fbpx

งมเอกสาร อยู่ยามโรงเรียน สอนอ่านเขียนควบชั้น: เปิดชีวิตครูไทยที่ไม่ใช่แค่สอนหนังสือ

ครูเฮ! คืนครูสู่ห้องเรียน 19 วันใน 1 ปี พลิกชีวิตเด็กไทย

ประโยคข้างต้นคือพาดหัวข่าวในคมชัดลึกออนไลน์ เผยแพร่เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2559 เนื้อหาข่าวว่าด้วยผลสำรวจตารางชีวิตครูไทยใน 1 ปี โดย สสค.และคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ โดยแบบสำรวจชี้ว่าในปี 2558 ครูมีเวลากลับสู่ห้องเรียนมากขึ้น 19 วัน คิดเป็นอัตราส่วน 25% เมื่อเทียบกับปี 2557 แต่ถึงอย่างนั้นพาดหัวที่ว่า ‘พลิกชีวิตเด็กไทย’ อาจยังไม่เข้าใกล้ความจริงเท่าใดนัก เพราะผ่านมา 6 ปี ในเว็บไซต์ครูอัพเดตดอทคอมก็ปรากฏข่าวที่มีคำว่า ‘คืนครูสู่ห้องเรียน’ เช่นกัน แต่เนื้อหากลับตรงกันข้ามว่า คืนครูสู่ห้องเรียน “เลขาธิการ ก.ค.ศ.” จี้ ปลดภาระเกินความจำเป็น !!! คืนครูสู่ห้องเรียน เผยแพร่เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2565

โดยไม่ต้องทำความเข้าใจให้ซับซ้อนก็พอจะรู้ว่า นโยบายคืนครูสู่ห้องเรียนยังไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่ควรจะเป็น บางคอมเมนต์ในเนื้อหาข่าวนี้เขียนเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “คืนครูสู่ห้องเรียน… พูดทุกปีตั้งแต่เป็นครูปีแรกๆ ราว 2537 จนเกษียณแล้วก็ยังได้ยินคำพูดนี้อยู่ 555”

รวมถึงเพจ ‘วันนั้นเมื่อวันสอน’ ก็โพสต์สเตตัสไว้เมื่อปี 2564 ในหัวข้อที่ว่า ‘คืนครูสู่ห้องเรียนทำได้หรือยัง’ และโดยมิได้นัดหมาย หลายความเห็นตอบตรงกันว่า ‘ยัง’

ดูเหมือนว่าก่อนที่เราจะไปถึงการศึกษาคุณภาพเยี่ยมที่เท่ากันทั่วประเทศ เราอาจต้องเริ่มต้นจากการคืนครูสู่ห้องเรียนให้ได้ก่อน คำถามสำคัญก็คือ ภาระมากมายที่ครูต้องรับผิดชอบคืออะไร และรากของปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงไหน 101 ชวนสำรวจชีวิตครูไทยที่การสอนหนังสือดูจะเป็นเรื่องลำดับรองๆ ที่ครูทำในโรงเรียน ไปจนถึงคุณภาพชีวิตการทำงานที่หลายเสียงบอกตรงกันว่าไม่สอดคล้องกับค่าจ้างที่ได้รับ ครูไทยวันนี้กำลังเผชิญกับอะไร หาคำตอบได้ในบรรทัดถัดจากนี้

หนึ่งวันของครูในโรงเรียนขนาดเล็ก

ถ้าครูไม่ได้อยู่ในห้องเรียน แล้วครูไปไหน?

ภาพความฝันที่ว่าครูพาเด็กๆ ออกไปสัมผัสธรรมชาติ หรือออกเดินทางไปเจอชุมชนนอกห้องเรียนนั้นอาจต้องพับเก็บไว้ก่อน เพราะความจริงคือครูจำนวนมากต้องงมอยู่กับกองเอกสารงานประเมิน ดูแลบัญชีพัสดุ และกรอกข้อมูลนักเรียน ยิ่งกับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีนักเรียนไม่ถึง 120 คนแล้ว การทำงานเกินหน้าที่รับผิดชอบหลักย่อมเป็นเรื่องปกติ และการสอนแทบจะเป็นสิ่งท้ายๆ ที่ครูได้ทำในหนึ่งวัน

“สิ่งแรกที่ทำหลังตื่นนอนและอาบน้ำ คือไปตลาดเพื่อซื้อของทำกับข้าว” ‘แป้ง’ (นามสมมติ) พนักงานราชการครู ในโรงเรียนประถมขนาดเล็กที่อำเภอแก้งสนามนาง จังหวัดนครราชสีมา เล่ากิจวัตรของเธอให้ฟัง

เปล่า – ครูแป้งไม่ได้ตื่นเช้าเพื่อกับทำข้าวให้คนในครอบครัว แต่เธอไปซื้อวัตถุดิบที่ตลาดตั้งแต่ 6 โมงเช้าเพื่อเอาไปทำอาหารกลางวันให้นักเรียน นั่นหมายความว่าเธอต้องตื่นตั้งแต่ตี 5

“โรงเรียนเรามีบุคลากรแค่ 4 คน ไม่มีแม่บ้านและภารโรง มีนักเรียนประมาณ 80 คน ผอ. เลยแบ่งให้ครูสลับกันไปซื้อวัตถุดิบและทำกับข้าวให้นักเรียน”

โรงเรียนประถมแห่งนี้ตั้งอยู่ในหมู่บ้านที่ห่างไกลตัวอำเภอประมาณ 20 กิโลเมตร เมื่อครูแป้งซื้อของที่ตลาดเรียบร้อย ก็ขับรถไปโรงเรียน ถึงโรงเรียนก่อน 8 โมง พาเด็กทำความสะอาดบริเวณโรงเรียน เมื่อเสียงระฆังดังก็พาเด็กเข้าแถวเคารพธงชาติ เสร็จจากนั้นก็พาเด็กเข้าห้องเรียน สั่งงานให้เด็กทบทวนการเรียนของเมื่อวาน หลังจากนั้นครูแป้งก็วางมือจากชอล์กไปหยิบมีดหั่นผักในครัวแทน

“กว่าจะหั่นผักหั่นเนื้อเสร็จ ได้สอนอีกทีก็ 10 โมงครึ่งแล้ว” ครูแป้งบอก

เมื่อครูไม่ใช่มาสเตอร์เชฟ การทำอาหารเลี้ยงคนกว่า 80 คนจึงกินเวลาไปกว่าสองชั่วโมง และนั่นหมายถึงช่วงเวลาที่เราไม่อาจ ‘คืนครูสู่ห้องเรียน’ ได้อย่างที่หวัง ยิ่งเมื่อทั้งโรงเรียนมีครูแค่ 3 คน (ไม่รวม ผอ.) ก็ยิ่งไม่อาจสลับครูคนอื่นไปดูนักเรียนได้เลย ดังนั้นวันไหนที่ครูประจำชั้นเป็นเวรทำกับข้าว นักเรียนจะต้องอยู่กับแบบฝึกหัดของเมื่อวานและนั่งดูสื่อการเรียนการสอนทางไกลอย่าง DLTV หรือที่ครูเรียกกันภาษาปากว่า ‘ครูตู้’ เพราะเป็นการเรียนกับโทรทัศน์

“นักเรียน คาบนี้เรียนกับครูตู้ไปก่อนนะ” คือประโยคที่นักเรียนในโรงเรียนห่างไกลจะได้ยินบ่อยๆ เมื่อครูของพวกเขามีภาระรับผิดชอบอื่นมากกว่าการสอน

ครูแป้งเล่าต่อว่า บางวันที่มีงานเอกสาร หลังสิบโมงครึ่งก็อาจจะยังไม่ได้เข้าห้องเรียนไปสอนเด็ก เพราะต้องมาดูแลงานธุรการ ทำเอกสารวิชาการ และลงระบบจัดเก็บข้อมูลนักเรียนรายบุคคล เช่น ส่วนสูง น้ำหนัก ที่อยู่ของเด็ก ครูแป้งสรุปความไว้สั้นกระชับว่า “น้อยมากที่จะได้สอน ส่วนใหญ่ทำงานเกี่ยวกับเอกสาร”

เมื่อตอนเช้าต้องปล่อยให้เด็กอยู่กับ ‘ครูตู้’ แล้ว ตอนบ่ายจึงเป็นช่วงเวลาที่ครูแป้งจะใช้เวลากับเด็กอย่างเต็มที่ โดยครูแป้งรับผิดชอบเด็กสองชั้นคือ ป.4 และ ป.5 และแน่นอนว่าเมื่อโรงเรียนมีครูแค่ 3 คน ครูแป้งจึงต้องสอนทุกวิชา แม้ว่าความเชี่ยวชาญหลักที่เรียนมาคือการสอนภาษาอังกฤษก็ตาม

“เราสอนในห้องตอนบ่าย พอประมาณบ่ายสองครึ่ง เราก็พาเด็กไปตัดต้นไม้ ต้นหญ้า เป็นกิจกรรมพัฒนาโรงเรียน เพราะโรงเรียนกว้าง 10 กว่าไร่แต่ไม่มีภารโรง ครูกับเด็กก็ต้องช่วยกัน”

ดูเหมือนว่าภาระของโรงเรียนจะตกไปถึงเด็กด้วย แต่ถึงอย่างนั้นเด็กๆ ก็ยังสนุกสนานกับการตัดต้นไม้ต้นหญ้า “พวกเขาชอบกว่าเรียนในห้องอีก” ครูแป้งว่า

ครูแป้งเล่าปัญหาต่อว่า เมื่อเด็กต้องเรียนกับ ‘ครูตู้’ บ่อยเข้า ก็กลายเป็นว่าเด็กไม่ค่อยสนใจการเรียนในห้อง เพราะขาดปฏิสัมพันธ์กับคนสอน ตอนนี้ครูเลยต้องเข้ามาสอนมากขึ้น แต่เมื่อเวลามีจำกัด ครูจึงจำเป็นต้องเน้นสอนบางวิชาเท่านั้น ซึ่งนโยบายของ ผอ. คือเน้นที่วิชาภาษาไทยและคณิตศาสตร์ เพราะถือหลักให้เด็ก ‘อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น’ ในเบื้องต้นก่อน ส่วนวิชาอื่นๆ คือตัวเสริม ครูแป้งยกตัวอย่างวิชาภาษาอังกฤษที่เป็นความเชี่ยวชาญของตัวเองว่า ได้สอนเพียงสัปดาห์ละสองชั่วโมงโดยประมาณ บางครั้งจึงต้องใช้เวลาในคาบคณิตศาสตร์สอนอังกฤษเสริมบ้าง

“บางวันเราดูว่าเหลือเวลา 20 นาทีก่อนปล่อยกินข้าว เราก็สอนอังกฤษหรือวิชาอื่นแทรกไปช่วงนั้น” ครูแป้งเล่า

จริงอยู่ที่ไม่ใช่ทุกโรงเรียนที่ครูต้องตื่นเช้ามาทำกับข้าวให้นักเรียนหรือต้องจำกัดวิชาที่สอน แต่เมื่อมองในเชิงโครงสร้างก็ยังมีปัญหาอื่นๆ ที่แทรกอยู่ในระบบการทำงานของครู จนทำให้ครูไม่อาจสอนเด็กได้อย่างที่หวัง

ในเนื้อหาข่าว ครูเฮ! คืนครูสู่ห้องเรียน 19 วันใน 1 ปี พลิกชีวิตเด็กไทย ระบุรายละเอียดจากแบบสำรวจว่ากิจกรรมนอกห้องเรียนที่ครูมองว่ามีแนวโน้มลดลงและภาคนโยบายควรผลักดันให้ลดกิจกรรมเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง ได้แก่ การประเมินต่างๆ ของโรงเรียนและครู (39.68%), กิจกรรมต่างๆ ของโรงเรียน (27.78%), การแข่งขันทางวิชาการต่างๆ (12.70%) และการอบรมของครู (12.70%) เพราะทั้งหมดนี้ล้วนดึงทั้งครูและนักเรียนให้ออกมานอกห้องเรียนมากกว่าที่ควรเป็น

ที่จริงแล้ว กิจกรรมนอกห้องเรียนหรือการอบรมของครูอาจไม่ใช่เรื่องแย่เกินไปนัก หากมีการออกแบบชั่วโมงการเรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กและยืดหยุ่นมากขึ้น และนั่นรวมถึงการมีบุคลากรที่เพียงพอเพื่อแบ่งภาระงานให้เหมาะสมกับความถนัดของแต่ละคน แต่ก็อย่างที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าการขาดแคลนครูในโรงเรียนขนาดเล็กกลายเป็นอีกหนึ่งปัญหาใหญ่ในระบบการศึกษาไทย

ปัญหานี้ถูกตอกย้ำให้รุนแรงขึ้น เมื่อโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ห่างไกลขาดแคลนทั้งบุคลากรและอุปกรณ์การเรียน – เมื่อขาดแคลนสิ่งเหล่านี้ แม้ ‘เวลา’ ของมนุษย์ทุกคนจะเท่ากันในหนึ่งวัน แต่ดูเหมือนว่าเวลาก็ถูกพรากไปด้วยเมื่อปัจจัยอย่างอื่นไม่พร้อม และแน่นอนว่าคนที่ต้องรับภาระหนักที่สุดคือครูและนักเรียน – ความเหลื่อมล้ำกลืนกินแม้กระทั่งเวลาในการเรียนรู้ของคน

ไม่ใช่แค่ประเด็นการ ‘คืนครูสู่ห้องเรียน’ เท่านั้นที่สำคัญ เพราะการ ‘คืนนักเรียนสู่ห้องเรียน’ ในพื้นที่ชนบทก็สำคัญเช่นกัน ในหลายครอบครัวไม่ได้พร้อมในการส่งลูกเรียน ไปจนถึงว่าเด็กต้องออกไปทำไร่ทำนาในฤดูเก็บเกี่ยวเพื่อหาเงินช่วยครอบครัว จนบางครั้งเด็กก็ไม่ได้มองว่าการเรียนสำคัญกับตัวเขาเท่างานที่ทำให้ได้เงิน

“เวลามีการทำสำรวจว่าเด็กอยากทำอะไรต่อหลังเรียนจบ เด็กส่วนใหญ่มักตอบว่าอยากตัดอ้อยตามรอยพ่อแม่ เพราะส่วนใหญ่คนในหมู่บ้านรับจ้างตัดอ้อย หรืออย่างเดือนที่จะถึงนี้ กำลังเข้าฤดูกาลตัดอ้อย เด็กนักเรียนจะมาโรงเรียนน้อยมากเพราะไปตัดอ้อย เด็กประถมนี่แหละ เขาได้รายได้จากการตัดอ้อยวันหนึ่งไม่ต่ำกว่า 350-500 บาท” ครูแป้งเล่า ก่อนสรุปความเห็นว่า

“ในฐานะครูก็ไม่ได้เสียใจที่เขาไม่มุ่งต่อทางการเรียนนะ เพราะอย่างน้อยเขาก็ประกอบอาชีพสุจริตไม่เบียดเบียนใคร เขาเอาตัวรอดได้ รู้จักคิดทำมาหากิน โดยไม่ไปเป็นโจร แค่นี้”

แน่นอนว่า ไม่ใช่แค่ครูแป้งเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับภาวะงานล้นมือเช่นนี้ แต่ไม่ใกล้ไม่ไกล ในโรงเรียนประถมขนาดเล็กแห่งหนึ่งที่อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา ก็มีครูที่ต้องเผชิญเรื่องราวใกล้เคียงกันอย่าง ‘ครูหน่อง’ (นามสมมติ) ครูอัตราจ้างที่เพิ่งถูกปรับชั้นให้ไปสอนระดับปฐมวัย สอนควบสองชั้นทั้งอนุบาล 2 และ 3 เพราะโรงเรียนที่มีเด็กประมาณ 60 คนนี้มีครูไม่เพียงพอ

“เราไปถึงโรงเรียนประมาณเจ็ดโมงเช้า พอสอนปฐมวัยก็ต้องไปกวาดถูห้องให้เด็ก เมื่อก่อนสอนประถม เด็กสามารถทำความสะอาดห้องเองได้ แต่พอมาสอนอนุบาล เราก็ต้องกวาดถูห้องให้เด็ก เพราะเด็กต้องเล่นกับพื้น นอนกับพื้น” ครูหน่องเล่า

เมื่อโรงเรียนมีขนาดเล็ก งบที่ลงมาจากส่วนกลางจึงน้อยตามไปด้วย เพราะงบยึดตามราคาต่อหัวนักเรียน ดังนั้นเมื่องบมีเท่านี้ โรงเรียนจึงมีเงินจ้างแค่แม่บ้านเพื่อมาทำอาหารกลางวันให้เด็ก ส่วนการดูแลความเรียบร้อยที่เหลือเป็นเรื่องของครูประจำชั้นดูแลกันเอง

เพราะเป็นครูในตำแหน่งอัตราจ้าง ซึ่งถือเป็นลูกจ้างชั่วคราวของโรงเรียน ทำให้ครูหน่องไม่ค่อยได้รับผิดชอบเรื่องบัญชีการเงินหรือพัสดุเท่าใดนัก แต่ก็ใช่ว่าจะไม่ได้รับผิดชอบอะไรนอกเหนือจากการสอน เพราะครูหน่องยังต้องขับรถพาเด็กไปแข่งขันความสามารถทางวิชาการด้วย “ที่โรงเรียนไม่มีงบพอซื้อรถประจำโรงเรียน ถ้าครูคนไหนมีรถก็ต้องใช้รถครูคนนั้น” ครูหน่องเล่า

นอกจากนี้ถ้ามีกิจกรรมงานในโรงเรียน ในฐานะครูรุ่นใหม่ที่พอมีฝีมือด้านการถ่ายรูป ก็จะถูกยกตำแหน่งช่างภาพจำเป็นให้ รวมถึงการโพสต์ภาพลงเพจโรงเรียนด้วย แต่เรื่องนี้ก็ไม่ได้ทำให้ครูหน่องอึดอัดเท่ากับการต้องไปชงเหล้าให้ ‘ผู้ใหญ่’ ในงานเลี้ยง

“บางทีมีงานในโรงเรียน ครูผู้หญิงก็จะถูกเรียกไปชงเหล้าให้ผู้ใหญ่ โรงเรียนในเมืองไม่ค่อยเจอหรอก มักจะเจอตามชนบทนี่แหละ พักหลังๆ เราก็จะบอกเลยว่าหนูไม่ดื่มเหล้านะคะ เราตรงๆ ไปก่อน เขาจะได้รู้ แต่เราก็จะกลายเป็นเด็กคนหนึ่งที่ไม่น่ารักน่ะ”

ประเด็นนี้ทำให้เห็นภาพชัดว่า นอกจากเรื่องภาระงานที่นอกเหนือจากการสอนแล้ว ครูรุ่นใหม่ยังต้องเผชิญกับช่องว่างระหว่างวัฒนธรรมของคนต่างวัย ที่พวกเขาทำอะไรไม่ได้มากนักเพราะยังต้องอยู่ในวงจรของระบบนี้

ในด้านการเรียนการสอน ครูหน่องก็เจอไม่ต่างจากครูแป้งนัก เมื่อครูไม่พอ เวลาไม่พอ ทำให้ต้องปล่อยให้เด็กอยู่กับครูตู้เช่นกัน ครูหน่องเล่าว่า เมื่อต้องรับผิดชอบเป็นครูประจำชั้นที่สอนควบชั้น ก็จำเป็นต้องสอนทุกวิชา ครูหน่องเองที่เรียนจบครูวิทยาศาสตร์มาก็ยังมีวิชาที่ไม่ถนัด เช่น ภาษาอังกฤษ ดังนั้นเมื่อถึงคาบภาษาอังกฤษ ครูหน่องจึงเลือกวิธีเปิดช่อง DLTV เพื่อให้เด็กได้ซึมซับสำเนียงจากครูภาษาอังกฤษจริงๆ แม้ใจจริงแล้วจะไม่อยากให้เด็กเรียนกับโทรทัศน์เลยก็ตาม

“มีช่วงหนึ่งก็ยังแอบคิดคนเดียวว่าจะไปขอคุณครูอีกคนให้สลับมาสอนแทนได้ไหม อยากให้เขามาสอนอังกฤษเด็ก เพราะเห็นเขาสอนเด็กชั้นเขาสนุก แต่เป็นไปไม่ได้ เพราะครูต้องอยู่ตามชั้นตัวเอง” ครูหน่องเล่า

“เราเคยไปสัมภาษณ์ตอนสอบติดครูที่กรุงเทพฯ พอกรรมการรู้ว่าเราสอนประจำชั้น สอนทุกวิชา เขาเลิกสัมภาษณ์แล้วถามชีวิตเราเลย ถามว่าสอนอย่างไร หน้าที่รับผิดชอบคืออะไรบ้าง เพราะโรงเรียนในเมืองไม่ค่อยเจอแบบนี้ ใครสอนวิชาไหนก็สอนวิชานั้นไป”

นอกจากเรื่องการสอนในวิชาที่ตัวเองไม่ถนัดแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นปัญหามากคือ ‘การลา’ เพราะการลาหนึ่งวัน หมายถึงการทิ้งเด็กสองชั้นไว้กับครูอีกคน ซึ่งเหมือนการยกของหนักให้คนที่ถือของไว้เต็มทั้งสองมือแล้ว

ในภาวะที่ครูไม่พอเช่นนี้ นโยบายเรื่อง ‘อ่านออกเขียนได้ คิดเลขเป็น’ จึงถูกหยิบมาใช้เช่นกัน ดังนั้น ครูหน่องจึงแทบไม่ได้สอนวิชาวิทยาศาสตร์ของตัวเอง แต่ต้องทุ่มเทเวลาไปกับการสอนคณิตศาสตร์และภาษาไทย

“วิชาคณิตศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์เราจะไม่ค่อยกังวล แต่พอเป็นภาษาไทยหรืออังกฤษเราจะมีเครียดๆ บ้าง บางทีต้องโทรไปปรึกษาครูที่สอนภาษาไทยว่าเขามีเทคนิคสอนอย่างไร เพราะเราไม่ได้เรียนมา ตอนนี้เลยใช้วิธีโหลดแบบฝึกหัดจาก DLTV หรือให้เด็กเรียนตามทีวี แต่ถ้าเป็นวิชาเอกของเรา เราก็ออกแบบการเรียนการสอนได้เต็มที่ ก็เป็นเอกเราเนอะ เราก็อยากสอนในแบบของเรา” ครูหน่องอธิบาย

เมื่อถูกถามถึงเป้าหมายในการสอนเด็กกับสภาพความจริงที่ต้องเผชิญ ครูหน่องตอบชัดเจนว่า “เราอยากให้เด็กเกิดการเรียนรู้ รู้อะไรที่เขาอยากรู้อยากเรียนจริงๆ แต่พอเราไปสอนแล้ว เราถูกกำหนดด้วยไม้บรรทัดเส้นเดียวกันหมดเลย พอเราคิดจะทำอย่างอื่นก็จะกลายเป็นกบฏในโรงเรียน”

ดูเหมือนว่าปัจจัยหลายอย่างของระบบ จะมัดมือมัดเท้าความตั้งใจของครูอยู่มาก และแน่นอนว่านั่นไม่ใช่แค่ปัญหาเดียวที่ครูกำลังเจอ

กระเป๋าตังค์ครูน้อย: ‘มอเตอร์ไซค์ฮ่าง’ ยังคลาสสิก

แม้ไม่ใช่คอเพลงลูกทุ่งหมอลำ แต่คงมีน้อยคนที่จะไม่เคยได้ยินเพลง ‘มอเตอร์ไซค์ฮ่าง’ ของร็อคแสลง เพลงที่สะท้อนชีวิต ‘ครูน้อยบ้านนอก’ หรือครูผู้สอนที่ไม่ใช่ ‘ครูใหญ่’ ได้อย่างแหลมคมและเป็นจริง

เนื้อร้องที่ว่า “อ้ายเป็นครูน้อยอ้ายเป็นครูน้อยบรรจุใหม่ ขี่มอเตอร์ไซด์คันเก่าเขาไม่แล ปิ๊กอัปคันโก้โตโยต้ามางามแท้ มาเทียวมาแวส่งเจ้าทุกเซ้าแลง” ฉายภาพครูในชนบทได้อย่างกระจ่างชัดแจ้ง

ภาพครูใส่ชุดสีกากีขี่มอเตอร์ไซค์พังๆ บังโคลนหน้าแตกจนมองเห็นสายไฟด้านใน สีดั้งเดิมของรถแทบมองไม่เห็นเพราะถูกปกคลุมด้วยฝุ่นโคลน เป็นภาพที่เห็นจนชินตาเมื่อสักช่วง 20-30 ปีที่แล้ว และจะ ‘คลาสสิก’ ยิ่งกว่านั้น หากเป็นมอเตอร์ไซค์ยี่ห้อยามาฮ่า รุ่นเบลอาร์ ที่เคยเป็นสวัสดิการสำหรับข้าราชการครูในยุคหนึ่ง ภาพเหล่านี้สะท้อนความยากจนของครูบรรจุใหม่ ที่ไม่อาจเทียบได้กับความร่ำรวยของหนุ่มนักเรียนนายร้อย ที่ในยุคนั้นการมีปิ๊กอัปขับคือความโก้หรูที่ครูไม่อาจเอื้อม เว้นเสียแต่จะกู้สหกรณ์มาซื้อ เหมือนท่อนร้องที่ว่า “มอเตอร์ไซค์ฮ่างเขาหมางเมิน อยากจะกู้เงินสหกรณ์ผ่อนรถยนต์”

เมื่อเวลาผ่าน ดูเหมือนว่าครูหลายคนอาจก้าวผ่าน ‘มอเตอร์ไซค์ฮ่าง’ มาได้แล้ว แต่เปลี่ยนมาเป็นขับรถยนต์รุ่น eco car ในราคาจับต้องได้ ซึ่งต้องแลกมาด้วยค่าผ่อนรายเดือนที่เมื่อหักลบกลบหนี้แล้วก็เหลือเงินใช้เดือนละไม่กี่พันบาท

หากมีใครบางคนหย่อนคำพูดประมาณว่า “จะรีบซื้อรถทำไม ทำไมไม่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง” ครูหลายคนก็อาจตอบกลับด้วยสภาพความเป็นจริงที่ว่า โรงเรียนที่สอนอยู่ห่างไกลเมืองและรถประจำทางไม่เคยมีจริง การขับรถไปสอนคือทางออกเดียวที่เหลืออยู่ – เลิกพูดเรื่องบ้านพักครูไปได้เลย เพราะในหลายที่ นั่นคือการกำลังพูดถึงโครงสร้างไม้โย้เย้ที่ตั้งอยู่กลางทุ่งนาหลังโรงเรียนอันเปล่าเปลี่ยว ถ้ามีทางเลือก หลายคนคงไม่เลือกทางที่ลำบากเช่นนั้น – ยังไม่นับว่า ก็รถราคา 4-5 แสนที่ครูผ่อนเองนี่แหละ ที่พานักเรียนไปแข่งและพาครูไปอบรมตามที่ต่างๆ ได้ เพราะรัฐไม่มีสวัสดิการรถโรงเรียนให้โรงเรียนขนาดเล็ก

ครูแป้งและครูหน่องคือภาพสะท้อนที่ชัดเจนเรื่องรายรับของครู ‘ครูหน่อง’ ในฐานะครูอัตราจ้างต้องอยู่กับความไม่แน่นอน เพราะงานที่ทำอยู่เป็นเพียงงานสัญญาจ้างกับโรงเรียนเท่านั้น ยังไม่ถูกบรรจุให้เป็นข้าราชการประจำ ดังนั้นเงินเดือนที่ได้รับจึงเป็นเงินที่ถูกแบ่งออกมาจากงบของโรงเรียน ไม่ใช่งบเงินเดือนจากกระทรวงศึกษาธิการ จากภาระงานทั้งหมดที่ครูหน่องเล่าให้ฟังข้างต้น ครูหน่องบอกว่าค่าตอบแทนของงานเหล่านั้นอยู่ที่เดือนละ 5,500 บาท  

“นี่เยอะแล้วนะ” ครูหน่องเน้นเสียง “โรงเรียนใกล้ๆ กัน จ้างครูอัตราจ้าง 3,500 บาท”

“ถ้าเราพูดเรื่องเงินเดือน ครูรุ่นเก่าก็ชอบพูดประมาณว่า สมัยพวกพี่ได้น้อยกว่านี้อีก เราก็จะตอบไปว่า ยุคนี้เงินหนึ่งบาทซื้อลูกอมไม่ได้แล้วนะ” ครูหน่องเล่าไปหัวเราะไป

โชคดีที่ครูหน่องมีบ้านอยู่ใกล้โรงเรียน จึงทำให้ไม่มีค่าใช้จ่ายเรื่องค่าเดินทางมากนัก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องขับรถพาเด็กไปแข่ง หรือขับรถไปอบรมในตัวเมืองด้วยตัวเอง สิ่งที่น่าสนใจก็คือโรงเรียนไม่มีสวัสดิการอื่นๆ ให้นอกจากเงินเดือน 5,500 บาท

“ค่าน้ำมัน ค่าเดินทางก็ไม่มีให้นะ เงินเดือนเพียวๆ แล้วอีกอย่างคือเราจะถูกเลิกจ้างเมื่อไหร่ก็ได้” ครูหน่องขยายความ

“สุดท้ายเราก็ต้องยอม ด้วยความเป็นครู เวลามีกิจกรรมอะไร เราก็ต้องช่วยเด็ก สมมติในโรงเรียนเราเป็นแค่ครูไม่กี่คนที่ขับรถเป็น เวลาโรงเรียนมีกิจกรรมอะไร เราก็ต้องรับผิดชอบ บางทีก็ท้อนะ เราเป็นแค่ครูอัตราจ้าง ทำไมต้องมารับผิดชอบเยอะกว่าครูจริงๆ”

ในประเด็นเรื่องคุณภาพชีวิตครู ครูหน่องอธิบายให้เห็นภาพว่า “คุณภาพชีวิตครูอัตราจ้างหรือพนักงานราชการเกี่ยวกับเงินเดือนเป็นหลัก คือแค่จ่ายเงินเดือนให้ตรงเดือนก็พอ บางทีพอค้างเงินเดือนไป 1-2 เดือน ก็กลายเป็นเหตุผลที่ทำให้ครูเริ่มเป็นหนี้ ไม่ใช่ว่าจู่ๆ เป็นครูบรรจุแล้วถึงเป็นหนี้ แต่เขาเป็นหนี้ก่อนมาเป็นครูเพราะระบบแบบนี้” ครูหน่องลงรายละเอียด

ส่วนครูแป้ง ในฐานะครูตำแหน่งพนักงานราชการ ได้รับเงินเดือนมากขึ้นมาหน่อย คืออยู่ที่ประมาณ 19,000 บาท แต่ก็ต้องรับมือกับค่าใช้จ่ายจำนวนมากเช่นกัน แม้โชคดีจะไม่ต้องจ่ายค่าเช่าเพราะอยู่บ้านตัวเอง แต่ก็ต้องจ่ายค่าน้ำมัน ค่าผ่อนรถ คิดสะระตะแล้ว เหลือเงินใช้ไม่เท่าไหร่ ยังไม่นับว่าต้องเผชิญกับความกดดันจากระบบอาวุโสในโรงเรียน ไปจนถึงไม่ได้สอนเด็กอย่างที่หวัง

เมื่อถามถึงความสุขในการเป็นครูทุกวันนี้ ครูแป้งตอบไวว่า “ความสุขอยู่ที่เด็ก”

“สิ่งที่เราอยากทำให้เต็มที่คืออยู่ในห้องเรียนกับเด็ก อยากสอนเด็ก อยากให้ภาระงานน้อยลงเพื่อที่ครูจะได้อยู่กับนักเรียนจริงๆ เพราะทุกวันนี้มีแต่งานอื่นแทรก หรืออย่างเปิดเทอมมาหนึ่งเดือน ก็มีงานแข่งแล้ว เราสอนคณิตศาสตร์ยังไม่ถึงสามหน้าเลย เราเลยพูดกับเด็กตลอดว่า ทำตามที่หนูถนัด ทำตามกำลังของหนู ครูไม่เคยคาดหวังอะไร แต่ขอให้หนูแสดงศักยภาพของหนูออกมาเต็มที่” ครูแป้งกล่าว

ส่วนครูหน่องทิ้งท้ายประเด็นเดียวกันเอาไว้อย่างน่าสนใจว่า “ใจจริงเราอยากให้เด็กเรียนในสิ่งที่อยากเรียน เช่นบางคนชอบกีฬา ดนตรี ก็ให้เขาเรียนทางนั้น แต่สุดท้ายทุกคนต้องมาจบกับคะแนนวัดผลในการสอบระดับประเทศ เด็กก็ต้องเรียนภาษาไทย คณิตศาสตร์ อยู่นั่นแหละ จริงๆ แล้ว ศักยภาพการเรียนของเด็กได้ แต่เราไม่มีหลายอย่างสนับสนุน เราในฐานะครูก็ยังเสียดาย”

“อยากให้คนจากส่วนกลางลงมาดูพื้นที่จริงๆ ลงมาดูหน้างานแต่ละโรงเรียน แล้วคุณจะเห็นปัญหาเยอะมาก” ครูหน่องกล่าวสรุป

ภาพความฝัน-ความจริงของครูบรรจุใหม่โรงเรียนในเมือง

“เราสอบบรรจุครั้งแรกที่โรงเรียนขนาดเล็ก มีนักเรียนไม่ถึง 70 คน มีครูประจำการแค่ 3 คน บอกเลยว่าหนักมาก และด้วยความที่เราเป็นข้าราชการแล้ว เราเลยกลายเป็นหัวหน้างานทุกอย่าง ดูแลพัสดุ ดูแลการเงิน เป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการ มีเรื่องอะไรก็ต้องลงชื่อรับผิดชอบ และต้องสอนควบชั้นด้วย

“ดูแลโรงเรียนก็ต้องทำ พาเด็กตัดหญ้า ทำความสะอาด แมลงเข้ามาในห้องตอนหน้าฝนก็ต้องจัดการ แมลงไต่ตามผนังจนเด็กเรียนไม่ได้ เด็กเหยียบบ้าง เพราะเด็กไม่ค่อยชอบใส่ถุงเท้า แต่ด้วยความที่เราเป็นครูบรรจุใหม่ เราก็มีแรงเต็มที่ ทำทุกอย่าง เหนื่อยแค่ไหนก็ทำ เดินทางจากบ้านไปโรงเรียนใช้เวลา 1 ชั่วโมง 20 นาที ขับรถไปกลับเองทุกวัน ค่าน้ำมันหมดวันละ 300 บาท เงินเดือนทั้งเดือนหมดไปกับค่าน้ำมัน ได้เงินเดือนครูผู้ช่วยเริ่มต้นที่ 15,800 บาท”

ประโยคข้างต้นคือเรื่องราวของ ‘ครูขวัญ’ (นามสมมติ) ข้าราชการครูที่สอบบรรจุได้เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา ครูขวัญอยู่ที่โรงเรียนประถมขนาดเล็กได้ 2 ปี จนผ่านขึ้นเป็นครู คศ.1 แล้วจึงขอสอบย้าย เป็นการบรรจุใหม่รอบที่สอง เพราะทนกับสภาพโรงเรียนเดิมไม่ไหว ปัจจุบันครูขวัญสอนอยู่ที่โรงเรียนขยายโอกาสแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคอีสาน มีนักเรียนประมาณ 380 คน ตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 ถึง ม.3

แม้โรงเรียนจะใหญ่ขึ้น มีบุคลากรมากขึ้น แต่ปัญหาเชิงระบบก็ยังมีอยู่

“พอย้ายมาอยู่โรงเรียนใหม่ เราก็ยังต้องรับผิดชอบเรื่องพัสดุเหมือนเดิม” ครูขวัญเริ่มเล่าเรื่อง

“พัสดุคือการดูแลการจัดซื้อ ซื้อของทุกอย่างในโรงเรียนที่ผ่านระบบราชการ เรามีงบราชการมาจากเงินอุดหนุนรายหัวที่รัฐบาลสนับสนุน 15 ปีเรียนฟรี เราก็เอาเงินนั้นมาซื้ออุปกรณ์การเรียนของเด็ก ซึ่งนำเงินนี้มาใช้โดยผ่านระบบส่วนกลางคือพัสดุ ดังนั้นไม่ว่าโรงเรียนจะจัดสรรโครงการอะไรก็ต้องผ่านเราหมด แล้วเราค่อยส่งเรื่องไปการเงิน ก็ยังดีที่โรงเรียนนี้เราดูแลพัสดุแค่อย่างเดียว ไม่ต้องทำอย่างอื่น แต่เรื่องตลกร้ายก็คือ โรงเรียนนี้มีครูไม่ครบวิชา เราที่จบเอกอังกฤษมาต้องไปสอนคณิตศาสตร์ ม.ต้น”  

ครูขวัญอธิบายว่าแม้โรงเรียนจะมีขนาดใหญ่ขึ้นก็จริง แต่โรงเรียนขยายโอกาสก็ยังติดหล่ม ‘การมีครูไม่ครบรายวิชา’ อยู่ โชคดีที่ครูในโรงเรียนแห่งใหม่นี้ยังช่วยเหลือกันดี ทำให้ครูขวัญออกแบบการสอนได้เอง นอกจากนี้ครูขวัญยังย้ำว่า “ไม่เคยเปิดทีวีสอนนักเรียน เพราะเราดูแล้วยังไม่เข้าใจเลย เราเลยต้องหาใบงานมาอธิบายเด็กด้วยตัวเอง”

ในประเด็นค่าใช้จ่าย ครูขวัญให้ความเห็นว่า “ค่าตอบแทนที่ได้รับไม่สมเหตุสมผลกับสิ่งที่เราต้องทำ” โดยครูขวัญขยายความว่า ในเงินเดือน 15,800 บาทนี้ ต้องใช้ไปกับค่ากินค่าอยู่ส่วนตัว ค่าน้ำมันรถที่ต้องเติมเพื่อขับไปโรงเรียน ไปจนถึงค่าจัดเตรียมอุปกรณ์การสอน ที่บางครั้งก็เบิกโรงเรียนไม่ได้ เพราะโรงเรียนก็มีงบประมาณจำกัด

“บางทีเราอยากสอนแบบ active learning ให้เด็กทดลองทำกระบวนการเรียนรู้ เช่น เราอยากให้เด็กทำแซนวิชหรือทำน้ำปั่นในห้อง เพื่อเรียนรู้เรื่องศัพท์ เราก็ต้องเตรียมวัตถุดิบมาสอน ซื้อแป้ง ซื้อน้ำแข็งมาเอง ซึ่งพอเราทำแบบนั้น ครูท่านอื่นๆ ก็จะถามว่าทำไมไม่ให้เด็กเขาซื้อมาเอง แต่เราก็ต้องเข้าใจสภาพของเด็กว่าเขาไม่ได้มีเงินขนาดนั้นนะ และบางอย่างก็ไม่ได้หาซื้อได้ตามชุมชนหรือตามสภาพแวดล้อมของเด็ก มันคือการลงทุนที่เราอยากให้ผู้เรียนได้รับ แต่พอไม่มีงบส่วนนี้มาสนับสนุนครู ก็เลยทำให้ผลตอบแทนที่เราได้ไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่เราลงทุนลงแรงไป” ครูขวัญอธิบาย

แม้ว่าในระบบราชการจะมีการขึ้นเงินเดือนครู แต่กว่าจะถึงจุดที่มีเงินพอใช้ก็ต้องใช้เวลาทำงานอยู่หลายปี ครูขวัญเสนอว่าถ้าเป็นไปได้ เงินเดือนเริ่มต้นครูจบปริญญาตรีควรเริ่มต้นที่ 25,000 บาท  

“เงินจำนวนนี้ไม่สูงเกินไป แต่ก็ไม่ต่ำเกินไปในการใช้จ่ายหรือลงทุนกับการศึกษาในเศรษฐกิจปัจจุบัน ก็ยังพออยู่ได้ แล้วค่อยขยับไปตามระยะเวลาของงานหรือตามผลงานที่เราทำ ครูต้องให้ทั้งงานและให้ทั้งใจในวิชาชีพ ก็เลยอยากให้ได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่านี้หน่อย”

ถึงจะเจอปัญหาในการทำงานหลายด้าน แต่เมื่อถามถึงความสุขในการเป็นครู ครูขวัญนิ่งคิดแล้วตอบว่า “จะไม่ตอบแบบนางงามก็ไม่ได้ แต่ความสุขของเราคือนักเรียนแหละ”

“เราถ่ายทอดสิ่งที่เรามี เราทุ่มเท เด็กบางคนเขาสนใจ เขาเก็บไปแล้วอยากเรียนรู้เพิ่ม เขาก็จะมาถามเราต่อ ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องการศึกษา แต่เป็นเรื่องการใช้ชีวิตด้วย พอเป็นแบบนี้เราก็มีกำลังใจ”

จริงอยู่ที่ปัญหาในการประกอบวิชาชีพครูนั้นดูจะใหญ่โตเกินกว่าจะแก้ไขได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ครูขวัญก็ยังสรุปภาพรวมชีวิตครูไว้อย่างมีความหวังว่า “จริงๆ คุณภาพชีวิตครูไม่ได้แย่มาก ครูแต่ละคนมีความพร้อมและมีศักยภาพ ถ้ามีอะไรที่อยากเปลี่ยนคือปรับเปลี่ยนระบบคัดสรรคนเข้ามาในตำแหน่ง ตั้งแต่รัฐมนตรีไปจนถึงครูตัวเล็กๆ อยากให้รัฐมนตรีเคยมีประสบการณ์การเป็นครูหรือมีประสบการณ์การบริหารโรงเรียน เขาจะได้มองโครงสร้างหรือองค์ประกอบของการศึกษาหรือการสอนได้ถูกว่าต้องมีแขนมีขาอะไรบ้าง ไม่ใช่ว่ายื่นสิ่งนี้ให้ คุณรับเป็นนโยบายไปทำ แต่ไม่ได้มองว่าสภาพบริบทแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน โรงเรียนไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็แตกต่างกันแล้ว แค่ใหญ่เหมือนกันก็ยังแตกต่างกันเลย ถ้าแก้ตรงนี้ก็น่าจะทำให้หน้างานดีขึ้น”

ในทางตรงกันข้าม ครูนก (นามสมมติ) ที่เคยสอนอยู่โรงเรียนประถมประจำจังหวัดใหญ่แห่งหนึ่งในภาคอีสาน เล่าให้ฟังว่า เมื่ออยู่โรงเรียนที่พร้อม ครูแทบไม่ต้องทำอะไรนอกจากการสอน และแทบไม่ต้องออกค่าอุปกรณ์การเรียนเอง เพราะโรงเรียนจัดให้ทุกอย่าง “ครูมีคอมพ์คนละตัว มีเครื่องปรินต์คนละเครื่อง อยากสร้างสรรค์วิชาการอะไรของเด็กว่ามาได้เลย อยากสอนเด็กทำแซนด์วิช เอาบิลมาเบิก” ครูนกเล่าด้วยเสียงคมชัด

แต่ถ้าจะมีอะไรสักเรื่องที่เป็นอีกหนึ่งปัญหาคือวัฒนธรรมการทำงานของคนต่างรุ่น ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อครูนกย้ายไปอยู่โรงเรียนมัธยมขนาดใหญ่พิเศษที่มีครูจำนวนมาก ในฐานะคนรุ่นใหม่ ครูนกบอกว่าต้องเผชิญกับระบบอาวุโสอย่างหนัก รวมถึงสังคมครูรุ่นก่อนที่เจ้ายศเจ้าอย่างและใช้เส้นสายในการยกระดับตัวเองกันเป็นเรื่องปกติ

“ทุกวันนี้มีอย่างเดียวที่ทำให้รู้สึกอยากไปทำงานคือเด็ก เพราะเราทำงานกับเด็ก ถ้ามีปัญหาภายในโรงเรียนหยุมหยิม ปัญหาการเมือง การนินทา ครูแก่ๆ ความคิดเก่าๆ สิ่งเดียวที่จะต้องมั่นคงและไม่เอนเอียงไปกับกระแสคำพูดมีอย่างเดียวคือไปสอนเด็ก” ครูนกเล่า

และแทบจะเป็นคำตอบที่แตกต่างจากคนอื่นอย่างสิ้นเชิง เมื่อถามว่าความสุขของการเป็นครูของครูนกอยู่ที่ไหน ครูนกตอบไวว่า “เอาจริงๆ คือไม่มี เราไม่เคยมีความสุขกับการเป็นครูเลย แต่ทำเพราะเป็นอาชีพ ถามว่าอยากเป็นครูไหม ไม่”

ครูนกอธิบายต่อว่า “ถึงนโยบายจะดีแค่ไหน สิ่งหนึ่งที่ครูควรจะเป็นและคุณภาพชีวิตนักเรียนจะดีขึ้น คือครูต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นครู เราพูดว่าเราไม่มีความสุขเลยกับการเป็นครูก็จริง แต่เราซื่อสัตย์กับวิชาชีพของตัวเอง เราก็เลยทำหน้าที่ของเรา แค่นั้นเอง ถามว่าเราอยากไปทำอย่างอื่นไหม เราอยากไปทำมากๆ แต่ชีวิตก็ยังมีข้อจำกัดหลายอย่าง”

และเมื่อถามถึงประเด็นปัญหาเรื่องครูในภาพรวม ครูนกตอบคล้ายครูขวัญว่า “เอาจริงๆ ครูไม่ได้ตกต่ำขนาดนั้นหรอก คือให้เงินเดือนครูเท่านี้ก็ได้ แต่งานที่ให้เราทำอยากให้ดูหน่อยว่าอะไรที่มีประโยชน์ อะไรที่ไม่มีประโยชน์ ทำแล้วได้อะไร เช่นประเมิน PA (Performance Agreement) ทำแล้วได้อะไร หรืออย่างมีงานแข่งขันศิลปหัตถกรรม เขาบอกว่าโชว์ศักยภาพเด็ก แต่จริงๆ คือครูหัวหมุนหนักแล้ว ในขณะที่ครูต้องสอน แล้วต้องไปดูแลเด็กเพื่อนำชื่อเสียงมาสู่โรงเรียนด้วย

“เราอยากให้สมน้ำสมเนื้อ ถ้าคุณเพิ่มเงินให้ครูไม่ได้ คุณลดงานให้เราสิ แล้วคนที่เสนอนโยบายมาทุกวี่ทุกวันก็เปลี่ยนอยู่นั่น คุณเป็นครูหรือคุณเป็นใคร” ครูนกกล่าวทิ้งท้าย

ครูเอกชน-บันไดสู่ทางตัน

ไม่ใช่แค่ครูโรงเรียนรัฐเท่านั้นที่ต้องเจอปัญหาในการทำงาน แต่ครูในโรงเรียนเอกชนก็เจอปัญหาไม่ต่างกัน แม้ว่าภาพภายนอกโรงเรียนเอกชนส่วนมากจะสวยหรูดูดี และเต็มไปด้วยนักเรียนที่มาจากครอบครัวมีฐานะก็ตาม แต่ชีวิตของครูเอกชนดูเหมือนจะไม่ได้ดีตามไปด้วย โดยเฉพาะครูโรงเรียนเอกชนในต่างจังหวัด

‘โต้ง’ (นามสมมติ) อดีตครูสอนศิลปะในโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งที่จังหวัดราชบุรี เปิดเผยประสบการณ์ให้ฟังว่า โรงเรียนเอกชนที่เขาอยู่นั้นไม่ได้สนับสนุนงบประมาณมากนัก เช่น ในช่วงที่มีการแข่งขันงานวิชาการหรืองานศิลปะ โรงเรียนมักใช้วิธีให้ครูไปคุยกับผู้ปกครองนักเรียนเพื่อสนับสนุนงบประมาณมากกว่า ถ้าไม่ได้ ครูก็อาจจำเป็นต้องออกเอง โดยที่เมื่อผลงานของเด็กชนะเลิศ โรงเรียนก็พร้อมจะน้อมรับเอาผลงานนั้นเป็นของโรงเรียนอย่างเต็มภาคภูมิ

โต้งยังเล่าอีกว่า หลายครั้งที่เด็กต้องซ้อมเพื่อไปแข่งความสามารถทางศิลปะ สมมติมีแข่ง 10 ประเภท โรงเรียนจะออกค่าอุปกรณ์ให้พอสำหรับ 2 ประเภท ส่วนอีก 8 ประเภทครูต้องออกเอง หลายครั้งครูจึงไม่ได้พาเด็กไปแข่งบ่อยนัก เพราะเป็นภาระมากเกินไป

โต้งเข้าเป็นครูสอนศิลปะประจำโรงเรียนมัธยมเอกชน ได้เงินเดือนขั้นต้น 13,000 บาท และได้ค่าสอนพิเศษอีกประมาณเดือนละ 2,000-3,000 รวมเป็น 15,000 บาท สอนพิเศษที่ว่านี้คือการสอนหลังเลิกเรียนสำหรับเด็กที่ลงเรียนพิเศษไว้ การให้เงินลักษณะนี้คือการพยายามทำให้เงินเดือนถึง 15,000 บาท แต่ในความเป็นจริง เงินเดือนตั้งต้นอยู่ที่ 13,000 บาทเท่านั้น

นอกจากนี้ อีกหนึ่งประเด็นที่คนอาจไม่ค่อยพูดถึงนัก คือประเด็นเรื่องที่ครูผู้ชายมีงานบางอย่างที่ต้องทำเป็น ‘พิเศษ’ นอกเหนือจากงานสอน โดยเฉพาะงานที่ใช้แรงงาน และยิ่งโต้งเป็นครูผู้ชายส่วนน้อยที่อยู่ในโรงเรียนหญิงล้วน ยิ่งกลายเป็นว่าภาระงานหลายอย่างตกอยู่ที่เขามากขึ้น

“ครูผู้ชายต้องยืนเวรหน้าประตูโรงเรียนทุกวัน ส่งเด็กกลับบ้าน เด็กอยู่ถึงกี่โมงเราก็ต้องอยู่ เวลามีงานต้องขนของครูผู้ชายก็ต้องไป งานกีฬาสี ครูผู้ชายก็ต้องจัด ตักข้าว เขียนป้าย ดูแลเครื่องเสียง เปิดเพลงชาติทุกเช้า เวลามีประชุมต้องอยู่ห้องซาวด์ แล้ววันเสาร์-อาทิตย์ไม่ได้หยุด เพราะต้องพาเด็กไปทัศนศึกษา ซึ่งผมถือว่าเพศชายก็ไม่ได้อยู่สบายในสังคมแบบนั้นนะ หนักหน่วงอยู่” โต้งเล่าอย่างเห็นภาพ

โต้งขยายความว่า ภาระงานที่นอกเหนือจากงานสอนอยู่นอกเหนือจากงานที่ตกลงกัน แต่ส่วนมากครูก็ทำเพราะเห็นแก่เด็กนักเรียน “เวลาเราไปสมัคร เราก็พูดแค่เรื่องที่จะสอน กับเรื่องที่โรงเรียนจะให้เราสอน แต่พอเราไปทำงานจริงๆ เหมือนในหนังเลย คือเราเป็นเด็กใหม่ คนก็มาโยนงานไว้หน้าห้อง กองๆๆ ไว้ เราก็ทำๆๆ”

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ครูเอกชนในต่างจังหวัดไม่ได้มีระบบทำผลงานเพื่อขึ้นเงินเดือนเหมือนในระบบราชการ โต้งอธิบายว่าแม้จะพาเด็กไปแข่งจนได้รางวัลก็จะไม่ถูกแปรเป็นผลประโยน์ทางเงินเดือนแต่อย่างใด เมื่อถามว่าแล้วครูเอกชนไต่เต้าทางอาชีพกันอย่างไร โต้งตอบสั้นกระชับว่า “ไม่มีทางไต่เต้า ตัน”

คำว่า ‘ตัน’ นี้ โต้งขยายความว่า เงินเดือนของครูที่อยู่ก่อนหน้าเขามา 30 ปีเท่ากับเงินเดือนของเขาที่เพิ่งเข้าไปทำงาน ซึ่งสะท้อนว่าอัตราเงินเดือนครูเอกชนมีการก้าวกระโดดน้อยมากหรือแทบไม่ขยับเลย โต้งเสนอว่าเงินเดือนครูควรจะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 20,000 บาท และเมื่อทำงานไปสิบปี ก็ควรจะถึงที่ประมาณ 25,000 บาท ซึ่งในความเป็นจริง หนทางหนึ่งที่ครูเอกชนจะเพิ่มเงินเดือนได้คือการสอบบรรจุเข้าเป็นพนักงานประจำ เงินเดือนจะเริ่มต้นที่ 15,000 บาท รวมค่าสอนพิเศษประมาณ 3,000-5,000 บาท เงินเดือนจะตกรวมอยู่ที่ 18,000-20,000 บาท และอาจหยุดนิ่งหรือขยับอย่างเชื่องช้าไปแบบนั้น

ในฐานะที่โต้งเคยเป็นครูสอนศิลปะทั้งในโรงเรียนประถมขนาดเล็กของรัฐและโรงเรียนมัธยมเอกชน ทำให้เขาพอจะเข้าใจความทุกข์ของครูที่แตกต่างหลากหลาย โต้งบอกว่า “ความทุกข์ของครูทุกคนคือเรื่องเงิน”

“ไม่มีครูคนไหนเงินเดือนพอใช้นะ ไปถามครูที่ไหนก็ได้ ไม่มีทางที่เงินจะพอใช้เลย เงินน้อยมาก แล้วภาษีสังคมของการเป็นครูสูง เช้ามาคุณต้องแต่งตัว ต้องมีเครื่องแบบ ไปโรงเรียนคุณมีค่าใช้จ่ายเช้าเย็น ค่าเดินทาง ต้องกินข้าวนอกบ้านทุกวัน ถ้าโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์ต่างๆ ถ้าคุณเป็นครูประจำชั้น คุณก็ต้องจ่ายเอง ปากกาน้ำเงินคุณก็เบิกไม่ได้ แล้วคุณใช้เยอะมาก อุปกรณ์หลายอย่างเบิกไม่ได้ อย่างผมสอนวาดรูป ใช้ปากกาไวท์บอร์ดเต็ม ล้นไปหมด ก็ต้องซื้อเอง หรือแม้แต่สีที่เราอยากให้เด็กเรียน เราก็ต้องหามาให้เด็กเอง” โต้งอธิบาย

ส่วนอีกหนึ่งประเด็นที่คล้ายกับครูหลายคนก่อนหน้านี้ คือภาระงานที่มากเกินไป จนทำให้ไม่ได้ใส่ใจกับการสอนเท่าที่ควร

“ภาระงานก็เยอะไปจริงๆ นั่นแหละ แล้วเป็นงานไร้สาระ ทุกคนรู้ดี งานเอกสารครูเป็นงานทำซ้ำ สมมติปีนี้คุณทำไว้แล้ว ปีหน้าทำเหมือนเดิม คุณรู้ล่วงหน้าด้วยซ้ำไป บางทีเปลี่ยนหน้าปก ใส่เนื้อในเหมือนเดิมยังได้”

ประเด็นเรื่องงานเอกสาร ไม่ใช่แค่ในโรงเรียนรัฐเท่านั้น แต่วัฒนธรรมการทำงานแบบ ‘ไทยๆ’ ยังฝังรากอยู่ในหลายหน่วยงาน แม้จะเป็นหน่วยงานเอกชนก็ตาม “เรามองว่าโรงเรียนใหญ่หลายที่น่าจะทำให้ดีกว่านี้ได้ แต่ก็มาพังที่วัฒนธรรมการทำงานแบบไทยๆ ยึดติดกับยูนิฟอร์ม ต้องติดอยู่กับเอกสาร ซึ่งขัดแข้งขัดขาอาชีพไปหมด พูดง่ายๆ ว่าครูที่อยู่ในโรงเรียน ไม่มีใครอยากทำอะไรสร้างสรรค์หรอก เพราะเหนื่อยกับการทำอะไรซ้ำๆ ซากๆ

“อย่างบางวันเรามีไฟมาเต็มที่ อยากพาเด็กไปเรียนข้างนอก อยู่ดีๆ โดนสั่งให้นั่งทำเอกสารที่ทั้งกินแรง เสียเวลา และไม่เป็นประโยชน์กับใคร เราก็ต้องจัดการเด็กให้เราสอนง่ายขึ้น ครูหลายคนใช้เวลาสอนทำงานเอกสารในห้องเรียน ให้งานเด็กทำ แล้วครูก็นั่งงมเอกสารอยู่หลังห้อง”

เมื่อชวนมองภาพใหญ่เรื่องระบบการศึกษาไทย โต้งชี้ว่าควรมีนโยบายที่เป็นหลักไว้ยึด ไม่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาสับสนจนครูทำงานไม่ได้เช่นนี้

“เมืองไทย เหมือนกันทุกวงการ ก็เหมือนเรื่องบอลไทยจะไปบอลโลก ไม่พอใจก็เปลี่ยนโค้ช เรื่องการศึกษาก็เหมือนกัน คุณวางแผนไว้แป๊บเดียว ยังไม่ทันรู้เลยว่ากระทรวงจะทำอะไร พอเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนรัฐมนตรี คุณก็ไม่เอานโยบายที่เป็นหลักไว้ ที่สังคมเข้าใจร่วมกันว่าการศึกษาไทยคือเรียนแบบนี้นะ มาถึงคุณก็เปลี่ยน ใส่กิมมิกที่ไร้สาระขึ้นมา แต่เรื่องหลักๆ ไม่เคยทำให้ดี พูดตรงๆ นะ ยิ่งคนที่เป็นครูมาทั้งชีวิต เขาถูกเปลี่ยนมาจนเบื่อ แต่เป็นวัฒนธรรมแบบไทยคือผักชีโรยหน้า เปลี่ยนแค่หน้าปก” โต้งชี้ไปที่ใจกลางปัญหา

แม้จะวิจารณ์อาชีพครูอยู่มาก แต่ถึงที่สุดแล้วเมื่อถามถึงความสุขของการเป็นครู โต้งตอบด้วยเสียงนุ่มนวลขึ้นว่า “นี่ไม่ได้พูดเอาหล่อเลยนะ แต่ความสุขของการเป็นครูก็คือเด็ก – เด็กทำให้เรามีความสุขจริงๆ เวลาเราอยู่ในโรงเรียน เป็นบรรยากาศที่สนุก แล้วความเคร่งเครียดเรื่องวิชาการไม่ได้เข้มข้นขนาดนั้น อย่างตอนสอนประถม เด็กก็คือเด็ก ต่อให้เขาทำผิดอะไร ก็เป็นความผิดที่เราให้อภัยได้เสมอ เพราะเขายังเป็นเด็กเล็กอยู่”

“หลายเรื่องที่ระบบทำอยู่มีแต่เรื่องไร้สาระ คุณภาพจริงๆ ที่เราต้องใส่ใจคือเด็ก” โต้งกล่าวสรุป

MOST READ

Social Issues

9 Oct 2023

เด็กจุฬาฯ รวยกว่าคนทั้งประเทศจริงไหม?

ร่วมหาคำตอบจากคำพูดที่ว่า “เด็กจุฬาฯ เป็นเด็กบ้านรวย” ผ่านแบบสำรวจฐานะทางเศรษฐกิจ สังคม และความเหลื่อมล้ำ ในนิสิตจุฬาฯ ปี 1 ปีการศึกษา 2566

เนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล

9 Oct 2023

Education

20 Jul 2023

คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ในวิกฤต (?)

ข่าวการปรับหลักสูตรของอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ชวนให้คิดถึงอนาคตของการเรียนการสอนสายมนุษยศาสตร์ เมื่อตลาดแรงงานเรียกร้องทักษะสำหรับการทำงานจริง จนมีการลดความสำคัญวิชาพื้นฐานอันเป็นการฝึกฝนการวิเคราะห์วิพากษ์เพื่อทำความเข้าใจโลกอันซับซ้อน

เสียงเล็กๆ จากประชาคมอักษร

20 Jul 2023

Social Issues

5 Jan 2023

คู่มือ ‘ขายวิญญาณ’ เพื่อตำแหน่งวิชาการในมหาวิทยาลัย

สมชาย ปรีชาศิลปกุล เขียนถึง 4 ประเด็นที่พึงตระหนักของผู้ขอตำแหน่งวิชาการ จากประสบการณ์มากกว่าทศวรรษในกระบวนการขอตำแหน่งทางวิชาการในสถาบันการศึกษา

สมชาย ปรีชาศิลปกุล

5 Jan 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save