fbpx
เปลี่ยนสถาบันวิจัย TDRI อันขรึมขลังสู่ Community Space

เปลี่ยนสถาบันวิจัย TDRI อันขรึมขลังสู่ Community Space

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

ที่ทำงานในฝันของคุณเป็นแบบไหน

มีพื้นที่กว้างๆ ให้เลือกนั่งได้ตามสบาย มีห้องสมุดที่อัดแน่นด้วยหนังสือที่คุณสนใจ มีโต๊ะปิงปองให้คุณไปเล่นได้ทุกครั้งที่เครียด มีระเบียงที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้ มีโต๊ะทำงานที่สะอาดสะอ้าน มีมุมเงียบสงบส่วนตัวเวลาคุณไม่อยากยุ่งกับใคร หรือมีโต๊ะให้เล่นบอร์ดเกม แล้วยังเหลือพื้นที่ว่างให้สั่งไก่มากินระหว่างเล่นได้ด้วย ?

บางคนอาจบอก — การไม่ต้องทำงานต่างหากคือความฝันที่แท้จริง เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งปลอบประโลมความเหนื่อยยากในการทำงานเท่านั้น แต่กับบางคนที่ชีวิตกับงานไม่ได้แยกขาดออกจากกัน และมองว่างานมิใช่ความทุกข์ ที่ทำงานที่ดีย่อมส่งผลต่อความสุขของชีวิต

ข้างต้นที่กล่าวไป ทั้งหมดเกิดขึ้นจริงแล้วในสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ที่เพิ่งรีโนเวทภายในอาคาร ปรับโฉมจากออฟฟิศที่ขรึมขลังอย่างนักวิชาการ โต๊ะทำงานแยกส่วนอยู่ใครอยู่มันคนละแผนก ให้กลายเป็นออฟฟิศที่ให้ความสำคัญกับ ‘พื้นที่’ เพราะพวกเขาเชื่อว่าพื้นที่สร้างคนได้ Community Space ที่กว้างขวางจึงเกิดขึ้น พร้อมๆ กับใส่ใจพื้นที่ทำงานที่เรียกได้ว่า ‘คิดทุกเม็ด’ จริงๆ

ทีดีอาร์ไอก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2527 ในรูปของมูลนิธิ เป็นองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไร ทำงานวิจัยเชิงนโยบาย ไม่เพียงแต่ด้านเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังทำงานวิจัยด้านต่างๆ เช่น การศึกษา การต่อต้านคอร์รัปชัน สิ่งแวดล้อม ระบบสวัสดิการสังคม ฯลฯ เป้าหมายเพื่อพัฒนาประเทศไทยให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ที่นี่จึงมีนักวิจัย นักวิชาการทำงานอยู่มากมาย ที่ผ่านมา งานวิจัยจำนวนมหาศาลที่ล้วนเข้มข้นและน่าสนใจจึงเกิดขึ้นในพื้นที่แห่งนี้

ลบภาพนักวิชาการสวมแว่นหนาเตอะ นั่งอยู่ในห้องทำงานบนหอคอยงาช้าง มีกองหนังสือพะเนินท่วมหัว คร่ำเคร่งกับงานวิจัยที่คนทั้งโลกไม่มีวันเข้าใจทิ้งไป

เมื่อเราขึ้นมาบนชั้น 5 ที่เป็น Town Hall ทีดีอาร์ไอต้อนรับเราด้วยบาร์สีสว่าง และถามเราว่า จะรับน้ำเปล่า น้ำส้ม หรือกาแฟ

 TDRI

 

พื้นที่สร้างคน

 

“โจทย์ใหญ่ที่พวกเราพยายามทำก็คือทำงานวิจัยเชิงนโยบายที่ตอบโจทย์สังคม และสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้คนจริงๆ” โก้ – พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการรีโนเวทออฟฟิศครั้งนี้ เริ่มต้นบทสนทนา

โก้ - พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ
โก้ – พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ

เขาเล่าว่าเพราะต้องการทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ปัญหาสังคมที่ซับซ้อน และสร้างความเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงจำเป็นต้องได้นักวิจัยเก่งๆ ที่อาจไม่เหมือนที่เคยมีเข้ามาทำงาน เช่น จากเดิมอาจเก่งวิชาการ แต่วันนี้ต้องการความเก่งที่หลากหลายขึ้น เช่น ต้องสื่อสารเป็น ต้องทำงานร่วมกับคนที่หลากหลายได้ ต้องทำงานเป็นทีมได้ ขณะเดียวกันบรรยากาศการทำงานก็ต้องสนุกพอไม่คร่ำเคร่งเกินไปจนปิดกั้นความคิดสร้างสรรค์ เพราะที่นี่อยากให้คนมีความสุขเพื่อการเติบโตทางความคิดในทางวิชาการด้วย

“นำมาสู่โจทย์ที่ว่าถ้าออฟฟิศเราจะดีพอ หรือดียิ่งขึ้น ต้องทำยังไงบ้าง” พีระพงษ์เริ่มเล่าที่มาในการตั้งโจทย์สู่การออกแบบ

“ตอนนี้ นักศึกษาจบใหม่เป็นคนรุ่นมิลเลนเนียลส์ เพราะฉะนั้นต้องรู้ว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์หน้าตาเป็นยังไง ต้องการอะไร ที่ผ่านมา TDRI ทำหลายอย่างแล้ว พยายามวางแบรนดิ้งใหม่ ดีไซน์โลโก้ หน้าตาเว็บไซต์ วิธีสร้างสรรค์งานอีเวนต์ต่างๆ เปลี่ยนโฉมไปเยอะมากเลย แต่ตัวตึกเป็นสิ่งสุดท้ายที่เราเปลี่ยน เพราะอาจจะปรับไม่ง่ายเท่าไหร่

“สุดท้ายเราไปได้ทีมดีไซเนอร์ที่เข้าใจเรื่องคน ทีมชื่อว่า Paperspace เป็นบริษัทออกแบบภายใน เขาตีโจทย์ไว้หลายอย่าง อย่างโจทย์ของคนยุคมิลเลนเนียลส์เป็นยังไง ยกตัวอย่างว่าคนยุคมิลเลนเนียลส์ต้องการสภาพแวดล้อมการทำงานที่ได้เรียนรู้ ได้การโค้ชชิ่ง ได้ทำงานไปด้วย รับฟีดแบกไปด้วย ดังนั้นในแง่ฟังก์ชันต้องตอบโจทย์แบบนี้ให้ได้

“ในด้านอารมณ์ความรู้สึกต่อสถานที่เขาคงรู้สึกแฮปปี้กับที่ทำงานที่เขาจะถ่ายรูปลงโซเชียลมีเดียได้ เพราะฉะนั้นต้องดีไซน์ออฟฟิศให้สวย แต่สวยอย่างเดียวก็คงไม่พอ ยังมีโจทย์การชูเรื่อง identity ของทีดีอาร์ไอ ชูเรื่องงานสร้างสรรค์ และโจทย์เรื่องวิธีการทำงานของคนในแต่ละเจนด้วย

“อย่างแรกเราเอาข้อมูลเก่าๆ เกี่ยวกับการใช้ตึกทั้งหมดมาดู เช่นเรื่องการใช้ห้องประชุมเป็นยังไง การจัดสรรกำลังคน ใครนั่งตรงไหน เราพยายามจะวางเลย์เอาท์ใหม่ทั้งหมด รื้อใหม่หมดเลยว่าใครเคยนั่งตรงไหน ลืมไปให้หมด

“สมัยยังเป็นตึกเก่า คิดภาพองค์กรที่มีหน่วยวิจัยประมาณเกือบ 20 หน่วย แต่ละหน่วยอยู่ในพื้นที่ของตัวเอง โอกาสได้เจอคนต่างกลุ่มกันก็น้อย โอกาสได้แลกเปลี่ยนก็น้อย คราวนี้เราทำไง วิธีง่ายสุดคือทลายกำแพงทิ้ง คือกำแพงแบบ physical เลยนะ กำแพงคือตัวกันแสง แต่โดยตัวมันเองก็ไม่ได้กันแค่แสงอย่างเดียว แต่กันความรู้สึกของผู้คนภายในตึกด้วย ว่าส่วนนี้เป็นของใคร กลุ่มไหน เราอยากสร้างความรู้สึกที่คนเชื่อมโยงกันภายในสถาบันทั้งหมด เราจึงต้องเปลี่ยน

“พอทลายกำแพงทิ้งเสร็จ ไม่พอแล้ว ต้องทำยังไงให้คนมาคุยกันด้วย ถ้าเราไม่ใส่กิจกรรมหรือวัฒนธรรมอะไรบางอย่าง คนจะมาเจอกันมั้ย ก็นั่งที่เดิม ใส่หูฟัง นั่งดูหน้าจอของตัวเอง 8 โมงมา 5 โมงกลับ ก็จบ”

พื้นที่ Town Hall ชั้น 5 ของอาคารทีดีอาร์ไอ เปิดให้เป็นพื้นที่อิสระสำหรับคนทำงาน
พื้นที่ Town Hall ชั้น 5 ของอาคารทีดีอาร์ไอ เปิดให้เป็นพื้นที่อิสระสำหรับคนทำงาน

นี่เป็นเหตุผลที่ทีดีอาร์ไอสร้างสรรค์พื้นที่ใหม่ๆ ในชั้น 5 ให้เปิดเป็นพื้นที่อิสระ ใครอยากจะมานั่งทำงาน พูดคุยกันก็มีโต๊ะจำนวนมากให้เลือกใช้ ขณะเดียวกันกำแพงก็พร้อมจะกลายเป็นบอร์ดให้คนมาขีดเขียน เอาโพสต์อิทมาแปะ นั่งถกประเด็น และเสนอโปรเจ็กต์ตัวเองได้อย่างอิสระ เครื่องดื่มวางอัดแน่นอยู่ในตู้แช่เย็นเฉียบ ไม่จำเป็นต้องมีคนคุมหน้าแคชเชียร์ เพราะป้าย QR code ทำหน้าที่รับเงินอยู่แล้วอย่างขยันขันแข็งไม่ส่งเสียง อยู่กันด้วยความไว้อกไว้ใจ

“เราเลือกใส่กิจกรรมภายในต่างๆ หลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่ CEO Talk ที่ชวน CEO ที่ประสบความสำเร็จภาคธุรกิจมาแบ่งปันประสบการณ์ ชวนอาจารย์มหาวิทยาลัยที่ทำงานวิจัยที่ตอบโจทย์ท้าทายมาคุยในกิจกรรม Academic Talk ชวนคนทำงานนโยบายมาเล่าโจทย์ใหญ่ของประเทศอย่าง Policy Talk

“รวมถึงการหยิบเอาหนังสือที่น่าสนใจมาเปิดประเด็นพูดคุย โดยเชิญคนแปลและคนเขียนมาเล่าเพื่อเป็นประโยชน์สำหรับคนทำงาน เช่น เชิญ ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ผู้แปล เซเปียนส์  และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้เขียน Chaina 5.0 รวมถึงสร้างคลับเอาหนังสือที่ต่างคนต่างอ่านมาชวนกันคุย เพื่อสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ให้นักวิจัยในทีดีอาร์ไอให้รู้ลึกและรู้กว้าง”

ตัวกิจกรรมที่พวกเขาพยายามทำ เป็นส่วนที่ดึงนักวิจัยจากที่แยกกันทำงานบนโต๊ะของตัวเอง ให้เริ่มขยับรวมกลุ่มกันมากขึ้น เดินมาหากาแฟขนมนมเนยทาน และว่ากันว่า ไอเดียดีๆ มักจะเกิดจากการคุยเล่นกันซะส่วนมาก

เมื่อกำแพงทลายลงและพื้นที่กว้างขึ้น เส้นแบ่งระหว่างช่วงวัยก็ค่อยขยับเข้ามาหากัน พนักงานในทีดีอาร์ไอมีตั้งแต่เด็กจบใหม่ วัยกลางคน ไปจนถึงผู้ใหญ่อายุ 80 ปี เมื่อกิจกรรมหลากหลายมากขึ้น คนต่างรุ่นกันก็ได้แลกเปลี่ยนกันมากขึ้นไปด้วย

“ห้องนักวิชาการที่นี่ เวลาทำงานไม่ค่อยปิดประตูกันนะ” พีระพงษ์กล่าวด้วยรอยยิ้ม

“เราว่านี่เป็นเรื่องใหญ่นะ ถ้าเขาปิดประตู ก็จะสร้างวัฒนธรรมบางอย่าง เวลาเราไปหาต้องเคาะก๊อกๆ แล้วถึงจะไปคุยกับเขาได้ เพราะฉะนั้น power relations คนละเรื่องกัน นักวิชาการยิ่งเป็นผู้ใหญ่มักจะไม่ปิดประตู ถามว่าเพราะอะไร เพราะต้องการบรรยากาศที่ว่าเขานั่งทำงานอยู่แล้วเข้าถึงได้ ไม่ได้มีวัฒนธรรมที่มีพิธีรีตอง ที่ทำให้เราต้องเดินไปเคาะห้อง แล้วต้องเข้าไปขออนุญาตคุย ส่วนใหญ่ทำงานแบบร่วมมือกัน

“พูดดูสวยเนอะ แต่ของที่มองไม่เห็นที่ช่วยให้คนร่วมมือกัน ต้องทำยังไง เดิมตัวห้องเป็นกระจก ติดฟิล์มทั้งอันเลย เรารู้สึกว่า แบบนี้เป็นบรรยากาศที่เพิ่มระยะห่างโดยไม่จำเป็น โอเค เราควรจะติดฟิล์มเพื่อมี privacy อะไรบางอย่าง เลยมีฟิล์มเท่าที่จำเป็น แล้วส่วนใหญ่บรรยากาศคือเปิดประตู เวลคัมคนตลอด เพราะฉะนั้นการจะสร้างบรรยากาศการทำงานแบบร่วมมือกัน มีของที่มองไม่เห็นด้วย ทำยังไงให้ของแบบนั้นไม่เป็นอุปสรรคต่อการทำงานในออฟฟิศ”

เมื่อเราเดินดูรอบออฟฟิศ พบว่าบรรยากาศในชั้นทำงานสว่างไสว แต่ละโต๊ะมีพื้นที่ของตัวเอง ขณะเดียวกันก็ไม่ปิดกั้นโอกาสในการพูดคุยกับคนอื่น มุมไหนต้องการสมาธิมาก ที่กั้นด้านหน้าจะสูงหน่อย ส่วนมุมไหนต้องรับแขก ที่กั้นข้างหน้าก็ลดลงมาต่ำจนแทบไม่มีเส้นกั้น — และจริง ห้องนักวิชาการไม่ปิดประตู

ระดับของโต๊ะทำงานและตู้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ทำให้ห้องดูโล่งไม่ทึบทึม สังเกตตรงถาดวางกระถางต้นไม้ ออกแบบเฉพาะโดยใช้วัสดุที่ไม่เปื่อยเมื่อเปียกน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน และห้องทางขวามือคือห้องของนักวิชาการที่เปิดไว้ตลอดเวลา
ระดับของโต๊ะทำงานและตู้อยู่ต่ำกว่าระดับสายตา ทำให้ห้องดูโล่งไม่ทึบทึม สังเกตตรงถาดวางกระถางต้นไม้ ออกแบบเฉพาะโดยใช้วัสดุที่ไม่เปื่อยเมื่อเปียกน้ำ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ทำงาน และห้องทางขวามือคือห้องของนักวิชาการที่เปิดไว้ตลอดเวลา
ออฟฟิศเก่าก่อนรีโนเวท ชั้นวางของและเสาวางบังแนวสายตา และมีกำแพงกั้นแต่ละฝ่ายหนาแน่น
ออฟฟิศเก่าก่อนรีโนเวท ชั้นวางของและเสาวางบังแนวสายตา และมีกำแพงกั้นแต่ละฝ่ายหนาแน่น

ไม่ใช่เท่านั้น ที่นี่ยังมีล็อกเกอร์เตรียมเอาไว้ให้พนักงาน โดยวัดขนาดความสูงให้ใส่ไม้แบดฯ ได้พอดี คนที่นี่นัดออกกำลังกายกันเป็นปรกติ ตอนเย็นเข้าฟิตเนส ตีปิงปอง เล่นโยคะ เรียนเต้น ยังไม่พอ ยังออกกำลังสมองด้วยการจัดกิจกรรมอ่านหนังสือ โดยคัดประเด็นที่น่าสนใจ ในวันที่เราไปกำลังอยู่ในช่วง Book Series : Aging ครั้งที่ 2 ว่าด้วยเรื่องสังคมผู้สูงอายุที่จะมาถึงในไม่ช้า ที่น่าอิจฉาไปกว่านั้น คือที่ทีดีอาร์ไอให้พนักงานเบิกเงิน สำหรับการออกกำลังกายกับเพื่อนร่วมงานและค่าหนังสือได้ทุกเดือน !

ฟิตเนสอุปกรณ์ครบครัน “หลัง 5 โมงเย็น ไม่เคยไม่มีคน”
ฟิตเนสอุปกรณ์ครบครัน “หลัง 5 โมงเย็น ไม่เคยไม่มีคน”
ห้องประชุมทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เก้าอี้มีล้อเลื่อนทุกตัว เพื่อการเคลื่อนย้ายที่สะดวกและมีอิสระเวลานั่ง
ห้องประชุมทั้งขนาดเล็กและใหญ่ เก้าอี้มีล้อเลื่อนทุกตัว เพื่อการเคลื่อนย้ายที่สะดวกและมีอิสระเวลานั่ง

“เราเชื่อว่า เรามีระบบสวัสดิการที่พยายามให้เราแข็งแรงทั้งทางร่างกายและสติปัญญา”

“ถ้าถามว่าที่ทำงานที่ดีเราอยากเห็นอะไรบ้าง เราอยากเห็นคนทำงานแบบร่วมมือกัน เราอยากเห็นคนทำงานที่ได้เรียนรู้อะไรระหว่างทำงานไปด้วย ไม่ได้เรียนรู้แต่ตัวงานอย่างเดียว แต่เรียนรู้จากเพื่อนร่วมงาน ที่ทำงานที่ดีควรจะเปิดให้คนที่ทำงานได้กล้าลองผิดลองถูก ได้ลองของใหม่ๆ ในสิ่งที่ตัวเองอยากทำ และออฟฟิศที่ดีช่วยเรื่องนี้ได้”

ออฟฟิศ TDRI

ออฟฟิศ TDRI
Quiet Zone มุมส่วนตัวเอาไว้สำหรับอยากอยู่เงียบๆ คุยโทรศัพท์ งีบหลับ หรือแม้แต่แอบกินมาม่า ดูไปก็คล้ายๆ มุมเชื่อมต่อไปกระทรวงเวทมนตร์ในแฮร์รี่ พอตเตอร์ อยู่ไม่น้อย

เส้นแบ่งพร่าเลือนของการงานและครอบครัว

ว่ากันว่า หากใครมีเส้นทางการทำงานที่รุ่งโรจน์ ก็มิอาจสมดุลชีวิตส่วนตัวให้รุ่งเรืองตามไปได้ แต่ในยุคสมัยนี้อาจไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป ทั้งเทคโนโลยีที่คนสามารถทำงานที่บ้านได้ หรือกฎเกณฑ์ที่เปลี่ยนไปในหลายๆ ออฟฟิศ ไม่มีข้อบังคับหยุมหยิม หรือวางระเบียบแน่นเป๊ะจนลืมเคารพชีวิตส่วนตัวของคนทำงาน

“ออฟฟิศเราไม่ตั้งกฎอะไรเยอะนะ เพราะใน core value ของเรา มีประโยคหนึ่งที่พวกเราย้ำกันเสมอคือ ให้เคารพคนและทีมงาน”

เมื่อทำให้บรรยากาศของที่ทำงานผ่อนคลายแล้ว ตอนคนกลับบ้านไปจึงไม่ได้หอบความเครียดกลับไปด้วย จึงอาจช่วยสมดุลชีวิตครอบครัวที่ดีในอีกทางหนึ่ง ขณะเดียวกันคนทำงานที่นี่ก็มองว่าการเก็บงานไปคิดต่อที่บ้านเป็นความท้าทายสำหรับพวกเขามากกว่าการนั่งทนทุกข์

“สำหรับผมเมื่อพูดถึงครอบครัวที่ดี ก็แล้วแต่ว่าแต่ละครอบครัวจะดีไซน์ยังไง อย่างน้อยที่สุดคนทำงานที่นี่จะมีโอกาสดีไซน์ตัวเอง เวลาคนเติบโตขึ้น ทุกคนก็จะมีทางเลือกที่ดีในการดีไซน์ชีวิตตัวเอง แล้วเวลาเราพูดถึงครอบครัว เราไม่ได้มองว่า ครอบครัวมีแค่แบบเดียว ที่นี่เคารพความหลากหลายทางเพศด้วย การจัดการครอบครัวจึงขึ้นอยู่กับแต่ละคน”

“หรือสำหรับคนที่มีลูกแล้ว พื้นที่ตรงนี้ก็ไม่ได้ปิด ที่ห้องมัลติฟังก์ชันรูม ที่เอาไว้ใช้เต้นแอโรบิก เล่นโยคะ ก็มีลูกของพี่ที่ออฟฟิศมาเต้นโคฟเวอร์เกาหลีกัน

“น้องที่มาเต้น ผมก็เห็นตั้งแต่เขาเล็กๆ ออฟฟิศไม่ได้มีข้อห้ามว่าห้ามมาใช้งานเสาร์-อาทิตย์นะ เราไม่ตั้งกฎอะไรหยุมหยิมหรอก เวลาปิดเทอม น้องๆ ก็มาใช้ชีวิต มานั่งเรียนรู้ เวลาทำรายงานก็มีพี่ๆ นักวิจัยเป็นที่ปรึกษาให้ด้วย เขาเป็นลูกเป็นหลานของคนทั้งออฟฟิศ

“ผมคิดว่า Happy Family ของเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของออฟฟิศด้วย เราเห็นน้องเขาเติบโต แล้วก็มาใช้พื้นที่ร่วมกับเรา เราเห็นพื้นที่ของเรามีชีวิตชีวาแบบนั้น”

ห้องมัลติฟังก์ชันรูมเอาไว้ใช้เต้นแอโรบิก เรียนโยคะ หรือแม้กระทั่งซ้อมเต้นโคฟเวอร์เกาหลี
ห้องมัลติฟังก์ชันรูมเอาไว้ใช้เต้นแอโรบิก เรียนโยคะ หรือแม้กระทั่งซ้อมเต้นโคฟเวอร์เกาหลี

นอกจากเรื่องการใช้พื้นที่ร่วมกันของคนในออฟฟิศและครอบครัวแล้ว ที่ทีดีอาร์ไอยังมีแนวคิดเรื่อง Universal Design สนับสนุนการสร้างห้องให้นมบุตร รวมถึงให้ลาคลอดได้ 90 วัน และมีสวัสดิการเบื้องต้นที่เหมาะสมสำหรับพนักงานทุกคน ทั้งนี้กฎเกณฑ์ทั้งหลายก็ไม่ได้เป็นเส้นตาย ที่ขึงขังจนคุยให้ขยับปรับกันไม่ได้

“วิธีคิดของคนที่นี่ เราพยายามไม่ตั้งกฎ แบบไหนคุยกันได้ก็คุย เราเข้าใจด้วยว่าชีวิตครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ แล้วก็ให้พื้นที่กับเรื่องพวกนี้พอสมควร ทั้งในกรณีของผู้ชายและผู้หญิง เบื้องต้นก็ตามกฎหมาย ส่วนที่เหลือเป็นเรื่องที่คุยกันได้หมดเลย”

“เราเชื่อว่าจริงๆ หลายครอบครัวที่ไม่อยากมีลูก เพราะคิดว่าการมีลูกต้องออกแรงเยอะ โดยปรกติทุกออฟฟิศอยากให้คนออกแรงเพื่องาน เพื่อ productivity ทีนี้โจทย์ของการทำงานแบบที่คาดหวังว่าคนจะออกแรงน้อยลง แล้วแบ่งแรงไปให้ครอบครัวจะทำยังไง เราคิดว่าการทำงานร่วมกันน่าจะเป็นคำตอบนะ

“เพราะสำหรับเรา การทำงานร่วมกันกับเพื่อนร่วมงาน แล้วเห็นตัวตน เห็นหัวจิตหัวใจของเขา เห็นข้อจำกัดของแต่ละบุคคล เป็นเรื่องสำคัญนะ ถ้าเกิดบอกว่า คนนี้มีลูก แล้วจะใช้เวลากับลูก เราคิดว่าคนที่เหลือถ้าเห็นเขาเป็นเพื่อน เป็นสมาชิกในคอมมิวนิตี้ของเรา เราคิดว่าทุกคนเข้าใจและพร้อมจะยื่นมือมาช่วย”

เมื่อเราถามว่าบรรยากาศออฟฟิศแบบไหนที่ทำให้คนมีความสุข ทั้งในเรื่องงานและชีวิตส่วนตัว พีระพงษ์ ตอบว่า

“บรรยากาศของออฟฟิศที่ดี คือออฟฟิศที่เห็นความสำคัญของคน เห็นคุณค่าและความหมายของคนที่อยู่ร่วมกัน และได้เติบโตไปพร้อมๆ กัน”

โก้ - พีระพงษ์ เตชะทัตตานนท์ ผู้จัดการอาวุโส ด้านงานสร้างสรรค์และสื่อสารสาธารณะ ทีดีอาร์ไอ

ทีดีอาร์ไอ

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save