fbpx
Tesla และรถยนต์ไฟฟ้าสะอาดและยั่งยืนจริงหรือ?

Tesla และรถยนต์ไฟฟ้าสะอาดและยั่งยืนจริงหรือ?


ปัจจุบันประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเป็นหนึ่งในเทรนด์ใหญ่ของโลกที่ทำให้การลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investment) เป็นการลงทุนที่กำลังมาแรง และดัชนี ESG ที่พิจารณาปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance) กลายเป็นตัวชี้วัดที่หลายคนเริ่มคุ้นเคย

สิ่งที่อยู่ในความสนใจของนักลงทุนในช่วงที่ผ่านมา คือการลงทุนในบริษัทที่โดดเด่นด้าน ESG ไม่ได้เป็นแค่การช่วยเหลือสังคมหรือการทำธุรกิจอย่างรับผิดชอบเท่านั้น แต่ยังมีมิติของการเก็งกำไรอย่างมหาศาลด้วย โดยเฉพาะในปี 2020 ที่ราคาหุ้นของหลายบริษัทโตอย่างน่าตกใจ

หนึ่งในบริษัทที่โดดเด่นอย่างยิ่งคือ บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ของอีลอน มัสก์ ที่ราคาหุ้นเติบโตเพิ่มขึ้นจากต้นปี 2020 เกือบ 800% จนทำให้เป็นบริษัทรถยนต์ที่มีมูลค่าตลาด (Market Cap) สูงที่สุดของโลก และยังเป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในสหรัฐฯ

นอกเหนือจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่เติบโตแบบก้าวกระโดด เช่น มูลค่าของ BYD ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีน ที่โตขึ้นถึง 550% จาก 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 1.1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายใน 1 ปี

ส่วน CATL ผู้ผลิตแบตเตอรี่ในจีน (ปัจจุบันผลิตให้กับ Tesla) ก็โตขึ้น 440% จาก 3.4 หมื่นล้าน เป็น 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเวลาเดียวกัน และ Enphase Energy ผู้ผลิตไมโครอินเวอร์เตอร์ที่ใช้ในระบบโซลาร์ในสหรัฐฯ โตขึ้น 830% จาก 3 พันล้าน เป็น 2.5 หมื่นล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

ตัวเลขนี้อาจไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เมื่อพิจารณาว่า ความ ‘สะอาด’ ของธุรกิจ (ซึ่งในมิตินี้คือความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม) สอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคตของโลก จนทำให้หลายคนคาดว่า ธุรกิจเหล่านี้คืออนาคตและจะยิ่งเติบโตอย่างก้าวกระโดดมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเติบโตอย่างก้าวกระโดดในครั้งนี้ก็ทำให้เกิดคำถามและการตรวจสอบบริษัทดังกล่าวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คำถามที่ว่าบริษัทเหล่านี้ ‘สะอาด’ จริงหรือไม่? หรือห่วงโซ่อุปทานเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากเท่าใด?

บทความนี้ตั้งใจจะให้ข้อมูลเบื้องต้นแก่ผู้อ่านเกี่ยวกับมิติของพลังงานสะอาด ที่อาจจะไม่สวยหรูเหมือนภาพปรากฏในสื่อ และเสนอความสำคัญของรายละเอียดต่างๆ ที่อาจจะไม่ค่อยได้รับการพูดถึงสักเท่าไร


Case Study: รถยนต์ไฟฟ้าของ Tesla


เดือนกันยายน 2020 อีลอน มัสก์ ประกาศในทวิตเตอร์ว่า Tesla จะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 20 ล้านคันต่อปี ภายในปี 2030 (จากปี 2020 ที่ผลิตได้ 5 แสนคัน) แม้จะเป็นข่าวที่น่าตื่นเต้น แต่คำประกาศนี้ทำให้เกิดข้อสงสัยหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องของส่วนประกอบต่างๆ ของแบตเตอรี่ เช่น ลิเธียม โคบอลต์ และ นิกเกิล เพราะถ้า Tesla สามารถผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 20 ล้านคันได้จริง จะต้องใช้เหล็กและแร่เหล่านี้มากขึ้นอย่างมหาศาลและอาจจะเกินมาตรฐานการผลิตที่ยั่งยืน (Sustainable Production)

Adamas Intelligence และ Mining.com ที่ติดตามเรื่องแบตเตอรี่ไฟฟ้า ได้สร้างแบบจำลองเปรียบเทียบปริมาณการผลิตเหล็กแต่ละประเภทเหล็กในกรณีที่ Tesla ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้ตามเป้าใน 2030 โดยใช้ข้อมูลปี 2019 เป็นฐาน (ตัวเลขปี 2020 จะเป็นตัวเลขที่ต่ำเกินจริงไปกว่า 20% เนื่องจากโควิด-19) และพบว่า Tesla จะต้องการใช้ลิเธียมมากขึ้นจากเดิมถึง 165% ของปริมาณการผลิตทั้งหมดในปี 2019 (127,302 ตัน จากที่ใช้ 77,000 ตันในปี 2019) และต้องการใช้โคบอลต์มากขึ้น 56% (68,315 ตัน จากที่ผลิตได้ 122,000 ตันในปี 2019)

Tesla ดูจะตระหนักถึงปัญหานี้อยู่ไม่น้อย ในงาน “Battery Day” ที่จัดโดย Tesla เอง Tesla อีลอน มัสก์ จึงชิงเสนอวิธีการแก้ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับส่วนประกอบเหล่านี้ โดยยกประสิทธิภาพของการเจาะขุดลิเธียมด้วยการเพิ่มเกลือ หรือการเข้าไปซื้อบริษัท Glencore ที่เป็นผู้ผลิตโคบอลต์ที่ใหญ่ที่สุด และเน้นย้ำถึงมาตรฐานการดูแลคนงานในเหมืองของสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกที่สูง

อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหนึ่งส่วนประกอบสำคัญที่ Tesla ยังหาคำตอบไม่ได้คือนิกเกิล ในปี 2030 คาดการณ์ว่าบริษัทจะต้องใช้ปริมาณนิกเกิลเพิ่มขึ้นถึง 31% ของปริมาณนิกเกิลทั้งหมดที่ผลิตในปี 2019 หรือเทียบเท่ากับปริมาณการผลิตทั้งหมดของ 6 ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดของโลกรวมกัน ซึ่งก็ต้องแย่งซื้อกับอุตสาหกรรมอื่นๆ เช่น สแตนเลส

นิกเกิลมีความสำคัญจนถึงขนาดที่ Tesla มีแผนจะไปเปิดโรงงานแบตเตอรี่ที่ประเทศอินโดนีเซียในฐานะผู้ผลิตนิกเกิลอันดับ 1 ของโลก แต่อุตสาหกรรมนิกเกิลที่อินโดนีเซียนั้นก็มีแรงต่อต้านมาก ซึ่งปัญหาหลักคือวิธีการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิต วันนี้ผู้ผลิตนิกเกิลของอินโดนีเซียเลือกวิธี Deep-sea tailings placement (DSTP) หรือการปล่อยของเสียลงทะเลลึกไกลจากชายฝั่งผ่านท่อของเสีย DSTP กระบวนการผลิตนิกเกิลนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลอย่างรุนแรง และเคยมีกรณีศึกษาเรื่องการรั่วไหลหลายรอบ เช่น ที่ Basamuk Bay ในปาปัวนิวกินีเมื่อปีก่อน ที่เกิดการรั่วไหลของของเสียจากโรงงานนิกเกิลจนทำให้ทะเลเปลี่ยนเป็นสีแดงเลยทีเดียว

อีกแนวทางหนึ่งของ Tesla คือเปลี่ยนไปใช้แบตเตอรี่ประเภทใหม่ที่ไม่มีส่วนประกอบของนิกเกิล (ที่ผ่านมา Tesla ใช้ NCA หรือ Nickel-Cobalt-Aluminium) วันนี้ Tesla ได้มีการเริ่มประเภท LFP (Lithium Iron Phosphate) สำหรับรุ่นที่ผลิตออกจากจีน แม้เป็นที่ได้รับความสนใจ แต่ก็มีข้อกังวลไม่น้อย เช่น LFP ใช้เวลานานกว่าในการชาร์จ แต่วิ่งได้ระยะทางสั้นกว่า และมีปัญหาเมื่อพบอากาศเย็น


ความท้าทายของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน (โซลาร์และลม)


ความท้าทายของ Tesla เรื่องห่วงโซ่อุปทานเป็นปัญหาที่อุตสาหกรรมพลังงานสะอาดต้องเผชิญร่วมกัน

เทรนด์สำคัญของพลังงานสะอาดทุกวันนี้ หนีไม่พ้นพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์) และพลังงานลม โดยที่ผ่านมาต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าของแหล่งกำเนิดพลังงานทั้งสองประเภทลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะต้นทุนโซลาร์ที่ลดลงไปถึง 82% จากปี 2010 ซึ่งทำให้แข่งขันกับราคาของกริดได้โดยไม่ต้องมีการอุดหนุนจากภาครัฐ หรือที่เรียกว่า Grid Parity

แต่ความท้าทายสำคัญของการผลิตไฟฟ้าทั้งสองประเภทคือ การบริหารห่วงโซ่อุปทานที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ แผงโซลาร์จะต้องมีซิลิโคนเป็นส่วนประกอบหลัก ซึ่งขั้นตอนการผลิตจำเป็นต้องมีการเผาไหม้เกิน 2,000 องศาเซลเซียส โดยต้องพึ่งพลังงานฟอสซิล แถมยังต้องทำปฎิกิริยากับคาร์บอนผ่านการใช้ถ่านหิน และมากไปกว่านั้น คือแผงโซลาร์ยังต้องใช้พลาสติกมาหุ้มตัวซิลิโคน ซึ่งแน่นอนว่าพลาสติกเป็นผลิตภัณฑ์ที่มาจากน้ำมันดิบ

อีกปัจจัยสำคัญคือปริมาณที่ดินที่ต้องใช้สำหรับโครงการพาณิชย์ มีการประเมินว่าฟาร์มโซลาร์ที่มีกำลังผลิต 1MW (พอสำหรับการผลิตไฟให้กับบ้านเพียงประมาณ 100 หลัง) จะต้องใช้พื้นที่อย่างน้อย 4 ไร่

ด้านพลังงานลมก็ต้องคำนึงถึงส่วนประกอบของกังหันลมที่ต้องใช้เหล็กและคอนกรีตปริมาณมหาศาล ซึ่งความคืบหน้าในการ decarbonize หรือการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของอุตสาหกรรมหนักนั้นยังล้าหลังอยู่มาก เมื่อเทียบอุตสาหกรรมพลังงานไฟฟ้าหรือขนส่ง

และแน่นอนว่าอีกองค์ประกอบสำคัญของระบบพลังงานหมุนเวียนคือแบตเตอรี่ ซึ่งจะพบปัญหาเดียวกันกับอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าที่ได้พูดถึงก่อนหน้านี้


“อย่าตัดสินหนังสือจากหน้าปก”


ข้อมูลที่มอบให้ทั้งหมดไม่ใช่การตั้งข้อหาว่าพลังงานงานสะอาดและเทคโนโลยีเหล่านี้ไม่ดีหรือไม่ควรทำ ผู้เขียนยืนยันว่าพลังงานสะอาดมีความสำคัญอย่างยิ่งและเป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่หากเป้าหมายของเราคือความยั่งยืนอย่างแท้จริง ก็จำเป็นต้องทำการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน ครบทุกมิติ โดยเฉพาะการบริหารห่วงโซ่อุปทานที่บริษัทมักจะมองข้าม

การมองเห็นแต่ผลิตภัณฑ์สุดท้าย อาจทำให้เราฝากความหวังและเชื่อมั่นในบริษัทพลังงานสะอาดเหล่านี้ (สะท้อนผ่านราคาหุ้น) ว่าจะเป็น ‘ไม้ตาย’ ที่ทำให้เอาชนะอุปสรรคทุกอย่าง และชะล่าใจ จนทำให้เราเพิกเฉยต่อการกดดันให้บริษัทเหล่านี้รีบปรับปรุงให้ ‘สะอาด’ แบบครบวงจร

ที่สำคัญ ราคาหุ้นพลังงานสะอาดที่สูงลิบอาจทำให้เรามองข้ามแนวทางอื่นในการต่อสู้กับปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะมาตรการลดการใช้พลังงาน อย่าลืมว่าพลังงานสะอาดเป็นแค่ช่องทางในการผลิตพลังงานที่เราใช้ทุกๆ วัน (supply-side) แต่การบริหารจัดการความต้องการใช้พลังงาน (demand-side) ก็เป็นอีกมิติสำคัญไม่แพ้กัน ไม่ว่าจะผ่านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ (energy efficiency) หรือการประหยัดพลังงาน (energy conservation)

รถยนต์พลังงานไฟฟ้าอย่าง Tesla เป็นสิ่งที่ดี แต่ก็ดีไม่เท่าการใช้ระบบขนส่งมวลชน ในทำนองเดียวกัน การใช้พลังงานโซลาร์คือทางเลือกที่ดีกว่าน้ำมัน แต่ก็ดีไม่เท่าการออกแบบเมืองและอาคารให้การเปิดแอร์เป็นทางเลือกเดียวที่เราทำได้

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save