fbpx
เทคโนโลยีกับฟุตบอลโลก 2018

เทคโนโลยีกับฟุตบอลโลก 2018

วรากรณ์ สามโกเศศ เรื่อง

 

ฤดูกาลฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียเริ่มขึ้นแล้ว การรับรู้เรื่องราวด้านเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการแข่งขันครั้งนี้น่าจะทำให้ดูฟุตบอลสนุกขึ้น

เจ้าภาพต้องการให้การแข่งขันครั้งนี้ประสบผลสำเร็จอย่างงดงาม เพื่อช่วยลดภาพลักษณ์ของรัสเซียในการเป็นผู้ร้ายระดับโลกในสายตาของคนยุโรปและคนอเมริกัน วลาดิเมียร์ ปูติน ผู้ปกครองแนวเผด็จการมีส่วนสำคัญในการสร้างภาพลักษณ์นี้ เขาถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยมหาศาลจากคอร์รัปชัน สั่งให้แทรกแซงการเมืองอเมริกา (ถึงกับว่ากันว่ามี “อะไรดี” ที่ทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์กลัวจนไม่เคยวิจารณ์ มีแต่ชื่นชม) สั่งฆ่าสายลับกลับใจของโซเวียตในอังกฤษเมื่อเร็วๆ นี้ อีกทั้งสั่งยิงเครื่องบินมาเลเซียแอร์ไลน์ MH17 เหนือยูเครน ทั้งหมดนี้ยังไม่นับการบุกยึดไครเมีย การเกี่ยวพันในสงครามซีเรีย การสั่งจับฝ่ายค้านเข้าคุก การสั่งฆ่าสื่อที่ขุดคุ้ย ฯลฯ

การได้เป็นเจ้าภาพของรัสเซียในครั้งนี้ก็อื้อฉาวไม่น้อยในยุคที่ตัดสินโดย FIFA ที่แสนจะอุดมด้วยคอร์รัปชัน จนต้องยกเครื่องเปลี่ยนประธานและกรรมการกันใหม่ และนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงในด้านเทคโนโลยีไม่น้อย

คงจำกันได้ว่าในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วที่บราซิล มีการใช้เทคโนโลยีพ่นสีบนสนามแล้วหายไปในเวลาไม่กี่นาที เพื่อให้แน่ใจว่าฝ่ายตรงข้ามถอยห่างจากจุดโทษไม่ต่ำกว่า 10 หลาตามกติกา ตอนนี้ก็เลิกไปแล้วจนเป็นที่ขบขันของกีฬาประเภทอื่นที่ใช้เทคโนโลยีกันกว้างขวางทั้งเทนนิส วอลเลย์บอล แบดมินตัน คริกเก็ต ฯลฯ

รักบี้นั้นใช้เทคโนโลยีต่างๆ มานานแล้ว ผู้ชมทั้งสนามได้ยินเสียงในสนามที่กรรมการพูดกับผู้เล่น ผู้ช่วยกรรมการ และกรรมการผู้พิจารณาวิดีทัศน์ข้างบนเพื่อให้ความเห็น เรียกว่าโปร่งใส ยุติธรรม และรอบคอบ

ส่วนฟุตบอลนั้นยังต้องไปอีกไกล

นวัตกรรมทางเทคโนโลยี 4 ประการตามกระแส digital transformation ในฟุตบอลครั้งนี้ได้แก่

(1) ระบบ VAR (Video Assisted Referees) ซึ่งมีการประมวลบันทึกวิดีทัศน์จากกล้อง 33 ตัวรอบสนามในมุมต่างๆ และกล้องอีก 2 ตัวที่ตรวจจับการล้ำหน้าโดยเฉพาะ ส่งไปยังห้องปฏิบัติการที่เรียกว่า VOR (Video Operation Room) ซึ่งมีศูนย์ใหญ่อยู่ที่มอสโก ทีมงานที่เฝ้าดูเกมทั้ง 64 นัดจะบอกความผิดพลาดของการตัดสิน และให้คำแนะนำในกรณีที่ผู้ตัดสินมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นชนิดทันควัน โดยสามารถพูดตอบโต้กันได้ นอกจากนี้ยังมีจอโทรทัศน์ริมสนามให้ผู้ตัดสินได้ดูวิดีทัศน์ย้อนหลังที่ส่งมาจากศูนย์ใหญ่อีกด้วย

ในจำนวนกล้องเหล่านี้ กล้อง 8 ตัวจะบันทึกภาพที่ช้ามาก และอีก 4 ตัว ช้ายิ่งขึ้นอย่างที่เรียกว่า Ultra-Slow Motion เพื่อให้เห็นชัดเจนว่าเกิดอะไรขึ้น FIFA จะให้ข้อมูล ตลอดจนวิดีทัศน์ แก่ผู้ถ่ายทอดสด ผู้วิจารณ์กีฬา และผู้เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

การถ่ายทอดใช้ระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อให้ภาพที่คมชัดมากด้วยระบบ 4K Ultra High Definition (UHD) ซึ่งสามารถดูออนไลน์ได้ด้วย (ภายใต้เงื่อนไขการจ่ายเงินของประเทศต่างๆ) แต่ยังไม่แน่ใจว่าจะรับมือกับผู้ชมทั่วโลกได้ดีเพียงใด

(2) Electronic Performance and Tracking Systems (EPTS) เป็นระบบที่สร้างขึ้นเพื่อให้โค้ชของทีมแข่งขันทุกทีมสามารถดูภาพเหตุการณ์บนแท็บเล็ตได้อย่างเรียลไทม์ แต่ละทีมจะได้รับ 3 เครื่อง (สำหรับผู้วิเคราะห์บนอัฒจันทร์เพื่อเห็นภาพมุมสูง ผู้นั่งดูเกมริมขอบสนาม และทีมแพทย์) โดยได้รับข้อมูลสถิติต่างๆ ของผู้เล่น ตลอดจนรับภาพของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในสนาม

EPTS ทำงานผ่านระบบกล้องถ่ายทอดพิเศษ 2 กล้องที่อยู่บนอัฒจันทร์ใหญ่ ซึ่งติดตามเก็บภาพเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลสถิติต่างๆ เช่น จำนวนร้อยละของการครองลูก การส่งผ่านลูก การยิงประตู ฯลฯ ถึงแม้ในการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งนี้ รัสเซียยังมีแค่ระบบ 4G (5G จะเปิดใช้ในปี 2019) FIFA และเจ้าภาพก็ตั้งใจว่าจะใช้ประโยชน์จากระบบ 4G ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพที่สุ

(3) ระบบ Massive MIMO (An Advanced Mobile Technology) ดังเช่นที่ใช้ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2018 ที่เมืองพยองชัง ประเทศเกาหลีใต้ ภายใต้ระบบนี้จะมีการบันทึกและถ่ายทอดในลักษณะ 360 องศาด้วยกล้องเคลื่อนที่จำนวนมาก เพื่อให้เห็นภาพรอบตัวเสมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง โดยจะมีภาพของกองเชียร์ อัฒจันทร์ สถานที่สำคัญๆ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดของการแข่งขัน

(4) นวัตกรรมเทคโนโลยีที่สำคัญก็คือลูกฟุตบอลที่มีชื่อว่า Telstar 18 ของ Adidas ซึ่งเปิดตัวเป็นครั้งแรกในงานนี้ หลังจากค้นคว้ามา 4 ปีเต็ม เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของการเคลื่อนไหวและวิถีการควบคุม การหมุนตัวโค้งของลูก ความคงทน ความงดงาม ฯลฯ

Telstar เป็นชื่อของลูกฟุตบอลของ Adidas ซึ่งเปิดตัวครั้งแรกในปี 1970 มีลักษณะเป็นแผ่นๆ แปะสีขาวดำสลับกัน อันเป็นที่รู้จักกันดี

Telstar มาจาก television + star ส่วนเลข 18 คือปี 2018 Telstar 18 มีผิวที่ผิดออกไป มีความสากมากขึ้น ไม่ได้เย็บติดกันเป็นแผ่นเหมือนเดิม หากเชื่อมแผ่นวัสดุพิเศษใหม่เป็นชิ้นเดียวกันด้วยกาว สียังคงสลับขาวดำเช่นเดิม หากแต่ละสีจะประกอบด้วย pixels หรือชิ้นสีเล็กๆ กลมกลืนกันอย่างงดงาม (หมายถึงน่าเตะ) ราคาประมาณลูกละ 120 เหรียญสหรัฐ ทั้งหมดทำในปากีสถาน ข้างในลูกจะมีชิบ NFC (Near Field Communication) ฝังอยู่ ซึ่งสามารถสื่อสารกับมือถือเพื่อระบุชื่อเจ้าของ บอกตำแหน่ง อายุ ฯลฯ พูดง่ายๆ ก็คือถือได้ว่าเป็น IoT (Internet of Things)

ที่จริง Adidas เคยผลิตลูกฟุตบอลที่มีชื่อว่า miCoach Smart Ball ซึ่งใช้เซ็นเซอร์เพื่อวัดความเร็ว วิถีการเคลื่อนไหว แต่ไม่คงทนพอกับการถูกใช้ในเกมการแข่งขัน

แฟนฟุตบอลส่วนใหญ่มักเป็นคนประเภทไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง (ยังคงใช้การทดเวลาแข่งขันจนเป็นกีฬาประเภทเดียวที่คนดูไม่รู้แน่นอนว่าหมดเวลาเมื่อใด ซึ่งต่างจากอเมริกันฟุตบอล บาสเก็ตบอล รักบี้ อย่างสิ้นเชิง) การพยายามใช้เทคโนโลยีในอดีตจึงล้มเหลวมาโดยตลอด เช่น การพยายามใช้เทคโนโลยีตัดสินว่าลูกเข้าประตูแล้วหรือไม่ สัญญาณอิเล็กทรอนิกส์บอกการล้ำหน้าโดยอัตโนมัติ การพ่นสีบนพื้นสนาม ฯลฯ

ไม่มีใครบอกได้ว่ากรรมการผู้ตัดสินจะใช้บริการของ VAR มากน้อยเพียงใด การคุ้นเคยกับการได้รับอำนาจเด็ดขาดในการตัดสินจาก FIFA มายาวนานของกรรมการผู้ตัดสินอาจทำให้เทคโนโลยีเหล่านี้สูญเปล่าเพราะไม่มีการใช้ อย่างไรก็ดี การบันทึกวิดีทัศน์อย่างกว้างขวาง เห็นชัดเจนกันโดยทั่ว จะทำให้ผู้ตัดสินต้องระมัดระวังมากขึ้น และน่าจะทำให้ตัดสินถูกต้องมากขึ้น

ในการแข่งขันระหว่างออสเตรเลียกับฝรั่งเศสในฟุตบอลโลกครั้งนี้ได้มีการใช้ VAR เป็นครั้งแรก จนทำให้ออสเตรเลียเสียลูกโทษจนแพ้ไป หวังว่าในรอบที่เข้มข้นยิ่งขึ้นจะมีการใช้บริการ VAR มากขึ้น แต่ก็คงต้องระวังมิให้เกมสะดุดจนดูไม่สนุก

มนุษย์มีสัญชาตญาณดิบของการต่อสู้ เป็นสัญญาณที่มาจากสมองส่วนหลัง โดยถูกฝังคล้ายชิบไว้ การดูการแข่งขันฟุตบอลก็คือการมีส่วนร่วมในสงครามผ่านตัวแทน ถ้าอยากมีชีวิตรอดตลอดเดือนมิถุนายนที่มีการแข่งขันนี้ก็ต้องขีดวงจำกัดไว้ให้มันเป็นเพียงสงครามในความรู้สึกเท่านั้น อย่าเผลอปล่อยให้เป็นสงครามจริงกับเพื่อนผู้ร่วมชมการแข่งขันเป็นอันขาด

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save