fbpx
‘เปลือยฝัน - ปลดแอก’ กับ ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี

‘เปลือยฝัน – ปลดแอก’ กับ ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี

ธิติ มีแต้ม เรื่อง

เมธิชัย เตียวนะ ภาพ

 

หลังเป็นบัณฑิตคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ หมาดใหม่ แทนที่จะเดินไปสู่ความมั่นคงทางอาชีพการงาน ฟอร์ด-ทัตเทพ เรืองประไพกิจเสรี เลือกออกมานำคนหนุ่มสาวลงถนน-ขับไล่รัฐบาล

เขามองว่าจะเลือกทางนั้นก็ได้ แต่นั่นไม่ใช่ความมั่นคงในอนาคต ตราบใดที่บ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย

ย้อนกลับไปในปี 2017 ฟอร์ดเป็นหนึ่งในบรรดานิสิตจุฬาฯ 5 คนที่ถูกผู้บริหารสั่งปลดออกจากสภานิสิตจุฬาฯ และถูกตัดคะแนนความประพฤติ เหตุเพราะพวกเขาวอร์กเอาต์จากพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณตนเป็นนิสิตจุฬาฯ

เส้นทางของฟอร์ดแน่วแน่ขึ้นในปี 2020 ไม่ใช่แค่สถาบันการศึกษาที่เขาท้าทาย แต่เป็นโครงสร้างอำนาจรัฐที่เขาประกาศเผชิญหน้าขอเปลี่ยนแปลง

จากแค่นิสิตถูกตัดคะแนน ฟอร์ดในนามผู้ร่วมก่อตั้ง ‘คณะประชาชนปลดแอก’ ถูกดำเนินคดีข้อหายุยงปลุกปั่นตาม ป.อาญา 116 พ่วงข้อหาอื่นๆ ยาวเป็นหางว่าวพร้อมพรรคพวกอีกสามสิบกว่าคน

วันที่เพื่อนฝูงของเขาทยอยถูกจับเข้าคุกตะรางไปทีละคนสองคน ฟอร์ดย้ำจุดยืนผ่านทวิตเตอร์ของเขาดังนี้

“ผู้ชุมนุมเพื่อเรียกร้องมิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
นักเรียนผูกโบว์ขาวชูสามนิ้วมิได้เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
เจ้าหน้าที่รัฐที่รับคำสั่งมาจับประชาชนต่างหากที่เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
รัฐบาลเผด็จการต่างหากที่เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
ชนชั้นนำอภิสิทธิ์ชนต่างหากที่เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง
ผู้ที่ไม่ยอมให้อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนต่างหากที่เป็นผู้มีมลทินมัวหมอง”

พูดแบบภาษาการเมือง สถานการณ์ปัจจุบันกำลังแหลมคมอย่างยิ่ง พูดแบบภาษาวัยรุ่น นี่เป็นยุคสมัยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออย่างยิ่ง

101 ชวนคุยกับฟอร์ด ตั้งแต่อะไรคือแอกในวัยเด็กของเขา ไปจนถึงความฝันที่กำลังสั่นคลอนสังคมไทยจะเป็นฝันที่ยาวนานแค่ไหน

 

 

ตั้งแต่เริ่มก่อตั้ง ‘เยาวชนปลดแอก’ จนยกระดับมาเป็น ‘ประชาชนปลดแอก’ มองย้อนกลับไป คุณคิดว่าอะไรทำให้มวลชนตื่นตัวมากถึงขนาดนี้

ก่อนหน้านี้ส่วนตัวผมเคลื่อนไหวแค่พอประมาณ ไม่ได้ออกมาแถวหน้าขนาดนี้ แต่พอเกิดเหตุการณ์หลายๆ อย่าง มีโมเมนตัมทางการเมืองมากขึ้น ทำให้เราต้องตัดสินใจออกมาให้ชัดเจนขึ้น ทั้งที่ส่วนตัวเราไม่ได้คาดหวังจะเห็นการยกระดับขนาดนี้

 

โมเมนตัมที่ว่าคืออะไร

เพราะเริ่มมีปรากฏการณ์ม็อบออร์แกนิกเกิดขึ้น มีแฟลชม็อบไปทั่วประเทศ บวกกับที่ว่ากลุ่มเยาวชนปลดแอก ได้ประกาศยื่น 3 ข้อให้รัฐบาลยุบสภา แก้รัฐธรรมนูญ และหยุดคุกคามประชาชน เราขีดเส้นไว้ที่ 2 สัปดาห์ พอครบ 2 สัปดาห์ เราต้องทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เลยประกาศก่อตั้งองค์กรใหม่เป็นประชาชนปลดแอก เพื่อมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนม็อบต่อไป ภาพวันที่ 16 ส.ค. จึงเป็นภาพที่น่าตื่นเต้นมาก เห็นเลยว่ามีคนจำนวนมากเห็นด้วยกับเรา เขาต้องการความเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน

 

พอแกนนำเริ่มทยอยถูกจับกันไปทีละคน มีรู้สึกสักวินาทีไหมว่าพอดีกว่า เปลืองตัวเกินไป

มีอยู่แล้ว การเคลื่อนไหวครั้งนี้ เรารู้ว่ากำลังสู้กับอะไร เราสู้กับสิ่งที่ฝังรากลึกมายาวนาน สู้กับโครงสร้างอำนาจที่แน่นแฟ้นกัน ทั้งๆ ที่เราเป็นคนธรรมดา ไม่มีกองกำลัง ทุนก็แทบไม่มี ไม่มีผู้มีอำนาจหนุนหลัง ไม่มีอะไรเลย เราสู้กับสิ่งที่ใหญ่มาก บางทีก็เหนื่อย ท้อ อยากจะเลิกก็มี แต่ว่าเรามาถึงจุดที่ย้อนกลับไม่ได้แล้ว ดังนั้นเราต้องเยียวยาตัวเองให้ดี แล้วก็พุ่งไปข้างหน้าต่อ

สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราทำม็อบต่อไปได้ เพราะเราไม่ได้สู้อยู่คนเดียว เรามีคนที่พร้อมเดินไปกับเราเยอะเลย มีทั้งเพื่อน คนรัก เพื่อนร่วมอุดมการณ์ เครือข่ายมากมายที่สู้ไปกับเรา เพราะฉะนั้นการต่อสู้ครั้งนี้ เราแชร์ความหนักหน่วง แชร์ความกดดัน แชร์ความท้อไปด้วยกัน

 

ถ้าพูดแบบแกนนำม็อบรุ่นเก่าๆ คือ ‘ขึ้นหลังเสือแล้วลงยาก’ ?

ความรู้สึกประมาณนั้น เมื่อเราเปิดหน้าสู้กับรัฐแล้ว ยังไงเราก็โดนหมายหัว ไม่ว่าเราจะถอยหรือทำอะไร เขาก็จ้องเราอยู่แล้ว แต่ในเมื่อเราเปิดหน้าแล้วก็ควรสู้ให้ถึงที่สุด สู้อย่างเต็มศักยภาพ

 

คำว่า ‘ปลดแอก’ ตอนนี้เป็นคำที่ทรงพลังมาก ถ้าทบทวนตัวเอง มีแอกอะไรบ้างที่กดคุณไว้มาตั้งแต่เด็กๆ

ผมเกิดในครอบครัวที่รายได้น้อย พ่อแม่ค้าขายทั่วไป ทำงานหามรุ่งหามค่ำ มีรายได้จุนเจือครอบครัวไปวันๆ ผมรู้สึกว่าผมอยู่ในครอบครัวที่พ่ายแพ้หรือเสียเปรียบในระบบทุนนิยม ซึ่งมันไม่ใช่ความผิดของบรรพบุรุษ ไม่ใช่ความผิดของพ่อแม่ที่ไม่สามารถมีรายได้หรือสร้างเนื้อสร้างตัวให้มั่งคั่งได้ แต่มันคือระบบที่กดทับ ตั้งแต่โครงสร้างเศรษฐกิจที่สร้างความเหลื่อมล้ำ ตรงนี้คือแอกแรกที่ผูกเราไว้ตั้งแต่เด็ก

พอตอนไปโรงเรียนถูกเพื่อนล้อ เพราะจ่ายค่าเทอมไม่ตรงเวลา ไหนจะเรื่องการแต่งตัว การใช้ของแบรนด์เนมที่เราไม่ได้มีเท่าคนอื่นเขา ตอนนั้นคือความน้อยใจจากการถูกบูลลี่ เรื่องพวกนี้คือแอกที่มาจากความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ

พอเริ่มเข้าสู่วัยมัธยม ผมรู้สึกว่าเราควรจะมีเสรีภาพอะไรบางอย่าง แต่ทำไมเราต้องถูกบังคับให้ตัดผม ทำไมต้องแต่งกายตามระเบียบโรงเรียน หรือถูกคาดหวังว่าจะต้องเรียนให้ดี ทำไมต้องเรียนในวิชาที่เราไม่โอเค ทำไมต้องเรียนวันละ 7-8 ชั่วโมง บางวิชาก็ไม่ควรจะเป็นวิชาหลักด้วยซ้ำ เราเสียเวลาในวัยนี้ไป ทั้งที่เราควรจะมีชีวิตได้ตามหาความฝันของตัวเอง กลายเป็นว่าต้องมาเรียนหนังสือหนักๆ ต้องเรียนพิเศษเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัย นี่เป็นแอกที่สองที่ระบบการศึกษาทำให้เราเสียเวลาไปช่วงหนึ่ง

พอโตขึ้นมาอีกหน่อย นอกจากภาระทางบ้านและระบบการศึกษาแล้ว แอกใหญ่ที่สุดที่ผูกเราไว้คือแอกทางการเมือง ผมเข้าใจการเมืองมากขึ้นเพราะว่าสนใจการเมืองตั้งแต่ ม.6 พอได้เข้าเรียนคณะรัฐศาสตร์ ยิ่งเห็นว่าทุกอย่างพัวพันกันหมด ทั้งเรื่องโครงสร้างทางการเมือง สถาบันทางการเมือง การออกแบบรัฐธรรมนูญ นโยบายรัฐบาล ระบบราชการ กองทัพ ที่หล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ หล่อเลี้ยงระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ผู้เรียน ทั้งหมดนี้คือแอกที่พันธนาการเราอยู่

 

 

พอ ‘ตาสว่าง’ แล้ว เจอแรงเสียดทานอะไรบ้าง ต้องยอมเสียอะไรไหม เช่น คุยกับเพื่อนไม่รู้เรื่อง หรือทะเลาะกับครอบครัวเหมือนที่คนหนุ่มสาวหลายคนเป็น

ผมไม่มีปัญหาเรื่องเพื่อน เพราะยุคนี้เพื่อนๆ ก็ตาสว่างไล่ๆ กันหมด (หัวเราะ) ไม่ได้มีใครถูกแอนตี้เพราะตาสว่าง กลายเป็นว่าคนที่หลับหูหลับตาต่างหากที่กลายเป็นคนส่วนน้อยไป

แต่ที่เป็นอุปสรรคสำหรับผมคือความกลัว เราไม่กล้าที่จะพูดสิ่งที่เราคิดออกไป ไม่กล้าแสดงออก และกลัวการถูกทำร้าย ถูกดำเนินคดี กลัวคุกกลัวตะราง นี่เป็นแรงเสียดทานแรกๆ ผมเคยคาดหวังกับตัวเองว่าเมื่อเรียนจบแล้วต้องทำงาน จะได้สร้างเนื้อสร้างตัว ลืมตาอ้าปาก ใช้ชีวิตแบบชนชั้นกลางที่เขาชอบว่ากันว่ามีบ้านมีรถ ไว้รอพร้อมก่อนแล้วค่อยมาทำงานการเมืองก็ได้ ส่วนเรื่องกลัวจะไม่มีเพื่อน ทะเลาะกับครอบครัว ผมไม่ได้กลัวเลย เพราะครอบครัวสนับสนุน

 

ทำไมครอบครัวคุณถึงสนับสนุนสิ่งที่คุณทำ

แม่ของผมเสียไปหลายปีแล้วก่อนที่ผมจะเข้ามหาวิทยาลัย ส่วนคุณพ่อเป็นคนที่ติดตามการเมืองตลอด เขารู้เรื่องมาตลอดว่าอะไรเป็นอะไร และเขาเข้าใจเราว่าเราไม่ได้ทำเพื่อกลุ่มการเมืองใดกลุ่มหนึ่ง เขารู้ว่าเราทำเพื่อส่วนรวม เพื่ออนาคตของตัวเองและประเทศนี้ พ่อก็สนับสนุนเต็มที่ พ่อไม่เคยขัด พ่อบอกเสมอว่าออกมาเคลื่อนไหวก็ต้องพร้อมรับผลที่ตามมานะ ทั้งเรื่องคดีความหรืออาจถูกดักทำร้ายก็ได้

ส่วนญาติฝั่งแม่ส่วนใหญ่แทบจะเชียร์ผมกันหมด เขาสนับสนุนผมมาก ไม่เคยห้าม ให้กำลังใจ ให้สู้เต็มที่ ขอให้รักษาตัวด้วย ระวังอันตราย ไม่เคยมีการห้ามเลยตั้งแต่ผมเปิดหน้าสู้มา

 

แต่การถูกดักทำร้ายเป็นสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ ?

เราต้องป้องกันตัวเองไว้ก่อน ไม่ได้บอกว่าห้ามพูด ห้ามแสดงออกทางการเมือง แต่อย่าไปไหนมาไหนคนเดียว อย่าไปที่เปลี่ยว นี่เป็นการป้องกันตัวปกติหลังจากที่แสดงออกทางการเมืองไปแล้ว พ่อผมมีแอบเป็นห่วงบ้าง มีช่วงหนึ่งมีคนถูกทำร้ายชื่อฟอร์ดเหมือนกัน แต่นั่นคือ ‘ฟอร์ด เส้นทางสีแดง’ พ่อฟังข่าวแบบเร็วๆ แล้วก็โทรมาถามว่าอยู่โรงพยาบาลไหน เราบอกว่าไม่ใช่ คนละฟอร์ดกัน (หัวเราะ)

 

พอมวลชนเพิ่มมากขึ้น คุณกลัวจะคุมสถานการณ์ไม่อยู่ไหม

ความรู้สึกนั้นมีอยู่ตลอด เพราะเราสู้กับรัฐ สู้กับโครงสร้างอำนาจที่ใหญ่มาก ความกังวลมีอยู่ตลอดเวลา สถานการณ์มันเปลี่ยนรายนาทีเลย แน่นอน ความรู้สึกแรกคืองง งงว่ามาอยู่ตรงนี้ได้อย่างไร อะไรทำให้เรามาถึงตรงนี้ได้ เราคือใคร นี่เป็นคำถามที่อยู่ในหัวตลอด

 

มีแผนที่จะรับมือสถานการณ์ในอนาคตที่อาจจะใหญ่เกินตัวคุณไปเรื่อยๆ บ้างไหม

เราคิดว่าการต่อสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่เรื่องของใครคนใดคนหนึ่ง ยิ่งมีคนออกมาสู้มาก โอกาสชนะก็มากขึ้น เพราะฉะนั้นเรารู้สึกว่ามันเกินตัวไปหน่อย ถ้าต้องแบกรับสถานการณ์ด้วยคนเพียงไม่กี่คน เราจำเป็นต้องขยายแนวร่วม ต้องเปิดหน้าคนเคลื่อนไหวใหม่ๆ ออกมา ทำให้ผู้มีอำนาจรู้ว่าเราไม่ได้ถูกชักใย แต่เราตื่นตัวด้วยตัวเราเองและเราพร้อมจะสู้ ต่อให้คุณจัดการใครหลายๆ คน หรือแม้คุณจะทำลายพวกเราทั้งหมด แต่คุณก็หยุดการเคลื่อนไหวนี้ไม่ได้แล้ว

ในประวัติศาสตร์การรัฐประหารที่ผ่านมาแทบไม่เคยมีการต่อต้านของประชาชนจำนวนมาก มีก็แต่ชนชั้นนำขัดกันเอง ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมในการต่อต้านรัฐประหารเท่าที่ควร แต่ในปีนี้ บริบททางการเมืองไม่ได้เอื้อให้เกิดการรัฐประหารเลย แต่ถ้าเกิดการรัฐประหารครั้งนี้ ต้นทุนมันจะสูงมาก และผมเชื่อว่าคนจะไม่ได้ด่าแค่กองทัพแล้ว คนจะด่าทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการรัฐประหารด้วย

ผมเชื่อว่าการที่ประชาชนกล้าออกมาสู้กันมากขึ้น เพราะเขาตื่นรู้กันว่ารัฐประหารมันส่งผลต่อเรื่องอื่นๆ มากมาย ถึงแม้ว่าบางคนอาจไม่ได้ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยมาก แต่เขารู้ว่ารัฐประหารมันส่งผลต่อเรื่องใกล้ตัวเขา 6 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจเป็นอย่างไร การศึกษาในโรงเรียนเป็นอย่างไร การบังคับใช้กฎหมายที่ไม่เป็นธรรม การไม่มีมาตรฐานเป็นอย่างไร ทุกคนเห็นแล้วว่ารัฐประหารทำให้บ้านเมืองพังแน่ๆ

 

 

ความเข้าใจแบบนี้เพียงพอไหมที่คนจะออกมาต้านรัฐประหารกันมืดฟ้ามัวดิน

แน่นอนว่าเราไม่มีอาวุธ ไม่มีกองกำลังไปสู้กับการก่อรัฐประหาร แต่เราต้องใช้คนจำนวนมากในการขัดขวาง วิธีการของเราไม่ใช่การทำร้ายร่างกายเจ้าหน้าที่รัฐแบบที่ประชาชนเจอทำร้าย

ด้วยความที่เราเป็น LGBTQ+ เราไปขวางหน้ารถถัง เอาธงสีรุ้งไปโบกสะบัดบนรถถังได้ คู่มือต้านรัฐประหารของ ‘ยีน ชาร์ป’ ก็บอกถึงวิธีการที่ไม่ใช้ความรุนแรง และพยายามผูกมิตรกับกลไกต่างๆ เช่น ข้าราชการชั้นผู้น้อย

 

ลึกๆ คุณไม่เชื่อเรื่องการแตกหัก ?

ผมคิดว่าการแตกหักไม่ได้ส่งผลดีกับฝ่ายใดเลย ไม่มีใครสมควรตายเพียงเพราะว่าเห็นต่างกัน ไม่มีใครสมควรตายเพราะต้องการให้บ้านเมืองดีขึ้น เพราะฉะนั้นการเคลื่อนไหวเราต้องไม่พาใครไปตาย

 

พอพูดถึงความเป็น LGBTQ+ ส่วนตัวคุณรู้สึกว่าส่วนหนึ่งมันเป็นแอกด้วยไหม ทั้งการที่สังคมยังไม่ยอมรับมากพอ หรือการที่ยังมี LGBTQ+บางส่วนไปสนับสนุนฝ่ายอำนาจนิยม

ผมเพิ่งมารู้ตัวว่าเป็น LGBTQ+ ตอน ม.4 ตอนนั้นเก็บไว้ในใจยังไม่กล้าบอกใคร ไปๆ มาๆ พ่อแม่เพื่อนรู้เอง เขาดูออกและไม่มีใครว่าอะไร ทุกคนเข้าใจ ประเด็นคือมีบางอย่างที่เราไม่กล้าแสดงตัวตนลึกๆ ของเราออกมา เพราะความกลัวอะไรบางอย่าง จะเรียกความรู้สึกนี้ว่าแอกก็ได้ ถ้าเราอยู่ในสังคมเปิดจริงๆ เราคงไม่รู้สึกแบบนี้

ผมคิดว่าส่วนหนึ่งเพราะการเปลี่ยนผ่านของสังคมทุกวันนี้หลายคนรับได้มากกว่าเมื่อก่อน แต่ผมเชื่อว่าในรัฐธรรมนูญไทยยังไม่ได้มองว่า LGBTQ+ เท่าเทียมกันเหมือนคนทั่วไป

 

ที่คุณเคยไปแสดงการจูบกับคู่รักเพศเดียวกันที่รัฐสภาเมื่อปลายปี 2019 ถือว่าเป็นการยกระดับเรียกร้องความเท่าเทียมของ LGBTQ+ ?

ใช่ ตอนนั้นกฎหมายที่ให้สิทธิรับรองความเท่าเทียมของการสมรส ทั้งเรื่องมรดก เรื่องการรับบุตรบุญธรรมร่วมกันยังไม่มี ผมรู้สึกว่า LGBTQ+ ยังเป็นพลเมืองชั้นสองอยู่

วันนั้นที่ตัดสินใจแสดงออกแบบนั้น เพราะเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ในรัฐสภา ผมมองว่ารัฐสภาเป็นสัญลักษณ์ของอำนาจประชาชน และเรามีวาระยื่นหนังสือเพื่อเรียกร้องกฎหมายที่เป็นธรรม มันถึงเวลาแล้วที่ผู้แทนประชาชนจะให้คุณค่ากับ LGBTQ+ อย่างเท่าเทียมกับคนในสังคม

 

เหตุการณ์ครั้งนั้นมีทั้งเสียงชื่นชมและวิจารณ์

ด้วยอารมณ์ตอนนั้น เราไม่ได้เตี๊ยมมาก่อน เป็นการตัดสินใจหน้างาน หลังจากนั้นก็เจอกระแสมะรุมมะตุ้ม แต่ผมจะไม่พูดถึงคนทั่วไปนะ ผมขอพูดถึงฝ่ายประชาธิปไตย เพราะฝ่ายประชาธิปไตยมีหลายเฉด

ผมคิดว่าคนที่เป็นนักประชาธิปไตยและเป็นอนุรักษนิยมก็มี คนที่เป็นประชาธิปไตยที่เป็นเสรีนิยมก็มี ซึ่งฝ่ายแรกเขาก็ด่าเราอยู่แล้วเป็นปกติ เวลาเราแสดงออกอะไรที่ไปกระทบกับจารีตดั้งเดิมของพวกเขา

ส่วนถ้าเป็นคนที่เขายึดถือกระบวนการเคลื่อนไหวนำ เขาจะบอกว่าเราไปทำลายกระบวนการเคลื่อนไหวที่เขาสร้างกันมาอย่างยาวนาน การทำแบบนั้นทำให้สังคมตั้งการ์ดใส่ LGBTQ+ อีกรอบ ส่วนคนที่เข้าใจและให้กำลังใจเราจะบอกว่าสิ่งที่เราทำถูกแล้ว ไม่มีที่ไหนที่เหมาะสมไปกว่ารัฐสภาอีกแล้วในการแสดงออก

เรื่องนี้ทำให้ผมคิดได้ว่าคนที่เอาประชาธิปไตย แต่ไม่ได้เข้าใจสิทธิมนุษยชนก็มี แต่ถ้าเราต่อสู้เพื่อให้สังคมมีความเท่าเทียม สองอย่างนี้ต้องไปด้วยกัน

 

 

ทำไม LGBTQ+ ต้องเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านเราไม่ค่อยเห็น คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ผมว่าในขบวนการประชาธิปไตย เรามี LGBTQ+ เป็นส่วนหนึ่งอยู่แล้ว คนที่เคลื่อนไหวเรื่องประชาธิปไตยมาก่อน โดยที่เขาไม่ได้เปิดตัวว่าเป็น LGBTQ+ ก็มี

ไม่ใช่แค่ LGBTQ+ แต่ผมคิดว่าทั้งแรงงาน ผู้หญิง กลุ่มคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คนชายขอบที่ถูกรัฐทอดทิ้ง เขาควรอยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ LGBTQ+ ก็ฝันจะเห็นความเปลี่ยนแปลงเหมือนกับคนธรรมดาทั่วไป เราฝันว่าประเทศนี้ต้องดูแลทุกคนอย่างเท่ากัน ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงจะปฏิเสธการอาศัยกระบวนการประชาธิปไตยไม่ได้

ตอนนี้ประเทศยังไม่เป็นประชาธิปไตย ไม่ได้แปลว่าต้องมีประชาธิปไตยก่อน สิทธิอื่นๆ ถึงจะตามมาทีหลังนะ แต่ผมหมายความว่าถ้าเรามีประชาธิปไตย เราจะขับเคลื่อนประเด็นเหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เพราะฉะนั้นการมีขบวน LGBTQ+ และคนทุกกลุ่มในสังคมมาร่วมกันเป็นเรื่องจำเป็นในตอนนี้

 

แต่หลายครั้งคนที่เป็น LGBTQ+ ที่มีชื่อเสียงก็ปฏิเสธประชาธิปไตย คุณมองเรื่องนี้อย่างไร

ประเด็นนี้เป็นปัญหาซ้อนกันหลายชั้น มีเรื่องของชนชั้นด้วย บางทีคุณเป็นคนมีอันจะกินแค่ไหน เป็นคนที่มีต้นทุนทางสังคมแค่ไหน ในบรรดา LGBTQ+ ที่เป็นอนุรักษนิยม หรือแม้แต่ไปสนับสนุนการรัฐประหาร ผมเห็นว่าพวกเขาได้รับผลประโยชน์จากการเป็นอภิสิทธิ์ชนอยู่แล้ว ที่สังคมยอมรับพวกเขา ส่วนหนึ่งไม่ใช่เพราะว่าเขาเป็น LGBTQ+ แต่เพราะพวกเขามีสิทธิพิเศษ ซึ่งเป็นปัญหาทางชนชั้นด้วย ไม่ใช่ปัญหาทางเพศสภาพอย่างเดียว

เพราะฉะนั้นประเด็นของผมคือตอนนี้เราอยู่ในสภาวะที่บ้านเมืองไม่มีประชาธิปไตย เสรีภาพในการแสดงออกยังมีไม่เต็มที่เลย ปรากฏการณ์ที่มีมวลชนฝ่ายประชาธิปไตยไปทัวร์ลงกับคนดังที่มาด่าพวกเขา มันคือการย้ำถึงสิทธิพิเศษของคนดังที่คนทั่วไปไม่มี แต่ทำไมคุณถึงหวงแหนและกลัวจะเสียผลประโยชน์ถ้าบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตย

ถ้าคุณเสียสิทธิพิเศษไป คนทั่วไปลืมตาอ้าปากได้มากขึ้น ก็ทำให้คุณไม่ได้เหนือกว่าคนอื่นแล้วไง ถ้าถามว่าทำไมฝ่ายประชาธิปไตยถึงเกรี้ยวกราดขนาดนี้ ผมมองว่าเพราะบ้านเมืองยังไม่มีระบอบที่จะรองรับการแสดงออกของทุกคนอย่างเท่าเทียมและเสรีได้มากพอ

ผมว่าตอนนี้ไม่ใช่เวลาที่จะมาทะเลาะกันในเรื่องยิบย่อย ไม่ใช่เวลาของซ้ายแบบไหน จะซ้ายจัด ซ้ายกลางก็แล้วแต่ ผมคิดว่าเราสงวนจุดต่างและหาจุดร่วมกันได้ เราจัดการกับโครงสร้างทางการเมือง เคลียร์ระบบการเมืองให้เปิดพื้นที่สำหรับทุกคนก่อน แล้วหลังจากนั้นเราค่อยมาซัดกันในระบอบที่เป็นประชาธิปไตยและไม่ก่อความรุนแรงดีกว่า

 

ถ้ามีประชาธิปไตย จะเถียงกันสนุกกว่านี้ ?

ใช่ มันเหนื่อยนะ ถ้าเราต้องสู้กับทั้งรัฐบาลเผด็จการ ชนชั้นนำในสังคม และในฝ่ายประชาธิปไตยก็ตีกันในเรื่องยิบย่อย มันทำให้เราล้า เราสู้กับโครงสร้างขนาดใหญ่ แต่เราแตกกันเอง เราจะเอาอะไรไปชนะ เราตีกันอย่างสร้างสรรค์ในระบบที่เป็นธรรมดีกว่า เพราะจะไม่มีใครจับคุณเข้าคุก ไม่มีใครปิดปากคุณได้

 

คุณเคยประเมินไหม อำนาจรัฐตอนนี้อาจจะไม่ใช้กองกำลังมาสลายการชุมนุมแบบเมื่อก่อน แต่อาจจะเลือกเด็ดแกนนำเพื่อให้มวลชนไร้ทิศทาง ถ้าเป็นแบบนั้นคุณจะหยุดเคลื่อนไหวไหม

ไม่หยุด (ตอบทันที)

ตอนนี้ในขบวนทั้งหมดไม่แน่นอนว่าคนไหนคือหัวหรือแกนนำ ใครคือเบอร์หนึ่งหรือเบอร์สอง ทุกคนแค่พอเป็นที่รู้จักบ้าง เหมือนวงการบันเทิงที่ไม่มีดาราคนไหนเฉิดฉายตลอดเวลา ดังนั้นถ้ามีการเด็ดแกนนำ 1 คน ก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ทุกคนจะเคลื่อนไหวกันต่อไป เพราะขบวนการที่เป็นอยู่ไม่ได้เท่ากับคนๆ เดียว

ตอนนี้เรามันไม่มีแกนนำที่ชัดเจน ถ้าบอกว่าขบวนการประชาธิปไตยใครเป็นแกนนำ ตอบได้ไหม คงไม่ใช่ผม คงไม่ใช่พริษฐ์ ชิวารักษ์ คงไม่ใช่จุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ ไม่ใช่ใครก็ตาม แต่มันคือขบวนการที่เดินต่อไปเรื่อยๆ แม้คนใดหายไป ขบวนการมันก็ไปต่อ และผมคิดว่าถ้าผู้มีอำนาจจะทำแบบนั้น ก็เป็นการราดน้ำมันเข้ากองเพลิงที่กำลังลุกโชน ถ้าเกิดคุณใช้วิธีทำร้ายแกนนำ อุ้มหาย ขังคุก ทำให้เขาบาดเจ็บ ผมบอกเลยว่าเป็นการกระทำที่ไม่ฉลาด มันจะทำให้รัฐบาลไปเร็วขึ้นและอาจจะนำมาถึงจุดแตกหักได้ ผมว่าผู้มีอำนาจคงฉลาดพอที่จะไม่ทำ

 

แต่ประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่ผ่านมาบอกเราว่าผู้มีอำนาจไม่ได้ฉลาดนัก

เงื่อนไขเวลานี้คือการเมืองเป็นเผด็จการ เศรษฐกิจถูกผูกขาดและเหลื่อมล้ำ วัฒนธรรมอำนาจนิยมกดทับ สามอย่างนี้สอดรับกัน บวกกับอีกปัจจัยหนึ่งคือการมีสื่อโซเชียล และเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป ฝ่ายอำนาจนิยมไม่สามารถผูกขาดความถูกต้องหรือผูกขาดข้อมูลข่าวสารได้ต่อไป คนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้จากหลากหลายช่องทางมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้คนไม่ใช่แค่รุ่นผม แต่เด็กนักเรียนมัธยมที่เขากำลังเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เขาตั้งคำถาม เขาเกรี้ยวกราด และเขาพร้อมที่จะต่อสู้เพื่อเรียกร้องสิทธิของเขากลับคืนมา

 

 

ถ้าใช้ศัพท์คนรุ่นเก่าคือตอนนี้สังคมสุกงอมแล้ว 

มันถึงเวลา มันเดือด มันอยู่ในสถานการณ์ที่พร้อมแล้ว เหมือนกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยว ตอนนี้รัฐเผด็จการมันใกล้แตก คุมสื่อก็ไม่ได้ ถ้าปล่อยให้น้ำมันไหลเชี่ยวเรื่อยๆ โดยที่คุณไม่เปิดประตูเขื่อนน้ำสักที ผมเชื่อว่าสักวันหนึ่งเขื่อนจะแตก จะไปถึงจุดแตกหัก ซึ่งผมไม่อยากให้เกิดขึ้น ผมไม่อยากให้มีการเสียเลือดเสียเนื้อ ไม่อยากให้มีการนองเลือดแม้แต่วันเดียว

ผมคิดว่าการเคลื่อนไหวของเรามันต้องสร้างผลกระทบให้รัฐบ้าง การสร้างความฉิบหายทางเศรษฐกิจก็เป็นไปได้ สมมติว่าปิดถนนเดินขบวน กระจายทั่วกรุงเทพ ไปล้อมรัฐสภา ไปล้อมทำเนียบรัฐบาล ก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะกดดันได้ แต่ถ้าเกิดปะทะกันตรงๆ เราสู้ไม่ได้ เขามีกำลัง มีอาวุธสงคราม เราจะเอาอะไรไปสู้ เรามีธงสายรุ้ง ก็เป็นอีกวิธีหนึ่ง เขาอาจจะกระอักกระอ่วน

สังเกตไหมว่าทำไม ‘ม็อบแฮมทาโร่’ ‘ม็อบไม่มุ้งมิ้งแต่ตุ้งติ้งค่ะคุณรัฐบาล’ ไม่โดนดำเนินคดี เพราะฝ่ายความมั่นคงกระอักกระอ่วนที่จะดำเนินคดีกับอะไรแบบนี้ จะไปจับหนูแฮมทาโร่ที่มาวิ่งเหรอ คุณจะดำเนินคดีกับเขาลงเหรอ คุณจะปราบพวกเขาลงเหรอ

 

สังคมไทยกำลังอ่อนไหวกับประเด็น ‘1 ความฝัน’ ของ ‘ประชาชนปลดแอก’ คือการทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อะไรทำให้คุณกล้าฝันเรื่องนี้

ถ้าเล่าประสบการณ์วัยเด็กของผมที่มีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ผมเชื่อว่าทุกคนต่างเคยซาบซึ้งกันมา เพราะว่าเราถูกสอนมาด้านเดียว รับข้อมูลด้านเดียว

ตอนเด็กๆ เราไม่มีเวลาหรือไม่รู้แหล่งข้อมูลใหม่ๆ เลย ความทรงจำของเรามีแต่ความซาบซึ้ง พอประชาชนเดือดร้อนก็เหมือนกับมีเทวดาลงมาโปรด ขจัดทุกข์บำรุงสุข ส่วนนักการเมืองเลว นี่คือชุดความคิดในวัยเด็ก

แต่พอโตขึ้นมา ผมได้ฟังม็อบ กปปส. ที่เขาต้องการปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง ได้ฟังเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์ที่พวกเขากล่าวหาคนอีกกลุ่มหนึ่งว่าต้องการล้มล้าง จากนั้นผมก็ไปค้นคว้าหาหนังสือมาอ่าน จนกระทั่งได้เห็นข้อมูลด้านอื่นๆ ข้อมูลที่ไม่ได้ถูกผูกขาด ไม่ใช่ความรู้แค่ชุดเดียวอีกต่อไป

ตอนนั้นผมเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการชุมนุมโดยตรงนะ เพราะเป็นเด็กมัธยมปลายที่จะเข้าไปเรียนพิเศษที่ย่านสยาม ผมต้องถูกค้นตัวเสมอ

จากนั้นก็ตัดสินใจเข้ามาเรียนคณะรัฐศาสตร์ ผมเข้าใจว่าหน้าที่ในการขจัดทุกข์บำรุงสุขจริงๆ ควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาล ผมเข้าถึงความรู้อีกมากมายที่ไม่ได้อยู่ในตำราเรียนประวัติศาสตร์ไทย ไม่ได้อยู่ในหลักสูตรหน้าที่พลเมือง ทำให้เรามองสถาบันฯ อย่างรอบด้าน ทำให้เห็นว่าเป็นความบกพร่องของโครงสร้างทางการเมือง ทั้งที่จริงๆ ถ้าเป็นโครงสร้างทางการเมืองปกติ ทั้งรัฐบาล รัฐสภา ควรแก้ไขความเดือดร้อนของประชาชนได้ ทำไมต้องไปดึงสถาบันฯ ซึ่งไม่ใช่หน้าที่เลย

ในระบอบประชาธิปไตยที่สถาบันฯ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ พระมหากษัตริย์ไม่ต้องทำอะไรแบบนี้ อยู่เป็นเพียงสัญลักษณ์ในเชิงพิธีการอย่างเดียว ไม่ต้องมาทำอะไรที่เหนื่อยพระองค์เอง

ผมเลยมาตั้งคำถามว่า ถ้าการเมืองมีระบบที่ดี ตอบสนองประชาชนได้ เป็นประชาธิปไตย รัฐบาลรับใช้ประชาชนอย่างเต็มที่ สถาบันฯ ก็ไม่จำเป็นต้องมาทำอะไรแบบนี้ สถาบันฯ ต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และจะไม่มีการแอบอ้างดึงสถาบันฯ มาใช้โจมตีกันทางการเมือง

 

แต่หลายคนกลับมองว่าฝันแบบนี้คือการ ‘ล้ม’ ไม่ใช่การปฏิรูปให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ

ล้มเจ้าคือไม่เอาเจ้า ล้มเจ้าคือสถาบันพระมหากษัตริย์ต้องหายไป เปลี่ยนเป็นสาธารณรัฐ แบบนี้คือล้มเจ้า

ทีนี้เราต้องดูหลักการว่าสถาบันฯ ในระบอบประชาธิปไตยควรจะเป็นอย่างไร ลองดูสถาบันฯ ในญี่ปุ่น อังกฤษ เดนมาร์ก สวีเดน ประเทศเหล่านี้มีกษัตริย์ทั้งนั้นเลย แล้วมั่นคงสถาพรเป็นที่เคารพของประชาชนในฐานะประมุขของรัฐด้วย

พอไปดูรายละเอียดแล้วที่เขาอยู่มั่นคงได้ขนาดนั้นเพราะอะไร เพราะปรับตัวอยู่ในกรอบของประชาธิปไตย มีพระราชอำนาจเท่าที่ระบอบประชาธิปไตยอนุญาตใช่ไหม

ที่ญี่ปุ่น พระมหากษัตริย์ไม่ได้มีอำนาจทางการเงิน เขาไม่ได้ถือสมบัติทรัพย์สิน ที่อังกฤษ ควีนอลิซาเบธไม่สามารถบัญชาการทหารได้โดยตรงใช่ไหมครับ

แต่ตอนนี้รัฐบาลเผด็จการที่มีอำนาจมา 6 ปี ดันไปผ่านร่างกฎหมายที่ขยายพระราชอำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเริ่มถอยห่างจากคำว่าประชาธิปไตยไปทกที การที่พระมหากษัตริย์ทรงคุมทรัพย์สินด้วยพระองค์เองได้ มีกองกำลังทหารหลายกองพัน มีพ.ร.ก.กำลังพลให้บัญชาการส่วนพระองค์ได้ แบบนี้ถือว่ารัฐบาลผิดมากที่ผ่านกฎหมายนี้ออกมา ทำให้สถาบันฯ ไทยห่างจากระบอบประชาธิปไตยมากขึ้น

 

ส่วนตัวคุณแคร์กับคนที่ยังซาบซึ้งหรือพึงพอใจการรับข้อมูลด้านเดียวอยู่ไหม

ผมคิดว่าเราต้องอธิบาย คงไปหักห้ามเขาไม่ได้ เขาก็เป็นคนในสังคมที่ต้องอยู่ร่วมกัน เราต้องอธิบายว่าการปฏิรูปตรงนี้คือต้องการให้สถาบันฯ อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นการรักษาพระเกียรติและความสง่างามของสถาบันฯ

ในศตวรรษที่ 21 การรักษาสถาบันฯ ที่ดีที่สุดคือการทำให้สอดคล้องกับระบอบประชาธิปไตย ส่วนเรื่องความศรัทธาก็เป็นเรื่องในใจ ไม่สามารถบังคับกันได้ และในทางกลับกันก็คนที่ศรัทธาก็ไม่มีสิทธิ์ไปลิดรอนสิทธิ์คนที่ไม่ได้ศรัทธาด้วย

ผมยกตัวอย่างคุณทิวากร วิถีตน แค่เขาใส่เสื้อ ‘หมดศรัทธา’ เขายังโดนจับเข้าโรงพยาบาลจิตเวช ทั้งๆ ที่เขาไม่ได้เป็นอะไร ผมคิดว่าเราต้องช่วยกันทำให้เรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นอีก ไม่ใช่แค่เรื่องสถาบันฯ แต่เรื่องศาสนา รสนิยมทางเพศ อาหาร อะไรต่างๆ ความหลากหลายควรเป็นเรื่องปกติ ไม่ควรมีการจับคนที่เห็นต่างไปเข้าคุก หรือไปคุกคามทำร้าย

 

ความฝันนี้จะเป็นฝันที่ยาวนานไหม

ผมว่าไม่ยาว เพราะว่าเราเลือกเส้นทางต่อสู้ผ่านกลไกที่เป็นทางการและเป็นโครงสร้างหลักในทางการเมืองการปกครอง สาระสำคัญอยู่ในรัฐธรรมนูญ เราต้องรีเซตรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ นั่นคือเส้นทางที่จะพาไปสู่ความฝันให้เป็นรูปธรรม ใครว่าเป็นความฝันเลื่อนลอยอันนี้ผมขอเถียง เพราะมันเป็นรูปธรรมมาก การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่ได้หมายความว่าจะล้มล้าง แต่คือการปฏิรูปให้เป็นระบอบประชาธิปไตย พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ เป็นประมุขอย่างสง่างามในระบอบประชาธิปไตย

 

เวลานี้อะไรที่ท้าทายขบวนการประชาธิปไตยมากที่สุด

ความหนักแน่นในจุดยืน (ตอบทันที) เราต้องหนักแน่นในจุดยืนที่เราประกาศไว้ว่าเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร

ในขบวนการเดียวกันต้องระวังว่าคุณอาจจะมีข้อเรียกร้องที่ต่างกันบ้าง แต่ต้องไม่ทำร้ายกันเอง เหมือนกับการสร้างแคมเปญรณรงค์ของประชาชนปลดแอก เราย้ำจุดยืนของเรา 3 ข้อเรียกร้อง 2 จุดยืน 1 ความฝัน ขณะเดียวกันถ้ามีแคมเปญอื่นๆ ขึ้นมาที่ต้องการเรียกร้องเหมือนกันในลักษณะใกล้เคียงกัน แต่ในรายละเอียดข้อเรียกร้องต่างกันไป คุณก็ทำได้ แต่อย่าพยายามทำลายแคมเปญของเพื่อน อย่าพยายามด้อยค่าข้อเรียกร้องของคนอื่นๆ ไม่ดิสเครดิตกันเอง

 

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save