fbpx
วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ: สำรวจบาดแผลทางใจในระหว่างทางเติบโต

วัยรุ่นเจ็บแล้วจำ: สำรวจบาดแผลทางใจในระหว่างทางเติบโต

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์, กานต์ธีรา ภูริวิกรัย, สาธิตา เจษฎาภัทรกุล เรื่อง

กมลชนก คัชมาตย์, ปรัชญพล เลิศวิชา ภาพ

 

ชีวิตวัยรุ่นเป็นวัตถุดิบของเรื่องเล่าที่ดีที่สุด แต่บางครั้งก็เจ็บปวดที่สุด จริงอยู่ที่วัยรุ่นอาจยังเห็นโลกไม่มาก ยังไม่ทันอาบน้ำร้อนน้ำหนาว แต่โลกเท่าที่พวกเขามีก็เป็นโลกทั้งใบ และบางครั้งโลกทั้งใบนั้นก็สร้างความวิตกกังวล ความกดดัน และความเศร้าให้พวกเขาอย่างเหลือหลาย

หลายคนมองว่าเดี๋ยวความเจ็บปวดช่วงวัยรุ่นก็ผ่านไป แต่จะเป็นอย่างไร ถ้ามันทิ้งบาดแผลเอาไว้อย่างแนบเนียน กลายเป็นบุคลิกภาพ เป็นตัวตน ที่แม้อาจสร้างความแข็งแกร่งให้พวกเขา แต่ก็ยังส่งผลกับสักแง่มุมในจิตใจและอาจมีแต่พวกเขาที่รู้ ยังไม่นับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไปทุกวัน จนทำให้เราไม่รู้ว่าวัยรุ่นสมัยนี้ต้องเจอกับอะไรบ้าง

น้ำร้อนที่คิดว่าวัยรุ่นยังไม่เคยอาบ อาจเป็นน้ำอุณหภูมิปกติในระหว่างทางการเติบโตของพวกเขาก็ได้

101 สนทนากับวัยรุ่นจำนวนหนึ่งถึงบาดแผลทางใจที่พวกเขาเผชิญและยังจดจำ พร้อมมุมมองจาก นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นจากมีรักคลินิก ที่จะช่วยฉายภาพปัญหาอันซับซ้อนของวัยรุ่น เรื่องอะไรที่พวกเขากังวลใจและอาจส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต แล้วคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นผู้ปกครอง ญาติ หรือแม้กระทั่งครู จะสามารถโอบอุ้มพวกเขาไว้ได้อย่างไร

 

ถูกรังแกเพราะความต่าง ซ้ำเติมด้วยการ ‘รุม’

 

นักเรียนไทย

 

เมื่อพูดถึงเรื่องที่ทำให้คนคนหนึ่งโดนกลั่นแกล้งรังแก (bully) มากที่สุด หนึ่งในนั้นคือเรื่องรูปลักษณ์หรือลักษณะทางร่างกาย เรื่องของดรีม (นามสมมติ) ก็เช่นกัน

ดรีมไล่เรียงเรื่องราวในวัยเด็กให้ฟังว่า แม่คลอดเธอตอนอายุครรภ์ได้ 7 เดือน ทำให้ดรีมหยุดหายใจชั่วคราว เลือดไม่ไปเลี้ยงสมองส่งผลให้สมองช่วงหนึ่งทำงานได้ไม่เต็มที่ เมื่อโตมาดรีมจึงมีปัญหาหูได้ยินไม่ชัด ซึ่งเธอเคยพบแพทย์ตอนเรียนชั้นประถมเพื่อทดสอบการได้ยิน ผลปรากฏว่าเธอไม่ได้ยินเสียงที่แหลม เช่น เสียงนกร้อง แต่จะได้ยินเสียงทุ้มแทน ทำให้ดรีมรู้สึกว่าตัวเองพูดเสียงดังอยู่ตลอดเวลา เพราะหูได้ยินเสียงไม่เหมือนคนอื่น

“การที่ได้ยินไม่ชัดแบบนี้ทำให้เราย้ำคิดย้ำทำหน่อยๆ เราเป็นคนซีเรียสเรื่องการบ้านมาก แต่พอหูเป็นแบบนี้ก็ได้ยินที่คุณครูสั่งไม่ชัด เราก็จะถามเพื่อนซ้ำไปซ้ำมาว่าครูสั่งอะไร จนเพื่อนรำคาญเพราะเราถามย้ำบ่อย และเขาก็ไม่รู้ปัญหาของเราด้วย เราเลยไม่คุยเรื่องอื่นกับเพื่อนนอกจากเรื่องการบ้าน”

“พูดตรงๆ คือ เราไม่มีเพื่อนสนิทเลย ตอนประถมก็ไม่ค่อยได้เล่นกับใคร บางทีถ้ามีปัญหากับเพื่อน ครูก็ไปลงโทษเพื่อน ทำให้เรายิ่งไม่มีเพื่อนเข้าไปอีก รู้สึกว่าเหนื่อยและท้อไปหมด เลยหันไปอ่านหนังสือ เข้าห้องสมุด ตั้งใจเรียนมากกว่า”

ดรีมนิยามว่าชีวิตของเธอราบเรียบ เพราะไม่ได้คิดว่าการมีเพื่อนสำคัญอะไรเท่าไหร่ ดรีมใช้ชีวิตแบบมีหนังสือเป็นเพื่อนมาจนถึงชั้นมัธยมปลาย ที่เธอนิยามว่าเป็น ‘ฝันร้าย’ ที่สุดช่วงหนึ่งของชีวิต

ช่วงที่ขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ดรีมย้ายโรงเรียนและกลายเป็นเด็กใหม่ไม่กี่คนในห้อง นอกจากดรีมแล้วยังมีแนน (นามสมมติ) ที่ย้ายมาจากโรงเรียนเดียวกันด้วย เมื่อครูประจำชั้นเห็นพวกเธอสองคนมาจากโรงเรียนเดียวกัน ก็จะให้ทั้งสองคนนั่งคู่กัน แต่แนนปฏิเสธลูกเดียว

ดรีมบอกว่าเธอกับแนนก็ไม่เคยมีปัญหาอะไรกันมาก่อน แต่เช่นเดียวกับเพื่อนหลายคนที่มักจะรำคาญเวลาเธอถามอะไรย้ำๆ แนนก็เป็นหนึ่งในนั้น จึงปฏิเสธไม่อยากนั่งกับดรีม และนี่เองที่ทำให้เพื่อนในห้องเริ่มสงสัยว่า ดรีมมีปัญหาอะไร ทำไมเพื่อนไม่อยากนั่งด้วย

จุดเปลี่ยนครั้งใหญ่มาจากเรื่องที่ดูเป็นเรื่องง่าย (แต่อาจทำให้ใครหลายคนมีประสบการณ์ไม่ดีมาแล้ว) อย่างการเลือกที่นั่ง ตอนนั้นห้องเรียนของเธอใช้วิธีจับฉลากว่าใครจะได้นั่งกับใคร ซึ่งเป็นความคิดของหัวหน้าห้องที่อยากให้ทุกคนได้รู้จักเพื่อนใหม่ๆ แต่ห้องของดรีมมีเด็กที่ค่อนข้างมีปัญหาด้านอารมณ์อยู่คนหนึ่ง ซึ่งดรีมเองคอยดูแลและนั่งกับเพื่อนคนนี้มาก่อนหน้านี้แล้ว เมื่อถึงเวลาต้องจับฉลากเลือกที่นั่ง แนนก็พูดจาในทำนองเหยียดว่า ใครที่ได้นั่งกับเพื่อนคนนี้คงต้องโชคร้ายมากแน่ๆ แต่ผลการจับฉลากออกมาว่า แนนคือคนที่ได้นั่งกับเพื่อนคนนั้นเสียเอง

แนนนั่งร้องไห้และจะไม่ยอมรับผลดังกล่าว ทำให้หัวหน้าห้องตัดสินใจมาคุยและเกลี้ยกล่อมให้ดรีมนั่งกับเพื่อนที่มีปัญหาทางอารมณ์เหมือนเดิม ดรีมรู้สึกว่าเรื่องนี้ไม่แฟร์สำหรับเธอมากๆ แต่ดรีมในตอนนั้นเป็นคนไม่สู้คน ไม่กล้า และไม่อยากมีเรื่อง เธอจึงเลือกจะยอมรับผลเงียบๆ และไประบายกับเพื่อนต่างห้องแทน แต่การณ์กลับกลายเป็นว่าเพื่อนคนที่ดรีมระบายด้วยนำเรื่องนี้ไปเล่าให้หัวหน้าห้องฟัง แน่นอน หัวหน้าห้องไม่พอใจ ผสมกับการที่แนนเติมเชื้อไฟด้วยการนินทาดรีมให้เพื่อนทั้งห้องฟัง เพื่อนเกือบทั้งห้องจึงมีอคติและแบนเธอ โดยที่ไม่เคยมาถามดรีมสักครั้งว่าความจริงเป็นอย่างไร

“เราพยายามถามกลับตลอดว่าทำไม เราไปทำอะไรให้ แต่เราก็ไม่รู้ว่าทำไม แนนอาจจะมีอคติกับเราอยู่แล้วก็ได้ หัวหน้าห้องก็ไม่พอใจเรา นี่คือจุดเริ่มต้นเลย เรามีความรู้สึกไม่สบายใจตลอดว่าเราทำอะไรผิด โทษตัวเองตลอดเวลาว่าเราต้องไม่ยิ้มมากเกินไป ทำแบบนั้นแบบนี้ไม่ได้ คือเรามองว่าตัวเองเป็นคนผิดตลอดเวลา”

นอกจากการไม่มีกลุ่ม โดนแบน และถูกนินทาแล้ว ดรีมยังต้องเจอกับการพูดจากระทบกระทั่งจากแนนและกลุ่มเพื่อนของแนนด้วย เช่น วิจารณ์เรื่องรูปลักษณ์ว่าเธออ้วนเกินไป หรือนินทาว่าเธอไปทำศัลยกรรมมา สถานการณ์เช่นนี้ดำเนินไปเรื่อยๆ ทำให้ดรีมต้องอดทนมาโดยตลอด จนกระทั่งช่วงที่เรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เหตุการณ์บานปลายจนถึงขั้นทะเลาะกัน

ดรีมบังเอิญเซไปเหยียบรองเท้าของเพื่อนคนหนึ่งในกลุ่มแนน ทำให้เจ้าของรองเท้าไม่พอใจเอามากๆ แต่เพื่อนคนอื่นๆ พลอยโกรธดรีมไปด้วย ทั้งๆ ที่ตัวเองไม่ได้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง เพื่อนๆ พาดรีมไปเคลียร์กันในบริเวณที่ไม่มีกล้องวงจรปิด มีทั้งกลุ่มที่คอยยืนดูสถานการณ์และด่าดรีมด้วยถ้อยคำหยาบคายต่างๆ นานา

เมื่อสถานการณ์ดูแย่ลงเช่นนี้ ดรีมจึงตัดสินใจแก้ปัญหาด้วยการให้แม่ของเธอไปคุยแทน แต่เรื่องราวกลับแย่ลงกว่าเดิม เพราะเพื่อนคนนั้นกลับมาพาลที่ดรีมแทน “เขาด่าเราว่าหน้าส้นตีนบ้าง หน้าเหมือนตัวเงินตัวทองบ้าง อันนี้พูดแบบสุภาพนะ (หัวเราะ) เราทนไม่ไหวเลยสวนกลับไปว่าแกหน้าเหมือนตัวอะไรไม่รู้ เพื่อนคนนั้นก็ผลักเราล้มเลย ตอนนั้นคนทั้งห้องเห็นเหตุการณ์หมด บางคนก็มาช่วยพยุงเรา แต่ไม่มีใครอยากยุ่งมากเพราะกลัวซวยไปด้วย”

จากคนที่ยอมมาตลอด ดรีมเล่าว่าเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นสู้และไม่ยอมทนต่อการรังแกอีกต่อไป ในตอนนั้นเธอคิดถึงขั้นจะเอาเรื่องเพื่อนคนที่ผลักเธอตามกฎหมายให้ได้ แต่ผู้อำนวยการมาช่วยไกล่เกลี่ยและให้คู่กรณีพักการเรียนแทน ส่วนดรีม เธอนิยามว่าตัวเองเปลี่ยนไปจากเดิม เริ่มพูดตรงๆ มากขึ้นเวลาไม่พอใจเรื่องอะไร และจะสู้เพื่อตัวเองให้มากขึ้น

นอกจากการกระทำของแนนและกลุ่มเพื่อน อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ดรีมบอกว่า เธอ ‘เจ็บใจ’ มาก คือพฤติกรรมของเพื่อนคนอื่นที่ไม่เคยมาถามเธอเลยสักครั้งว่า จริงๆ เรื่องราวเป็นมาอย่างไร แต่กลับเลือกที่จะเชื่อคู่กรณีของเธอไปเสียหมด ไม่เช่นนั้นก็ปิดหูปิดตา ไม่รับรู้อะไรเลย

ผลกระทบจากการถูกรังแกในวัยมัธยมยังคงตามหลอกหลอนเธอจนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย ตอนที่เข้าเรียนปี 1 ใหม่ๆ เธอพยายามพูดคุยในกลุ่มไลน์คณะเยอะมาก เพราะรู้สึกว่าตัวเองต้องพยายามคุยกับเพื่อนเข้าไว้ และเคยเดินไปขอเป็นเพื่อนกับคนอื่นตรงๆ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่า “มันกลายเป็นเราฝืน พยายามตามใจคนอื่นตลอด ซึ่งก็อาจไม่ใช่วิธีที่ถูกต้องอยู่ดี”

“เรามีความสุขนะเวลาได้อยู่ในกลุ่มและเห็นเพื่อนๆ คุยกัน เราขอแค่เป็นผู้สังเกตการณ์ก็พอ แต่นั่นก็ทำให้เราไม่สนิทกับใครมากมาย รู้สึกว่ายังเข้าหาเพื่อนและอยู่กันแบบเฟรนด์ลี่ไม่สำเร็จจนถึงตอนนี้เลย รู้ไหมว่า เวลาเราจริงจังเรื่องเพื่อนมากๆ เราถึงขั้นวางแผนเลยนะ วันนี้จะไปคุยอะไร ต้องพูดอะไรดี ถ้าอยากไปกินข้าวด้วยต้องขอยังไง แต่ตอนนี้เราเลิกหวังไปแล้วว่าจะมีเพื่อนเยอะๆ ก็คิดแค่ว่าใครจะคบเราก็คบ ไม่คบก็ปล่อยไป ฝืนไปก็ไม่มีประโยชน์ สู้เป็นตัวของตัวเองดีกว่า”

เมื่อชวนดรีมมองย้อนกลับไปในอดีต เธอตอบทันทีว่า ในช่วงเวลาที่เลวร้าย ครอบครัวเป็นกำลังใจสำคัญที่อยู่เคียงข้างและช่วยเธอมาตลอด โดยเฉพาะคุณยาย ที่พร้อมจะช่วยเหลือเสมอไม่ว่าเกิดปัญหาอะไร

“เรารู้สึกว่า ในโลกนี้ไม่มีใครทำอะไรถูกใจคนอื่นไปซะทั้งหมดหรอก เวลาเราได้ยินอะไรมา ก็น่าจะไปลองทำความเข้าใจก่อนว่าเขาเจออะไรมา เขาเป็นแบบที่คนอื่นพูดถึงจริงไหม ก่อนจะตัดสินใคร”

เมื่อถูกถามว่าอยากบอกอะไรกับคนที่กำลังโดนรังแกอยู่ ดรีมตอบเร็วว่า “ไม่มีใครรังแกเราได้เท่ากับตัวเราเอง”

“เวลาเรามองตัวเอง เราจะเห็นข้อเสียของตัวเองก่อน ทั้งที่คนอื่นอาจจะเห็นข้อดีของเราก็ได้ เราทุกคนล้วนมีดีในแบบของตัวเอง”

“เราไม่ใช่คนไม่มีคุณค่า เพราะเรามีคุณค่าสำหรับตัวเองเสมอ” ดรีมทิ้งท้าย

 

การ bully ในหมู่เพื่อนที่รุนแรงจนผู้ใหญ่อาจคาดไม่ถึง

 

นักเรียนไทย

 

เมื่อถามว่าเริ่มโดนรังแกมาตั้งแต่ตอนไหน เฟิร์น (นามสมมติ) ตอบอย่างรวดเร็วว่า “ตั้งแต่อนุบาล”

ย้อนกลับไปในวัยเด็ก เฟิร์นมาจากครอบครัวชนชั้นกลางที่เลี้ยงดูและประคบประหงมเธอเป็นอย่างดี แต่เมื่อเริ่มเข้าเรียน เฟิร์นต้องเจอกับปัญหาเรื่อยๆ เธอเล่าว่า ตอนนั้นเธอไม่มีเพื่อนสักคน พอพักกลางวันก็ไม่มีคนนั่งกินข้าวด้วย ทำให้หลายครั้งที่เฟิร์นตัดสินใจไม่กินข้าวกลางวัน

“ในสังคมโรงเรียนแบบนั้น มันนั่งกินข้าวคนเดียวไม่ได้หรอก เขานั่งกันเป็นกลุ่มๆ ถ้าเราจะนั่งคนเดียวก็รู้สึกแปลกแยก คนอื่นก็คงมองว่าเราไม่มีใครคบ หรือบางทีถ้าต้องกินเราก็กินแค่ขนมปัง เพราะมันไม่ต้องกินที่โต๊ะ”

“บางวันที่พ่อแม่ไม่ต้องทำงาน เขาก็แวบมาหาที่โรงเรียน เอาข้าวมาให้กิน แต่เราก็กินได้นิดหน่อยเพราะทุกข์ใจ กินอะไรไม่ค่อยลง กินน้อยแบบนี้มาตั้งแต่เด็กจนโตจนผอมแบบนี้ไง (ชี้ที่ตัวเอง) บางทีก็รู้สึกเหมือนจะอาเจียน แต่ก็ไม่อาเจียนเพราะไม่มีอะไรในกระเพาะ”

เมื่อประสบกับปัญหาเช่นนี้ทำให้เฟิร์นต้องย้ายโรงเรียนบ่อย ซึ่งเธอเปรียบเปรยว่าเป็นการลาจากบาดแผลเดิมไปสู่บาดแผลใหม่ อีกทั้งเฟิร์นยังรู้สึกว่าเธอเป็นคนแปลกในสายตาเพื่อน ทำให้ต้องปกป้องตัวเองและมีเกราะตลอดเวลา มาถึงตรงนี้เฟิร์นเองก็ยอมรับว่า เธออาจจะเคยพูดจาไม่ดีกับเพื่อนบ้างเพราะโดนรังแกมาตลอด ประกอบกับเป็นคนที่เปิดใจยอมรับคนอื่นยากมาก ทำให้มองว่าทุกคนไม่ดีไปเสียหมดและสร้างเกราะกำบังตนเองขึ้นมา

ก่อนที่จะถึงช่วงที่เฟิร์นนิยามว่าเป็น ‘จุดพีก’ ของการถูกรังแก เธอต้องเจอกับการกลั่นแกล้งสารพัดรูปแบบชนิดในสมัยมัธยม เฟิร์นบอกว่า “ชีวิตเอกซ์ตรีมมาก” ทั้งถูกขังไว้ในห้องน้ำและถูกเอาน้ำสาดตามเข้าไป หรือถูกขังไว้ในห้องเรียนช่วงพักย่อยประมาณ 10 นาที ซึ่งเฟิร์นพูดติดตลกว่า “ก็ยังดีนะ พักย่อยมันประมาณ 10 นาที อย่างน้อยเพื่อนก็ยังเลือกขังถูกช่วง (หัวเราะ)”

แต่จุดพีกของการรังแกเกิดขึ้นตอนเฟิร์นเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เธอเล่าว่าตัวเองโดนปิง (นามสมมติ) เผาพริกเผาเกลือสาปแช่ง

“ตอนนั้นเรามีรูปอยู่ในจุลสารโรงเรียน ปิงก็ไปตัดรูปเรามาเผา เอาน้ำตาเทียนมาหยดไว้บนโต๊ะเรียนเรา แล้วก็เดินมาบอกเลยว่า เขาไปเผาพริกเผาเกลือสาปแช่งเรามา เดี๋ยวคงเห็นผล บอกตรงๆ ว่าตอนนั้นเรากลัวเลยแหละ และปิงก็เป็นคนเชื่อเรื่องไสยศาสตร์มากๆ ด้วย”

นอกจากเรื่องสาปแช่งแล้ว เฟิร์นยังเจอกับเหตุการณ์ที่เธอโดนเพื่อนทั้งระดับชั้น (ประมาณ 70 กว่าคน) แบนและไม่พูดกับเธอเพราะคำพูดของปิง ซึ่งเฟิร์นเองก็ไม่รู้เช่นกันว่าปิงไปพูดอะไร ทำไมทุกคนถึงฟังปิง แต่สิ่งที่แย่ที่สุดคือ เกือบทุกคนเชื่อและไม่คบกับเฟิร์น ขณะที่คนที่เหลือ แม้ไม่ได้แสดงท่าทีเกลียดชัง แต่ก็เลือกที่จะไม่ยุ่งเพราะไม่อยากมีปัญหา

สถานการณ์ดำเนินไปถึงขั้นที่เฟิร์นต้องเข้าห้องปกครองกับปิง เฟิร์นเล่าเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า “เรายกมือไหว้เขา ขอโทษถ้าทำอะไรผิดไป ให้อภัยกันได้ไหม แต่รู้ไหมว่าเขาตอบว่าอะไร เรายังจำได้จนถึงทุกวันนี้เลย เขาตอบว่า “ไม่มีวันให้อภัย ไม่ว่าจะทำยังไงก็จะไม่มีวันให้อภัย” ทั้งๆ ที่ไม่เคยโกรธแค้นกันมาก่อน เมื่อก่อนยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ลอกการบ้าน แวะมาเล่นบ้านเราด้วยซ้ำ เราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมเป็นแบบนี้”

แม้จะไม่รู้สาเหตุที่แน่ชัด แต่เฟิร์นมองว่าสาเหตุหนึ่งอาจมาจากการกระทำของครูด้วยเช่นกัน ที่ชอบนำเธอกับปิงมาเปรียบเทียบกันว่าเฟิร์นคบเป็นเพื่อนกับปิงได้อย่างไร ซึ่งเฟิร์นเชื่อว่าคุณครูไม่ได้ตั้งใจจะทำให้เกิดเรื่องแบบนี้ขึ้น แต่บางครั้งการกระทำของคนอื่นก็มีผลกว่าที่เราคิด

เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงจุดที่เฟิร์นคิดว่าตนเองเริ่มทนไม่ไหวอีกต่อไป ประกอบกับเป็นช่วงที่ต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย เฟิร์นตัดสินใจคุยกับทางโรงเรียนและขอเรียนที่บ้าน ไปที่โรงเรียนเฉพาะเวลามีงานต้องส่ง นั่นทำให้เธอผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้และสามารถสอบเข้าเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยรัฐบาลแห่งหนึ่ง การเข้าเรียนมหาวิทยาลัยนี่เองทำให้เฟิร์นรู้สึกว่า ทุกอย่างเริ่มดีขึ้น และเริ่มมองปัญหาการกลั่นแกล้งรังแกที่เกิดขึ้นอย่างถี่ถ้วนมากขึ้น

“ชีวิตตอนมหา’ลัยดีขึ้นนะ ส่วนหนึ่งก็เพราะเราไม่ต้องเจอปิงแล้ว ถึงจะเจอกับการพูดจาไม่ดีบ้าง แต่เพื่อนทุกคนก็โตๆ กันแล้ว เลยไม่มีใครมาอะไรกับเราตอนเหมือนมัธยม แล้วมหา’ลัยก็อิสระขึ้น จะออกไปไหนก็ออกไปได้ ไม่ต้องพึ่งพาคนอื่น ส่วนอาจารย์หลายท่านที่รู้ปัญหาของเราก็ใจดีมาก ยื่นมือมาช่วยเหลือเราตลอด ทั้งช่วยหาหนังสือให้อ่าน ให้คำปรึกษา หรือให้ทำงานบางอย่างแทนการเข้าเรียน”

เมื่อถูกถามว่า สภาพแวดล้อมรอบด้านจะสามารถเข้ามามีบทบาทในการจัดการและป้องปรามเรื่องการกลั่นแกล้งรังแกกันได้ไหม เฟิร์นตอบว่าการรังแกอาจจะเกิดขึ้นในที่ๆ ไม่มีใครมองไม่เห็น เสียงส่งมาไม่ถึง และไม่มีหลักฐาน จนบางครั้งคนรอบข้างก็ไม่สามารถช่วยเหลือคนที่ถูกรังแกได้หากไม่พยายามสังเกต

อีกประเด็นน่าสนใจที่เฟิร์นชี้ให้เห็นคือ หลายครั้งที่เกิดการโทษเหยื่อ (victim blaming) ในกรณีแบบนี้ โดยคนที่ถูกรังแกจะโดนมองว่ามีปัญหาเอง ทำตัวเองเลยต้องโดนคนอื่นแกล้ง ซึ่งเฟิร์นมองว่าผู้ใหญ่คงเข้ามาช่วยอะไรไม่ได้เลยถ้าไม่ยอมปรับ mindset ว่าทุกคนมีเหตุผลล้านแปดที่จะโดนกลั่นแกล้งรังแก

“ถ้ามองย้อนกลับไป เราก็ต้องขอบคุณตัวเองที่ผ่านมาได้ ส่วนคนที่ยังผ่านมาไม่ได้ จะให้บอกว่าอดทนนะ เดี๋ยวมันจะผ่านไป ก็ดูคลิเช่นิดนึง แต่มันเป็นแบบนั้นแหละ และบาดแผลนั้นจะกลายเป็นเศษเสี้ยวหนึ่งในชีวิตที่เข้ามามอบประสบการณ์ให้เราเป็นเราถึงทุกวันนี้ จงภูมิใจในตัวเองดีกว่า”

บทสนทนาดำเนินมาถึงตอนท้าย เฟิร์นนิ่งไปนานก่อนจะพูดถึงปิงอีกครั้งว่า “เราให้อภัยเขานานแล้วนะ ให้อภัยไปเลย แม้เขาจะบอกว่าไม่ให้อภัยเราก็เถอะ”

“ได้ยินมาว่าตอนนี้ปิงทำงานเป็นครูอยู่ เราก็ได้แต่หวังว่า ตอนนี้ เขาจะเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิม”

 

เมื่อความรักทำร้ายคนเป็นลูก บ้านย่อมไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัย

 

นักเรียนไทย

 

บางครั้งประสบการณ์ของผู้ใหญ่ หรือที่เรียกว่า ‘อาบน้ำร้อนมาก่อน’ กลับทำร้ายความรู้สึกภายในจิตใจของวัยรุ่นได้มหาศาล ผิดกับเจตนาอันดีที่มาจากความเป็นห่วง เช่นปัญหาในครอบครัวของแพนเค้ก (นามสมติ) วัยรุ่นที่เล่าว่าตัวเองเจ็บปวดจากครอบครัวมาทั้งชีวิต เพราะความรักความเป็นห่วงที่มากล้นของพ่อกลายเป็นการสร้างบาดแผลแทน

“ตอนเด็กๆ เราถูกเลี้ยงมากับการโดนตี การทำร้ายร่ายกาย ตอนแรกเราคิดว่าเรื่องที่โดนพ่อแม่ตีเป็นเรื่องปกติ แต่หลังๆ คือโดนเตะ โดนฟาดด้วยไม้ตียุงจนหัก รู้สึกว่ามันแรงไปแล้ว พอมีโซเชียลมีเดีย คนเริ่มออกมาแชร์ว่าเรื่องแบบนี้มันไม่ปกติ”

แพนเค้กเล่าถึงความเจ็บปวดที่ต้องเจอทั้งด้านร่างกายและจิตใจ เริ่มจากการพูดจาด้วยถ้อยคำเสียดแทง ไปจนถึงการทำร้ายร่างกาย ปัญหาหนึ่งที่เป็นชนวนคือพ่อของเค้กกลัวว่าลูกจะผิดพลาดเหมือนตนเอง

แพนเค้กเล่าด้วยเสียงสั่นคลอว่า “พ่อกับแม่เขาไม่อยากให้เราต้องไปเจอเหตุการณ์ตอนที่ไม่พร้อมมีลูกเหมือนเขา มันลำบาก”

“เราเจอเหตุการณ์แบบนี้มาตั้งแต่เด็ก แต่มาหนักตอนช่วง ม.ต้น เป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ พ่อเรากังวลมาก ด้วยความที่แม่เรามีลูกตั้งแต่อายุ 16 เขาไม่อยากมีลูกสาว แต่เราดันเป็นลูกสาวคนโตของบ้าน เขายิ่งกลัวไปใหญ่ว่าเราจะเป็นเหมือนแม่ พอช่วง ม.ปลาย เราเริ่มมีความคิดแล้วว่าสิ่งที่เขาทำมันไม่ควร เราเริ่มต่อต้าน แต่สถานการณ์กลับยิ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ”

บางครั้งสาเหตุที่ทำให้พ่อกระทำรุนแรงกับเธอก็นอกเหนือไปจากความเป็นห่วง แต่เป็นอารมณ์ร้อนของพ่อที่แผดเผาความรู้สึกของเธอ เหตุการณ์ที่ฝังใจแพนเค้กที่สุดเพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่นาน แพนเค้กเล่าย้อนไปยังวันนั้น เรื่องราวเกิดขึ้นในวันฝนตก ขณะที่แม่กำลังเก็บผ้าที่ตากไว้

“แม่จะเก็บเข้ามาทำไมมันชื้น เดี๋ยวพ่อก็ด่าหรอก” แพนเค้กเลียนคำพูดตัวเอง พร้อมเล่าต่อว่าไม่ทันขาดคำของเขา พ่อก็เริ่มส่งเสียงด่า

“เหมือนพ่อเขาไม่พอใจแม่แต่มาลงกับเรา เขาพูดย้ำว่าให้เราขึ้นห้องไป เรากำลังนั่งอยู่พ่อก็มาจิกหัวเราเพื่อให้ขึ้นห้อง ส่วนแม่เดินมาบอกว่าอย่ามายุ่งกับเรา แต่ไม่มีใครฟังใคร ซักพักพ่อก็เดินไปหยิบไม้เบสบอลเหมือนจะฟาด เราเลยวิ่งหนีขึ้นห้องไปเลย พ่อพูดว่าจะไปไหนก็ไป ไม่ต้องกลับมาแล้ว

“เราตัดสินใจเก็บเสื้อผ้าแล้วออกจากบ้านไปอยู่หอเกือบเดือน สุดท้ายแม่ก็โทรบอกให้กลับบ้าน แม่บอกว่าไปคุยกับพ่อมาแล้วว่าให้พูดกับเราดีๆ แต่สุดท้ายก็ยังเหมือนเดิม”

แพนเค้กเล่าว่าตอนที่ถูกพ่อทำร้ายร่างกาย แม่ก็อยู่ด้วย แต่บางครั้งแม่กลับนิ่งเฉย เพราะบ้านนี้พ่อมีอำนาจมากที่สุด ทุกคนต้องฟังพ่อ หลายครั้งเมื่อแพนเค้กมีปัญหาจึงไม่เลือกพูดคุยปรึกษาพ่อแม่

“แม้ว่าอายุจะไม่ได้ห่างกันมาก แต่ไม่ได้สนิทใจที่จะคุยถึงขั้นนั้น กลายเป็นว่าคนที่คุยได้ทุกเรื่องคือน้องชายมากกว่า น้องเรายังเคยพูดกับพ่อว่า พ่ออยากให้เราบอกทุกอย่างกับพ่อ แต่พ่อก็เป็นซะแบบนี้”

การร้องไห้ และการระบายข้อความลงโซเชียลมีเดียเป็นทางระบายอารมณ์ที่ดีที่สุดของแพนเค้กในตอนนั้น เธอเล่าว่าเวลาโดนกระทำมาหมาดๆ เธอจะรู้สึกว่าต้องหนีออกจากบ้านและจะไม่กลับมาอีก เพราะที่บ้านไม่ใช่พื้นที่ปลอดภัยของเธอ ถึงอย่างนั้นเธอก็พบตัวเองกลับมาที่บ้านเสมอ นั่นเพราะความหวังที่ยังมีในคำว่า ‘ครอบครัว’

“พอเขาพูดดีด้วยก็ใจอ่อน เพราะเขาก็คือพ่อ แต่พอโดนอีกก็เจ็บอีก ถ้าเรียนจบก็คงออกไปอยู่ข้างนอก นานๆ ทีเจอกันดีกว่า อยู่ด้วยกันมากๆ ก็โดนทำร้าย

“ที่บ้านไม่เคยพูดขอโทษ แต่จะใช้วิธีพูดดีๆ ด้วย เช่น เรียกลงมากินข้าว แต่พอเขาไม่ขอโทษ เลยทำให้เราไม่ขอโทษเขาเหมือนกัน”

ด้วยเหตุการณ์ที่ได้เจอมาตลอดชีวิตทำให้แพนเค้กรู้สึกว่าตัวเองถูกตีกรอบจนไม่เหลือความเป็นตัวเองอยู่เลย บาดแผลทั้งกายและใจสร้างระยะห่างระหว่างเธอกับที่บ้าน กระทั่งตัวตนของเธอก็ถูกซ่อนไว้เสมอเมื่ออาศัยในบ้าน

“เรารู้สึกไม่ค่อยเป็นตัวเอง เวลาอยู่บ้านกับอยู่หอก็เป็นคนละแบบเลย ทั้งเรื่องแต่งตัว ดูหนัง ฟังเพลง  ถ้าเราดูอะไรแล้วเขาบอกว่าไม่ดี ให้ปิด เราก็ต้องปิด พออยู่บ้านเราก็เลยอยู่แต่ในห้อง เขาก็จะชอบบ่นว่าทำไมอยู่แต่ในห้อง แต่เรารู้สึกว่าอยู่คนเดียวเราเป็นตัวเองได้มากกว่า เราก็ไม่รู้ว่าอิสระของตัวเองจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่”

หลายครั้งที่ แพนเค้กเตรียมคำพูดไปพูดกับพ่อ เธอรู้ว่าพูดแบบไหนพ่อถึงจะรับฟัง แต่เมื่อได้พูดคุยกันจริงๆ เธอกลับได้พบกับกำแพงสูงใหญ่ในใจที่พ่อสร้างเอาไว้ “บางทีเราก็อยากให้เขาตีกรอบน้อยลง เขาตีกรอบเพราะกลัวว่าเราจะไปเจอในสิ่งที่เขาไม่อยากให้เจอ แต่เราคิดว่าพอโตขึ้น เราก็ต้องไปเจอเองอยู่ดี เช่น เขาห้ามไม่ให้มีแฟน เราก็ยิ่งอยากรู้ว่าทำไมต้องห้าม”

“เขารักเราแหละแต่แสดงออกไม่ถูกวิธี เขาแสดงออกไม่เก่ง ถ้าพ่อเราเข้าใจเราจริงๆ เราก็อยากคุยกับพ่อทุกเรื่อง ไม่อยากใส่หน้ากากเข้าหาเขาแล้ว”

 

วัยรุ่นยุคปัจจุบันมีบาดแผลที่ซับซ้อนขึ้น – นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่น

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นจากมีรักคลินิก

 

นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยาเด็กและวัยรุ่นจากมีรักคลินิก เปรียบเทียบสภาพจิตใจวัยรุ่นเป็นรถที่มีเครื่องแรง อารมณ์ของพวกเขาจะมีความเข้มข้นและความฉับไวสูง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี ‘น้ำมันเบรก’ หรือความยับยั้งชั่งใจที่น้อยกว่าวัยผู้ใหญ่

“วัยรุ่นจะใช้สมองส่วน limbic systems ในการทำงาน ซึ่งทำงานในแบบอารมณ์นำเหตุผล อารมณ์นำความคิด เปรียบให้เหมือนกับรถที่เครื่องดีมากเลย แต่น้ำมันเบรกยังไม่ดีเท่าผู้ใหญ่ ดังนั้นจึงเกิดความหุนหัน หลายครั้งตัดสินโลกรวดเร็ว โกรธก็โกรธเร็ว เศร้าก็เศร้าเยอะ กังวลก็คิดซ้ำๆ”

นอกเหนือไปจากความหุนหันของอารมณ์และความรู้สึก นรพันธ์ยังชี้ให้เห็นว่าวัยรุ่นเป็นวัยที่มีอารมณ์คาดเดาได้ยาก ต้องการมีพื้นที่ส่วนตัว และมีปฏิสัมพันธ์ที่ขยับจากพ่อแม่ไปสู่แวดวงเพื่อนฝูงมากขึ้น

“เราจะรู้ว่าเขาเป็นวัยรุ่น ถ้าเราเริ่มเห็นว่า 1.อารมณ์เดาได้ยาก 2.เขาเริ่มมีพื้นที่ส่วนตัว 3.รูปแบบปฏิสัมพันธ์ที่เปลี่ยนจากครอบครัวออกไปสู่โลกและเพื่อนๆ เขาเริ่มอยากสนิทกับใครแบบเพื่อน เขาเริ่มอยากมองเพศตรงข้ามหรือเพศเดียวกันแบบคนรัก”

นรพันธ์เล่าว่าความวิตกกังวลของวัยรุ่นที่สามารถส่งผลต่อสุขภาพจิตได้ ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องเป้าหมายในอนาคต ความสัมพันธ์กับเพื่อนหรือคนรอบข้าง และการกังวลว่าเพื่อนรอบตัวจะมองเราว่าเป็นอย่างไร สำหรับวัยรุ่นในยุคปัจจุบันที่มีอินเทอร์เน็ตเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต พวกเขาก็จะได้รับข้อมูลข่าวสารจำนวนมากและหลากหลาย ยิ่งทำให้เรื่องที่สร้างความกังวลเหล่านี้ซับซ้อนขึ้นไปอีก

“ถ้ายุคก่อนวัยรุ่นก็กังวลเรื่องเป้าหมายในอนาคต เรื่องความสัมพันธ์ เรื่องเพื่อนปัจจุบันว่าจะมองเราแบบไหน ถามว่าวัยรุ่นตอนนี้กังวลเรื่องอะไรก็คงไม่ต่าง แต่มันหลากหลายขึ้น ซับซ้อนขึ้น อย่างเรื่องเพศเด็กมองตัวเองในหลายมิติเพศ วันนี้อยากเสนอตัวเองเป็นเพศวิถีนี้ก็เป็นแบบนี้ หรือเรื่องเพื่อน สมัยก่อนเราก็จะรู้ว่าเพื่อนโอเคหรือไม่โอเคกับเราจากสิ่งที่เราเห็น สิ่งที่เพื่อนทำในห้อง หรือนอกห้อง แต่ตอนนี้เด็กจะกังวลว่าจะมีกลุ่มไลน์ลับที่ไม่มีฉันหรือเปล่า”

ถึงวัยรุ่นสมัยนี้จะต้องเผชิญกับความท้าทายทางจิตใจที่เพิ่มมากขึ้น แต่พวกเขาก็มีความตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต เช่น การยอมรับว่าความเจ็บป่วยทางจิตเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้เหมือนการเจ็บป่วยทางกาย การแชร์ข้อมูลและให้ความรู้เรื่องสุขภาวะเบื้องต้นผ่านโซเชียลมีเดีย แต่นรพันธ์ก็แสดงความกังวลว่า บางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้บ่งบอกว่าวัยรุ่นรู้เท่าทันเรื่องสุขภาวะทางจิตจริงๆ นอกจากนี้ในโซเชียลมีเดียยังปะปนไปด้วยตัวอย่างที่อันตรายและข้อมูลเท็จ

“โซเชียลมีทั้งเรื่องดีและไม่ดี เรื่องดีก็คือ เด็กๆ ได้รู้ว่าถ้าฉันป่วยจะมีอาการอย่างไรได้บ้าง ไปหาหมอที่ไหนได้ เป็นการสนับสนุนสุขภาวะเชิงบวกเลยนะ แต่ในขณะเดียวกัน การนำเสนอวิธีการทำร้ายตัวเองในสื่อโซเชียลบางแห่ง กลับเป็นดาบคมเดียว คนที่ไม่เคยคิดทำร้ายตัวเองมาก่อนอาจถูกกระตุ้นซ้ำๆ แล้วรู้ว่าสิ่งเหล่านี้ทำได้ เพราะฉะนั้นความเชื่อว่าเศร้าแล้วเท่ากับทำร้ายตัวเองก็เกิดขึ้น หรือบางคนก็ให้ความเชื่อผิดๆ เหมือนกัน เช่น อย่าไปกินยาเลย ยาที่หมอให้ต้องกินไปตลอดชีวิต”

จริงอยู่ที่การวิตกกังวลเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับวัยรุ่นได้ตามปกติ และไม่ได้แปลว่าพวกเขาจะมีปัญหาสุขภาพจิตเสมอไป แต่ถ้าวัยรุ่นเริ่มมีอาการทางร่างกาย ความคิดหรือรูปแบบพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป นั่นแปลว่าพวกเขาส่งสัญญาณออกมาแล้วว่า พวกเขา ‘ไม่โอเค’

“เราจะรู้ว่าวัยรุ่นกำลังมีปัญหาจาก 1.วัยรุ่นเริ่มมีอาการทางกาย เช่น ขาดสมาธิ หมดแรง 2.มีรูปแบบความคิดเป็นแพทเทิร์นซ้ำๆ ที่หยุดคิดได้ยาก 3.พฤติกรรมไหนที่เคยทำแล้วมีความสุขก็จะทำน้อยลง ส่วนพฤติกรรมไหนไม่เคยทำก็อาจทำมากขึ้น”

หลายครั้งสัญญาณเหล่านี้ก็ไม่ได้เผยออกมาให้เห็นได้อย่างชัดเจน แม้กระทั่งตัววัยรุ่นเองก็ยังไม่รับรู้สัญญาณของตัวเอง ดังนั้นนรพันธ์จึงแนะนำให้วัยรุ่นลองฝึกสังเกตอารมณ์ความรู้สึกและพฤติกรรมของตัวเอง ส่วนรอบข้างก็สามารถมีบทบาทคอยสอดส่องสัญญาณที่ผิดปกติของวัยรุ่นได้ และเมื่อรับรู้ถึงความ ‘ไม่โอเค’ ที่เกิดขึ้นแล้ว นรพันธ์แนะนำให้วัยรุ่นที่กำลังเจอปัญหาเหล่านี้เข้าไปรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาจากจิตแพทย์ เพื่อให้ได้รับการดูแลรักษาที่ถูกต้องต่อไป

ปัญหาสุขภาพจิตเป็นปัญหาปกติที่วัยรุ่นทุกคนสามารถพบเจอได้ แต่คงไม่มีใครอยากให้พวกเขาอยู่ในสภาวะอันเจ็บปวดจากปัญหาด้านจิตใจแน่ๆ เพราะฉะนั้นแล้ว นรพันธ์เสนอให้วัยรุ่นรู้จักรู้เท่าทันอารมณ์ของตัวเองให้มากขึ้น และในพื้นที่โลกออนไลน์ที่มีการให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาสุขภาพจิต ก็ควรเลือกหยิบมาแต่สิ่งมีประโยชน์ หรือทักษะที่จะเอื้อให้เกิดความสุขขึ้นได้ อย่าไปหยิบจับข้อมูลที่ไปกระตุ้นให้สุขภาพจิตของตนเองแย่ลง

ส่วนผู้ปกครองก็ควรให้ความเคารพกับขอบเขตและพื้นที่ส่วนตัวของวัยรุ่น ไม่ควรใช้วิธีการสื่อสารในลักษณะกดทับ ซึ่งสร้างความอึดอัดให้กับวัยรุ่นและรังแต่จะทำให้พวกเขายิ่งหลีกหนีต่อต้านกว่าเดิม อีกสิ่งที่ผู้ปกครองควรให้ความสำคัญคือการให้สิทธิวัยรุ่นในการทดลองทำหรือเป็นในสิ่งที่เขาต้องการ เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่ต้องการเห็นศักยภาพของตัวเอง

“วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากเห็นความสามารถตนเอง ถ้าผู้ใหญ่เข้าไปห้ามทันทีก็เหมือนไปเข้าไปขวางรถปอร์เช่ที่แรงแต่เบรกไม่มี ดังนั้นสิ่งที่ผู้ใหญ่ทำได้คือขับตามไปก่อน ไปประกบข้างๆ แล้วถามเขาว่าจะไปไหน ถ้าตรวจสอบติดตามว่ามันไม่ได้อันตรายก็อนุญาตให้เขาได้ไปทดลอง ทดลองเสร็จให้เขาได้รู้ว่ากลับมาเล่าให้เราฟังได้นะ เราจะไม่ตำหนิ เราจะรับฟังความเห็นและความรู้สึกที่เขามีแบบเปิดใจ อย่างนี้ดีมากเลย วัยรุ่นก็ได้ลองด้วย ความสัมพันธ์ก็ยังอยู่ด้วย”

ปัจจุบันวัยรุ่นหลายคนพบความขัดแย้งกับครอบครัว เกิดการปะทะจนแตกหักกันระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ บางคนไม่เห็นว่าบ้านเป็นสถานที่เขารู้สึกสบายใจในการพูดเรื่องจิตใจ นรพันธ์จึงยิ่งเน้นย้ำให้ผู้ใหญ่เห็นความสำคัญของการรับฟังและการแสดงความรู้สึกของวัยรุ่น

“สิ่งแรกในการรับฟังเมื่อวัยรุ่นมีปัญหาทางอารมณ์ คือฟังอารมณ์ให้จบก่อน ให้อารมณ์ได้ถูกระบายจนค่อยๆ ผ่อนคลายแล้วค่อยว่ากัน ผู้ใหญ่ในวัฒนธรรมไทยเน้นสอน ไม่ใช่ว่าสอนไม่ได้ แต่สอนตอนที่รถกำลังแรงๆ ไม่น่าจะเวิร์ก เขาก็ยิ่งหลีกหนีเราไปเพราะเชื่อว่าพูดไปก็ไม่มีใครฟัง”

นอกจากผู้ปกครองที่เป็นตัวละครสำคัญที่ควรรับรู้เรื่องสุขภาวะทางใจของวัยรุ่นแล้ว นรพันธ์ยังเสนอว่า บุคคลแวดล้อมอื่นๆ เช่น ครู ก็เป็นอีกบุคคลที่ควรเข้าใจสภาพจิตใจของวัยรุ่นด้วยเช่นกัน

“ครูคือด่านหน้าที่สามารถสังเกตวัยรุ่นได้ก่อนที่พวกเขาจะมีปัญหา การสร้างนักบำบัดเป็นการแก้ปัญหาตอนปลาย แต่การสร้างระบบให้ครูหรือพ่อแม่ได้เรียนรู้เรื่องสุขภาพจิตก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน”

 


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save