fbpx
ระบบภาษีไทยต้องแข่งขันได้ ง่าย ไม่ซ้ำซ้อน และไม่ซับซ้อน - กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

ระบบภาษีไทยต้องแข่งขันได้ ง่าย ไม่ซ้ำซ้อน และไม่ซับซ้อน – กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

สมคิด พุทธศรี เรื่อง

คิริเมขล์ บุญรมย์ ภาพ

“หนึ่งที่ปรึกษาด้านภาษีที่เก่งที่สุดของประเทศไทย”

นี่คือประโยคที่ผู้สนใจความรู้ด้านภาษีใช้ เมื่อเอ่ยถึง ศาสตราจารย์พิเศษกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงษ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจชื่อดังของประเทศ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ความเชี่ยวชาญด้านภาษีอากรในประเทศไทยทำให้กิติพงศ์มีประสบการณ์การทำงานให้กับบริษัทข้ามชาติทั้งไทยและเทศมาอย่างยาวนาน จนทำให้เขาได้รับการยอมรับอย่างสูงในระดับนานาชาติด้วย

นอกจากภาคเอกชน กิติพงศ์ยังมีบทบาททางสาธารณะอย่างน่าสนใจ อาทิ การเขียนหนังสือความรู้ว่าด้วยภาษี การเป็นอาจารย์พิเศษให้กับสถาบันหลายแห่ง รวมไปถึงการเคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สนช.) โดยเป็นหนึ่งในคณะกรรมการปฏิรูปภาษี

“ผมไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์” นี่คือคำพูดที่เขาย้ำอยู่หลายครั้งระหว่างนั่งสนทนากับ 101 ในหัวข้อว่าด้วยการปฏิรูปภาษี แม้ไม่ได้บอกโดยตรง แต่คงไม่เกินเลยไปนักหากจะสรุปว่า เขามีข้อคิดเห็นหลายประการที่อาจไม่ตรงกับนักเศรษฐศาสตร์นัก

จากนี้ไป คือความคิดและข้อเสนอด้านการปฏิรูปภาษี จาก “หนึ่งในที่ปรึกษาด้านภาษีที่เก่งที่สุดของประเทศไทย” ผู้มีประสบการณ์ทำงานในภาคเอกชนและบริษัทยักษ์ใหญ่มาอย่างยาวนาน

กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

คุณตีโจทย์การปฏิรูปภาษีไทยอย่างไร

ภาษีไทยต้องรื้อและปรับโครงสร้างใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีเงินได้ ทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา ซึ่งไม่เคยมีการปรับใหญ่เลย ที่ผ่านมา มันเหมือนการปรับโครงสร้างแบบปะผุ ออกพระราชกฤษฎีกาลดหย่อนเป็นจุดๆ แต่ไม่มีการแก้ไขโครงสร้างใหญ่อย่างเป็นระบบ เช่น อัตราภาษี การหักรายจ่าย ค่าลดหย่อนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันไม่สะท้อนความเป็นจริงทางเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ เรามีภาษีอยู่หลายตัวที่ยังปรับปรุงได้ เช่น ภาษีสรรพสามิต ซึ่งเป็นเรื่องของการบริโภค เมื่อไม่นานมานี้เราปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตไปแล้วรอบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังมีบางเรื่องไม่ควรถูกเก็บภาษีสรรพสามิต เช่น โทรคมนาคม แต่ก็ยังเก็บ ซึ่งเป็นการใช้ภาษีสรรพสามิตอย่างผิดวัตถุประสงค์ แต่โดยรวมก็ถือว่าดี

ภาษีศุลกากรก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญกับภาคเอกชน แต่ประเด็นนี้ก็มีความสำคัญน้อยลงไปเรื่อยๆ เพราะการเปิดการค้าเสรี (Free trade area)

คุณมีประสบการณ์ในการให้คำปรึกษาด้านการจัดการภาษีมาอย่างยาวนาน ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามีอะไรที่ต้องปรับบ้าง

เวลาพูดถึงเรื่องปรับโครงสร้างภาษี มีเรื่องที่ต้องดูสองเรื่อง หนึ่งโครงสร้างภาษีของไทยแข่งขันได้ไหมกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค สองโครงสร้างภาษีของไทยเป็นธรรมไหม

ในมุมมองของผม อัตราภาษีควรต่ำกว่านี้ ปัจจุบันอัตราที่เก็บอยู่สูงเกินไป สิงคโปร์อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสูงสุด (top rate) แค่ 20% เอง แต่ของไทยอยู่ที่ 35% อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังถกเถียงกันได้ว่าอัตราที่เหมาะสมควรจะเป็นเท่าไหร่

นอกจากนี้ค่าลดหย่อนที่สามารถหักได้ ก็ไมได้สะท้อนความเป็นจริงของเงินเฟ้อที่มีมาตั้งนาน อย่างเช่นให้หักค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน 40% ไม่เกิน 60,000 หรือ 120,000 ตอนนี้ จะเห็นว่ากฎหมายออกมาแล้วหลายสิบปี แต่ค่าลดหย่อนเหล่านี้ไม่มีการเปลี่ยนแปลงตามอัตราเงินเฟ้อเลย

บางคนอาจบอกว่า ที่ผ่านมารัฐก็ให้มีการหักค่าลดหย่อนเพิ่มขึ้นหลายประเภท แล้วแต่ว่าขึ้นอยู่กับนโยบายรัฐบาลไหน เช่น กองทุนรวม LTF RMF หรือบางทีอยากกระตุ้นเศรษฐกิจก็ใช้นโยบายแบบช็อปช่วยชาติ แต่นั่นเป็นการใช้นโยบายภาษีที่ผิดเรื่อง

อีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญคือ ระบบระบบภาษีเงินได้ของไทยเอื้อให้คนที่มีสตางค์สามารถบริหารภาษีได้ เช่น ตั้งบริษัทรับเงินแทนตัวเอง หรือคนมีธุรกิจหรือเป็นเจ้าของกิจการก็สามารถตั้งบริษัทเพื่อลดภาษีลงได้ เพราะการลดหย่อนภาษีของนิติบุคคลมีข้อจำกัดน้อย ซึ่งต่างกับบุคคลธรรมดา คำถามคือ จะทำอย่างไรให้มันเกิดความเป็นธรรม

ปกติเวลามองภาษีเงินได้บุคคลธรรมกับภาษีเงินได้นิติบุคคล คนมักจะมองแยกออกจากกัน ถ้ามองเชื่อมโยงกันอย่างนี้ข้อเสนอในการปฏิรูปคืออะไร

ในความเห็นของผม อย่างแรกต้องลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้เท่ากับบริษัทก่อน ซึ่งอาจต่างจากนักนักเศรษฐศาสตร์ที่มองว่าอัตราภาษีต้องไม่สูงมาก เพื่อไม่ให้เกิดการบิดเบือน (distortion) ระหว่างนิติบุคคลกับบุคคลธรรมดา แต่สำหรับผม ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือบริษัท ผมถือว่าเป็นหน่วยทางสังคมที่ต้องสร้างรายได้ให้กับประเทศ และระบบภาษีของเรามันมีช่องให้เงินได้ทั้งสองแบบถูกบริหารจัดการได้ ซึ่งต้องแก้

ยกตัวอย่างเช่น ในสิงคโปร์อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลอยู่ที่ 17.5% ส่วนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาอยู่ที่ 20% ซึ่งแทบไม่ต่างกันเลย แต่ของเราช่องว่างตรงนี้ต่างกันมาก ถ้าอัตราสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยลดลงมาเหลือ 25% และมีการออกแบบการลดหย่อนที่สะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น คนก็ไม่ตั้งบริษัทมารับเงินแล้ว ซึ่งจะทำให้การเก็บภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างที่สอง คือการออกมาตรการให้คนไทยทุกคนต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งผมเสนอไปตั้งแต่เป็นสมาชิกสมัชชาปฏิรูปแห่งชาติว่า คนไทยทุกคนมีหน้าที่ต้องยื่นแบบภาษี ซึ่งการยื่นแบบนี้อาจไม่จำเป็นต้องเสียภาษีก็ได้ ประเด็นคือ เราต้องมีบันทึกว่าทุกคนที่ทำงานในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติ ซึ่งมีอยู่ประมาณ 35 ล้านคน มีรายได้เท่าไหร่ แต่เชื่อไหมว่าเราแทบไม่มีข้อมูลตรงนี้เลย

ถ้าดูข้อมูลจากกรมสรรพากร ข้อมูลล่าสุดมีคนยื่นแบบแสดงภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (ภงด. 90/91) ประมาณ 10-13 ล้านคน แต่ที่เสียภาษีจริงๆ มีประมาณ 3 ล้านคน ที่เหลือได้คืนหมด หรือไม่ก็อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เสียภาษี คนที่เสียภาษีในอัตราสูงสุด (top rate) มีแค่ 2-3 หมื่นรายเท่านั้น ข้อมูลแบบนี้แสดงว่ามันมีบางอย่างผิดปกติ เราพอจะคาดการณ์ได้เลยว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่มีเงินได้ แต่ไม่ถูกนำมาคำนวณภาษี ซึ่งนี่เป็นสาเหุตส่วนหนึ่งทำให้เรามีข้อมูลไม่เพียงพอว่าเราจะปฏิรูปภาษีและขับเคลื่อนประเทศยังไง

เราจำเป็นต้องทบทวนโครงสร้างภาษีใหม่ทั้งหมด ตั้งแต่เริ่มเลยด้วยซ้ำว่าการแบ่งเงินได้เป็น 8 ประเภทแบบที่ทำกันอยู่นั้นจำเป็นหรือเปล่า แล้วค่อยมาไล่ดูกันว่าจะออกแบบระบบภาษีอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ เป็นธรรม ไม่ซ้ำซ้อน และไม่ซับซ้อน ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ ขั้นตอนการคำนวณและการยื่นภาษีจะต้องง่ายที่สุด

 

การเอาสิงคโปร์มาเป็นตัวอ้างอิงเหมาะกับไทยจริงหรือ เพราะสิงค์โปร์มีโครงสร้างเศรษฐกิจและนโยบายที่เฉพาะมาก 

ผมอยากให้โครงสร้างภาษีของไทยเป็นแบบสิงคโปร์ หรือฮ่องกง เพราะผมต้องการให้คนอยู่ในระบบภาษีมากขึ้น เพื่อเฉลี่ยกันจ่าย คิดง่ายๆ ข้อมูลที่มีอยู่ชี้ว่า บริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยที่เสียภาษีมีประมาณ 400,000 บริษัท แต่แค่ 600 บริษัทมีส่วนในการจ่ายคิดเป็นประมาณ 30-40% ของภาษีเงินได้นิติบุคคลทั้งหมด ถ้าให้บริษัทนิติบุคคลในประเทศไทยเสียภาษีเพิ่มอีกบริษัทละ 1 หมื่นบาท เราก็มีเงินเพิ่มปีละ 400,000 ล้านบาท

ปัญหาใหญ่ของไทยคือเรายังเก็บภาษีได้ไม่มีประสิทธิภาพ ทุกวันนี้กรมสรรพากรก็จับตาแต่บริษัทใหญ่ๆ ถ้าปรับโครงสร้างใหญ่ต้องมีการรื้อ ใครอยู่ใต้ดินต้องเอาขึ้นมาให้หมด เมื่อปี 2559 สรรพากรเพิ่งออกนโยบายนิรโทษกรรมให้กับคนเลี่ยงภาษีเพื่อให้กลับเข้ามาอยู่ในระบบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ แม้จะมีนโยบายนิรโทษกรรมแล้ว แต่เราก็ยังเก็บภาษีเพิ่มขึ้นไม่ได้

ที่เป็นแบบนี้เพราะวิธีคิดของคนไทยไม่ได้เปลี่ยนเลย ตอนที่มีนโยบายนิรโทษกรรม คนจำนวนหนึ่งก็จะบอกว่าถูกหลอกให้ไปเข้าระบบ ถ้าเข้าไปแล้วจะโดนตรวจสอบ เรื่องนี้สะท้อนว่า คนยังพยายามเลี่ยงภาษีอยู่ ทั้งที่จริงแล้วคุณไม่ต้องกลัว ถ้าคุณเสียให้ถูกต้อง คุณก็ไม่ต้องห่วงว่าใครจะมาไถเงินคุณ แต่วันนี้คุณเสียไม่ถูกใช่ไหม ถึงต้องหลบเลี่ยง ระแวง

แต่คนจะยังถามอยู่ดีว่า การให้น้ำหนักกับโครงสร้างภาษีที่แข่งขันได้มันตอบโจทย์สังคมไทยจริงหรือ 

มันเป็นโจทย์ที่เราหลีกเลี่ยงได้ยาก ผมยกตัวอย่างลูกค้าของผม ซึ่งเป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ ในปีหนึ่งๆ เขากำไรหลายหมื่นล้านบาท ถ้าภาษีของไทยแพง เขาไม่จดทะเบียนในประเทศไทย ย้ายบริษัทไปอยู่ที่บริษัทสิงคโปร์ ลงรายได้ส่วนใหญ่ในระบบสิงคโปร์ ส่วนประเทศไทยลงทะเบียนไว้เป็นแค่แหล่งรับจ้างผลิตอย่างเดียว (Origianl Equipment Manufacturer: OEM) ซึ่งธุรกิจแบบนี้มีส่วนต่างกำไรแค่ 5% เท่านั้น เขาก็เสียภาษีในประเทศไทยแค่กำไรส่วนนี้ ในขณะที่ธุรกิจค้าปลีก (retial) ซึ่งกำไรเยอะกว่า สมมติ 20% ก็เอาไปบันทึกที่สิงคโปร์หมด เท่านี้ก็ประหยัดตังค์ไปปีหนึ่งหลายพันล้านบาท ดังนั้น ถ้าประเทศไทยไม่แข่ง รายได้ตรงนี้ก็หายไปเฉยๆ

หลายคนชอบพูดเรื่องความเป็นธรรม แต่ถามว่าบริษัทใหญ่ที่มีทรัพยากรเขาสามารถบริหารจัดการภาษีได้ และเสียภาษีอยู่ที่อัตรา 15-20% เท่านั้น ขณะที่คนไทยต้องเสียแพงกว่าเขา แบบนี้เป็นธรรมไหม

แรงจูงใจหนึ่งที่จะทำให้คนยอมเสียภาษีคือ อัตราภาษีต้องไม่แพงมาก เพราะวันนี้คนสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนไปที่ไหนก็ได้ ย้ายบริษัทก็ได้ ในต่างประเทศการควบรวมกิจการมันมีโจทย์ข้อหนึ่งเลยว่าทำเพื่อผลประโยชน์ทางภาษี (tax benefit) ในระดับโลกก็มีการตั้งคำถามว่า ทำไมบริษัท Apple ไปอยู่ที่ไอร์แลนด์ แม้จะถูกวิจารณ์ แต่ถ้าถามว่าเขาทำผิดไหม ในกรอบกฎหมายต้องบอกว่าไม่ผิด

โจทย์ด้านความเป็นธรรมไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่การจะสร้างความเป็นธรรม ต้องทำให้คนมาอยู่ในระบบเดียวกันให้ได้ก่อน การเพิ่มฐานภาษีจึงมีความสำคัญ ถ้าโครงสร้างภาษีเราแข่งขันไม่ได้ และไม่มีประสิทธิภาพ คนจำนวนมากก็จะหลุดออกจากฐานภาษีไป

นักเศรษฐศาสตร์บางกลุ่มก็วิจารณ์ว่า การลดภาษีเป็นการแข่งกันวิ่งลงเหว (race to the bottom) ในอนาคตถ้าเพื่อนบ้านลดภาษีลงอีก เราก็ต้องลดอีก จุดสิ้นสุดมันจะอยู่ตรงไหน

ถ้าคุณไปดูประวัติศาสตร์จะเห็นว่า ในช่วงหลังมานี้ไม่มีใครลดอัตราภาษีแล้ว มีแต่ประเทศที่อัตราภาษียังสูงมากที่ถูกกดดันให้ลด อย่างไรก็ตาม ถึงที่สุดแล้วนโยบายภาษีในภาพรวมมันแยกไม่ออกจากนโยบายการคลัง ถ้าไม่มีเหตุผลที่จำเป็นจริงๆ ประเทศที่ลดภาษีคงน้อยมากแล้ว ระดับ 20% นี่ผมคิดว่าเป็นอัตราที่ต่ำสุดแล้ว

ในอดีตภาษีเงินได้ของไทยเคยสูงถึง 50% แล้วก็ลดลงมาเหลือ 35% ผมว่ายังลดได้อีก แต่ถ้าเหลือ 20% ผมก็คิดว่ามันต่ำกว่านี้ไม่ได้แล้ว

ในอีกด้านหนึ่ง หากใครที่ติดตามความคิดคุณจะทราบดีว่า คุณเสนอให้มีการทบทวนบีโอไอ หากมองเรื่องการแข่งขันกับประเทศอื่นในภูมิภาคเป็นตัวตั้ง ทำไมบีโอไอจึงไม่ตอบโจทย์

ถ้าเป็นเมื่อ 40 ปีที่แล้ว ผมเห็นด้วยว่าต้องยกเว้นภาษีให้นักลงทุนต่างประเทศ แต่ทุกวันนี้สถานการณ์เปลี่ยนไปหมดแล้ว รัฐบาลควรมีการออกแบบมาตรการสักหน่อยว่า บริษัทและการลงทุนแบบไหนบ้างที่ควรจะได้รับการส่งเสริม ไม่ใช่เหวี่ยงแหกว้างๆ แบบที่ทำมา

อันที่จริง นักลุงทุนต่างชาติถ้าเขาเสียภาษีที่บ้านเรา เขาเอาไปเป็นเครดิตภาษีที่บ้านเขาได้อยู่แล้ว โลกทุกวันนี้จะบอกว่าไม่เสียภาษีเลย เป็นไปไม่ได้ เพียงแต่ประเทศไหนจะเก็บภาษีก่อน และจะเก็บอย่างไรเท่านั้นแหละ

การยกเว้นภาษีบรรษัทข้ามชาติผ่านบีโอไอทำให้ประเทศไทยสูญเสียรายได้ไปไม่น้อย แค่เราเก็บ 5-10% ก็เป็นเงินมหาศาลแล้ว ผมเสนอให้เอาเงินตรงนี้มาใช้ลงทุนเรื่องสิ่งแวดล้อม หรือการทำวิจัยและพัฒนาโดยตรงไปเลย แล้วก็ไม่ต้องเก็บภาษีสิ่งแวดล้อมให้ซ้ำซ้อนไปอีก

กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

 

ทำอย่างไรคนจึงจะเข้ามาอยู่ในระบบ และมองเห็นว่าการเสียภาษีเป็นหน้าที่

อย่างที่พูดไปแล้วว่า การทำระบบภาษีให้ง่าย ต้นทุนต่ำ และซับซ้อนน้อยที่สุด เป็นหัวใจสำคัญ ระบบที่ง่ายคือใส่ข้อมูลเข้าไป แล้วโปรแกรมคำนวณให้อัตโนมัติ ยื่นเข้าระบบ ไม่ต้องติดต่อเจ้าหน้าที่ การติดต่อเจ้าหน้าที่เอาแค่รายใหญ่ๆ เท่านั้น ผมว่าเรื่องพวกนี้รัฐทำได้ ถ้าปฏิรูปเพียงโครงสร้างกฎหมายอย่างเดียว แต่ไม่มีโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ด้านภาษี ก็ไม่มีประโยชน์

นอกจากนี้ ในหลายประเทศก็มีนโยบายที่ช่วยเพิ่มแรงจูงใจที่น่าสนใจ ตัวอย่างหนึ่งที่ผมคิดว่าถูกจริตคนไทยคือ การชิงโชค ที่ให้นำเอาใบเสร็จไปร่วมชิงโชคได้ อีกแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจคือ การให้แรงจูงใจด้วยการกันเงินส่วนหนึ่งของภาษีไปเป็นกองทุนผู้สูงอายุ หรือสวัสดิการรักษาโรค แล้วคนที่เสียภาษีก็มีสิทธิที่จะได้สิทธิประโยชน์จากกองทุนเหล่านี้ ถ้าสร้างวัฒนธรรมแบบนี้การเสียภาษีจะเป็นเรื่องปกติ ในหลายประเทศคนยินดีที่จะเสียภาษี เพราะเขารู้ว่าภาษีนั้นได้เปลี่ยนไปเป็นสวัสดิการที่ดี

ในประเทศไทยต้องยอมรับว่า ทุกวันนี้คนไม่ได้ไว้ใจรัฐ 100 % คนไม่เชื่อมั่นว่าภาษีที่จ่ายไปจะไม่ถูกเอาไปใช้แบบบิดเบือน ปฏิเสธไม่ได้ว่า ความไม่เชื่อมั่นในระบบราชการมันสูงมากในทุกรัฐบาล ถ้าเราสามารถทำให้โปร่งใสได้ น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้มาก ผมเคยเสนอให้มีหน่วยงานทางภาษี (tax agency) ที่เป็นอิสระจากรัฐบาล คอยทำหน้าที่ตรวจสอบและสามารถแจกจ่ายภาษีที่เก็บมาได้ไปทุกภาคส่วน เช่น ส่งเสริมเรื่องการศึกษา ส่งเสริมบุคลากรผู้สูงวัย เป็นต้น

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนส่วนใหญ่ไม่อยู่ในระบบภาษี เป็นเพราะว่าสภาพเศรษฐกิจจริงของไทยเป็นเศรษฐกิจนอกระบบเป็นส่วนใหญ่ ต้องจัดการตรงนี้อย่างไร

เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น เศรษฐกิจนอกระบบ เช่น ขายของริมถนน มอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่ ถ้ามีการจ่ายเงินด้วยคิวอาร์โค้ด (QR Code) ก็สามารถเก็บข้อมูลได้ แต่ต้องมีการออกแบบให้ดี ต้องสื่อสารให้เข้าใจว่า การเข้ามาอยู่ในระบบไม่ใช่เรื่องของการเสียภาษีอย่างเดียว ถ้ารายได้ไม่ถึงเกณฑ์ก็ไม่ต้องเสีย หรือถ้าจะใช้มาตรการแรงกว่านั้นคือ บอกเลยว่าถ้าเข้ามาอยู่ในระบบจะยังไม่ถูกเก็บภาษี หรือไม่ก็ต้องทำให้เขาเห็นว่า ถ้าเขาเข้ามาอยู่ในระบบ การได้รับสวัสดิการบางอย่างจากรัฐก็จะง่ายขึ้น

หัวใจสำคัญคือข้อมูล เทคโนโลยีจะช่วยให้การเก็บข้อมูลเป็นไปได้ง่ายขึ้น และถ้าคุณมีข้อมูลในระบบครบ ในที่สุดเศรษฐกิจนอกระบบต่างๆ ก็จะค่อยๆ หายไปเรื่อยๆ

ภาษีมูลค่าเพิ่มของไทย (VAT) มีอะไรที่ต้องปรับไหม

โดยหลักการ ประเทศไทยควรต้องเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า คนที่มีรายได้น้อยจะเดือดร้อน อันที่จริงการเก็บ VAT กระทบหมดทุกคนไม่ว่าจนหรือรวย เพราะทุกคนบริโภคหมด แต่โดยสัดส่วนภาระภาษีเมื่อเทียบกับรายได้แล้ว มักจะกระทบคนรายได้น้อยมากกว่า

ผมมีข้อเสนอในการเก็บ VAT ว่าให้รัฐโอนเงินอุดหนุนเข้าบัญชีผู้มีรายได้น้อยโดยตรงเลย เช่น สมมติถ้าเงินเดือน 15,000 บาท ก็ให้รัฐโอนเงินเข้าบัญชีเพิ่ม 7% และให้มีการเครดิตทุกครั้ง ห้ามเอาไปใช้อย่างอื่น และถ้าขึ้น Vat 3% ก็โอนเพิ่มขึ้น จนกระทั่งรายได้ถึงระดับหนึ่งค่อยเลิกให้

แต่ไม่ได้จบแค่นั้น ด้วยวิธีการนี้ เราจะสามารถบันทึกได้ว่า แต่ละคนเสีย VAT เท่าไหร่ ก็สามารถสะสมให้ไปเรื่อยๆ ซึ่งเงินส่วนนี้สามารถกันบางส่วนเข้าไปในกองทุนคนชราแล้วจ่ายคืนเป็นสวัสดิการเมื่อเกษียนอายุ วิธีการนี้จะทำให้คนมีแรงจูงใจในการขอใบกำกับภาษีด้วย ในแง่นี้ ทุกคนก็จะเข้ามาอยู่ในระบบภาษีด้วย

คุณเคยเสนอเรื่องการยกเว้นภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยบางประเภทเพื่อให้เป็นธรรม ยังคิดเหมือนเดิมไหม

ภาษีศุลกากรเป็นภาษีที่ลดความสำคัญลงไปเรื่อยๆ เพราะการค้าระหว่างประเทศเปิดเสรีมากขึ้น ผมยกตัวอย่างง่ายๆ เรารู้กันว่า ในประเทศภาษีไวน์ประมาณ 300% ซึ่งรวมตั้งแต่ภาษีศุลกากร สรรพสามิต และภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นคุณไม่ต้องแปลกใจที่จะไม่เห็นไวน์แพงในประเทศ แต่ขายตามดิวตี้ฟรีชายแดนเป็นหลัก ถามว่าเป็นแบบนี้รัฐบาลได้อะไรไหม ไม่ได้สักบาท

ถ้ารัฐบาลส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็น ‘shopping paradise’ ซึ่งเรามีศักยภาพที่จะเป็นแบบนั้น เอาไวน์ไปไว้ตามแหล่งท่องเที่ยว คนกินไวน์มีกำลังจ่ายอยู่แล้ว สมมติถ้าเก็บภาษีไวน์แบบสิงค์โปร์ 10 เหรียญต่อขวด ไม่ว่าไวน์จะถูกหรือแพงแค่ไหน สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือรัฐได้ภาษีศุลกากร สรรพสามิต ครบถ้วน โรงแรมขายของก็ได้ภาษีมูลค่าเพิ่ม

สินค้าอื่นๆ ก็แบบเดียวกัน ทุกวันนี้คนซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมที่ไหน เมืองนอกทั้งนั้น ผมเคยพูดติดตลกว่า ถ้าเมื่อไหร่คุณทำให้ Gucci เมืองไทยเท่าฝรั่งเศสได้ ต่ำกว่าฮ่องกงได้ เมืองไทยเป็นสวรรค์เลย

กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์

คุณเป็นหนึ่งในคนที่สนับสนุนให้มีการเก็บภาษีจากกำไรส่วนต่างของการซื้อขายหลักทรัพย์ (capital gain tax) ซึ่งเป็นข้อเสนอที่แหลมคม และเป็นที่ถกเถียงกันมาก ทำไมคุณจึงสนับสนุนเรื่องนี้

เพราะมีคนได้ประโยชน์เพียงไม่กี่คน ส่วนตัวผมมองว่า ถ้าคุณเป็นเจ้าธุรกิจที่ลงทุนมา 20 ปี แล้วคุณขายหุ้น ถ้าไม่เก็บภาษีผมยังคิดว่าโอเค แต่ถ้าซื้อขายทุกวันโดยไม่เสียอะไรนอกจากค่าคอมมิชชั่น ผมไม่เห็นด้วยเลย คุณใช้ทรัพยากรมนุษย์ไปเท่าไหร่ ใช้ทรัพยากรประเทศไปเท่าไหร่ ดังนั้นผมจึงคิดว่าควรเก็บ แต่อย่าเก็บเยอะ ถ้าขาดทุนก็ไม่ต้องเสีย ซึ่งข้อมูลก็มีอยู่แล้วถูกไหม

แต่ความยากในเรื่องนี้คือ การออกแบบวิธีการเก็บ ถ้าคุณเก็บคนไทยแล้วเก็บคนต่างชาติไม่ได้ จะเกิดการบิดเบือนขึ้นมาอีก ก็มีความเสี่ยงที่คนจะย้ายบริษัทไปสิงคโปร์แทน ดังนั้นต้องมานั่งคิดว่าจะเก็บภาษีตรงนี้ยังไง

 

แน่นอนว่าต้องมีคนออกมาบอกว่า ภาษีแบบนี้จะทำให้ตลาดหุ้นตก และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเป็นการทำให้ตลาดหลักทรัพย์แข่งไม่ได้

เรื่องนี้ก็ไม่ใช่ไม่มีน้ำหนักเสียทีเดียว แต่ผมเชื่อว่า ถ้าเราออกแบบอัตราภาษีที่เหมาะสมและสร้างความตระหนักให้คนเห็นว่าภาษีตรงนี้ไม่ได้สูงมาก อีกทั้งยังมีเบื้องหลังในการจัดเก็บที่เป็นเหตุเป็นผล ผมคิดว่าคนรับได้

ผมคิดว่าคนรับได้นะ ถ้าอัตราภาษีอยู่ที่ 10-15% อาจจะมีบ่น หรือเลี่ยงด้วยการเปลี่ยนไปตั้งบริษัทเยอะขึ้นเพื่อเอาเครดิตภาษี แต่ถ้า 15% เป็นอัตราสุดท้ายก็พอเป็นไปได้ ในภาพรวมถ้าทำให้ภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ไม่เกิน 20% คิดว่าแข่งได้

จากประสบการณ์ที่ไปทำงานในระดับสากล แนวโน้มเทรนด์เรื่องภาษีในอนาคตจะเป็นอย่างไร

เทรนด์มันมีอยู่ 2 อย่าง ซึ่งตรงกันข้ามกัน  อย่างแรก การไปทำ Offshore หรือการบริหารภาษีโดยไปจดจัดตั้งบริษัทในประเทศที่เก็บภาษีในอัตราต่ำกว่า จะทำได้ยากขึ้น โลกภาษีนี้กำลังจะถูกทำให้เป็นโลกใบเดียวกันหมดแล้ว ถึงที่สุดแล้วคุณต้องเสียภาษีให้ประเทศใดประเทศหนึ่ง และนโยบายภาษีของแต่ละประเทศกระทบอีกประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น การที่อเมริกาลดภาษีลง มีผลต่อยุโรปเลยทันที เพราะยุโรปภาษีแพงมาก ทั้งบริษัทและคนก็จะหนีออกหมด

แนวโน้มที่จะเห็นคือ ในระดับโลกภาษีจะแพงมาก และแต่ละประเทศจะมีระดับภาษีที่ใกล้เคียงกันมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างยังมีอยู่ขึ้นอยู่โครงสร้างของเศรษฐกิจของแต่ละประเทศด้วย

เทรนด์ที่สอง ภาษีแบบใหม่ๆ ที่เก็บแพง เก็บหนักๆ ซึ่งส่วนตัวผมไม่เห็นด้วย เพราะยิ่งเก็บแพงคนยิ่งหลบ หลบไปใต้ดิน ไม่ปฏิเสธว่าภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีสิ่งแวดล้อม ภาษีน้ำหวาน ฯลฯ พวกนี้เก็บได้ แต่มันต้องสมดุล

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Spotlights

4 Nov 2020

101 Policy Forum : ประเทศไทยในฝันของคนรุ่นใหม่

101 เปิดวงสนทนาพูดคุยกับตัวแทนวัยรุ่น 4 คน ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน , สิรินทร์ มุ่งเจริญ, ภาณุพงศ์ สุวรรณหงษ์, อัครสร โอปิลันธน์ ว่าด้วยสังคม การเมือง เศรษฐกิจไทยในฝัน ต้นตอที่รั้งประเทศไทยจากการพัฒนา ข้อเสนอเพื่อพาประเทศสู่อนาคต และแนวทางการพัฒนาและสนับสนุนคนรุ่นใหม่

กองบรรณาธิการ

4 Nov 2020

Economy

15 Mar 2018

การท่องเที่ยวกับเศรษฐกิจไทย

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย ตั้งคำถาม ใครได้ประโยชน์จากการท่องเที่ยวบูม และเราจะบริหารจัดการผลประโยชน์และสร้างความยั่งยืนให้กับรายได้จากการท่องเที่ยวได้อย่างไร

พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย

15 Mar 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save