fbpx
เต็ม สุวิกรม คนดีที่น่ารู้จัก

เต็ม สุวิกรม คนดีที่น่ารู้จัก

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

มีบุรุษผู้หนึ่ง เมื่อเขาจากไปในปี 2516  บุคคลสำคัญในสังคมไทยอย่าง สัญญา ธรรมศักดิ์ และ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ต่างสรรเสริญยกย่องถึงคุณธรรมความดีของเขา แม้บุคคลผู้นี้จะรับราชการโดยมีตำแหน่งไม่สูงนัก แต่วัตรปฏิบัติอันสง่างาม และการทำงานให้องค์กรสาธารณกุศลหลายแห่ง ก็เป็นที่จดจำของผู้คนในสมัยนั้น  อย่างไรก็ดี เมื่อถึงวันนี้ เขาตายจากไปถึง 45 ปีแล้ว ชื่อเสียงและเรื่องราวของเขาค่อยๆ กลืนหายไปกับกาลเวลา สมดังที่วิลเลียม เชคสเปียร์ว่า “คนทุกคนจะถูกลืม”

บุรุษผู้นี้คือ เต็ม สุวิกรม คนธรรมดาๆ ที่มีชีวิตเรียบง่ายงดงาม และใช้ชีวิตอย่างมีความหมายมากพอที่จะเป็นแรงบันดาลใจให้อนุชนได้บ้างว่า คนสามัญอย่างพวกเรา ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจหรือทรัพย์สินเงินทองจึงจะได้รับการยอมรับ แต่การมีจุดยืนและเป็นตัวของตัวเองต่างหาก ที่จะทำให้สังคมยอมรับนับถือได้อย่างสนิทใจ ไม่ในสมัยนี้ ก็ในอนาคตกาล ซึ่งประวัติศาสตร์จะเป็นผู้วินิจฉัยเอง

เต็ม สุวิกรม
(11 เมษายน 2451 – 6 พฤษภาคม 2516)

 

ครอบครัวและการศึกษา

เต็มเป็นคนเชื้อสายมอญ เกิดที่พระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2451 มีคุณทวดคือพญาปราบปัจจามิตร และคุณตาคือสมิงแกล้วกลางศึก  เต็มกำพร้าบิดามารดาแต่ยังเยาว์ คุณยายทองจุ๊ ศรีเพริศจึงเป็นผู้เลี้ยงดูมาแต่น้อย

เขาเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดกลางนา พระประแดง ในปี 2457 จากนั้นศึกษาต่อที่โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรมในปีถัดมา จนสำเร็จการศึกษาชั้นมัธยมที่โรงเรียนสวนกุหลาบเมื่อปี 2470  แล้วจึงเข้าเรียนแผนกอักษรศาสตร์ (ป.ม.) ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ต่อมาเมื่อมีการสถาปนามหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง เต็มเข้าเรียนจนจบเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต รุ่นเดียวกับ ป๋วย อึ๊งภากรณ์  ภายหลังเมื่อทำงานแล้วยังได้กลับมาเรียนปริญญาโท จนจบเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิตด้วย

เดิม เต็มใช้นามสกุล ศรีเพริศ ของสกุลมารดา  ต่อมาในปี 2482 จึงเปลี่ยนเป็น สุวิกรม ตามที่พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ตั้งให้

ในทางพระพุทธศาสนา เต็มเคยบวชที่วัดพญาปราบปัจจามิตร ที่บ้านเกิดมาครั้งหนึ่ง ก่อนจะมาบวชอีกครั้งที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม เพื่อเป็นพุทธบูชา 1 เดือน ในโอกาสกึ่งพุทธกาล

แม้เขาจะเคยอุปสมบททั้งคณะมหานิกายและธรรมยุติกนิกาย แต่เต็มก็ไม่ถือนิกายเป็นเหตุแบ่งแยกหมู่คณะ แต่ถือความประพฤติ เพราะในคนหมู่มากย่อมมีทั้งดีชั่วปะปนกัน เต็มจึงเลือกคบสักการะบูชาเคารพนับถือเฉพาะคนดีมีศีลธรรม  นี่คือข้อสังเกตจากสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ)

จดหมายของพระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) ให้นามสกุลแก่เต็ม “ศิษย์ที่รัก”
โดยให้เลือกจาก 4 ชื่อซึ่งตั้งให้ คือ ขันอิน ธรรมนิยม ธรรมประทีป และสุวิกรม
เต็มเลือกอันสุดท้าย ซึ่งมีข้อความวงเล็บไว้ว่า “กล้าหาญ ดี”
ที่มา www.digitalrarebook.com
เต็มเมื่ออุปสมบทครั้งแรก
ที่มา www.digitalrarebook.com

หน้าที่ราชการและงานอื่น ๆ

เต็มเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งครูสัญญาบัตร โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม โรงเรียนเก่าของเขา ในเดือนมิถุนายน 2472  หลังจากนั้นในเดือนสิงหาคม 2478 จึงย้ายไปเป็นครูที่โรงเรียนฝึกหัดกสิกรรมแม่โจ้ จังหวัดเชียงใหม่

เมื่อสำเร็จการศึกษาทางธรรมศาสตร์แล้ว จึงย้ายสายงานมาเป็นอัยการผู้ช่วยจังหวัดลำปาง  แม้จะมีรูปร่างใหญ่ คิ้วดก พูดจาฉาดฉานสมกับบุคลิกอัยการ แต่เมื่อทำงานได้ 3-4 ปี เต็มรู้สึกไม่ต้องกับนิสัยที่จะต้องต่อสู้กับพยานเท็จทั้งหลาย จะต้องเอาคนเข้าคุกผิดๆ เพราะพยานสู้เขาไม่ได้  จึงได้ปรับทุกข์กับ สุวรรณ แรงขำ สรรพสามิตเขตลำปาง ซึ่งเช่าบ้านพักอยู่ติดกัน  สุวรรณเลยชวนให้โอนย้ายไปกรมสรรพสามิต กระทรวงการคลัง

จรัส พ่วงภักดี ยกย่องเต็มว่า เป็นผู้มีมือสะอาดในการทำราชการอย่างหาผู้เสมอได้ยาก  สอดคล้องกับที่สุกิจ นิมมานเหมินท์ บอกว่า เขาได้อ่านหนังสืองานศพของอดีตข้าราชการผู้หนึ่งที่ทำงานที่เดียวกับเต็ม พบข้อความว่า ผู้ตายได้เขียนชื่นชมเต็มว่าเป็นคนดี เป็นที่ไว้วางใจได้ และเป็นคนมือสะอาด ซึ่งโดยปกติแล้วหนังสืองานศพจะมุ่งสรรเสริญคนตาย การที่กล่าวถึงความดีของเต็มซึ่งมิได้เกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นเครื่องหมายแสดงให้เห็นถึงความดีของเขาได้ดี

เป็นไปทางเดียวกับพิทยา พรหมเศรณี ซึ่งรับราชการตามหลังเต็ม เขาบอกว่า เมื่อย้ายไปรับตำแหน่งต่อจากเต็มในกองการสามิต และกองปราบปราม ตามลำดับแล้ว มีความสะดวกสบายเป็นอย่างมาก เพราะเต็มได้วางรูปงานและการปกครองเป็นอย่างดีเลิศ ไม่มีอะไรที่คั่งค้างหรือยุ่งยากให้ต้องคอยตามแก้  ที่สำคัญคือไม่มีลูกน้องคนใดตำหนิติเตียนลับหลังเต็มเลย มีแต่สรรเสริญเขา

แม้น้องชายของเต็มจะรับราชการในกรมเดียวกัน แต่เต็มก็ไม่เคยใช้เส้นสายหรือให้ความช่วยเหลือในทางนอกกติกาแก่น้องชายแต่อย่างใด ทั้งๆ ที่เขาเป็นผู้ออกและตรวจข้อสอบเอง แต่น้องชายก็สอบไม่ผ่าน  เต็มเห็นว่าที่สอบไม่ได้ก็เพราะความสามารถของเขาเอง ท้ายที่สุดน้องเขาก็เป็นข้าราชการชั้นจัตวาจนสิ้นชีพไป

อย่างไรก็ดี เต็มก็มิได้เจริญรุ่งเรืองในชีวิตราชการนัก เพราะโดนกีดกัน ปัดแข้งปัดขาอยู่นานกว่าจะได้ชั้นพิเศษ ตัวเขาเองก็ไม่อยู่ในนิสัยที่จะประจบสอพลอ ภรรยาของเขาก็ไว้ตัว ไม่ยอมไปรับใช้ตามบ้านเจ้านายอย่างคนอื่นเขา  สุดท้ายเต็มเกษียณอายุราชการในตำแหน่งข้าราชการชั้นพิเศษ ผู้อำนวยการกอง กรมสรรพสามิต

นอกจากงานราชการแล้ว เต็มยังทำงานให้องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ ด้วย เช่น เป็นอุปนายกพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย อุปนายก-นายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสตรีวิทยา อุปนายกสมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นายกสมาคมศิษย์เก่าวัดทรงธรรม ประธานกรรมการมูลนิธิสัมมาชีวศิลป์ กรรมการอาศรมวัฒนธรรมไทย-ภารต  และนายกสมาคมไทย-รามัญ

หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล ยกย่องเต็มว่า เขาทำงานให้พุทธสมาคมอย่างเต็มที่ ให้ทำอะไรก็ทำ ให้เป็นอะไรก็เป็น ไม่มีขัดแย้งกับใคร มีประชุมอะไรก็มามิได้ขาด

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์) สมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ กล่าวถึงเขาว่า “การดำเนินชีวิตของคุณเต็ม สุวิกรม ในระยะเกษียณราชการแล้ว ดูเหมือนจะหมกมุ่นขวนขวายในกิจการสาธารณกุศล โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับพุทธสมาคมแห่งประเทศไทยอย่างเป็นชีวิตจิตใจ เหมือนขยันหมั่นเพียรรดน้ำที่โคนต้นไม้แห่งชีวิต ซึ่งจะผลิดอกออกผลที่ยอด คือการได้รับคำยกย่องสรรเสริญ เป็นตัวอย่างที่ดีงามของผู้ครองเรือนเป็นครอบครัวที่สงบสุขจนตลอดชีวิต”

นอกจากนี้เขายังไปบรรยายธรรมในสถานที่ต่างๆ ด้วย เช่น อบรมนักโทษที่เรือนจำบางขวาง คลองเปรม ลาดยาว ฯลฯ  อบรมศีลธรรมนักเรียนโรงเรียนสตรีต่างๆ รวมถึงโรงเรียนคนตาบอด  และอภิปรายธรรมะที่วัดธาตุทอง วัดบุปผาราม และวัดนรนารถ

การที่เขาทำงานให้องค์กรสาธารณกุศลต่างๆ หลังเกษียณอายุนั้น เต็มมีหลักว่า เมื่อได้รับบำนาญจากราชการ จึงต้องทำงานสาธารณกุศลตอบแทนที่อุตส่าห์จ่ายบำนาญให้ทุกๆ เดือน ให้มีกินมีใช้อย่างมีความสุข

มาลี ผู้ภรรยา เคยถามว่า ทำงานต่างๆ มากมายเช่นนี้ไม่เหนื่อยบ้างหรือ  เต็มตอบว่า “ไม่เหนื่อยเลย สบายใจจริงๆ เพราะ (1) ได้ทำประโยชน์ให้ผู้อื่น (2) เป็นการเผากิเลสในตัวเอง และเป็นการพักผ่อน และ (3) แจกธรรมะดีกว่าแจกพระเครื่อง”

เฝ้ารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 และสมเด็จพระนางเจ้าฯ ณ ห้องรามัญ
ในงานมหาสมณานุสรณ์ วัดบวรนิเวศ วันที่ 1 สิงหาคม 2514
เฝ้ารับเสด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร วันที่ 7 สิงหาคม 2514

อุปนิสัยของเขา

สัญญา ธรรมศักดิ์ นับถือเต็มมาก เพราะเห็นว่าเขาเป็นผู้มี “อารมณ์ในธรรม” อยู่เป็นนิจ และเป็นทั้งผู้ใคร่ธรรม ปฏิบัติธรรม และเผยแพร่ธรรม  โดยยกตัวอย่างซึ่งสัญญาประสบกับตัวมาว่า คราวหนึ่งเกิดปัญหากับคนที่เต็มรักและเป็นห่วงที่สุดคนหนึ่ง สัญญาได้รับรู้ปัญหานี้โดยใกล้ชิดตลอด แต่ได้เห็นอารมณ์และการปฏิบัติของเต็ม จึงประทับใจใน “อารมณ์ในธรรม” ของเต็มเป็นอย่างมาก

ขณะที่ สุกิจ นิมมานเหมินท์ เห็นว่า เขาเป็น “คนอยู่ในมัชฌิมาปฏิปทา ถึงแม้จะมีโรคประจำตัว ท่านก็ไม่โศกเศร้า โสกะปริเทวะ ให้คนอื่นพลอยไม่สบายใจไปด้วย ยิ้มแย้มเยือกเย็นไม่ตื่นเต้นเป็นกระต่ายตื่นตูม ละเว้นสิ่งที่ก่อให้เกิดความประมาททั้งหลายเช่นเหล้ายาปลาปิ้งตลอดจนบุหรี่ยาสูบ

ส่วน ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ยกย่องเต็มว่าเป็น “ผู้ที่ผมเคารพมากที่สุดผู้หนึ่งว่าเป็นบัณฑิตแท้” คือเป็นผู้ใฝ่เรียน ขวนขวายหาความรู้ใส่ตัวอยู่เสมอ และมิใช่เพื่อลาภยศส่วนตัว หากเพื่อประโยชน์แก่ราชการ ป๋วยยกตัวอย่างว่า เมื่อคราวที่ป๋วยรับราชการในสถานเอกอัครราชทูตไทยในลอนดอน เต็มได้ไปศึกษาอบรมเพิ่มเติมที่อังกฤษ  สอดคล้องกับที่สุกิจเล่าว่า มักพบกับเต็มในงานปาฐกถาต่างๆ เที่ยวสดับตรับฟังหาความรู้ไปในตัว ไม่ว่าที่สุกิจเป็นผู้แสดงเอง หรือที่บุคคลสำคัญท่านอื่นแสดง  เช่นเดียวกับที่ บุญมี เมธางกูร ประทับใจเมื่อเห็นเต็มมาฟังบรรยายในโรงเรียนพระอภิธรรมที่เขาสอนอยู่  ขณะที่ ฮารบันสลาล สัจจเทพ ยังเพิ่มเติมด้วยว่า เต็มเป็นผู้เชี่ยวชาญในทางโบราณคดีอินเดีย และความรู้รอบในศิลปวัฒนธรรมของไทย

นอกจากนี้ ป๋วยยังกล่าวว่า เต็มเป็นผู้มีความสันโดษ เพราะเขาไม่คิดมักใหญ่ใฝ่สูง ไม่ประจบประแจงผู้ใด ทั้งที่เต็มควรจะได้ตำแหน่งราชการที่สูงกว่าที่เขาได้รับ แต่ก็ไม่วิ่งเต้น และรับราชการด้วยความเต็มใจตลอดมา

เพื่อนร่วมรุ่นธรรมศาสตร์บัณฑิตอย่างป๋วย ยังกล่าวต่อไปว่า เต็มมีความเสมอต้นเสมอปลาย ไม่ว่าเพื่อนฝูงจะสูงหรือต่ำ มีหรือจน เต็มปฏิบัติต่อทุกคนอย่างเสมอกัน ความรักเพื่อนก็เสมอต้นเสมอปลาย มาพบเพื่อนร่วมรุ่นตามนัดมิได้ขาด

นั่งบริกรรม งานพุทธาภิเศก วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม
วันที่ 29 มกราคม 2514

คนธรรมะธรรมโม

เต็มเป็นผู้ที่นับถือเลื่อมใสพุทธศาสนามาแต่เด็ก อ่านหนังสือธรรมะทั้ง พุทธประวัติ ธรรมวิภาค ฯลฯ ในวัยเยาว์ก็เริ่มปฏิบัติธรรม เขาถือศีลอุโบสถในวันสำคัญทางศาสนาและเทศกาลต่างๆ มาตั้งแต่ชั้น ม.5  แม้เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการตบยุง เขาก็รับไม่ได้ เพราะเห็นเป็นบาปกรรม

เขาเป็นคนธรรมะธรรมโมมาก สนใจในการวิปัสสนากรรมฐาน และเป็นผู้ยึดมั่นใจเบญจศีลอย่างเคร่งครัด  จรัส พ่วงภักดีเล่าว่า เต็มเคยเล่าให้เขาฟังว่า วันหนึ่งอยากกินหอยแครงลวกมาก ครั้นจะสั่งเองก็กลัวผิดศีล จึงไปนั่งรอที่ทางเข้าออกที่ผู้ขายอาหารจะต้องเสิร์ฟอาหารผ่านมา เมื่อมีคนอื่นสั่งหอยแครงลวกแล้วและผู้ขายกำลังจะไปส่งให้นั้น เต็มก็พูดทึกทักเอาว่า “จานนี้ขอให้อั๊วก่อน อั๊วจะรีบไป” จึงได้หอยแครงมากิน

การปฏิบัติธรรมและทำสมาธิก็ช่วยเขาได้มาก ก่อนเขาเกษียณราว 2 ปี เขารถคว่ำขณะไปราชการที่สกลนคร แม้รอดตายมาได้ แต่ก็เจ็บปวดสุดประมาณ เขาบอกกับเสน่ห์ โพธิปฐม ว่าการนึกถึงสมเด็จพระสังฆราช วัดราชบพิธ และการทำสมาธิไปด้วย ช่วยคลายความเจ็บป่วยได้ไม่น้อย  แล้วก็เปรยว่า คงเป็นเพราะกรรมเก่ายังไม่หมดจึงต้องมาประสบอุบัติเหตุตอนอายุมากๆ  เคราะห์ดีได้พุทธคุณเป็นที่ตั้งจึงบรรเทาความรู้สึกไปได้

นอกจากนี้เขายังใคร่ครวญในธรรมเป็นนิจ ลูกๆ เล่าว่า ในช่วงท้ายของชีวิต เต็มมาปรารภว่า “พ่อทำใจก่อนนอนทุกคืนว่า พ่อพร้อมแล้วที่จะตาย

ผลงานหนังสือของเต็ม วิธีปฏิบัติให้เกิดความสุขทางจิต  และ 23 ผู้กลับมาเกิดใหม่ 
ผลงานหนังสือของเต็ม
วิธีปฏิบัติให้เกิดความสุขทางจิต  และ 23 ผู้กลับมาเกิดใหม่ 
ที่มา: www.archive.org

ตายแล้วเกิดและงานหนังสือ

เต็มเชื่อในเรื่องเวรกรรม นรกสวรรค์ และการเวียนว่ายในสังสารวัฏ โดยเฉพาะการกลับชาติมาเกิด ดังมีบทความเขียนถึงเรื่อง ‘ปรากฏการณ์โอปปาติกะ’ และ ‘ผู้ระลึกชาติได้ในประเทศไทย’  นอกจากนี้ยังได้แปลหนังสือเรื่อง ’23 ผู้กลับมาเกิดใหม่’ ตั้งแต่ พ.ศ. 2513 ให้อภิธรรมมูลนิธิพิมพ์จำหน่ายด้วย ซึ่งได้รับการตีพิมพ์หลายครั้ง

ในคำนำหนังสือ ’23 ผู้กลับมาเกิดใหม่’ เต็มอธิบายว่า หนังสือเล่มนี้มาจากการเรียบเรียงหนังสือ ‘หลักฐานตายแล้วเกิด 20 ราย’ ของศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน สตีเวนสัน กับเพิ่มเติม 3 กรณีที่เขาพบเอง โดยเขาปรารภด้วยว่า ได้ถามศาสตราจารย์ชาวอเมริกันผู้นี้ว่า “สนใจเรื่องระลึกชาตินี้เพื่อประสงค์อะไร” ท่านว่า “ถ้าคนเชื่อเรื่องตายแล้วเกิดอีก คนจะทำดีขึ้นอีกมาก” ซึ่งเต็มประทับใจในความข้อนี้อย่างยิ่ง

นอกจากนี้ยังพบว่า เต็มมีหนังสืออีกเล่มหนึ่งคือ ‘วิธีปฏิบัติให้เกิดความสุขทางจิต’ ซึ่งเขาเขียนที่มาไว้ว่า “ปรารถนาจะเขียนเรื่องการปฏิบัติสักเรื่องหนึ่ง แนะนำวิธีปฏิบัติขั้นต้นๆ … ให้เห็นว่าการปฏิบัติทางจิตคือสมาธิหรือสมถะนั้น ปฏิบัติเพื่อมุ่งหมายอะไร ปฏิบัติอย่างไร และจะเกิดผลอย่างใด ทั้งนี้ โดยใช้ถ้อยคำง่ายๆ พอเข้าใจ จะได้เป็นแนวทางสำหรับผู้ยังใหม่ต่อการปฏิบัติ หรือผู้ปฏิบัติอยู่แล้วแต่ยังไม่สู้เข้าใจ

พิพัฒน์ โปษยานนท์ เล่าว่า เมื่อตนเองรู้สึกน้อยใจว่าคนที่ทำดีไม่ได้ดี แต่คนทำชั่วกลับได้ดีนั้น เต็มแนะนำว่าเป็นเพราะกรรมที่เขาทำดีไว้ในชาติปางก่อนช่วยให้เขาเจริญรุ่งเรือง แต่ชาติหน้าเขาย่อมจะได้รับผลกรรมของชาตินี้เป็นแน่ การซึ่งเราประกอบความดีไว้ย่อมไม่เสียหลาย อันเป็นการให้กำลังใจพิพัฒน์ได้มาก  ส่วน วิบูลย์ สุวิกรม เพิ่มเติมว่า เต็มยึดหลัก “ทำความดีเพื่อความดี” โดยไม่หวังผลอะไร

ที่เต็มเชื่อในเรื่องวิญญาณและชีวิตในสังสารวัฏ เพราะมีกรณีซึ่งเขาเคยประสบกับตนเอง เช่น เสน่ห์ โพธิปฐม เล่าว่า เต็มเคยเล่าให้เขาฟังว่า วันหนึ่งต้องไปงานศพคนรู้จัก แต่ไม่ทราบว่าเป็นบ้านหลังไหน เมื่อเดินเข้าไปในบริเวณระหว่างวัดโคนกับวัดอ่างแก้ว ก็แว่วเสียงปี่พาทย์ประโคมและได้กลิ่นธูป จึงนึกว่าเป็นบ้านผู้ตายแน่ ครั้นเดินตามไปก็ถึงจุดหมายจริงๆ แต่ไม่ปรากฏว่ามีการประโคมปี่พาทย์เลย จึงเห็นว่าวิญญาณผู้ตายคงมาช่วยนำทางไป

เต็มและมาลี ในวันแต่งงาน 9 สิงหาคม 2478
เต็มและมาลี ในวันแต่งงาน 9 สิงหาคม 2478

ชีวิตส่วนตัว

เต็มสมรสกับ มาลี จันทนสมิต ในวันที่ 9 สิงหาคม 2478 แต่กว่าที่จะสำเร็จได้ ก็ต้องฝ่าฟันอุปสรรคนานัปการ โดยเฉพาะการชนะใจพ่อตาของเขาคือ หลวงอนุสาสน์วินิจ (เจ๊ก จันทนสมิต) เปรียญธรรม 5 ประโยคจากสำนักวัดราชบพิธ  เนื่องจากแม้เต็มตกหลุกรักมาลีและเธอก็สนองรักตอบแล้ว แต่การสมรสก็ยังไม่ได้เกิดขึ้นโดยง่าย กล่าวคือ เต็มจะให้ผู้ใหญ่ไปคุยถึง 6-7 ครั้ง แต่คุณหลวงก็ยังไม่ตอบรับอะไร จนที่สุดหลังจากคุยกับผู้ใหญ่ฝ่ายเต็มแล้ว คุณหลวงก็สั่งให้เต็มและมาลีเขียนเรียงความเรื่อง ‘จุดมุ่งหมายของการมีคู่ครอง และการครองเรือน’ ท้ายที่สุด เต็มก็สอบผ่าน

มาลี เคยถามเต็มว่า “ทำไมมาคิดรักและแต่งงานกับดิฉัน ซึ่งสวยก็ไม่สวย รวยก็ไม่รวย มิหนำซ้ำรวนก็เก่งเสียด้วย” เต็มตอบว่า “อยากได้พ่อตา คุณหลวงอนุสาสน์วินิจ”  ในด้านชีวิตคู่ เธอและเขามีลูกด้วยกันรวม 6 คน

ลูกๆ เล่าว่า เต็มเป็นพ่อที่รักลูกๆ ดูแลลูกๆ เป็นอย่างดี แม้เมื่ออ่านหนังสือสอบปริญญาโท จะมีลูกๆ มากวนบ้าง แต่ก็ไม่ได้ว่าอะไร

ขณะที่ วิบูลย์ สุวิกรม เล่าว่า ในบ้าน เต็ม พ่อของเขาเป็นคนดุ มีระเบียบ และเข้มงวดมาก บางครั้งเอะอะ เอ็ดตะโรโมโห จนแม่ล้อว่า “นี่หรือ ธรรมะธรรมโม นั่งกรรมฐาน”  พ่อได้แต่แก้เก้อว่า “ก็นี่ขนาดใจเย็นลงมากแล้วนะ ถ้าเป็นเมื่อก่อนยิ่งกว่านี้


เที่ยวพม่า 21 พฤศจิกายน 2499

งานอดิเรก

เต็มชอบการทัศนาจร เพราะนับเป็นกำไรของชีวิต  เขาเห็นว่าการ “ได้นั่งรถพ้นกรุงเทพฯ ห่างความสับสน พ้นจากความจอแจก็เป็นสุขที่สุด สบายที่สุด” นอกจากนี้การไปเป็นคณะกับทัวร์ก็สะดวกสบาย และยังได้รู้จักเพื่อนใหม่อีกด้วย

เต็มชอบดูหนังมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ได้ภาษาอังกฤษ และชอบเพลงโหมโรง เพลงเถาของโรงหนังสมัยก่อน เพลงเหล่านี้เขาจำได้ขึ้นใจ แล้วมาสีไวโอลินด้วยตนเองหลายสิบเพลง  ในเวลาว่าง เต็มชอบสีไวโอลินเพลงไทยเดิม ส่วนมาลี ภรรยาของเขา สีซอด้วง ซออู้  บางครั้งก็ชวนเพื่อนๆ มาตั้งวงมโหรีกัน บ้างก็ซ้อมเพลงตับเพลงเถาร่วมกันพ่อแม่ลูก โดยที่ในบ้านของเขามีเครื่องดนตรีไทยแทบทุกชนิด

นอกจากการเล่นดนตรี เต็มยังเป็นนักแสดงละครด้วย ปี 2477 เป็นพระเอกเรื่องติดเบ็ดให้โรงเรียนมัธยมวัดทรงธรรม และยังแสดงละครให้พุทธสมาคมแห่งประเทศไทยอีกหลายครั้ง รวมถึงละครวิทยุในนามพุทธสมาคม ที่กรมประชาสัมพันธ์ด้วย

นอกจากนี้เต็มยังชอบปลูกต้นไม้ โดยเฉพาะไม้ดอก กับชอบสะสมนาฬิกาข้อมือ เปลี่ยนใช้หลายยี่ห้อ มีวางเรียงเป็นแถว ถูกบ้างแพงบ้าง สุดแต่ชอบใจจึงซื้อหามาใช้เป็นความสุขที่หาใส่ตนเอง โดยไม่ต้องเดือดร้อนขอยืมเพื่อนหรือใครๆ  นอกจากนี้เขายังสะสมเข็มกลัดและเนคไทด้วย

เต็มแสดงละครเรื่อง ขันติธรรม ของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย แสดงเป็นพระเจ้ากาสิกราช ที่คุรุสภา วันที่ 9 มกราคม 2509
เต็มแสดงละครเรื่อง ขันติธรรม ของพุทธสมาคมแห่งประเทศไทย
แสดงเป็นพระเจ้ากาสิกราช ที่คุรุสภา วันที่ 9 มกราคม 2509

ช่วงท้ายของชีวิต

เต็มมีสุขภาพดีมาตลอด จนมีนาคม 2516 จึงตรวจพบว่าป่วยเป็นมะเร็งตับ

วิบูลย์ สุวิกรม เล่าว่า เต็มผู้บิดาปรารภกับเขาหลายครั้งว่า “เวลาพ่อเจ็บหนักจะตาย ขอร้องอย่าทรมานพ่อเลย ขออย่าให้มีสายระโยงระยาง แยงจมูก แยงปากพ่อ พ่ออยากตายอย่างสงบ ด้วยใจอยู่ในกรรมฐาน มีสมาธิ มีสติเป็นที่ตั้ง เพราะพ่อเคยเห็นคนเจ็บหนักใกล้จะตาย มีเฟอร์นิเจอร์เต็มตัว รอบตัวไปหมด ทั้งเครื่องยนต์กลไก ช่วยการหายใจ คอก็เจาะ ประเดี๋ยวประด๋าวก็เอาสายยางแยงลงไปในคอที่เจาะไว้ลึกๆ มีเข็มแทงคาอยู่กับแขน-ขา น่าเวทนายิ่งนัก

แต่แล้วในที่สุด เต็มกลับต้องตายด้วยสภาพที่เขาไม่ปรารถนา แต่ก็เป็นไปตามจรรยามารยาทของแพทย์แผนปัจจุบันในยุคนั้น  ซึ่งทำให้วิบูลย์แย้งกับคนส่วนมาก เขาว่า พ่อของเขาไม่ได้ตายอย่างสงบ แต่สิ้นใจในห้องไอ.ซี.ยู. ด้วยความทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัสเพราะโรคร้าย สุดท้ายเต็มเสียชีวิต เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2516 รวมอายุได้ 65 ปี

ส่งท้าย

ท. เลียงพิบูลย์ ผู้เขียนหนังสือชุด ‘กฎแห่งกรรม’ พูดถึงเต็มว่า “คนอย่างคุณเต็ม สุวิกรม หายากในเมืองไทย ผู้ที่ปฏิบัติดีจิตใจสะอาดบริสุทธิ์ ทำประโยชน์แก่ส่วนรวมในยุคปัจจุบันนี้  ชาติต้องการคนอย่างคุณเต็ม สุวิกรม อีกมาก

แม้จะผ่านมาเกือบ 5 ทศวรรษแล้ว นับจากเมื่อเต็มจากไป แต่ชาติก็ยังคงต้องการคนธรรมดาๆ ที่สัตย์ซื่อมือสะอาด ไม่เบียดเบียนใคร และทำงานเพื่อประโยชน์ของสังคมอย่างเต็มอีกมาก อย่างไรก็ดี อยู่ที่พวกเราในปัจจุบันเองว่าจะขานรับหน้าที่นี้หรือไม่

เต็มกับภรรยา ก่อนไปงานเฉลิมฉลองสมโภชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 ธันวาคม 2515
เต็มกับภรรยา ก่อนไปงานเฉลิมฉลองสมโภชสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ที่ทำเนียบรัฐบาล
วันที่ 28 ธันวาคม 2515

หมายเหตุ

ถ้าไม่ได้ระบุไว้เป็นอย่างอื่น ภาพประกอบในบทความนี้มาจากหนังสือ ปรากฏการณ์โอปปาติกะ และ ผู้ระลึกชาติได้ในไทย โดย เต็ม สุวิกรม ซึ่งเจ้าภาพจัดพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายเต็ม สุวิกรม ท.ม. ต.ช. ณ เมรุวัดมกุฏกษัตริยาราม 6 มีนาคม พ.ศ. 2518

สำหรับเนื้อหาที่มาของการเขียนบทความนี้ก็มาจากหนังสือข้างต้น ในห้องศาสตราจารย์สุกิจ นิมมานเหมินท์ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save