fbpx

TÁR เสียงบัญชาจากปลายบาตอง ในจังหวะทำนองห้องนรก!

ปฐมลิขิต: บทวิจารณ์นี้เปิดเผยเนื้อหาส่วนสำคัญของหนัง

แม้จะไม่ได้มีผลงานชุกเหมือนผู้กำกับคนอื่นๆ หากเมื่อผู้กำกับ ทอดด์ ฟีลด์ (Todd Field) ขยับตัวทำหนังออกมาแต่ละครั้ง ก็เป็นต้องเปรี้ยงต้องปังโด่งดังจนมีโอกาสลุ้นรางวัลออสการ์มาแล้วทุกเรื่อง ไม่ว่าจะ In the Bedroom (2001) หรือ Little Children (2006) และล่าสุด Tár (2022) ที่เพิ่งมีชื่อติดโผเข้าชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 95 ถึงหกสาขา รวมถึงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแห่งปี

แต่การกลับมาพร้อมผลงานอย่าง Tár ในคราวนี้ ดูเหมือนฟีลด์จะพัฒนาแนวทางของตัวเองแบบก้าวกระโดด จากสองเรื่องแรกที่มีเนื้อหากว้างๆ สร้างสำหรับคนดูกลุ่มใหญ่โดยทั่วไป เรื่องราวชีวิตที่ดีดตัวจากจุดสูงสุดของวาทยกรหญิงสมมตินาม ลิเดีย ทาร์ (Lydia Tár) ดำดิ่งมาสู่จุดต่ำสุดอย่างรวดเร็วจนน่าใจหายใน Tár เดินหน้าแฉเบื้องลึกเบื้องหลังธุรกิจการจัดแสดงและอัดแผ่นขายของวงการดนตรีคลาสสิกชั้นนำของโลกว่าล้วนแต่ซ่อนความอำมหิตไว้น่ากลัวเพียงใด ไม่ว่าเบื้องหน้าเวทีจะดูดีมีอารยะกันขนาดไหน เบื้องหลังต่างจ้วงแทงแข่งขันกันแบบเอาเป็นเอาตาย ใครเก่งกว่าแกร่งกว่าก็จะรอดไป แต่หากใครแสดงความอ่อนแออ่อนไหวออกมาเมื่อไหร่ ก็จะถูกผลักตกจากเวทีได้โดยทันที!

และเพื่อสะท้อนให้เห็นถึงเรื่องฉาวหลังม่านวงการดนตรีคลาสสิกร่วมสมัย ฟีลด์ที่ทั้งกำกับและเขียนบทจึงจำเป็นต้องลงรายละเอียดแบบเจาะลึกถึงกิจกรรมการสร้างความดื่มด่ำต่อบทเพลงของคีตกวีเลื่องชื่อในอดีตแบบไม่ประนีประนอม ยอมหันหลังให้คนดูที่ไม่ได้คลุกคลีหรือมีประสบการณ์เสพดนตรีคลาสสิกมาก่อนจนอาจทำให้ไม่เข้าใจมุกกัดแซะทั้งหลายในหนัง ที่บางครั้งก็มาด้วยชื่อย่อแบบเรียกสั้นๆ ชนิดถ้าฟังไม่ทันว่ามันคืออะไรก็อาจต้องงงเป็นไก่ตาแตกอยู่หลายนาทีว่า “นี่พวกเขากำลังคุยเรื่องอะไรกัน!” หนังอย่าง Tár จึงถือได้ว่าเป็นผลงานเลือกคนดู วางตัวอยู่บนหอคอย ปล่อยให้พวกเขาเป็นฝ่ายปีนกระไดไต่พะอง ถ้าไม่อยากงงก็จงไปร่ำเรียนทั้งด้านทฤษฎีดนตรีและ Music Appreciation มา ทั้งยังต้องรู้จักหาฟังว่าวาทยกรคนไหนมีลายเซ็นทางดนตรีแบบใด และอย่างน้อยๆ ก็ต้องเข้าใจบทประพันธ์ดังอย่าง ‘ซิมโฟนี หมายเลข 5’ ของ กุสตัฟ มาห์เลอร์ (Gustav Mahler -คีตกวีและวาทยกรชาวโบฮีเมีย-ออสเตรีย) ครบทุกท่อนกระบวน รวมถึง ‘เชลโลคอนแชร์โต’ ในบันไดเสียงอีไมเนอร์ op.85 ของ เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ (Edward Elgar -นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ) จึงจะติดตามเนื้อหาสาระสำคัญของหนังได้โดยไม่ตกหล่น!

บุคคลสำคัญที่ฟีลด์ยกให้เป็นศูนย์กลางในหนังเรื่องนี้คือลิเดีย ทาร์ วาทยกรหญิงชื่อดังกระฉ่อนวงการดนตรีคลาสสิก ที่น่าเศร้าใจว่า ในโลกความเป็นจริงเรายังไม่เคยมีวาทยกรสตรีที่ประสบความสำเร็จระดับสามารถอัดผลงานซิมโฟนีทั้งสิบบทของมาห์เลอร์ลงแผ่น box-set กับค่ายดนตรีชื่อดังอย่าง Deutsche Grammophon มาก่อนได้ แล้วให้นักแสดงหญิงแถวหน้าของวงการอย่าง เคต แบลนเชตต์ (Cate Blanchett) มารับบทบาทเป็นลิเดีย ทาร์

น่าจะเป็นเจตนาของผู้กำกับ/เขียนบทของฟีลด์เองในการสร้างตัวละครให้ลิเดีย ทาร์ มีลักษณะที่เรียกว่า ‘อารยะขัดขืน’ ยืนตระหง่านอย่างโดดเด่นเป็นนักปฏิวัติหัวขบถที่มุ่งนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ให้วงการที่ครอบครองโดยศิลปินเพศชายมาเป็นเวลาหลายร้อยปี โดยให้เธอมีรสนิยมทางเพศเป็นเลสเบี้ยนมีครอบครัวอาศัยอยู่กินกับ ชารอน (นีนา ฮอสส์) นักไวโอลินหนึ่ง หัวหน้าวงเบอร์ลินฟิลฮาร์โมนิกออเคสตราคู่ใจ พร้อมด้วยบุตรสาว เพทรา (มิลา โบโกเยวิก) วัยหกขวบที่กำลังมีพฤติกรรมไม่น่าวางใจในอพาร์ทเมนต์หรูกลางกรุงเบอร์ลิน แล้วสร้างกลิ่นอายการเป็นหนังเขย่าขวัญจิตวิทยา (psychological thriller) ช่วงครึ่งหลัง เพื่อสร้างพลังความน่าตื่นระทึกในการแฉให้เห็นถึงเบื้องหลังความโสมมและปมยึดติดอยู่กับอำนาจของผู้ประกอบอาชีพเป็นวาทยกรในวงการดนตรีคลาสสิก

ฟีลด์ได้สำแดงให้ผู้ชมเห็นถึงความรู้ความสามารถระดับหาตัวจับยาก รวมถึงบุคลิกและตัวตนของทาร์ผ่านสองฉากสำคัญในช่วงแรก นั่นคือ ฉากการให้สัมภาษณ์งานเสวนา ณ หอประชุมขนาดใหญ่กับพิธีกร และฉากการสอนมาสเตอร์คลาสส์ (masterclass -การให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการแสดงดนตรีสอนนักดนตรีรุ่นใหม่ๆ ในการบรรเลง โดยเปิดให้ผู้ชมที่สนใจเข้าร่วมฟังได้) ณ วิทยาลัยการดนตรีจูลิอาร์ด (Julliard) ที่คลาคล่ำไปด้วยศัพท์แสงและบริบทประวัติศาสตร์ของวงการดนตรีคลาสสิกแบบคลุกวงใน

ช่วงที่ทาร์ให้สัมภาษณ์ พิธีกรพยายามจะติดตลกด้วยการถามทั้งคำถามงี่เง่าและคำถามเข้าเรื่อง ท้าทายให้ทาร์ใช้ทั้งสติปัญญาและประสบการณ์ให้คำตอบที่จะสะท้อนตัวตนความเป็นตัวเธอมากที่สุดโดยยังคงรักษามารยาท เช่นตอนที่พิธีกรถามเผื่อคนที่ไม่รู้ว่า ‘วาทยกร’ เขามีหน้าที่ทำอะไรมากไปกว่าการเป็น ‘เมโทรโนมมนุษย์’ คอยให้จังหวะนักดนตรี (Metronome -เครื่องจักรให้จังหวะดนตรี มีหน่วยนับเป็น เคาะต่อนาที ในช่วงกลางเรื่องคนดูจะได้เห็นเมโทรโนมเปิดเล่นจังหวะเองกลางดึกในบ้านพักของทาร์) ด้วยหรือ00 เพราะวาทยกรเองก็ไม่เห็นจะถือเครื่องดนตรีใดๆ สักชิ้นนอกจากไม้บาตองในมือ หน้าที่ในการสร้างเสียงอันไพเราะล้วนมาจากนักดนตรีตรงหน้า! ซึ่งทาร์ก็ยังอุตส่าห์รักษาหน้าพิธีกรด้วยการตอบว่า ส่วนหนึ่งก็ใช่! แต่ก็ยังมีอะไรมากมายกว่านั้นผ่านการเคลื่อนไหวร่ายรำของนิ้วมือและไม้บาตองที่ต้องสื่อสารประคับประคองทุกจังหวะจะโคนของเสียงดนตรีที่คนนอกวงอาจจะไม่เคยรู้ แต่เหนืออื่นใดคือทุกอาการที่ผู้ชมเห็นวาทยกรแสดงอยู่บนเวทีก็ไม่มีอะไรมากไปกว่าการ ‘ให้คิว’ ในช่วงของการแสดงสดเท่านั้น เพราะงานเกิน 90% ของวาทยกรอยู่ที่ช่วงของการฝึกซ้อมนัดแนะการตีความสร้างความพร้อมเพรียงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทางการแสดง เมื่อทั้งวงคุยกันเข้าใจแล้ว วันแสดงก็แค่ทำตามที่เคยตกลงกัน สิ่งที่พิธีกรถามลึกๆ แล้วจึงมีเหตุผลอันเข้าใจได้ เพราะในทางหนึ่งมันก็เป็นไปเช่นนั้นจริงๆ ตามที่ทาร์ตอบ

Cate Blanchett stars as Lydia Tár in director Todd Field’s TÁR, a Focus Features release. Credit: Courtesy of Focus Features

แต่ส่วนที่น่าสนใจในการสัมภาษณ์นี้ก็คือ วิธีการทำงานของทาร์ที่ดูจะปวราณาสมาทานตนเป็นศิษยานุศิษย์ของคีตกวีและวาทยกรเพศชายด้วยความเคารพเลื่อมใส เธอมี เลโอนาร์ด เบิร์นสไตน์ Leonard Bernstein -วาทยกรชาวอเมริกัน) เป็นเมนทอร์ ศึกษางานการควบคุมดนตรีของ เคลาดิโอ อับบาโด (Claudio Abbado -วาทยกรชาวอิตาเลียน) หลงใหลในสำเนียงดนตรีของนักประพันธ์แนว ‘ชายแท้’ ยุคโรแมนติกถึงคริสต์ศตวรรษที่ 20 อย่าง กุสตัฟ มาห์เลอร์และ อิกอร์ สตราวินสกี (Igor Stravinsky -วาทยกรชาวรัสเซีย) และถึงแม้จะเอ่ยอ้างถึง นาเดีย บูลองเจอร์ (Nadia Boulanger) วาทยกรหญิงชื่อดังชาวฝรั่งเศสในชีวิตจริง แต่ทาร์ก็ดูเหมือนจะไม่ได้นับถือศรัทธาอะไร ทั้งเธอก็ยังไม่ได้เฟมินิสต์จ๋าถึงขนาดจะหมกมุ่นสนใจนำเสนองานดนตรีคลาสสิกที่ประพันธ์โดยคีตกวีหญิงอย่าง ฮิลเดการ์ด ฟอน บิงเงน (Hildegard of Bingen -ภิกษุณีชาวเยอรมัน ผู้ได้ชื่อว่าเป็นนักประพันธ์ดนตรีคลาสสิกหญิงคนแรกๆ), ฟานนี เมนเดลโซห์น (Fanny Mendelssohn -นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมัน) หรือ คลารา ชูมันน์ (Clara Schumann -นักประพันธ์ดนตรีชาวเยอรมัน) ที่ก็หยิบมานำแสดงได้ ยิ่งหันมาดูเสื้อผ้าเครื่องแต่งกายของทาร์ ก็จะพบว่าเจ้าตัวเลือกที่สวมใส่สูทสีขาวดำตัดเย็บโก้เท่ ไว้ผมตรงยาวด้วยมาดศิลปินแบบเดียวกับคีตกวี ฟรันซ์ ลิสซต์ (Franz Liszt -นักประพันธ์ดนตรีชาวฮังกาเรียน) โดยเราจะไม่ได้เห็นเธอในชุดราตรีสตรีหรือเสื้อผ้าที่แสดงความเป็นหญิงเลย

การเป็นสตรีที่พยายามจะทำตัวเหมือนวาทยกรเพศชายในโลกดนตรีคลาสสิกแถวหน้าที่ขับเคลื่อนโดยศิลปินบุรุษเพศของทาร์จะยิ่งปรากฏชัดในฉากมาสเตอร์คลาสส์ที่เธอต้องสอนการควบคุมวงดนตรีให้นักศึกษาหนุ่มผู้ประกาศตนเองเป็น pangender โอบรับทุกอัตลักษณ์เพศ ผู้หลงใหลในสำเนียงดนตรีร่วมสมัย แล้วใช้อคติส่วนตัวแสดงความเกลียดชังดนตรีของ โยฮันน์ เซบาสเตียน บาค (Johann Sebastian Bach -คีตกวีชาวเยอรมัน) โดยกล่าวตำหนิว่าบาคเป็นชายเหยียดเพศหญิง แต่งงานถึงสองครั้งและมีลูกถึง 20 คน! เขาจึงทนไม่ได้ที่จะรับฟังสุ้มเสียงสำเนียงแบบ ‘ชายแท้’ อันแสนคับแคบเช่นนี้ ส่งผลให้ทาร์ต้องสั่งสอนเขาให้รู้จักมองคุณค่ากันใหม่ที่ผลงานไม่ใช่รสนิยมด้านกามารมณ์ ยุให้เขาลองหันกลับไปศึกษางานอมตะอย่าง Mass ในบันไดเสียงบีไมเนอร์ แล้วบรรเลงบท Prelude ในบันไดเสียงซีเมเจอร์ หมายเลขแรกสุดจากเล่ม The Well-Tempered Clavier ด้วยเปียโน เพื่อแสดงว่าแค่บทประพันธ์ที่อาศัย broken chord ง่ายๆ นั้นซ่อนความหมายที่ล้ำลึกพิสดารเอื้อต่อการตีความที่หลากหลายได้มากมายถึงเพียงไหน หัวใจที่เลื่อมใสศรัทธาต่ออัครคีตกวีในอดีตที่ล้วนแล้วแต่เป็นเพศชายของทาร์จึงแสดงให้เห็นชัดเจนว่า ลึกๆ แล้วเธอก็ไม่ได้ตั้งแง่ตัดพ้อใดๆ ต่อเพศชาย ทั้งยังแสดงให้ทุกคนเห็นว่าผู้หญิงอย่างเธอก็สามารถทำอะไรที่พวกผู้ชายทำได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีอคติในเรื่องเพศ เชื้อชาติ หรือศาสนาใดๆ เลย

เป็นที่รู้กันว่าอาชีพวาทยกรวงดนตรีออเคสตราในวงการคลาสสิก เป็นหนึ่งในอาชีพที่ต้องใช้ทั้งทักษะ ความรู้ รวมถึงรสนิยมทางดนตรีในระดับอัจฉริยะจึงจะสามารถยืนอยู่ ณ ตำแหน่งนั้นได้ ทฤษฎีทางดนตรีจะต้องแม่นยำชนิดที่ต่อให้ผู้ประพันธ์จะใช้เทคนิคเสียงประสานที่พิสดารขนาดไหน ก็ยังต้องวิเคราะห์อธิบายได้ หูต้องทิพย์ขนาดที่เครื่องดนตรีใดเล่นแฟลต เล่นเพี้ยนไปแค่โน้ตเดียวก็ต้องบอกได้ทันทีว่าต้นเสียงเจ้าปัญหามาจากเครื่องไหนตำแหน่งไหน ต้องใช้บุคลิกการเป็นผู้นำไม่ต่างจากกัปตันเรือใหญ่ที่นำพาสมาชิกนักดนตรีทุกรายไปสู่จุดหมายการตีความบทประพันธ์เดียวกันตั้งแต่โน้ตแรกยันคอร์ดสุดท้ายโดยไม่ปล่อยให้มีจุดผิดพลาดอ่อนพร่องตรงไหนเลย! ทาร์จึงดูจะภาคภูมิใจมากที่เธอเอาชนะผู้ชายอีกหลายคน มายืนถือบาตอง ณ ตำแหน่งที่เธอยืนได้ ด้วยความสามารถระดับ ‘เหนือมนุษย์’ ที่ผูกขาดโดยวาทยกรเพศชายมาหลายชั่วอายุคน

ช่วงของการแนะนำวีรกรรมความตัวตึงของทาร์ในส่วนแรกนี้เอง ที่ฟีลด์สาดใส่รายละเอียดเกี่ยวกับวงการดนตรีคลาสสิกร่วมสมัยลงไปในหนังอย่างไม่ยั้งมือ ตั้งแต่การเอ่ยชื่อถึงวาทยกรและนักดนตรีดังๆ ในทำนองกัดแซะ โดยนอกเหนือจากอับบาโดและเบิร์นสไตน์ที่กล่าวไป ก็ยังมีนักไวโอลินสาว ซาราห์ ชาง (Sarah Chang -นักไวโอลินชาวเกาหลี-อเมริกัน) ที่ดูป๊อปเสียมากกว่าคลาสสิก และนักเปียโนผู้มีวิธีการบรรเลงแบบจักรกลไม่เหมือนใครอย่าง เกล็นน์ กูลด์ (Glenn Gould -นักเปียโนชาวแคนาดา) มีการใช้ศัพท์เฉพาะทางดนตรีระดับลึกอย่าง tempo rubato (การบรรเลงแบบปล่อยไหลไม่เคร่งครัดกับจังหวะตามสกอร์), atonal music (ดนตรีที่ไม่อิงระบบกุญแจเสียง) หรือชื่อเฉพาะอย่าง ‘four-thirty three’ ที่ผู้ชมจะต้องงับได้ทันทีว่ามันคือบทประพันธ์แนวทดลอง 4’33’’ ของ จอห์น เคจ (John Cage -นักประพันธ์ดนตรีชาวอเมริกัน) ที่ปล่อยให้นักเปียโนนั่งอยู่หน้าเปียโนเฉยๆ โดยไม่ต้องบรรเลงอะไรเป็นเวลา 4 นาที 33 วินาที ให้ผู้ชมฟังเสียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นในห้องแสดงเอง จึงจะเข้าใจได้ว่าทาร์กำลังแซะใคร ซึ่งไม่ถือเป็นความรู้ทั่วไปที่คนดูจะทำความเข้าใจได้ในวงกว้าง

หลังจากเกริ่นนำถึงความสำเร็จต่างๆ นานาของทาร์แล้ว หนังก็นำพาพวกเราไปสังเกตการณ์การทำงานของเธอในการควบคุมวงดนตรีเบอร์ลินฟิลฮาร์มอนิก (Berlin Philharmonic Orchestra) เพื่อบรรเลงบทประพันธ์ ‘ซิมโฟนี หมายเลข 5’ ของมาห์เลอร์แบบลงรายละเอียดครบทั้งห้ากระบวน เพื่อจะได้บรรจุรวมเป็นคอลเล็กชั่นแผ่นเสียง CD และ digital file ทั้งเซ็ต ขายเป็นกล่องให้ได้ฟังกันครบทั้งสิบหมายเลขซิมโฟนีของมาห์เลอร์ ซึ่งดูจากตัวเลือกบทประพันธ์ชิ้นนี้ ก็มีนัยยะที่ต้องการสะท้อนความยิ่งใหญ่อลังการในงานดนตรีของบทประพันธ์ซิมโฟนียุคโรแมนติก โดยเฉพาะของมาห์เลอร์เองที่แต่ละบทต้องใช้เครื่องดนตรีวงใหญ่เกือบร้อยชิ้น และกินเวลาในการบรรเลงยาวนาน บางครั้งก็เท่ากับหนังโรงขนาดยาวเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว โดยเฉพาะซิมโฟนีหมายเลข 5 บทนี้ ที่มีความยาวถึงห้าท่อนกระบวน และใช้เวลาบรรเลงสิริรวมกว่า 80 นาที ซึ่งก็แอบเห็นว่ามีการประนีประนอมเกิดขึ้นเพราะซิมโฟนีบทนี้มีท่อนช้าชื่อ Adagietto ซึ่งเป็นดนตรีประกอบอันโด่งดังจากหนังเรื่อง Death in Venice (1971) ของผู้กำกับอิตาเลียน ลูคิโน วิสคอนตี (Luchino Visconti) นั่นเอง จึงน่าจะเป็นซิมโฟนีบทที่เป็นที่คุ้นหูของบรรดาคอหนังอยู่ไม่น้อย โดยในช่วงของการซ้อมอำนวยดนตรีบทประพันธ์ท่อนกระบวนนี้ ทาร์ยังแอบแซวกับนักดนตรีของเธอด้วยว่า อย่าได้เล่นให้ฉ่ำหวานเคลือบน้ำตาลแบบเดียวกับที่ ฟรังโก มานนีโน (Franco Mannino -นักดนตรีชาวอิตาเลียน) ได้คอนดักต์ไว้ในหนังเรื่องนี้เชียวนะ แต่เอาให้มันฟังดูไม่เสถียร ยุ่งเหยิง น่าหวาดกลัวขึ้นมาสักหน่อย ซึ่งในจังหวะที่เล่นมุกเธอก็พูดขึ้นมาแค่ชื่อเดียวว่า “ไม่เอาแบบวิสคอนตี!” แล้วแบบนี้คนที่ไม่เคยดูหนังมาเขาจะเก็ตไหมล่ะมาเอสโตรลิเดีย! แต่นั่นละนะ “ตัวแม่จะแคร์เพื่อ” อย่างที่เขาว่าไว้จริงๆ

Cate Blanchett stars as Lydia Tár in director Todd Field’s TÁR, a Focus Features release. Credit: Focus Features

แต่พอหนังดำเนินมาถึงกลางๆ เรื่อง ผู้กำกับก็หันมาเล่าเรื่องราวชีวิตส่วนตัวของทาร์กับครอบครัวมากขึ้น โดยทาร์วางตัวเป็น ‘ช้างเท้าหน้า’ ไม่ผิดจากบรรดาคีตกวีชายสมัยเก่าโบราณที่เธอนับถือ จะเห็นว่าทาร์ปฏิบัติกับชารอน คู่รักราวเป็นศรีภรรยา มีบุตรสาวบุญธรรมด้วยกัน แถมยังขู่ขวัญเพื่อนนักเรียนที่ชอบมารังแกลูกสาวโดยอ้างตัวเองว่าเป็น ‘พ่อ’ อย่างภาคภูมิใจ และที่ร้ายกว่านั้นคือ ฟีลด์กำหนดให้ตัวละครทาร์ มีสันดานหน้าหม้อชีกอชอบนอกใจคู่ครองไปมีกิ๊กสาวๆ ไม่ผิดจากพวกผู้ชาย เมื่อมีนักเชลโลสาวชาวรัสเซียฝีมือดีรายใหม่นาม โอลกา (รับบทบาทโดย โซฟี เคาเออร์ -Sophie Kauer) เข้ามาในวง ทาร์จึงอดหวั่นไหวแอบมีใจให้ไม่ได้ ซึ่งก็เป็นชนวนที่นำไปสู่หายนะที่เธอเองไม่อาจควบคุมอะไรได้ในท้ายที่สุด

เมื่อมีโอลกาเข้ามาในชีวิต ทาร์ก็ออกอาการระริกระรี้ต่อสมาชิกใหม่ของวงอย่างไม่เก็บอาการ ไม่สะทกสะท้านกริ่งเกรงสายตาของชารอนที่ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าวงดนตรีนั่งอยู่บนเก้าอี้ที่ห่างจากพวกเขาไปเพียงไม่กี่วาศอก เมื่อเพื่อนร่วมงานถามว่าบทประพันธ์ที่จะใช้เล่นร่วมกันกับซิมโฟนีหมายเลข 5 ของมาห์เลอร์ คือชิ้นไหนอย่างไร เธอเลือกไว้หรือยัง ทาร์ก็ใช้อำนาจในฐานะวาทยกรชักจูงชี้นำให้สมาชิกในวงที่ต้องเล่นร่วมกันเห็นพ้องว่า เชลโลคอนแชร์โต ในบันไดเสียงอีไมเนอร์ op.85 ของ เอ็ดเวิร์ด เอลการ์ (Edward Elgar -นักประพันธ์ดนตรีชาวอังกฤษ) นักประพันธ์ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงเวลาเดียวกันกับมาห์เลอร์น่าจะเหมาะ แล้วยอมแหวกทุกกฎเพียงเพราะต้องการ ‘ดัน’ โอลกา ให้ตัดหน้าหัวหน้ากลุ่มเครื่องดนตรีเชลโล มาเป็นผู้เล่นเดี่ยวในคอนแชร์โตบทนี้ได้โดยไม่คณนาใครหน้าไหนเลย!

อาการเลือกที่รักมักที่ชัง พยายามสนับสนุนให้โอลกาเลื่อนขั้นจากสมาชิกสดใหม่ของวงกระโดดมาเป็นนักดนตรีเดี่ยว (soloist) ซึ่งถือเป็น ‘นางเอก’ ในการบรรเลงบทประพันธ์ประเภทคอนแชร์โต (บทประพันธ์สำหรับวงดุริยางค์ขนาดใหญ่คล้ายๆ ซิมโฟนี แต่จะเป็นการเล่นประชันกันระหว่างนักดนตรีเดี่ยวที่เล่นเครื่องดนตรีชนิดต่างๆ เช่น เปียโน ไวโอลิน คลาริเนต กับวงออร์เคสตรา) จึงแสดงการใช้อำนาจเกินขอบเขตของทาร์ เพียงเพื่อตอบสนองตัณหาความต้องการของตนเอง ยิ่งคอนแชร์โตบทนี้ของเอลการ์ ถือเป็นเชลโลคอนแชร์โตที่นิยมเล่นนิยมฟังเป็นอันดับต้นๆ ของวงการ มีนักเชลโลหญิงชาวอังกฤษ แจคเกอลีน ดูเปร (Jacqueline du Pré) เคยให้การแสดงระดับตำนานเอาไว้ กับเส้นสายลายดนตรีที่อาบเอิบไปด้วยอารมณ์ผันผวนรุนแรงทว่ายังลึกซึ้งดื่มด่ำ เป็นประตูนำไปสู่การเปิดใจทำงานร่วมกันในระดับจิตวิญญาณทางดนตรีระหว่างทาร์ในฐานะวาทยกร และโอลกาในฐานะผู้แสดงเดี่ยวเชลโลอย่างไม่อาจละเลี่ยงบ่ายเบี่ยง อันนำพาให้ทั้งคู่ต้องเคียงบ่าเคียงไหล่ทำงานกันอย่างชิดก่อเป็นความสนิทสนมมากยิ่งขึ้น

เมื่อได้เห็นพฤติกรรมทั้งในและนอกเวทีแสดงของทาร์แล้ว ก็น่าจะเห็นตรงกันว่าเธอไม่ได้บ้าอำนาจถืออธิปไตยควบคุมความเป็นไปทุกสิ่งอย่างขณะฝึกซ้อมและแสดงดนตรีกับวงออเคสตราเท่านั้น ในชีวิตจริงเธอกลับถือไม้บาตอง ‘ปกครอง’ ทุกคนที่รายล้อมรอบข้างอย่างไม่ยอมเป็นเบี้ยล่างต่อรอง หยิ่งผยองจองหองกร่างยโสหลงใหลในอีโก้ไม่ผิดจากศิลปินชาย ซึ่งสุดท้ายเธอก็เป็นฝ่ายแพ้ภัยตนเองเมื่อคนที่มีอำนาจน้อยที่สุดไม่ว่าจะเป็นผู้ช่วยสาวคนสนิทชิดใกล้ ฟรานเชสกา (รับบทโดย โนเอมี แมร์ลองต์ -Noémie Merlant) หรือ โอลกานักเชลโลคนใหม่ กลับมาย้อนทำร้ายทาร์ด้วยวิธีการที่ง่ายแสนง่าย หากทำให้วาทยกรหญิงชื่อก้องรายนี้กลับกลายเป็นชื่อเสียงป่นปี้หมดบารมีที่จะเชิดหน้าชูตาต่อไปในวงการ!

เคต แบลนเชตต์ รับบทบาทสุดหินเป็น ลิเดีย ทาร์ ได้อย่างน่าอัศจรรย์ และแม้เธอจะเคยออกมาเล่าว่าเธอเข้าใจเนื้อหายากๆ ในบทหนังเพียงแค่ส่วนเสี้ยวเดียวเท่านั้น แต่เมื่อถึงเวลาแสดงแบลนเชตต์กลับสร้างตัวละครทาร์ออกมาได้เต็มเปี่ยมไปด้วยความมั่นอกมั่นใจ ดื่มด่ำไปด้วยความศรัทธาและจริงใจต่อทุกๆ คำและทุกๆ ท่าทางที่เธอพูดและแสดงออกมาจนเชื่อได้สนิทใจว่า ถ้าโลกใบนี้มีวาทยกรหญิงที่สามารถยืนหนึ่งอยู่แถวหน้าของวงการได้จริงๆ ก็คงจะมีบุคลิกและวิธีคิดแบบทาร์คนนี้แหละ นี่ยังไม่นับที่เธอจะต้องกลับไปฝึกฝนทั้งการบรรเลงเปียโน และการอำนวยเพลง ฝึกเปล่งเสียงสำเนียงภาษาเยอรมันปนอังกฤษให้เข้าปาก กับบทที่ยากในทุกมิติชนิดที่แต่ละปีมีการประกวดด้านการแสดงเวทีไหนๆ เคต แบลนเชตต์ก็ควรจะต้องเหมาคว้าไปครองได้ให้ถ้วนครบ!

น่าเสียดายที่หนังยังเล่าเนื้อหาส่วนที่เขย่าขวัญ -ทั้งที่มาของเสียงและลายเส้นปริศนา และปมการฆ่าตัวตายของวาทยกรหญิงคู่แข่ง- ได้ไม่กระจ่างนัก ดูแล้วก็คงจะเป็นความจงใจของฟีลด์เอง ที่ต้องการเก็บงำความลับบางอย่างไว้โดยไม่ยอมเปิดเผยภูมิหลังทั้งหมด เพื่อสะกดเลี้ยงอารมณ์ชวนระทึกไว้ แต่เมื่อหนังจบลงโดยที่หลายๆ จุดยังไม่ได้รับการคลี่คลาย ก็กลับกลายเป็นความรู้สึกค้างคา แม้ว่าในท่อนสุดท้ายหนังตั้งใจจะพาผู้ชมไปเห็นภาพชีวิตบทใหม่หลังหายนะของทาร์ โดยไม่นำพาต่อสิ่งที่เล่าค้างในส่วนก่อนหน้าก็ตาม

กระนั้นหนังก็ยังรักษาความสนุกเข้มข้นด้วยวิธีการลำดับตัดต่อเหตุการณ์ที่กระชับฉึบฉับเร็วไว เดินเรื่องพุ่งทะยานไปข้างหน้าจนชวนให้ต้องจดจ่อสนใจว่าจะเกิดอะไร ทำให้ความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง 40 นาทีของหนังผ่านไปไวจนไม่มีช่วงไหนชวนให้รู้สึกเนือยหน่วงเลย!

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save