ความคิดซ่อนไม่ได้ เมื่อเทคโนโลยีอ่านใจเราอยู่

ความคิดซ่อนไม่ได้ เมื่อเทคโนโลยีอ่านใจเราอยู่

[box]บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill[/box]

 

Eyedropper Fill เรื่อง

ใครที่ติดตามสตูดิโอของเราคงพอทราบว่า พวกเรามักจะบันทึกผลงานทดลองออกแบบชิ้นเล็กชิ้นน้อย ปล่อยลงเฟซบุ๊กอย่างสม่ำเสมอ อย่างวิดีโอล่าสุดที่เพิ่งปล่อยไปเป็นการทดลองเล็กๆ ที่นำพัดลมคอมพิวเตอร์บวกกับเซ็นเซอร์จับการเคลื่อนไหว ทดลองเล่นกับผ้าและแสงโปรเจ็กเตอร์ ผลลัพธ์ที่ออกมาในวิดีโอดูคล้ายคลื่นน้ำในทะเล คนก็ดูชอบและตื่นเต้นกันพอควร วัดจากคนดูเกือบสองพัน คนกดไลค์ 65 คน, กด Love 8 คน และกด Wow 6 คน มีคนแชร์และคอมเมนต์ในทางชื่นชอบหลายคน

ปัญหาอย่างเดียวก็คือ… เราจะมั่นใจได้ยังไงกันล่ะว่าคนดูรู้สึกชอบมันจริง ?

เมื่อเราไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า คนกด Wow เขาตะโกนคำว่าว้าวออกมาหลังดูจบ หรือคนที่กด Love หัวใจเขาเต้นแรงเมื่อได้ดูจริงๆ ไม่เฉพาะในเฟซบุ๊กเพราะหลายครั้งเราเลือกจะไปดูให้เห็นกับตา เวลาทำงานนิทรรศการก็พยายามปะปนไปกับคนดูเพื่อสังเกตว่าพวกเขารู้สึกยังไงกับงานเราอยู่กันแน่ แต่ก็พบเพียงใบหน้าเรียบเฉย ได้แต่เดาว่าภายใต้ผิวหนังนั้น เลือดของเขาสูบฉีดแรงขึ้นหรือเปล่า หรือสารความสุขของเขากำลังพรั่งพรูอยู่ไหม ?

ในขณะที่คนรอบตัวส่ายหน้าและบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ความรู้สึกมันวัดกันได้ที่ไหน เมื่อสัปดาห์ก่อนผมก็พบคำตอบแล้วว่า ความรู้สึกมันวัดได้จริงๆ ผ่าน TED ที่ชื่อว่า Technology that knows what you’re feeling

นักประสาทวิทยาและ Technologist ชื่อ Poppy Crum เธอพูดบนเวทีว่า ‘ความรู้สึก’ ที่ถูกมนุษย์มองว่าเป็นเรื่องข้างใน แท้ที่จริงแล้วมันไม่ใช่เลย เพราะทุกครั้งที่เราเกิดความรู้สึกใดๆ ร่างกายจะส่งสัญญาณออกมาข้างนอกโดยอัตโนมัติ

ความคิดซ่อนไม่ได้ เมื่อเทคโนโลยีอ่านใจเราอยู่, Poppy Crum, technologist
ภาพจากเว็บไซต์ www.ted.com

เธอยกตัวอย่างว่า แม้เราจะปั้นหน้าตายขนาดไหน แต่ทุกครั้งที่สมองของเราทำงานหนัก รูม่านตาของเราจะขยายออกในทันที และหดเกร็งกลับมาดังเดิมเมื่อสมองกลับมาทำงานปกติ นี่คือกลไกของร่างกายที่เราไม่สามารถซ่อนได้

Poppy เกรงว่าคนดูในฮอลล์จะไม่เห็นภาพ เลยพิสูจน์ด้วยการติดเซ็นเซอร์วัดค่าคาร์บอนไดออกไซด์ในฮอลล์ที่เธอกำลังยืนพูดอยู่ แสดงผลออกมาเป็นกราฟสี โดยในสถานการณ์ปกติเป็นสีน้ำเงิน จากนั้นเธอลองเปิดคลิปวิดีโอจากหนังสยองขวัญที่มีซาวน์เอฟเฟกต์เสียงกรีดร้อง และทันทีที่เปิด กราฟคาร์บอนไดออกไซค์ก็ทะยานสูงขึ้นจนเป็นสีแดงเข้ม ซึ่งเป็นสัญญาณว่าสมองของคนในฮอลล์อยู่ในภาวะตึงเครียดจนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาทางลมหายใจมาก เรารู้ได้ทันทีว่าคนในฮอลล์กำลังกลัวแม้ไม่มีใครทำปากหวอตาโตหน้าซีดให้เห็นก็ตาม สุดท้าย เมื่อเธอลองเปลี่ยนเสียงในคลิปเดิมเป็นซาวน์เอฟเฟกต์ตลกๆ กราฟก็ค่อยๆ กลับมาเป็นสีน้ำเงินเหมือนตอนเริ่มต้น การทดลองนี้เป็นอีกตัวอย่างที่พิสูจน์สมมติฐานของเธอ

ความคิดซ่อนไม่ได้ เมื่อเทคโนโลยีอ่านใจเราอยู่, Poppy Crum, technologist
(ซ้าย) คลิปวิดีโอสยองขวัญที่เปิดให้คนในฮอลล์ชม (ขวา) ภาพแสดงปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในฮอลล์ที่สูงจนเป็นสีแดง

ด้วยเทคโนโลยีทุกวันนี้ Poppy บอกว่ามันง่ายเหลือเกินที่เซ็นเซอร์พวกนี้จะถูกฝังอยู่ในอุปกรณ์ต่างๆ และเมื่อทำงานร่วมกับระบบ Machine Learning มันจะฉลาด และอ่านความรู้สึกได้แม่นยำเข้าไปอีก

เช่นต้นปีนี้ แลปในญี่ปุ่น ATR Computational Neuroscience Laboratories เพิ่งพัฒนา AI ที่สามารถถอดรหัสภาพในหัวคน และประมวลผลออกมาเป็นภาพใหม่ จากภาพตัวอย่างข้างล่างนี้ เขาลองให้คนดูภาพเสือดาว จากนั้นใช้กลไกตรวจจับสมอง ถอดรหัส และประมวลผลออกมาเป็นภาพสุดท้ายที่มีเค้าโครงใกล้เคียงภาพเสือดาวในตอนแรกอยู่ (อ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่)

ความคิดซ่อนไม่ได้ เมื่อเทคโนโลยีอ่านใจเราอยู่, Poppy Crum, technologist

ในอนาคตจึงมีแนวโน้มว่า ความรู้สึก และ ความคิดในหัว อาจไม่สามารถซ่อนกันได้อีกต่อไป ถ้ามองจากมุมของเราที่เล่ามาในตอนต้น ด้วยเทคโนโลยีนี้ ศิลปินอาจรู้ได้ทันทีว่าผลงานศิลปะของตัวเองสร้างความรู้สึกแบบไหนให้คนดู ผู้กำกับภาพยนตร์สามารถวัดค่าออกมาเป็นตัวเลขว่าซีนไคลแมกซ์ในหนังสยองขวัญของตัวเองทำให้คนกลัวได้สุดขีดหรือไม่ และเราเองคงไม่ต้องนั่งเดาว่าคนดูคนนั้นกำลังมีความสุขไหมขณะกำลังแหงนมองผลงานที่เราออกแบบมากับมือ

แต่เมื่อมองในมุมที่กว้างกว่านั้น หากเทคโนโลยีสามารถ ‘อ่านใจ’ เราได้จริง โลกคงวุ่นวายไม่น้อย คิดง่ายๆ ว่า facebook อาจไม่ต้องรอให้เรากด Wow, Love, Sad หรือ Haha แต่จับความรู้สึกและแสดงผลให้รู้ทันทีว่าเรารู้สึกยังไงเมื่อเห็นรูปโปรไฟล์ใหม่ของเพื่อน ซ้ำยังพิมพ์คอมเมนต์ที่เราเพิ่งนึกขึ้นในหัวให้เสร็จ, การเดทกันอาจไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้มากเหมือนเก่า เพราะวัดค่าได้ตั้งแต่ห้านาทีแรกว่าทั้งสองรู้สึกต่อกันขนาดไหน รูปแบบของความสัมพันธ์ในโลกนี้คงเปลี่ยนไปมากทีเดียว

และที่สำคัญ นิยามของ ‘ความเป็นส่วนตัว’ คงเปลี่ยนไปด้วย การขอค้นข้อมูลในคอมพิวเตอร์อาจกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะแม้กระทั่งเรื่องในหัวของเรายังไม่เป็นส่วนตัวอีกต่อไป โดยเฉพาะกับชาวไทย วันหนึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติอาจลุกขึ้นมาตั้งด่านบนถนนเพื่อวัดค่าความรู้สึกที่ประชาชนมีต่อรัฐบาลเผด็จการประหนึ่งด่านวัดค่าแอลกอฮอล์ก็เป็นได้

อ้างอิง

Poppy Crum : Technology that know what you’re feeling

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save