fbpx

Back to School? : บันทึกของคุณครูในช่วงโควิด-19

เป็นเวลากว่า 1 ปีแล้วที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 เขย่าโลกการศึกษาจนสั่นสะเทือน

แน่นอนว่านักเรียนคือผู้ที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการสูญเสียการเรียนรู้มากที่สุดเมื่อรั้วโรงเรียนจำต้องปิดลง หรือแม้ห้องเรียนย้ายไปสู่โลกออนไลน์แล้วก็ใช่ว่าวิกฤตการเรียนรู้จะสิ้นสุดลง

ฉะนั้น ครูคือหนึ่งในกุญแจที่สำคัญที่สุดที่จะรักษาการเรียนรู้ของนักเรียนเอาไว้ โลกการศึกษาจึงกลายเป็นห้องทดลองขนาดใหญ่สำหรับครูเพื่อค้นหา-ลองผิดลองถูก-สังเคราะห์ความเป็นไปได้ของการเรียนรู้แบบใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์การเรียนรู้ที่หลากหลายของนักเรียน

บทเรียนการจัดการชั้นเรียนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาเป็นอย่างไรบ้าง 101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับ 4 ครูผู้อยู่หน้าด่านในโลกการศึกษา คือ เกรียงกมล สว่างศรี ครูฟิสิกส์และดาราศาสตร์ โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จ.ระยอง, สัญญา มัครินทร์ (ครูสอญอ) ครูสังคมศึกษา โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จ.ขอนแก่น, ชนากานต์ วาสะศิริ Content Development Manager จาก StartDee และ มัทนา รุ่งแจ้ง ครูคณิตศาสตร์ โรงเรียนบ้านเวียงหวาย จ.เชียงใหม่ ว่าด้วยการสอนแบบที่ได้ผลที่สุดในยุคโควิด-19 วิธีคิดของการเรียนรู้และการจัดการเรียนการสอนที่เปลี่ยนไป และข้อเสนอเพื่อสนับสนุนครูและการเรียนรู้ในโลกการศึกษาแบบใหม่ ใน 101 Policy Forum #12 : Back to School: รื้อบทเรียน-เปลี่ยนการเรียนรู้ฉบับคุณครู

บทที่ 1 โจทย์ของเด็กต่างกัน solutions ก็ต่างกัน

การระบาดของโรคติดต่อใหม่ทำให้การศึกษาต้องปรับตัวทันทีทันใดให้ตอบรับกับมาตรการควบคุมโรคระบาด การจัดการเรียนการสอนออนไลน์กลายเป็นหนึ่งในหนทางที่รักษาได้ทั้งระยะห่างและการเรียนรู้ของเด็กนักเรียนได้ในช่วงเวลา 1 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม แนวทางเช่นนี้ไม่ตอบโจทย์ที่แต่ละโรงเรียนต้องเผชิญ เนื่องจากนักเรียนในโรงเรียนแต่ละแห่ง แต่ละพื้นที่ย่อมมีเงื่อนไขชีวิตที่ต่างกัน ฉะนั้น โจทย์การจัดการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับนักเรียนจึงเป็นเรื่องที่ครูต้องขบคิดให้ถี่ถ้วนและตีให้แตก

 โรงเรียนกำเนิดวิทย์ จังหวัดระยอง

สำหรับโรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนเอกชนระดับมัธยมศึกษาตอนปลายสำหรับนักเรียนที่มีความถนัดทางด้านวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เกรียงกมล สว่างศรี ครูฟิสิกส์และดาราศาสตร์ เล่าว่า จำนวนนักเรียนต่อระดับชั้นละ 72 คนทำให้ครูได้เปรียบในการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน และยิ่งไปกว่านั้น นักเรียนส่วนใหญ่มีความพร้อมในการเรียนออนไลน์ ทั้งในด้านสัญญาณอินเทอร์เน็ต อุปกรณ์ในการเรียน และสถานที่เรียนในช่วงที่นักเรียนไม่สามารถเรียนในห้องเรียนได้

ดังนั้น โจทย์ของครูจึงอยู่ที่การ ‘ออกแบบเวลาเรียนใหม่’ เพื่อไม่ให้นักเรียนต้องนั่งจ้องหน้าจอทั้งวัน โดยเปลี่ยนจากการกำหนดตารางสอนให้หนึ่งสัปดาห์มีคาบเรียนหลายวิชาไปเป็นการจัดตารางเรียนแบบบล็อก ซึ่งต้องเรียนแต่ละวิชาให้จบเนื้อหาแล้วค่อยขึ้นวิชาใหม่ การจัดการเรียนการสอนเช่นนี้จะช่วยลดจำนวนวิชาและเวลาเรียนลง แต่ก็ส่งผลให้ภาคการศึกษายาวนานกว่าปกติเช่นกัน

ส่วนวิชาที่จำเป็นต้องมีการทดลองอย่างวิชาในหมวดวิทยาศาสตร์ เกรียงกมลเลือกใช้วิธีการหยิบสื่อการสอนจำลองในอินเทอร์เน็ตมาใช้ หรือออกแบบลำดับเนื้อหาการเรียนการสอนใหม่ให้ช่วงที่เรียนออนไลน์เป็นการเรียนทฤษฎี เมื่อสามารถกลับมาเรียนในห้องเรียนได้ตามปกติจึงค่อยนำบทเรียนส่วนภาคปฏิบัติกลับมาสอน

นอกจากนี้ กิจกรรมพัฒนาผู้เรียนก็ต้องปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินกิจกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้บทบาทและโอกาสของตัวเองในการมีส่วนร่วมพัฒนาสังคมในอนาคต เมื่อไม่สามารถทำกิจกรรมร่วมกับโรงเรียนใกล้เคียงได้ ก็ต้องเปลี่ยนรูปแบบกิจกรรมมาเป็นการเตรียมความพร้อม เตรียมสื่อที่จะใช้จัดกิจกรรม เตรียมแผนการจัดกิจกรรมและความรู้สำหรับจัดกิจกรรมจริง แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังต้องรอให้สถานการณ์คลี่คลายจึงจะสามารถออกไปจัดกิจกรรมได้ ซึ่งในปีการศึกษาที่ผ่านมา บางกิจกรรมถูกยกเลิกไปก็มี

“สำหรับผม การถ่ายทอดความรู้ไม่ได้มีวิธีการที่ต่างจากเดิมมาก แต่ผมคิดว่าสิ่งนึ่งที่ได้เรียนรู้มาจากปีที่ผ่านมาคือ เราต้อนึกถึงความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นหลายรูปแบบ และเราจะต้องเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจไม่เป็นอย่างที่เราคิด เราต้องเตรียมแผนสำรองกับสถานการณ์ที่เราคาดไม่ได้เสมอและพร้อมที่จะปรับตัว” เกรียงกมลกล่าว

โรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย จังหวัดขอนแก่น

ส่วนโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัย โรงเรียนรัฐขยายโอกาสซึ่งมีนักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลไปจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 สัญญา มัครินทร์ ครูสังคมศึกษาชี้ให้เห็นว่า การเรียนการสอนออนไลน์ไม่เหมาะกับนักเรียนที่โรงเรียนของเขา เนื่องจากนักเรียนส่วนใหญ่เป็นคนจนเมือง เกินครึ่งไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้ และยังมีสภาพแวดล้อมที่บ้านที่ไม่เอื้อต่อการเรียนรู้ บางครอบครัวอาศัยอยู่ใต้หลังคาสังกะสีร้อนๆ หรือป้ายไวนิล ส่วนกลุ่มนักเรียนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและเรียนออนไลน์ได้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเรียนได้อย่างเต็มที่และมีคุณภาพ

เมื่อต้องเผชิญกับเงื่อนไขดังกล่าว ทีมครูโรงเรียนเทศบาลบ้านโนนชัยจึงต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ให้ตอบโจทย์ของนักเรียนโดยแบ่งออกเป็น 2 โมเดล คือ

(1) จัดการเรียนรู้ออนไลน์สำหรับกลุ่มนักเรียนที่เข้าถึงอินเทอร์เน็ต ซึ่งครูต้องออกแบบบทเรียนให้สั้น กระชับ ทิ้งคำถามหรือประเด็นที่ดึงดูดความสนใจของนักเรียน พยายามใช้วิธีสื่อสารผ่านคลิป เน้นชวนคุย ชวนแลกเปลี่ยน ส่วนเนื้อหาก็พยายามออกแบบให้เป็นเรื่องใกล้ตัว แม้ว่าจะยังต้องอิงกับหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการก็ตาม

(2) ลงพื้นที่จัดกระบวนการเรียนรู้ใหม่ในชุมชนสำหรับกลุ่มนักเรียนที่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยครูจะเวียนไปลงพื้นที่สามชุมชน ชุมชนละทีมทุกวันจันทร์ และสอนคละชั้นเรียน

“พื้นที่หรือชุมชนแต่ละที่สะท้อนบุคลิกหรือสไตล์การเรียนรู้ของเด็ก เราก็ออกแบบหน้างาน โดยมีแกนในการจัดกระบวนการเรียนรู้คือ เอาบริบทของพื้นที่เป็นตัวตั้ง ส่วนเนื้อหาก็ต้องคำนึงทั้งความต้องการของนักเรียนและข้อมูลหรือสิ่งที่ครูหรือพันธมิตรของเรามี ซึ่งเป็นทักษะอาชีพ ทักษะชีวิตและสิทธิมนุษยชน เราเน้นไปที่ทักษะจำเป็นสำคัญมากๆ กับนักเรียนของเราอย่างเศรษฐกิจปากท้อง บางวิชาที่ต้องรวมตัวกันหลายคน หรือต้องทำกิจกรรมที่ใช้เวลานานก็ลดลง”

เมื่อเป็นเช่นนี้ การเรียนรู้จึงไม่ได้จำกัดอยู่ในตำรา แต่เป็นการพานักเรียนเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัว เช่น เรียนวิทยาศาสตร์ผ่านการสำรวจสิ่งแวดล้อมในชุมชน หรือผ่านเจลล้างมือซึ่งเป็นของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันช่วงโควิด-19 หรือเรียนศิลปะโดยผสานสิ่งแวดล้อมรอบตัวในพื้นที่เข้ามา เช่น ทำผ้ามัดย้อมและนำผ้ามัดย้อมที่ได้มาต่อยอดทำแมสก์

สัญญาเล่าต่อว่า ห้องเรียนที่ใช้ชุมชนเป็นฐานจึงกลายเป็นพื้นที่ที่นักเรียนได้พบเจอผู้คนใหม่ๆ หลากหลาย ทำให้ครูเห็นศักยภาพของนักเรียนอย่างที่ไม่เคยเห็นในห้องเรียนแบบเดิม แต่ในขณะเดียวกัน การจัดการเรียนรู้เช่นนี้ก็มีความท้าทายเช่นกัน เพราะเมื่อเรียนแบบคละชั้น ความสนใจของนักเรียนแต่ละระดับชั้นย่อมต่างกัน ทำให้บางกระบวนการเรียนรู้ที่จัดในแต่ละชุมชนได้ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกัน คุณครูในทีมจึงต้องคอยถอดบทเรียนและออกแบบการจัดการเรียนรู้ใหม่เสมอ โดยใช้วิธีการเปิดพื้นที่อิสระให้เด็กได้คิดและตั้งคำถาม

“วิธีคิดเบื้องหลังคือ ครูต้องเชื่อว่าทุกอย่างสามารถเป็นการเรียนการรู้ได้ ครูต้องหูตาไวที่จะเชื่อมโยงสิ่งที่เด็กสนใจแล้วเหนี่ยวนำไปสู่การเรียนรู้ หรือถ้าไม่นำไปสู่การเรียนรู้ อย่างน้อยก็มีพื้นที่สำหรับการรับฟังเด็ก ให้เขาส่งเสียงอะไรบางอย่างเวลาที่เราไปเยี่ยมเขา เพื่อจะเชื่อมโยงความสัมพันธ์ไว้ เพราะเด็กของเรามีเหตุปัจจัยอื่นๆ ที่ง่ายต่อการหลุดออกจากระบบอยู่ตลอด” สัญญากล่าว

โรงเรียนบ้านเวียงหวาย จังหวัดเชียงใหม่

สำหรับมัทนา รุ่งแจ้ง ครูคณิศาสตร์จากโรงเรียนบ้านเวียงหวาย โรงเรียนระดับประถมศึกษาในอำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ที่มีนักเรียนทั้งหมดเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทใหญ่และชนเผ่าดาราอั้ง สิ่งที่ต้องคำนึงถึงเป็นอย่างแรกเมื่อโควิด-19 ระบาดนั้นไม่ใช่เรื่องการจัดการสอน แต่เป็นเรื่องความเป็นอยู่ของเด็กๆ เพราะเด็กส่วนใหญ่เป็นเด็กด้อยโอกาส  

มัทนาสะท้อนว่า การระบาดของโควิด-19 ทำให้ครูได้รับนโยบายจากส่วนกลางในการปรับการเรียนการสอนโดยใช้ช่องทางออนไลน์ หรือออนแอร์ผ่านโทรทัศน์ แต่จากการสำรวจความพร้อมของนักเรียนในโรงเรียน พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ไม่มีสมาร์ทโฟน หรือหลายๆ บ้านไม่มีแม้กระทั่งโทรทัศน์ ทำให้นักเรียนไม่สามารถเรียนจาก DLTV ได้ ครูจึงต้องปรับรูปแบบการเรียนเป็นการพิมพ์ใบงานและจัดรูปเล่มให้สวยงาม จัดซื้ออุปกรณ์การเรียนทุกอย่างที่คิดว่านักเรียนจำเป็นต้องใช้ แล้วนำไปให้ที่บ้าน

อย่างไรก็ตาม ภาษาไทยเป็นภาษาที่สามของนักเรียน หลายคนไม่สามารถอ่านใบงานได้ ยิ่งวิชาที่มีความเป็นนามธรรมหรือมีทฤษฎีอย่างคณิตศาสตร์ การเรียบเรียงเพื่อให้เด็กเข้าใจบทเรียนผ่านกระดาษยิ่งเป็นเรื่องยาก นอกจากนี้ ยังมีเสียงสะท้อนจากผู้ปกครองว่าการใช้ใบงานเป็นสื่อการเรียนรู้กลายภาระ เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ไม่สามารถอ่านภาษาไทยได้ สอนการบ้านไม่ได้ ส่วนนักเรียนก็กลัวครูดุ ความกดดันจึงเกิดขึ้นในครอบครัว

“สถานการณ์โควิดเป็นสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นความเป็นครูว่า ต่อจากนี้ไปเราจะทำยังไงดี เราจะโยนภาระให้ผู้ปกครองดีไหม หรือเราจะผลักนักเรียนว่าไม่ต้องเรียน เพราะฉะนั้นไม่มีวิธีดีที่สุด ที่โรงเรียนบ้านเวียงหวายใช้สัญชาตญาณมากกว่าตำรา”

“วิชาที่เน้นจริงๆ คือการอ่านออกเขียนได้ อย่างน้อยอยากให้เขาส่งพ่อแม่ไปโรงพยาบาลแล้วอ่านป้ายได้ ไปส่งพี่น้องได้ ไปที่ไหนก็สามารถอ่านป้ายจราจรได้ถูก เท่านี้ก็บรรลุเป้าหมายแล้ว” มัทนากล่าวพร้อมเล่าว่าด้วยข้อจำกัดทางทรัพยากรและความปลอดภัยในการลงสอนเพราะโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณขอบชายแดน ในปีการศึกษาที่กำลังจะมาถึงโรงเรียนจึงตัดสินใจใช้วิธีแจกเอกสารใบงาน (On-Hand) และสร้างเนื้อหาบูรณาการความรู้ปรับเข้ากับชีวิตนักเรียน รวมถึงลงพื้นที่เพื่อปรับความเข้าใจกับผู้ปกครองเรื่องการเรียนการสอนที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนโดยที่ไม่ตกเป็นภาระของผู้ปกครอง”

บทที่ 2 เทคนิคในการสอนออนไลน์เพื่อตอบโจทย์การเรียนผ่านหน้าจอ

ชนากานต์ Content Development Manager จาก StartDee ร่วมแบ่งปันในฐานะที่ทำงานเกี่ยวข้องกับแอปพลิเคชันเรียนออนไลน์ที่มีเนื้อหาตั้งแต่ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6

เธอเล่าว่า โจทย์ความท้าทายของ StartDee ค่อนข้างแตกต่างออกไปจากสิ่งที่ครูในระบบเผชิญ หนึ่งในนั้นคือการออกแบบการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ผู้เรียนที่มีความหลากหลาย เนื่องจากการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ทำให้ไม่เห็นปฏิกิริยาของนักเรียนได้โดยตรง จึงไม่สามารถทราบได้ว่าประสิทธิผลการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นอย่างไร

สิ่งที่ StartDee ทำคือ พยายามทำความเข้าใจ สำรวจความต้องการของนักเรียน ปรับรูปแบบการสอน โครงสร้างเนื้อหาและสื่อการสอนต่างๆ ให้ตรงกับความต้องการของผู้เรียนมากที่สุด โดยพยายามคาดการณ์ธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็กแต่ละคนว่าเป็นอย่างไร เช่น บางคนอาจจะชอบการฟัง การอ่าน หรือการเห็นภาพสรุป ดังนั้น คลิปที่ออกแบบมาจึงพยายามตอบโจทย์ความแตกต่างของผู้เรียนมากที่สุด นอกจากนี้ StartDee ยังใช้แอนิเมชันประกอบคลิปการสอน ซึ่งช่วยให้นักเรียนเห็นบทเรียนเป็นภาพและเสริมความเข้าใจให้นักเรียนมากขึ้น เพื่อทดแทนจุดอ่อนของการเรียนออนไลน์

ส่วนการจัดการเรียนรู้ออนไลน์ เทคนิคหรือเครื่องมือใหม่ๆ ที่ StartDee พยายามนำมาใช้ออกแบบบทเรียน ได้แก่

(1) Micro-Learning ย่อยบทเรียนเป็นคลิปสั้นๆ ความยาวไม่เกิน 10-15 นาที เพื่อดึงความสนใจของนักเรียนให้จดจ่อกับบทเรียน และแบ่งตามหัวข้อเพื่อให้นักเรียนสามารถเลือกหัวข้อได้ตามความต้องการ

(2) วางวัตถุประสงค์ของบทเรียนให้ชัดเจนในแต่ละคลิปวิดีโอ โดยครูจะตีโจทย์และพยายามหยิบแก่นที่หลักสูตรต้องการให้นักเรียนรู้มาสอนเพื่อให้ตอบโจทย์มากที่สุดในระยะเวลาสั้นๆ

(3) สร้างปฏิสัมพันธ์ในบทเรียนกับนักเรียน เนื่องจากคลิปวิดีโอของ StartDee ในช่วงที่ทำขึ้นมาในระยะแรกมีลักษณะสื่อสารทางเดียว ต่อมาจึงมีการหาวิธีปรับให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีช่วยฝัง In-Video Questions ระหว่างบทเรียน พอครูถามคำถามนักเรียนจะมีคำถามขึ้นบนหน้าจอ วิดีโอจะหยุดให้นักเรียนเลือกกดตอบ จากนั้นครูค่อยเฉลยสิ่งที่นักเรียนตอบ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยเช็กความเข้าใจของนักเรียนระหว่างเรียนได้ด้วย เพราะฉะนั้น ตอนออกแบบการสอน ครูต้องพยายามคิดล่วงหน้าว่าเนื้อหาส่วนไหนที่นักเรียนอาจจะเข้าใจผิดหรือไม่เข้าใจเพื่ออธิบายให้ชัดเจนมากขึ้น

(4) แทรกเคล็ดลับและเทคนิคการฝึกต่างๆ พานักเรียนทำโจทย์หรืออธิบายสิ่งที่ซับซ้อน เน้นย้ำประเด็นสำคัญต่างๆ เพื่อให้นักเรียนสามารถนำมาใช้ในการเรียนได้จริง

(5) การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญมากในการเรียน วิธีวัดผลที่ StartDee ใช้คือ วางแบบฝึกหัดไว้ตอนจบของทุกวิดีโอเพื่อช่วยวัดความก้าวหน้าและความเข้าใจของนักเรียนว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ รวมทั้งยังมีการวัดความรู้รวบยอดหลังดูทุกวิดีโอจนจบบทเรียน สมมติผู้เรียนได้คะแนนต่ำกว่า 60% การนำเทคโนโลยีเข้ามาวัดผลจะช่วยให้นักเรียนประเมินตนเองได้ว่าควรต้องกลับไปเรียนหัวข้อใดใหม่หรือไม่

“StartDee พยายามออกประสบการณ์การเรียนรู้ที่พยายามจำลองการเรียนรู้ในห้องเรียนและตอบโจทย์ทั้งการเรียน การสอน การวัดประเมินผลให้เกิดขึ้นในแพลตฟอร์มออนไลน์” ชนากานต์กล่าว

บทที่ 3 รื้อโลกการศึกษา จำกัดความนิยามใหม่ของเรียนรู้

ปฏิเสธไม่ได้ว่า วิกฤตการครั้งนี้ฝากรอยแผลไว้ในโลกศึกษาไม่น้อย แต่ในขณะเดียวกัน วิกฤตก็เปิดเส้นทางใหม่ในการปฏิวัติการเรียนรู้ให้ดีขึ้นกว่าเดิม

“1 ปีที่ผ่านมาสะท้อนว่าการจัดการศึกษาของเราต้องรื้ออะไรบางอย่างพอสมควร ในอดีตเรารออำนาจรัฐ เรารอให้โรงเรียนมีบทบาทในการจัดการศึกษาให้ลูกหลานมากเกินไป” สัญญาสะท้อนภาพใหญ่ของปัญหาการจัดการเรียนรู้แบบไทยๆ ที่ต้องรื้อสร้างใหม่

หากจะรื้อโลกการศึกษาได้ สัญญามองว่าต้องมีการปลูกฝังวิธีคิดเกี่ยวกับการเรียนรู้ตั้งแต่ในห้องเรียนให้ทุกคนเชื่อว่าตนเองมีอำนาจในการสร้างการเรียนรู้และสามารถแสวงหาความรู้ได้ด้วยตัวเอง

เพราะฉะนั้น การจัดการเรียนรู้ในระบบควรลดน้อยลง และอาจต้องให้คุณค่ากับการเรียนรู้นอกระบบและการเรียนรู้ตามอัธยาศัยมากขึ้น เพราะสถานการณ์การระบาดส่งผลให้คาดเดาไม่ได้ว่านักเรียนจะมาเรียนเพื่อรับความรู้จากครูเหมือนเดิมได้ รวมทั้งควรมีการกระจายอำนาจในการตัดสินใจเพื่อการออกแบบการเรียนรู้ให้เหมาะสมต่อเงื่อนไขของพื้นที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ควรต้องรอคำสั่งจากรัฐบาลหรือคำสั่งของใคร เพราะแต่ละพื้นที่ย่อมมีบริบทต่างกัน

นอกจากนี้ วิชาหรือทักษะที่สัญญามองว่าจำเป็นในอนาคตสำหรับทั้งครูและนักเรียนนั้นน่าจะเป็นวิชาการจัดการตัวเอง (self-directed) ทักษะการแก้ปัญหา และทักษะการแสวงหาความรู้มากกว่าติดอยู่ในกับดักเรียนเพื่อสอบ หรือเรียนเพื่อตอบโจทย์ตลาดทำงาน เพราะสถานการณ์พร้อมจะเปลี่ยนตลอดเวลา

ทางชนากานต์ชี้ให้เห็นว่า วิกฤตการเรียนรู้ครั้งนี้เปลี่ยนรูปแบบการสอนไปโดยสิ้นเชิง ซึ่งกลายเป็นโอกาสที่ครูจะได้ปรับการเรียนการสอนใหม่จากเดิมที่เน้นสอนความรู้เนื้อหา (content-based) ไปเป็นการเน้นสอนทักษะ (skill-based) ให้เหมาะกับนักเรียนมากขึ้น ดังนั้น หน้าที่สำคัญของครูในช่วงที่ต้องสอนออนไลน์คือ การแนะนำแหล่งการเรียนรู้ที่ดีให้กับนักเรียนและติดอาวุธให้นักเรียนสามารถค้นคว้าเองได้อย่างมีวิจารณญาณ เช่น วิธีการค้นหาที่มีประสิทธิภาพ หรือการประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูล

ส่วนการจัดรูปแบบการเรียนรู้ ชนากานต์มองว่าควรมีการผสมผสานระหว่าง asynchronous learning กับ synchronous learning เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียนมากที่สุด กล่าวคือ asynchronous learning เป็นรูปแบบการสอนที่ครูและนักเรียนไม่ต้องอยู่ในที่เดียวกันหรือเวลาเดียวกัน ไม่ต้องพบกันตามตารางเวลาที่กำหนดไว้ ทำให้มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมากในการเรียน นักเรียนสามารถจัดสรรและกำหนดการเรียนได้เอง ซึ่งวิธีนี้เหมาะกับเนื้อหาทั่วไป ส่วน synchronous learning คือรูปแบบการสอนที่ครูและนักเรียนเรียนออนไลน์ไปพร้อมกันผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่งเหมาะกับการเรียนที่ใช้วิธีการอภิปรายหรือมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบกันได้เพื่อแลกเปลี่ยนพูดคุยเกี่ยวกับเนื้อหาในจุดที่ไม่เข้าใจ หรืออาจใช้ช่วงเวลาดังกล่าวสอนฝึกทักษะความคิดขั้นสูงและการคิดวิเคราะห์มากขึ้น

ด้านเกรียงกมลเห็นสอดคล้องกับชนากานต์ว่า การศึกษาไทยโดยรวมเน้นการสอนเนื้อหา (content-based) แต่วิกฤตครั้งนี้อาจพลิกกลายเป็นโอกาสในการเปลี่ยนการเรียนรู้ไปสู่การลงมือทำ (project-based) ผ่านการทำโครงงานที่ตั้งต้นจากความสนใจหรือการตั้งคำถามของตัวนักเรียนเอง ซึ่งจะเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ฝึกกระบวนการคิด สงสัย ตั้งคำถามกับสิ่งรอบตัว และค่อยๆ หาคำตอบ แม้ว่าการเรียนเช่นนี้ไม่ได้นำมาสู่คำตอบที่ตายตัวก็จริง แต่กระบวนการที่เปิดให้ครูและนักเรียนเรียนรู้ไปพร้อมๆ กันจะช่วยให้นักเรียนได้เรียนในสิ่งที่ตนเองสนใจ ส่วนครูก็สามารถใช้ประสบการณ์ช่วยพานักเรียนไปสู่ความรู้ใหม่ร่วมกันได้ แทนที่การเรียนรู้จะมาจากสิ่งที่ครูบอกว่าควรรู้หรือควรเรียน

ส่วนมัทนาให้ความเห็นว่า “สถานการณ์โควิดเป็นตัวเร่งให้ทุกคนเห็นความสำคัญของเทคโนโลยี แต่ผู้เรียนหรือผู้ปกครองไม่ได้เตรียมภูมิคุ้มกันในการใช้เทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งอาจนำมาสู่ปัญหาต่อไปในอนาคต ถ้าไม่ได้เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ แทนที่จะตระหนักถึงปัญหา พวกเขาก็อาจจะตระหนก” ฉะนั้น จึงนำมาสู่สิ่งที่มัทนามองว่าเป็นโจทย์ใหญ่ของการศึกษาไทยคือ การทบทวนว่าการศึกษาควรเป็นอย่างไร นักเรียนควรได้เรียนรู้อะไร และหน้าตาของนักเรียนยุคนี้ควรออกมาเป็นอย่างไร และเมื่อสถานการณ์มากระตุ้นเร่งเร้าให้เกิดการตั้งคำถามต่อการศึกษา ก็เป็นโอกาสในการแลกเปลี่ยนเพื่อปรับวิธีการตอบโจทย์ให้เข้ากับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

บทที่ 4 ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาโลกการศึกษา

นอกจากครูทุกคนจะเห็นตรงกันว่ารัฐควรมีนโยบายส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานในการเรียนออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์ หรือสัญญาณอินเทอร์เน็ตที่มีความเสถียรและเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงทุกพื้นที่ของประเทศ เพื่อช่วยให้นักเรียนได้เข้าถึงทรัพยากรได้อย่างเท่าเทียมและลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา แต่ละคนยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อการพัฒนาโลกการศึกษาที่ต่างกันออกไป

ด้านชนากานต์มองว่า การเตรียมความพร้อมของคุณครูในการสอนออนไลน์เป็นเรื่องสำคัญ เพราะฉะนั้น สิ่งที่ควรทำคือจัดให้มีวงแบ่งปันและถอดบทเรียนในหมู่ครูเพื่อพัฒนาการสอนออนไลน์อย่างก้าวกระโดด นอกจากนี้ ยังเสนอเพิ่มอีกว่า รัฐควรจัดทำช่องทางเพื่อรวบรวมสื่อการเรียนการสอนรูปแบบคลิปวิดีโอเพื่อเป็นแหล่งการเรียนรู้ที่ครูสามารถแลกเปลี่ยนกัน หรือหยิบไปใช้ประกอบการเรียนการสอน ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาไทยในระยะยาว

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ การสร้างแรงบันดาลใจและเป้าหมายในการเรียน ซึ่งเป็นโจทย์สำคัญที่ครูจะต้องออกแบบให้นักเรียนเห็นความสำคัญของการศึกษา กลายเป็นเจ้าของการเรียนรู้ที่จะแสวงหาและพยายามไปให้ถึงเป้าหมายที่ตั้งไว้

ด้านมัทนาให้ความเห็นว่า โลกการศึกษาไม่ใช่เพียงแค่การเรียนรู้ในห้องเรียนเท่านั้น แต่ยังต้องอาศัยพ่อแม่พี่น้อง ผู้ปกครอง มวลชน และสังคมเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น เพราะนักเรียนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้ได้ในทุกที่ แต่ในขณะเดียวกันที่เทคโนโลยีกำลังค่อยๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตและกลายเป็นสิ่งจำเป็น การเรียนรู้ของนักเรียนบางคนไม่ควรถูกหลงลืมและทอดทิ้งจากกระแสความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

“เราอย่าลืมว่ามีเด็กบางส่วนที่เขายังรอความหวัง รอให้คนมองเห็นเขา อย่างน้อยก็เห็นว่าเขาเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศในอนาคต สำหรับครู เด็กทุกคนเหมือนกันหมด เขาอยากที่จะเรียนรู้ แต่ความสำเร็จจากการเรียนรู้ก็แตกต่างกันไป ดังนั้นคนที่เป็นครู นักวิชาการ หรือใครก็ตามที่เกี่ยวข้องกับเด็กเหล่านี้ อยากให้หันกลับไปมองว่าในอดีตเรามีความสุขแค่ไหนในการเรียนรู้ ครูอยากให้เด็กปัจจุบันเขามีความสุขเหมือนกับที่เราได้เรียนรู้มาตอนที่เป็นเด็ก”

นอกจากนี้ มัทนายังเสนอว่าการศึกษาควรเปิดให้นักเรียนได้เรียนรู้ตามความถนัดเฉพาะบุคคลมากกว่าที่จะเปรียบเทียบ แข่งขัน จัดลำดับผลสัมฤทธิ์ที่ได้ ซึ่งไม่สามารถบ่งชี้ได้ทั้งหมดว่านักเรียนมีระดับทักษะหรือความรู้มากน้อยเพียงใด

ส่วนเกรียงกมลมองว่า ปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อการพัฒนาโลกการศึกษาในอนาคตคือครู ดังนั้นต้องมีการทบทวนเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นทั้งในอนาคตอันใกล้และในระยะยาวว่า ประเทศไทยต้องการครูแบบไหน มีทักษะและทัศนคติอย่างไร เพื่อที่จะผลิตครูให้ตรงกับความต้องการออกมา

ในระยะสั้น อาจต้องมีการทบทวนปรับลดภาระหน้าที่ของครูที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับการเรียนรู้ของเด็ก เพื่อให้ครูได้มีโอกาสทบทวนการจัดการเรียนการสอน หรือไปเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนเพิ่มมากขึ้น ต้องมีการพัฒนาครูในระบบด้วยการเสริมจุดเด่น แก้ไขจุดอ่อนเพื่อให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งครูต้องรับฟังเสียงของเด็กมากยิ่งขึ้น ส่วนในระยะยาว การเตรียมครูต้องเน้นไปที่ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงและความสามารถในเรียนรู้สิ่งใหม่ได้เร็ว พร้อมที่จะทดลองวิธีการสอนใหม่ๆ ตลอดเวลา

ด้านสัญญาเน้นย้ำอีกครั้งถึงการกระจายอำนาจการตัดสินใจให้พื้นที่หรือโรงเรียนมีส่วนออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่จะตอบสนองความต้องการของชุมชนได้ด้วยตัวเอง โดยต้องเปลี่ยนโครงสร้างการจัดการโรงเรียนให้มีการประเมินวัดผลที่สอดคล้องกับโจทย์ชีวิตของนักเรียน เปิดโอกาสให้นักเรียนกำหนดเวลาและวิธีการเรียนรู้เองได้

หากมีการกระจายอำนาจเกิดขึ้น บทบาทของโรงเรียนจะถูกเปลี่ยนไปเป็นการสนับสนุนการเรียนรู้ คล้ายกับโรงเรียนผู้ใหญ่ที่ร่วมเรียนรู้บางอย่างกับเด็กนักเรียน เพราะการเรียนรู้ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนในสังคม ทั้งนี้ รัฐต้องสนับสนุนการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วย

อีกประเด็นที่สัญญามีความเห็นสอดคล้องกับเกรียงกมลคือ การผลิตครูให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงด้วยการใช้โรงเรียนเป็น work-based learning ควบคู่กับการเรียนครุศาสตร์ในระดับมหาวิทยาลัย ไม่ใช่เพียงแค่การฝึกสอนในปีสุดท้าย

บทที่ 5 โจทย์เฉพาะหน้าที่ต้องแก้ไขอยู่ตลอดเวลา

แม้โลกการศึกษาจะอยู่กับโรคระบาดมาแล้วเป็นเวลา 1 ปี แต่การระบาดที่เกิดขึ้นได้อยู่เสมอยังคงทำให้โลกการศึกษายังเผชิญความไม่แน่นอนอยู่ตลอดเวลาจากการเลื่อนการเปิดภาคเรียน อย่างการเลื่อนเปิดภาคเรียนจากวันที่ 1 มิ.ย. 64 ไปเป็นวันที่ 14 มิ.ย. 64 คือตัวอย่างหนึ่ง ฉะนั้น โจทย์การจัดการเรียนการสอนที่ครูยังทิ้งไม่ได้คือ การรับมือกับผลกระทบจากการเลื่อนเปิดเรียนและการปรับแก้แผนตามสถานการณ์เฉพาะหน้า

เมื่อมีการเลื่อนเปิดเทอม ชนากานต์เสนอว่าครูสามารถใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มออนไลน์สื่อสารพูดคุยกับนักเรียนเพื่อเตรียมความพร้อม ทำความเข้าใจหลักสูตรที่จะเรียน วางแผนการสอนร่วมกับนักเรียน มอบหมายและแนะนำสื่อการเรียนรู้ออนไลน์ เพื่อให้นักเรียนไปเรียนรู้ก่อนมาอภิปรายและแลกเปลี่ยนเนื้อหาในส่วนที่อาจยังไม่เข้าใจดีนักร่วมกันในชั้นเรียน

อีกปัญหาหนึ่งที่ตามมาจากการเลื่อนเปิดภาคเรียนคือ ภาระงานที่เพิ่มขึ้นของนักเรียนเพราะเวลาเรียนที่ขาดไปอาจส่งผลให้สัดส่วนคะแนนบางส่วนขาดหายไปจนครูต้องให้ใบงานหรือแบบฝึกหัดเป็นอีกวิธีในการวัดความเข้าใจบทเรียนของนักเรียนเพิ่ม เกรียงกมลให้ความเห็นว่า สิ่งหนึ่งที่โรงเรียนหรือครูต้องทำคือ ประสานงานพูดคุยในหมู่ครูด้วยกันเองให้มากขึ้นเพื่อช่วยรักษาสมดุลปริมาณงานที่นักเรียนได้รับในช่วงระยะเวลาที่จำกัด ไม่ให้งานไปกระจุกอยู่ที่นักเรียนมากเกินไป รวมทั้งต้องมีการออกแบบการวัดประเมินความรู้นักเรียนให้ใช้เวลาน้อยลง และออกแบบวิธีการในการตรวจเช็กปริมาณงานที่นักเรียนได้รับ

สำหรับโรงเรียนในพื้นที่ สิ่งที่สัญญามองว่าจะตอบโจทย์ความไม่แน่นอนคือ การให้อำนาจในแต่ละพื้นที่ได้ถามคนในพื้นที่ และสร้างการมีส่วนร่วมตัดสินใจว่าจะเปิดเรียนในพื้นที่ที่ไม่ได้มีความเสี่ยงสูง เพราะที่ผ่านมา การปิดเทอมอย่างยาวนานตามมาด้วยความเสี่ยงที่นักเรียนจะหลุดจากสิ่งแวดล้อมการเรียนรู้ ความรู้นักเรียนถดถอย เชื่อมต่อความรู้กลับมาลำบาก หรือแม้กระทั่งหลุดออกนอกระบบการศึกษา

ส่วนโจทย์เฉพาะหน้าสำหรับโรงเรียนที่อยู่บริเวณติดชายแดน แม้ตัวครูจะสามารถเตรียมพร้อมสำหรับการสอนได้เสมอ แต่มัทนามองว่า ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่ครูและโรงเรียนต้องพิจารณาร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นความหนักใจของผู้ปกครองเมื่อต้องรับมือกับการเลื่อนเปิดภาคเรียนของลูก ความปลอดภัย หรือปัญหาระบบการเรียนออนไลน์

บทสุดท้าย จิตวิญญาณความเป็นครูที่ยังคงอยู่

ท่ามกลางสถานการณ์การสอนที่ยากลำบาก ครูต้องทำงานหนักขึ้นในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลงโลกการศึกษา แต่สภาวะเช่นนี้ไม่ได้ทำให้พลังขับเคลื่อนงานด้านการศึกษาของครูทั้งสี่หมดลง

“จริงๆ เป็นความใฝ่ฝันตั้งแต่ตอนเด็กๆ ว่าอยากจะเป็นครู เลือกเรียนคณะครุศาสตร์ในระดับปริญญาตรี ถึงแม้ว่าเราจะได้เป็นครูในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แค่หนึ่งปี แต่หลังจากนั้นเราก็ทำงานด้านการศึกษามาตลอดสี่ปี แรงขับเคลื่อนที่ทำให้ยังอยู่ตรงนี้และอยากทำงานด้านการศึกษาต่อคือ อยากจะเห็นเด็กไทยทุกคนเข้าถึงการศึกษาที่ดีและมีคุณภาพอย่างเท่าเทียม” ชนากานต์กล่าว

“จริงๆ แล้วผมเพิ่งเป็นครูได้ประมาณสี่ปี ครูเป็นอาชีพที่เราตั้งใจจะทำตั้งแต่ตอนเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย สิ่งที่ผลักดันให้เราเป็นครูเพราะครูคือคนที่มีบทบาทในการพัฒนาเจเนเรชันถัดไปให้กลายเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศ เรามองว่างานที่เรากำลังทำไม่ใช่งานเพื่อเลี้ยงชีพและครอบครัวอย่างเดียว แต่เป็นสิ่งที่เราทำเพื่อสังคมไปด้วย” เกรียงกมลกล่าว

ส่วนสัญญานิยามตัวเองและให้บทบาทตัวเองว่าเป็นกุญแจสำคัญสำหรับอนาคต “บทบาทครูที่สร้างการเปลี่ยนแปลงได้เริ่มต้นจากงานการศึกษา ในสถานการณ์โควิดครูเราเจ็บตัวน้อยที่สุด เพราะว่ายังได้เงินเดือน เราควรทำหน้าที่ให้สมบูรณ์ ในสถานการณ์ที่ต้องเผชิญปัญหา ครูที่ทำงานเรื่องการให้ปัญญาคนต้องแสวงหาความรู้ แสวงหาทักษะหรือปัญญาในการแก้ปัญหา ถ้ามองว่าคุณค่าที่เรากำลังจะทำไม่ใช่แค่เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง มันจะมีพลังและทำให้เราเห็นคุณค่าแท้ที่เรากำลังทำอยู่”

“ในฐานะที่เราเป็นครู อุปสรรคต่างๆ ถือว่าเป็นโอกาสที่เราจะได้เรียนรู้ตัวเด็ก เรียนรู้สังคม เรียนรู้ผู้ปกครอง เรียนรู้หลายๆ ด้าน เราเชื่อในความเป็นครูของทุกคนว่าจะเป็นแรงขับเคลื่อนให้อยากทำงาน แม้จะเหน็ดเหนื่อยแค่ไหนหรือเจออุปสรรคอะไรก็ตาม ไม่ใช่เงินเดือน ไม่ใช่รางวัล ไม่ใช่การที่เด็กสอบโอเน็ตได้อันดับหนึ่งของประเทศ แต่สิ่งที่เชื่อได้ว่าครูภูมิใจมากที่สุดก็คือการได้เห็นเด็กที่ผลิตขึ้นมาอยู่ในสังคมได้ และเมีความสุข วันหนึ่งที่เขากลับมาไหว้ หรือเขามีครอบครัว ครูจะยิ้มด้วยตัวของครูเอง นี่คือแรงขับเคลื่อนเป็นอย่างดี” มัทนาทิ้งท้าย


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save