fbpx
อ่านการเมืองญี่ปุ่น กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล

อ่านการเมืองญี่ปุ่น กับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล

101 ชวนอ่านการเมืองญี่ปุ่นกับ ธีวินท์ สุพุทธิกุล ภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
.
แม้จะเป็นประเทศพ่ายแพ้สงคราม แต่ญี่ปุ่นสร้างชาติใหม่จนได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในชาติมหาอำนาจและเป็นผู้เล่นสำคัญในเวทีการเมืองระหว่างประเทศมาหลายทศวรรษ แต่ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของการเมืองภายใน และภูมิศาสตร์การเมืองโลก ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับความท้าทายใหญ่ อันสมกับสถานะมหาอำนาจ
.
ญี่ปุ่นมองการเปลี่ยนแปลงและการปรับตัวอย่างไร?
.
ย้อนชมรายการฉบับเต็มได้ที่ https://www.the101.world/101-one-on-one-ep79/

:: จากปัญหาการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ และหนี้สินภายในประเทศของญี่ปุ่นที่ต้องแก้ไขมานาน ณ ตอนนี้ ญี่ปุ่นเหลือสถานะอะไรในโลกบ้าง ::

ญี่ปุ่นพยายามจะวางตัวให้คนในโลกเห็นว่าตัวเองมีบทบาทอยู่เหมือนกัน แต่บทบาททางเศรษฐกิจอาจจะลดลงมาแล้ว เพราะตอนนี้ก็ถูกจีนแซงหน้าไป จากเดิมที่ญี่ปุ่นเคยเป็นต้นแบบการพัฒนาทางเศรษฐกิจ เคยเป็นปาฏิหาริย์ทางเศรษฐกิจในช่วงปี 70-80 แต่พอมาปี 90 ญี่ปุ่นกลายเป็นบทเรียนที่ประเทศอื่นๆ ต้องเรียนรู้ว่าจะทำยังไงไม่ให้เศรษฐกิจชะลอตัวนานหลายทศวรรษแบบนี้

แต่ในเรื่องบทบาทของการให้ความช่วยเหลือชาติอื่นๆ โดยเฉพาะชาติด้อยพัฒนาต่างๆ ญี่ปุ่นก็ยังพยายามคงสถานะนี้อยู่ ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในประเด็นยุทธศาสตร์ระหว่างประเทศ เช่น พันธมิตรกับสหรัฐฯ ในกรอบสถาบันระหว่างประเทศ อย่างอาเซียน ญี่ปุ่นก็ยังคอยผลักดัน นโยบายตอนนี้ของญี่ปุ่นเป็นนโยบายเชิงรุก คือจะไม่ปล่อยให้ตัวเองลอยไปตามยถากรรมของโลก

:: ญี่ปุ่นอยู่ตรงไหนในสมการการจัดการกับประเด็นเกาหลีเหนือ ::

เดิมทีแล้วญี่ปุ่นไม่เห็นด้วยเท่าไหร่ที่อเมริกาเข้าหาเกาหลีเหนือ เพราะญี่ปุ่นจัดการประเด็นเกาหลีเหนือมานานแล้ว เกาหลีเหนือก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ไม่มีความพยายามที่จะผลักดันให้เกิดการขจัดนิวเคลียร์ออกไปจริงๆ ญี่ปุ่นเลยอาจจะมองว่าโดนัล ทรัมป์ที่มาใหม่ มองยุทธศาสตร์นี้ง่ายเกินไปรึเปล่า ไม่ใช่แค่ว่าทรัมป์เปิด Summit แล้วเกาหลีเหนือจะหันมาทำตามที่นานาชาติต้องการหรอก มีหลายฝ่ายที่มองว่าญี่ปุ่นมองสถานการณ์กับเกาหลีเหนือเป็นจริงที่สุด ไม่โลกสวย เพราะปัญหานี้มีมากี่ทศวรรษแล้ว ญี่ปุ่นก็พยายามบอกสหรัฐว่ายังไงก็ต้องกดดันต่อไปนะ

อีกเรื่องหนึ่งที่ญี่ปุ่นไม่ยอมเกาหลีเหนือง่ายๆ ไม่ใช่ประเด็นขีปนาวุธอย่างเดียว แต่ญี่ปุ่นมีประเด็นที่คนเกาหลีเหนือลักพาตัวคนญี่ปุ่นไปด้วยในช่วงปี 70-80 สังคมญี่ปุ่นให้ความสนใจมาก คนญี่ปุ่นกดดันรัฐบาลมากเลยว่า เมื่อไหร่ที่คุณเปิดความสัมพันธ์ หรือไปเจรจากับเกาหลีเหนือจะต้องมีเรื่องนี้ผูกติดไปด้วย เป็นเงื่อนไขสำคัญ ซึ่งผมคิดว่ารัฐบาลอาเบะเองก็ไม่สามารถที่จะดิ้นหลุดจากแรงกดดดันของสาธารณชนในญี่ปุ่นเหมือนกัน

ญี่ปุ่นก็คงไม่อยากถูกโดดเดี่ยวตัวเองออกไปเลยทีเดียว คิดว่าญี่ปุ่นอาจจะต้องเปลี่ยนยุทธศาสตร์เหมือนกัน ญี่ปุ่นไม่สามารถเป็นผู้กำหนดได้ทั้งหมด สุดท้ายอเมริกานี่แหละเป็นตัวกำหนดที่สำคัญ ญี่ปุ่นอาจจะต้องโอนอ่อนผ่อนตามกับสถานการณ์นี้ อาจจะต้องเปิดการเจรจากับเกาหลีเหนือก็ได้ แล้วก็ค่อยตะล่อมเกาหลีเหนือว่าเดี๋ยวเราจะมาช่วยแก้ปัญหานี้ร่วมกันนะ เรื่องลักพาตัวเดี๋ยวเราค่อยมาเคลียร์กันนะ หลังจากที่เปิดความสัมพันธ์ให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น

:: ตั้งแต่จีนเติบโตขึ้นมาทั้งในโลกเศรษฐกิจ และอิทธิพลทางการเมืองในโลก ญี่ปุ่นดีลยังไงกับการเติบโตขึ้นอย่างคุกคามของจีน ::

จริงๆ แล้วญี่ปุ่นก็มองว่าการเติบโตขึ้นของจีนเป็นประโยชน์ด้วยซ้ำ ทั้งกับญี่ปุ่นและเอเชียโดยรวม ถ้าเรามองว่าประเด็นด้านเศรษฐกิจเป็นประเด็นวิน-วิน ญี่ปุ่นก็ให้ความช่วยเหลือจีนมาตลอด ตามทฤษฎีการทำให้ทันสมัย (modernization) เขาก็มองว่าเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น ประชาชนก็จะเรียกร้องในเรื่งของการเมือง การมีส่วนร่วมมากขึ้น จีนอาจจะเปลี่ยนจากระบอบที่เป็นเผด็จการ มาสู่ระบอบที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แล้วแน่นอนว่าเป็นมิตรกับญี่ปุ่นมากขึ้นด้วย แต่อย่างที่เราเห็น มันไม่เป็นแบบนั้น

จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ ประเด็นข้อพิพาทระหว่างจีนกับญี่ปุ่น จีนเก็บซุกไว้หมดเลย เพราะยังไงจีนก็เห็นความสำคัญที่จะมีความสัมพันธ์อันดีกับญี่ปุ่นไว้ แต่ก่อนผู้นำจีนก็บอกว่าเราวางข้อพิพาทไว้บนหิ้งก่อน แล้วค่อยให้คนรุ่นหลังเจรจาจัดการแล้วกัน แต่ตอนนี้ก็ไม่เป็นอย่างนั้น จีนก็เอาความมั่งคั่งไปส่งเสริมเรื่องแสนยานุภาพทางทหาร จีนอาจจะมองเป้าหมายที่สำคัญคือการคานอำนาจกับสหรัฐฯ มากกว่า แต่ก็ทำให้ญี่ปุ่นวิตกกังวลไปด้วย

จีนใช้เรื่องสงครามกับญี่ปุ่นในอดีตเป็นเครื่องมือปลุกปั่นชาตินิยมในจีนเสมอมา ซึ่งก็ทำให้ญี่ปุ่นไม่บรรลุเป้าหมายที่จะเข้าไปช่วยเหลือจีน ตอนนี้ญี่ปุ่นเลยหันมาใช้แนวทางถ่วงดุลอำนาจกับจีน โดยการเข้าหาสหรัฐฯ มากขึ้น

:: ทำไมเราจึงไม่เห็นท่าทีผ่อนปรนของญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ::

ญี่ปุ่นอาจจะรำคาญรึเปล่า เพราะประเด็นเกาหลีใต้มีหลายเรื่องแล้ว ซึ่งเป็นประเด็นประวัติศาสตร์ทั้งนั้นเลย ก่อนหน้านี้ก็คือปัญหาหญิงบำเรอ (comfort women) ซึ่งญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้เคยทำข้อตกลงกันแล้วว่าจะต้องจัดการปัญหาเรื่องนี้ให้สิ้นสุด แล้วจะไม่มีการรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่อีกแล้ว ปรากฏว่าในระดับรัฐบาลตกลงกันเรียบร้อยแล้ว แต่ประชาชนเกาหลีใต้ไม่ยอม เพราะมองว่าข้อตกลงนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าญี่ปุ่นไม่ได้สำนึก ไม่ได้มีความจริงใจที่จะทบทวนปัญหาประวัติศาสตร์ของตัวเองเท่าไหร่ ก็เลยทำให้กระแสประชาชนลุกฮือต่อต้านญี่ปุ่นขึ้นมา

และเมื่อปีที่แล้วศาลสูงสุดของเกาหลีใต้พิพากษาออกมาว่าบริษัทญี่ปุ่นที่เคยใช้แรงงานแบบบีบบังคับในช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ามายึดครองเกาหลีในเวลานั้นจะต้องชดเชย ญี่ปุ่นก็บอกว่ามีข้อตกลงกับเกาหลีใต้มาตั้งแต่ตอนเปิดความสัมพันธ์แล้ว ปี 1965 ว่าเราจะยุติเรื่องนี้ ญี่ปุ่นจ่ายเงินชดเชยให้รัฐบาลเกาหลีใต้ไปแล้ว แต่คราวนี้ทำไมเกาหลีใต้ยังเอาเรื่องนี้ขึ้นมาอีก ญี่ปุ่นก็เลยรู้สึกว่าหลายรอบแล้วเหมือนกัน

เกาหลีใต้มองว่าญี่ปุ่นก็ควรจะแสดงคำขอโทษที่จริงจัง ญี่ปุ่นก็จะตอบกลับว่า ต้องขอโทษอีกกี่ครั้ง เลยเป็นปัญหาที่ไม่สิ้นสุดสักที ยิ่งทะเลาะกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งทำให้ความรู้สึกชาตินิยมของทั้งสองฝ่ายพลุ่งพล่า

:: กับสหรัฐอเมริกาซึ่งน่าจะเป็นพันธมิตรที่สำคัญ ญี่ปุ่นยังมีความสำคัญกับสหรัฐอเมริกาอยู่ไหม ::

สำคัญครับ แล้วญี่ปุ่นก็พยายามแสดงตนให้สหรัฐฯ เห็นว่าฉันสำคัญ โดยการปรับตัวต่างๆ นานา อะไรที่ยอมได้ อะไรที่จะทำให้สหรัฐอเมริกาพอใจก็ทำ รวมถึงการจัดการกับระบบกฎหมายต่างๆ ที่เคยเป็นอุปสรรคสำคัญ คือแต่เดิมพันธมิตรญี่ปุ่นกับสหรัฐฯ เรียกว่าเป็นพันธมิตรแบบไม่เท่าเทียม คือสหรัฐฯ จะต้องเข้ามาคุ้มครองปกป้องญี่ปุ่นเมื่อญี่ปุ่นถูกโจมตีโดยศัตรู การโจมตีญี่ปุ่นเท่ากับโจมตีสหรัฐฯ ด้วย แต่ถ้าสหรัฐฯ ถูกโจมตี ญี่ปุ่นไม่มีเงื่อนไขหรือว่าหน้าที่ใดๆ ที่จะต้องไปปกป้องสหรัฐฯ กลายเป็นว่าเหมือนญี่ปุ่นอยู่ในฐานะรัฐอารักขาของสหรัฐอเมริกา โดยที่ญี่ปุ่น ‘ไม่สามารถ’ และ ‘ไม่จำเป็น’ ต้องไปช่วยเหลือถ้าสหรัฐุูฯ ถูกโจมตี

แต่ในรัฐบาลอาเบะที่ผ่านมา ญี่ปุ่นเปลี่ยนแนวทาง บอกว่าสามารถใช้กำลังในการปกป้องสหรัฐฯ ได้เหมือนกัน ถ้าสหรัฐฯ ถูกชาติอื่นโจมตี แต่ญี่ปุ่นก็วางเงื่อนไขเหมือนกันว่าการที่สหรัฐฯ ถูกโจมตีนั้นจะต้องเท่ากับเป็นภัยคุกคามต่อญี่ปุ่นด้วย ญี่ปุ่นถึงจะช่วยเหลือได้

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

17 Jul 2020

ร่วมรากแต่ขัดแย้ง ความบาดหมางระหว่างอินโดนีเซียและมาเลเซีย

อรอนงค์ ทิพย์พิมล เขียนถึงความขัดแย้งระหว่างประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซีย ที่ทั้งสองประเทศมีรากเหง้าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมร่วมกันหลายอย่าง จนนำไปสู่ความขัดแย้งในการช่วงชิงความเป็นเจ้าของภาษาและวัฒนธรรมมลายู

อรอนงค์ ทิพย์พิมล

17 Jul 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save