกว่าแค่ดื่มให้เมา ถ้าผู้บริโภคตื่นตัว การผูกขาดเดิมๆ ก็จะอยู่ยาก สังคมที่เติบโตและมีวุฒิภาวะ จะทำให้คนได้เรียนรู้ร่วมกัน และข้อดีของประชาธิปไตย คือ อะไรที่ไม่เข้าท่าหรือเป็นปัญหาก็ยังสามารถเปลี่ยนได้ด้วยการโหวต” ตูนสะท้อนและฉายภาพความเชื่อของตัวเองว่า เขาเชื่อว่าวัฒนธรรมที่ดีกว่าจะมาแทนวัฒนธรรมที่แย่

สตาร์ทอัพต้องการสิทธิเสรีภาพ

การประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมในงาน International Exhibition of Inventions Geneva ครั้งที่ 46 ที่นครเจนีวา สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 11-15 เมษายนที่ผ่านมา มีผลงานถูกส่งเข้าประกวดมากกว่า 1,000 ผลงาน จาก 40 ประเทศทั่วโลก ผลงาน แก้วน้ำอัจฉริยะ (Loupe Smart cup) ที่มี ณัฏฐ์ ถุงทรัพย์ โปรดักส์ดีไซน์เนอร์ ร่วมสร้างสรรค์ขึ้น ได้รับรางวัลเหรียญเงินจากเวทีนี้ และได้รางวัลพิเศษจาก President of Taiwan invention association

ความพิเศษของ Loupe Smart cup คือแก้วที่เสมือนแว่นขยาย สามารถตรวจจับระดับน้ำตาล และสารอาหารในเครื่องดื่มได้ ณัฏฐ์เล่าว่าทีมของเขาได้แรงบันดาลใจมาจากปัญหาการควบคุมสารอาหารในผู้สูงอายุหรือผู้ที่รักษาสุขภาพ เนื่องจากเวลาที่เรากินอาหาร สายตาของเราแยกแยะได้เพียงชนิดและขนาดของอาหารเท่านั้น แต่สารอาหารอย่างโปรตีน วิตามิน คาร์โบไฮเดรต ไม่สามารถมองได้ด้วยตาเปล่า แต่ Loupe Smart cup ทำหน้าที่นี้ได้ด้วยเทคโนโลยีที่ทีมงานคิดค้นขึ้น และยังสามารถแสดงผลบนอุปกรณ์สื่อสารเคลื่อนที่ผ่านแอพลิเคชั่นได้ด้วย

ณัฏฐ์ ถุงทรัพย์
ณัฏฐ์ ถุงทรัพย์

ความที่ร่ำเรียนมาทางด้านออกแบบอุตสาหกรรม ผ่านงานออกแบบมาอย่างหลากหลาย ตั้งแต่ผลิตภัณฑ์ทั่วไป ของแต่งบ้านไปจนถึงระบบเกมส์ ทำให้ณัฏฐ์ไม่ลังเลที่จะใช้ความสามารถในการริเริ่มสตาร์ทอัพกับเพื่อนๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกัน

เขาบอกกับ 101 ว่า จากสถานการณ์ที่ประชากรโลกในอีก 35 ปีข้างหน้ากำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ จะมีจำนวนประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากกว่าร้อยละ 14 ของประชากรทั้งหมด ปรากฏการณ์นี้ทำให้เกิดความต้องการสิ่งอำนวยความสะดวกของคนกลุ่มนี้มากขึ้น ข้อมูลจาก Euromonitor International พบว่ามูลค่าของตลาดผลิตภัณฑ์ประเภท Health and wellness ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 686 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนว่าผู้สูงอายุต่างต้องการความมั่นคงด้านสุขภาพ และการตอบสนองปัญหาสุขภาวะที่แตกต่างกัน

“นี่เป็นโอกาสทางธุรกิจสำหรับผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้สูงอายุและเทรนด์รักสุขภาพไปพร้อมๆ กัน นั่นคือผลิตภัณฑ์ที่ช่วยควบคุมการบริโภคให้เหมาะสมกับความต้องการ และสภาวะของร่างกาย Loupe จะเข้ามาช่วยเติมเต็มในกระบวนการดูแลสุขภาพ ด้วยการควบคุมด้านโภชนาการอย่างเป็นระบบ สามารถตรวจสอบและวัดสารอาหารในเครื่องดื่มที่บริโภคได้ และข้อมูลจะถูกบันทึกและประมวลผลเพื่อนำมาใช้ในแผนการดูแลสุขภาพได้อย่างสะดวกและถูกต้อง”

ณัฏฐ์ชวนมองถึงภาพในอนาคตว่า วันหนึ่งเราต้องกลายเป็นคนสูงอายุที่อาจจะดูแลตัวเองไม่ได้มาก แต่เราเป็นคนเจเนอเรชั่นที่โตมาในยุคเทคโนโลยีซับพอร์ทพอสมควร เพราะฉะนั้นวิธีคิดของ Loupe คือการตอบสนองการใช้ชีวิตในอนาคต

“ผมว่าปัญหาที่คนรุ่นใหม่มักเจอเสมอคือการดีลกับคนรุ่นพ่อแม่ในเรื่องการรักษาสุขภาพ ซึ่งส่วนใหญ่มักจะคุยกันยาก เพราะเขาไม่อยากให้คนรุ่นเรามาสอนเขา”

Loupe ถูกดีไซน์และพัฒนามาปีกว่า เขาบอกว่าเป็นการใช้เงินลงทุนเองทั้งหมดของทีม แต่พ้นไปจากเรื่องเงิน อะไรคืออุปสรรคและความท้าทายของสตาร์ทอัพแบบเขาที่ไม่ได้อยู่ในข่าว ท่ามกลางรัฐบาลทหารที่กำลังโปรโมทธุรกิจสตาร์ทอัพกันอย่างเป็นบ้าเป็นหลัง

ดีไซน์เนอร์หนุ่มมองว่า เวลานี้ความเข้าใจของภาครัฐและเอกชนส่วนมาก โดยเฉพาะธนาคาร ยังมองสตาร์ทอัพเป็นเรื่องการลงทุนในรูปแบบเดิม เราเข้าไปคุยเรื่องการกู้เงินเพื่อลงทุนทำสตาร์ทอัพ เพราะมีไอเดียและสิทธิบัตรทางเทคโนโลยีแล้ว แต่ธนาคารก็ถามกลับว่าคุณมีสินทรัพย์เท่าไหร่ ซึ่งเป็นเซนส์ของการลงทุนทำธุรกิจทั่วไป ไม่ใช่การทำสตาร์ทอัพ

“เราจะถูกถามเสมอว่าสินค้าคุณคืออะไร จะขายอย่างไร จะคืนทุนได้เมื่อไหร่ จะได้กำไรเมื่อไหร่ กระบวนการที่เกิดขึ้นทำให้เกิดความยากลำบากสำหรับคนทำงานด้านนี้ โดยเฉพาะการติดต่อกับราชการที่ยังไม่เข้าใจ ทั้งที่หน่วยงานแรกที่ควรสตาร์ทอัพก่อนใครก็คือราชการนี่แหละ”

เขาสะท้อนอีกว่า ปัญหาอีกอย่างคือสตาร์ทอัพประเภท Deep Tech อย่างที่พวกเขาทำอยู่ ไม่ใช่การทำแอพพลิเคชั่นทั่วไป แต่งานของเขาต้องใช้เวลาสร้างฐานข้อมูลเพื่อพัฒนาควบคู่ไปกับเทคโนโลยีหลัก และทดสอบเพื่อความเที่ยงตรง ซึ่งทั้งหมดต้องใช้เวลาพอสมควร แต่เมื่อทีมงานพวกเขาเข้าไปนำเสนอโครงการกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาฟังการนำเสนอนั้นกลับประเมินโครงการที่อาจส่งผลเสียได้ในอนาคต

“เราถูกถามว่าอันนั้นมีไหมอันโน้นมีไหม มันเป็นบรรยากาศแบบมีอาจารย์มานั่งตรวจข้อสอบปรนัย มีแค่ใช่กับไม่ใช่ ซึ่งไม่ได้มองในเชิงไอเดียร่วมกันว่าจะเป็นไปได้อย่างไร หรือควรพัฒนาไอเดียเพิ่มอย่างไรที่จะเกิดประโยชน์ในอนาคต”

สตาร์ทอัพกับอารมณ์ของสังคมเกี่ยวข้องกันหรือไม่ ณัฏฐ์บอกว่า สตาร์ทอัพคือธุรกิจอย่างหนึ่ง ถ้าสังคมยังอยู่ในบรรยากาศการเมืองที่ไม่แน่นอน การบริหารของรัฐบาลทหารกลับมุ่งไปที่ความมั่นคงด้านระเบียบวินัย เป็นวิธีคิดที่มองคนเป็นเพียงยูนิตๆ หนึ่ง แต่การสร้างสรรค์ในภาคธุรกิจมองคนเป็นยูนิตไม่ได้

อีกประเด็นที่เขาเห็นคือ ความไม่มั่นใจของภาคธุรกิจทำให้ไม่เกิดบรรยากาศแห่งการสร้างสรรค์นวัตกรรม รัฐบาลอาจจะสนใจการเติบโตของสตาร์ทอัพในเชิงตัวเลขแบบมูลค่าการส่งออก แต่สตาร์ทอัพต้องการบรรยากาศที่เปิด หรือพูดชัดๆ ก็คือคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้โดยไม่ถูกปิดกั้นทางความคิด สตาร์ทอัพต้องการโอกาสและความเข้าใจถึงความเป็นไปได้ในอนาคต

“ตราบใดที่สังคมเต็มไปความหวาดระแวง ความไม่ไว้ใจจากความขัดแย้งทางการเมือง มันปิดโอกาสความสร้างสรรค์โดยอ้อม ต่อให้มีผลิตภัณฑ์ที่ก้าวล้ำออกมา แต่การแข่งขันทางธุรกิจไม่เกิด เพราะอารมณ์ของคนในสังคมไม่ได้เปิดรับ ยิ่งเราพยายามสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อย่างพรีเมี่ยมเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากต่อการทำธุรกิจให้คนทั่วไปรู้สึกจับต้องได้ การที่สังคมยังถูกกดไว้ การเติบโตทางธุรกิจมันก็กระจุกตัว คนที่มีความสามารถในการซื้อเหลือแค่คนระดับบน ทั้งที่เราต้องการให้คนทั่วไปสามารถเข้าถึงได้”

“แต่ถ้าสังคมเป็นประชาธิปไตย ราชการปรับตัวมีวิสัยทัศน์การพัฒนา ภาคธุรกิจสามารถแข่งขันกันได้อย่างจริงจัง ภาคอุตสาหกรรมยกระดับในการผลิตสินค้าด้วยต้นทุนที่ถูกลง คนในสังคมมีทางเลือกในการใช้ชีวิตโดยไม่ต้องเหนื่อยหน่ายกับอารมณ์ทางการเมือง วงการสตาร์ทอัพจะเติบโตทันที”

ถ้าสตาร์ทอัพเป็นเมล็ดพันธุ์ เนื้อนาดินของสังคมแบบไหนเหมาะสมแก่การเพาะปลูก ณัฏฐ์ตอบคำถามนี้ทันทีว่า สังคมที่มีสิทธิเสรีภาพย่อมเหมาะสมต่อการสร้างสรรค์ธุรกิจได้ดีกว่าสังคมที่เน้นเรื่องความมั่นคงหรือสร้างระเบียบวินัยแบบทหาร สาระสำคัญของ Loupe ไม่ใช่การบังคับผู้บริโภคให้หันมาใส่ใจสุขภาพ มันทำหน้าที่ช่วยเตือนด้านข้อมูลโภชนาการ คอนเซ็ปต์นี้สอดคล้องกับสังคมของคนที่ต้องการทางเลือกในชีวิต มากกว่าสังคมที่ชอบถูกบังคับให้หันซ้ายหันขวา

ณัฏฐ์ย้ำว่า สังคมที่เหมาะสมกับสตาร์ทอัพ ไม่ใช่สังคมที่พยายามเอาตัวรอดแบบตัวใครตัวมัน หรือต่างคนต่างอยู่ สตาร์ทอัพต้องการสังคมที่พร้อมจะแชร์ประโยชน์ร่วมกัน มองเห็นอนาคตร่วมกัน เขานึกถึงหนังสือเรื่อง Owner of the map ของ Claudio Sopranzetti ที่เล่าถึงชุมชนที่มอเตอร์ไซค์รับจ้างวิ่งไปตามหมู่บ้าน โดยมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ช่วยส่งของให้บ้านนั้น ช่วยรับลูกกลับจากโรงเรียนให้บ้านนี้ มันสร้างความสัมพันธ์ในทางบวกขึ้น วันหนึ่งก็มีบางบ้านที่ไปช่วยค่าเทอมของลูกของมอเตอร์ไซค์รับจ้าง

“เราเคารพทางเลือกและการตัดสินใจของผู้บริโภค นี่เป็นหัวใจของสตาร์ทอัพแบบเรา สังคมที่ทำให้ธุรกิจเติบโต ไม่ใช่สังคมแบบ zero-sum games แต่ต้อง win-win ทุกฝ่าย แต่ตอนนี้สังคมไทยมีแค่คนส่วนน้อยที่ได้ประโยชน์ฝ่ายเดียว คนส่วนใหญ่ที่เป็นคนชั้นล่างไม่ได้อะไรเลย พอรัฐจะไปหาตัวช่วยด้านเงินทุนจากข้างนอกเข้ามา ก็ไม่มีใครพร้อมช่วยอย่างจริงจัง เพราะการเมืองภายในไม่นิ่ง กลายเป็นสังคมเดดล็อก” ดีไซน์เนอร์หนุ่มทิ้งท้าย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save