fbpx
'Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ' กับทางหลายแพร่งของการเขียน

‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ กับทางหลายแพร่งของการเขียน

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

รวมเรื่องสั้นชุด ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ เป็นผลงานรวมเล่มครั้งแรกของ ‘กวีวัธน์’ นักเขียนหน้าใหม่ในแวดวงวรรณกรรมไทย เขาสนใจงานด้านวรรณกรรมมาตั้งแต่วัยเด็ก ด้วยความที่ทางบ้านไว้ใจให้ใช้ชีวิตในวัยเด็กเพียงลำพัง เขามีโอกาสได้อ่านหนังสือมากมายที่ไม่คุ้นตาและแตกต่างไปจากห้องสมุดของโรงเรียน กวีวัธน์จึงใช้เวลาที่บอกทางบ้านว่า “ไปเรียนพิเศษ” เพื่อแวะร้านหนังสือในจังหวัดกาญจนบุรี แต่สิ่งที่น่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของความสนใจในการเขียนนั้นส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการได้เรียนกับ อารยา ราษฎร์จำเริญสุข ศิลปินสำคัญในแวดวงศิลปะร่วมสมัยของไทย[1]   อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่า ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ จะเป็นผลงานที่รวบรวมเอาความทรงจำในชีวิต ประสบการณ์ในการเขียนและเรียนรู้แนวคิดในการสร้างผลงานศิลปะมาหลอมรวมกันอยู่ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้

ประเด็นสำคัญของรวมเรื่องสั้นชุดนี้คือการปะทะสังสรรค์กับความทรงจำของผู้เขียนเกือบทั้งเล่ม ดังนั้นในแง่หนึ่ง ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ จึงเป็นการสำรวจตัวเองของกวีวัธน์ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความทรงจำเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของเกย์ในเรื่องเต็มไปด้วยความซับซ้อน ความซับซ้อนดังกล่าวเกิดขึ้นจากการตัดสินใจของตัวละครแต่ละตัวที่ก้าวเข้าไปอยู่ในความสัมพันธ์ที่ทั้งพร่าเลือน คลุมเครือ หลบซ่อน รวมถึงความสัมพันธ์ที่เปิดกว้างมากกว่าสองคน ความสัมพันธ์ทั้งหมดนำมาสู่ความรู้สึกที่ทั้ง ‘เปล่าเปลือง’ และ ‘ชอกช้ำ’

เราอาจเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ เป็นเรื่องสั้นของชาวเกย์ที่ ‘อกหัก’ จากความสัมพันธ์ในหลากหลายรูปแบบ แต่อาการอกหักของเกย์ในเรื่องสั้นชุดนี้ไม่ใช่การโหยหาหรือถวิลหาความสัมพันธ์ที่สูญเสียไป อารมณ์ที่ถูกถ่ายทอดในรวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นเหมือนกับการดื่มกินความเจ็บปวดร้าวรานด้วยความรู้สึกที่ทั้งชอกช้ำและรื่นรมย์ในเวลาเดียวกัน ความทรงจำและความสัมพันธ์ใน ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ จึงนำมาทั้งความรื่นรมย์และชอกช้ำให้กับตัวละครอยู่เสมอ

ในฐานะที่ ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ เป็นรวมเรื่องสั้นชุดแรก เป็นผลงานเล่มแรกของนักเขียนหน้าใหม่ สิ่งที่จะเห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดคือการนำเสนอภาวะความซับซ้อนในจิตใจของตัวเองและถ่ายทอดออกมาในรูปแบบของวรรณกรรม ผลงานวรรณกรรมชิ้นแรกของนักเขียนมักเป็นการนำเสนอและสำรวจตัวเองไปพร้อมๆ กัน มันคือการค้นหาวิธีการและแนวทางของตัวนักเขียนเอง เรื่องสั้นแต่ละเรื่องใน ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ จึงมีความหลากหลายประเด็นในการนำเสนอ แต่ไม่ถึงกับว่าแต่ละเรื่องปราศจากจุดร่วมกัน เพราะจุดร่วมที่ผูกเรื่องสั้นแต่ละเรื่องเอาไว้ก็คือ ‘เซ็กซ์’

‘เซ็กซ์’ ​ในรวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นสิ่งที่ดึงเอาอารมณ์และความทรงจำของตัวละครทุกตัวในเรื่องสั้นแต่ละเรื่อง ‘เซ็กซ์’ คือสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาความคลุมเครือ ความไม่ชัดเจนของตัวละครหลักในเรื่องสั้นทุกเรื่องเอาไว้ เพราะตัวละครหลักแต่ละตัวนั้นต้องการการยืนยันตัวเองว่าตัวเองคือใคร มีความสำคัญและความสัมพันธ์กับสถานที่หรือคนอื่นในลักษณะแบบไหน ‘เซ็กซ์’​ ใน ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ จึงมีหน้าที่สำคัญอย่างยิ่งในการยืนยันการดำรงอยู่ของตัวละครแต่ละตัวในสถานการณ์ที่แตกต่างกัน อีกทั้ง ‘เซ็กซ์’ ยังช่วยเชื่อมโยงและยึดเหนี่ยวสภาวะที่ไม่มั่นคงของตัวละคร และเป็นสิ่งที่เชื่อมต่อตัวละครกับความผันแปรของเหตุการณ์ต่างๆ ในตัวเรื่องสั้นได้อีกด้วย

ในเรื่องสั้น ‘เราต่างล้อมตัวเราด้วยกำแพงสูง’ กล่าวว่า “เซ็กส์อาจช่วยปลดเปลื้องความอึดอัดและร่นระยะห่างระหว่างสองคนที่อยู่ด้วยกัน” (หน้า 62) หรือในเรื่อง ‘ความแปลกหน้า’ ซึ่งเป็นเรื่องที่พูดถึงการมี ‘เซ็กซ์หมู่’ ได้อย่างน่าสนใจในฐานะที่เป็นสะพานเชื่อมโยงผู้คนให้ไปสู่สภาวะอันเป็นอุดมคติ “ใครบางคนบอกว่า จุดมุ่งหมายของการร่วมรักคือ การปลดเปลื้องสถานภาพและสิ่งที่ก่อกรอบแต่ละคนให้อยู่ในพื้นที่ที่อีกฝ่ายไม่สามารถเดินทางไปถึงในวิถีชีวิตปกติ… เซ็กส์ในอุดมคติคือเซ็กส์ที่สว่าง ปลอดโปร่ง ไม่มีแรงขับเน้นบางอย่างอยู่เบื้องหลัง ไม่มีการไขว่คว้าอำนาจเบ็ดเสร็จเพื่อมาต่อรอง มันทำให้เราเป็นอิสระจากสิ่งที่กักขัง เซ็กส์แบบนั้นหมายถึงความสุขอย่างที่สุด” (หน้า 103) ตัวอย่างจากทั้งสองเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า ‘เซ็กซ์’ คือศูนย์กลางสำคัญที่ช่วยเชื่อมโยงเรื่องราวต่างๆ เข้าไว้ด้วยกันในรวมเรื่องสั้นชุดนี้ ความรางเลือน ไม่ชัดเจน ไม่มั่นคงถูกร้อยเรียงเอาไว้ผ่านการมีเซ็กซ์ของตัวละคร

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับเซ็กซ์ในเรื่อง ‘เราต่างล้อมตัวเราด้วยกำแพงสูง’ คือในตอนที่กล่าวว่า “พี่ว่าเซ็กส์แบบชั่วข้ามคืนอาจเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยยืนยันการมีอยู่ของความเว้าแหว่งบางอย่างในตัวตน” (หน้า 72) ในรอบหลายปีที่ผ่านมา ข้าพเจ้ามีโอกาสได้อ่านวรรณกรรมของนักเขียนไทยร่วมสมัยหลายคน กว่า 85% นั้นมักจะพูดถึง ‘ความเว้าแหว่ง’ ที่ดำรงอยู่ในสภาวะของปัจเจกบุคคล ในเบื้องต้นข้าพเจ้าอยากเสนอว่าวรรณกรรมไทยน่าจะไปให้พ้นจากความเว้าแหว่งได้แล้ว เพราะมันถูกพูดถึงในวรรณกรรมไทยร่วมสมัยมาหลายปีและมีทีท่าว่าจะกลายเป็นความนิยมอย่างหนึ่งในการเขียนวรรณกรรม

ในแง่หนึ่งเราอาจพูดได้เช่นกันว่า ในสภาพสังคมไทยปัจจุบันมันได้ผลักดันให้ผู้คนมีสภาวะที่ ‘เว้าแหว่ง’ อยู่ตลอดเวลา ถ้าหากวรรณกรรมคือส่วนหนึ่งของการบันทึกสังคม ทำไมความเว้าแหว่งจะไม่ถูกพูดถึงในวรรณกรรมล่ะ? นี่เป็นคำถามที่ข้าพเจ้ายังไม่ทราบว่าจะตอบได้อย่างไรในตอนนี้ เพราะมันก็จริง พูดอย่างไรก็ถูก แต่ถ้าเรายังคงวนเวียนอยู่ในความเว้าแหว่ง สภาพของวรรณกรรมไทยก็คงจะแหว่งวิ่นไม่รู้จบเช่นกัน เราจะเว้าๆ แหว่งๆ กันอีกหลายทศวรรษของวรรณกรรมไทย แต่ถ้าหากว่าพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งว่าผลงานวรรณกรรมเล่มแรกอาจเป็นการสำรวจสภาวะภายในของตัวเอง ข้าพเจ้าคิดว่ามันก็อาจจะพอเข้าใจได้ในระดับหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าสนใจและควรพูดถึงใน ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ นี้ก็คือ การพรรณนาถึงฉากเซ็กซ์ในเรื่องสั้น การเขียนเรื่องเซ็กซ์ในวรรณกรรมนั้นเป็นศิลปะที่ต้องอาศัยความประณีตบรรจงมากในการเขียน เพราะมันคือการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นจากความสัมพันธ์ทางร่างกาย ความละเอียดอ่อนและซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละครที่มีแรงขับสำคัญจากร่างกายนั้นเป็นสิ่งที่ต้องสอดประสานกันอย่างยิ่ง จะละเลยหรือขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ เพราะมันไม่เพียงทำให้ผู้อ่านรู้สึกเกิดอารมณ์รู้สึกร่วม แต่มันยังเรียกร้องให้ผู้อ่านได้ตระหนักถึงสภาวะของตัวละครในขณะนั้นว่าอยู่ในอารมณ์ความรู้สึกแบบใด

ดังนั้น การเขียนเรื่องเซ็กซ์ในงานวรรณกรรมนั้นอาจกล่าวได้ว่าเป็นเรื่องที่ยาก เพราะมันเรียกร้องประสบการณ์ในการอ่านและเขียนเกี่ยวกับเรื่องเซ็กซ์สูงมาก ผู้ที่เขียนเรื่องเซ็กซ์ได้งดงามนั้นไม่ใช่ผู้ที่ประสบการณ์ทางเพศสูงกว่าคนทั่วๆ ไป แต่ต้องเข้าใจอารมณ์และประสบการณ์ทางอารมณ์ที่ช่วยเร้าความรู้สึกของผู้อ่านให้เข้าใจความละเอียดอ่อนและซับซ้อนทางอารมณ์ของกิจกรรมทางเพศ แต่สิ่งที่เห็นได้ในเรื่องสั้นของกวีวัธน์แต่ละเรื่องนั้นมีปัญหาติดขัดในหลายๆ ด้านที่ไม่สามารถสื่อสารอารมณ์ความรู้สึกที่เป็นความทรงจำของผู้เขียนออกมาได้อย่างชัดเจน

ปัญหาที่สำคัญของกวีวัธน์ในการเขียนเรื่องเซ็กซ์ก็คือ ความไม่สม่ำเสมอในการบรรยายและอธิบายอารมณ์ความรู้สึกในขณะที่ตัวละครทั้งเล่มของเขากำลังมีเซ็กซ์ ภาษาที่ใช้ในบางเรื่องมีความละเมียดละไมเร้าอารมณ์ความรู้สึกได้ดี แต่บางเรื่องมีลักษณะที่ขาดความละเอียดอ่อนในการบรรยาย จินตภาพและอารมณ์ไม่สัมพันธ์กับสภาวะของตัวละครที่พยายามจะนำเสนอออกมา

ในเรื่องแรก ‘เราจะไม่พบกันอีก’ เป็นเรื่องความสัมพันธ์ที่ต้องหลบซ่อนของมิคกับแน็ค ในฉากที่ทั้งคู่ไปเที่ยวเกาะด้วยกัน จากนั้น “ผมนอนหลับไปตั้งแต่บ่ายจนถึงเกือบห้าโมงเย็นหากแต่รู้สึกเสียวขึ้นมาตรงหัวนม เสื้อถลกขึ้นมาตั้งแต่เมื่อไรไม่รู้ ลิ้นร้อนของพี่แน็คแตะขบอยู่แบบนั้น ผมปรือตามอง” … “เวลาเราสองคนร่วมรักกัน หลังจากจูบพี่แน็คชอบทำแบบนี้ แต่นี่เป็นครั้งแรกที่เขาปลุกผมให้ตื่นด้วยวิธีการแบบนี้ ผมอดตื่นเต้นไม่ได้” (หน้า 19) ในประโยคนี้ดูเหมือนว่า ‘หัวนม’ จะเป็นคำที่โดดออกมาจากบริบทในข้อความนี้ ในแง่หนึ่งเราอาจพิจารณาได้ว่าการใช้คำ ‘หัวนม’ เป็นการแสดงให้เห็นถึงการบรรยายฉากเซ็กซ์อย่างตรงไปตรงมา บางทีอาจเพื่อให้ดูแตกต่างจากเซ็กซ์ระหว่างชายกับหญิง แต่ในบริบทนี้อาจจะหาคำอื่นมาแทนที่หรือใช้วิธีการพูดถึงอีกอย่างหนึ่งแทนเพื่อให้อารมณ์ของฉากมีความไหลลื่นและกลมกลืนกับอารมณ์ที่พยายามจะนำเสนอได้

ในเรื่อง ‘รอยปริแตกในท่ามกลาง’ ที่กวีวัธน์เล่าด้วยการแบ่งเรื่องออกเป็นตอนๆ กำกับด้วยตัวเลข แต่ละตอนมีวิธีเล่าที่แตกต่างกันคือ การใช้สรรพนามของผู้เล่าซึ่งมีการใช้ทั้งสรรพนามบุรุษที่ 1 และ 2[2] ในเรื่องสั้นเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ชัดเจนที่สุดว่าภาษาของกวีวัธน์ยังขาดความสม่ำเสมอ เพราะในตัวเรื่องมีส่วนของการพรรณนาที่เร้าจินตภาพและอารมณ์ความรู้สึกได้ดี กับส่วนที่ยังหย่อนความละเมียดละไมอย่างชัดเจน เช่น “ภายใต้ความสัมพันธ์ที่ไม่อาจระบุได้ ความกระสับกระส่ายกลายร่างเป็นความคุกรุ่นมากขึ้น เราต่างรอคอยให้กาลเวลาขาดสะบั้น มันเป็นภาวะที่ไม่อาจหาเหตุผลเพื่อจะไปสู่อะไรบางอย่างในอนาคต ลอยเคว้งคว้างเหนือทุกสิ่ง จับต้องได้แต่ไม่ถนัดมือ” (หน้า 51) ในส่วนนี้ กวีวัธน์นำเสนอภาวะภายในของตัวละครที่สับสนกับความสัมพันธ์ที่มีต่อตัวละครอื่นๆ และความรู้สึกที่ ‘เคว้งคว้าง’ ของตัวละครในการดำรงอยู่ ย่อหน้านี้ของกวีวัธน์ค่อยๆ เปิดเผยสภาวะของตัวละครออกมาเป็นชั้นๆ อย่างประณีตบรรจง ทำให้เราเข้าใจทั้งอดีต ปัจจุบัน และอนาคตของตัวละครได้ กล่าวคือ ความเป็นปัจจุบันของตัวละครที่ว่างเปล่าและเคว้งคว้างนั้นมาจากความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถระบุได้ในฐานะที่เป็นอดีตของตัวละครหลัก ทั้งหมดส่งผลต่ออนาคตของตัวละครหลักกับตัวละครอีกตัวในฐานะที่เป็น ‘คู่ขา’ ว่าทั้งคู่ต่างก็รอคอย ‘เวลา’ ที่จะมาช่วยทำให้ความสัมพันธ์ชัดเจน นั่นหมายถึงการขาดสะบั้นลงของความสัมพันธ์ที่เลือนราง นอกจากนี้ความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงยังแสดงออกอย่างชัดเจนในประโยคที่ว่า “จับต้องได้แต่ไม่ถนัดมือ” อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ในเรื่องเดียวกัน เมื่อถึงฉากที่ต้องพรรณนาถึงเรื่องเซ็กซ์ ดูเหมือนกวีวัธน์จะปล่อยให้อารมณ์ความรู้สึกของตัวเองทำงาน ‘ก่อน’ ที่จะพินิจถึงวิธีการในการเขียน อย่างเช่นในตัวอย่างก่อนหน้านี้ ฉากเซ็กซ์ของเรื่องนี้เป็นการบรรยายที่กระโดดและกระชากอารมณ์ของตัวเรื่องออกมา เพราะแทนที่ตัวเรื่องจะได้แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนทางอารมณ์ของตัวละคร กลับกลายเป็นการพรรณนาที่ไม่ประณีตเอาเสียเลย เช่น “หลังจากคุณมีอะไรกับผม คุณเข้าห้องน้ำไปล้างไอ้จ้อนของคุณ พร้อมกับโทรหาหัวหน้าฝ่ายโปรดักชั่นคนนั้น” (หน้า 56) คำว่า ‘ไอ้จ้อน’ นั้นทำให้อารมณ์ของตัวเรื่องสะดุดมาก ไม่ใช่เป็นเพราะว่ามันเป็นคำไม่สุภาพ แต่ในบริบทของเรื่อง อารมณ์ของตัวเรื่องที่ปูพื้นมาตั้งแต่ต้นมันไม่ควรไปในทิศทางที่เหมาะสมที่จะใช้ ‘ไอ้จ้อน’ เอาเสียเลย นอกจาก ‘ไอ้จ้อน’ จะไม่สื่อสารอารมณ์แล้วยังทำให้เสียอารมณ์ไปอีกด้วย

อีกตัวอย่างในเรื่องเดียวกัน ตอนท้าย คือ “มันพยายามดูดปาก แล้วจับจู๋ของผมเข้าปาก ทำเหมือนเป็นโอเอซิสกลางทะเลทราย ลิ้นตวัดไปมา กลืนไปสุดลำโคน เลียตามเนื้อตามตัวจนน้ำลายของมัน เหงื่อของผม และเจลหล่อลื่นผสมปนเปไปหมด มันบรรจงครอบถุงยางลงบนจู๋ของผม นั่งคร่อมบนตัวของผม ขย่มไปมา ร่างกายที่เต็มไปด้วยผิวเหี่ยวย่นและไขมันส่วนเกิน แม้เพียงเล็กน้อยหากแต่ทำให้ผมนึกอยากจะหลับตาลงชั่วกาลนาน” (หน้า 58) ในแง่หนึ่ง กวีวัธน์อาจต้องทบทวนระหว่าง ‘ความดิบ’ ที่สามารถนำมาสร้างเป็นงานในเชิงสุนทรียะได้กับ ‘ความดิบ’ ที่ทำให้เสียอรรถรส ในหลายๆ ครั้ง ‘ความดิบ’ ก็มีหน้าที่สำคัญในเชิงสุนทรียะ แต่ความดิบแบบนี้ต้องอาศัยประสบการณ์ในการถ่ายทอดที่สูงมาก เพราะมิเช่นนั้นแล้ว มันจะกลายเป็นเพียง ‘ความดิบ’ ที่ไม่สื่อสารอะไรเลย

โดยภาพรวมแล้ว ในฉากเซ็กซ์ที่กวีวัธน์ทำได้ดีคือการบรรยายอารมณ์ความรู้สึกของตัวละครในขณะที่มีเซ็กซ์ เช่น ในเรื่อง ‘จดหมายที่ไม่เคยส่งถึง’ คือ “คุณเดินไล่หลังมา ด้วยความคิดถึงหรืออะไรก็ตาม คุณปลดประดุมกางเกงยีนส์ของคุณ สวมกอดผมจากด้านหลังมือหนาปัดป่ายไปทั่วร่างกายของผม ผมเองก็ตอบรับสัมผัสและทำกับคุณบ้าง… ผมพบว่ามันเต็มไปด้วยความสุข สุขมากเสียจนเข้าข้างตัวเองว่าการมาถึงในครั้งนี้ของผมเหมือนถึงเส้นชัย” (หน้า 114) หรือในเรื่อง ‘ความไม่เรียบของความทรงจำ’ ตอนที่พูดถึงเซ็กซ์ในห้องน้ำของปั๊มน้ำมันแห่งหนึ่งว่า “ในห้องส้วมแบบนั่งยอง เรายืนประจันหน้ากัน ศีรษะแทบจะชิดติดกัน เขารูดซิปลง ผมปลดกระดุมกางเกง ผมล้วงมือเข้าไปในกางเกงของเขา เขาเองก็เอามือล้วงเข้ามาในกางเกงของผม มันต่อติดง่ายอย่างที่เขาบอก… ผมซุกหน้าที่คอของเขา เขาหันกลับมามองแล้วก้มลงจูบผม มันไม่ใช่จูบแรกของผม และแน่นอนว่าไม่ใช่จูบแรกของเขา แต่มันเป็นจูบแรกของเรา ไม่แน่ใจว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร จากสถานการณ์ที่น่าตื่นเต้นหรือจากอารมณ์ที่ปะทุขึ้นมาฉับพลัน ที่แน่ๆ มันเป็นรอยประทับที่เราไม่อยากให้มันลบเลือน” (หน้า 131) ตัวอย่างทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของจุดที่กวีวัธน์ทำได้ดีซึ่งจุดนั้นก็คือ การเหลือ ‘ที่ว่าง’ ให้ผู้อ่านได้จินตนาการถึงอารมณ์ความรู้สึกและประสบการณ์ทางอารมณ์ของการมีเซ็กซ์ สิ่งที่น่าเสียดายก็คือ กวีวัธน์มีความสามารถในการเขียนลักษณะนี้ แต่ไม่นำเอามาใช้ให้สม่ำเสมอในทุกๆ เรื่อง เพราะถ้าหากทำได้ ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ จะมีพลังทางอารมณ์มากขึ้นไปกว่าที่เป็นอยู่อีกมากนัก

ท้ายที่สุด หากเราพิจารณาว่า ‘Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ’ คือผลงานชิ้นแรกของนักเขียนหน้าใหม่ซึ่งอาจจะมีปัญหาติดขัดบางประการ แต่เมื่อได้ลงมืออ่านรวมเรื่องสั้นชุดนี้ทั้งเล่มก็พอจะบอกได้ว่ากวีวัธน์มีศักยภาพที่จะพัฒนางานเขียนของตัวเองให้คมคายและเร้าอารมณ์ได้มากกว่านี้ ข้าพเจ้าลองนึกย้อนดูว่าในบรรดานักเขียนที่ข้าพเจ้าชื่นชอบนั้น ผลงานเล่มแรกของพวกเขาเป็นสิ่งที่ไม่เคยประทับอยู่ในใจเอาเสียเลย แต่หลังจากนั้นกลับกลายเป็นว่าข้าพเจ้าไม่สามารถถอนตัวจากพวกเขาไปได้เลย ผลงานเล่มนี้ของกวีวัธน์ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกตั้งตารอผลงานเล่มใหม่ของเขาออกมาเพราะอยากเห็นว่า ‘กวีวัธน์’ จะมีพัฒนาการอย่างไรบ้าง

 


เชิงอรรถ

[1] โปรดดูบทสัมภาษณ์ หลุมดำแห่งความทรงจำสีส้มของกวีวัธน์ : ผู้เขียน ‘Tangerine’ 13 เรื่องรักใคร่ ที่มีใครเป็นส่วนเกินเสมอ

[2] สิ่งที่น่าสังเกตก็คือการใช้สรรพนามบุรุษที่ 2 นั้นดูเหมือนว่าจะปรากฏอยู่ในงานเขียนของนักเขียนไทยสมัยใหม่มากขึ้น ในประเด็นนี้มีสิ่งที่ต้อง ‘ถกเถียงกันอีกมาก’ ผู้วิจารณ์จะขอข้ามไปเนื่องจากไม่ใช่สาระสำคัญของบทวิจารณ์ชิ้นนี้

 

หมายเหตุ – คงตัวสะกด ‘เซ็กส์’ ตามต้นฉบับจากหนังสือ Tangerine เปล่า เปลือง เชื่อง ช้ำ

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save