fbpx
TestBKK : สะบัดพรม สำรวจฝุ่นบังตา บดบังปัญหา HIV / AIDS

TestBKK : สะบัดพรม สำรวจฝุ่นบังตา บดบังปัญหา HIV / AIDS

เทพพิทักษ์ มณีพงษ์ เรื่อง

หากการเดินทางข้ามเวลาเกิดขึ้นจริง ทริปไทม์แมชชีนที่ขนผู้คนจากยี่สิบกว่าปีก่อนมายุคนี้คงทำให้พวกเขาเกิดอาการคัลเจอร์ช็อกกันไม่มากก็น้อย

ไม่นับเรื่องวัฒนธรรมหรือเทคโนโลยีที่ก้าวกระโดด อีกหนึ่งสิ่งที่คนจากยุคนั้นมาเห็นแล้วตกใจอาจเป็นเรื่องของความเข้าใจเรื่องเชื้อ HIV และโรค AIDS ที่เปลี่ยนจากการมองว่าเป็นโรคร้าย เป็นแล้วต้องร่างกายซูบผอมหนังหุ้มกระดูกเหมือนภาพที่เราเห็นในโทรทัศน์ก่อนจะเสียชีวิต และความเข้าใจผิดว่าเป็นโรคติดต่อกันได้ผ่านการใช้ช้อนร่วมกัน มาเป็นการพูดถึงเชื้อและโรคในแง่ดี วิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าสร้างความหวังให้ผู้ติดเชื้อ และความเข้าใจของสังคมในแง่มุมที่ดีขึ้น

ใครจะคาดคิดว่าวันหนึ่ง เราจะเห็นเรื่องราวของผู้ติดเชื้อที่ถูกทำให้เป็น ‘คนธรรมดา’ ในซีรีส์ทางโทรทัศน์

แต่ภายใต้ความเข้าใจในแง่มุมที่ดีขึ้น อาจมีฝุ่นบางส่วนที่ยังไม่ถูกปัดกวาดออกมาจากพรม ซุกซ่อนเอาไว้ให้หลายคนเดินผ่านมันไปพลางคิดว่าสะอาดตา ทว่าฝุ่นแห่งความเข้าใจผิดที่ว่ายังสร้างความคิดในแง่ลบบางอย่างที่ไม่อาจแก้ไขเพียงแค่กวาดเป็นประจำเหมือนการทานยาต้านไวรัส

เพราะมันคือฝุ่นผงความละเอียดยิบตาที่แทรกซึมอยู่ในระบบสาธารณสุขและการตีตราของผู้คน

เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาและความเข้าใจผิดของผู้ติดเชื้อ HIV และโรค AIDS ให้มากขึ้น เราเดินทางมาพูดคุยกับ เอ วัฒนา เกี๋ยงพา, เอ็ม อภิวิชญ์ ธิบำรุง และ มะนาว สุนัดดา สมณะ ทีมงานจากโครงการ TestBKK โดยองค์กร APCOM ที่ส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพทางเพศ ให้ข้อมูลการตรวจหาเชื้อ HIV กับกลุ่มเป้าหมายชายรักชายในกรุงเทพมหานครมาเป็นระยะเวลาเกือบ 4 ปี

ฝุ่นใต้พรมที่ว่ามีอะไรบ้าง เตรียมแว่นขยายให้พร้อม แล้วมาส่องดูไปพร้อมกัน

Free PrEP Counselling TESTBKK MOBILE CLINIC

ชนิดที่หนึ่ง : ชายรักชายเท่านั้นที่มีพฤติกรรมเสี่ยง

 

TestBKK เริ่มต้นขึ้นมาได้อย่างไร

เอ็ม: TestBKK เป็นแคมเปญขององค์กร APCOM ที่ก่อตั้งมาเกือบ 4 ปี เพื่อรณรงค์ในกลุ่มชายรักชายใน กทม. แต่เบื้องหลังก่อนที่จะเกิดอันนี้ขึ้นมา เค้าจะตั้งเป็นแคมเปญ TestXXX เป็นตัวอักษรย่อของเมืองต่างๆ โดยหลักๆ การทำงานคือการกระตุ้น ให้ข้อมูลความรู้กับกลุ่มเป้าหมายชายรักชาย ด้วยการทำงานร่วมกับองค์กรชุมชนต่างๆ ที่ทำงานเชิงรุกเรื่องนี้อยู่แล้ว ทั้ง ฟ้าสีรุ้ง สภากาชาดไทย ฯลฯ ในการประชาสัมพันธ์ข้อมูลบริการต่างๆ

นอกจากนั้นก็มีการประชาสัมพันธ์ชุดข้อมูลการดูแลป้องกันสุขภาพอย่างถูกต้อง อย่างการใช้ถุงยางอนามัยหรือสารหล่อลื่นทุกครั้งเมื่อมีเพศสัมพันธ์ หรือตัวยาใหม่ทั้ง PEP และ PrEP ผ่านช่องทางการทำงานที่มีทั้งเว็บไซต์ที่ให้ข้อมูล สถานที่ตรวจเลือด มีเฟซบุ๊กไว้ติดต่อกับกลุ่มเป้าหมายโดยตรง หรือยูทูบที่มีมีเดียต่างๆ แบบวิดีโอไว้เผยแพร่กับกลุ่มเป้าหมาย

สถานการณ์ก่อนหน้าของ HIV และ AIDS มีปัญหาอะไรที่ต้องเข้ามาทำโครงการนี้

เอ: ก่อนหน้านี้ในกรุงเทพฯ องค์กรที่เคยทำงานในพื้นที่ชุมชน การเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอาจจะไม่ได้ทั่วถึงมากนัก TestBKK เลยเกิดขึ้นมาเพื่อซัพพอร์ตการทำงานให้องค์กรที่มีอยู่ให้ทำงานได้ดียิ่งขึ้น เพราะยังมีบางกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าถึงได้ หรือบางกลุ่มที่เข้าถึงแล้ว แต่ยังไม่ถูกกระตุ้น บางคนอาจจะรู้ว่าต้องไปตรวจ HIV แต่ยังไม่ได้ถูกกระตุ้นให้เดินออกไปตรวจ เราก็จะใช้สื่อต่างๆ เพื่อกระตุ้น ย้ำเค้าให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้นในการที่จะช่วยให้เข้าถึงสถานบริการ แหล่งรับบริการมากขึ้น

เอ็ม: ถ้าดูตามข้อมูล ช่วงก่อนนี้กลุ่มชายรักชายจะมีตัวเลขอัตราความชุกค่อนข้างสูง ทั้งตัวเลขการแพร่กระจายหรือตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่สูงขึ้น เราเคยใช้ตัวเลขว่า 1 ใน 4 ของประชากรชายรักชายคือผู้ติดเชื้อรายใหม่ มันเป็นตัวเลขที่เราเอามาใช้สนับสนุนการทำงาน ให้เขาควรมีการให้ความรู้ด้านสุขภาพมากยิ่งขึ้น

ดูเหมือนว่า TestBKK จะไม่ได้อยากให้กลุ่มชายรักชายปรับพฤติกรรมเสี่ยงหรือเปล่า เพราะมีการพูดถึงปาร์ตี้เซ็กซ์และใช้สารเสพติดด้วย

เอ: มันเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล เราไม่ได้สนับสนุนว่าคุณต้องไปปาร์ตี้เซ็กซ์กันทุกคน หรือคนที่เป็นเกย์ทุกคนคือคนที่ไปปาร์ตี้ แต่นั่นคือรสนิยม ไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน ไม่ใช่เฉพาะกลุ่มชายรักชายด้วยชอบไปปาร์ตี้แบบนี้ กลุ่มชายหญิงทั่วไปเค้าก็อาจจะชอบก็ได้ ดังนั้นเมื่อคุณจะไป คำถามคือคุณจะทำยังไงให้การไปปาร์ตี้ของคุณมีความปลอดภัย

เราไม่ได้สนับสนุนให้เค้าไปมีเพศสัมพันธ์แบบไม่ปลอดภัย แต่คุณจะไปสนุกยังไงก็ต้องอย่าลืมป้องกันตัวเอง มีสติตลอดเวลา

เหมือนออกไปกินเหล้านอกบ้าน จะกินเหล้ายังไงให้ปลอดภัย รัฐบาลก็รณรงค์ว่าเมาไม่ขับใช่ไหม นี่ก็เหมือนกัน คุณเมา คุณจะมีเพศสัมพันธ์ แต่อย่าลืมป้องกันด้วยถุงยางอนามัยทุกครั้ง มันไม่ใช่เฉพาะคนที่ชอบปาร์ตี้หรือเล่นยาอย่างเดียว

เพราะคนที่มีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่ากับใคร แม้คุณจะรู้จักอยู่แล้วก็ตาม คุณจะรู้ได้ยังไงว่าเค้าจะมีเชื้อหรือไม่มี เราเลยต้องป้องกันทุกคน กับทุกคน นั่นคือเป้าหมายของเราที่อยากให้ทุกคนมีความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์

เอ็ม: ที่เราบอกว่าถ้าจะไปเสี่ยงก็ให้ป้องกัน เพราะ TestBKK ทำงานด้วยความเข้าใจกลุ่มเป้าหมาย มากกว่าจะทำงานเพื่อต้องการให้เค้าเป็นยังไง เราไม่ได้อยากให้เค้าเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมจากคนที่มีความเสี่ยง ให้เป็นคนคลีน ไม่เสี่ยงเลย แต่เราอยากทำให้เค้าเป็นคนที่มีความเสี่ยงแต่เสี่ยงอย่างปลอดภัยมากที่สุด นั่นเป็นหลักในการทำงานของเรามากกว่า

ถ้ากลุ่มที่เราต้องการสื่อสารเริ่มมีความเสี่ยง เริ่มไม่ค่อยใช้ถุงยางอนามัย เราก็จะโปรโมทให้มากขึ้น แจกถุงยาง แจกปาร์ตี้แพ็คตอนที่เห็นว่ากลุ่มเป้าหมายเราชอบ Group Sex มากขึ้น ถ้าเค้าชอบทำมากขึ้น เราก็จัดกิจกรรมแจกอะไรแบบนี้ด้วย หรือตอนนี้ถ้าเราเห็นว่าเค้าเริ่มมีพฤติกรรมที่มีเพศสัมพันธ์โดยใช้สารเสพติดร่วมด้วย คือทุกคนก็รู้อยู่แล้วว่ายาเสพติดมันไม่ดี แต่ทำไมเค้าก็ยังใช้อยู่

เราเข้าใจเค้ามากกว่าจะไปห้าม ถ้ามีพฤติกรรมนี้ สิ่งที่ทำคือให้ข้อมูล จะปฏิบัติตัวยังไง ใช้ยายังไง รู้จักตัวยายังไง นั่นเป็นการทำงานของเรามากกว่าจะไปเปลี่ยนพฤติกรรม แต่ให้ความรู้ที่ถูกต้องมากกว่า

เราจะไม่บอกเค้าว่าเธอต้องไปตรวจนะๆ แต่ถ้าอยากไป เราจะเตรียมไว้บอกว่าไปที่ไหนได้บ้าง เหมือนเป็นการเดินข้างๆ กับเค้า

เพราะต่อให้เราไปบอกไปห้าม เค้าก็ยังทำอยู่ดี มันเป็นพฤติกรรมที่เกิดขึ้นแล้ว ไม่ใช่สิ่งที่กำลังจะเกิดในอนาคต ถ้าอย่างนั้นเรายังหยุดได้ แต่ถ้าเกิดแล้วและหยุดไม่ได้ จะทำยังไงให้เค้าไม่ไปเยอะกว่านี้ เสี่ยงกว่านี้

เอ: มันคล้ายกับกลุ่มที่ทำงานกับผู้ใช้ยา ที่เราอาจจะเคยเห็นว่าเค้าไปแจกเข็มสะอาดให้กลุ่มผู้ใช้ยา เพราะมันเป็นการลดความเสี่ยงจากโรคอื่นๆ ทั้ง HIV หรือไวรัสตับอักเสบ นี่ก็เหมือนกัน เมื่อเราปฏิเสธไม่ได้ว่าในสังคมมีเรื่องยาเสพติดหรือปาร์ตี้เซ็กซ์ เราจะทำยังไงให้เค้าเข้าถึงการมีเซ็กซ์ที่ปลอดภัย และจะทำยังไงให้เค้ามีสุขภาพที่ดี

 

ไม่เป็นการทำให้คนเข้าใจว่าเพราะพวกเขาทำแบบนี้ถึงมีพฤติกรรมเสี่ยงเหรอ

เอ็ม: มันเป็นเรื่องของทัศนคติส่วนบุคคลบวกกับของสังคมด้วยที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งในสิ่งที่เค้าบอกว่ากลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มคนที่มั่ว มันอาจจะเป็นทัศนคติที่ค่อนข้างล้าหลังและตัดสินเฉพาะเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

มันมีสถานการณ์ที่ทำให้เค้าคิดอย่างนั้นว่ากลุ่มชายรักชายเป็นกลุ่มคนที่มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกันหรือมั่ว แต่ถ้าจะบอกว่าจริงไหม มันก็มีข้อมูลว่าตัวเลขในกลุ่มเป้าหมายของเราก็สูงจริง แต่เราไม่ได้บอกว่ามั่ว หรือไม่มั่ว เพราะกลุ่มอื่นๆ ก็มีตัวเลขในการติดเชื้อสูงเหมือนกัน แต่เพราะช่วงปัจจุบัน สังคมทำงานกับกลุ่มชายรักชายมากขึ้น ตัวเลขที่ออกมาดูสูงขึ้น การรับรู้ของสังคมเลยเข้าใจว่ากลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่มั่ว

เราอยากให้มองที่การทำงานมากกว่าว่าทำไมเราถึงเจาะไปที่กลุ่มเป้าหมายนี้ เหตุผลเพราะกลุ่มเป้าหมายนี้มีการกระจายตัวของการแพร่ระบาดเชื้อสูงมากขึ้น แต่ถ้าย้อนกลับไป 20-30 ปี กลุ่มอื่นๆ ซึ่งไม่ใช่กลุ่มชายรักชาย ก็อาจถูกมองว่ามั่วได้เหมือนกัน

มะนาว: เราไม่ได้มองว่าการทำงานของเราจะไปเพิ่มหรือลดสเตอริโอไทป์นั้น เพราะเรายอมรับว่ามีอยู่แล้ว แต่อย่างที่บอกว่าจะเปลี่ยนพฤติกรรมก็ลำบาก จุดหมายของเราคือต้องทำงานให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย ไม่ใช่เป็นการเปลี่ยนทัศนคติของสังคม

ชนิดที่สอง : เอดส์ป้องกันได้ ถ้าไม่ไปตรวจ

         

ดูเหมือนว่าการเกิดขึ้นของยา PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) ทำให้คนรู้สึกว่าการใช้ถุงยางอนามัยไม่จำเป็น

เอ: ต้องแยกก่อนว่า PrEP ใช้เพื่อป้องกันเชื้อ HIV ในคนที่มีผลเลือดเป็นลบได้ แต่ไม่ได้ป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

เอ็ม: ต้องยอมรับว่ามีความคิดอย่างนั้นเกิดขึ้นจริงๆ เพราะตอนแรกที่รู้เรื่อง PrEP แล้วไปอธิบายให้เพื่อนฟัง เพื่อนยังบอกเลยว่างั้นก็ไม่ต้องใช้ถุงยางแล้วสิ แม้ว่าตอนที่เราอธิบายจะบอกว่าป้องกันแค่ HIV อย่างเดียว

นั่นหมายถึงในทัศนคติของเค้า เค้าให้ความสำคัญกับ HIV เป็นอันดับหนึ่ง แต่โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ต่างๆ กลับหายไปเลยเพราะรู้สึกว่าอันนี้ป้องกัน HIV ได้ ไม่จั่ว (ติดเชื้อ) แล้วก็ทิ้งเลย ไม่ใส่ถุงยางแล้ว ทั้งที่มันยังมีโรคอื่นที่ติดได้

ถามว่ามันทำให้จำนวนคนที่ใช้ถุงยางอนามัยลดลงไหม เราคิดว่าคนที่สนใจตัว PrEP มากๆ มันก็ลดแหละ ยิ่งเค้าศึกษาความรู้มากเท่าไหร่ เค้าก็ยิ่งลดการใช้ถุงยางไป เพราะมันป้องกันสิ่งที่เค้ากลัวที่สุดได้ แต่ท้ายที่สุด เราก็ยังอยากให้เค้าใช้ทั้งสองอย่างควบคู่ไปอยู่ดี เหมือนโซ่ล็อกสองชั้น เพราะเอาเข้าจริง ถุงยางอนามัยก็ไม่ได้ป้องกันได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ขนาดนั้น แต่ถ้าเรามี PrEP HIV ก็เข้ามาหาเราไม่ได้ ส่วนถ้าคู่นอนมีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ มันก็มีการรักษาให้หายขาดได้อยู่

มันเลยเป็นจุดที่ทำให้คนที่เขารู้สึกว่าโรคอื่นรักษาให้หายขาดได้ ไม่เห็นเป็นอะไร แต่เรารู้สึกว่าถ้าป้องกัน HIV ได้แต่ต้องไปหาหมอทุกๆ สามเดือนหกเดือนเพื่อฉีดยารักษาโรคอื่นๆ มันสะดวกกว่าจริงเหรอ เป็นหนองในแล้วก็ต้องกินยาอยู่ดี ถ้าวัดกันแล้วก็ไม่คุ้มเสียหรอก ซึ่งเราก็ไม่ได้สนับสนุนให้ทำอย่างนั้น เราจะบอกว่าถ้าทาน PrEP ก็ควรใช้คู่กับถุงยางและเจลเสมอ

Free PrEP Counselling TESTBKK MOBILE CLINIC

Free PrEP Counselling TESTBKK MOBILE CLINIC

แล้วมุกตลกที่บอกว่า เอดส์ป้องกันได้ถ้าไม่ไปตรวจล่ะ

เอ: มีจริงๆ นะ เราเคยไปลงพื้นที่ทำงานกับชุมชนก็เจอคนที่บอกว่า พี่ ไม่ไปตรวจดีกว่า ถ้าไม่ตรวจก็ไม่เป็น เลยถามเค้าว่าทำไมไม่กล้า เค้าบอกว่าเคยเจอว่าเพื่อนของเค้าไปตรวจเลือด ติดเชื้อ ผ่านไปไม่กี่เดือนเพื่อนก็เสียชีวิต เค้าเลยกลัวว่าถ้าไปตรวจแล้วเป็น เค้าคงต้องตายเหมือนกัน เลยตัดสินใจไม่ตรวจดีกว่า อาจเป็นเพราะสภาพจิตใจย่ำแย่ แต่มันก็ไม่เกี่ยวหรอก มันขึ้นอยู่กับว่าเค้าเข้าสู่กระบวนการรักษาหรือเปล่า เค้าอาจจะไม่ได้เข้า ไม่ทานยาก็เลยตาย

หรือตามต่างจังหวัดสมัยก่อน ก็มีความเชื่อที่ไปกินยาต้ม ยาหม้อ ปัจจุบันก็อาจจะมีคนที่กินยาที่โฆษณาว่าครอบจักรวาล รักษาโรคนี้ได้ คนหนึ่งเคยมาปรึกษาว่ามีคนรู้จักทานยาต้านมานานมาก สุขภาพดีมาก แต่กลับทานยาที่ไม่ได้รับการรับรองทางการแพทย์ใดๆ พอกินแล้วไวรัสก็กลับมา ค่าตับสูงขึ้น เข้าโรงพยาบาล สุดท้ายสารภาพว่ากินยาที่เป็นอาหารเสริมพวกนี้ ที่โฆษณาว่ารักษา HIV ได้

บางคนก็เลิกกินยาต้านแล้วมากินพวกนี้เลย ทั้งที่ราคาก็ไม่ได้ถูกกว่า และก็ไม่ใช่ยาด้วย มันเป็นแค่อาหารเสริมธรรมดาๆ เรากินฟ้าทะลายโจรเพื่ออะไรล่ะ เวลาเราเป็นหวัดก็ไม่ได้กินวิตามินซีเพื่อรักษาใช่ไหม นี่เป็นปัญหาว่าเค้าไปดูสื่อแล้วกินตาม ทั้งที่เชื่อหมอมานาน 4-5 ปี แต่ก็มาเชื่อคำโฆษณาของสื่อในเวลาไม่กี่วินาที

เอ็ม: เคยเห็นคนพูดอย่างนี้เหมือนกัน ตอนที่ไปออกบูธที่งาน LGBT เจอเด็กมหาลัยพูดกันว่าไม่ตรวจไม่เป็น ซึ่งการพูดเล่นๆ นั้นก็ทำให้เราคิดว่าเค้าคิดอย่างนั้นจริงๆ นะ

พูดเล่นได้ล่ะ แต่อย่าทำจริงเลย บางทีอาจจะเป็นคนที่ตลกกลบเกลื่อนหรือเปล่า เค้าอาจจะรู้ว่าตัวเองเสี่ยง แล้วก็วนลูปเดิมคือไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา

ชนิดที่สาม : เพราะถูกบังคับ จึงไม่เข้ารับการรักษา

การรับรู้เรื่องผู้ติดเชื้อ HIV หรือ AIDS ในตอนนี้ เป็นบวกหรือลบมากน้อยแค่ไหน

เอ็ม: ถ้ามองเผินๆ เราจะเห็นการนำข้อมูลไปแทรกในสื่อต่างๆ ในซีรีส์ ในละคร อย่างเมื่อก่อนการเอาเรื่องของโรคนี้ไปอยู่ในสื่อหลักก็ค่อนข้างเป็นภาพที่น่ากลัวและลบมาก แต่เมื่อคนเจนใหม่ๆ ที่เข้าใจอย่างถูกต้องในเรื่องของโรคนี้มากขึ้น แล้วเอาไปใส่ในสื่อหลักอีกรูปแบบนึง สำหรับเราเอง มันก็เริ่มมีทิศทางที่ดี และมันก็กำลังเดินหน้าไปในทิศทางที่พัฒนาขึ้น สังคมประเทศเราจะเข้าใจโรคนี้มากขึ้น ไม่ตีตราคนที่อยู่ร่วมกับ HIV เข้าใจเรื่องของเชื้อ HIV อย่างถูกต้อง

เพราะการสอดแทรกเรื่องพวกนี้เข้าไปในสื่อหลัก จะทำให้สังคมอนาคตของเราเป็นอย่างนั้น อย่างที่ TestBKK ทำ Gay OK Bangkok เป้าหมายหลักในการทำซีรีส์เรื่องนี้คือการสอดแทรกชุดข้อมูลสุขภาพ การตรวจเลือดเป็นประจำ การมีเพศสัมพันธ์แบบป้องกัน การทานยา เพราะเรารู้สึกว่ากลุ่มเป้าหมายของเราไม่ได้ต้องการให้มาบอกเชิงวิชาการอีกแล้ว มันเป็นการทำงานร่วมกันของหลายๆ สื่อในประเด็นทางสุขภาพ

มันมีทิศทางที่ดี แค่ต้องมีชุดความรู้และคนทำงานที่เข้าใจเรื่องนี้อย่างถูกต้อง แล้วมันจะไปเร็วมาก

GAY OK BANGKOK 2

GAY OK BANGKOK 2 PrEP

ความเข้าใจในยุคก่อนยังส่งผลกระทบถึงตอนนี้ไหม

เอ: เมื่อก่อนการพูดว่าจะชวนคนไปตรวจหาเชื้อ HIV เพื่อเช็คว่ามีเชื้อไหมเป็นเรื่องยากมาก คนจะมีทัศนคติในเชิงที่ว่าไม่ไปตรวจดีกว่า กลัวจะตรวจแล้วรู้ว่าติดเชื้อ แล้วเมื่อรู้แล้วก็ต้องตาย ไม่ไปตรวจดีกว่า ไม่ตรวจก็ไม่เป็น ซึ่งเป็นความเชื่อในยุคนั้นอยู่ บางคนก็ดูแค่ภายนอก ก็รู้สึกว่าถ้าไม่มีตุ่ม น้ำหนักไม่ลด ตัวไม่ดำ ไม่ได้เป็นอะไรก็ไม่จำเป็นต้องไปตรวจ แต่พอมาตอนนี้ คนเริ่มเข้าใจว่าคนที่เป็น HIV ไม่ได้จำเป็นต้องตายอย่างที่ในสื่อเคยเสนอ หรือที่เค้าเคยคิด เค้าเลยกล้าจะเข้ามาตรวจเยอะขึ้นเมื่อมีสื่อต่างๆ เริ่มให้ความเข้าใจ สื่อเลยมีผลทางความคิดเยอะมาก  ภาพของคนที่มีความคิดในแง่ลบ คนที่ยังไม่กล้าเดินออกมาก็กล้ามากขึ้น

แต่ขณะเดียวกันก็มีแง่ลบในส่วนของสังคมด้วยเหมือนกัน เพราะคนอยากตรวจเยอะ แต่ปัญหาคือถ้าออกมาตรวจแล้ว เรามีอะไรรองรับเค้าได้บ้าง

เราอาจจะมียาต้านให้กิน ซึ่งในเมืองไทยก็ล้ำหน้ามากเลยเพราะมีให้ทานฟรี อยู่ในระบบประกันสุขภาพ แต่ในบางประเด็นในเรื่องของการทำงาน ถึงจะมีกฎหมายรองรับว่าห้ามตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน หรือบางบริษัทที่มีการตรวจสุขภาพประจำปี มีคนเยอะมากที่เข้ามาถามเราว่า “บริษัทของผมจะตรวจสุขภาพ เขาจะตรวจ HIV ไหม” “ผมจะไปสมัครงาน เค้าจะตรวจหรือเปล่า” ปัจจัยเหล่านี้มันทำให้เกิดความกลัวที่จะไปตรวจ ซึ่งมีหลายบริษัทเลยที่ทำอย่างนั้น ก่อนจะรับเข้าทำงาน

มันเป็นความเชื่อผิดๆ ที่ว่า การรับคนเข้าทำงานจะต้องไม่เป็น HIVแล้วมีนโยบายว่าเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่กระจายติดต่อของเชื้อ หมายความว่าอะไร พนักงานของคุณจะไปมีเพศสัมพันธ์กันในที่ทำงานเหรอ?

คุณเปิดบริษัทอะไรล่ะ บริษัทมีเพศสัมพันธ์หรือเปล่า มันไม่ใช่ กฎหมายก็มีอยู่ว่าไม่ให้ตรวจเลือดก่อนเข้าทำงาน แต่เค้าก็ยังละเมิด ใช้ช่องว่างหลีกเลี่ยง เช่นให้ทำงานก่อน เซ็นสัญญาเรียบร้อย แล้วให้ไปตรวจเลือดทีหลัง หรือเป็นช่วงผ่านโปรฯ ที่ต้องยินยอมให้ตรวจ บางคนถึงกับต้องยอมออกจากงานเมื่อรู้ว่าจะตรวจ ทำให้เค้าต้องทิ้งงานที่ถนัดและมีความสามารถในงานไปเลย

นี่เป็นเชิงลบ แทนที่จะทำให้คนกล้าในการมาดูแลตัวเอง มาตรวจเลือด แต่กลายเป็นว่าสังคมก็ยังไม่ได้ยอมรับจริงๆ ถึงสื่อหรือรัฐบาลจะออกมาบอกว่าไม่ควรตีตรา แต่งานราชการบางอย่างก็ยังมีการตรวจเลือดอยู่ก่อนที่จะเข้ารับทำงาน

ส่งผลกับการทำงานของเราไหม

เอ็ม: มันอาจไม่ใช่ปัจจัยโดยตรงที่ทำให้การทำงานยากขึ้น แต่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้กลุ่มเป้าหมายของเราไม่เข้าถึงการตรวจ มันมีจริงๆ คนที่อยากทำงานที่ฝัน แต่งานนั้นต้องตรวจเลือดก่อน เค้าก็จะไม่ไปตรวจ แต่ถ้าเค้าเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงล่ะ กลับกลายเป็นว่าเรามีกลุ่มคนที่มีความเสี่ยงแต่เข้าไม่ถึงเพิ่มมากขึ้น และเค้าก็ไม่คิดจะเข้ามาถึงกระบวนการรักษาเลย เพราะสิ่งที่เค้าอยากเป็นมันขัดแย้งกับการดูแลตัวเอง นี่เป็นเรื่องจริงที่ไม่ใช่แค่เรื่องทัศนคติ แต่เป็นปัจจัยภายนอกที่มีผลกับคนๆ นั้น

เคยได้ฟังบางคนเล่า เค้าบอกว่าไม่อยากตรวจไม่ใช่เพราะไม่อยากดูแลตัวเอง แต่เพราะต้องไปทำงานที่ไหนซักที่ และเหตุผลที่ไม่ตรวจแต่แรกก็เพราะตรงนี้ เราเลยคิดว่าถ้ามีหนึ่ง มันก็ต้องมีอีกหลายคนที่เป็นอย่างนี้เหมือนกัน นี่เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตัวเลขการเข้าถึงการตรวจเลือดยังไม่มากพอในประเทศไทย

ระบบการทำงานของไทยจะมีการวัดผลว่าเข้าถึงกี่คน เข้าถึงแล้วไปตรวจกี่คน ตรวจแล้วรู้ผลกี่คน  รู้ผลเป็นบวกหรือลบ ถ้าลบก็รักษาตัวเองปกติตามเดิม แต่ถ้าเป็นเป็นบวกก็เข้าถึงระบบการรักษา ทานยาต้านและอยู่ในระบบการรักษาเรื่อยๆ ซึ่งปัจจุบัน กลยุทธ์การทำงานจะเข้าถึงคนที่เป็นบวกมากกว่าคนที่เป็นลบ เพราะถ้าเราเข้าถึงคนที่ผลเลือดเป็นบวกได้ เราจะหาวิธีจบการแพร่กระจายของเชื้อ การเกิดของผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เร็วขึ้น

การทำงานกับผู้ติดเชื้อมีความท้าทายมาก เพราะต้องทำงานกับทัศนคติเค้า โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่างๆ ในขณะที่คนที่ผลเป็นลบก็จะดูแลตัวเองดีอยู่แล้ว แต่ถ้าผลเป็นบวก เค้าต้องเปลี่ยนแปลงหลายอย่างในชีวิตมากๆ

เอ: ในเรื่องขององค์กร การงานที่ส่งผลกับการตรวจเลือดของคนที่เสี่ยง คนที่ติดเชื้อก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เพราะถ้าเค้าต้องเบิกค่ารักษาพยาบาล หรือถ้าเป็นรัฐวิสาหกิจก็ต้องเบิกตรงกับองค์กรตัวเอง แล้วเอาใบเสร็จไปเบิก สุดท้ายกลายเป็นว่าเรื่องที่ควรเป็นความลับกลับไม่ลับอีกต่อไป ซึ่งทำให้เค้าไม่อยากเข้าสู่กระบวนการรักษาไปอีก นี่เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมกลุ่มคนที่ไปตรวจแล้วเป็นบวก ไม่ยอมเข้าสู่กระบวนการรักษา

ชนิดที่สี่ : ระบบสาธารณสุขไม่เป็นใจ

หมายความว่าเขายอมไม่รักษาแม้จะรู้ว่ามีเชื้อเหรอ

เอ: ใช่ เพราะการเข้าสู่กระบวนการรับยา คุณต้องมีชื่ออยู่ในระบบของผู้ติดเชื้อ HIV และเรื่องของประกันสุขภาพต่างๆ บางทีบริษัทประกันบางแห่งก็ไปสืบประวัติจากโรงพยาบาล และโรงพยาบาลก็ไม่รักษาความลับคนไข้ คนกลุ่มนี้เลยกลัวที่จะเข้ารับการรักษา

บางคนที่มีกำลังเงินพอจะซื้อยากินเองก็จะไปซื้อจากโรงพยาบาลเอกชนที่ไม่ต้องเข้าระบบ ถ้าเป็นต่างจังหวัด บางคนต้องรักษาโรงพยาบาลจังหวัด แต่ก็ไปเจอคนรู้จักในโรงพยาบาลเยอะมากจนไม่กล้ารักษาที่นั่น บางคนต้องมารับยาถึงกรุงเทพฯ ก็มี หรือในกรุงเทพฯ เองก็ต้องไปรับยาในเขตที่ไกลจากบ้าน หรือบางคนแม่เป็นพยาบาลก็ไม่กล้าไปรับ ทั้งที่มีสิทธิ์ของราชการ

ปกติแล้วระบบการเข้าสู่กระบวนการรักษาต้องเปิดเผยชื่อด้วยหรือเปล่า

เอ: มันไม่ได้เปิดเผยออกไป แต่มันเป็นความกลัว สมมติเดินเข้าไปในโรงพยาบาลแล้วบังเอิญรู้จักคนในนั้นซักคนสองคน ถ้าเค้ารู้ว่าเราเดินไปจุดบริการตรงนี้ ไปคลินิกนี้ต้องมาทำอะไร นั่นเป็นสิ่งที่เค้ากลัว แต่ถ้าเป็นเรื่องของระบบประกัน ก็มีเหมือนกันที่ถูกยกเลิกเพราะเป็นผู้ติดเชื้อ

เหมือนว่าการเป็นผู้ติดเชื้อจะไม่เป็นความลับอย่างที่ควรเป็น

เอ: มันอาจจะไม่เป็นความลับอยู่แล้วล่ะ แต่จะทำยังไงให้เค้ารู้สึกว่าสถานบริการเหล่านี้เป็นมิตร เราเองก็ทำงานเพื่อผลักดันคลินิกที่เป็นมิตรให้เกิดขึ้น จะทำยังไงให้คนเดินเข้าไปแล้วไม่รู้สึกถูกกีดกัน รู้สึกถูกเลือกปฏิบัติ จะทำยังไงให้เค้ารู้สึกปลอดภัย หรือถ้าออกมาข้างนอกแล้วบังเอิญเจอกัน ก็ไม่ได้ทำให้เค้ารู้สึกกลัวว่าจะถูกเปิดเผย เอาไปพูดกับคนอื่น ระบบในโรงพยาบาลบ้านเราควรทำยังไงให้ไปถึงจุดนั้น ปลอดภัย เป็นมิตร

ไม่ไปตีตราเขาว่าเธอเป็นกะเทย คนนี้เป็นเกย์ คือบางที่เห็นภายนอกก็ตัดสินเลยว่าเป็นเกย์ เป็นฝ่ายรับนะเพราะดูตุ้งติ้ง เราไม่ควรไปตัดสินเค้าก่อน ไม่ใช่คิดว่าเพราะเธอเป็นเกย์ เธอมั่วแน่เลยหลังจากเห็นผลตรวจ เค้าอาจจะไปทำอย่างอื่นมา อาจจะถูกข่มขืนมา ติดจากวิธีอื่นๆ มาก็ได้จริงไหม

เอ็ม: จากที่เล่ามาก็ดูหดหู่ไป (หัวเราะ) จะบอกว่าเรื่องของคลินิกที่เป็นมิตรกับกลุ่มชายรักชายเอง เรื่องนี้ภาครัฐก็เห็นความสำคัญนะครับ อย่าง กทม. เองก็มีการกระจายไปเรื่อยๆ มีคลินิกเพื่อชายรักชายโดยเฉพาะ ที่ให้บริการอย่างเข้าใจ นี่เป็นโปรเจ็กต์ในอนาคตที่ TestBKK กำลังติดต่อประสานงานเพื่อนำข้อมูลมาประชาสัมพันธ์

มันสำคัญนะ เพราะบางคลินิกเราเองก็ไม่รู้ว่ามี แล้วมันใกล้บ้านมาก เคยโทรไปเจ้าหน้าที่ก็ไนซ์มาก มันก็น่าจะเปลี่ยนแปลงทัศนคติของการเข้ารับการตรวจเลือดในสถานพยาบาลของรัฐได้

เราว่ารัฐเค้าก็เข้าใจความละเอียดอ่อนของกลุ่มเป้าหมายเหมือนกัน ถึงคนกลุ่มนี้จะดูแก่นแก้วไปหน่อยก็ตาม (หัวเราะ)

มันยากมากเลย กับหนึ่งครั้งที่ตัดสินใจว่าจะก้าวไปในคลินิกเพื่อตรวจเลือด ไม่ใช่แค่ว่าเครียดเรื่องผล แต่ยังต้องเครียดว่าจะเจอใครหรือเปล่า ปัจจัยความกลัวมันรอบตัวไปหมด

ชนิดที่ห้า : วัฒนธรรมอันดีงาม

ปัจจัยอะไรที่สำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนบ้าง

เอ็ม: การให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับ HIV, AIDS และการดูแลตัวเองที่ถูกต้องตั้งแต่เด็ก ให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง ก็เป็นสิ่งที่สำคัญกับการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนในสังคม และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย มันอาจไม่ได้เปลี่ยนในเวลาสอง สาม หรือห้าปี มันอาจจะเป็นสิบหรือยี่สิบปี แต่ถ้าเราเริ่มตั้งแต่เด็ก กลุ่มคนที่จะโตขึ้นมา อัตราการแพร่กระจายของเชื้อก็อาจจะลดลง

ตอนนี้เท่าที่ได้ยินมา ตัวเลขของเยาวชนที่ใช้ถุงยางอนามัยน้อยลง ต่างจากเมื่อก่อนที่เราจะโตมากับยุคของ ‘ยืดอกพกถุง’ แต่เราไม่รู้ว่าตอนนี้เด็กๆ เค้ายังตระหนักถึงการมีเพศสัมพันธ์ด้วยการป้องกันหรือเปล่า ดังนั้นการให้ชุดความรู้ที่ถูกต้องก็เป็นสิ่งสำคัญ ทั้งภาครัฐให้กับองค์กรชุมชน โรงเรียนให้กับทางนักเรียนเองก็ด้วย มันเป็นการทำงานโดยภาพรวมทั้งหมด

เราเป็นกลุ่มที่ทำงานกับกลุ่มชายรักชาย มันก็ทำกันเท่านี้ แต่เวลาที่ออกไปทำงานจริงๆ กลุ่มเป้าหมายของเราก็ต้องไปเจอกับสังคม มันก็ต้องดูในภาพใหญ่มากขึ้น ซึ่งมันควรเป็นการทำงานทั้งหมดมากกว่า แต่อย่างที่พี่เอบอกว่าประเทศไทยก็ดีขึ้น เพราะเราให้ความสำคัญกับโรคนี้มาก รัฐให้งบประมาณที่จะลงทุนเพื่อลดจำนวนประชาชากรผู้ติดเชื้อ นี่คือเค้าให้ความสำคัญกับโรคนี้ด้วยเหมือนกัน มันก็ยังมีความหวัง แต่ก็อาจจะต้องใช้เวลา

มะนาว: อย่างส่วนตัวเราเองเป็นคนรุ่นใหม่ เราได้รับสาร เข้าถึงข้อมูล สื่อต่างๆ แต่สังคมเองก็ไม่ได้มีแค่คนรุ่นใหม่ สิ่งที่เหลืออยู่ก็คือคนและทัศนคติของเค้าว่าเค้าเข้าถึงข้อมูลได้มากแค่ไหน ไม่ว่าจะด้วยเค้าเองที่ไม่อยากรับรู้ หรือสื่อเองที่อาจแพร่หลายไม่พอหรือเปล่า

เอ: ในระบบของบ้านเรามีทั้งเรื่องวัฒนธรรมและกฎหมาย มีกฎหมายที่บอกว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ต้องได้รับการรับรองจากผู้ปกครองก่อนตรวจ จากที่แต่ก่อนกำหนดไว้ที่ 18 ปี เพราะเป็นเรื่องของการที่เขาไม่สามารถตัดสินใจได้เอง เพราะการตรวจเลือด ถ้าผลออกมาเป็นบวก เค้าอาจจะไม่สามารถรับมือกับผลได้ อาจมีความเสี่ยงเกิดขึ้นว่าอาจจะไปฆ่าตัวตาย นั่นเป็นเรื่องของกฎหมายที่คาบเกี่ยว

และเป็นเรื่องของวัฒนธรรมด้วยว่าบางที เราจะเอาข้อมูล เอาถุงยางไปให้เด็ก มันอาจจะดูไม่งาม ดูไม่ดี ไม่ควรจะยื่นถุงยางให้เด็ก พ่อแม่อาจจะมาตีมือ แม้แต่ยื่นให้ผู้หญิง ผู้หญิงก็ตกใจยิ่งกว่าเจองูอีก อย่างของเราที่ทำแพ็คเกจที่ดูไม่รู้ว่าเป็นถุงยาง เค้าก็จับดูแล้วบอกว่าสวยดี แต่พอรู้ว่าเป็นถุงยางก็ปล่อยเลย นึกว่าไฟดูด นี่เป็นทัศนคติและมุมมองว่าถุงยางอนามัยยังเป็นสิ่งที่น่ากลัวและเป็นสิ่งน่าขยะแขยง

เอ็ม: หน้าตาเค้าไปจริงๆ นะ พอรู้ว่าเป็นถุงยางอนามัยก็บอกว่าอ้าวเหรอ ไม่เป็นไร ไม่ได้ใช้คงไม่เป็นไรมั้ง การทำงานของเราเลยท้าทายเหมือนกัน เพราะมันยังมีความเหลื่อมล้ำในด้านทัศนคติอยู่เหมือนกัน

Free PrEP Counselling TESTBKK MOBILE CLINIC

การมีอยู่ของชุดความคิดอย่างนี้ เกี่ยวกันไหมกับจำนวนผู้ติดเชื้อที่ยังมีอยู่

เอ: มันต้องทำงานกันเยอะ ต้องบอกว่าวัฒนธรรม จารีตประเพณี มันทำงานกันสี่ ห้า สิบปียังถือว่าน้อยไป กว่าเมืองไทยจะยอมรับที่ผู้หญิงใส่สายเดี่ยวได้มันใช้เวลากี่ปีล่ะ เพราะมันสืบต่อกันมายาวนานไง ลบล้างกันลำบาก มันต้องค่อยๆ ทำงานกันไป อยู่ดีๆ จะมาเปลี่ยนแปลงก็ยาก

อาจมีบางกลุ่มอยู่แหละที่ใช้เหมือนกันแต่ก็ปิดกั้นอยู่ แม้แต่คนที่เป็นคนในครอบครัวที่มีผู้ติดเชื้อแล้วรับไม่ได้ก็ยังมีอยู่เหมือนกัน อย่างที่เห็นข่าวที่เป็นชุมชนและมูลนิธิที่ชลบุรีก็ถูกประท้วงขับไล่

มันเป็นสิ่งที่น่าหดหู่ของสังคมบ้านเราเหมือนกัน กับการที่เราพยายามบอกว่าบ้านเมืองเรามีความรัก แต่สิ่งเหล่านี้ทำไมคุณถึงอยู่ด้วยกันไม่ได้ ทั้งที่เค้าก็ทำงานช่วยเหลือคนเหมือนกัน เป็นแกนนำทำงานเพื่อสังคม มีแรงทำประโยชน์กับสังคมได้อยู่

วัดพระบาทน้ำพุที่เป็นห้องสมุดชีวิต มันอาจจะทำให้เราเห็นแล้วหดหู่ว่าทำไมผู้ป่วยโรคเอดส์ถึงดูแย่ขนาดนี้ บางคนเป็นผู้หญิงขายบริการแล้วเสียชีวิต บางคนพ่อแม่เสียชีวิตจาก HIV ติดต่อมาถึงลูก มันทำให้เราเห็นแล้วรู้สึกว่าเฮ้ย ชีวิตมันน่ากลัวขนาดนั้นเลยเหรอ แต่ปัจจุบันภาพลักษณ์แบบนั้นก็ค่อนข้างหายไปแล้วล่ะ เพราะไม่ได้มีแบบนั้นแล้ว

สื่อควรจะสื่อในลักษณะว่าเป็นเอดส์แล้วรักษาได้ เป็นบวกหรือลบก็ยังคบกันได้

 

ชนิดที่หก : เพราะฉันติดเชื้อ ฉันจึงตีตราตัวเอง

 

ในตอนนี้ ความก้าวหน้าทางการแพทย์ในเรื่อง HIV / AIDS ก้าวไปไกลถึงขั้นไหน

มะนาว: นอกจากยา PrEP เมื่อปีก่อนก็มีรายงานที่ว่า Undetectable = Untransmittable หรือ ไม่พบ = ไม่แพร่ หมายถึงว่าถ้าคนที่มีผลเลือดบวกเข้ารับการรักษาเป็นระยะเวลาหนึ่ง อย่างต่ำ 6 เดือน เมื่อจำนวนเชื้อลดลงในระดับหนึ่งก็จะไม่สามารถแพร่เชื้อสู่คนอื่นได้แล้ว

นั่นหมายความว่าคุณสามารถมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนที่เป็นคู่ประจำโดยไม่สวมถุงยางก็ได้ ถ้าอีกฝ่ายยินยอม มันจะอยู่ในขั้นที่เชื้อไม่สามารถแพร่ได้แล้ว เพราะค่า Virus Load ต่ำมาก

เอ: อย่าง CD4 ที่เป็นค่าบอกจำนวนภูมิคุ้มกัน อันนั้นยิ่งสูงจะยิ่งดี แต่ค่า Virus Load หรือค่าจำนวนเชื้อเอชไอวีที่อยู่ในกระแสเลือด ถ้ายิ่งต่ำก็ยิ่งดี จนทางการแพทย์บอกว่า ‘ตรวจไม่พบเชื้อ’ ซึ่งไม่ได้หมายความว่าไม่มีในร่างกายแล้ว มันอาจจะไปอยู่ตามไขสันหลัง ไขข้อ เพราะถูกยาต้านไปควบคุมอยู่ และต่ำลงจนเมื่อไปมีเพศสัมพันธ์กับอีกคนก็ไม่สามารถแพร่เชื้อได้

มะนาว: นี่ก็เป็นผลที่ยืนยันมาและกำลังเริ่มโปรโมทกัน และเป็นงานของ TestBKK ด้วยที่ต้องเผยแพร่ความรู้นี้ออกไป และก่อนที่จะไปถึงขั้น U=U จริงๆ ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการตรวจเลือด ถ้าไม่ได้ตรวจก็ไม่สามารถเข้าไปสู่กระบวนการรับยา ทำให้มันเกิดปลายทางนั้นได้ สิ่งที่เราเห็นความสำคัญและกระตุ้นกันจริงๆ ก็น่าจะเป็นการตรวจเลือดนี่ล่ะ มันเป็นจุดเริ่มต้นของการดูแลสุขภาพ

จะช่วยอะไรกับการใช้ชีวิตของผู้ติดเชื้อได้บ้าง

เอ: แต่เดิมคนที่ติดเชื้อ HIV จะตีตราตัวเองว่าเขาติดเชื้อ ไม่สามารถมีคนรักได้ ยังคิดว่าไม่กล้ามีแฟน กลัวว่าจะไปทำบาปกับคนที่ไม่เป็น กลัวว่าอีกฝ่ายจะรับไม่ได้ กลายเป็นตราบาปติดตัวว่าจะไปแพร่เชื้อให้กับคนอื่น ไม่ใช่แค่ชายรักชาย หญิงชายทั่วไปก็ด้วย

ผู้หญิงหลายคนไม่กล้ามีสามีใหม่เพราะตัวเองติดเชื้อ กลัวว่าสามีจะติดเชื้อ กลัวว่าจะมีลูกไม่ได้ มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเค้าไม่ได้รับข้อมูล หรืออาจจะได้ยินว่ามีลูกได้นะ แต่ก็ยังเกิดความรู้สึกตีตราตัวเองอยู่ อันนี้เป็นสิ่งที่ทำให้การทำงานของเราค่อนข้างยากขึ้น แต่การกินยาต้านประจำ ผลเลือดบ่งบอกว่าจำนวนไวรัสต่ำจนตรวจหาไม่เจอ หรือแม้ว่าไม่ได้กินยาต้านแต่ใส่ถุงยางก็ตาม มันก็สามารถมีแฟนได้ มีเพศสัมพันธ์ได้ ใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนกัน

เราอยากให้คนกลุ่มนี้ที่ยังกลัว หรือคนที่มีผลเลือดบวก รู้ว่าเค้ายังใช้ชีวิตได้เหมือนเดิม มีแฟนได้ ทำงานได้ มีเพศสัมพันธ์ได้

ขอเพียงแค่เปลี่ยนความคิดเท่านั้นเอง

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save