fbpx
สัมผัสจริตเบอร์ลิน

สัมผัสจริตเบอร์ลิน

ยุกติ มุกดาวิจิตร เรื่องและภาพ

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

ผมเพิ่งไปเสนอผลงานและร่วมสัมมนาในงาน EuroSEAS 2019 เป็นงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของยุโรปที่จัดขึ้นทุก 2 ปี ปีนี้จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยฮุมบ็อลท์แห่งเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี หลังงานเลิกแล้ว ผมจึงถือโอกาสสัมผัสเรียนรู้ชีวิตผู้คนในดินแดนที่ผมไม่เคยมาเยือนมาก่อนเลยเสียหน่อย และอยากจะบันทึกเรื่องราวสัพเพเหระที่ได้เจอมา

สีสันประตูอพาร์ตเมนต์

สีสันประตูอพาร์ตเมนต์

กราฟฟิติในตลาดนัดของย่านสุดฮิปแห่งหนึ่ง

กราฟฟิติในตลาดนัดของย่านสุดฮิปแห่งหนึ่ง

1. เรียนรู้จากสัมผัสแรก

ตลอดหลายวันที่ผ่านมาในเบอร์ลิน ผมเลี่ยงไม่ไปดูข้าวของสะสมที่ยิ่งใหญ่อลังการ ซึ่งส่วนมากถูกพรากมาจากที่ต่างๆ ทั่วโลก หลายปีมานี้ผมเริ่มเบื่ออาคารและสิ่งของที่แสดงความยิ่งใหญ่หรูหรา และทนไม่ได้มากขึ้นทุกวันกับการไปร่วมตอกย้ำอำนาจของเจ้าอาณานิคมด้วยการไปชื่นชมของหรูหราแปลกประหลาดจากดินแดนต่างๆ เหล่านั้น

ตามประสานักเรียนมานุษยวิทยา ผมถูกสอนและก็สั่งสอนลูกศิษย์เสมอมาว่า ประสบการณ์แรกเริ่มในสังคมใดก็ตาม มักเป็นจุดเริ่มต้นสู่การเรียนรู้ที่ดี เนื่องจากเราจะยังไม่ค่อยเข้าใจระเบียบสังคมเหล่านั้น ยังไม่เข้าใจระบบความหมายเหล่านั้น แล้วจึงทำให้เราสงสัย ตื่นตะลึง หรือแม้แต่หงุดหงิด ไม่สบอารมณ์ จนในที่สุดเราจึงต้องพยายามหาความหมายจากมัน

แต่หากปล่อยให้ประสบการณ์นี้ผ่านไปแล้ว เราจะค่อยๆ ชินชากับมันจนลืมไปแล้วว่า ระบบระเบียบนั้นคืออะไร ถึงจุดนั้น หากเรายังอยู่ในสังคมนั้น เราก็อาจจะค่อยๆ ถูกกลืนกลายจนเป็นส่วนหนึ่งของระบบหรือชุดความหมายนั้นไปแล้ว

ผมมักใช้หลักการนี้เมื่อใดก็ตามที่ไปในที่ที่ไม่เคยไปมาก่อน แล้วพยายามบันทึกพร้อมหาความหมายจากมันในเบื้องต้น

ผมก็เลยใช้เวลาในเบอร์สินส่วนใหญ่เดินไปเดินมา นั่งกิน-ดื่มไปเรื่อยๆ สังเกตผู้คนบ้าง ได้พูดคุยกับผู้คนบ้าง แม้เล็กน้อยก็ยังดี ที่จริงก็ได้ไปพิพิธภัณฑ์บางแห่งบ้าง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับศิลปะร่วมสมัยมากกว่า

2. ชาวอุษาคเนย์ในเบอร์ลิน

แรกทีเดียวก็แปลกใจว่าทำไมที่เบอร์ลินมีร้านอาหารเวียดนามมากนัก แล้วเมื่อพูดคุยภาษาเวียดนามด้วย หลายคนก็พูดกับผมด้วยสำเนียงเวียดนามเหนือ มีเพียงไม่กี่คนที่พูดสำเนียงใต้ ซึ่งผิดจากคนเวียดนามที่ผมมักพบในต่างประเทศ เมื่อได้คุยกับคนเวียดนามพลัดถิ่นด้วยภาษาเวียดนามเหนือบางคน เขาเล่าว่าอยู่ที่นี่มานานหลายสิบปีแล้ว แต่ผมยังสงสัยว่าพวกคนที่อายุน้อยกว่าผม คือคนที่อพยพมาใหม่มากกว่า

แล้วนั่นก็ทำให้ยิ่งอยากเรียนรู้เรื่องพวกเขามากขึ้น ผมได้ยินคำบอกเล่าว่าคนเหล่านี้เชื่อมโยงกับเยอรมนีตั้งแต่ทศวรรษ 70-80 คนเวียดนามเหนือมาเป็นแรงงานในเยอรมนีตะวันออก ว่ากันว่าชุมชนชาวเอเชียตะวันออกในเบอร์ลินนั้น ชุมชนเวียดนามมีขนาดใหญ่ที่สุด มีประชากรร่วม 40,000 คน หรือ 1% กว่าๆ ของประชากรเบอร์ลิน 3 ล้านคน

อาหารเวียดนามที่เบอร์ลินส่วนมากจึงเป็นอาหารเหนือและอาหารใต้ที่ทำสไตล์คนเหนือ อย่างเฝอแบบฮานอย บู๋นจ่า (ขนมจีนหมูย่าง) หรือแนมสาน (ปอเปี๊ยะทอด) ก็เป็นสไตล์ฮานอย ส่วนอาหารใต้สไตล์ฮานอยอย่างบู๋นบ่อนามโบะ (ขนมจีนเนื้อย่าง) บู๋นบ่อหเว๋ (ขนมจีนเนื้อเปื่อยแบบเว้) ก็ได้รสชาติเหมือนกินแบบที่ฮานอย ส่วนอาหารใต้ในร้านอาหารใต้ อย่างแบ๋งแส่ว (ขนมเบื้องญวน) ก็เสิร์ฟแบบคนใต้ คือมีผักแนมที่เอาไว้ห่อได้ด้วยครบครัน ที่สำคัญคือเครื่องจิ้มทั้งในร้านอาหารเหนือและอาหารใต้ ต่างก็มีแบบที่ปัจจุบันแทบหายากแล้วในเมืองใหญ่ในเวียดนาม อย่างพริกแห้งคั่วน้ำมัน พริกเผาแบบเวียด ซอสพริก และเตือง (เต้าเจี้ยวเวียดนาม)

ขอบันทึกไว้อีกเล็กน้อยว่า หากมองหาอาหารไทยในเบอร์ลินไม่เจอ ก็ให้ไปหาที่ร้านอาหารเวียดนาม เพราะมักจะมีอาหารไทยขายอยู่ด้วย บางร้านก็บอกว่าคนทำกับข้าวในครัวมีทั้งคนไทยและคนเวียดนาม แต่ผมยังไม่ได้ชิมอาหารไทยที่นั่น

ความจริงชุมชนเอเชียยังมีอีกหลายชุมชน ที่เด่นๆ ก็ชาวเตอร์กิช และน่าจะมีคนเอเชียอื่นๆ อีกมาก แต่ไปคราวนี้ ผมยังไม่ได้มีโอกาสสัมผัสชุมชนชาวเตอร์กิชมากนัก มีร้านตุรกีที่น่าชิมเป็นจำนวนมาก

เครื่องดื่มบนโต๊ะในบาร์ริมรั้วมหาวิทยาลัย

เครื่องดื่มบนโต๊ะในบาร์ริมรั้วมหาวิทยาลัย

ร้าน Brot & Wine ขายทั้งขนมปัง ไวน์ และกาแฟ

ร้าน Brot & Wine ขายทั้งขนมปัง ไวน์ และกาแฟ

3. ชาวเยอรมันไม่ได้ดื่มแต่เบียร์

โชคดีมีโอกาสได้คุยกับคนเยอรมันที่อยู่เบอร์ลินนานๆ มาบ้าง เขาช่วยตอบคำถามเพี้ยนๆ ของคนนอกอย่างผมได้บ้าง ไม่ได้บ้าง เช่น ผมถามว่า “บริษัทผลิตเบียร์มีมากขนาดไหน” ก็ได้คำตอบว่า “หากไม่นับเบียร์คราฟ ก็มีสัก 500 เจ้าได้” เฉพาะที่ผมได้ชิมมานับสิบยี่ห้อทั้งในร้านอาหารและในร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเมื่อเปิดร้านก็ขายเบียร์ได้ทันที ก็มีจำนวนมากเหลือเฟือแล้ว

สิ่งหนึ่งที่สังเกตเห็นคือ คนเยอรมันใส่ใจกับแก้วเบียร์มาก ที่จริงเครื่องดื่มอะไรเขาก็ใส่ใจทั้งนั้น แต่โดยเฉพาะเบียร์แล้ว แต่ละร้านล้วนมีแก้วเบียร์ที่สวยงาม แถมยังมีขนบการรินเบียร์ที่ต้องมีฟองอยู่ชั้นหนึ่งพอดีกับที่ว่างสำหรับฟองด้านบนแก้ว

ถ้าว่าถึงรสชาติ สัมผัส สีสัน ของเบียร์แล้ว ส่วนใหญ่แค่มีตัวเลือกหลักคือ ไวเซน (Weissbier คือวีทเบียร์ หรือเบียร์ที่ผสมวีทมากกว่าบาร์ลีย์) กับพิลสเนอร์ (Pilsner คือลาร์เกอร์ชนิดหนึ่ง) ก็นับว่าไม่ผิดหวังและไม่นาเบื่อแล้ว แถมยังมีเอลแบบต่างๆ แทรกแซมบ้าง ส่วนใหญ่เอลเป็นขวดมีมากกว่าในร้านทั่วไป แต่รับรองว่าร้านอาหารต้องมีเบียร์ขาย ไม่ว่าจะร้านราคาย่อมเยาหรือร้านแบบห้องอาหาร อาจจะยกเว้นร้านมุสลิม แต่ถ้าเป็นห้องอาหารก็มักมีเบียร์สดด้วย

สิ่งหนึ่งที่ผมสัมผัสได้คือโรงเบียร์ที่เยอรมนีเขาไม่ได้แข่งกันที่การทำเบียร์หรือเอลหลายชนิดแบบในอเมริกา ซึ่งผมเคยอยู่มานานหลายปี แต่เยอรมนีเขาแข่งกันทำให้เบียร์มีรสชาติเฉพาะตัวอย่างละเอียดอ่อนทั้งรสและกลิ่น จนแม้ว่าจะเป็นเบียร์ชนิดเดียวกัน แต่ละเจ้าก็ต่างกันชัดเจน หรือพูดจากมุมของคนดื่มแล้ว ถ้าคุณเบื่อวีทหรือพิลสเนอร์ของเบียร์ยี่ห้อหนึ่ง ก็เปลี่ยนไปดื่มของอีกยี่ห้อสิ รับรองว่าจะไม่ซ้ำกันเลย หรืออาจจะแตกต่างกันมากด้วยซ้ำ

เครื่องดื่มอีกชนิดที่ทำให้แปลกใจตั้งแต่วันแรกๆ ที่มาคือ ผมสงสัยว่าทำไมไวน์เยอรมันถึงมีมากนัก มากไม่แพ้ไวน์ที่รู้จักกันในแหล่งผลิตไวน์อื่นๆ เลย แล้วราคากลับถูกมาก ราคาไวน์ที่ขายในร้านขายของชำหรือที่เราเรียกซูเปอร์มาร์เก็ตมักราคาถูกมาก แค่ขวดละ 3-5 ยูโร หรือขวดละร้อยกว่าบาทก็ดื่มได้และมีให้เลือกมากมายมหาศาลแล้ว ร้านขายไวน์โดยเฉพาะจะมีราคาตั้งแต่ 7-12 ยูโร ไปจนถึง 20-30 ยูโรก็มี ผมลองดื่มกับพรรคพวกก็หลายสิบขวด ชิมตั้งแต่ขวดละ 3 ไปจนถึงขวดละ 10 ยูโร ล้วนดีงามทั้งสิ้น ระดับราคาไวน์ที่นี่บอกคุณภาพ ความละเอียดอ่อน ความลึกล้ำอย่างแตกต่างได้ชัดเจนจริงๆ

แม้ว่าหากจะต้องการหาไวน์ฝรั่งเศส อิตาเลียน ออสเตรเลีย ชิลี แอฟริกาใต้ อาร์เจนตินา อเมริกัน ร้านเหล่านี้ก็มีให้เลือกทั้งนั้น แต่ร้านที่มีไวน์ขาย มักเน้นไวน์ยุโรปมากกว่า ส่วนผมเองก็เน้นชิมไวน์เยอรมันมากกว่า เพราะหาดื่มนอกเยอรมันไม่ค่อยได้

พูดถึงร้านขายไวน์ ร้านขายไวน์มีหลายลักษณะ ไวน์ราคาถูกมีในร้านสะดวกซื้อ ร้านของกินและเครื่องดื่มเล็กๆ ที่ขายทั้งเบียร์ ไวน์ และของกินเล่น ร้านไวน์ที่เน้นขายไวน์เลือกสรรค์ ร้านกาแฟบางร้านก็เลือกไวน์มาขายอย่างตั้งใจ ร้านไวน์บางร้านเลือกไวน์อย่างดีแล้วขายแต่ไวน์ ร้านไวน์บางร้านขายชีสและไส้กรอกโฮมเมดด้วย พร้อมมีที่ให้นั่งจิบไวน์กับไส้กรอกและชีส

ถ้าใครชอบดื่มไวน์ รับรองที่นี่เป็นสวรรค์อีกชั้นหนึ่งของคนดื่มไวน์เลย ร้านไวน์ทั่วไปขายทั้งขวด และขายเป็นแก้วขนาดเล็กหรือใหญ่ หากพูดคุยมากหน่อย เขาก็จะแนะนำแล้วให้ดื่มชิมก่อนอย่างดี ผมยังเสียดายที่ให้เวลากับร้านไวน์น้อยเกินไป

ว่าเฉพาะไวน์เยอรมัน หลายคนรู้จักไวน์ขาวอย่าง Riesling (รีสลิง) กับ Gewürztraminer (เกวูดทราไมเนอร์) แต่ที่ผมเจอมีมากกว่า 2 ชนิดนั้นเยอะมาก และยังมีหลายชนิดมากทั้งไวน์แดงและไวน์ขาว หากเลี่ยงองุ่น 2 ชนิดที่เอ่ยถึงนั่นแล้วล่ะก็ รับรองว่าหากไม่ได้อยู่นานๆ ก็ไม่มีทางดื่มกันได้ครบชนิดไวน์ได้ง่ายๆ

สลากไวน์จะบอกชื่อผู้ผลิตไวน์ ปีที่ผลิต ชื่อองุ่น ถิ่นที่ปลูก รสชาติออกหวานหรือฝาด มักแบ่งเป็น 4 ระดับ ส่วนใหญ่มีคำอธิบายเป็นภาษาเยอรมันว่ารสชาติในรายละเอียดเป็นอย่างไร เหมาะกับอาหารอะไร ถ้าถามคนขาย เขาก็มักอธิบายได้ดีจนอยากชิมไปเสียทุกขวด ทั้งไวน์แดงและไวน์ขาวจำนวนมากมีรสชาติที่รับรองว่าแตกต่างจากไวน์โลกใหม่ในอเมริกา ออสเตรเลีย อาร์เจนตินา ชิลี จนบางชนิดนี่แตกต่างอย่างลิบลับ และหากเพิ่มเงินหน่อย ก็จะพบกับความละเอียดอ่อนมากขึ้น หรือบางครั้งอาจเจอไวน์ผสมองุ่นหลายชนิด ที่ละเอียดจนพอเทียบได้กับไวน์อิตาเลียน ไวน์ฝรั่งเศสดีๆ เลยทีเดียว

ผมถามชาวเยอรมันว่า “ทำไมเยอรมนีถึงมีไวน์มากนัก” เขาตอบว่า “ทางใต้ของเยอรมันมีภูมิอากาศใกล้เคียงฝรั่งเศส จึงผลิตไวน์ได้มากเช่นกัน” แต่ผมคิดเอาเองว่ารากเหง้าการดื่มไวน์ในเยอรมันคงไม่แพ้ฝรั่งเศสและอิตาลี ขณะที่คนส่วนใหญ่คิดว่าเยอรมันเป็นเมืองเบียร์ แต่ผมว่าเยอรมนีเป็นพรมแดนของการดื่มเหล้าองุ่นและเบียร์มอลต์-วีท เขารวมเอาทั้งวัฒนธรรมไวน์และเบียร์มาไว้ด้วยกันอย่างประหลาด คือเด่นทั้งสองด้าน ว่าที่จริงแล้ว อเมริกาและออสเตรเลียก็เป็นอย่างนี้เช่นกัน เพียงแต่ไม่มีความหลากหลายขององุ่นเท่าในเยอรมนี

พูดถึงความราคาถูกของไวน์เยอรมัน ถูกขนาดบางครั้งเรียกได้ว่าถูกกว่าเบียร์เสียอีก ผมเข้าใจว่าชาวเยอรมันคงไม่อยากทำไวน์ส่งออกมาก ก็เลยคงราคาขายสำหรับในประเทศไว้ให้ต่ำได้ และหากแข่งกับอิตาลีและฝรั่งเศส ก็คงลำบาก ไวน์เยอรมันที่รู้จักกันนอกเยอรมันจึงมีน้อยมาก

ว่าด้วยเรื่องเครื่องดื่มแล้ว ชาวเยอรมันดูจะดื่มกาแฟกันอย่างจริงจังเป็นปกติ ร้านกาแฟในเบอร์ลินมีมากมาย ชนิดที่ถ้าใครยังขืนไปตามล่าหาร้านกาแฟตราดาวสีเขียวแล้วล่ะก็ ไม่รู้จะมาเบอร์ลินไปเพื่ออะไรกัน ผมเองชอบดื่มกาแฟ แต่ก็ไม่ได้ค่อยนั่งร้านกาแฟบ่อยนัก เมื่อมาเบอร์ลินก็ยังชอบร้านกาแฟในเบอร์ลิน ที่สำคัญคือส่วนใหญ่ไม่ได้ขายแต่กาแฟ มีตั้งแต่ร้านอาหารเช้า ที่มีแซนวิชและขนมมากมาย มีร้านขนม ที่มีทั้งขนมปังและขนมหวาน แบบที่ถ้าเรียกแบบไทยๆ ก็เรียก “ร้านเบเกอรี่” นั่นเเหละ แต่เขามักมีกาแฟขายด้วย แล้วร้านกาแฟก็มักมีเมล็ดกาแฟที่ร้านใช้ขายอยู่ด้วย ถ้าดื่มแล้วชอบก็ซื้อเมล็ดกลับไปชงเองได้

พูดถึงราคากาแฟ นอกจากขึ้นอยู่กับวิธีชงและชนิดกาแฟแล้ว ยังขึ้นกับถิ่นที่ตั้งร้านอีกพอสมควรด้วย ถ้าร้านอยู่ในย่านนักท่องเที่ยวก็ 3-4 ยูโร ถ้าห่างออกไปหน่อยในย่านที่พักอาศัยก็ 1.5-2.5 ยูโร ราคาขนมก็เช่นกัน

มีร้านหนึ่งที่ผมชอบมาก คือชอบทั้งบรรยากาศ ผู้คนซึ่งพักอาศัยอยู่ย่านนั้นมานั่งกิน ร้านชื่อว่า “ขนมปังและไวน์” แต่ในร้านขายขนมหวานและกาแฟด้วย ทีแรกผมเห็นมีไวน์ก็เลยตั้งใจจะไปซื้อไวน์ เพราะคิดว่าเขาน่ามีไวน์ที่เลือกสรรมาพิเศษตามรสนิยมของเจ้าของร้านมาขาย ซึ่งก็จริง เพราะเจ้าของร้านเป็นป้าน่ารักคนหนึ่ง ที่น่าจะอบขนมเอง เลือกไวน์และกาแฟเอง เธอมีไวน์ให้เลือกสัก 20 ตัวได้ ผมถามเธอให้เธอแนะนำ เธอก็พยายามอธิบายเท่าที่ภาษาอังกฤษเธอจะช่วยได้ แต่เมื่ออยู่ต่อหน้าขนมอบต่างๆ ของเธอแล้ว ผมก็ตกภวังค์ขนม เลยนั่งดื่มกาแฟกับกินขนมอบไปหนึ่งชิ้น ราคารวมแล้วทั้งขนม กาแฟหนึ่งแก้ว และไวน์หนึ่งขวด ก็ 10 ยูโร

ส่วนชา ผมลองแล้วไม่ถูกปาก จางไปกว่าจริตคนชอบดื่มชานมแบบอินเดียและปากีสถาน ไม่ก็ชาจีนเพียวๆ ไปเลยอย่างผม แต่ยังมีเครื่องดื่มผลไม้อีกมากซึ่งมักมีขายในร้านอาหาร แต่ผมไปหลงวงเวียนกับเบียร์และไวน์จนไม่เหลือท้องว่างและเวลาให้เครื่องดื่มชนิดอื่นๆ

Currywurst

Currywurst

ขาหมูแบบต้มเคี่ยว

ขาหมูแบบต้มเคี่ยว

4. อาหารจานเยอรมัน

ผมยังได้รู้จักอาหารเยอรมันอีกหลายจาน ซึ่งที่จริงก็ไม่ได้ยากอะไรหากจะค้นดูตามอินเทอร์เน็ต แต่ที่สำคัญคือเมื่อได้ชิม จึงพอรู้ว่ารสชาติ กลิ่น สัมผัส ความสุกดิบ ของอาหารแต่ละจานเขาทำกันอย่างไร แม้จะไม่มากพอ แต่ก็ทำให้ได้เข้าใจอาหารเยอรมันพอสมควร อาหารหลายจานที่ผมชอบตั้งแต่อยู่อเมริกา อย่างบราตเวิร์สต์หรือไส้กรอกหมูสดสับนั้น ผมพบว่าที่เยอรมนีอร่อยกว่ามากและมีหลายสไตล์มากจริงๆ

ผมไม่ได้ชิมชนิทเซล เพราะคิดว่ามันไม่มีรสชาติอะไร แต่บางร้านก็ทำดูดีอยู่ แต่ผมก็ไม่อยากชิมอยู่ดี ได้แต่วนเวียนกินขาหมู ทั้งแบบทอดหนังกรอบและแบบต้มเคี่ยว ไม่รู้ว่าบังเอิญเจอร้านอร่อย หรือเพราะยังกินไม่มากพอ หรือเพราะหิวโหย ผมชอบทั้งสองแบบ ที่ชอบมากและคิดว่าหากินนอกเยอรมนียากหน่อยคือแบบต้มเคี่ยว หนังหยุ่น เนื้อเปื่อยกำลังดี รสชาติไม่เค็มมาก เขาปรุงรสด้วยเครื่องเทศแบบหลบซ่อนคล้ายบราสเวิร์สต์ เคียงด้วยเซาเออเคราต์หรือกะหล่ำปลีดองของที่นี่ มันไม่เค็มมาก ออกเปรี้ยวนิดๆ เปื่อยยุ่ยกำลังดี จิ้มมัสตาร์ดรสจัดหน่อย ไปได้ดีกับเบียร์ ส่วนแบบทอด ที่จริงก็ชอบมากเช่นกัน ร้านที่ไปกินทอดหนังกรอบไม่แพ้หมูกรอบที่กรุงเทพฯ

อาหารที่ตอนนี้กลายเป็น iconic dish ของเบอร์ลินจานหนึ่งคือ Currywurst ซึ่งลองมาหลายร้านก็ยังเฉยๆ มันคือไส้กรอกเนื้อแดง เคียงเฟรนช์ฟราย ราดเค็ชฉับ แล้วโรยผงกะหรี่ซึ่งทำให้อาหารจานนี้ได้คำว่า “แกง” มา แต่ก็เดาว่านี่น่าจะเป็นอาหารจานใหม่ที่ชาวเยอรมันคิดว่ามันคือการกินไส้กรอกอย่างกล้าหาญที่สุดแล้ว

สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือขนมปัง เรื่องนี้เรื่องยาว แต่ใครก็ตามที่ชอบขนมปังและเข้าใจว่าขนมปังเป็นอาหาร ไม่ใช่ “ขนม” ก็ย่อมต้องเข้าใจว่า ขนมปังเยอรมันอร่อยจริงจังขนาดไหน

อีกสิ่งหนึ่งที่น่าสังเกตคือ นอกจากร้านเสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าแล้ว ผมถามคนเยอรมันว่า “ทำไมจึงมีร้านขายเครื่องครัวมากมายนัก” ผมคิดว่าน่าจะเป็นเพราะประเทศนี้มีประวัติศาสตร์การออกแบบชีวิตสมัยใหม่ที่ยาวนาน และยังเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการออกแบบมาตั้งแต่ปลายศตวรรษที่ 19 ถึงต้นศตวรรษที่ 20 แต่คำตอบที่ได้จากชายวัยกลางคนชาวเยอรมันคือ “ผู้ชายเยอรมันชอบทำกับข้าววันอาทิตย์ แล้วเวลาผู้ชายทำกับข้าว พวกเขาเน้นอุปกรณ์มากกว่าฝีมือ ร้านขายเครื่องครัวก็เลยมีมากเพื่อบำเรอผู้ชายที่อยากทำกับข้าวเหล่านี้” พอเขาพูดจบ วงสนทนาก็หัวเราะเฮฮากันอย่างแรง

แต่ส่วนตัวผมแล้ว เมื่อได้ไปพักในที่พักแบบมีครัว มีเครื่องครัวพร้อม และเมื่อได้เจอของสดราคาย่อมเยา เจอสเต็กดีๆ ชิ้นละ 5-6 ยูโร เจอไส้กรอกเส้นละประมาณ 10-15 บาทถ้าคิดเป็นเงินไทย แฮมหรือหมูดิบแผ่นบางแบบพามาแฮม แต่เยอรมันเรียก “ชิงเค่น” ราคาถูกกว่าในอเมริกาและที่อื่นๆ มากนัก ก็ทำให้อยากทำกับข้าว ซึ่งส่วนใหญ่ก็คือทำสเต็กนั่นแหละ ก็เลยทำให้พบว่าคุณภาพชีวิตคนเยอรมันดีกว่าคนไทยมาก แถมอาหารการกินยังถูกกว่าในกรุงเทพฯ มาก ผักผลไม้ราคาถูกกว่าในอเมริกา ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น อย่างมาก เนื้อสัตว์คุณภาพดี ไส้กรอกคุณภาพดี แต่ราคาถูกอย่างเหลือเชื่อ ยิ่งได้รู้จักด้านนี้ของเยอรมัน ผมยิ่งเศร้าใจว่า ทำไมคนไทยต้องทนอยู่กับคุณภาพชีวิตที่แย่แต่ราคาแพง

ซากกำแพงเบอร์ลิน

ซากกำแพงเบอร์ลิน

หมุดบนทางเดินบันทึกชื่อผู้เคยอาศัยบริเวณนั้นที่เป็นเหยื่อของนาซี ถูกนำไปกักกันและสังหาร

หมุดบนทางเดินบันทึกชื่อผู้เคยอาศัยบริเวณนั้นที่เป็นเหยื่อของนาซี ถูกนำไปกักกันและสังหาร

5. เมืองหดหู่ที่น่ารื่นรมย์

อันที่จริงยังมีเรื่องอีกมากมายที่ไม่ได้เขียนถึงจริตแบบเบอร์ลิน อย่างความเป็นมิตรกับหมาซึ่งถูกฝึกมาอย่างดี และคนเลี้ยงหมาที่ดูแลหมาดีมาก ความเป็นเมืองจักรยาน มีทางจักรยานดี คนใช้จักรยานเยอะ เมืองส่งเสริมการใช้จักรยานและสกูตเตอร์ ผู้ชายเลี้ยงลูกเล็กๆ มีให้เห็นทั่วไป การไม่ต้องให้ทิป ความหลากหลายจริงจังของร้านบางแบบ ความเกือบไร้ระเบียบของคนที่นี่ ความสบายๆ เมามาย คูลๆ ของชาวเยอรมันบ้าง นักท่องเที่ยวบ้าง คนอพยพบ้าง รวมทั้งเรื่องร้ายๆ ของการกลั่นแกล้ง ทำร้าย ฉกชิงคนต่างถิ่น ทั้งหมดที่ว่ามาทำให้การเดินทางครั้งนี้ผมได้เรียนรู้ชีวิตผู้คนได้ดีไม่น้อยไปกว่าการไปเยี่ยมชมโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์

เบอร์ลินมีกลิ่นอายของความหดหู่ ความน่าอดสูของมนุษยชาติ เมืองทั้งเมืองเป็นอนุสรณ์สถานความเลวร้ายของมนุษยชาติ หมุดทองเหลืองบอกเล่าประวัติชาวยิวที่ถูกสังหาร อนุสรณ์สถานต่างๆ แม้แต่สถานีรถไฟบางแห่งที่บอกเล่าเรื่องราวการส่งคนไปสังหาร เบอร์ลินมีซากอาคาร ซากกำแพงเบอร์ลิน มีเรื่องเล่าในพิพิธภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการเข่นฆ่าของนาซีและสงครามโลก มีร่องรอยความเลวร้ายของนาซีที่กระทำต่ออะไรต่อมิอะไร ตั้งแต่ชีวิตประจำวันไปจนถึงศิลปะวิทยาการของมนุษย์

ความรื่นรมย์ในเบอร์ลินจึงปะปนไปด้วยความหดหู่และกระอักกระอ่วน ทั้งต้องเรียนรู้ความผิดพลาด อยู่กับบาดแผล และก้าวไปข้างหน้า เปิดรับผู้คนและความคิดที่มาสมทบใหม่ๆ เสมอ เบอร์ลินมีทั้งความโศกเศร้าปะปนอยู่กับพลังสร้างสรรค์ไปทั่วทั้งเมือง

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save