fbpx
เจาะลึกโหรไทย : เมื่อดวงเมืองชูทหารเริงอำนาจ

เจาะลึกโหรไทย : เมื่อดวงเมืองชูทหารเริงอำนาจ

ธีทัต จันทราพิชิต เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานะของโหรและหมอดูถือว่ามีอิทธิพลในสายตาของชาวไทยไม่น้อย อย่างน้อยก็สะท้อนอยู่ในคอลัมน์ดูดวงที่ได้รับความนิยมจากคนอ่านเสมอ รวมถึงทุกสิ้นปีที่สื่อมวลชนมักจะเชิญโหรชื่อดังมาทำนายอนาคตของปีที่กำลังจะมาถึง

ในช่วงปี 25482551 งานวิจัยจากธนาคารกสิกรไทย พบว่ามีการจับจ่ายใช้สอยในธุรกิจหมอดูจนเงินสะพัดหลักพันล้านบาท ในทุกๆ ปี และปัจจุบันคาดว่าธุรกิจดังกล่าวจะยังมีเม็ดเงินสะพัดไม่ต่างกัน อีกทั้งการเพิ่มขึ้นของแพลตฟอร์มดูดวงออน์ไลน์ จึงทำให้การพึ่งพาคำทำนายยิ่งป็อปปูลาร์กว่าสมัยก่อน

แต่ไม่ใช่สำหรับคนทั่วไปเท่านั้นที่อยากรู้คำทำนายชีวิตของตัวเอง

ปี 2562 ที่ผ่านมา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แต่งตั้งซินแสภานุวัฒน์ พันธุ์วิชาติกุล เป็นข้าราชการการเมือง ประจำสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เพื่อเสริมกำลังในด้านทำนายโชคชะตาของผู้มีอำนาจเช่นกัน

คำถามคือบทบาทของโหรต่อการเมืองไทยทุกวันนี้เป็นอย่างไร ทำไมประชาชนถึงยอมให้รัฐบาลใช้คำทำนายมาเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารประเทศที่มีผลต่อการตัดสินความเป็นไปของบ้านเมือง

 

คำทำนาย : ความชอบธรรมทางการเมือง

 

คำถามดังกล่าว ได้ถูกอธิบายจาก ขวัญเรือน พันธ์พีระพิชย์ เจ้าของวิทยานิพนธ์เรื่อง “บทบาท หน้าที่ของปัญญาชนทางโหราศาสตร์ กับการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไทยช่วง พ.ศ.2549 – 2557”

ขวัญเรือนสรุปสั้นๆ ก่อนเริ่มอธิบายว่า “โหรยังเป็นตัวแสดงที่มีอิทธิพลต่อการเมืองไทยอยู่”

“นักการเมืองก็เหมือนคนธรรมดาทั่วไปที่จะทำการใหญ่ก็ต้องปรึกษาโหรหรือหมอดู เหมือนคนจะแต่งงานก็ต้องมีฤกษ์ แต่จะไปปรึกษาซี๊ซั๊วก็ไม่ได้ ไม่งั้นความลับก็แพร่งพราย ต้องเป็นหมอดูที่เราไว้ใจได้ มีเครือข่ายสนิทชิดเชื้อ จนว่ากันว่าทหารยังต้องไปเรียนโหราศาสตร์ เพราะจะได้เอามาดูฤกษ์ ป้องกันความลับรั่วไหล”

แต่ประเด็นสำคัญไม่ใช่แค่โหรมีบทบาททางการเมืองไทยแบบพื้นๆ ขวัญเรือนบอกว่าปัญญาชนทางโหราศาสตร์ซึ่งรวมทั้งโหรและหมอดูนั้นมีบทบาทในการบั่นทอนประชาธิปไตย และสร้างความชอบธรรมให้ฝ่ายชนชั้นนำทั้งก่อนและหลังการรัฐประหารด้วย

ขวัญเรือนได้จำแนกลักษณะคำทำนายของโหรการเมืองในช่วงก่อนรัฐประหาร 2549 โดยดูจากคำทำนายทั้งหมด 63 ครั้ง แล้วพบว่ามีคำทำนายที่ลดทอนความชอบธรรมของระบอบประชาธิปไตยทั้งหมด 51 ครั้ง มีคำทำนายที่ให้คุณกับระบอบประชาธิปไตยเพียง 12 ครั้งเท่านั้น

แม้แต่รัฐประหาร 2557 ก็แทบไม่ต่างกัน ก่อน คสช. ยึดอำนาจ พบว่ามีคำทำนายที่ให้ความชอบธรรมกับระบอบประชาธิปไตยเพียง 8 ครั้งจาก 71 คำทำนาย เมื่อ คสช. ยึดอำนาจสำเร็จ มีคำทำนายที่บั่นทอนระบอบเผด็จการเพียง 11 ครั้งเท่านั้น

 

โหราศาสตร์ : เครื่องมือของชนชั้นนำ

 

ขวัญเรือนกล่าวอีกว่าการทำนายหรือพยากรณ์ของโหรโดยหลักแล้วต้องอาศัย 2 อย่าง ได้แก่ 1.ตัวศาสตร์ที่ได้รับการถ่ายทอดจากอาจารย์ 2.ประสบการณ์ของตัวผู้ทำนายเอง

ประเด็นนี้ขวัญเรือนตั้งข้อสังเกตว่าโหรนั้นมีความสัมพันธ์กับชนชั้นนำมายาวนาน ในแง่หนึ่งโหรจึงเป็นตัวแทนของชนชั้นนำที่ต้องการสื่อสารกับคนในสังคม

“แต่โหรไม่ได้ทำงานอยู่กับชนชั้นนำฝ่ายเดียว เขาทำงานกับทั้งบนและล่างคือคนทั่วไป ถ้าเรามองว่าโหราศาสตร์เป็นเรื่องงมงาย เราจะมองไม่เห็นประเด็นนี้ เราจะไม่เห็นว่าเครือข่ายชนชั้นนำทำงานกับสังคมอย่างไร ถ้าเรามองว่ามันล้าหลัง เราจะไม่เห็นว่าชนชั้นนำเขาใช้เครื่องมืออะไรกับคนส่วนใหญ่” ขวัญเรือนกล่าว

 

ดวงเมือง : ธรรมนูญฉบับเหนือธรรมชาติ

 

นอกจากมุมมองเรื่องโหรในฐานะตัวแสดงทางการเมือง ทัศนะจาก ผศ.ดร.ธีระนันท์ วิชัยดิษฐ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ผู้เปิดสอนวิชาความเชื่อและความหมายในโหราศาสตร์ไทย ก็น่ารับฟัง เขาอธิบายว่าดวงเมืองไทยนั้นคู่กับทหารอย่างแยกไม่ออก

จากการแปลดาวสิบดวงบนกระดาษโหราศาสตร์ พบว่าตอนตั้งดวงเมืองออกมาเป็นตัวแสดงทางการเมืองแต่ละกลุ่ม จะเห็นความปรารถนาของเหล่าผู้ก่อตั้งกรุงเทพฯ ว่าอยากให้เมืองที่กำลังเกิดใหม่นี้หน้าตาอย่างไร ทำให้เห็นภาพราวกับดวงเมืองเป็นธรรมนูญฉบับเหนือธรรมชาติ

หากรัฐธรรมนูญสมัยใหม่ช่วยการกำหนดโครงสร้างและความสัมพันธ์ของมนุษย์ในสังคมไทย ธีระนันท์บอกว่าฝ่ายอนุรักษ์นิยมก็เลือกใช้อำนาจเหนือธรรมชาติกำกับสังคมเช่นเดียวกัน แต่เรียกว่าดวงเมืองเพื่อกำหนดรูปร่างของรัฐแทน

ธีระนันท์กล่าวในฐานะคนที่รํ่าเรียนวิชาโหราศาสตร์มา เขาพบว่าคนในอาชีพทหารมีความสนใจโหราศาสตร์เป็นอย่างมาก เป็นไปได้ว่ารัฐธรรมนูญที่ใช้มา 20 ฉบับ อาจไม่ได้ศักดิ์สิทธิ์ในสายตาของกองทัพเท่าดวงเมืองก็เป็นได้

หากย้อนไปในสมัยโบราณที่โหราศาสตร์ยังมีอิทธิพลในระดับกำหนดนโยบาย ธีระนันท์อธิบายว่าถึงขั้นมีการกำหนดหน้าตาของรัฐผ่านการดูดวงเพื่อที่จะเอาไว้ใช้ทำนายดวงจรของแต่ละปี นั่นก็คือเวลาตั้งเสาหลักเมืองเมื่อวันที่ 21 เมษายน พ.ศ.2325

“ภาษาโหรคือการเข้ารหัสผ่านดาว ดาวแต่ละดวงจะมีความหมายคร่าวๆ แต่ต้องอาศัยการตีความเพิ่มเติม โดยดวงเมืองไทยมีดาวที่เด่นมากๆ อยู่ 2-3 ดวง หนึ่งในนั้นคือดาวอังคาร ในภาษาโหรมีนัยสื่อถึงความเป็นชาย แต่ก็สามารถอ่านเป็นทหารหรือการสงครามได้เช่นกัน”

สำหรับการตีความดวงเมือง ธีระนันท์มองว่าการที่ดวงเมืองถูกวางให้ดาวอังคารเด่นนั้น แสดงถึงการตั้งความหวังว่าเมืองที่เกิดใหม่อย่างกรุงเทพฯ นี้จะไม่มีวันโดนคุกคามจากอริราชศัตรู หรืออีกนัยหนึ่งคือรบที่ไหนก็ชนะ แปลว่าในมุมของชนชั้นนำ ผู้ปกครองประเทศนี้คือทหารนั่นเอง

เมื่อดวงเมืองถูกวางให้ทหารเป็นใหญ่ ธีระนันท์บอกอีกว่าตามดวงเมือง ดาวอังคารนั้นสถิตนำหน้าลัคนา (ในที่นี้หมายถึงกรุงเทพฯ) ไปอยู่ภพที่ 2 ชื่อว่าภพกฎุมพะ

“โดยทั่วไปภพนี้ดาวที่สถิตจะบ่งบอกถึงเรื่องเงินๆ ทองๆ แต่การที่ดาวดวงนี้สถิตอยู่หน้าลัคนาจะเกิดสิ่งที่ภาษาโหรเรียกว่า “ศูนย์พาหะ” ซึ่งแปลได้ว่า “การนำพา” หรืออ่านแบบบ้านๆ ได้ว่าทหารจะเป็นผู้นำประเทศนี้

“นอกจากนี้เมื่อดูลัคนาตามเวลาลงเสาหลักเมือง ลัคนาสถิตราศีเมษ ซึ่งมีตนุลัคน์ (เจ้าชะตา) เป็นดาวอังคาร ทำให้ถ้าเปรียบกับคน กรุงเทพฯ ก็เป็นคนที่มีลักษณะความเป็นชายสูง และอาชีพที่ผูกพันกับความเป็นชายนั้นก็มักจะจบลงที่อาชีพทหาร”

ธีระนันท์มองว่าการวางดวงเมืองไว้แบบนี้สามารถเข้าใจได้ เพราะในสมัยตั้งกรุงเทพฯ ยังเป็นช่วงที่เต็มไปด้วยสงคราม จึงคาดหวังไว้ว่าเมืองที่เกิดใหม่จะรอดจากการรุกรานของศัตรู และการรับประกันความปลอดภัยของชนชั้นนำก็คือการเอาทหารเป็นผู้นำ

เมื่อเจอคำถามว่าทำไมทหารถึงอยู่คู่บ้านคู่เมืองมาตลอดประวัติศาสตร์ นอกจากอ่านในบริบทการเมืองสมัยใหม่ได้แล้ว สำหรับธีระนันท์บอกว่ายังอ่านผ่านดวงเมืองได้ด้วยเช่นกัน

 

แก้กรรม แก้ดวง ธรรมนูญฉบับเหนือธรรมชาติ พ.ศ. 2325 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2395

 

เมื่อโหรส่วนใหญ่ใช้ดวงเมืองปี 2325 เป็นตัวตั้งในการทำนายยุคปัจจุบัน จึงไม่แปลกว่าทำไมคำทำนายของโหรถึงมีลักษณะเข้าข้างผู้ปกครองที่เป็นทหารได้ง่ายกว่าพลเรือน ด้วยเหตุผลว่าดวงเมืองว่าไว้อย่างนั้นก็ต้องเป็นไปเช่นนั้น แต่คำถามคือมีการอ่านดวงด้วยวิถีทางอื่นอีกหรือไม่

ธีระนันท์อธิบายว่าจากดาวบนกระดาษดวงนั้นเป็นรหัสที่กว้าง มีความเป็นไปได้นับไม่ถ้วน เราย่อมสามารถอ่านดาวอังคารเป็นอย่างอื่นที่ไม่ใช่ทหารได้ แต่โหราศาสตร์เป็นวิชาของชนชั้นนำ หมายความว่าพวกโหรนั้นมีแต่คนที่เคยประจำในวังมาก่อนที่จะเกิดการกระจายอำนาจหลังปี 2475

“วิชาโหรก็มาจากเหล่าบูรพาจารย์โหรที่ช่วยกันวางดวงเมืองกรุงเทพฯ ซึ่งเหล่าบูรพาจารย์โหรก็สอนวิธีการอ่านดวงเมืองคล้ายๆ กัน นั่นเป็นเหตุว่าทำไมโหรเกือบทั้งหมดไม่ตีความดวงเมืองเป็นอย่างอื่น แต่พากันตีความพื้นดวงเมืองไทยว่าเป็นดวงเมืองทหาร และทำให้ง่ายต่อการให้ความชอบธรรมต่อการขึ้นมาของกองทัพในทางการเมือง”

ในเมื่ออ่านพลิกแพลงไม่ได้แล้วจะทำเช่นไร คำตอบของธีระนันท์คือเปลี่ยนดวงเมืองที่ใช้ตีความ เพราะตามประวัติศาสตร์มีการพยายามเปลี่ยนดวงเมืองอยู่หลายครั้ง ซึ่งมีทั้งที่ล้มเหลวและที่สำเร็จ ซึ่งกรณีที่สำเร็จเป็นกรณีของรัชกาลที่ 4 ผ่านการตั้งเสาหลักเมืองใหม่ในปี 2395

“แต่อาจไม่ง่าย เพราะมีคำอธิบายว่าดวงเมืองที่เกิดขึ้นใหม่นั้นไม่ได้ทำให้ดวงเมืองเก่าเปลี่ยนไป การตั้งเสาหลักเมืองเสาที่สองนั้นเหมือนกับการสร้างบ้านหลังเล็กไว้ในบ้านหลังใหญ่ แปลได้ว่าดวงเมืองเก่าก็คงอยู่เช่นเดิม และทหารในดวงเมืองก็ยังเด่นอยู่เช่นเดิม แม้จะไม่มีอำนาจเท่ากับดวงเมืองเก่า ที่เป็นเช่นนี้อาจเป็นเพราะรัชกาลที่ 4 ทรงมั่นพระทัยว่าจะสามารถผ่านพ้นภัยคุกคามจากจักรวรรดินิยมตะวันตกก็เป็นได้ ดวงเมืองของรัชกาลที่ 4 จึงเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่”

 

ฤาชาตินี้จะไม่มีวันเป็นประชาธิปไตย

 

เมื่อรัฐธรรมนูญกลายเป็นแค่กระดาษที่รอวันถูกฉีก และดวงเมืองยังคงเป็นอำนาจนำ แล้วสังคมไทยจะอยู่กันอย่างไรในบริบทโลกสมัยใหม่

แม้ธีระนันท์จะไม่มีคำตอบในประเด็นนี้ แต่เขาอธิบายทิ้งท้ายว่า ดวงเมืองในแต่ละสมัยถูกตั้งมาให้เข้ากับบริบทแวดล้อมในขณะนั้น ซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่าเหตุใดเหล่าบูรพาจารย์โหร กระทั่งรัชกาลที่ 4 จึงออกแบบดวงเมืองแล้วฝากฝังภาพอุดมคติของสังคมหรือชาติเอาไว้ กระทั่งมีรัฐธรรมนูญมาทำหน้าที่แบกรับอุดมคติเหล่านั้นแทน

“ทว่าในสายตาของชนชั้นนำ ดวงเมืองยังมีผลมากกว่ารัฐธรรมนูญ นั่นจึงทำให้โหรไม่อาจอ่านดวงประเทศให้ยึดโยงกับประชาธิปไตยได้ และเป็นปัจจัยที่ทำให้กองทัพรู้สึกชอบธรรมในการปกครองประเทศมากยิ่งขึ้น”

ในแง่นี้ นอกจากยุทโธปกรณ์แล้ว ดวงเมืองจึงเป็นอีกขวัญกำลังใจให้กับกองทัพและชนชั้นนำที่ฝั่งประชาธิปไตยไม่มี

นี่อาจเป็นโจทย์ที่ท้าทายของสังคมไทย หากยังเชื่อว่าประชาธิปไตยยังจำเป็น

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save