fbpx
เปิดโลกดิจิทัลสู่คนหลังลูกกรง เตรียมพร้อมผู้ต้องขังก่อนก้าวออกสู่สังคมด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย

เปิดโลกดิจิทัลสู่คนหลังลูกกรง เตรียมพร้อมผู้ต้องขังก่อนก้าวออกสู่สังคมด้วยนวัตกรรมล้ำสมัย

ท่องโลกเสมือน ก่อนกลับคืนสู่โลกความจริง
ด้วย Virtual Reality

ภาพของผู้คนที่จ่ายเงินซื้อของในร้านสะดวกซื้อผ่านเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติแทนที่จะเป็นพนักงานแคชเชียร์ หรือภาพของผู้คนที่ก้มหน้าก้มตามองหน้าจอสมาร์ทโฟนในที่สาธารณะ อาจเป็นภาพที่เราเห็นกันจนชินตา แต่สำหรับคนที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำสี่เหลี่ยมทึบ ไม่เห็นโลกภายนอกมานานเป็นสิบๆ ปี นี่เป็นภาพที่ทำให้พวกเขาตื่นตาตื่นใจกับโลกที่เปลี่ยนไปจากเดิมมาก แต่เมื่อถอดแว่น VR (Virtual Reality) ออก ภาพห้องผนังทึบก็กลับมาปรากฏบนสายตาพวกเขาเหมือนเดิม

นี่เป็นกิจกรรมของเรือนจำเมืองฟรีมอนต์ (Fremont Correctional Facility) รัฐโคโลราโด สหรัฐอเมริกา ที่ให้ผู้ต้องขังใช้เทคโนโลยี VR เห็นภาพจำลองของโลกภายนอกที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อช่วยให้พวกเขาปรับตัวได้ ไม่ตื่นตระหนกตกใจเมื่อต้องเจออะไรหลายอย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน หลังพ้นโทษกลับไปใช้ชีวิตปกติ

วิดีโอ 1: การใช้ VR ของเรือนจำเมืองฟรีมอนต์
ที่มา: VICE


VR หรือเทคโนโลยีโลกเสมือน เป็นเทคโนโลยีจำลองสภาพแวดล้อมผ่านทั้งภาพและเสียงอย่างสมจริง พร้อมทั้งให้ผู้ใช้สามารถตอบสนองต่อสิ่งจำลองต่างๆ ที่มองเห็นได้ ทำให้ผู้ต้องขังไม่ใช่เพียงแต่ได้เห็นภาพทำความคุ้นเคยเท่านั้น แต่ยังได้ทดลองฝึกฝนการใช้งานอุปกรณ์ต่างๆ ในโลกจำลอง ไม่ว่าจะเป็น การฝึกจ่ายเงินผ่านเครื่องจ่ายเงินอัตโนมัติ การฝึกใช้ตู้เอทีเอ็ม การฝึกข้ามถนน การฝึกใช้เครื่องซักผ้าหยอดเหรียญ หรือการฝึกทำอาหารด้วยเครื่องครัวต่างๆ

การฝึกฝนเรื่องเหล่านี้อาจถูกมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ สำหรับใครหลายคน แต่สำหรับผู้ต้องขังแล้ว มันมีความสำคัญมาก โดยเฉพาะผู้ต้องขังซึ่งอยู่ในเรือนจำมานานจนไม่รับรู้ถึงวิถีชีวิตผู้คนที่เปลี่ยนไป รวมถึงผู้ต้องขังที่เข้าเรือนจำตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ซึ่งยังไม่ได้ผ่านการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นในชีวิตประจำวันหลายอย่าง ที่ผ่านมามีหลายกรณีที่ผู้ต้องขังออกจากเรือนจำไปแล้ว ไม่สามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ มีผลให้พวกเขาเลือกทำความผิดซ้ำเพื่อกลับเข้าสู่เรือนจำอีกครั้ง การช่วยผู้ต้องขังกลับคืนสู่สังคมจึงถือว่าเป็นกระบวนการสำคัญมากของระบบราชทัณฑ์ และ VR ก็ถูกมองว่าเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มาช่วยเรื่องนี้ได้มาก

เทคโนโลยี VR ได้รับความสนใจ และเริ่มถูกนำมาใช้ในกิจกรรมช่วยผู้ต้องขังกลับไปเผชิญโลกภายนอกในเรือนจำหลายแห่งของสหรัฐอเมริกา โดยมีรูปแบบแตกต่างกันไป เช่นเรือนจำในรัฐอลาสก้าใช้ VR ฝึกผู้ต้องขังให้รับมือกับสภาพอากาศหนาวเหน็บของพื้นที่ นอกจากนี้ VR ยังถูกใช้กับกิจกรรมรูปแบบอื่นๆ ทั้งการใช้ปรับพฤติกรรมผู้ต้องขัง เช่นการให้ผู้ต้องขังได้ทดลองสวมบทเป็นเหยื่อผู้ถูกกระทำ เพื่อให้เข้าใจความรู้สึกเหยื่อ รวมไปถึงการผ่อนคลายความเครียด และการฝึกฝนทักษะอาชีพแบบเสมือนจริง  

ทลายกำแพงเรือนจำ สู่โลกแห่งการเรียนรู้บนดิจิทัล

ในโลกภายนอกที่หมุนไปอย่างรวดเร็วและเต็มไปด้วยการแข่งขัน การเตรียมความพร้อมให้ผู้ต้องขังแต่เพียงทักษะการใช้ชีวิตจึงไม่เพียงพอ การมีความรู้ที่เท่าทันและทักษะอาชีพที่ตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปก็ย่อมขาดไม่ได้ ถึงแม้เรือนจำหลายแห่งจะมีกิจกรรมส่งเสริมทักษะความรู้กันอยู่ก่อนแล้ว แต่นั่นอาจไม่พออีกต่อไป เพราะยุคสมัยนี้มีทักษะความรู้อีกจำนวนมากที่อยู่บนโลกดิจิทัล

ทว่าด้วยข้อกังวลหลายอย่าง เรือนจำมักตั้งกำแพงขวางกั้นไม่ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงดิจิทัล แม้ด้านหนึ่งจะเป็นข้อดีในการควบคุมผู้ต้องขัง แต่อีกด้าน นั่นทำให้ผู้ต้องขังถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ในวันที่พวกเขาต้องก้าวเดินออกจากเรือนจำไปเผชิญโลกความเป็นจริงที่ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วด้วยพลังดิจิทัล

เรือนจำหลายประเทศจึงเริ่มเปิดให้ผู้ต้องขังเข้าถึงโลกดิจิทัลได้ แต่การจะเปิดให้ผู้ต้องขังใช้อุปกรณ์ดิจิทัลย่อมนำมาซึ่งความเสี่ยงได้หลายอย่าง การเข้าถึงดิจิทัลในเรือนจำจึงไม่ได้เปิดกว้างอย่างเต็มร้อยนัก โดยผู้ต้องขังมักจะถูกจำกัดให้เข้าถึงเพียงสิ่งที่เป็นประโยชน์ในแง่การศึกษาและการพัฒนาตัวเอง และขณะเดียวกันการใช้งานก็ถูกควบคุมสอดส่องจากเรือนจำอย่างเข้มงวด

เรือนจำที่ประเทศเดนมาร์กเปิด ‘อินเทอร์เน็ตคาเฟ่’ (Internet Café) ให้ผู้ต้องขังมีโอกาสได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อการศึกษา รวมถึงการหางานทำ ผ่านเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยมีระดับการควบคุมการเข้าถึงเนื้อหาและระดับการสอดส่อง แบ่งตามระดับความเสี่ยงของผู้ต้องขังแต่ละคน

ที่ประเทศเบลเยียม เรือนจำเบเวอเรน (Beveren Prison) ในเมืองแอนท์เวิร์ป (Antwerp) มีโครงการ PrisonCloud ซึ่งมีเครื่องคอมพิวเตอร์ให้ผู้ต้องขังสามารถใช้เข้าสู่ระบบ e-learning ได้ รวมทั้งยังเปิดให้สามารถดูภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์บางรายการ ขณะเดียวกันเรือนจำก็มีระบบสอดส่องการใช้งาน และจำกัดให้เข้าถึงได้เพียงบางเว็บไซต์เท่านั้น

วิดีโอ 2: ระบบ Prison Cloud เรือนจำเบเวอเรน ประเทศเบลเยียม
ที่มา: De quoi je me mêle ! – RTL TVI

เรือนจำในออสเตรเลียสร้างความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ ให้ผู้ต้องขังสามารถเรียนในระดับปริญญาตรี หรือเรียนเพื่อเตรียมความพร้อมสู่ระดับอุดมศึกษาได้ขณะอยู่ในเรือนจำ ด้วยระบบการเรียนทางไกลผ่านแล็ปท็อป โดยไม่ต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต จึงช่วยป้องกันไม่ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงเว็บไซต์หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์ได้

นอกจากคอมพิวเตอร์ เรือนจำบางประเทศเลือกใช้อุปกรณ์อื่นอย่างแท็บเล็ต เป็นสื่อกลางให้ผู้ต้องขังเข้าถึงดิจิทัลได้ เช่น สิงคโปร์ ซึ่งทำระบบ The Digitalisation of Inmate Rehabilitation & Corrections Tool (DIRECT) ให้ผู้ต้องขังเข้าถึงได้ทั้ง e-learning, e-book, e-newspaper รวมถึงพอดคาสต์ (podcast) โดยแน่นอนว่ามีการควบคุมสอดส่องจากเรือนจำ นอกจากนี้ เรือนจำสิงคโปร์ยังตั้งใจขยับขยายไปช่วยเหลือผู้ต้องขังเก่าที่ออกจากเรือนจำไปแล้ว ให้กลับคืนสู่สังคม โดยมีแผนพัฒนาระบบ Self-Help And Reward E-application (SHARE) ซึ่งจะเป็นแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ช่วยให้กลุ่มผู้ต้องขังเก่าสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลความรู้และทรัพยากรต่างๆ ของชุมชน รวมถึงฐานข้อมูลสำหรับหางานทำ

เยียวยาจิตใจ รักษาสายสัมพันธ์ครอบครัวแบบไร้สาย

หากคุณถูกกักขังอยู่ในอาคารแน่นทึบเป็นเวลาหลายปีอย่างไร้ซึ่งอิสรภาพ แน่นอนว่าสภาพจิตใจของคุณย่อมถูกบั่นทอนลงไปทุกวันๆ และเมื่อถึงเวลาที่คุณได้รับโอกาสให้ก้าวเดินออกสู่โลกภายนอกอีกครั้ง สุขภาพจิตใจของคุณที่ไม่แข็งแรงเหมือนเดิมก็อาจเป็นอุปสรรคไม่ให้คุณใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนแต่ก่อน เพราะฉะนั้น การจะพาผู้ต้องขังเดินออกจากเรือนจำกลับไปใช้ชีวิตในสังคมไม่ใช่เพียงการเตรียมความพร้อมทั้งทักษะการใช้ชีวิตและทักษะความรู้ แต่การเติมเต็มสภาพจิตใจให้แข็งแรงพอก่อนจะกลับไปสู่โลกภายนอกก็สำคัญไม่แพ้กัน

งานศึกษาหลายชิ้นบ่งชี้ว่าการที่ผู้ต้องขังมีโอกาสได้พบครอบครัวระหว่างอยู่ในเรือนจำบ้าง เป็นกำลังใจชั้นดีที่ช่วยเยียวยาสภาพจิตใจ ลดความเครียด ลดความเสี่ยงที่จะฆ่าตัวตายผู้ต้องขัง แถมยังส่งผลดีในระยะยาวหลังจากที่ผู้ต้องขังพ้นโทษออกจากเรือนจำด้วย โดยพบว่าผู้ต้องขังที่ได้พบครอบครัวระหว่างถูกคุมขังมีแนวโน้มออกไปกระทำผิดซ้ำน้อยลง และยังสามารถพาตัวเองกลับเข้าสู่สังคมได้ดีขึ้น เช่น มีโอกาสได้หน้าที่การงานที่ดีขึ้น

แต่บางครั้งการจะให้ครอบครัวมีโอกาสได้มาเยี่ยมเยือนผู้ต้องขังที่เรือนจำก็ไม่ใช่ว่าทำได้ง่าย เช่น เรือนจำอาจอยู่ไกลจากที่พักอาศัยของครอบครัวผู้ต้องขัง ทำให้เรือนจำบางแห่งเริ่มมองหาเทคโนโลยีดิจิทัลให้มาเป็นตัวช่วยขจัดระยะห่างระหว่างผู้ต้องขังกับครอบครัว และในช่วงเวลานี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 อันเป็นอุปสรรคใหญ่หลวงที่กีดกันไม่ให้หลายครอบครัวได้เจอกับผู้ต้องขังที่เรือนจำ เทคโนโลยีดิจิทัลก็เริ่มถูกพิจารณาเป็นทางเลือกมากขึ้นอีกในหลายประเทศ

เรือนจำในประเทศสิงคโปร์ทำระบบ e-letter ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม DIRECT ให้ผู้ต้องขังสามารถติดต่อกับครอบครัวได้ผ่านจดหมายอิเล็กทรอนิกส์โดยใช้แท็บเล็ต โดยเรือนจำสิงคโปร์บอกว่าการนำระบบนี้มาใช้ ช่วยให้ผู้ต้องขังกับครอบครัวติดต่อกันได้มากขึ้น ทั้งยังลดความเสี่ยงที่ผู้ต้องขังจะลักลอบนำสิ่งของผิดกฎหมายเข้าไปในเรือนจำด้วย

วิดีโอ 3: การใช้ e-letter ในการติดต่อครอบครัวของผู้ต้องขังในสิงคโปร์
ที่มา: Singapore Prison Service

ขณะที่หลายประเทศเลือกใช้วิธีที่ทำให้ผู้ต้องขังยังคงได้สื่อสารกับครอบครัวแบบเห็นหน้ากัน ด้วยการใช้เทคโนโลยีวิดีโอคอล เช่น สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร โดยมีทั้งใช้แพลตฟอร์มที่มีอยู่แล้วอย่าง Skype หรือ Zoom รวมถึงแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาใหม่สำหรับเรือนจำโดยเฉพาะ โดยทั่วไป เรือนจำมักจะตั้งข้อจำกัดในการวิดีโอคอลของผู้ต้องขังบางประการ เช่น การจำกัดระยะเวลาสูงสุดในการพูดคุยต่อครั้ง การจำกัดจำนวนคนสูงสุดที่พูดคุยได้บนวิดีโอคอล และการกำหนดค่าบริการ

เมื่อมีการระบาดของโควิด-19 วิดีโอคอลกลายเป็นทางเลือกที่เรือนจำหลายประเทศนำมาใช้ เช่น เรือนจำในสหราชอาณาจักร ที่ส่วนใหญ่ให้ผู้ต้องขังคุยกับครอบครัวผ่านระบบโทรศัพท์ (in-cell telephony) ก็หันมาพัฒนาแพลตฟอร์มวิดีโอคอลใหม่ Purple Visits ให้ผู้ต้องขัง ส่วนประเทศที่มีการใช้วิดีโอคอลอยู่ก่อนแล้วก็เริ่มคลายข้อจำกัดบางอย่างให้ผู้ต้องขังวิดีโอคอลกับครอบครัวได้สะดวกขึ้นอีก เช่น การลดหรือยกเว้นค่าบริการวิดีโอคอล

คืนผู้ต้องขังสู่สังคมด้วยเทคโนโลยี
กับหนทางที่ยังอีกยาวไกลของไทย

ตัวอย่างของนวัตกรรมล้ำสมัยที่ถูกหยิบมาใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูผู้ต้องขังกลับสู่สังคมทั้งหมดนี้ อาจเปิดโลกให้ใครหลายคนได้เห็นว่าโลกแห่งระบบราชทัณฑ์ยุคสมัยนี้เดินล้ำหน้าไปมากถึงขนาดนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม หากถอยออกมามองดูภาพรวมของทั้งโลกจริง การใช้นวัตกรรมในกระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังก่อนกลับสู่สังคมนั้น ยังคงจำกัดอยู่เพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น

“ถ้าเราติดตามวิวัฒนาการการใช้เทคโนโลยีในเรือนจำ ยุคเริ่มแรกจะเน้นการใช้เทคโนโลยีเพื่อ ‘การควบคุม’ เป็นหลัก เช่นการติดกล้อง CCTV การใช้อุปกรณ์สแกนตามร่างกายตรวจหาสิ่งของต้องห้าม หรือเครื่องตัดสัญญาณโทรศัพท์ เพราะแนวคิดของเรือนจำแต่ดั้งเดิมคือมีไว้เพื่อควบคุม ป้องกันการหลบหนี และพยายามรักษาให้ทุกอย่างอยู่ในกฎระเบียบ ส่วนการใช้เทคโนโลยีในการฟื้นฟูผู้ต้องขังยังคงมีน้อย โดยเพิ่งจะเริ่มได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลายปีหลังมานี้” ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ให้ข้อมูล

ชลธิช ชื่นอุระ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมข้อกำหนดกรุงเทพและการปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ)

แนวคิดการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการฟื้นฟูผู้ต้องขังยังคงเป็นเรื่องใหม่มาก เป็นเหตุให้ยังไม่แพร่หลายมากนักในแวดวงราชทัณฑ์ แต่ทุกวันนี้ ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เริ่มทำให้ระบบยุติธรรมหลายประเทศฉุกคิดถึงความจำเป็นของแนวทางนี้กันมากขึ้น รวมถึงประเทศไทย

“ปกติเราใช้วิทยากรเข้าไปให้ความรู้ในเรือนจำ ไม่ว่าจะเป็นการสอนนวด สอนทำอาหาร หรือสอนงานช่างต่างๆ แต่พอโควิดระบาดขึ้น บริการเหล่านี้ต้องหยุดลง ด้วยนโยบายไม่ให้คนนอกเข้าไปในเรือนจำ ซึ่งก็อาจจะส่งผลระยะยาวในการเตรียมความพร้อมด้านทักษะอาชีพให้แก่ผู้ต้องขังก่อนออกจากเรือนจำ และตอนนี้หลายเรือนจำก็ยังไม่มีอะไรที่จะมาทดแทนตรงนี้ บางที่อาจใช้วิธีเอาวิดีโอมาเปิดให้ผู้ต้องขังเรียนแทนบ้าง และเราก็ยังไม่เห็นเรือนจำที่เอาโปรแกรมอย่าง Zoom มาใช้ในเรื่องนี้กันเท่าไหร่” ชลธิช กล่าว

ความลังเลที่จะหยิบเอาเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อช่วยพาผู้ต้องขังกลับสู่สังคม มีสาเหตุสำคัญจากแนวคิดของระบบเรือนจำที่มักกังวลถึงความไม่ปลอดภัยที่อาจมาพร้อมกับการเปิดให้ผู้ต้องขังเข้าถึงดิจิทัลได้ ไม่ว่าจะเป็นช่วงโควิดหรือก่อนเกิดโควิดก็ตาม อย่างที่ชลธิชกล่าวว่า “มีข้อจำกัดเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ตในเรือนจำของไทยอยู่ เรือนจำจึงไม่มีมาตรการรองรับที่จะใช้อินเทอร์เน็ตในการทำกิจกรรมลักษณะนี้”

“แต่อย่างหนึ่งที่เราเริ่มเห็นในไทยคือมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในกิจกรรมแบบนี้กับนักโทษที่ได้รับการปล่อยตัวออกจากเรือนจำไปแล้ว อย่าง TIJ ก็มีโครงการร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สำหรับอดีตผู้ต้องขังที่สนใจประกอบกิจการสตรีทฟูด แล้วอยากเพิ่มทักษะให้ตัวเอง ซึ่งเราก็ได้จัดหลักสูตรอบรมเสริมทักษะในลักษณะ online-based ไว้ให้” ชลธิชให้ข้อมูล 

ถึงแม้การใช้เทคโนโลยีในกระบวนการพัฒนาทักษะความรู้ผู้ต้องขังภายในเรือนจำอาจจะยังไม่เห็นความคืบหน้าเป็นรูปธรรมมากนัก แต่ในแง่การติดต่อสื่อสารกับครอบครัว เราเริ่มเห็นเรือนจำหลายแห่งนำเทคโนโลยีมาใช้บ้างแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่โควิดเริ่มแพร่ระบาด

“ในช่วงโควิด การเยี่ยมกันทางจดหมายยังทำได้อยู่ แต่ถ้าเป็นการเยี่ยมผ่านลูกกรงหรือการเยี่ยมแบบ Open Visit ที่ให้เห็นหน้ากัน กอดกันได้ ก็จะทำไม่ได้เลยในตอนนี้ แต่ช่วงปีที่ผ่านมา เรือนจำในไทยแทบทุกแห่งเริ่มนำการเยี่ยมแบบวิดีโอคอลผ่านแอปพลิเคชั่น LINE มาใช้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก อย่างน้อยมันช่วยให้คนที่อยู่ไกลกัน ได้คุยกันแบบมองเห็นหน้ากัน” ชลธิช กล่าว

“นอกเหนือจากการใช้ Line ยังมีการใช้อีเมลด้วย แต่ไม่ใช่การให้ผู้ต้องขังส่งอีเมลเอง มันเป็นการให้ผู้ต้องขังเขียนจดหมายบนกระดาษ แล้วผู้คุมเอาจดหมายนี้ไปสแกนก่อนส่งหาญาติผ่านทางอีเมล หรือปริ้นท์อีเมล์ของญาติมาให้ผู้ต้องขังอ่าน เพราะฉะนั้น มันก็ยังเป็นการผสมผสานระหว่างวิธีการดั้งเดิมกับแพลตฟอร์มรูปแบบใหม่ เพราะยังมีข้อจำกัดในการไม่อยากให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการใช้อีเมลหรืออินเทอร์เน็ตเองอยู่”

“การจะเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในเรื่องนี้จะต้องให้เกิดความสมดุลกันระหว่างหลายเรื่อง ทั้งเรื่องระหว่างความปลอดภัยกับเรื่องการส่งเสริมทักษะผู้ต้องขัง ระหว่างการควบคุมกับการฟื้นฟูผู้ต้องขัง และระหว่างประโยชน์ในการบริหารเรือนจำและการไม่ละเมิดสิทธิผู้ต้องขัง สิ่งเหล่านี้เป็นจุดสำคัญที่เรือนจำต้องหาสมดุลตรงกลางให้ได้” ชลธิชให้ความเห็น

“ถ้าเราหาจุดสมดุลไม่ได้ ก็จะส่งผลต่อสภาพแวดล้อมและบรรยากาศของเรือนจำ อย่างถ้าไปเน้นด้านการควบคุมเป็นหลัก อีกด้านหนึ่ง มันก็จะไปขัดขวางเรื่องการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง ผู้ต้องขังก็จะรู้สึกว่าพวกเขาถูกควบคุมจับตามองตลอดเวลาและขาดอิสรภาพในการที่เขาจะพยายามปรับปรุงแก้ไขตัวเอง”

ถึงจะปฏิเสธไม่ได้ว่า อย่างไรเสียเรือนจำยังมีหน้าที่ต้องควบคุมผู้ต้องขังให้ได้ แต่การให้น้ำหนักกับการควบคุมที่มากเกินไป จนหวาดกลัวการเข้ามาของเทคโนโลยี ก็ทำให้ทั้งตัวผู้ต้องขัง ทั้งตัวเรือนจำเอง รวมถึงสังคมต้องเสียโอกาสบางอย่าง  

“ถ้าเรามองในแง่การใช้เทคโนโลยีเพื่อการแก้ไขฟื้นฟูผู้ต้องขัง เราน่าจะคิดถึงการสอนทักษะอาชีพใหม่ๆ เกี่ยวกับดิจิทัลหรือ digital employability มากขึ้น เช่น การสอนผู้ต้องขังให้ทำหน้าที่เป็น data labeler หรือคนจัดระเบียบข้อมูล เพื่อสอนให้ AI นำไปเรียนรู้ หรือการทำสติ๊กเกอร์ออนไลน์ ประโยชน์ที่เราจะได้จากการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในลักษณะนี้ ก็คือเราจะได้คนคุณภาพออกจากเรือนจำ เราจะได้แรงงานชั้นดีที่มีทักษะดิจิทัล ทำให้เรือนจำไม่ได้เป็นแค่สถานที่ควบคุมคน แต่ยังเป็นที่ที่พัฒนาแรงงานที่ตอบโจทย์กับตลาดแรงงานในปัจจุบันและอนาคตได้ด้วย” ชลธิช กล่าว

“ประโยชน์อีกแง่หนึ่งของการใช้เทคโนโลยีคือช่วยลดภาระงานของเจ้าหน้าที่เรือนจำได้ด้วย การที่ผู้ต้องขังเข้าถึงระบบ e-learning ได้หรือให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาหาความรู้ แม้ในระยะเวลาจำกัด โดยอาจไม่จำเป็นต้องพาวิทยากรเข้ามาในเรือนจำอยู่ตลอดเวลา ในภาพรวมก็จะช่วยลดภาระของเจ้าหน้าที่ที่จะต้องมาจัดกิจกรรมแบบนี้ และมีเวลาไปโฟกัสกับงานด้านอื่นๆ มากขึ้น มีเวลาไปช่วยออกแบบแนวทางการแก้ไขฟื้นฟูส่งผู้ต้องขังคืนสู่สังคมได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็จะช่วยให้กระบวนการราชทัณฑ์ดีขึ้นได้ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เจอปัญหาผู้ต้องขังล้นคุกมายาวนาน” ชลธิช กล่าว

ชลธิชยังเสนอให้ระบบราชทัณฑ์ไทยลองใช้เทคโนโลยีในการดูแลเยียวยาสุขภาพจิตให้กับผู้ต้องขังด้วย โดยชี้ว่า “ปกติผู้ต้องขังก็มีความเครียดสูงอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงโควิดที่หลายคนติดต่อที่บ้านไม่ได้ บางเรื่องก็อาจเป็นเรื่องที่ผู้ต้องขังไม่สบายใจที่จะคุยกับผู้คุมหรือผู้ต้องขังด้วยกันเอง ถ้าเรามีเทคโนโลยี มีแอปพลิเคชันให้ผู้ต้องขังได้ระบายความเครียด รู้จักวิธีดูแลจิตใจของตัวเอง ก็น่าจะเป็นประโยชน์”

“ตอนนี้ระบบเรือนจำยังไม่มีเรื่องแบบนี้ มันกลายเป็นเรื่องท้ายๆ ที่เราจะคิดถึง ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาสุขภาพจิตเป็นเรื่องที่คนมองไม่ค่อยเห็น เราเลยยังไม่เห็นประเทศไหนใช้เทคโนโลยีในเรื่องนี้กัน ประเทศไทยอาจจะลองนำร่องใช้เป็นโมเดลดูได้” ชลธิชเสนอ

แน่นอนว่าการใช้เทคโนโลยีในการฟื้นฟูผู้ต้องขังย่อมเกิดประโยชน์มากมาย แต่ชลธิชก็ชี้ให้เห็นถึงบางประเด็นที่ต้องขบคิดเมื่อนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ นอกเหนือไปจากแค่เรื่องความปลอดภัยในเรือนจำ

“การใช้เทคโนโลยีบางอย่างมีประโยชน์แน่นอน แต่สุดท้ายเราต้องย้อนมาดูด้วยว่าเราลืมใครไปหรือเปล่า มันมีช่องว่างที่บางคนเข้าไม่ถึงไหม อย่างการเยี่ยมญาติผ่าน Line Call ที่จริงก็ยังมีข้อจำกัดพอสมควร บางทีญาติก็เป็นผู้สูงอายุ หรือเป็นคนที่ไม่มีอินเทอร์เน็ตใช้ หรือใช้เทคโนโลยีไม่ค่อยเป็น เขาก็อาจเข้าถึงไม่ได้ มันก็เป็นคำถามถึงความเท่าเทียมในการเข้าถึงบริการลักษณะนี้ ซึ่งไม่ใช่แค่ในไทยแต่รวมถึงต่างประเทศ”

“เรายังต้องคิดด้วยว่าการใช้เทคโนโลยีจะแทนที่ความเป็นมนุษย์ต่อมนุษย์ได้มากแค่ไหน การใช้วิดีโอคอลในการเยี่ยมญาติ แน่นอนว่ามันย่อมไม่เหมือนกับการได้เจอกันต่อหน้าจริงๆ การที่แม่ได้กอดลูก พี่น้องได้กอดกัน ส่งผลต่างจากการใช้เทคโนโลยีแน่นอน เทคโนโลยีไม่สามารถให้อิมแพ็คทางด้านจิตใจหรืออารมณ์ที่เสมอกันได้ เพราะฉะนั้น การใช้เทคโนโลยีบางอย่างต้องเป็นการเลือกใช้เพื่อเติมเต็มเท่านั้น ไม่ใช่เอามาใช้เพื่อแทนที่” ชลธิชกล่าว

“ที่สำคัญ ก่อนเอาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้ เราต้องพิจารณาก่อนว่าเราได้ใช้เทคโนโลยีพื้นฐานที่มีอยู่เดิมเต็มศักยภาพหรือยัง อย่างตอนนี้ แต่ละเรือนจำก็ยังใช้ระบบ e-filing system ไว้เก็บเอกสารไม่เท่ากัน ข้อมูลบางอย่างยังคงถูกเก็บเป็นเอกสาร ทั้งที่ควรจะใส่เข้าไปในระบบคอมพิวเตอร์ได้ รวมถึงเรื่องการติดต่อกับโลกภายนอกของผู้ต้องขังโดยโทรศัพท์ ที่เรือนจำไทยยังไม่อนุญาตให้ใช้ คือเทคโนโลยีย่อมมีประโยชน์ แต่ก่อนการจะใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ บางอย่าง เราอาจจะย้อนไปมองก่อนว่าสิ่งเดิมของเราถูกมันใช้แบบมีประสิทธิภาพเต็มที่แล้วหรือยัง” ชลธิชกล่าว

“การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานราชทัณฑ์อาจจะต้องเริ่มด้วยความไม่กลัวเทคโนโลยีจนเกินไป หากเรานำมาใช้แล้วควบคุมอย่างพอดี เทคโนโลยีเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ในการช่วยบริหารเรือนจำอย่างมาก เมื่อเราเข้าใจข้อดีข้อเสียของเทคโนโลยีแต่ละแบบ ก็จะช่วยลดความกลัวไปได้ระดับหนึ่ง ซึ่งเราเห็นแนวโน้มที่ดีช่วงที่ผ่านมา โควิดเป็นปัจจัยหนึ่งทำให้เรือนจำหลายแห่งเห็นประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี กลัวเทคโนโลยีน้อยลง เราเห็นแล้วว่าการเยี่ยมญาติผ่าน Line ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด”

“หากเราบาลานซ์เรื่องต่างๆ ให้ดี และไม่ลืมความเป็นมนุษย์ การใช้เทคโนโลยีก็จะเกิดประโยชน์สูงสุด” ชลธิชสรุป


อ้างอิง

A View of Tomorrow

https://www.themarshallproject.org/2018/07/17/a-view-of-tomorrow

The Digital Divide: Lessons from Prisons Abroad

https://prisonerlearningalliance.org.uk/wp-content/uploads/2020/07/The-Digital-Divide-Lessons-from-prisons-abroad.pdf

Digital Technology in Prisons: Unlocking relationships, learning and skills in UK prisons

https://www.centreforsocialjustice.org.uk/library/digital-technology-in-prisons-unlocking-relationships-learning-and-skills-in-uk-prisons

Building the Future of Corrections: Singapore Prison Service Annual Report 2018

https://www.sps.gov.sg/docs/default-source/publication/prison-fa-27-jun.pdf?sfvrsn=6de04adf_2

Reaching New Heights: Singapore Prison Service Annual Report 2017

https://www.sps.gov.sg/docs/default-source/publication/singapore-prison-service-ar-2017-(interactive—apr-30).pdf?sfvrsn=2

How Singapore is using tech to rehabilitate prisoners

https://govinsider.asia/innovation/how-singapore-is-using-tech-to-rehabilitate-prisoners/


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) (TIJ) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save