fbpx

หลังจากนั้นมาของ “นวมทอง ไพรวัลย์”

ธิติ มีแต้ม เรื่องและภาพ

เช้าวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 เราทำอะไรอยู่ เราคิดอะไร

12 ปีที่แล้ว สังคมไทยอยู่ในการปกครองของคณะรัฐประหาร ที่เดือนเศษก่อนนั้นพวกเขาขับรถถังเข้ามายึดอำนาจในค่ำวันที่ 19 กันยายน 

ผู้คนไม่น้อยยินดีปรีดา ที่ท้องถนนกลายเป็นงานวันเด็ก รถถังจอดทั่วแทบทุกมุมถนนในเขตพระนคร ทหารติดอาวุธพร้อมรบยืนเฝ้าสถานการณ์ ได้รับดอกไม้ให้กำลังใจราวกับวีรบุรุษผู้พาประเทศไปสู่ความศิวิไลซ์

แต่หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมมีชายขับแท็กซี่คันโทรมๆ ที่เป็นเครื่องมือหาเลี้ยงชีพเพียงอย่างเดียวที่เขามีไปปะทะรถถังเพื่อประท้วง

หากเป็นเช่นนั้นจริง ทำไมชายคนเดียวกันถึงตัดสินใจผูกคอตายใต้สะพานลอยข้ามถนนวิภาวดีฯ หน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ พร้อมจดหมายที่เขียนด้วยลายมืออย่างบรรจงประณีต

ทำไมใจความจดหมายถึงจารึกถ้อยคำที่ขอลบคำปรามาสจากนายทหารที่เคยหล่นวาจาว่า “ไม่มีใครกล้าพลีชีพเพื่ออุดมการณ์”

ทำไมใจความจดหมายถึงจารึกถ้อยคำที่คล้ายจะอวยพรให้ตัวเองก่อนสิ้นลมหายใจว่า “ชาติหน้าเกิดมา คงไม่พบเจอการปฏิวัติอีก”

12 ปีผ่านไป ถ้าชายขับแท็กซี่กลับมาเกิดอีกรอบ แน่นอน, เขาก็ยังอยู่ในสังคมไทยที่มีการปฏิวัติ ไม่หายไปไหน

แต่อะไรคือประกายแสงจากความตายของชายขับแท็กซี่ที่ชื่อ ‘นวมทอง ไพรวัลย์’ 

ภาพเขียนบนผนังเรื่องเหตุการณ์แท็กซี่ชนรถถัง โดย กฤช เหลือลมัย ถ่ายจากผนังทางเข้ามูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป ปัจจุบันภาพดังกล่าวถูกลบไปแล้ว

นวมทอง’ ในหน้า 1 

หนังสือพิมพ์ The Nation
แทกซี่ชนรถถัง
หนังสือพิมพ์ มติชน
คดีสมชาย
หนังสือพิมพ์ กรุงเทพธุรกิจ
แทกซี่พลีชีพ
หนังสือพิมพ์ ข่าวสด
หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ

นวมทอง’ ในปูนปั้น

สุวรรณา ตาลเหล็ก นักสหภาพแรงงาน ผู้ประสานงานกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย พาย้อนไปในวันเวลาเมื่อ 12 ปีที่แล้วว่า หลังรัฐประหาร 49 เธอมาที่ท้องสนามหลวงเช่นเดียวกับคนทั่วไปที่ไม่เอารัฐประหาร

ประชาชนยังไม่ได้ถูกแต้มสี เสื้อแต่ละตัวยังมีสีที่หลากหลาย 

เธอบอกว่าวันนั้นยังไม่มี นปช. และกลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ก็ยังไม่เกิดด้วยซ้ำ

“เหมือนอัตโนมัติของคนไม่พอใจการรัฐประหาร ก้าวขาออกจากบ้านมาชุมนุม-ในนามปัจเจก”

สุวรรณา ตาลเหล็ก
สุวรรณา ตาลเหล็ก

เมื่อสุวรรณาเห็นข่าวว่ามีคนขับแท็กซี่ไปชนรถถัง และมาผูกคอตายประท้วงเพื่อรัฐประหาร วาบรู้สึกแรกของเธอยืนยันในหมู่เพื่อนฝูงว่าเธอไม่เห็นด้วยในกระทำนั้น แต่เธอเคารพในการตัดสินใจ เพราะจิตใจการต่อสู้ของแต่ละคนวัดตวงค่าเท่ากันไม่ได้

“การต่อสู้ไม่ควรเอาตัวไปเจ็บไปตาย” เธอยืนยันคำเดิม

จากนักสหภาพแรงงานที่ไม่ได้รู้จักคนขับแท็กซี่สกุล ‘ไพรวัลย์’ มาก่อน สุวรรณาเริ่มได้ยินคุณค่าของลุงนวมทองมากขึ้น ผ่านคำอธิบายจากงานรำลึกของมวลชนฝ่ายต่อต้านเผด็จการ ที่หยิบเอาชีวิตลุงนวมทองมาเป็นดั่งสัญลักษณ์ของการต่อต้านรัฐประหาร

พอเริ่มมีกิจกรรม สุวรรณารู้จักคนมากขึ้น เธอก็ได้ทำหน้าที่เป็นคนเตรียมงาน ประสานงานไปโดยปริยาย

อีก 4 ปีต่อมาจากวันตายของลุงนวมทอง กระทั่งคนเสื้อแดงก่อรูปร่างกลายเป็นคลื่นมวลชนขนาดใหญ่ในปี 2553 ที่เรียกว่า นปช. ลุงนวมทองก็ได้รับการยกระดับ จากชื่อเสียงเรียงนามที่ลอยอยู่ในอากาศ เข้ามาอยู่ในเต็นท์หลังเวทีชุมนุมบริเวณสะพานผ่านฟ้า

เธอบอกว่าช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 ที่คนเสื้อแดงทำกิจกรรมเจาะเลือดประท้วง เป็นช่วงเวลาที่ไอเดียการปั้นรูปลุงนวมทองถูกพูดจากปากคนอย่างน้อยสองคน คือ ‘ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ’ และ ‘ไม้หนึ่ง ก.กุนที’ เป็นการปั้นรูปเสมือนจริงครึ่งตัว 

“เรารับหน้าที่ดูแลคนที่เข้ามาช่วยกันปั้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนเสื้อแดงที่เป็นช่างปั้นอยู่แล้ว พอพวกเขาปั้นเสร็จ ป้าบุญชู ไพรวัลย์ ภรรยาลุงนวมทองก็มาที่เต็นท์ เพื่อดูว่าประติมากรรมรูปลุงเหมือนตัวจริงไหม วันนั้นป้าบุญชูค่อนข้างพูดน้อย แต่แกพยักหน้าว่าเหมือน และเอาพวงมาลัยคล้องรูปปั้น เสร็จแล้วป้าแกก็กลับไปตั้งแต่ดินยังไม่แห้งดีด้วยซ้ำ”

ผ่านลมผ่านแดดจนแบบแห้ง บรรดาช่างปั้นเสื้อแดงก็เอาเลือดที่คนเสื้อแดงเจาะเหลือไว้ มาผสมกับซีเมนต์ขาวและทราย กวนในกระบะปูนให้เข้าเป็นเนื้อเดียวกัน ก่อนจะเอาไปเทในแบบดินที่ปั้นรอไว้ พวกเขาเรียกรูปปั้นลุงนวมทองว่า ‘ปฏิมาเลือด’

“คืนวันที่ 10 เมษายน หลังจากที่ทหารเข้าสลายการชุมนุมที่ถนนราชดำเนิน และมีคนตาย รูปปั้นลุงนวมทองถูกยกมาตั้งไว้ข้างศพคนเสื้อแดง”

นายทอง ไพรวัลย์

ข้อความบนฐานรูปปั้นสลักคำไว้ว่า ‘ประชาทิพย์ พิทักษ์ไทย’ แม้โดยข้อเท็จจริงรูปปั้นไม่อาจพิทักษ์ชีวิตของร่างไร้ลมหายใจที่นอนอยู่ข้างๆ ได้ แต่คนเสื้อแดงที่ยังมีลมหายใจอยู่ ก็จัดพวกเขาให้ไปอยู่ร่วมกับลุงนวมทอง ในความหมายของผู้พิทักษ์ประชาธิปไตย

จากวันนั้น สุวรรณาย้ายตัวเองตามมวลชนมาปักหลักชุมนุมต่อที่สี่แยกราชประสงค์ รูปปั้นลุงนวมทองก็ถูกย้ายตามมา แต่สถานการณ์ของ ‘เขตใช้กระสุนจริง’ ในเดือนพฤษภาคม ทำให้เธอไม่เห็นรูปปั้นว่าหายไปไหนแล้ว 

หลังจากค่าย นปช. แตก คนเสื้อแดงบาดเจ็บล้มตาย คนที่รอดคมกระสุนหนีตายกระจัดกระจาย สุวรรณาเองก็เลือกกลับบ้าน 

พอสถานการณ์คลี่คลาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ถูกยกเลิก และอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในฐานะนายกรัฐมนตรี ตัดสินใจยุบสภาในวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 เธอกับนักกิจกรรมฝั่งประชาธิปไตยจึงเริ่มตามหารูปปั้นลุงนวมทองอีกครั้ง

“เรามีเพื่อนเป็นเทศกิจของ กทม. ก็ฝากให้เขาช่วยตามหาว่ารูปปั้นลุงนวมทองหายไปไหน จนมารู้ว่าทหารเอาไปเก็บไว้ในกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) เพราะเป็นสถานที่บัญชาการของศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) แต่พอได้ยินว่าอยู่ในนั้น เราก็ถามตัวเองว่ากูจะไปตามหายังไงในราบ 11″

สุวรรณาบอกว่า พอรู้ว่ารูปปั้นลุงนวมทองอยู่ในราบ 11 แน่นอน คนที่ไปรับกลับมาคือ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และอาจารย์หวาน สุดา รังกุพันธุ์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ รับกลับมาในวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเจอน้ำท่วมใหญ่พอดี

“พอได้รูปปั้นกลับมา ไม้หนึ่ง ก.กุนที ก็ให้กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตยเป็นคนดูแลเก็บรักษา และเอาไปทำกิจกรรมต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน”

12 ปีผ่าน สุวรรณาผู้ดูแลรูปปั้นเห็นเรื่องเล่าของลุงนวมทองเปลี่ยนแปลงอย่างไร ท่ามกลางการรำลึกถึงวีรชนที่ตกตายไปก่อนหน้านั้นเป็นสิบเป็นร้อย 

เธอสะท้อนว่า ในสถานการณ์ที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ท้ายที่สุดเรื่องลุงนวมจะถูกลืม 

“ไม่ว่าใครจะพูดถึงลุงนวมทองแบบไหน ทั้งบอกว่าแกเป็นคนสติไม่ดี หรือบูชาแกในฐานะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ก็ตาม แต่ในจดหมายที่แกเขียนทิ้งไว้ก่อนตายนั้นแจ่มชัดในหลักการประชาธิปไตย แม้เราจะไม่เห็นด้วยกับการตายของแก แต่ในจดหมายเราเห็นด้วยทุกบรรทัด” สุวรรณาทิ้งท้าย

นวมทอง’ ในบทกวี

วันที่นวมทองสละลมหายใจ ดานุชัช บุญอรัญ กวีหนุ่มที่เพิ่งรับรางวัลชนะเลิศบทกวีประชาชน Free Write Award ครั้งที่ 3 ในงาน 42 ปี 6 ตุลา 2519 ที่ ม.ธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคมที่ผ่านมา เขาเพิ่งอายุได้ 10 ขวบ

เขามีแม่เป็นครูภาษาไทย สมัยเด็กๆ ที่บ้านดานุชัช เต็มไปด้วยหนังสือกลอน เขาเขียนกลอนเล่าเรื่องชีวิตตัวเอง และแต่งถึงเพื่อนในห้องเรียนบ้าง 

“ผมแค่เขียนกลอน ผมไม่เคยรู้จักบทกวี แค่หาคำคล้องจองไปเท่านั้นเอง”

ดานุชัช บุญอรัญ
ดานุชัช บุญอรัญ

จากเด็กน้อย เติบโตมากับหนังสือเรียนภาษาไทยที่เต็มไปด้วยงานพระราชนิพนธ์ บทละคร

“ผมเห็นว่าในงานเหล่านี้ชอบขึ้นต้นว่า “บัดนั้น…” พระยานั่นพระยานี่ทำอะไรก็ว่าไป ตอนเด็กๆ ผมลองเขียนตามโดยเปลี่ยนชื่อตัวละครเป็นชื่อเพื่อนแทน แต่พอเขียนไปสักพัก ผมรู้สึกว่ามันจืดชืด”

เขาเล่าว่า พอสมัยมัธยม เป็นช่วงเวลาที่มีการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคนเสื้อแดง ปี 2553 ช่วงนั้นที่บึงพลาญชัย จ.ร้อยเอ็ด ที่เขาขับรถผ่านทุกวันมีคนเอาเต็นท์มาตั้ง

“ที่เต็นท์มีการขึ้นป้ายข้อความตัวใหญ่ว่า ‘ร้อยเอ็ด 24’ กับ ‘ร้อยเอ็ดรักประชาธิปไตย’ ในฐานะเด็กร้อยเอ็ด ผมแปลกใจ ก็ไปคุยกับพวกเขาดู จากนั้นโลกของผมก็เปลี่ยนไป ผมเริ่มออกไปรณรงค์กับชาวบ้าน มีทั้งเรื่องเรียกร้องให้ทหารกลับกรม-กอง คนเสื้อแดงร้อยเอ็ดก็แห่กันไปที่ค่ายทหาร กองพลทหารราบที่ 6 (พล.ร.6) ผมก็ไปด้วย” 

ดานุชัชเข้าไปคลุกคลีอยู่สักพักและซึมซับประเด็นมา เขาเริ่มเห็นความอยุติธรรมในทางการเมือง และตั้งคำถามว่าทำไมพรรคการเมืองที่ประชาชนเลือกตั้งมามากที่สุด ไม่สามารถบริหารประเทศได้ แต่อีกพรรคการเมืองที่ประชาชนไม่ได้เลือกกลับได้บริหารประเทศ 

“เป็นความรู้สึกว่าถ้าเป็นนักเรียน ก็ต้องบอกว่าทำไมครูไม่รักเลย ผมเริ่มเข้าใจว่าประเทศนี้มีระบบบางอย่างที่ซ่อนอยู่ ไม่ได้เป็นอย่างที่ตาเราเห็นทั่วไป”

เขาเล่าว่าเด็กมัธยมขาสั้นอย่างเขาก็ยังเป็นเพียงเด็กภูมิภาค พบเจอแต่ชาวบ้าน ไม่มีโอกาสได้เห็นปัญญาชนในเมือง 

“ผมซึมซับความฮึกเหิมมาเยอะ ข้อมูลหรือวิธีคิดเชิงหลักการยังน้อยมาก แต่ที่เปลี่ยนไปชัดๆ คือการเห็นโลกใหม่ของผม ทำให้ผมเลิกเขียนกลอนแบบเดิม

“หลังจากนั้นผมไม่ได้สนใจหนังสือเรียนอีกเลย ผมตั้งคำถามว่าทำไมกลอนในหนังสือเรียนถึงสร้างตัวละครฝ่ายหนึ่งให้ดูดีตลอด แต่อีกฝ่ายหนึ่งดูเลวตลอดเช่นกัน เหมือนเป็นฝ่ายเทพกับฝ่ายมาร ผมรู้สึกถูกบังคับให้รักตัวละครฝ่ายเทพ และถูกบังคับให้เกลียดฝ่ายมาร ผมสงสัยว่าจริงเหรอที่คนเราจะเป็นแบบนั้น”

จนกระทั่งดานุชัชเข้าเรียน ปี 1 เอกภาษาไทยที่ ม.ราชภัฏมหาสารคาม เขาถูกบังคับให้อ่านวรรณกรรม จนไปอ่านเจอ ‘นาฏกรรมบนลานกว้าง’ ของ ‘คมทวน คันธนู’ ซึ่งได้รางวัลบทกวีซีไรต์ปี 2526 เขารู้สึกว่าเล่มนี้ต่างจากซีไรต์เล่มอื่นๆ ที่เขาได้อ่าน 

“เขียนด่าคนก็ได้รางวัลด้วยเหรอ แต่พอผมทำความเข้าใจการเมืองไทยเพิ่ม ผมจึงรู้ว่างานชิ้นนี้เป็นสัจจะของกวี ผมจำได้ คมทวนเขียนว่า ภาระของนักเขียน ต้องอุทิศตัวเป็นวัวงาน ต้องอยู่ข้างประชาชน  เขาเขียนแบบไม่ซ่อนนัย ไม่เน้นความงามทางวรรณศิลป์ ทื่อๆ ตรงๆ แต่จริง

“เหมือนแสงอาทิตย์ตอนเที่ยงที่ส่องหน้า ไม่ว่าหน้าจะดำยังไง แต่มันจริงที่สุด” เขาเปรียบเปรย

ที่ผ่านมาเขาบอกว่าเขามีปัญหากับการขึ้นต้นเขียนกลอน ด้วยการใช้คำว่า ท้องฟ้า สายลม ทุ่งหญ้า แสงแดด เหมือนถูกขังความคิดมาแบบนั้น

“แต่พอมาคิดใหม่ว่าถ้าตั้งต้นแบบนั้นมันเปลืองเวลา วรรณกรรมไม่ได้อยู่แค่ในหน้ากระดาษแล้ว แต่เข้ามาอยู่ในโทรศัพท์มือถือ ผมคิดว่าเราควรเขียนให้เข้าเป้าที่สุด ไวที่สุด และต้องจริงที่สุด”

คำว่า ‘จริงที่สุด’ กวีหนุ่มมาตกผลึกเอาเมื่อครั้งที่ได้ยินชื่อ ‘นวมทอง’ ครั้งแรก ตอนณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ พูดบนเวทีคนเสื้อแดง ปี 2553

“ผมรับรู้แค่ว่าลุงคนขับแท็กซี่ผูกคอตายเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร แม้ผมจะเชียร์คนเสื้อแดง แต่ก็ยังไม่ได้เข้าใจว่ารัฐประหารเป็นอย่างไร พอผมเข้าใจสิ่งที่ลุงนวมทองทำ โลกของผมก็เปลี่ยนครั้งใหญ่อีกครั้ง ผมตั้งคำถามกับระบบไปอีกขั้น รวมทั้งตั้งคำถามกับคนเสื้อแดง และตัวผมเองด้วย เรื่องของลุงนวมทองพาผมไปเจอกับความเลวร้ายของการรัฐประหาร พอไปรีเสิร์ชดูก็พบว่ารัฐประหารในประเทศนี้มีมาตลอดก่อนผมเกิดเลย”

เขาบอกว่า ในห้วงวิกฤตความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เขาเกิดมา ลุงนวมทองเป็นคนเดียวที่มุ่งมั่นไปสู่ความตายเพื่อการต่อต้าน คนอื่นที่ไม่เอาเผด็จการก็กล้าหาญ แต่ไม่ได้ตั้งใจไปตายแบบลุงนวมทอง

“ลุงนวมทองทำให้ผมคิดว่าอะไรสำคัญที่สุดในชีวิต อะไรทำให้คนคนหนึ่งถึงเอาชีวิตที่มีค่าที่สุดไปแลกมา จากนั้นผมเพิ่งมารู้สึกว่าชีวิตที่ดีคือชีวิตที่มีประชาธิปไตย คนในหมู่บ้านผมซึ่งอยู่ติดแม่น้ำชี จะบอกว่าประชาธิปไตยคือการมีกินและสามารถไปเรียกร้องได้ว่าเราต้องการอะไร นี่คือความจริงที่สุดที่ผมรู้สึกได้”

ดานุชัชรู้สึกว่าความตายของลุงนวมทองเงียบเกินไป แม้แต่การรำลึกก็เป็นการรำลึกที่เงียบเบา เขาไม่ได้คิดถึงลุงนวมทองเพียงแค่สัญลักษณ์ของการต่อสู้ 

“ในอนาคตวันที่ประเทศไทยมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง และอาจจะมีการสร้างหอเกียรติยศให้ลุงนวมทอง ผมคิดว่าแกไม่ควรไปอยู่แค่ในหอนั้น ผมคิดว่าลุงควรอยู่แม้แต่ในนิทาน คำพังเพย และในชีวิตประจำวันด้วยซ้ำ เพื่อให้เด็กเข้าใจว่าสังคมแบบไหนที่ไม่ควรมีใครต้องตายแบบลุงนวมทองอีก”

12 ปีก่อน เด็กอายุ 10 ขวบอย่างดานุชัช ตื่นขึ้นมาในช่วงเวลาการปฏิวัติ 19 กันยายน 2549 เขาเล่าว่าพอตื่นเช้ามา แม่บอกว่าไม่ต้องไปโรงเรียน 

“ผมได้ยินผู้ใหญ่ละแวกบ้านคุยกันว่ามีการปฏิวัติยึดประเทศ ในฐานะเด็ก 10 ขวบ ผมรู้สึกว่าเท่ว่ะ การยึดประเทศ จนถึงปัจจุบันผมเข้าใจว่าการรัฐประหารไม่ใช่ของหายากในประเทศนี้อีกต่อไป”

“เหมือนของแบกับดิน เดินไปที่ไหนก็เจอ” ดานุชัชเปรียบเปรย 

ไม่มีใครรู้ว่าถ้าลุงนวมทองกลับมาเกิดจริงๆ เราจะต้องเห็นข่าวคนผูกคอตายประท้วงกันอีกกี่ครั้ง.

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save