fbpx
Teenage Wasteland : ในโลกที่ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ อยู่ในเกมแปดบิตและหุ่นยนต์กันดั้ม

Teenage Wasteland : ในโลกที่ ‘จิตร ภูมิศักดิ์’ อยู่ในเกมแปดบิตและหุ่นยนต์กันดั้ม

บอกตามตรงว่าหลังจบการแสดง เรายังไม่รู้ว่าจะเขียนถึงละครเวทีเรื่องนี้อย่างไร

 

โครงสร้างการเล่าเรื่องที่ไม่ปะติดปะต่อตามขนบ เนื้อเรื่องในโลกทั้งสามของละครที่แยกออกจากกัน (เกือบจะ) ชัดเจน ไดอะล็อกของนักแสดงที่ทั้งนามธรรมและรัวออกมาอย่างไม่หยุดตลอด 140 นาที คือสามปัจจัยหลักของความรู้สึกงงๆ จนกลายเป็นความรู้สึกต้อง ‘ตั้งสติก่อนสตาร์ท’ อย่างที่ว่า

ไม่ได้หมายความว่า Teenage Wasteland : Summer, Star and the (lost) Chrysanthemum ละครเวทีจากสองผู้กำกับวัยรุ่น ธนพนธ์ อัคควทัญญู และ ธงชัย พิมาพันธ์ุศรี จากกลุ่ม Splashing Theatre เป็นละครที่ไม่ดีหรือดูไม่รู้เรื่อง ในทางกลับกัน เรื่องราวแหว่งวิ่น ไม่ปะติดปะต่อในโลกทั้งสามของละครเรื่องนี้ต่างหาก ที่ดูจะเป็นตัวแทนความรู้สึกต่อ จิตร ภูมิศักดิ์ บุคคลในประวัติศาสตร์อันเป็นแรงบันดาลใจของสองผู้กำกับ ที่อยากสื่อสารเรื่องราวของเขาออกมาผ่านบทละคร และเราคาดว่าพวกเขาก็ตั้งใจให้เรารู้สึกถึงความไม่ปะติดปะต่อนั้น

ช่วงเวลา 140 นาที เริ่มต้นด้วยยุคสมัยปัจจุบันที่ Teenage Wasteland พาเราเข้าสู่โลกของ มิก เด็กหนุ่มผู้หมกมุ่นอยู่กับการสร้างละครเวทีเกี่ยวกับจิตร ภูมิศักดิ์ บุคคลที่เขา – เราอาจใช้คำว่า – ‘หลงใหล’ ซึ่งน่าจะเป็นแก่นสารหลักของเรื่องด้วยการเล่าเรื่องจากชีวประวัตรของจิตร (เราเห็นฉากสำคัญๆ ในชีวิตของเขาเช่นเหตุการณ์โยนบก หรือการไปทำหน้าที่เป็นครูสอนหนังสือ) แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือวิธีการเล่าเรื่องละครเรื่องนี้ ซึ่งไม่ได้แบ่งแยกโลกของมิกและจิตรออกจากกันอย่างสิ้นเชิง

ตรงกันข้าม ในฉากหลังที่ขมวดรวมเอาช่วงเวลาในชีวิตของจิตรเข้ากับหลังม่านฝึกซ้อมของมิกและนักแสดง (ที่ไม่ได้ยี่หระอะไรกับเรื่องราวของจิตรซักเท่าไหร่) มันได้สร้างการ ‘ข้ามไปมา’ ระหว่างโลกของทั้งสองคน ระหว่างมิกผู้หมกหมุ่นอยู่กับประวัติศาสตร์แหว่งวิ่นของชายใต้กรอบแว่นคงแก่เรียน และจิตรที่ถูก ‘สร้างขึ้นใหม่’ จนออกมาเป็นตัวละครตัวหนึ่งในโปรเจ็กต์ละครของมิก

อาจเป็นเพราะเขาเชื่อว่าพลังของคนหนุ่มสาวแบบจิตรขาดหายไปจากคนยุคปัจจุบัน การสร้างประวัติศาสตร์ส่วนตัวขึ้นมาใหม่จากความทรงจำเพียงบางส่วนของใครบางคน คงเป็นเครื่องมือ ‘เยียวยา’ ตัวเองของมิก รวมไปถึงพวกเราเอง

โลกใบที่สองที่ใช้การสร้างประวัติศาสตร์เป็นตัวดำเนินเรื่องหลัก คือเรื่องราวที่มีฉากหลังที่ (น่าจะ) เป็นชนบทรกร้างในเมืองที่ผู้คนถูกลบความทรงจำ และการเข้ามาของเด็กหญิงที่ฝันเห็นชายที่ตายไปแล้ว เพ่ือตามหาว่าอะไรที่ทำให้เขาหายไป ผ่านการค่อยๆ ตามระลึกความทรงจำของกลุ่มเพื่อนอีกสี่คนที่เคยตั้งฐานทัพลับๆ ตามประสาเด็ก สวมบทบาทเป็นตัวละครเกมอาร์พีจีแปดบิทเพื่อฆ่ามังกรในด่านสุดท้าย

มีหลายสัญญะที่ผู้กำกับใส่เข้ามาในพาร์ทนี้ให้เราตีความเทียบเคียง ทั้งการล้างความทรงจำของแม่มด เกมที่พวกเขาเล่น (ให้ตัวละครหนึ่งกำหนดเรื่องราวทั้งหมด โดยบอกว่าผู้เล่นอีกสี่คนสามารถออกความเห็นได้) และดอกเบญจมาศของภูมิผู้สูญหายที่ลอยไปติดอยู่บนต้นไม้ แต่แก่นของการดำเนินเรื่องที่วนเวียนอยู่กับการรื้อฟื้นความทรงจำของทั้งสี่ตัวละคร ผ่านการเข้ามาของผู้สูญหาย (ในอีกร่างหนึ่ง) คงเป็นสิ่งที่พอจะใกล้เคียงกับความทรงจำของเราที่นั่งดูอยู่ที่สุด

หากไม่นับจิตร ภูมิศักดิ์ที่เกี่ยวโยงกับประเด็นหลักของละคร เรามีผีผู้หายสาบสูญที่พร้อมกลับมาพาเราย้อนนึกถึงประวัติศาสตร์ ก่อนที่จะฆ่าไปอีกครั้ง และถูกแม่มดในดินแดนที่อาศัยสาปให้ลืมความทรงจำนั้นบ้างไหม

อีกโลกหนึ่งที่เราแอบสงสัยตั้งแต่เห็นรายละเอียดละครในหน้าอิเวนต์เฟซบุ๊กว่าจะเข้ากันกับอีกสองเรื่องได้อย่างไร คือโลกของสงครามระหว่างหมู่ดาวในโลกอนาคต ที่สองผู้กำกับได้แรงบันดาลใจมากจากการ์ตูนอนิเมะเรื่อง Mobile Suite Gundam และ Neon Genesis Evengelion (และสารภาพตามตรง เราเองก็ไม่เคยดู)

เล่าอย่างคร่าวๆ เส้นเรืี่องของพาร์ทนี้คือการต่อสู้ระหว่างเพื่อนรักสองคนที่คนหนึ่งเป็นชาว ‘อัลแตร์’ หรือกลุ่มกบฎ ส่วนอีกคนเป็นมนุษย์ที่อยู่เหนือมนุษย์อีกทีหนึ่ง หนทางที่จะเอาชนะได้มีแต่การจะต้อง ‘ทำลาย’ จิตใต้สำนึกของอีกฝ่ายเท่านั้น

ความซ้อนทับไปมา เกี่ยวโยงเข้าออกของตัวละครระหว่างการเล่าเรื่องระหว่างทั้งสามโลก แม้ว่าจะทำให้การเสพย์ Teenage Wasteland ออกจะดูยากอยู่บ้าง แต่หากตั้งใจดูดีๆ และลองเรียบเรียงเหตุการณ์ในแต่ละส่วน ก็อาจทำให้เราเห็นวงโคจรการสร้างและทำลายลงของประวัติศาสตร์ดินแดนปรักหักพังในโลกคู่ขนานแห่งนี้

 

เช่นเดียวกันกับในอีกโลกหนึ่งนอกโรงละคร ที่ไม่มีโมบิลสูทกันดั้ม ไม่มีเด็กทั้งห้ากับเกมอาร์พีจี ไม่มีจิตรในความทรงจำของมิก – เรากำลังสร้างความทรงจำใหม่จากเศษเสี้ยวของใครบางคน ลบประวัติศาสตร์ที่ไม่ต้องการทิ้ง เพื่อเยียวยาตัวเอง ก่อนจะถูกลบความทรงจำวนเวียนไปไม่รู้จบ

 

Teenage Wasteland : Summer, Star and the (lost) Chrysanthemum เปิดการแสดงจนถึงวันที่ 10 กันยายนนี้ ที่ห้อง Creative Industries โรงละคร M Theatre บัตรราคา 550 บาท / นักเรียนนักศึกษา 350 บาท เข้าไปจองบัตรและชมรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่นี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save