fbpx
เมื่อ Tencent ยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่

เมื่อ Tencent ยกเครื่ององค์กรครั้งใหญ่

อาร์ม ตั้งนิรันดร เรื่อง

 

เมื่อสิ้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนอย่าง Tencent ซึ่งเป็นเจ้าของ Wechat และธุรกิจในโลกออนไลน์มากมาย ได้ประกาศปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 6 ปี โดยเน้นไปที่สองเรื่องหลักคือ เทคโนโลยี กับคอนเทนต์ การปรับโครงสร้างองค์กรในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นภาพความกดดันทางธุรกิจ และเทรนด์ใหม่ของธุรกิจออนไลน์ในประเทศจีน

 

ในด้านเทคโนโลยี Tencent สร้างกลุ่มธุรกิจใหม่ชื่อ CSIG (Cloud and Smart Industries Group) โดยหัวใจของกลุ่มธุรกิจนี้ คือ Tencent Cloud และ AI เพื่อให้บริการลูกค้าองค์กรที่อยู่ในภาคธุรกิจค้าปลีกออนไลน์ การศึกษา การรักษาพยาบาล การรักษาความปลอดภัย และเทคโนโลยีบอกตำแหน่ง (Location Based Service: LBS)

Tony Ma ผู้บริหารเบอร์ 1 ของ Tencent อธิบายว่า กลุ่มธุรกิจใหม่นี้ตั้งขึ้นมาเพื่อรับเทรนด์ลูกค้าองค์กร เพราะตอนนี้จีนกำลังเปลี่ยนผ่านจาก ‘ยุคอินเทอร์เน็ตของบุคคล’ ที่เชื่อมต่อคนกับคนมาเป็น ‘ยุคอินเทอร์เน็ตของอุตสาหกรรม’ ที่เชื่อมธุรกิจเข้ากับลูกค้า ทำให้ต้องเร่งพัฒนาบริการในโลกออนไลน์อย่าง Cloud และ AI ที่ตอบโจทย์ลูกค้าองค์กรในอุตสาหกรรมยุคใหม่ของจีน

ถ้าอธิบายง่ายๆ Cloud หรือก้อนเมฆออนไลน์ คือการที่เราสามารถเข้าถึงข้อมูลของเราได้จากอินเทอร์เน็ต โดยที่เราไม่ต้องเก็บข้อมูลไว้กับตัวเอง ตอนนี้บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ในจีน ว่าจะเป็น Baidu หรือ Alibaba ต่างก็พยายามพัฒนาเทคโนโลยี Cloud เพื่อให้บริการพื้นที่ในโลกออนไลน์สำหรับเก็บข้อมูลแก่ลูกค้าทั้งลูกค้าองค์กรและบุคคล

ทั้ง Cloud และ AI จึงเป็นเมกาเทรนด์ที่กำลังมาแรง ส่งผลให้บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในจีนต้องเร่งพัฒนาระบบ Cloud และ AI ให้ก้าวหน้าไปพร้อมกัน เพราะเมื่อโลกออนไลน์ยุคใหม่ของจีนมีการเก็บข้อมูลมหาศาล ก็ต้องจัดเตรียมพื้นที่ในโลกออนไลน์ไว้สำหรับเก็บข้อมูลเหล่านั้น โดยต้องบริการให้ลูกค้าที่มาเช่าพื้นที่เก็บข้อมูลสามารถดึงข้อมูลออกมาใช้ได้จากทุกที่ทุกเวลา นอกจากนั้น ยังจะต้องมี ระบบ AI ที่ชาญฉลาดเพื่อช่วยลูกค้าประมวลผลและใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลเหล่านั้นด้วย

ในครั้งนี้ กลุ่มธุรกิจ Cloud ของ Tencent ได้รับการยกระดับขึ้นมาอย่างชัดเจนภายใต้โครงสร้างใหม่ของบริษัท ถึงแม้ว่าผู้บริหารของ Tencent จะออกมาย้ำเน้นความสำคัญของ Cloud มากว่า 2 ปี แต่ที่ผ่านมา Cloud เป็นเพียงหน่วยธุรกิจเล็กๆ หน่วยหนึ่งในองค์กรเท่านั้น ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งอย่าง Alibaba แล้ว ธุรกิจ Cloud นับเป็นหน่วยธุรกิจที่สำคัญมากของ Alibaba และขณะนี้ Alibaba ได้ก้าวขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งในตลาด Cloud ของประเทศจีนเรียบร้อยแล้ว โดยครองส่วนแบ่งตลาดเกือบครึ่งหนึ่ง จน Tencent ดูเหมือนจะตกขบวนเมกาเทรนด์ที่สำคัญนี้

ในการปรับองค์กรรอบนี้ Tencent ยังประกาศจะจัดตั้งคณะกรรมการเทคโนโลยีของเครือบริษัท เพื่อมาดูแลและขับเคลื่อนเทคโนโลยีของเครือทั้งหมดอย่างเป็นองค์รวม มุ่งหวังให้มีการนำเทคโนโลยีที่มีอยู่ไปประยุกต์ใช้พัฒนาผลิตภัณฑ์และสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะก่อนหน้านี้เคยมีการวิจารณ์ว่า การบริหารจัดการเทคโนโลยีภายใน Tencent เป็นไปแบบกระจัดกระจายและแยกส่วน ขาดการประสานงานระหว่างหน่วยธุรกิจภายในต่างๆ ทำให้มีการทำงานและพัฒนาเทคโนโลยีซ้ำซ้อน ทั้งการเก็บและใช้ประโยชน์จากข้อมูลมหาศาลของเครือ ที่ผ่านมาก็ต่างฝ่ายต่างเก็บ ต่างฝ่ายต่างใช้ ขาดการบูรณาการ

ปัญหาในอดีตของ Tencent ก็คือไม่เคยมีการตั้ง CTO (Chief Technology Officer) ที่คุมภาพรวมเทคโนโลยีทั้งหมดของเครือ หลายคนวิเคราะห์ว่าเป็นเพราะไม่สามารถหาคนที่มีบารมีมากพอที่จะได้รับการยอมรับจากทุกหน่วยได้ ขณะนี้ก็ยังไม่มีการประกาศว่าใครจะมารับตำแหน่งประธานกรรมการด้านเทคโนโลยีภายหลังการจัดโครงสร้างองค์กรแบบใหม่ แน่นอนว่าตำแหน่งนี้ ต้องการคนที่มีทั้งความสามารถ ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางภายในองค์กร ต้องเปี่ยมด้วยบารมี และที่สำคัญคือ ต้องมีวิสัยทัศน์

ในส่วนของด้านคอนเทนต์ ซึ่งเป็นอีกด้านหนึ่งที่เป็นหัวใจในการปรับองค์กรในครั้งนี้ Tencent ได้จัดตั้งกลุ่มธุรกิจ PCG (Platform and Content Group) ขึ้นมา โดยเป็นการรวมเอาหน่วยที่ทำผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับคอนเทนต์มาบูรณาการเข้าด้วยกัน

ก่อนหน้านี้ Tencent มักประกาศว่า ในทางยุทธศาสตร์ Tencent เน้นทำสองเรื่องหลักเท่านั้นคือ คอนเทนต์และการเชื่อมโยงคนเข้าด้วยกัน แต่ความเป็นจริงที่น่ากังวลก็คือ ในสงครามตลาดคอนเทนต์ยุคใหม่ของจีน ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์มข่าว วิดีโอ เพลง หรือสื่อใหม่ต่างๆ เริ่มมีคู่แข่งน้องใหม่เช่น ByteDance ที่มาแรงแซงโค้ง สามารถผลิตแพลตฟอร์มและคอนเทนต์ได้เป็นที่นิยมกว่าผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของ Tencent

ภายใต้ความกดดันทางธุรกิจ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 เป็นต้นมา ราคาหุ้นของ Tencent ตกลงมาถึงหนึ่งในสามแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา กฎเกณฑ์ใหม่ๆ ของรัฐบาลจีนที่ควบคุมเกมออนไลน์ ยังทำให้รายได้จากธุรกิจเกมออนไลน์ ซึ่งเป็นธุรกิจทำกำไรสูงสุดของ Tencent ได้รับผลกระทบอย่างมาก ทำให้เสียงวิจารณ์ Tencent ว่าขาดยุทธศาสตร์ภาพรวม ตามไม่ทันเมกาเทรนด์ในโลกเทคโนโลยี เอาแต่กินบุญเก่า เริ่มดังขึ้นเรื่อยๆ ส่วนใหญ่ต่างมองตรงกันว่า Tencent ขยับตัวช้าในเรื่องเทคโนโลยีและคอนเทนต์ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ในการปรับองค์กรครั้งใหญ่คราวนี้ หัวใจหลักจึงอยู่ที่สองเรื่องดังกล่าว จนเกิดเป็นสองกลุ่มธุรกิจใหม่

แม้ว่าหลายคนจะตื่นเต้นกับการปรับองค์กรครั้งใหญ่ของ Tencent และมองในเชิงบวกว่าเป็นการประกาศว่า Tencent พร้อมเขย่าและผ่าตัดองค์กรตัวเอง แต่ก็มีนักวิเคราะห์ที่ตั้งข้อสงสัยอยู่เหมือนกัน เพราะถ้าดูประวัติของ Tencent ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา จะเห็นว่า Tencent พัฒนาแบบล่างขึ้นบน (bottom up) มาโดยตลอด ไม่ใช่แบบบนลงล่าง (top down) กล่าวคือ ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จที่สุดของ Tencent อย่างธุรกิจเกม มาจากการคิดค้นและพัฒนาของทีมเล็กๆ ภายในองค์กร ไม่ได้มาจากการวางแผนจากผู้บริหารส่วนกลาง ขณะที่สิ่งที่วางแผนมาจากผู้บริหารส่วนกลางชนิด top down กลับมักไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นจึงมีนักวิจารณ์ในจีนแอบสงสัยว่า ครั้งนี้ Tencent กำลังเดินสวนทางดีเอ็นเอของตัวเองหรือไม่

 

ความท้าทายของ Tencent จึงอยู่ที่จะทำอย่างไรจึงจะสามารถบูรณาการหน่วยต่างๆ แบบองค์รวม เพื่อขับเคลื่อนวิสัยทัศน์ใหม่เรื่อง Cloud และ Content ไม่ให้ถูกคู่แข่งทิ้งห่าง โดยที่ในขณะเดียวกัน ก็ยังคงรักษาดีเอ็นเอของการเปิดให้มีการสร้างสรรค์และบุกเบิกไอเดียใหม่ๆ จากทีมเล็กๆ จากข้างล่างเฉกเช่นในอดีตที่ผ่านมา

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save