fbpx

‘ขุนพลภูพาน’ เตียง ศิริขันธ์ ณ งานศพ ‘พระอาจารย์ใหญ่’ มั่น ภูริทตฺโต

“ข้าพเจ้าเป็นราษฎรไทย ทั้งข้าพเจ้าต้องการให้ทุกๆ คนบนพื้นอันเป็นสยามประเทศนี้ เป็นราษฎรเสมอหน้ากันหมด ปราศจากความเหลื่อมล้ำต่ำสูง”

– เตียง ศิริขันธ์

“เราเต็มทีแล้ว มีอาการหนักเหมือนกับบุรุษผู้มีกำลังหลายคนจับคนไม่มีกำลังคนเดียวจะสู้ได้อย่างไร…ไปวัดสุทธาวาส จังหวัดสกล จะเหมาะดี”[1]

-พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต


คณะกรรมการจัดงานศพพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ถ่ายหน้าเมรุ
(ซ้ายไปขวา) เจียม ศิริขันธ์, เตียง ศิริขันธ์[2], ประสาท สุขุม, วิศิษฎ์ วัฒนสุชาติ, ฟอง นวลมณี, วิเศษ เชาวนสมิทธิ์


เตียง ศิริขันธ์ (พ.ศ. 2452-2495) นักการเมืองชื่อยังฉายา ‘ขุนพลภูพาน’ ตำแหน่งเสนาธิการใน ‘สี่เสืออีสาน’ อันประกอบด้วย ทองอินทร์ ภูริพัฒน์, เตียง ศิริขันธ์, ถวิล อุดล และ จำลอง ดาวเรือง อดีตครูประชาบาลผู้อุทิศชีวิตให้กับระบอบประชาธิปไตยหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 อาสาลงสมัครเลือกตั้งจนได้รับความไว้วางใจจากชาวจังหวัดสกลนคร เป็น ส.ส.ถึง 5 สมัย ร่วมมือกับ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ต่อต้านญี่ปุ่นในฐานะผู้นำเสรีไทยสายอีสาน[3] ฉายา ‘พลูโต’ จนหลังสงครามได้รับการไว้วางใจให้รับตำแหน่งรัฐมนตรีถึง 3 วาระ

แต่เส้นทางการเมืองต้องมาเพลี่ยงพล้ำร่วมกับท่านรัฐบุรุษอาวุโสปรีดีด้วยรัฐประหาร 8 พ.ย. 2490 ท้ายที่สุดต้องจบชีวิตด้วยโศกนาฏกรรมเมื่อถูกอุ้มฆ่าและเผาศพทิ้งเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2495[4] หรือ 3 ปีภายหลังสามสหายรัฐมนตรีอีสานร่วมอุดมการณ์ถูกยิงทิ้งนับจากความพ่ายแพ้ของ ฯพณฯ ปรีดี จนถูกเรียกขานว่ากบฏวังหลวง 26 ก.พ. 2492 นายเตียงถูกตั้งข้อหาร้ายแรงมากมายตั้งแต่กบฏจนถึงคอมมิวนิสต์


เตียง ศิริขันธ์ กับ คดีกบฏแบ่งแยกดินแดนอีสาน พ.ศ. 2491
‘ขุนพลภูพาน’ เตียง ศิริขันธ์ ในอิริยาบถสบายๆ


ทั้งนี้ในแง่การพระพุทธศาสนา อดีต ส.ส.สกลนคร ผู้นี้มีส่วนสำคัญในการจัดงานศพของพระมหาเถระชื่อก้องแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ‘พระครูวินัยธรมั่น ภูริทตฺโต (พ.ศ. 2413-2492)’ หรือที่คุ้นเคยในชื่อ ‘พระอาจารย์มั่น’ ผู้เพิ่งได้รับการบรรจุชื่อในรายนามของ UNESCO ในวาระ 150 ปีชาตกาล พ.ศ. 2563[5]


หนังสือ เผยความหลังแห่ง อาพาธ-มรณภาพ-ประวัติ-ฌาปนกิจของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
โดย สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร)


สมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) ในวัยหนุ่ม
ปกหนังสือบันทึก อาพาธ-มรณภาพ-ประวัติ-ฌาปนกิจ ของพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ


เรื่องราวประวัติของพระอาจารย์ใหญ่แห่งวัดป่าธรรมยุตที่เรียบเรียงโดยเจ้าประคุณสมเด็จพระญาณวชิโรดม (วิริยังค์ สิรินฺธโร) ทั้งหมดพึงกล่าวได้ว่ามีรูปแบบบันทึก ‘ชีวประวัติ (Biography)’ ที่มีความเป็น ‘ประวัติศาสตร์นิพนธ์ (Historiography)’ มากที่สุดเล่มหนึ่งเมื่อเทียบเคียงกับฉบับอื่นๆ ที่ค่อนไปในรูปแบบของ ‘กฤษดาภินิหารนิพนธ์ (Hagiography)’

เจ้าประคุณสมเด็จฯ ศิษย์อุปัฏฐากใกล้ชิดพระอาจารย์มั่นเริ่มเดินทางไปกับพระอาจารย์กงมาเพื่อพบหลวงปู่มั่นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2484 และอยู่ร่วมศึกษาปฏิบัติธรรมกับพระอาจารย์มั่นจนถึง พ.ศ. 2488 เคยให้สัมภาษณ์ว่า “เราเป็น ท.ส.มาตั้ง 4 ปี”[6] ท่านเป็นหนึ่งในผู้ร่วมบันทึกหนังสือมุตโตทัย อันเลื่องชื่อขณะอาจารย์มั่นยังดำรงธาตุขันธ์และทันได้อ่านด้วยตนเอง อีกทั้งหนังสือมุตโตทัย นี้ยังได้จัดพิมพ์เป็นที่ระลึกในวาระที่ท่านเจ้าคุณจูม ได้รับเลื่อนสมณศักดิ์เป็น ‘พระธรรมเจดีย์’ เมื่อ พ.ศ. 2489 จวบจนอีก 3 ปีถัดมาได้ถูกรวมเข้าจัดพิมพ์ในงานฌาปนกิจของพระอาจารย์มั่น

ส่วนชีวประวัติของพระวิริยังค์ปรากฎในนามแฝง ‘พระอาจารย์วิน’ ตีพิมพ์เป็นหนังสือชื่อ 108 อาจารย์ฉบับสมบูรณ์ และท่านได้เรียบเรียงประวัติของพระอาจารย์มั่นจบสมบูรณ์เมื่อ 1 ตุลาคม 2512[7] ซึ่งเรียกว่าเกือบจะพร้อมเพรียงกับประวัติอาจารย์มั่นอีกหนึ่งฉบับเรียบเรียงโดยหลวงตามหาบัวที่ทยอยตีพิมพ์ลงนิตยสารศรีสัปดาห์ต้นทศวรรษเดียวกัน และรวมเล่มพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2514

ก่อนหน้าหนังสือประวัติสมบูรณ์เล่มดังกล่าว ผู้เขียนพบว่ามีหนังสือเล่มสำคัญที่มิค่อยได้รับการเผยแพร่นักของผู้ประพันธ์ท่านเดียวกัน ชื่อว่า “หนังสือเดินธุดงค์ภาคอีสาน 92 ของ พระวิริยังค์ สิรินธโร เผยความหลังแห่ง อาพาธ-มรณภาพ-ประวัติ-ฌาปนกิจ ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ (พระอาจารย์ใหญ่ของคณะกรรมฐาน) และ กรรมฐานวินิจฉัย-อุปกรณ์กรรมฐาน”[8] หนังสือเล่มนี้สาธยายถึงเหตุการณ์ช่วงสุดท้ายของชีวิตพร้อมพิธีการงานศพของพระอาจารย์มั่นอย่างละเอียดถี่ถ้วนที่สุดประหนึ่งการได้กลับไปอ่านพระสูตรมหาปรินิพพานในคัมภีร์ชั้นพระบาลี

บันทึกนี้พบว่าท่านวิริยังค์ได้เอ่ยถึง ‘ขุนพลภูพาน’ เตียง ศิริขันธ์ และฆราวาสท่านอื่นๆ จำนวนไม่น้อยในกาลนั้น


เริ่มเดินทาง

พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต เริ่มล้มป่วยลงแต่เดือน 4 พ.ศ. 2492 จนอาพาธเริ่มหนักขึ้นเมื่อล่วงเข้าเดือน 10 “พระอาจารย์เทศก์ เทสรํสี ท่านได้มาพักอยู่ที่เสนาสนะป่าท่าแฉลบ จันทบุรี ส่งข่าวมาแก่ข้าพเจ้าว่า จะไปนมัสการท่านอาจารย์ใหญ่โดยด่วน” เป็นเหตุให้พระวิริยังค์นัดแนะกับพระอาจารย์เทศก์ร่วมเดินทางด้วยรถโดยสารเข้าสู่พระนครเพื่อนั่งรถไฟไปยังอีสานและต่อรถยนต์เข้าเยี่ยม ‘ท่านอาจารย์ใหญ่’ ณ บ้านหนองผือ เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม

ทันทีที่พบหน้ากัน พระอาจารย์ก็ทักขึ้นว่า  “ด่วนหยังแท้ บ่อจัดที่ก่อนเฮามันยังบ่อทันเผาดอก” แปลว่า “ด่วนมาเร็วแท้ เรามันยังไม่ทันเผาดอก”[9] ท่านวิริยังค์ได้พยาบาลพระอาจารย์มั่นอยู่ที่บ้านหนองผือเป็นเวลา 8 วัน ผู้ที่มาพยาบาลเป็นประจำคือ 1.พระวัน อุตฺตโม 2.พระทองคำ ญาณภาโส 3.พระหล้า เขมปัตโต[10] ท่านทั้ง 3 นี้ได้ปฏิบัติประจำมาเป็นนิจหลายปี (ก่อนหน้ามีเอ่ยถึงท่านมหาบัวว่าเป็นศิษย์ผู้ใกล้ชิดร่วมกับ ท่านวัน และ ท่านทองคำ และมีพระเถระรุ่นผู้ใหญ่อยู่ใกล้เช่น อาจารย์ฝั้น อาจาโร, อาจารย์อ่อน ญาณศิริ, มหาทองสุก สุจิตโต, อาจารย์กงมา จิรปุญโญ เป็นต้น)

5 พรรษาสุดท้ายของชีวิต พระอาจารย์มั่นจำที่วัดป่าบ้านหนองผือ (ปัจจุบันใช้ชื่อทางการว่าวัดป่าภูริทัตตถิราวาส) ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร หลังออกพรรษา พ.ศ. 2492 พระอาจารย์มั่นกำชับให้ลูกศิษย์นำท่านไปยังวัดป่าสุทธาวาส เนื่องด้วยบ้านหนองผือเป็นหมู่บ้านเล็ก “ถ้าตายที่นี่จะเป็นการกระเทือนและทำลายชีวิตสัตว์ไม่น้อยเลย สำหรับผมตายเพียงคนเดียว แต่สัตว์ที่จะพลอยตายเพราะผมเป็นเหตุนั้นมีจำนวนมากมาย เพราะคนจะมามาก ทั้งที่นี้ไม่มีตลาดแลกเปลี่ยนซื้อขายกัน…อย่างไรก็ขอให้นำผมออกไปตายที่สกลนคร เพราะที่นั้นเขามีตลาดอยู่แล้ว คงไม่สะเทือนชีวิตของสัตว์มากเหมือนที่นี่”[11]

ดังนั้นในวันที่ 10 ค่ำ เดือน 12 (31 ตุลาคม 2492) จึงเริ่มเดินทางออกจากบ้านหนองผือ หยุดพักค้างคืนระหว่างทาง จนท้ายที่สุดได้ไปละสังขารยังวัดสุทธาวาสตามเจตจำนงที่ตั้งใจไว้เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2492 เวลา 02.23 น. ท่านเจ้าพระคุณพระธรรมเจดีย์ ได้จัดงานสัตตมวารกำหนดทำบุญ 7 วันหนึ่งครั้ง แบ่งเป็น 12 สัตตมวารก่อนจะถึงกำหนดวันฌาปนกิจ 31 มกราคม พ.ศ. 2493


มหาสันนิบาต

“ในระหว่างที่ยังไม่ถึงวันฌาปนกิจศพนั้น เป็นเวลา 81 วัน ฝ่ายพระภิกษุสามเณรอุบาสกอุบาสิกาต่างก็พากันหลั่งไหลเข้ามาทุกทิศทุกทาง พากันมาเพื่อจะนมัสการศพบ้าง บริจาคทรัพย์บำเพ็ญกุศลเพื่อแทนคุณท่านบ้าง ท่านองค์ใดมีศิษย์มากก็พาศิษย์มาทำบุญกัน ผู้ตั้งใจจะมาเองก็มีมาก ฝ่ายพระภิกษุสามเณรที่เป็นสานุศิษย์และนับเนื่องมาด้วยสานุศิษย์ ก็พากันล้นหลามเข้ามาเป็นการใหญ่ หวังเพื่อนมัสการศพอันเป็นคารวะในวาระสุดท้าย และเป็นโอกาสดีสำหรับคณะสานุศิษย์ทั้งหลาย ที่พลัดพรากจากกันไปนานจะได้มาพบปะกัน อันจะได้พบปะกับคณะที่เป็นสหธรรมมิก อันชื่อว่ามีครูอาจารย์เดียวกัน ทั้งเป็นเวลาที่เหมาะในกาล ที่จะสนทนาเป็นธรรมสากัจฉาด้วยประการต่างๆ และก็ได้เป็นที่รู้จักรูปลักษณะสัณฐาน ซึ่งบางท่านก็ได้ยินแต่ชื่อเท่านั้น ซึ่งทำให้เป็นกาลอันสำคัญยิ่ง

ด้วยเหตุนี้แหละบรรดาพระภิกษุสามเณร จึงได้ล้นหลามเข้ามากันเป็นการใหญ่ จนถึงกับไม่มีที่จะอยู่ เวลาฉันก็ล้นหลามเต็มศาลา ต้องไปนั่งฉันกันตามป่าก็มี เวลาไปบิณฑบาตร์ก็แถวยาวตั้งหลายเส้นดังกล่าวมาแล้ว เวลาทำข้อวัตต์มีการปัดกวาดเป็นต้น จับนั่นจับนี่คนละทีสองทีก็แล้ว เวลาซักชุดจีวรก็จนเตาไม่ว่างเว้น ไฟในเตาปรากฏเปลวอยู่เป็นนิจ เวลาเข้ามาเจ้าบัญชีต้องการทราบจำนวนก็จดกันจนไม่ทัน (ที่ไม่ได้จดเสียก็มาก) เวลาพระเจ้าของถิ่น จะรับอาคันตุกะก็รับกันแทบไม่ไหว (เพราะมาไม่มีเวลาตั้งแต่เช้าตลอดคืนเลย) เวลาพักอยู่กันก็แออัดยัดเยียดกันแทบเป็นทหาร เวลาพูดกันก็นั่นนิดนี่หน่อยคนละคำ 2 คำก็ดังราวกับเครื่องบิน เวลาให้พรก็ดังราวกับเครื่องกระจายเสียง เวลาเข้านั่งชักบังสุกุลกันก็จนหมดที่ เวลาเดินก็ไขว่เขวเตนัง เวลาจะตามหากันแต่ละองค์ตั้งวันก็ค้นไม่เจอ เออ/ อะไรๆ ก็วิตถารเหลือเหตุ ดูๆ ก็น่ายินดีปรีดาเสียจริงๆ ดูๆ ก็อึกอัดใจแทบวายปราณ คิดๆขึ้นมาก็น่าแปลกใจอัศจรรย์จริงๆ เพราะเมื่อต่างได้ยินข่าวมรณภาพของท่านอาจารย์ใหญ่ก็พากันมาเป็นการใหญ่ซึ่งเป็นของเป็นเองเป็นของที่ยากแท้ ยากที่จะเป็นได้เช่นนี้ การมาไม่ใช่จำเพาะจังหวัดเดียว เมื่อรวมกันแล้ว 16 จังหวัด (ยังจะกว่าอีก) จำเพาะพระภิกษุสามเณรที่มาในงานศพ 800 กว่า เฉพาะคฤหัสถ์เป็นจำนวนหมื่นๆ มากมายเหลือครณา เลยทำให้งานเป็นงานใหญ่โตขึ้นมาก จึงต้องมีการจัดการให้ใหญ่เป็นพิเศษอีก การจัดเตรียมก็ช่วยกันทั้งฝ่ายคฤหัสถ์และบรรพชิตเมื่อมาถึงเข้าแล้วไม่มีที่อยู่ จึงพากันจัดแจงกันในป่าข้างๆวัด จัดเป็นร้านเรียงรายตามความประสงค์ของใคร กุฏิมี 20 กว่าหลัง ศาลาใหญ่ 2 หลัง โรงยาว 2 หลัง ยังจุพระที่มาไม่ได้ครึ่ง จึงจำต้องจัดเอากันในป่าเต็มเดียระดาษไปเป็นแถวกันตัดถนนซอยเล็กซอยน้อยเข้าหากันทำร้านใหญ่บ้างเล็กบ้างเบื้องต้นปูกระดาน กระดานหมด ปูฟากๆ ก็หมด ปูฟางๆ ก็หมด ปูใบไม้ๆ ก็หมดอีกจนต้องปูด้วยผ้าอาบน้ำ การจ่ายหมอนๆ ก็หมด ก็ไม่ทั่วถึงกันต้องหนุนตีนบาตร์ ดูเป็นพืดไป ถ้าใครไม่เคยเดินเข้าไปเป็นต้องหลงออกมาไม่ถูก เพราะเป็นทางเลี้ยวลดคดเคี้ยวเนื้อที่กว้างเป็นป่าทึบ ดูๆแล้วคล้ายกับตลาดในกรุงเทพฯเลย  เมื่อมาพูดถึงความอดทนของพระที่ท่านมานับว่าดีมาก แต่ว่าท่านทั้งหลายนี้เคยอดทนมาแล้ว เพราะว่าในเมื่อปรกติ ก็มีการเดินธุดงค์อยู่ตามป่าไม้ตากแดดตากฝนกันมาชำนาญ แม้เมื่อมาประสพเหตุการณ์เช่นนี้ จึงมิได้มีจิตคิดวิตกอะไร ซ้ำเป็นงานศพของครูบาอาจารย์เสียด้วยซ้ำ

ก็เมื่อวันก่อนๆ มายังไม่สู้อัศจรรย์เท่าใดนักสำหรับเหตุการณ์ ครั้นถึงวันงานเข้าแท้ๆ คือ วันที่ 28-29 มกราคม 2493 ดูอัศจรรย์พิลึกน่าสะพรึงกลัวเนื่องจากว่า ต่างคนต่างมาในวันนั้นก็มากแท้ล้นหลามกันมาคล้ายกับน้ำพุไม่รู้ขาด บ้างก็มาด้วยการเดินเท้าหาบหามเครื่องไทยธรรมากัน บ้างก็มาด้วยเกวียนบรรทุกเครื่องไทยธรรมมา บ้างก็มาด้วยรถยนต์บรรทุกเครื่องไทยธรรมมา ทั้งกลางวันและกลางคืน ทั้งคนในเมืองและตามชนบทบ้านนอก ทั้งคนมั่งมีคนจนและปานกลาง บางคนก็สวยงาม บางคนก็ขี้เหร่ขี้ร้าย บ้างสูงจนเกินไป บ้างต่ำจนดูไม่ได้ บ้างอ้วนจนลงพุง บ้างผอมยังกับคางคกตายซาก บ้างตาบอดหูหนวก ทั้งดำทั้งขาว ทั้งพ่อค้าคฤหบดี ทั้งพลเรือนข้าราชการ ทั้งชาวสวนชาวไร่ชาวนา ทั้งลูกจ้างกรรมกร ต่างก็แตกตื่นกันมาคล้ายๆ กับว่า จะมาเป็นเกียรติยศเกียรติศักดิ์ให้แก่ศพท่านอาจารย์ใหญ่ เมื่อนึกคิดไปก็ตรงกับพุทธภาษิตว่า กมฺมํ สตฺเต วิภชฺชติ ยทิทํ หีนปฺปณีตตาย กรรมนั่นแลย่อมจำแนก (แบ่ง) สัตว์ทั้งหลายให้เลวและประณีต ยิ่งดูคนที่เดินขวักไขว่กันไปมา แลเห็นต่างๆ ดังนั้นเลยเข้าใจไปว่ากรรมนั้นหนอช่างจำแนกให้เป็นไปต่างๆ อย่างคาดไม่ถึงแท้ๆ ยิ่งเข้ามาพบกับตา ในขณะคนทั้งหลายเข้ามาประชุมกันเป็นจำนวนนับด้วยหมื่นๆ ต่างก็แสดงกิริยาท่าทางความเป็นต่างๆ ยิ่งทำให้ข้าพเจ้าคิดถึงความจริงแห่งพุทธวจนะนี้ยิ่งขึ้น ครั้งมาถึงเข้าแล้ว คนทางไกลที่จะต้องแรมค้างก็แสวงหาที่พักเป็นการใหญ่ ใครมาถึงก่อนก็ได้พักสบายหน่อย ใครมาถึงทีหลังก็ต้องเบียดกันเข้าไปตามแต่จะหาได้ มันเป็นของเหลือวิสัย จริงไหมละ? ท่านทั้งหลาย คนจังหวัดเดียวที่จะจัดที่รับคนเป็นสิบๆจังหวัด โดยการไม่รู้ตัวให้เพียงพอได้จะไหวที่ไหน แต่ว่าเป็นศรัทธาของผู้มีความประสงค์จะทำบุญกันก็หากันมา มิใช่ว่าเป็นการบังคับจับไสแม้ด้วยประการใด ฉะนั้นเมื่อขาดตกบกพร่องผิดถูกอย่างไรก็ควรให้อภัยซึ่งกันและกันเถิด”


อุบาสิกา 3 พี่น้องตระกูล ‘ชุวานนท์’ ผู้สร้างวัดป่าสุทธาวาส
(ซ้ายไปขวา) นิล-นุ่ม-อินทร์
ลายมือพระอาจารย์มั่นที่มีต่ออุบาสิกานุ่ม


เมรุและหีบศพของพระอาจารย์มั่น


พระธรรมวิสุทธิมงคล (บัว ญาณสมฺปนฺโน) 
พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโร)
ผู้ก่อสร้างหีบศพและเมรุพระอาจารย์มั่น วิศิษฎ์ วัฒนสุชาติ
(ภาพวัยหนุ่มถ่ายพร้อมภริยา น้องสาวคนเล็กตระกูลชุวานนท์ นางลูกอินทร์ ผู้ร่วมสร้างวัดป่าสุทธาวาส)

ผู้ก่อสร้างหีบศพและเมรุพระอาจารย์มั่น วิศิษฎ์ วัฒนสุชาติ (ภาพวัยหนุ่มถ่ายพร้อมภริยา น้องสาวคนเล็กตระกูลชุวานนท์ นางลูกอินทร์ ผู้ร่วมสร้างวัดป่าสุทธาวาส)


การดำเนินงานจัดทำหีบศพและเมรุนั้น คุณวิศิษฐ์ วัฒนสุชาติ (ร้านสกลวัฒนา) เป็นหัวหน้าดำเนินงาน โดยมีผู้ร่วมงานหลักคือ 1.นายฟอง 2.ครูสาท 3.ครูเปลื้อง หีบศพแรกใช้เวลาทำอย่างรีบเร่งด้วยไม้ตะเคียนสำเร็จในวันรุ่งขึ้นแล้วเตรียมนำศพลงไว้บูชา ณ ที่ศาลา ต่อจากนั้นจึงเร่งรีบทำหีบที่สวยงามขึ้น ทำทั้งกลางวันและกลางคืน

หีบศพกำลังทำนี้เป็นหีบศพชั้นนอกครอบกับหีบเดิม แม้ชั้นนอกก็ทำด้วยไม้ตะเคียนเขียนเป็นลายแล้วเดินทอง ด้านข้างทั้ง 2 ข้างเป็นลายกนกขดประดับเทพพนม ด้านหัวท้ายเป็นลายเทพพนมมีเท้าสิงห์ตั้งรับ ส่วนเมรุมาสทำด้วยประสาทเรือนยอด มีมุขทอดทั้งสี่ด้าน มีเพดานและแก่นตั้งศพเป็นฐาน ฐานกลางเป็นกลีบบัวคว่ำและบัวหงาย เสาทั้ง 12 ต้นเป็นลายประจำยามก้านแหย่ง หน้าจั่วทั้งสี่มีเป็นลายนำขบประกอบลายก้านขดดูงดงามดังนี้


‘เตียง ศิริขันธ์’ ณ งานศพ ‘พระอาจารย์มั่น’



ระหว่างสงครามมหาเอเชียบูรพา พ.ศ. 2484-2488 นายเตียง ศิริขันธ์ ถือสถานะหัวเรือใหญ่ของเสรีไทยสายอีสาน ทว่ายังไม่ปรากฏหลักฐานว่าได้พบปะกับพระอาจารย์มั่นที่ระยะนั้นพำนักอยู่ จ.สกลนคร หรือไม่ ช่วงนี้ประจวบกับท่านวิริยังค์เองก็ยังทำหน้าที่อุปัฏฐากพระอาจารย์มั่นอยู่บริเวณนี้ ท่านได้เล่าถึงประสบการณ์ตรงที่มีส่วนร่วมกับเสรีไทยช่วงปลายสงครามปี พ.ศ.2488 ระหว่างได้รับการอาราธนาให้ไปปราบผีกระสือที่หมู่บ้านเต่างอย อ.เมือง จ.สกลนคร ไว้ว่า

“สงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งกองทัพในประเทศไทยทั่วประเทศ…ชาวบ้านเต่างอยนี้อยู่ชายภูเขาภูพานเหมือนกัน…เวลานี้ใกล้สงครามจะสงบอยู่แล้ว…คณะเสรีไทยก็อยู่บนภูเขาซึ่งพระวิริยังค์ก็ได้อยู่กับพวกเขา อาวุธ-กระสุน-อาหาร-เครื่องใช้-เวชภัณฑ์ได้ถูกทิ้งลงมาจากเครื่องบินเป็นร่มชูชีพ…คณะเสรีไทยพร้อมกับชาวบ้านก็ร่วมกันใช้อาวุธที่ส่งมาเหล่านี้ บนภูเขาภูพานพระวิริยังค์เข้าตาจน ต้องร่วมอยู่กับเขาด้วย…จนกระทั่งในระยะต่อมาญี่ปุ่นรู้ว่าพวกเสรีไทยรวมกันตั้งกองอยู่ที่นี่ ญี่ปุ่นมันก็ขออนุญาตเจ้าหน้าที่ไทยทำการกวาดล้าง คณะเสรีไทยยังไม่พร้อมก็พากันขนของหนีเข้าไปในป่าลึก ก็ในวันนั้นเองทหารญี่ปุ่นก็เข้ามาถึงพอดี ของที่เหลืออยู่มีปลอกกระสุนปืน ส่วนของอื่นเอาไปฝังดินหมด ทหารญี่ปุ่นเข้ามาประชิดตัวพระวิริยังค์ พระวิริยังค์เอาปลอกกระสุนปืนใส่กล่องเอาหมอนอิงทับและนั่งอยู่ พวกมันเข้ามาถามหาคณะเสรีไทยว่าอยู่ที่ไหน พระวิริยังค์ตอบว่าไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน แต่พวกทหารญี่ปุ่นไม่เชื่อ พยายามอยู่หลายชั่วโมง ข้าพเจ้าต้องให้โยมช่วยหาอาหารตามมีตามได้เลี้ยงมัน เมื่อพวกมันกินอิ่มแล้วก็กลับไปที่ตั้ง พระวิริยังค์โล่งใจ รีบเอาปลอกกระสุนไปเททิ้งที่หลุมส้วม”

หลังจากนั้นทหารญี่ปุ่นยังคงตั้งค่ายข้างวัดนานนับหลายเดือน เมื่อสงครามสิ้นสุด “เมื่อญี่ปุ่นยอมแพ้แล้ว ณ ที่พระวิริยังค์อยู่นี้ ทหารญี่ปุ่นได้รวมกันตั้งอยู่กับที่ไม่เคลื่อนไปไหน ไม่ทราบคณะเสรีไทยมาจากไหน ได้ทราบว่าออกจากป่าจำนวนมาก เข้าทำการปลดอาวุธของทหารญี่ปุ่นที่ข้างวัดนี้เอง ข้าพเจ้าได้เห็นกับตา”[12]



พระอาจารย์มั่นยังคงดำรงชีวิตเบื้องปลายในบริเวณ จ.สกลนคร ตลอดหลังสงครามยุติจนละสังขารในอีก 4 ปีต่อมา เมื่อปลายปี พ.ศ. 2492 ในงานศพของท่านต้นปีถัดมา ส.ส.จังหวัดสกลนครขณะนั้น เจียม ศิริขันธ์ และน้องชายเตียง ศิริขันธ์ อดีตเสรีไทยทั้งคู่ ได้เข้าร่วมงานในฐานะกรรมการจัดงานฝ่ายฆราวาส ปรากฏรูปถ่ายหมู่ทั้งสิ้น 3 รูปหน้าเมรุชั่วคราว และชื่อทั้งสองได้รับการกล่าวขานจากท่านวิริยังค์ ดังแสดงไว้บนย่อหน้านี้ว่า

“ฝ่ายว่าคณะที่จะช่วยทางมหรสพ ก็รีบรุดเข้าไปในบริเวณวัดสุทธาวาส โดยเฉพาะนายเตียง ศิริขันธ์ และนายเจียม ศิริขันธ์ ส.ส.สกลนคร ได้นำเครื่องไฟฟ้ามาทำไฟฟ้าให้ในงาน พร้อมกับเครื่องนีออนประดับเมรุฯ และเครื่องขยายเสียงกับคณะพิณพาทย์บางบัวทองมาช่วยบรรเลง วันที่ 28 มกราคม 2493 ก็ได้เคลื่อนศพขึ้นสู่เมรุฯ เมื่อก่อนจะเคลื่อนศพ พระภิกษุสามเณรก็เข้าธรรมวัตต์ (คารวะ) ศพกันแน่นขนัดเป็นตอน 1 อุบาสกอุบาสิกาก็มาธรรมวัตต์ศพกันเนืองแน่นเต็มแผ่นวัด ครั้งเสร็จสรรพก็หามศพเคลื่อนขบวน ขณะที่ศพเคลื่อนขบวนนี้แหละ มหาสํเวโค อันว่าความสังเวชใหญ่ ได้บังเกิดขึ้นแก่บรรดาสานุศิษย์พร้อมทั้งพิณพาทย์บรรเลง ยิ่งทำให้รัญจวนวาบหวิวใจยิ่งขึ้น ต่างคนต่างหยาดน้ำตาไหลนองหน้าให้แก่ศพของท่านอาจารย์กันเป็นจำนวนมาก ซึ่งคงจะมีความคิดว่า โอหนอ! ท่านอาจารย์แต่ก่อนแม้เคยสั่งสอนพวกเรา บัดนี้เขาจะนำไปเป็นเชื้อเพลิงเสียละ ยิ่งทำให้จำต้องคิดพิจารณาไปถึงความเสื่อมสิ้นหมดเป็นระยะไป ในไม่ช้าเขาก็นำศพขึ้นสู่เชิงตะกอน บรรดาสานุศิษย์ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ก็เข้านมัสการกันตลอดวันตลอดคืนไม่มีว่างเว้นเป็นเวลา 3 วัน ซึ่งช่างถ่ายภาพจะหาเวลาถ่ายภาพในโอกาสที่ไม่มีคนไม่ได้ ผู้ต้องการด้วยกุศลก็พากันมาบังสุกุลนิมนต์พระเอาตามแต่ใครสมัครดูไม่ขาดเลย ทางฝ่ายโต๊ะเหรัญญิกผู้เก็บเงินที่เขามาบริจาคช่วยในงานศพต้องทำงานหนัก มีตั้ง 5-6 โต๊ะ ยังเขียนชื่อแทบไม่ทัน ฝ่ายนายเตียง ศิริขันธ์ ก็ช่วยอ่านชื่อผู้บริจาคโดยเครื่องกระจายเสียงจนเสียงแห้งวันยังค่ำ”

ในงานนี้ ได้เงินบริจาคทั้งหมดเป็นเงิน 58,650.12 บาท ใช้จ่ายไป 11,327.20 บาท คงเหลือ 47,322.92 บาท เพื่อบูรณะวัดสุทธาวาสต่อไป

พระธรรมวิสุทธิมงคล หรือหลวงตาบัว ญาณสมฺปนฺโน ได้กล่าวถึงพิธีเดียวกันนี้ไว้ว่า  “งานนี้ท่านทำพิธีเปิดมีกำหนด 3 คืนกับ 4 วัน (28-31 มกราคม พ.ศ. 2493 – ผู้เขียน) ซึ่งเริ่มแต่วันขึ้น 10 ค่ำ เดือน 3 ถวายฌาปนกิจศพท่านคืนของวันขึ้น 13  ค่ำ ราว 6 ทุ่ม พอรุ่งเช้าของวันขึ้น 14 ค่ำก็เป็นวันเก็บอัฐิท่าน ส่วนวันที่และเดือนอะไรนั้นจำไม่ค่อยได้ กรุณานำไปเทียบกับปฏิทินร้อยปีอาจพอทราบได้”[13]


เจียม ศิริขันธ์
ประสาท สุขุม
วิศิษฎ์ วัฒนสุชาติ
ฟอง นวลมณี


ส่วนบุคคลที่ปรากฏฉายภาพร่วมกับนายเตียง ประกอบด้วย นายเจียม ศิริขันธ์ พี่ชาย และเป็น ส.ส.จังหวัดสกลนครขณะนั้น  นายประสาท สุขุม (พ.ศ. 2444-2516)[14] บุตรชายของท่านเจ้าพระยายมราช (ปั้น สุขุม) กับท่านผู้หญิงตลับ (สกุลเดิม ‘ณ ป้อมเพชร’) ตากล้องผู้อำนวยการถ่ายทำภาพยนตร์เรื่อง พระเจ้าช้างเผือก The King Of The White Elephant ที่มีปรีดี พนมยงค์ เป็นผู้กำกับในปี พ.ศ. 2483  ท่านผู้นี้คนไทยคนแรกที่ได้ไปเรียนและฝึกงานการถ่ายทำภาพยนตร์ในโรงถ่ายภาพยนตร์พาราเมาท์ที่ฮอลลีวูดตั้งแต่ปี พ.ศ. 2466  และเป็นสมาชิกสมาคมช่างถ่ายภาพยนตร์อเมริกัน (American Society of Cinematographer : A.S.C.) ทั้งยังเป็น ส.ส.จังหวัดพระนครอีก 1 สมัยในการเลือกตั้งปี พ.ศ. 2489

นายวิศิษฎ์ วัฒนสุชาติ (พ.ศ. 2450-2539) สมรสครั้งแรกกับนางลูกอินทน์ หนึ่งใน 3 พี่น้องอุปัฏฐายิกาตระกูล ‘ชุวานนท์’  คือ แม่นุ่ม แม่นิล แม่ลูกอินทร์ ผู้ร่วมสร้างวัดป่าสุทธาวาส จ.สกลนคร วิศิษฎ์เขียนบันทึกส่วนตัวด้วยความภาคภูมิใจไว้ว่า “ข้าพเจ้ารู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีอากาศ ใช้กำลังกาย กำลังใจ กำลังความคิด และกำลังทรัพย์เท่าที่หาได้ด้วยตนเอง ผนึกกำลังกับชาวบ้านและมีบทบาทในการสร้างวัดสุทธาวาส…ข้าพเจ้าได้ไปฟังธรรมะคำสั่งสอนจากท่านหลายครั้ง”[15]  

บุคคลผู้นี้เป็นรับผิดชอบงานสร้างเมรุและหีบศพของพระอาจารย์มั่น  ร่วมกับบุคคลในภาพอีกหนึ่งท่านคือ นายฟอง นวลมณี (พ.ศ. 2440-2531) อดีตเสรีไทยและมีศักดิ์เป็นพี่เขยเจียม ศิริขันธ์ ทั้งยังเป็นพ่อตาของนายวิศิษฎ์ (ในการสมรสครั้ง 2) เป็นตัวแทนนายเตียง  ศิริขันธ์  ส.ส. สกลนคร นำเงินจากรัฐบาลมาช่วยเหลือชาวญวนอพยพ, ลาวอพยพ ให้มีงานทำ  และมีเงินก่อนกลับไปภูมิลำเนา ปี พ.ศ. 2512 ได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาลเมืองสกลนคร[16] นายเจียม ศิริขันธ์ เคยเอ่ยว่า “นายฟอง นวลมณี ผู้ที่ข้าพเจ้าและนายเตียง ศิริขันธ์ เคารพรักเหมือนพี่ในไส้”[17]

ท้ายสุด นายวิเศษ เชาวนสมิทธิ์ ทราบแต่เพียงเป็นลูกเขยแม่ชุ่ม[18] (ชุวานนท์) ผู้ร่วมสร้างวัดสุทธาวาส


หนังสืองานศพพระอาจารย์มั่น


หนังสืออนุสรณ์งานศพพระอาจารย์มั่น


พระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) แห่งวัดโพธิสมภรณ์ ผู้เป็นประธานจัดงานฌาปนกิจพระอาจารย์มั่นเมื่อ 31 มกราคม 2493 เขียนคำนำให้กับหนังสืออนุสรณ์งานศพของพระอาจารย์มั่นไว้ว่า “ตกลงให้มีการพิมพ์หนังสือแจกเรื่องหนึ่ง คือให้เรื่องประวัติของท่านอาจารย์ เพื่อเป็นทิฏฐานุคติแก่ศิษยานุศิษย์รุ่นหลังอย่างหนึ่ง รวบรวมธรรมเทศนาของท่านอาจารย์ที่ศิษย์ผู้อยู่ใกล้ชิดได้จดบันทึกไว้ มาตีพิมพ์แจกเพื่อเป็นมรดกแก่ศิษยานุศิษย์ทั่วถึงกัน”

ภารกิจนี้ได้พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) แห่งเขาสวนกวาง เป็นผู้ดำเนินการ โดยส่วนแรกเรื่องประวัติท่านเจ้าคุณรูปนี้เป็นผู้เรียบเรียงผ่านการอาศัยบันทึก คำบอกเล่าของพระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส บันทึกไว้ กับอาศัยปรึกษาไต่ถามท่านเทศ เทสรํสี (ต่อมาคือพระราชนิโรธรังสี) ประกอบกับความทรงจำส่วนตัว

ส่วนหลังเรื่องธรรมเทศนา ประกอบด้วยธรรมะที่ลูกศิษย์จดจำกันมา หนึ่งคือมุตโตทัย ที่เคยได้พิมพ์มาแล้วโดยเป็นของ “พระภิกษุวิริยังค์ กับ พระภิกษุทองคำเป็นผู้บันทึกสมัยท่านอาจารย์อยู่จำพรรษา ณ เสนาสนะป่าบ้านโคกนามน (พ.ศ. 2484-ผู้เขียน) ตำบลตองโขบ อำเภอเมืองสกลนคร และตอนแรกไปอยู่เสนาสนะป่าบ้านหนองผือ ตำบลนาใน อำเภอพรรณนานิคม จังหวัดสกลนคร ข้าพเจ้ารับเอาบันทึกนั้นพร้อมกับขออนุญาตท่านอาจารย์พิมพ์เผยแพร่ ท่านก็อนุญาตและสั่งให้ข้าพเจ้าพิมพ์เรียบเรียงบ้าง ข้าพเจ้าก็ได้ปฏิบัติตามนั้นทุกประการ ถึงอย่างนั้นก็ยังมีที่กระเทือนใจผู้อ่านอยู่บ้าง…” และสองธรรมเทศนา บันทึกโดยพระภิกษุทองคำ ญาโณภาโส กับพระภิกษุวัน อุตฺตโม จดบันทึกไว้ในปัจฉิมสมัย ระหว่าง พ.ศ. 2491-2492

เจ้าคุณเส็งบรรณาธิการหนังสือเล่มนี้ได้แสดงความประสงค์ไว้ในคำนำว่าบันทึกทั้งสองนี้ “หากจะพิมพ์เผยแพร่ต่อไป ก็ควรพิมพ์รวมกันในนามว่า มุตโตทัย และควรบอกเหตุผล และผู้ทำดังที่ข้าพเจ้าชี้แจงไว้นี้ด้วย จะได้ตัดปัญหาในเรื่องชื่อ และที่มาของธรรมเทศนาด้วย.”

และท้ายสุดของหนังสืองานศพนี้คือ “บทประพันธ์ และบทธรรมบรรยาย” ของพระอาจารย์มั่นเอง “ปรากฏมีในสมุดของเก่าที่มอบให้เป็นมรดกแก่พระภิกษุทองคำ ผู้อุปัฏฐากใกล้ชิดในปัจฉิมสมัย บทประพันธ์นั้นคล้ายร่ายหรือกลอนแปด เป็นลายมือของท่านอาจารย์เขียนเอง และบอกไว้ตอนท้ายว่าท่านอาจารย์เป็นผู้แต่ง ครั้งอยู่วัดปทุมวัน พระนคร ส่วนบทธรรมบรรยายนั้น เขียนด้วยอักษรธรรม เป็นลายมือของท่านอาจารย์เหมือนกัน  สังเกตดูเป็นของเก่า ท่านอาจารย์คงตัดย่อความเอามา…ในการคัดลอกบทธรรมบรรยาย ซึ่งเป็นอักษรธรรมลงสู่อักษรไทยนั้น ได้อาศัยกำลังของพระภิกษุฉัตร โสมบุตร จิรปุญฺโญ…”


พระภิกษุทองคำ “ญาโณภาโส” และ “จารุวณฺโณ”
พระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส)
ฤษีสันตจิต


รายชื่อพระทั้งหมด 4 รูปที่ร่วมสร้างอนุสรณ์งานศพเล่มนี้จะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ส่วนของหนังสือนี้ 1.ชีวประวัติ 2.ธรรมเทศนา ที่จดจำมาและพิมพ์รวมในชื่อมุตโตทัย  3.บทประพันธ์ และ ธรรมบรรยาย จากบันทึกส่วนตัวของพระอาจารย์มั่นทั้งในรูปแบบร้อยกรองที่ต่อมารู้จักกันดีในชื่อขันธะวิมุติสะมังคีธรรมะ และร้อยแก้ว ล้วนเกี่ยวข้องกับชื่อพระภิกษุทองคำ

ศิษย์ใกล้ชิดท่านนี้คือใคร? นามเดิมคือ ทองคำ ประพาน ชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดเมื่อ 15 เมษายน พ.ศ. 2466 อุปสมบทเป็นพระภิกษุโดยมีพระธรรมเจดีย์ (จูม พนฺธุโล) แห่งวัดโพธิสมภรณ์เป็นพระอุปัชฌาย์ ฉายา ‘ญาโณภาโส’ ต่อมาลาสิกขาเมื่อ พ.ศ. 2508 มีครอบครัวประกอบสัมมาอาชีวะ ให้กำเนิดธิดา 2 คน  

ทิดทองคำได้กลับมาบวชใหม่อีกครั้งเมื่อ พ.ศ. 2536 กับสมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร) ณ วัดราชบพิธ ได้รับฉายาพระใหม่ว่า ‘จารุวณฺโณ’ กระทั่งมรณภาพเมื่อ 25 ธันวาคม 2547[19] ทั้งนี้ ก่อนละสังขารได้เขียน เกร็ดประวัติ ปกิณกธรรมและพระธรรมเทศนา ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร เป็นลายมือจำนวน 6 เล่ม[20] มอบแด่พระเทพญาณวิศิษฏ์ (ชัยทวี คุตฺตจิตฺโต) แห่งวัดปทุมวนาราม จัดพิมพ์เป็นหนังสือชื่อว่า รำลึกวันวาน เมื่อ พ.ศ. 2547 ประวัติฉบับนี้มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าของหลวงตามหาบัวและท่านวิริยังค์ โดยเฉพาะความแตกต่างในสถานที่บรรลุพระอรหันต์ที่หลวงตาทองคำว่าบังเกิดขึ้น ณ ถ้ำสิงโต เขาพระงาม จ.ลพบุรี อันแตกต่างจากประวัติของหลวงตามหาบัวที่ระบุว่าเป็นถ้ำแถบ จ.เชียงใหม่

ด้านพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) ชาตะ พ.ศ. 2451 คนจังหวัดขอนแก่น นามเดิม เส็ง โนนไม้ (ต่อมาได้เปลี่ยนนามสกุลใหม่ว่า ‘ไชยสาร’) ได้รับการอุปสมบทจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (ม.ร.ว.ชื่น นพวงศ์) ภายหลังก็ได้ลาสิกขาเช่นกันเมื่อ พ.ศ. 2508 แต่ยังคงบำเพ็ญพรตในชื่อ ‘ฤษีสันตจิต’ บั้นปลายชีวิตได้รับการอุปถัมภ์เป็นอย่างดีจากหลวงพ่อพุธ ฐานิโย แห่งวัดป่าสาละวันซึ่งเคยเป็นลูกศิษย์ใกล้ชิดขณะยังเป็นเจ้าคุณเส็ง กระทั่งสิ้นอายุขัยเมื่อ พ.ศ. 2526[21]

พระอีก 2 รูปใน 4 ที่ร่วมจัดสร้างหนังสืองานศพนี้ พระอาจารย์วัน อุตฺตโม มรณภาพด้วยอุบัติเหตุเครื่องบินตกเมื่อ พ.ศ. 2523 ส่วน พระอาจารย์วิริยังค์  สิรินฺธโร ศิษย์ใกล้ชิดของพระอาจารย์มั่น ดำรงสังขารถึงอายุ 100 ปีเศษ ครองสมณศักดิ์สุดท้ายในระดับสมเด็จพระราชาคณะ ราชทินนามสมเด็จพระญาณวชิโรดม เป็นเวลาไม่นาน ก็ละสังขารมรณภาพในปี พ.ศ. 2563

อย่างไรก็ตาม  มิใช่ว่าในหมู่ศิษยานุศิษย์ทั้งหมดจะเห็นพ้องในการจัดพิมพ์ครั้งนั้น มีความพยายามยับยั้งการเผยแพร่หนังสืองานศพดังว่าถึงขั้นนำขึ้นกราบเรียนทักท้วงต่อสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (อ้วน ติสฺโส) เรื่องราวได้รับการถ่ายทอดจากพระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต แห่งวัดป่าสันติพุทธาราม จ.ราชบุรี โดยเล่าว่า

“หลวงปู่เจี๊ยะ[22]ท่านจะพูดถึงว่าตอนที่เผาศพหลวงปู่มั่น ตอนเผาศพหลวงปู่มั่น นี่สมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านเป็นประธาน แล้วมีพูดไปถึง หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับพระ แล้วไปถึงหูท่าน ท่านก็เรียกหลวงปู่เจี๊ยะเข้าไปถามไง เพราะตอนนั้นก็มีพระที่อยู่กับหลวงปู่มั่นนี่แหละเขียนประวัติหลวงปู่มั่น เขียนประวัติหลวงปู่มั่นแจกในงานศพหลวงปู่มั่น ตอนเผาที่วัดป่าสุทธาวาส แล้วหลวงปู่เจี๊ยะท่านก็คัดค้าน แล้วข่าวนี่มันไปถึงสมเด็จ สมเด็จท่านก็เรียกหลวงปู่เจี๊ยะเข้าไป

หลวงปู่เจี๊ยะท่านบอกว่า ‘เกล้ากระผมมีความเห็นว่าหนังสือที่เขาเขียนเป็นหนังสือเล่มเล็กๆ ที่จะพิมพ์ในงานศพหลวงปู่มั่นมันไม่ควรแจก’

หลวงปู่เจี๊ยะพูดกับเราเองสองต่อสอง บอกว่า

‘ถ้าหนังสือนี้แจกออกไป ถ้าคนที่เขาอ่านหนังสือนี้แล้วเขามีหลักมีเกณฑ์ คือเขาภาวนาเป็น เขาจะหาว่าหลวงปู่มั่นเราติดสมาธิ’

ก็เขาเขียนได้แค่สมาธิไง แค่ความว่างๆ แต่มันไม่มีเหตุมีผลไง ท่านบอกว่าถ้าหนังสือนี้แจกไปเขาจะหาว่าหลวงปู่มั่นติดสมาธิ คือหลวงปู่มั่นภาวนาได้สูงสุดแค่สมาธิ

‘เออ เราเห็นด้วย เราเห็นด้วย’

ฉะนั้น หนังสือนี่ท่านไม่ให้แจกนะ หนังสือประวัติหลวงปู่มั่น มีพระองค์หนึ่งพิมพ์ กลุ่มใหญ่เลยที่เป็นลูกศิษย์หลวงปู่มั่น เพราะหลวงปู่มั่นท่านจดจารึกกันมา แล้วเวลาพวกนี้พวกมีการศึกษา เป็นพวกเปรียญเขาก็จด เขาก็เขียนกัน แล้วเขาพิมพ์กัน พิมพ์กันในคณะศรัทธาของเขา แล้วจะแจกในงานหลวงปู่มั่น สมเด็จท่านสั่งไม่ให้แจก แต่หนังสือมันพิมพ์มาเสร็จแล้วมันก็แจกกันมา แล้วก็มาอ้างอิงกันในสมัยปัจจุบันว่าหนังสือเล่มนี้ได้แจกในงานศพหลวงปู่มั่น ได้แจกในงานศพหลวงปู่มั่น

แต่สุดท้ายแล้วประธานสงฆ์ ประธานสงฆ์คือสมเด็จมหาวีรวงศ์ท่านไม่ให้แจก ทีนี้หนังสือพิมพ์มาเสร็จแล้วมันก็แจกใต้ดินกันนั่นแหละ มันก็เป็นไป นี่พูดถึงประเด็นหนึ่งไง ประเด็นอย่างนี้มันมีมาตลอด”[23]

สมเด็จมหาวีรวงศ์ (อ้วน) พระองค์นี้เดิมไม่ใคร่เห็นความสำคัญต่อพระป่าอรัญวาสีสายอาจารย์มั่นมากนัก แต่ต่อมาได้เปลี่ยนมุมมองและให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง ท่านได้รับเลือกจากรัฐบาลคณะราษฎรเพื่อดำรงตำแหน่งสังฆนายกรูปแรกเมื่อ พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ. 2484 ประกาศใช้ และในงานฌาปนกิจร่วมพระธรรมยุต 4 รูป พ.ศ. 2486 ซึ่งรวมถึงพระอาจารย์เสาร์ กนฺตสีโล สมเด็จพระองค์นี้ได้พิมพ์หนังสืองานศพให้ถึง 2 เล่ม[24] โดยเฉพาะหนังสือสำคัญวรรณกรรมอีสานเรื่องท้าวฮุ่งหรือเจือง อีกทั้งในปัจฉิมแห่งชีวิตได้นิมนต์ท่านพ่อลี ธมฺมธโร หนึ่งในศิษย์เอกของพระอาจารย์มั่นเข้ามายังพระนครเพื่อธรรมสากัจฉาเรื่องกรรมฐานและอุปัฎฐากยามอาพาธ

อนึ่ง คำบอกเล่าจากความทรงจำดังกล่าวปรากฏความคลาดเคลื่อนในเรื่องของประธานงานที่เดินทางไปจากพระนคร เพราะชื่อและรูปถ่ายพระมหาเถระที่ปรากฏในงานฌาปนกิจที่วัดป่าสุทธาวาสกลับไม่ใช่สมเด็จอ้วน แต่คือ “พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)” แห่งวัดบวรนิเวศ และหนังสืออนุสรณ์งานศพเล่มนี้ยังได้รับการพิมพ์ซ้ำต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน โดยถือว่าเป็นชีวประวัติอาจารย์มั่นเล่มแรกในบรรณพิภพ


มุตโตทัย ฉบับพิมพ์เมื่อพระอาจารย์มั่นยังมีชีวิตอยู่ พ.ศ. 2489


ฌาปนกิจสังขารพระอาจารย์ใหญ่แห่งวัดป่าธรรมยุต



บันทึกของพระวิริยังค์บรรยากาศในงานศพเมื่อบ่ายวันที่ 31 มกราคม 2493 ไว้ว่า “จำเพาะพระภิกษุสามเณรที่มาในงานศพ 800 กว่า เฉพาะคฤหัสถ์เป็นจำนวนหมื่นๆมากมายเหลือครณา…ท่านเจ้าคุณพระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) ได้นำธูปเทียนของสมเด็จพระสังฆราชเจ้า (มรว.ชื่น นพวงศ์) ขึ้นไปยังเมรุมาสก่อน…แม้ว่าเวลาถวายเพลิงอยู่นั้นต้องมียาม มิฉะนั้นจะถูกคนขโมยหรือแย่ง (อัฏฐิธาตุ) เอา แม้ถึงอยู่ยามอยู่ก็ยังมีคนมาแย่งยื้อเอามือลงไปในไฟจับเอาอัฏฐิเสียไปได้ทีหนึ่ง ขณะถวายเพลิงอยู่บรรดาผู้หวังบุญพิเศษ ยังได้โยนหมวกที่สวมอยู่บ้าง เงินทองอะไรๆ บ้างเข้าเผาด้วยมากมาย”[25]

“เวลา 17 นาฬิกาของวันเผา คือรวมกันวางดอกไม้จันทน์ หรือเรียกว่าเผาหลอก ประชาชนแน่นขนัดในบริเวณวัดเนื้อที่ 50 ไร่ แม้เขาเหล่านั้นจะวางดอกไม้จันทน์กันแล้วทุกคนไม่กลับ รอคอยประชุมเพลิงจริง (เผาจริง) ดังนั้นถึงคราวเผาจริงคนจึงยิ่งมาเพิ่มขึ้นในเวลา 22.00 น.”

 “วันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 3 (ตรงกับวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2493) เจ้าพระคุณธรรมเจดีย์ก็ได้รับเป็นผู้แจกพระอัฏฐิธาตุให้แก่บรรดาศิษย์ทั้งหลาย…”

เมรุชั่วคราวของพระอาจารย์มั่นนี้ คือตำแหน่งปัจจุบันของพระอุโบสถวัดป่าสุทธาวาสที่สร้างครอบทับเชิงตะกอนครั้งนั้นนั่นเอง



ในปีเดียวกันกับงานฌาปนกิจพระอาจารย์มั่น พ.ศ. 2493 นายเตียง ได้รับหน้าที่บรรณาธิการจัดพิมพ์ พงศาวดารเมืองสกลนคร โดย พระบริบาลศุภกิจ (คำสาย ศิริขันธ์) ผู้มีศักดิ์เป็นลุง หนังสือเล่มนี้พิมพ์จำหน่ายเพื่อสมทบทุนบูรณะวัดธาตุศาสดาราม เมืองสกลนคร



[1] พระวิริยังค์ สิรินธโร, หนังสือ เดินธุดงค์ภาคอีสาน 92 เผยความหลังแห่ง อาพาธ-มรณภาพ-ประวัติ-ฌาปนกิจ ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ (พระอาจารย์ใหญ่ของคณะกรรมฐาน) และ กรรมฐานวินิจฉัย-อุปกรณ์กรรมฐาน ในหนังสือฉลองวัดธรรมมงคล เถาบุญนนทวิหาร, (โรงพิมพ์ตำรวจ 2510),น.103-104.

[2] ภาพในเว็บไซต์ http://www.luangpumun.org/b58b/pic/other2.jpg ระบุว่านายเตียงเป็น ‘ประธานกรรมการ’ ไม่ปรากฏเชิงอรรถอ้างอิงที่มาของข้อมูลนี้

[3] นิยม รักษาขันธ์, 2488 ครูอีสานกู้ชาติ สภาบันราชภัฎสกลนคร จัดพิมพ์ในโอกาส 100 ปี ปรีดี พนมยงค์ 91 ปี เตียง ศิริขันธ์ สืบสานอุดมการณ์ ประชาธิปไตย, พ.ศ.2543.

[4] สวัสดิ์ ตราชู, ลับสุดยอด เมื่อข้าพเจ้าเป็นเสรีไทยกับขุนพลภูพาน เตียง ศิริขันธ์, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2533 เพื่อหาทุนสร้างอนุสาวรีย์ เตียง ศิริขันธ์,(สุขภาพใจ).

[5] 150th anniversary of the birth of the Venerable Ajaan Mun Bhuridatta Thera, monk (1870-1949) (Thailand, with the support of China, Republic of Korea and Viet Nam) เข้าถึงได้จาก https://unesdoc.unesco.org/ark:/48223/pf0000371424_eng

[6] ดำรง ภู่ระย้า, พระอาจารย์วิริยังค์ สิรนฺธโร (พระญาณวิริยาจารย์) วัดธรรมมงคล สุขุมวิท 101 กรุงเทพฯ, โลกทิพย์ ฉบับที่ 37 ปีที่ 3เดือนกรกฎาคม (ฉบับหลัง) พ.ศ.2527,น.57.

[7] ทั้งนี้ ฉบับรวมพิมพ์ครั้งแรกๆ ที่พบปรากฏในงานศพของมารดาพระวิริยังค์ คุณย่ามั่น บุญฑีย์กุล ณ เมรุวัดธรรมมงคล 15 มกราคม 2521 ในชื่อเล่มว่า ประวัติพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ ฉบับสมบูรณ์, (ไม่มีเลชหน้า) หน้าสุดท้าย.

[8] พระครูญาณวิริยะ (วิริยังค์) และ ธวัชชัย อิศรางกูร ณ อยุธยา,อนุสรณ์เนื่องในงานฝังลูกนิมิตรวัดธรรมมงคล(เถาบุญนนทวิหาร), (โรงพิมพ์ตำรวจ:2509),น.81-157.

[9] พระวิริยังค์ สิรินธโร, หนังสือ เดินธุดงค์ภาคอีสาน 92 เผยความหลังแห่ง อาพาธ-มรณภาพ-ประวัติ-ฌาปนกิจ ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ (พระอาจารย์ใหญ่ของคณะกรรมฐาน) และ กรรมฐานวินิจฉัย-อุปกรณ์กรรมฐาน ในหนังสือฉลองวัดธรรมมงคล เถาบุญนนทวิหาร, (โรงพิมพ์ตำรวจ 2510),น.98.

[10] เหตุการณ์ละสังขารของพระอาจารย์มั่น พระหล้ารูปนี้ต่อมาบันทึกไว้โดยละเอียดอย่างที่สุด

[11] ท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน, ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ “ศรีสัปดาห์” พิมพ์เป็นธรรมานุสรณ์ในพระราชพิธีรัชดาภิเษก 9 มิ.ย.2514,น.341.

[12] พระเทพเจติยาจารย์ (วิริยังค์ สิรินฺธโร), อัตชีวประวัติ, พิมพ์ครั้งที่ 4 พ.ศ.2552,(kyodo nation printing),น.176-178.

[13] ท่านอาจารย์มหาบัว ญาณสัมปันโน, ประวัติท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ “ศรีสัปดาห์” พิมพ์เป็นธรรมานุสรณ์ในพระราชพิธีรัชดาภิเษก 9 มิ.ย.2514,น.358.

[14] ทำไมคนเราต้องมีศาสนา พระนิพนธ์ หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล (อนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ นายประสาท สุขุม ณ เมรุวัดธาตุทอง 6 สิงหาคม พ.ศ.2516.

[15] อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษ นายวิศิษฎ์ วัฒนสุชาติ ณ เมรุวัดป่าสุทธาวาส อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร 21 ก.ย.2539.

[16] หนังสือครบรอบ  100  วัน  ฟอง  นวลมณี

[17] เมือบ เดิมชื่อเถื่อน, กบฏแยกอิสาณ ในคดี เตียง ศิริขันธ์, พ.ศ.2491,(โรงพิมพ์ประเสริฐอักษร),น.13.

[18] วาระก่อนนิพพาน ของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ณ ศาลาที่พักอาพาธ พ.ศ.2492 วัดป่ากลางโนนภู่ ตำบลไร่ อำเภอพรรณานิคม จ.สกลนคร พิมพ์เป็นบรรณนาการพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์ศาลที่พักอาพาธ ท่านพระอาจารย์มั่น 29 ต.ค.2543,น.320.

[19] หลวงตาทองคำ จารุวณฺโณ, รำลึกวันวาน เกร็ดประวัติ ปกิณกธรรมและพระธรรมเทศนา ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถร, พิมพ์ครั้งที่ 2 พ.ศ.2522, กองทุนแสงตะวัน วัดปทุมวนารามจัดพิมพ์,น.260.

[20] ปี พ.ศ.2535 ขณะที่เป็นฆราวาสในชื่อ ทองคำ ประพาน ได้เขียนหนังสือชื่อ กิจวัตรบางส่วน ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และ ประวัติวัดป่าสุทธาวาส จัดพิมพ์โดย อภิชาต-ธนรัชต์ ตีรสวัสดิชัย และ ดู James L. Taylor. “The Textualization of a Monastic Tradition: Forest Monks, Lineage, and the Biographical Process in Thailand”, in: JulianeSchober (ed.), Sacred Biography in the Buddhist Traditions of South and Southeast Asia, Honolulu: University of Hawai’i Press, 1997, pp.268-269.

[21] ดำรง ภู่ระย้า, ฤาษีสันตจิต อดีตพระอริยคุณาธาร (เส็ง ปุสฺโส) แห่งวัดป่าเขาสวนกวาง อ.เขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น, นิตยสารโลกทิพย์ ฉบับที่ 25 ปีที่ 3 เดือนมกราคม (ฉบับหลัง) พ.ศ.2527,น.64-108.

[22] ลูกศิษย์พระอาจารย์มั่นสายจังหวัดจันทบุรี เช่นเดียวกับท่านวิริยังค์

[23] พระอาจารย์สงบ มนสฺสนฺโต,ถาม-ตอบ ปัญหาธรรม วันที่ 28 เมษายน พ.ศ.2556 ณ วัดป่าสันติพุทธาราม (วัดป่าเขาแดงใหญ่) ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี http://www.sa-ngob.com/media/pdf/y56/04/p28-04-56am.pdf

[24] อีกหนึ่งเล่มเล็ก โอวาทปาติโมกขถา ของ สมเด็ดพระมหาวีรวงส์ สังคนายก พิมพ์เปนธัมทาน พิมพ์เปนธัมทาน ในงานพระราชทานเพลิงสพ พระสาสนดิลก กับ พระครูวิโรจน์รัตโนบล และในงานชาปนะกิจสพ พระมหารัตน์ กับ พระอาจารย์เสาร์ จังหวัดอุบลราชธานี 10 เม.ย. 86 (อักขระอยู่ในยุคปฏิวัติภาษาระหว่าง มิ.ย.85-พ.ย.87).

[25] พระวิริยังค์ สิรินธโร, หนังสือ เดินธุดงค์ภาคอีสาน 92 เผยความหลังแห่ง อาพาธ-มรณภาพ-ประวัติ-ฌาปนกิจ ของ พระอาจารย์มั่น ภูริทตฺตเถระ (พระอาจารย์ใหญ่ของคณะกรรมฐาน) และ กรรมฐานวินิจฉัย-อุปกรณ์กรรมฐาน ในหนังสือฉลองวัดธรรมมงคล เถาบุญนนทวิหาร, (โรงพิมพ์ตำรวจ 2510), น.154-155.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save