fbpx

‘จับดินสอผิด-ไม่มีสมาธิ-เขียนหนังสือกลับด้าน’ : มอง ‘การเรียนรู้ถดถอย’ ในเด็กเล็ก ผ่านสายตาครู-ผู้ปกครอง

ภายหลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อต้นปี 2020 ที่ผ่านมา สถานศึกษาหลายแห่งประกาศให้มีการเรียนการสอนแบบออนไลน์เพื่อป้องกันการระบาดของโรค อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาสองปีของการปรับรูปแบบการศึกษาเช่นนี้ส่งผลต่อพัฒนาการของผู้เรียน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กปฐมวัยที่ยังต้องเรียนรู้ผ่านการละเล่นและการลงมือปฏิบัติจริง รวมถึงต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้สอนและผู้ปกครอง

ช่วงที่การเรียนออนไลน์เข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กเล็กจึงส่งผลกระทบต่อพัฒนาการพวกเขามหาศาล เกิดเป็นภาวะการเรียนรู้ถดถอยหรือ Learning Loss ซึ่งหลายประเทศล้วนต้องเผชิญหน้าและหาทางรับมืออย่างเร่งด่วน ไม่เพียงแต่ในแง่ความรู้ทางวิชาการ เช่น การคิดเลขพื้นฐานหรือการเขียนตัวอักษร แต่ยังหมายรวมถึงทักษะการเข้าสังคมบางประการด้วย 

สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ชี้ว่า ภายหลังเด็กเล็กเข้าระบบเรียนออนไลน์นั้น ความรู้ด้านคณิตศาสตร์ของเด็กลดลงเกือบสองเดือน และด้านสติปัญญาลดลง 1.39 เดือน นับเป็นตัวเลขที่น่าเป็นห่วงทั้งในระยะสั้น และในระยะยาวหากพวกเขาต้องเข้าศึกษาในชั้นเรียนที่สูงขึ้นไป

101 สัมภาษณ์เหล่าผู้ใกล้ชิดเด็กปฐมวัยเหล่านี้ โดยเฉพาะคุณครูชั้นอนุบาลและผู้ปกครองที่มีบุตรหลานช่วงปฐมวัย ว่าภายหลังการหวนกลับมาเปิดเรียนภาคสนามอีกครั้ง พวกเขาเห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรในตัวเด็กบ้างหรือไม่

พัฒนาการด้านร่างกายที่ไม่เป็นไปตามเป้า

‘เอ’ เป็นคุณครูสอนชั้นอนุบาลในโรงเรียนอินเตอร์แห่งหนึ่ง และหลังจากที่โรงเรียนกลับมาเปิดให้เด็กๆ ได้เข้าชั้นเรียนอีกครั้งนั้น เธอสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของพวกเขาไม่น้อย “เราคิดว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากๆ คือพัฒนาการด้านร่างกายของเด็กๆ นั้นช้ามาก เช่น การใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ หรือการหัดปีนป่ายเครื่องเล่นและกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ ช้าลงไปพอสมควร” เธอเล่า “เนื่องจากว่า โดยทั่วไปแล้วในวัยนี้ เด็กๆ จะยืนขาข้างเดียว ก้าวกระโดดหรือเดินบนเส้นตรงได้ แต่สิ่งเหล่านี้กลับถดถอยลงอย่างเห็นได้ชัด หรือในกล้ามเนื้อมัดเล็กที่พัฒนาได้จากการจับดินสอ เราก็พบว่าเด็กๆ หลายคนจับดินสอผิด เนื่องจากการเรียนผ่านคอมพิวเตอร์หรือไอแพดทำให้เด็กๆ ไม่ค่อยได้ใช้มือจับดินสอ หรือไม่ค่อยได้ทำกิจกรรมที่มีในโรงเรียน เช่น การปั้นดินน้ำมันที่ช่วยฝึกกล้ามเนื้อมัดเล็กในมือของเด็กๆ ได้เต็มที่

“นอกจากนี้ เมื่อเด็กๆ ใช้เวลาอยู่ในบ้านเป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้ออกไปข้างนอก ทำให้พวกเขาใช้ร่างกายได้ไม่ค่อยเต็มที่ บางคนยังใส่แพมเพิร์สอยู่เลยก็มี ทำให้บางคนขากางเนื่องมาจากการใส่แพมเพิร์สเป็นเวลานาน”

ไม่ว่าจะการใช้เวลาเพื่อพัฒนากล้ามเนื้อทั้งมัดเล็กหรือกล้ามเนื้อมัดใหญ่ ตลอดจนการฝึกหัดเข้าห้องน้ำเพื่อลดการใช้แพมเพิร์ส ล้วนเป็นสิ่งที่เด็กๆ ควรจะเรียนรู้ในขวบปีแรกๆ ของชีวิตซึ่งส่วนใหญ่แล้วผ่านสถานศึกษาระดับชั้นอนุบาล โดยมีครูที่เข้าใจการเรียนรู้เหล่านี้ดีคอยช่วยฝึกสอน ทว่า เมื่อเด็กๆ ต้องใช้เวลาอยู่ที่บ้านเป็นส่วนใหญ่ เอก็พบว่าพัฒนาการหลายประการหดหายไปอย่างน่าเสียดาย “เช่นเรื่องการเข้าห้องน้ำ หลายครอบครัวรู้สึกว่าการให้เด็กใส่แพมเพิร์สตลอดเวลานั้นสะดวกสำหรับการดูแลมากกว่า เมื่อเด็กๆ กลับมาเรียนที่โรงเรียน เราก็พบว่าต้องฝึกสอนเรื่องการเข้าห้องน้ำใหม่หมดเลย

“เมื่อทักษะเหล่านี้ไม่ได้รับการสอนอย่างต่อเนื่อง พอเปิดเรียนแล้วเราจึงต้องกลับมาสอนเด็กๆ ใหม่เกือบทั้งหมด ส่วนตัวคิดว่าพัฒนาการเหล่านี้ไม่ได้หายไปโดยสิ้นเชิง เพียงแต่ต้องสอนเพื่อทบทวนเด็กๆ เท่านั้น”

สำหรับพัฒนาการด้านวิชาการ เอตั้งข้อสังเกตว่า พัฒนาการของเด็กๆ แตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับว่าครอบครัวใดให้ความสำคัญและทุ่มเวลาฝึกสอนบุตรหลาน “อย่างเวลาเราให้เด็กๆ นับเลขหรือถามคำถามบางคำ บางคนก็ตอบเราได้ นับเลขถอยหลังให้เราฟังได้ หรือบางคนเขียนชื่อตัวเองได้โดยที่เรายังไม่ได้สอนเพราะที่บ้านคอยฝึกให้ตลอดระยะเวลาที่ต้องเรียนออนไลน์ แต่บางคนคือไม่ได้เลย นับเลขไม่ได้ เป็นต้น

“เราคิดว่า ความรู้ที่เกิดขึ้นจากการเรียนออนไลน์นั้นไม่คงทนเท่ากับการเรียนในสถานศึกษา เทียบกับเมื่อก่อนที่เมื่อเด็กๆ กลับมาจากการปิดภาคเรียน พวกเขายังจำความรู้ที่เราสอนได้อยู่ แต่เมื่อเรียนออนไลน์ ความรู้กลับหายไปเร็วมาก” เอกล่าว และระบุว่า เมื่อความรู้ของเด็กๆ หดหายไปอย่างรวดเร็วในช่วงหยุดโควิด ทำให้เมื่อกลับมาเรียน ช่องว่างระหว่างชั้นจึงกว้างมาก “เมื่อก่อนมีโควิด เราแบ่งเด็กในชั้นเรียนออกเป็นสามระดับ คือเด็กที่อยู่ในระดับเก่ง-ปานกลาง-ต่ำ แต่หลังโควิด เราต้องแบ่งออกเป็นสี่หรือห้าระดับเพราะพัฒนาการของเด็กๆ ในชั้นห่างกันเยอะมาก

“ส่วนตัวคิดว่าการเรียนออนไลน์เหมือนดูโทรทัศน์ เด็กๆ ไม่ได้เจอคนจริงๆ อีกทั้งการเรียนรู้ที่คงทนเกิดจากการทบทวนและการทำซ้ำเป็นหลัก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้จากการเรียนออนไลน์” เอบอก “แต่เราก็ไม่อยากโทษผู้ปกครองนะ เพราะพวกเขาก็ต้องทำงาน ไม่มีเวลามาคอยทวนบทเรียนให้ลูก ขณะที่โรงเรียนมันมีกิจกรรมมากมาย มีแบบฝึกหัด มีคุณครูคอยออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้พัฒนาทักษะต่างๆ ได้มากกว่า”

อีกประการหนึ่งที่เอพบคือ เด็กปฐมวัยที่ต้องเรียนออนไลน์นั้น เมื่อกลับมาเปิดภาคเรียนตามปกติแล้วมีภาวะเอาตัวเองเป็นศูนย์กลาง (self centred) ค่อนข้างหนักซึ่งโดยทั่วไปแล้วเป็นพฤติกรรมที่ไม่ค่อยพบในเด็กเล็กแล้ว เป็นผลมาจากการอยู่กับผู้ใหญ่เยอะและไม่ค่อยได้เจอเด็กในวัยเดียวกัน เมื่อเปิดภาคเรียนแล้วเอจึงต้องออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เด็กได้ใช้เวลาด้วยกันมากขึ้น นอกจากนี้เธอยังพบว่าเมื่อเด็กๆ อยู่บ้านเป็นเวลานานทำให้เข้าสังคมไม่เก่ง อันจะเห็นได้ชัดจากเรื่องระเบียบวินัย เช่น เด็กไม่รู้ว่าถ้าจะใช้อ่างล้างมือต่อจากเพื่อนก็ต้องรอและรู้จักการต่อแถว ซึ่งเด็กส่วนใหญ่ใช้เวลาทำความเข้าใจไม่นานและให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามอย่างยินดี 

เมื่อครอบครัวไม่มีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด

ประเด็นการเข้าสังคมของเด็กๆ ก็เป็นสิ่งที่ ‘แตน’ ตั้งข้อสังเกตเช่นกัน เธอเป็นคุณครูชั้นอนุบาลของโรงเรียนรัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และพบว่าเมื่อเด็กๆ กลับมาเข้าชั้นเรียน ทักษะการเข้าสังคมเช่น การต่อแถว, การอยู่ร่วมกันกับเพื่อนลดน้อยถอยลงจนมองเห็นได้

“บางคนไม่รู้ว่าจะบอกสิ่งที่ต้องการให้คนอื่นรู้ได้อย่างไร อยากได้อะไรก็กรี๊ดก่อน ไม่รู้จักการรอคอย ถ้ามีเพื่อนรออยู่ก่อนแล้วก็จะผลักเพื่อนออกจากแถวหรือแทรกแถว” แตนกล่าว “เราเป็นครู เรามีหน้าที่ต้องทำให้เด็กๆ รู้ว่าเขาทำอย่างนั้นในสังคมไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราสอนเด็กๆ เพียงสองสัปดาห์ พวกเขาก็เข้าใจแล้ว”

นอกจากเรื่องการเข้าสังคมแล้ว เรื่องทักษะด้านความรู้ต่างๆ ก็หดหายไปอย่างรวดเร็วด้วย โดยข้อจำกัดประการหนึ่งที่แตนตระหนักดีคือ ผู้ปกครองของเด็กๆ หลายครอบครัวไม่มีความพร้อมที่จะสอนบุตรหลานของตนระหว่างที่เด็กเล็กเหล่านั้นต้องเรียนออนไลน์เนื่องจากโรงเรียนปิดเพราะโควิด

“เราต้องยอมรับตรงนี้ก่อนเป็นลำดับแรก เนื่องจากพ่อแม่ของเด็กๆ หลายคนก็ยังต้องหาเช้ากินค่ำ เขาไม่มีเวลามานั่งดูแลลูกอย่างใกล้ชิดขนาดนั้น” เธอเล่า “ทีนี้เมื่อเด็กๆ กลับมาเรียนในชั้นเรียน เราก็พบว่าหลายคนมีปัญหาเรื่องการฟัง จิตใจไม่จดจ่ออยู่กับสิ่งที่ฟังหรือสิ่งที่ทำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถฝึกได้ในโรงเรียนเพราะครูจะค่อยๆ เล่านิทานให้เขาฟัง จบเรื่องแล้วก็ถามตอบกับเด็กๆ แต่ผู้ปกครองหลายคนไม่มีเวลามาอ่านนิทานให้บุตรหลานฟัง เมื่อเด็กกลับมาโรงเรียนก็จะเห็นเลยว่าพวกเขาไม่มีสมาธิฟังอะไร บางคนพูดไม่เป็นประโยค หรือไม่สามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้เพราะไม่ได้ถูกฝึกให้ถามตอบเหมือนตอนอยู่ที่โรงเรียน”

แตนเล่าว่า สมัยที่สถานศึกษายังให้เรียนออนไลน์ เธอเคยไปเยี่ยมเด็กที่อยู่ในย่านชุมชน และเห็นว่าส่วนใหญ่ผู้ปกครองให้เด็กอยู่กับโทรศัพท์เป็นเวลานาน หรือหากออกนอกบ้านมาเล่นกับเพื่อน ก็จะยังหยิบโทรศัพท์ติดมือมาเพื่อเล่นด้วย อันส่งผลต่อพัฒนาการเรื่องความใจร้อนของเด็กในภาพรวม เธอยกตัวอย่างว่า โดยทั่วไปแล้วเมื่อเธออ่านนิทานให้เด็กๆ ฟัง เด็กจะฟังจนจบเรื่องอย่างอดทนและสามารถตอบคำถามง่ายๆ ที่เธอถามจากเนื้อเรื่องได้ แต่ในยุคหลังโควิด เมื่อเธออ่านนิทานถึงแค่หน้าที่สองของเล่ม เด็กๆ ก็ไม่สนใจฟังสิ่งที่เธอเล่าแล้ว “ประเด็นเด็กไม่จดจ่อกับสิ่งที่ทำยังพบได้จากการฝึกระบายสี” เธอเล่า “โดยทั่วไป ถ้าเราให้เด็กระบายสีนั้นเด็กจะตั้งใจระบายสิ่งที่ได้รับมอบหมายในเวลาที่กำหนดให้ได้ สนใจสิ่งที่อยู่ตรงหน้า แต่หลังโควิดเมื่อเปิดภาคเรียนมา เด็กๆ ไม่มีสมาธิจดจ่อกับภาพที่เราให้ระบาย คือมืออาจระบายอยู่แต่ตาไม่ได้มอง เขามองไปที่อื่น มองเพื่อน ชวนเพื่อนคุย ดังนั้นแม้มือจะระบายสีอยู่แต่ก็ออกนอกเส้นที่วางไว้ หรือบางคนก็ระบายสีไม่เสร็จในเวลาที่กำหนด” ยังไม่นับว่าการระบายสีทำให้เธอเห็นว่ากล้ามเนื้อมัดเล็กที่มือของเด็กๆ นั้นยังมีพัฒนาการได้ไม่เต็มที่ ในช่วงแรกๆ ของการเปิดภาคเรียน เด็กหลายคนระบายสีอ่อนมากเนื่องจากมือไม่มีแรงกดสีลงหน้ากระดาษ โดยสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ใช้เวลาฝึกไปเป็นลำดับ

“หรือในด้านความรู้ เมื่อเด็กไม่มีสมาธิจดจ่อ เรารู้สึกเหมือนเขาอยู่กับเราแต่เขาไม่ได้ฟังเรา บอกอะไรไปเขาก็จำไม่ได้ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องค่อยๆ ใช้เวลาในการทบทวนเด็กๆ และในช่วงหลังๆ นี้เราพบว่าพัฒนาการต่างๆ ของเด็กในชั้นที่เข้าเรียนเป็นประจำก็ดีขึ้นมาก” เธอเล่าอย่างชื่นใจ “บางเรื่องเป็นสิ่งที่ต้องมาเรียนรู้กันในชั้นเรียนจริงๆ แม้ว่าตอนเรียนออนไลน์เราจะพยายามดัดแปลง หาวิธีการที่เหมาะสมให้เด็กๆ ได้เรียนรู้แล้วก็ตาม เช่น ให้เกมเด็กไปเล่น แต่ถึงที่สุดแล้วผู้ปกครองส่วนใหญ่ก็ไม่มีเวลามาดูแลบุตรหลานหรือคอยเล่นด้วย ทำให้ไม่เกิดการส่งเสริมการเรียนรู้เท่าที่ควร”

ข้อเท็จจริงอีกประการหนึ่งที่แตนเองก็เพิ่งมารู้หลังจากได้สอนเด็กเล็กหลังปิดเรียนเพราะโควิด คือการที่เด็กส่วนใหญ่ออกเสียงไม่ถูก เนื่องจากคู่สนทนาสวมหน้ากากอนามัย ทำให้เด็กๆ ไม่เห็นรูปปากและไม่สามารถเรียนรู้การพูดและการออกเสียงที่ถูกต้องได้ “ดังนั้นเมื่อเราจะพูดคำศัพท์บางคำที่เด็กๆ ออกเสียงไม่ชัด เราก็จะให้เด็กๆ สวมหน้ากากแล้วเราเป็นคนถอด ด้วยวิธีนี้เด็กๆ เขาก็จะเรียนรู้วิธีการออกเสียงจากเรา” เธออธิบาย “เรื่องเหล่านี้ใช้เวลาไม่นาน เด็กๆ เขาก็เข้าใจ เนื่องจากวัยเด็กคือวัยแห่งการจดจำ ถ้าเราสอนเขาไปเรื่อยๆ เขาจะจำของเขาเอง” เธอปิดท้าย

‘การเข้าสังคม’ ปัญหาใหญ่ของเด็กปฐมวัยในช่วงโควิด

‘บี’ เป็นคุณแม่ของบุตรสาวที่อยู่ในชั้นปฐมวัยหนึ่งคน ตัวเธอทำงานประจำในฐานะพนักงานรัฐในสำนักงานเล็กๆ แห่งหนึ่ง เธอให้ลูกสาวของเธอเรียนในโรงเรียนรัฐบาลเล็กๆ ใกล้บ้าน ช่วงที่โควิดแพร่ระบาดและบุตรสาวต้องหยุดเรียนออนไลน์อยู่บ้านนั้น เธอเองก็ได้อยู่บ้านด้วย แม้จะยังต้องแบ่งเวลาทำงานประจำ แต่เธอก็ยังรู้สึกว่าการอยู่บ้านทำให้เธอดูแลลูกสาวได้อย่างใกล้ชิด

“เราก็รู้สึกว่าการได้อยู่บ้านกับลูกทำให้เราได้อยู่ใกล้กับเขาเหมือนกันค่ะ ถ้าเราพักจากการทำงานก็คอยหากิจกรรมมาทำด้วยกันตลอด เช่น เล่นปั้นดินน้ำมัน เล่นระบายสี หรือถ้าเราติดงานอยู่เราก็ให้คุณยายคอยช่วยดูแล ตรงนี้ถือว่าเราโชคดีและเป็นข้อได้เปรียบในการดูแลลูกเหมือนกัน” บีเล่า “น้องเขาชอบเล่นขายของ เราก็ให้เขาเล่นกับคุณยายไประหว่างที่เราทำงาน ประกอบกับน้องเป็นเด็กเลี้ยงง่าย นอนหลับง่าย พอสักบ่ายเขาก็นอนกลางวันนานสี่ชั่วโมง เราก็ทำงานของเราไป น้องตื่นมาอีกทีก็เย็นๆ แล้ว เล่นด้วยกันอีกนิดหน่อย พอสองทุ่มเขาก็หลับ”

สำหรับการเรียนออนไลน์ ในฐานะที่บีคอยดูแลการเรียนของลูกสาวอย่างใกล้ชิดมาโดยตลอด เธอคิดว่าการเรียนออนไลน์นั้นเหมือนการดูคลิปวิดีโอทางยูทูบ กล่าวคือหากเป็นคลิปที่สั้นมากๆ จะยังดึงความสนใจเด็กได้อยู่ แต่ถ้าเป็นคลิปอธิบายการเรียนที่ยาวเกินสิบนาที ลูกสาวของเธอจะหันเหความสนใจไปทำอย่างอื่น ทั้งนี้ สิ่งหนึ่งที่บีเคร่งครัดมากในการดูแลลูกสาวคือเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ โดยเธอแทบไม่ให้ลูกเธอได้เล่นโทรศัพท์เลย “เราอยากให้เขาอยู่กับของเล่นต่างๆ มากกว่า ให้เขาร้อยลูกปัดหรือทำสิ่งที่เขาเล่นคนเดียวได้ไปก่อน ถ้าเรามีเวลาหน่อย อาจจะช่วงพักงานหรือก่อนนอนก็อ่านนิทานให้เขาฟัง ดังนั้นเขาก็ไม่มีเวลาไปเล่นโทรศัพท์เลย จะมีบ้างก็ช่วงไม่กี่นาทีในแต่ละวัน โดยเราจะเป็นคนคอยดูแลการใช้งานอย่างใกล้ชิดเอง”

กิจกรรมประจำวันของบีกับลูกสาว นอกจากการเรียนออนไลน์แล้ว บียังพยายามพาลูกสาวออกไปเล่นนอกบ้านให้บ่อยที่สุดเท่าที่สถานการณ์จะเอื้ออำนวย เนื่องจากเธออกังวลเรื่องมัดกล้ามเนื้อของลูกที่อาจไม่พัฒนาไปตามมาตรฐานเพราะอยู่บ้านนานเกินไป “บริเวณรอบๆ บ้านเราก็ไม่ได้กว้างหรอก แต่เราก็พยายามหาพื้นที่ บางครั้งก็ชวนเขาเล่นซ่อนแอบบ้างแต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่หรอก” เธอยอมรับ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บีเป็นกังวลมากจากการที่ลูกสาวหยุดเรียนช่วงโควิดนั้นคือการเข้าสังคม เนื่องจากการอยู่แต่บ้านทำให้ลูกของเธอไม่มีโอกาสได้ใช้เวลาร่วมกันกับเด็กในวัยเดียวกัน “พอเขาอยู่กับผู้ใหญ่เยอะๆ บางทีเขาก็รู้ว่าเขางอแงได้ ถ้าไม่อยากทำอะไรก็จะไม่ทำเลย แต่ถ้าไปอยู่ในโรงเรียนซึ่งสภาพแวดล้อมเหมาะสำหรับการเรียนรู้มากกว่า เขาก็จะฟังมากขึ้น และยิ่งเรื่องการเข้าสังคม ที่โรงเรียนเขามีกิจกรรมรีวิว คือให้เด็กๆ ออกมาพูดหน้าชั้นว่าวันนี้ไปทำอะไรมาบ้าง ปรากฏว่าพอกลับมาเปิดเรียนอีกครั้ง ลูกเราลืมวิธีการพูดหน้าชั้นเรียนไปแล้วทั้งที่เมื่อก่อนชอบมาก เขาบอกว่าเวลาพูดต่อหน้าเพื่อนๆ แล้วเขามั่นใจ มีความสุข แต่เมื่อหยุดเรียนไปนานๆ และต้องกลับมาพูดอีกครั้งก็ทำไม่ค่อยได้ ไม่รู้ต้องพูดอย่างไร ซึ่งกิจกรรมนี้เป็นสิ่งที่ทางบ้านจัดให้ไม่ได้ ต้องเป็นที่โรงเรียนเท่านั้น

“เราอยากให้ลูกได้ไปอยู่กับเพื่อนๆ จะได้เรียนรู้ว่ากติกาการเข้าสังคมนั้นเป็นอย่างไร เนื่องจากเราต้องมีกติการ่วมกันจึงจะอยู่ในสังคมใหญ่ได้” บีเล่า “ที่บ้านมีกฎแบบหนึ่ง แต่ข้างนอกมีกฎอีกแบบหนึ่ง อยากให้เขาได้เห็นความหลากหลายของผู้คนแล้วมาคุยกันว่าต้องปรับตัวอยู่ด้วยกันอย่างไร หรือเมื่ออยู่กับเพื่อนก็ต้องเคารพกติกาส่วนรวมว่าอะไรที่ทำได้ อะไรที่ทำไม่ได้ อยากให้ลูกเขาเรียนรู้เรื่องนี้จากโรงเรียนเพราะนี่เป็นสิ่งที่เราคิดว่าขาดหายไปเมื่อเขาอยู่บ้านค่ะ”

ทักษะความรู้ที่หดหาย 

‘โบว์’ เป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจ เธอได้ดูแลหลานสาวอย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษในช่วงที่หลานหยุดไปโรงเรียนเพราะปิดโควิด อันเป็นช่วงระหว่างที่หลานของเธอกำลังเลื่อนขึ้นจากชั้นอนุบาล 3 ไปสู่ชั้นประถมปีที่ 1 พอดี และเธอพบว่าช่องว่างของการหยุดเรียนนั้นส่งผลต่อตัวหลานโดยตรง แม้ว่าหลานของเธอจะยังนับเลขและคำนวณเลขได้ดี แต่ในแง่การใช้ภาษา -ไม่ว่าจะการเขียนภาษาไทยและภาษาอังกฤษ- เธอพบว่าหลานสาวสะกดคำผิดเยอะมาก

“เด็กๆ ในวัยนี้ยังไม่แข็งแรงด้านภาษาก็จริง เราเข้าใจว่าเขายังสะกดไม่เป็น ซึ่งเขาก็จะใช้วิธีจำคำง่ายๆ เอา เช่น คำว่า bat, dog, cat หรือภาษาไทยก็จะเป็นศัพท์ง่ายๆ อย่างคำว่าวันหรือคำว่ารัก คำที่ยากที่สุดที่เขาเขียนได้คือชื่อเล่น ชื่อจริงและนามสกุลตัวเอง คือชื่อเขาค่อนข้างเขียนยาก ชื่อเล่นก็สองพยางค์ ชื่อจริงสามพยางค์ นามสกุลห้าพยางค์ แต่ว่าเขาเขียนจำจนได้หมด” โบว์เล่า “ทีนี้ช่วงที่หยุดเรียนเพราะโควิด เราจะซื้อสีมาให้เขาระบายเล่น ก็เริ่มสังเกตว่า เขาเขียนตัวอักษรบางตัวกลับด้าน ตอนแรกคิดว่าบังเอิญ แต่เห็นหลายครั้งเลยทักไป ซึ่งเขาเถียงเราว่า เขาเขียนถูกแล้วเขียนแบบนี้ตลอด แล้วพอให้เขียนชื่อ-นามสกุลตัวเอง กลายเป็นว่าเขียนผิดเขียนถูกไป

“ตอนแรกเราคิดว่าหลานเราเป็นคนเดียวนะ แต่พอไปถามเพื่อนที่ทำงาน เขาก็เล่าให้ฟังว่า ลูกเขาซึ่งเด็กกว่าหลานเราหนึ่งปี เขียนตัวอักษรกลับด้านเหมือนกัน เลยเข้าใจว่าน่าจะมาจากการไม่ได้ไปโรงเรียนแล้วลืม”

คำถามสำคัญคือ ในช่วงที่ปิดโควิดนั้นเด็กๆ ก็ยังต้องเรียนออนไลน์อยู่ แล้วเหตุใดทักษะด้านภาษาของหลานสาวเธอจึงถดถอยลงมาจากปกติ คำตอบที่โบว์ให้คือ หลานของเธอแทบไม่ได้เรียนออนไลน์เลย “ครูประจำชั้นเขาเปิดสอนพิเศษในช่วงโควิด-19 วันละสองชั่วโมง โดยครูเขาจะไปเรียนออนไลน์แทน แล้วเอามาสอนเด็กเป็นกรุ๊ปเล็กๆ ประมาณ 13-14 คน พูดง่ายๆ ว่าก็จ่ายเงินซื้อความสะดวก นอกจากจะสอนแล้ว ครูยังช่วยเก็บใบงานให้ด้วย คือ ไม่ต้องเอาอะไรกลับบ้าน ครูปรินต์แล้วให้ทำเลย ช่วงสอบครูก็จะแจ้งให้เราเตรียมโทรศัพท์ ไอแพด หรือคอมพิวเตอร์ไว้เวลาไปเรียนพิเศษ ครูก็จะพาทำตัวอย่างข้อสอบ ส่วนวันสอบจริงก็ไปสอบบ้านครูนั่นแหละ”

ตัวโบว์เองก็มีลูกเล็ก วัยไม่กี่ขวบ ทำให้เธอต้องดูแลทั้งลูกน้อยและหลานสาวไปพร้อมๆ กัน ด้วยการหากิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะพาวาดรูป พาไปเล่นกลางแจ้ง แต่เมื่อมาถึงประเด็นการดูแลหลานช่วงเรียนออนไลน์ เธอก็พบว่าเป็นเรื่องยากพอสมควร “ใครเป็นผู้ปกครองจะรู้ดีว่า การเรียนออนไลน์พวกวิชาหลักจะมีคลิปให้ดูประมาณ 20-30 นาที แล้วก็มีแบบฝึกหัดให้ทำ เรากล้าฟันธงเลยว่า เด็กไม่สามารถดูได้จนจบครบทุกวิชาหรอก ต่อให้นั่งดูพร้อมเราก็ตาม มันก็เลยจบด้วยการที่ต้องให้ผู้ใหญ่สักคนมาดูแทน แล้วไปสอนเขาต่อ” โบว์อธิบาย

อีกปัญหาหนึ่งที่เธอพบคือ หลานของเธอติดโทรศัพท์หนักมากแม้เธอจะพยายามควบคุมการใช้งานอย่างเข้มงวดแล้วก็ตาม “มีอยู่ช่วงหนึ่งเขาหายไปประมาณสองสัปดาห์ ได้เจอกันบ้างนิดหน่อย พอได้เจอกันอีกที เห็นเขากะพริบตาตลอดเวลา เพราะตาแห้ง ช่วงที่เขาใช้โทรศัพท์หนักๆ ก็วันละ 6-7 ชั่วโมงได้ เรียกได้ว่า กลับมาจากเรียนพิเศษก็เล่นยาวไปจนเข้านอน ช่วงหนึ่งเขาตื่น 6 โมงเช้าเพื่อเล่นมือถือเลยก็มี มันทำให้เด็กหงุดหงิดง่าย ยิ่งถ้าไปบอกให้หยุดเล่นโทรศัพท์เขายิ่งหงุดหงิด จากเด็กที่พูดคุยได้ งอแงบ้างตามประสาเด็ก ก็กลายเป็นเด็กไร้เหตุผลไปเลย”

อย่างไรก็ตาม หลังจากกลับมาเปิดเรียน เมื่อได้อยู่กับเพื่อนวัยเดียวกันและได้เจอกับสังคมอื่นๆ บ้าง โบว์ก็พบว่าหลานของเธอทำตัวสมวัยขึ้น “สามีเราที่เขาสนใจเรื่องนี้ เขาอธิบายว่า ถ้าเด็กอยู่กับผู้ใหญ่มากๆ เขาก็เครียดเหมือนกัน เพราะเขาต้องเป็นคนที่อำนาจน้อยที่สุดตลอด เวลาจะทำอะไรก็ต้องต่อรอง แต่ถ้าไปอยู่กับเพื่อน ความสัมพันธ์จะเป็นอีกแบบ เขาก็อาจจะเครียดน้อยลง เราไม่รู้หรอกว่าใช่ไหม แต่ก็ฟังดูเป็นไปได้อยู่” เธอบอก 


ส่งท้าย

ภาวะการเรียนรู้ถดถอยในเด็กปฐมวัยไม่ได้มีเพียงเรื่องวิชาการอันจะเห็นได้ชัดจากการเขียนหนังสือหรือการคำนวณเลขพื้นฐาน หากแต่ยังอยู่ในพัฒนาการด้านกล้ามเนื้อและการเข้าสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลาในการพัฒนา ส่งเสริมอย่างใกล้ชิดทั้งจากรั้วโรงเรียนและผู้ปกครองที่บ้าน โดยไม่อาจปราศจากการส่งเสริมจากภาครัฐในภาพใหญ่ด้วยเช่นกัน เนื่องจากเด็กไม่อาจเป็นสิ่งที่จะละเลยได้ไม่ว่าจะในเวลานี้หรือในอนาคต -ไม่ว่าจะในระยะใกล้และไกล


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save