วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง
ผู้มีบัญชีโซเชียลมีเดียทุกคนโดยแท้แท้จริงแล้ว มีสถานะไม่ต่างไปจากสัตว์ทดลองในกรงที่ถูกเฝ้าสังเกตพฤติกรรมอยู่ตลอดเวลา เพื่อวิเคราะห์และผลักดันให้กระทำไปตามทิศทางที่เขาต้องการ นี่คือความเห็นของ Jaron Lanier ผู้บุกเบิกไอทีในด้าน VR (Virtual Reality) นักวิทยาศาสตร์ นักปรัชญา นักดนตรี และเหนือสิ่งอื่นใด เป็นผู้ปรารถนาจะเห็นมนุษย์เป็นเสรีชน
Jaron Lanier เขียนหนังสือดังระดับโลกหลายเล่ม ที่แสดงความห่วงใยชีวิตของผู้คนภายใต้โลกโซเชียลมีเดีย เล่มล่าสุดของเขาคือ ‘Ten Arguments for Deleting Your Social Media Accounts’ (2018) ให้ข้อคิดเห็นที่น่าสนใจอย่างมาก ขอนำความเห็นเหล่านั้นมาเป็นอาหารสมอง
Lanier หันปืนไปที่สองบริษัทยักษ์ใหญ่ เจ้าของบัญชีโซเชียลมีเดียที่มีพฤติกรรมเป็นพิเศษกว่าใคร เขาตั้งชื่อรูปแบบธุรกิจ (Business Model) ของสองยักษ์นี้ว่า BUMMER (Behavior of Users Modified, and Made into an Empire for Rent) ซึ่งเปรียบเสมือนเครื่องจักรซึ่งพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเรา ตลอดจนรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผู้คนที่เป็นสมาชิก และขายให้แก่นักโฆษณาเพื่อทำกำไร
ลักษณะของ BUMMER มี 6 ประการ ได้แก่ (1) โซเชียลมีเดียถูกออกแบบเพื่อให้คนเสียงดังที่สุด อื้อฉาวที่สุด ได้รับความสนใจ (2) แทรกแซงเข้าไปในชีวิตของสมาชิกทั้งหมด โดยการเฝ้ามองกิจกรรมออนไลน์ของเขา (3) สมาชิกแต่ละคนจะถูกป้อนด้วยเนื้อหาเป็นการเฉพาะส่วนตัว (personalized content) อันเป็นผลมาจากการเฝ้าสังเกตพฤติกรรมออนไลน์ที่ผ่านมา (4) ผลักดันและสนับสนุนพฤติกรรมออนไลน์ของสมาชิก เช่น ให้ซื้อของ ให้หมกมุ่นกับโลกโซเชียล ฯลฯ (5) บริษัทผู้เป็นเจ้าของบัญชีโซเชียลมีเดีย หารายได้จากการขายข้อมูลของสมาชิกให้นักโฆษณา หรือบริษัทวิจัย หรือแม้แต่องค์การสืบราชการลับ เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้ไป “จัดการ (manipulate) เพื่อให้เป็นไปตามที่ต้องการ” (6) สมาชิกจำนวนมากในโซเชียลมีเดียไม่ใช่มนุษย์จริง หากเป็นหุ่นยนต์ที่สร้างขึ้นมาเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง
Lanier ประกาศว่าในสหรัฐอเมริกามีเพียง 2 บริษัทคือ Facebook กับ Google เท่านั้น ที่ดำเนินธุรกิจโดยใช้ BUMMER เป็นรูปแบบธุรกิจ ทั้งสองบริษัทนี้มีครบทั้ง 6 ลักษณะของ BUMMER โดยที่บริษัทอื่นๆ มีบางลักษณะ แต่ไม่ครบทั้ง 6 ลักษณะ เขาบอกว่าเทคโนโลยีมิใช่สาเหตุที่ทำให้สังคมป่วยเช่นทุกวันนี้ หากประเด็นอยู่ที่การใช้ BUMMER เป็นรูปแบบดำเนินธุรกิจ และอาศัยการ ‘จัดการ’ บรรดาคนที่ใช้เทคโนโลยีเป็นหลักต่างหาก
ในเชิงเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้บริษัทเจ้าของบัญชีทำการต่างๆ ข้างต้นได้ ก็มาจากสิ่งที่เรียกว่า algorithm ซึ่งหมายถึงกระบวนการหรือชุดของกฎกติกาเพื่อนำไปสู่การหาคำตอบโดยคอมพิวเตอร์ เช่น หากคุณชอบดูคลิปเรื่องปืนและนาฬิกา ข้อมูลที่เก็บได้จากบัญชีนี้ก็จะถูกอ่านโดยเครื่องจักรและถูกใช้เป็นข้อมูลให้ algorithm ดำเนินการทีละขั้นตอน เช่น ตรวจว่าเปิดดูบ่อยเพียงใด นานเพียงใด ก่อนหน้านี้เคยดูอะไร เคยโพสต์ข้อความเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้บ่อยไหม ฯลฯ เพื่อใช้ประเมินว่าเจ้าของบัญชีชอบมากพอไหม หากจะป้อนเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ให้เป็นพิเศษ และขายข้อมูลเรื่องนี้ให้ผู้โฆษณาต่อไป
คุณไม่ซื้อไม่เป็นไร แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงกว่าหากไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเจ้าของบัญชีเลย นอกจากนี้หากคุณชอบและกดเป็นสมาชิกของเว็บไซต์เจ้าของ ตัวเลขสมาชิกมันก็จะสูงขึ้น เจ้าของเว็บไซต์ก็สามารถเอาข้อมูลไปขายผู้โฆษณาด้วยราคาที่แพงขึ้น เพราะมีสมาชิกดูมากขึ้น
10 ข้อถกเถียงหรือเหตุผลที่ Lanier เห็นว่าควรทำให้คุณตัดสินใจลบบัญชีโซเชียลมีเดีย ได้แก่
(1) ทำให้คุณหมดความเป็นเสรีชน
หากคุณมีบัญชีคุณก็เปรียบเสมือนอยู่ในกรงขัง เป็นสัตว์ในห้องทดลองที่ถูกเฝ้ามอง ถูก ‘จัดการ’ ถูกวิเคราะห์ เมื่อคุณมีสมาร์ทโฟนก็เปรียบเสมือนคุณมีกรง เพียงแต่จะเข้าไปอยู่ในกรงด้วยการเป็นสมาชิกโซเชียลมีเดียหรือไม่ หากเป็นสมาชิก algorithm ก็จะเริ่มทำงานทันทีโดยใช้ข้อมูลจากการเป็นสมาชิกของคุณ วิเคราะห์พฤติกรรมของคุณ และเอาไปเปรียบเทียบกับข้อมูลของคนอื่นๆ ที่เก็บไว้เป็นร้อยเป็นพันล้านคนซึ่งมีลักษณะคล้ายกัน แล้วก็พยากรณ์พฤติกรรมของคุณ
ในเชิงการเมือง ก็จะมีคนซื้อข้อมูลไป หากพบความจริงเชิงสถิติว่าคนอื่นจำนวนมากที่กินอาหารลักษณะเดียวกับคุณ ชอบนักการเมืองคนหนึ่ง หากผู้จัดการเลือกตั้งส่งจดหมายไปขอเสียงสนับสนุนและขอเงินจากคนที่กินอาหารเช่นนี้ ก็มีโอกาสสูงที่จะได้รับการตอบรับ
algorithm อาศัยวิชาสถิติ พฤติกรรมศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ สังคมวิทยา รัฐศาสตร์ ฯลฯ เพื่อเข้าใจคุณและพยากรณ์พฤติกรรมของคุณ ถ้าคุณเข้าไปอยู่ในกรงก็หมดความเป็นเสรีชน
(2) BUMMER บุกรุกความเป็นส่วนตัวและอันตราย
ลองคิดดูว่า หากมีคนพยากรณ์ได้ว่าคุณชอบทำอะไร ไปเที่ยวที่ไหน มักอยู่ที่ไหนในเวลาใด รักลูกคุณมากเพียงใด ฯลฯ คุณจะชอบและรู้สึกปลอดภัยไหม อย่าลืมว่าทั้งหมดที่เขารู้ ก็เพราะคุณบอกเขาจากการโพสต์ข้อความ จากการถ่ายรูปและบรรยาย จากการแสดงออกถึงความชอบผ่านการเลือกดูคลิปและการกดไลค์ จากการเป็นผู้ติดตาม ฯลฯ ถ้าคุณลบบัญชีทิ้ง หรือไม่เป็นสมาชิกแต่แรก ความเป็นส่วนตัวก็อยู่กับคุณ
(3) โซเชียลมีเดียทำให้คุณเป็น ‘ไอ้งั่ง’
BUMMER ออกแบบมาเพื่อให้คุณเป็นคนเสพติดโซเชียลมีเดีย ทุกศาสตร์ถูกนำมาใช้เพื่อทำให้คุณเกิดอารมณ์ชอบ โกรธ เกลียด หลงใหล อยากรู้อยากเห็น อยากให้เป็นที่ยอมรับ อยากรับรู้เรื่องราวลี้ลับ อยากแสดงความงดงามของตน เป็นพื้นที่แสดงออกอารมณ์ของความเป็นคนมีปมเด่นและปมด้อย ฯลฯ
BUMMER สร้าง adaptive algorithms ซึ่งปรับตัวอยู่ตลอดเวลา เพื่อทำให้คุณเข้าไปเกี่ยวพันกับโซเชียลมีเดียอย่างไม่ขาดตอน เพื่อขายโฆษณาโดยตรง ขายสารพัดข้อมูลให้ทุกองค์กรที่มีสารพัดวัตถุประสงค์ โดยมีการเสพติดของคุณเป็นตัวเติมข้อมูล
(4) โซเชียลมีเดียทำลายความจริง
แหล่งข้อมูลในโซเชียลบางแห่งเกิดขึ้นเพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น สนับสนุนความคิดทางการเมือง สร้างรสนิยมสินค้า สร้างอารมณ์สุดโต่งเพื่อให้มีการเข้าไปใช้โซเชียลมีเดียกันมากๆ สร้างความเชื่อทฤษฎีสมคบคิดบ้าๆ บอๆ (Conspiracy Theories) ฯลฯ ตลอดจนเรื่องราวโกหกมดเท็จ (fake news)
หลายบัญชีที่มียอดผู้ดูหรือผู้ติดตามจำนวนเป็นแสนเป็นล้านนั้น ส่วนใหญ่มาจากบัญชีหุ่นยนต์ (BOTS มาจาก Robots and Auto Processes) ที่สร้างขึ้นและควบคุมโดย fake-people factories (กลุ่มคนหรือบริษัทรับจ้าง) โดยบัญชีหุ่นยนต์ หรือ fake accounts นั้นมีอยู่ทุกแห่งหน บริษัทเหล่านี้หาเงินทองได้มากมายจากการขาย fake accounts (ในปี 2018 หนังสือพิมพ์ New York Times รายงานว่าราคามาตรฐานคือ $225 เหรียญสหรัฐ ต่อ 25,000 fake accounts) fake news และ fake accounts มีอยู่ทุกแห่งหนในทุกประเทศ เพราะมีวัตถุประสงค์หลากหลายเพื่อรายได้ก้อนโต
(5) โซเชียลมีเดียชอบให้คนทะเลาะกัน และทำลายความสามารถของมนุษย์ในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
บริบทของการสื่อสารเป็นเรื่องสำคัญในการสร้างความเข้าใจระหว่างบุคคล เช่นคำว่า “ฉันรักเธอ” เมื่อพูดกับเด็กนักเรียน กับเมื่อพูดกับคนรักนั้น จะมีความหมายตามที่ตั้งใจได้ จำต้องมีวิธีการพูดที่แตกต่างกัน เนื่องจากมีบริบทที่แตกต่างกัน อย่างไรก็ดี BUMMER ในโลกโซเชียลมีเดียนั้นทำลายบริบทต่างๆ ที่อาจมีได้เพื่อความเข้าใจที่ลึกซึ้งเสียสิ้น เนื่องจากในหัวมีแต่ตัวเลขจำนวนกดไลค์ จำนวนตัวเลขผู้ติดตาม ซึ่งเป็นตัววัดสำคัญในการทำงานของ BUMMER อยู่ตลอดเวลา
สมาชิกจำนวนมากทำอะไรก็ได้เพื่อให้ตัวเลขไลค์สูงขึ้น มีคนติดตามชื่นชมมากขึ้น ทั้งๆ ที่ส่วนใหญ่ของจำนวนเหล่านี้ไม่ใช่คนจริงก็ตาม BUMMER จะเน้นจำนวนเลขเหล่านี้เพื่อธุรกิจ พร้อมทั้งยัดเยียดข้อมูลเฉพาะให้แต่ละคนผ่าน algorithmic customization อย่างไม่คำนึงถึงบริบท ดังนั้นบริบทซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของวัฒนธรรมของมนุษยชาติในการเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่นจึงถูกทำลาย
(6) ความรู้สึกที่เป็นลบ เป็นเส้นเลือดเลี้ยงชีวิตของโซเชียลมีเดีย
Lanier ให้ความเห็นว่า BUMMER ต้องการให้คุณไม่มีความสุข มิเช่นนั้นก็จะใช้เวลาไปกับสิ่งอื่นๆ ในชีวิตจริง และไม่มีเหตุผลที่จะมาใช้โซเชียลมีเดีย งานวิจัยพบว่ายิ่งสมาชิกรู้สึกกระวนกระวาย รู้สึกว่าตนเองขาดอะไรบางอย่างมากเท่าใด แนวโน้มในการมีส่วนร่วมกับกลไกของ BUMMER ยิ่งมากขึ้นเท่านั้น เช่น ยิ่งพบว่ามีคนชอบรูปภาพที่โพสต์มากขึ้น ก็จะยิ่งเกิดการเสพติดมากขึ้นเป็นเงาตามตัว และทำให้บริษัทที่สร้าง BUMMER มีกำไรมากยิ่งขึ้น
(7) โซเชียลมีเดียทำให้คนจำนวนมากขาดความสุข
สำหรับกลุ่มที่ต้องการยอมรับจากคนอื่น เช่น การยอมรับในความงาม หรือแข่งขันในการเป็นเน็ตไอดอล ความจริงก็คือมันเป็นการแข่งขันในระดับโลกและระดับประเทศ ที่ย่อมมีมาตรฐานสูงเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะคิดว่าตนเองสวยเท่าใดก็จะมีคนสวยกว่าอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับมีคนอื่นที่มีแฟนติดตามมากกว่า ดังนั้นความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปร่วม จึงมีแต่ความไม่สมหวัง ใครที่จริงจังกับมันก็จะหาความสุขไม่ได้
(8) บริษัทโซเชียลมีเดียทำเงินได้มหาศาลจากสิ่งที่คุณทำให้ฟรีๆ
ทุกนาทีผู้ใช้โซเชียลมีเดียแปลบทความ กวี ข้อความที่งดงามข้ามภาษาให้เพื่อนๆ โดยไม่คิดอะไร แต่หารู้ไม่ว่าข้อมูลเหล่านี้จะถูกเก็บไปใช้หรือขายต่อโดย algorithm ข้อมูลอื่นๆ ไม่ว่ารูปภาพที่งดงาม ข้อเขียน จะถูกเก็บรวบรวมไว้ตลอดเวลาเพื่อนำไปใช้ต่อไป โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์เป็นเครื่องมือปรับปรุง หรือตัดต่อเพิ่มเติม ทั้งหมดนี้สามารถนำไปขายต่อและสร้างรายได้อีกมหาศาล
(9) โซเชียลมีเดียมีผลกระทบด้านลบต่อระบบการเมือง
algorithm ของ BUMMER สามารถมีอิทธิพลต่อคนที่มีอุดมการณ์ประชาธิปไตย ให้กลายเป็นคนนิยมอำนาจ มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกทางความคิด และทำลายระบบการเมืองได้ดังที่กำลังเป็นอยู่ในสหรัฐอเมริกา อันเป็นผลจากการเลือกตั้งปี 2016 ซึ่งมีหลักฐานการแทรกแซงจากโซเชียลมีเดียชัดเจนขึ้นทุกที
(10) โซเชียลมีเดียเปลี่ยนมนุษย์ให้กลายเป็นสิ่งของ
ในเรื่องการคิดคำนึงของมนุษย์ และการมีจิตใจที่ยิ่งใหญ่กว่าเพียงการดำเนินชีวิตไปวันๆ นั้น BUMMER สามารถมีอิทธิพลแทรกแซงได้ โดยขึ้นอยู่กับการสร้าง algorithm ถ้าจะพูดว่า BUMMER คล้ายคลึงศาสนาก็คงได้ กล่าวคือเป็นระบบที่สามารถจัดสร้างความเชื่อและศรัทธา มีอิทธิพลต่อความนึกคิด มีการชี้นำทั้งอย่างตรงไปตรงมาและแนบเนียนต่อชาวโลก
BUMMER ไม่เคารพจิตวิญญาณของผู้ใช้ เราถูกลดระดับลงเป็นเพียงผู้สร้างข้อมูลให้ algorithm ทำงานไปในทิศทางที่เขาต้องการ BUMMER ไม่สนใจศักดิ์ศรีและความเป็นส่วนตัวของเรา เราไม่มีความหมายเชิงจิตวิญญาณ หากเป็นเพียงสิ่งของ
โดยสรุป โซเชียลมีเดียมีทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ ถ้าเรารู้เท่าทันก็ไม่มีอะไรเสียหายมากนัก BUMMER เป็นเรื่องอันตรายที่ Lanier เสนอให้มีการออกกฎหมายแก้ไข เพื่อให้มนุษย์ได้รับความเป็นธรรม เป็นเสรีชน มีศักดิ์ศรี ไม่ถูกขังเป็นหนูทดลองอยู่ในกรง เขาเสนอให้ลบบัญชีโซเชียลมีเดียออกเสียจนกว่าจะมีรูปแบบธุรกิจที่ดีกว่านี้ในอนาคต
ในโลกความเป็นจริง ผู้เขียนคิดว่าการลบบัญชีเป็นวิจารณญาณของแต่ละคน ข้อมูลที่ Lanier ให้เกี่ยวกับ BUMMER ทำให้เกิดความกังวลได้พอสมควร หากลบบัญชีไม่ได้ ก็ต้องใช้อย่างระแวดระวังและคำนึงถึงผลเสียมากขึ้น
เกือบทุกสิ่งที่เราบริโภคล้วนมีสารเคมีที่ไม่เป็นผลดีต่อร่างกายทั้งสิ้น เราไม่อาจเลิกการบริโภคได้ทั้งหมด ที่สามารถทำได้ก็คือการเลือกอย่างชาญฉลาดเท่านั้น
Related Posts
ว่าด้วยเรื่อง Bullshit“ความเท็จเดินทางไปครึ่งโลกแล้วก่อนที่ความจริงจะใส่รองเท้า” วรากรณ์ สามโกเศศ เล่าเรื่อง bullshit เพื่อให้รู้ทัน bullshitter
ออกกำลังกายไม่จำกัดอายุวรากรณ์ สามโกเศศ เปิดงานวิจัยที่ชี้ว่าการออกกำลังกายอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ มีส่วนช่วยในการยืดอายุการทำงานของหัวใจ ไม่เว้นแม้กระทั่งคนสูงวัย ตรงข้ามกับคนที่ใช้ชีวิตแบบเนือยนิ่ง ซึ่งมีผลให้กล้ามเนื้อหัวใจเสื่อมก่อนวัยอันควร
-
-
โรงพยาบาลแห่งอนาคตวรากรณ์ สามโกเศศ ฉายภาพของโรงพยาบาลแห่งอนาคตที่กำลังจะเป็นกระแสในโลกสมัยใหม่
รู้จักโรค itai-itai จากพิษมลภาวะ วรากรณ์ สามโกเศศ เขียนถึงโรค itai-itai หนึ่งในสี่โรคร้ายที่เกิดจากสารเคมีตกค้าง บ่อนทำลายชีวิตคนญี่ปุ่นจำนวนมากในช่วงศตวรรษที่ 19 พร้อมตั้งคำถามว่าสังคมไทยสามารถเรียนรู้อะไรจากกรณีนี้ได้บ้าง
วรากรณ์ สามโกเศศ การใช้โซเชียลมีเดีย Digital Cheating BUMMER Jaron Lanier
อดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าของผลงานเขียนชุด “Global Change” ว่าด้วยกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ ในมุมเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม เทคโนโลยี และผลงานเขียนชุด “โลกนี้ไม่มีอะไรฟรี” รวมงานคัดสรรด้านเศรษฐศาสตร์แบบไม่ต้องแบกบันไดมาอ่าน