fbpx
สิ้นสุดเพื่อไปต่อ? : พระเมรุมาศกับสถาปัตยกรรมไทยในสายตาผู้สืบสานรุ่นใหม่

สิ้นสุดเพื่อไปต่อ? : พระเมรุมาศกับสถาปัตยกรรมไทยในสายตาผู้สืบสานรุ่นใหม่

ถึงแม้ตอนนี้จะเข้าสู่ช่วงเวลาของการออกทุกข์ หลังเสร็จสิ้นงานพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชเป็นที่เรียบร้อย แต่คงไม่เป็นไรนักหากเราจะยังขอพูดถึงส่วนเสี้ยวหนึ่งของงานพระราชพิธีครั้งสำคัญเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา อย่าง พระเมรุมาศ และงานสถาปัตยกรรมเบื้องหลังที่ออกแบบและก่อสร้างออกมาอย่างปราณีตวิจิตร

แต่จะเล่าประวัติความเป็นมา เกร็ดเบื้องหลังการก่อสร้าง หรือความยิ่งใหญ่ของพระเมรุมาศประจำรัชกาลครั้งนี้ก็คงจะช้ำไปสักหน่อย (แถมคุณยังไปดูได้เองกับตาในช่วงนี้อีกต่างหาก)

ดังนั้นสิ่งที่เราสนใจและตั้งคำถามคือ สถาปัตยกรรมแห่งความโศกเศร้าชิ้นนี้ ส่งผลอย่างไรกับเหล่า ‘คนรุ่นใหม่’ กันบ้าง

ฟังดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกัน ในยุคสมัยที่หลายคนอาจเชื่อมโยงกันว่างานแบบไทยๆ อาจจะเชยเกินไปที่เด็กเจเนอเรชั่นใหม่จะมาสนและสืบสานต่อ

แต่คุณูปการจากการจากลาชั่วนิรันดร์ของเชื้อพระวงศ์ไทยที่ช่วยทำให้งานสถาปัตยกรรมไทยไม่จบอยู่แค่คนรุ่นเก่า เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อคราวที่ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้สิ้นพระชนม์ลงเมื่อปีพุทธศักราช 2538 และอดีตนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นอย่าง บรรหาร ศิลปอาชา ได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมความคืบหน้าของการก่อสร้างพระเมรุมาศประจำพระองค์ เมื่อได้พูดคุยกับ พล...อาวุธ เงินชูกลิ่น อดีตอธิบดีกรมศิลปากรผู้เป็นหัวหน้าคณะออกแบบพระเมรุมาศในพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพในครั้งนั้น ก็ได้ทราบว่าจำนวนของครูช่างที่มีความรู้ด้านงานสถาปัตยกรรมไทยเริ่มลดลงไปทุกทีๆ จนอาจจะไม่มีคนรุ่นใหม่ที่ได้เรียนรู้งานด้านนี้อย่างถูกต้องตามแบบแผน

และหลังหมดจากยุคของอาจารย์อาวุธ เราอาจจะไม่มีคนที่จะมาทำหน้าที่นี้ต่อแล้วก็เป็นได้

นั่นจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของนโยบายส่งเสริมให้จัดตั้งการเรียนการสอนด้านสถาปัตยกรรมไทยในระดับอุดมศึกษาเพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้อย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นที่แรกที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทยเป็นสาขาหนึ่งซึ่งเปิดแยกออกมา และรับนิสิตเข้าเรียนโดยประมาณเป็นจำนวนทั้งสิ้นเพียง 12 คนต่อปีเท่านั้น

จากสมเด็จย่ามาจนถึงในหลวงรัชกาลที่เก้า คำถามที่เราสงสัยคือ ท่ามกลางการจากลาที่หลายคนเศร้าโศก เหตุการณ์สำคัญนี้ได้จุดประกายอะไรในตัวเหล่าสถาปนิกรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการสอนสถาปัตยกรรมไทยแห่งแรกแห่งนี้บ้าง และพวกเขามองสิ่งที่ตัวเองร่ำเรียนอยู่จะไปต่อได้ในอนาคตอย่างไร

คำตอบที่ได้อาจไม่ใช่น้ำตา

 

จัมโบ้ สุพกิจ เรืองแจ่ม | ปี 1

 

อะไรทำให้เลือกเรียนภาควิชานี้

ส่วนตัวเป็นคนชอบงานศิลปะไทยอยู่แล้ว พอได้ศึกษามากขึ้นก็รู้สึกว่ามีเสน่ห์บางอย่าง ทำให้เริ่มรู้สึกรักที่จะศึกษา เพื่อเอาไปสืบสานงานสถาปัตยกรรมไทยที่ทรงคุณค่าให้คงอยู่ต่อไป

 

งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เพิ่งผ่านพ้นไปให้อะไรกับคุณ

คงเพราะเป็นการถวายงานแด่พระองค์ท่านเป็นครั้งสุดท้าย ผมเลยคิดว่างดงามสมพระเกียรติมากครับ นอกจากงานสถาปัตยกรรมไทยจะได้ถูกนำมาฟื้นฟู งานช่างอื่นๆ อย่างงานประติมากรรม จิตรกรรม งานเครื่องสด (งานดอกไม้สดและงานแทงหยวก) ก็ถูกนำมาร้อยเรียงเป็นหนึ่งเดียว เหมือนเป็นการถวายความอาลัยแด่พระองค์ ขณะเดียวกันก็แสดงถึงเอกลักษณ์ของชาติออกไปสู่สายตาของชาวต่างชาติอย่างน่าภาคภูมิใจ

สิ่งที่ได้เรียนรู้นอกจากตำราน่าจะเป็นหลักการสร้างที่อิงตามหลักพุทธศาสนา มีความลงตัว ผสมผสานกันอย่างดี รวมไปถึงระเบียบงานพระราชพิธีที่งดงามด้วยครับ

 

สถาปัตยกรรมไทยมีเสน่ห์อย่างไร

มีเสน่ห์ทุกอย่างเลยครับ ความงามของงานสถาปัตยกรรมไทยมันมีกรอบ มีหลักการที่ต้องคงไว้อยู่ก็จริง แต่น่าแปลกที่เราสามารถปรับเปลี่ยนหรือพัฒนาได้ให้เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย อย่างเช่นหอประชุมจุฬาฯ ก็มีการประยุกต์อยู่บ้าง [จากการปรับปรุงเรื่อยๆ] แต่ก็ยังงามตามกาลเวลาอยู่ดี

 

คิดไว้หรือยังว่าจะส่งต่อความรู้ที่เรียนมาต่อไปอย่างไร

คงเลือกส่งต่อด้วยการทำงานครับ บางครั้งบางสมัยก็อาจจะต้องสร้างขึ้นมาจริงๆ ให้เห็นไปเลย งานสถาปัตยกรรมไทยมันสวยด้วยตัวเองอยู่แล้ว คนรุ่นหลังมาเห็นก็จะหลงรักด้วยตัวเค้าเอง

 

ความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรมสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน

งานสถาปัตยกรรมไทยในตอนนี้ก็มีความงดงามอยู่พอสมควรตามยุคตามสมัย บางคนเริ่มมาศึกษาเพราะอยากรักษาเอาไว้ ก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับ ถ้าถามว่ามันเปลี่ยนแปลงไปได้ไหม ก็เปลี่ยนได้นะ ตราบใดที่เรายังรักษากรอบ ไม่ลืมหลักของงานสถาปัตยกรรมไทย จะทำเป็นบ้านก็ได้ จะเป็นอาคารใหญ่ๆ หรือหอประชุมก็ยังได้ เพราะงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นของไม่ตายและยังมีชีวิต

 

งานสถาปัตยกรรมไทยจะมีหน้าตาเป็นแบบไหนในอีกห้าสิบปีข้างหน้า

ไม่ว่าจะอีกกี่ปีก็ยังเหมือนเดิมครับ เพราะมันมีหลัก มีกรอบให้ทำตามอยู่ ไม่น่าจะต้องห่วงว่ามันจะกลายพันธุ์เป็นอะไร เพราะยังมีคนที่รักษาและสืบสานเอาไว้ ถ้าหลักการยังมี ความดั้งเดิมก็จะยังคงอยู่ แต่ยังไงก็คงต้องยืดหยุ่นได้ ปรับได้ ประยุกต์ไปแบบอื่นๆ อย่างที่เราอาจเห็นในสมัยนี้

 

แมน ลัทธพล ต่ายหัวดง | ปี 2

 

อะไรทำให้เลือกเรียนภาควิชานี้

ตอนมัธยมปลายผมเรียนสายวิทย์-คณิต แต่ก็มีความสนใจด้านศิลปะไทยด้วย พอเห็นว่าภาควิชาสถาปัตยกรรมไทยเปิดรับสมัคร เลยคิดว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะได้นำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาประยุกต์เรียนกับศิลปะไทยที่ตัวเองชอบ

 

งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เพิ่งผ่านพ้นไปให้อะไรกับคุณ

ครั้งนี้ถือเป็นงานพระราชพิธีและการออกแบบพระเมรุมาศครั้งสำคัญที่สุด เป็นการรวบรวมงานช่างศิลป์ไทยทุกแขนงครั้งใหญ่ เป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนสถาปัตยกรรมไทยอย่างพวกเราที่จะได้ศึกษากระบวนการออกแบบสถาปัตยกรรมพระเมรุ ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมประเภทอาคารชั่วคราวที่ยิ่งใหญ่ สะท้อนภูมิปัญญา ความเชื่อของพระราชพิธีในราชสำนัก

แต่เราก็ยังได้เห็นองค์ความรู้ใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมายไปด้วย อย่างการประยุกต์วัสดุ กรรมวิธีการก่อสร้างแบบใหม่ที่เข้ามาช่วยทดแทนวัสดุอย่างไม้หายากชนิดต่างๆ ซึ่งอาจจะหาไม่ได้แล้ว หรือด้านการออกแบบที่มีความเป็นสมัยใหม่อยู่ในรูปแบบอาคารและศิลปะการตกแต่ง ทีมสถาปนิก นายช่างศิลปกรรมในแขนงต่างๆ ก็ร่วมใจกันออกแบบให้เป็นศิลปะในรัชสมัยของในหลวงรัชกาลที่เก้าได้อย่างสมพระเกียรติ ทำให้ได้เห็นความเป็นไปได้ของสถาปัตยกรรมไทยในอนาคตไปในตัวด้วย

 

สถาปัตยกรรมไทยมีเสน่ห์อย่างไร

แสงเงาในงานสถาปัตยกรรมไทยเป็นเสน่ห์ที่น่าสนใจสำหรับผม ในฐานะของปัจจัยที่ทำให้เกิดรูปแบบ และการประดับตกแต่งที่ตอบสนองด้านความงามและประโยชน์การใช้สอย เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างนี้ทำให้เกิดคุณค่าในมิติที่หลากหลาย สะท้อนภูมิปัญญาของช่างฝีมือในอดีตว่าพวกเขามีมุมมองด้านความงามเป็นอย่างไร

 

คิดไว้หรือยังว่าจะส่งต่อความรู้ที่เรียนมาต่อไปอย่างไร

เราคงต้องเป็น ‘นักทดลอง’ ทางสถาปัตยกรรมกันต่อไป ที่จริงรูปแบบต่างๆ มันถูกคิดมาแล้วโดยบรมครูช่างในอดีต

หน้าที่ของเราคือจุดไฟของสถาปัตยกรรมไทยต่อจากครู ให้ยังส่องสว่างนำทางผู้ที่จะมารับหน้าที่จุดไฟนี้ต่อ

เพื่อให้สถาปัตยกรรมไทยยังส่องแสงสว่างสู่อนาคต ทำหน้าที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติไปเรื่อยๆ

 

ความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรมสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน

ในฐานะนักเรียนสถาปัตยกรรมไทย และสถาปนิกในอนาคต พวกเราอาจช่วยกันสร้างรูปแบบของสถาปัตยกรรมไทยแบบใหม่ๆ ออกมา โดยนำเสนอความเป็นไปได้ของการประยุกต์รูปแบบใหม่ โดยที่ยังเข้าใจรูปแบบ บริบท ที่มา ซึ่งอาจทำให้ผู้ออกแบบสถาปัตยกรรมไทยที่จะเกิดขึ้นมาในยุคต่อไปได้เห็นคุณค่า เกิดเป็นกระแสความคิดใหม่ไปเรื่อยๆ ช่วยส่งเสริมให้งานสถาปัตยกรรมไทยในปัจจุบันและอนาคตมีแนวทางพัฒนาต่อไปได้

 

งานสถาปัตยกรรมไทยจะมีหน้าตาเป็นแบบไหนในอีกห้าสิบปีข้างหน้า

จากอดีต รูปแบบทางสถาปัตยกรรมจะค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปอย่างช้าๆ และมีแนวโน้มจะเป็นอย่างนั้นในอนาคต ซึ่งต่างจากวิทยาการก่อสร้างหรือวัสดุที่พัฒนาอย่างรวดเร็ว ผมคาดว่าในอีก 50 ปีข้างหน้าเราจะมีวัสดุ วิธีการก่อสร้างแบบใหม่ๆ เข้ามาใช้ในงานสถาปัตยกรรมไทยมากขึ้น ข้อจำกัดของวัสดุและโครงสร้างที่มีผลต่อรูปแบบสถาปัตยกรรมอาจค่อยๆ ทลายลง

ปัจจัยที่ว่าอาจจะทำให้เกิดรูปแบบสถาปัตยกรรมไทยใหม่ๆ ขึ้นมา ซึ่งยังคงรากฐานของความเป็นไทยอยู่

 

พูห์ ภูริณัฐ นิยะเวมานนท์ | ปี 4

อะไรทำให้เลือกเรียนภาควิชานี้

ตอนเด็กๆ ครอบครัวจะชอบไปทำบุญที่วัด ด้วยความที่เราเป็นเด็กก็จะไม่ค่อยชอบนั่งฟังพระสวดหรือนั่งทำบุญ แต่จะออกไปเดินเล่นรอบๆ วัด ส่วนใหญ่จะไปที่วัดพระพุทธบาทราชวรมหาวิหาร จังหวัดสระบุรี ซึ่งอยู่มาตั้งแต่สมัยอยุธยา พระมหากษัตริย์ก็ทำนุบำรุงมาจนถึงตอนนี้ มันทำให้เราได้ใช้ชีวิตอยู่กับวัดที่สวย ได้เสพของสวยๆ มาตั้งแต่เด็ก

พอรวมกับการที่เราชอบประวัติศาสตร์ ชอบงานศิลปะของไทย เลยกลายเป็นว่าได้ดู ได้อ่านหนังสือเยอะ เวลาไปเที่ยวก็จะชอบไปตามสถานที่ทางประวัติศาสตร์ที่มีสถาปัตยกรรมสวยๆ เลยเริ่มชอบเรื่องแบบนี้มาเรื่อยๆ

 

ในฐานะชั้นปีที่โตสุดในที่นี้ อธิบายให้ฟังหน่อยว่าพวกคุณเรียนอะไรกันบ้าง

การเรียนสถาปัตยกรรมไทยจะมีความพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือเราจะต้องมีเซนส์เรื่องความสวยงาม ความปราณีต ต้องเข้าใจคาแรกเตอร์ของความเป็นไทยมากกว่าคนอื่น เราต้องรู้อย่างลึกซึ้งเพราะไม่มีคนอื่นที่ทำได้เหมือนเรา มันเลยเป็นความยากที่ต่างจากเพื่อนๆ สถาปัตย์ฯ ภาคอื่น เพราะเราต้องรู้ให้เหมือนเป็นมาสเตอร์ด้านนี้เลย

ปีหนึ่งจะเรียนเหมือนกันหมด แต่ของภาคสถาปัตยกรรมไทยก็จะเรียนวิชาพื้นฐานก่อนที่จะไปต่อในระดับสูงๆ อย่างการเขียนลายต่างๆ พอปีสองก็มีวิชาสตูดิโอดีไซน์ เริ่มเข้าสู่ความเป็นสถาปัตยกรรมไทยเข้ามาอีกหน่อย เพราะเราจะไม่ได้เรียนรวมกับภาคอื่นๆ เราจะเรียนเครื่องสับ (เรือนไทย) เครื่องก่อ (กุฏิ) เครื่องลำยองขนาดเล็ก หรืออาคารที่เป็นฟังก์ชั่น ขนาดไม่ได้ใหญ่มาก แต่จะลงดีเทลมากขึ้นในความเป็นไทยไว้ใช้ต่อไป

ปีสามก็เริ่มจะหนัก ทุกรุ่นจะบอกว่าปีนี้หนักสุด เพราะมันเป็นการเรียนรู้ความเป็นไทยแบบแอดวานซ์ เราต้องเรียนอาคารเครื่องลำยองที่ละเอียดมากๆ เป็นโปรเจ็กต์อุโบสถวิหารหรือหอพระ ต้องมีการทำเครื่องยอดที่จะสัมพันธ์กับงานที่เกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเราต้องรู้มากกว่าคนอื่น ปกติเค้าอาจจะรู้ว่ามี ช่อฟ้า ใบระกา หางหงษ์ แต่เราต้องรู้หมดเลยว่าถ้าจะขึ้นเป็นอาคารหลังนี้มันต้องมีอะไรบ้าง จะสร้างยังไง ลายแบบไหนที่จะเอามาใช้ หรือสัญลักษณ์อะไรที่อยู่ในงานของเราแล้วจะทำให้ดีไซน์ของเราแตกต่าง จะทำให้วัดของเราไม่ได้กลายเป็นเหมือนวัดอื่นๆ แต่เป็นอาคารที่เป็นของเรา เฉพาะที่ตรงนั้น เฉพาะตัวของสถาปนิกคนนั้นด้วย

ส่วนเทอมสองก็จะเป็นอาคารที่มีฟังก์ชั่นมาขึ้น เป็นพิพิธภัณฑ์ สำนักงาน ที่จะต้องประยุกต์ให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันมากขึ้น เพราะถ้ายังหยุดอยู่ที่เดิม เราก็ไม่สามารถที่จะไปต่อได้ สาขาวิชาของเราหรือความเป็นเราก็อาจจะตายต่อไปในอนาคตเหมือนกัน

ตอนนี้ที่อยู่ปีสี่ก็จะเจออาคารราชการขนาดใหญ่ เป็นสเกลยักษ์เลย อย่างอาคาร ศาล โรงแรม รีสอร์ท ก็เริ่มจะเป็นอาคารที่ขนาดใหญ่ ฟังก์ชั่นหลากหลาย เริ่มประยุกต์เป็นสมัยใหม่มากขึ้น ส่วนปีห้าก็จะเป็นทำธีสิส แล้วแต่ว่าแต่ละคนสนใจเรื่องอะไรจากที่เรียนมา ถ้าสนใจเครื่องลำยองที่เรียนมาตอนปีสามก็จะทำเป็นวัด หรืออื่นๆ ทุกคนมีสิทธิ์เลือก แล้วก็มีอาจารย์คอยช่วยเราอีกทีนึง

ถามว่ายากมั้ย มันก็หนักแหละ เหมือนเราก็ต้องเรียนอะไรที่เป็นของเก่าด้วย แล้วก็ต้องเรียนของใหม่ไปด้วยอีก แล้วการเรียนการสอนที่บางทีก็เครียดมาก ก็ต้องสู้ อดทนมากกว่าคนอื่น เพราะอาจารย์ก็คาดหวังว่างานที่จะออกมาจากสถาปัตยกรรมไทย จุฬาฯ ต้องถูกหลักและสวยงาม ออกไปบอกคนอื่นได้ว่าเรามาจากคณะนี้นะ

 

งานสถาปัตยกรรมพระเมรุมาศในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพที่เพิ่งผ่านพ้นไปให้อะไรกับคุณ

จริงๆ ที่ทันจะมีของหลายพระองค์ค่ะ ของสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ หรือของสมเด็จพระเจ้าภคินีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี แล้วก็มีล่าสุดคือพระเมรุมาศของในหลวงรัชกาลที่เก้า ซึ่งส่วนตัวไม่ได้คิดว่าจะทันได้เห็นพระเมรุมาศที่มีฐานันดรสูงสุดในช่วงยุคสมัยของตัวเองเลย

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือเรื่องขนบธรรมเนียม เพราะเราก็ไม่ได้เกิดมาตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล แม้แต่พ่อแม่เราก็ไม่ทันเห็นด้วยซ้ำ ปู่ย่าก็เล่าอะไรให้ฟังไม่ได้ แต่เราได้สัมผัสตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบว่าตรงนี้ต้องออกแบบเป็นทรงบุษบก ต้องมีชั้นเชิงกลอนเท่านี้ ต้องมีอาคารกี่หลัง ต้องประกอบไปด้วยอาคารอะไรบ้าง ซึ่งแตกต่างจากพระเมรุที่ผ่านๆ มาที่เป็นระดับราชวงศ์

สองคือการนำนวัตกรรมสองยุคสมัยมาอยู่ด้วยกัน แต่ก่อนอาจจะเป็นเลื่อยฉลุมือ แต่ตอนนี้เป็นเลเซอร์คัท ทำไฟล์จากคอมพิวเตอร์ ทำให้เรารู้สึกว่างานสถาปัตยกรรมไทยมันไม่จำเป็นที่จะต้องใช้กรรมวิธีแบบโบราณเสมอไป สุดท้ายคือได้เห็นความสร้างสรรค์ เหมือนคนไทยเราสั่งสมภูมิปัญญามาตลอดแต่ไม่มีโอกาสได้ปล่อยของ ครั้งนี้เหมือนเป็นการปล่อยของลงมาในพระเมรุมาศ ทุกฝ่ายทุกแขนง ทั้งจิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม งานประดับตกแต่ง ภูมิสถาปัตยกรรม ทุกอย่างถูกปล่อยของลงมาในงานนี้อย่างมหาศาล มันทำให้เราได้เห็นว่าคนไทยมีศักยภาพในด้านนี้มาก

ภูมิใจที่ได้เห็นงานนี้และมีโอกาสที่ได้เข้าไปศึกษาของจริง ซึ่งดีกว่าการเข้าไปนั่งดูตำราว่าสมัยในหลวงรัชกาลที่แปดเป็นแบบนี้ รัชกาลที่ห้าเป็นแบบนี้ แต่อันนี้เราได้เห็นว่าของจริงในสมัยรัชกาลที่เก้าเป็นแบบนี้ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ต่อในอนาคตได้ด้วยค่ะ

 

สถาปัตยกรรมไทยมีเสน่ห์อย่างไร

มันคือความละเอียดและใส่ใจของงานนะ สังเกตดีๆ จะเห็นว่ามันได้ใส่รสนิยมความเป็นไทยให้แสดงออกมาในงานสถาปัตยกรรม บ่งบอกความเป็นชาติได้อย่างชัดเจนมาก บางคนอาจจะบอกว่า เฮ้ย งานของไทยก็คล้ายกับของลาว กัมพูชาไม่ใช่เหรอ แต่ทำไมเราถึงแยกออกล่ะ

เราแยกออกจากความที่ประเทศของเรามีจริต เอาใจใส่ในตัวงาน วิจิตรบรรจง ใส่ใจในทุกดีเทล เหมือนคนไทยจะแอนตี้กับความว่างๆ เลยต้องใส่อะไรเข้าไปให้รู้สึกว่าพอคนเห็น เดินผ่านแล้วต้องชมว่าสวยให้ได้ ซึ่งเราคิดว่ามันเป็นความอะเมซิ่งอย่างนึงของงานไทย

บางทีถึงมันจะดูโล่ง อย่างวัดที่ดูพังๆ แต่สัดส่วนโดยรวมยังสวย เหลือแค่ตัวโครงมันก็สวย เหมือนงานไทยมันสวยมาตั้งแต่เริ่ม สวยมาตั้งแต่โครงสร้าง เสา คาน จั่ว ยิ่งประดับตกแต่งก็ยิ่งสวยขึ้นไปอีก ถึงบอกไงคะว่าการเอาใจใส่ของช่างไทยมันคือการทำให้งานออกมาเป็นที่เชิดหน้าชูตาของคนในประเทศด้วย

คนจะชอบเข้าใจว่าวัดมันก็เหมือนๆ กันทุกวัด แต่ลองไปดูนะ จริงๆ มันอาจจะมีความแตกต่างกันของแต่ละที่ บางทีเราไปเห็นแล้วอาจจะสังเกตเห็นเสน่ห์จุ๊กจิ๊กที่ช่างได้ฝากเอาไว้ เพราะช่างฝีมือก็คงไม่ได้ Ctrl+C – Ctrl+V มาเหมือนกันทุกวัดหรอกนะคะ (หัวเราะ)

 

คิดไว้หรือยังว่าจะส่งต่อความรู้ที่เรียนมาต่อไปอย่างไร

คำตอบแรกคือเอาไปทำงานแหละค่ะ เป็นเรื่องเงินก่อน (หัวเราะ) มันเป็นอาชีพของเรา แต่อย่างน้อยที่สุด ลูกค้าของเราจะได้งานที่สวย เป็นงานที่ถูกต้อง สมมติทำวัดออกมาก็ต้องถูกต้อง ไม่ใช่เป็นวัดที่มันไม่สวยหรือผิดจากองค์ประกอบที่ควรจะเป็น

คนไทยเราสนใจอยู่แล้วล่ะ แต่ตอนนี้คงอยู่ในจุดที่กำลังค้นหารากของตัวเอง หาความภูมิใจของตัวเองอยู่ เพราะฉะนั้นก็เลยรู้สึกว่าในเมื่อคนไทยพร้อมเปิดรับ เราเองเป็นคนที่ได้เรียนได้ศึกษา ก็อยากจะถ่ายทอดออกไปไม่ทางใดก็ทางนึง ถึงจะยังไม่รู้ว่าในอนาคตเราจะทำยังไงได้บ้าง แต่ส่วนตัวแล้วก็คิดว่าหลายๆ คนก็กำลังเริ่มศึกษา หาข้อมูลที่มันถูกต้องกันนะคะ อย่างหลายเรื่องที่ผ่านมาที่ก็เห็นว่าเรากำลังหาความเป็นไทยที่แท้จริงกันอยู่

 

ความเป็นไทยในงานสถาปัตยกรรมสามารถปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้มากแค่ไหน

คงต้องแยกเป็นสองส่วน ก็ต้องมีงานหลวง มีงานราษฎร์หรืองานชาวบ้าน งานชาวบ้านก็จะมีความน่ารักกุ๊กกิ๊ก แต่ก็อาจจะมีอะไรที่ผิดไปเลย เอ๊ะ นี่มันไม่ใช่งานสถาปัตยกรรมไทยที่ถูกต้องนะ ในขณะที่งานหลวงก็จะถูกต้องตามขนบ มีแบบแผนชัดเป๊ะ ต้องการความสง่าไปเลย

ถามว่าจะปรับปรุงหรือเปลี่ยนอะไรได้บ้าง เราก็ให้คำตอบตรงๆ ไม่ได้หรอก จะเข้าไปชี้ว่าแก้ตรงนี้สิ ทำอย่างนี้สิ ก็คงไม่ใช่

แต่เราสามารถออกไปเพื่อผลิตงานที่สวย จนคนรู้สึกว่าอยากเอางานเราไปเป็นแบบอย่างในอนาคต

บางทีอาจจะเป็นสิ่งที่ดีกว่าการเดินเข้าไปชี้นิ้วจิกหรือสั่งให้เค้าแก้ หรือบอกว่าไม่สวยเลยนะ คงไม่ใช่อย่างนั้น

 

งานสถาปัตยกรรมไทยจะมีหน้าตาเป็นแบบไหนในอีกห้าสิบปีข้างหน้า

ไม่ต้อง 50 ปีหรอกค่ะ ตอนนี้เราก็มีสองแบบหลักๆ หนึ่งคือไทยประเพณี สองคือไทยประยุกต์ อาจจะมีสามด้วยซ้ำ คือเป็นไทยที่ประยุกต์จนเหลือแค่กลิ่นอายของความเป็นไทยแบบจางๆ

ความเป็นไทยมันจะอยู่รอดได้ถึงห้าสิบปีในอนาคตมั้ย ได้แหละ ถ้ามีคนสนับสนุน แต่คนที่ต้องการเสพงานที่เป็นไทยแท้จริงๆ อาจจะไม่ได้เหลือเยอะขนาดนั้น งานช่างไทยเองก็อาจจะต้องปรับตัวเพื่อหาว่างานสถาปัตยกรรมไทยในยุคนั้นควรเป็นยังไง อย่างเช่นเป็นงานสำหรับปีพุทธศักราช 2600 อะไรแบบนั้น ซึ่งหน้าตาอาจจะเปลี่ยนไป แต่ก็ยังมีฉันทลักษณ์ที่เราเองก็ต้องคอยควบคุมในอนาคตว่า เฮ้ย สิ่งที่ถูกต้องมันเป็นอย่างนี้นะ ควรแก้ ควรปรับปรุงอย่างนี้ไม่ให้มันหลุดกรอบไปจนมันผิด

แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะไม่สร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ เข้ามาในงานไทยเลย ในฐานะของคนรุ่นใหม่เอง เราก็แอบอยากเห็นความแปลกใหม่ในงานไทยเหมือนกัน เพราะงั้นคงให้คำตอบไม่ได้ว่าอีกห้าสิบปีจะเป็นแบบไหน

ถ้าให้เดา อีกห้าสิบปีข้างหน้าก็คงจะเป็นคนแก่ๆ คนนึงที่เป็นแรงหลักสำคัญของงานสถาปัตยกรรมไทยในช่วงยุคนั้น ถ้าตัวเองยังอยู่นะคะ (หัวเราะ)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save