fbpx
จิบ "กาแฟดำ" สนทนาเรื่องสื่อใหม่และการเมืองไทย กับ สุทธิชัย หยุ่น

จิบ “กาแฟดำ” สนทนาเรื่องสื่อใหม่และการเมืองไทย กับ สุทธิชัย หยุ่น

ปกป้อง จันวิทย์ เรื่อง

ภาวรรณ ธนาเลิศสมบูรณ์ เรียบเรียงบทสัมภาษณ์

เด็กบ้าการเมืองรุ่นผมทุกคนต้องได้รับอิทธิพลจาก “สุทธิชัย หยุ่น” ไม่มากก็น้อย

ตัวผมเองก็เช่นกัน … มากด้วย

เราโตมากับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ตอนนั้นเป็นช่วงวันเปิดเทอมขึ้น ม.3 เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย เหตุร้ายผ่านพ้น ชีวิตและความคิดทางการเมืองของเราก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ท่ามกลางหนังสือที่อ่าน รายการโทรทัศน์ที่ดู รายการวิทยุที่ฟัง (โซเชียลมีเดียคืออะไร ยังไม่มีใครรู้จัก) ในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2530 ยาวไปจนถึงทศวรรษ 2540 ตอนต้น เราอ่าน-ดู-ฟัง “สุทธิชัย หยุ่น” และสารพัดทีมงานเครือข่าย “เนชั่น” ของเขา พอๆ กับการเสพสื่อเครือมติชน-ผู้จัดการ-อาทิตย์-ข่าวพิเศษ-สารคดี-ว็อชด็อกยุค “มองต่างมุม” และ “ขอคิดด้วยคน” (ถ้าจินตนาการย้อนอดีตด้วยประสบการณ์ของยุคปัจจุบันอาจจะสับสนงงงวยได้)

ในยุคที่โทรทัศน์ยังเต็มไปด้วยรายการฮาร์ดทอล์ก ซึ่งวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจได้อย่างตรงไปตรงมาหน้าจอฟรีทีวี รายการ Nation News Talk และรายการวิเคราะห์ข่าวในช่วงข่าวภาคค่ำของ “สุทธิชัย หยุ่น” คือรายการโปรดของเด็กบ้าการเมืองอย่างเราๆ ยิ่งช่วงเลือกตั้ง ยิ่งสนุกสนาน

ช่วงนั้น ผมยังเป็นพิธีกรรายการข่าวเด็ก “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” อยู่ด้วย โชคดีที่ในช่วงต้นปี 2536 ทางพี่ๆ ทีมงานเปิดโอกาสให้ทำช่วงของตัวเองสั้นๆ ในรายการ ทั้งเลือกประเด็น หาข้อมูล เขียนบท และดำเนินรายการเอง ผมตั้งชื่อช่วงว่า “เจาะลึก” และใช้มันเล่นสนุกตามความสนใจของตัวเอง

แน่นอนว่า เด็กบ้าการเมืองในตอนนั้นก็ต้อง “เจาะลึก” เรื่องการเมือง ถ้าย้อนกลับไปดูเทป จะเห็น “จิ๋วแจ๋วเจาะโลก” ยุคหนึ่งเข้ารัฐสภาไปสัมภาษณ์ประธานรัฐสภาอย่างคุณปู่มารุต บุนนาค (ผมยังจำฉากที่คุณมารุตเรียกผมว่า “หนูจิ๋วๆ” ได้จนถึงวันนี้) สัมภาษณ์นักการเมืองหลายพรรค ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไปจนถึงเรื่องสหรัฐอเมริกาขู่ตัดสิทธิพิเศษทางการค้าของไทย ฯลฯ

และแน่นอนว่า แขกรับเชิญคนหนึ่งที่ผมมุ่งมั่นตั้งใจหาเรื่องหาทางไปสัมภาษณ์ให้ได้ คือ “สุทธิชัย หยุ่น”

แล้ววันหนึ่ง คุณสุทธิชัยก็ตอบรับ!

25 ปีที่แล้ว ผมจึงเดินทางไปที่ตึกเนชั่น เพื่อสัมภาษณ์ “สุทธิชัย หยุ่น” เป็นครั้งแรก ด้วยความตื่นเต้น

ให้เดาว่าผมสัมภาษณ์ “สุทธิชัย หยุ่น” เรื่องอะไร?

คำตอบคือ เรื่องวิกฤตการเมืองรัสเซียในยุคประธานาธิบดี บอริส เยลต์ซิน !!!

นึกกี่ทีก็อมยิ้มกับความบ้า (คำว่าเกรียนคืออะไร ยังไม่มีใครรู้จัก) ของตัวเองในวัยเด็ก แต่พอโตขึ้น ก็อดนับถือผู้ใหญ่ใจดีหลายคนในช่วงนั้นไม่ได้ ที่สนับสนุนให้ความบ้าความเกรียนของเด็ก ม.3 ต่อ ม.4 คนหนึ่งได้ถูกปลดปล่อย ได้ลองผิดลองถูก ได้ลงมือปฏิบัติ ได้ค้นหาตัวเอง จนวิวัฒน์คลี่คลายมาเป็นเราในวันนี้

คุณสุทธิชัยคือหนึ่งในผู้ใหญ่ใจดีในชีวิตของผมอย่างไม่ต้องสงสัย

หลังจากสัมภาษณ์เสร็จ ขณะกำลังเก็บของกลับบ้าน ทีมงานเนชั่นก็เข้ามาส่งสาร – “คุณสุทธิชัยอยากคุยด้วย”

ผมเข้าไปที่ห้องคุณสุทธิชัยอีกครั้ง

“ปกป้องอยากจัดรายการวิทยุไหม” คุณสุทธิชัยถาม

แทบไม่ต้องคิด

“ครับ”

แล้วผมก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิทยุเนชั่นยุคต้นอย่างไม่คาดฝัน โดยจัดรายการเนชั่นจูเนียร์สุดสัปดาห์ ทุกวันอาทิตย์ เวลา 10.00-12.00 น.

กับเด็กบ้า บางครั้งผู้ใหญ่ก็ต้องบ้าตามไปด้วย

จะมีสักกี่คนที่กล้าเปิดโอกาสให้เด็กมัธยมจัดรายการวิทยุสดๆ สองชั่วโมงเอง โดยไม่มีผู้ใหญ่ร่วมดำเนินรายการด้วยสักคน เตรียมบทเอง เลือกคนที่อยากคุยด้วยเอง และให้ทีมงานมืออาชีพเป็นไกด์คอยสนับสนุนเด็กๆ มือสมัครเล่น

นั่นเป็นครั้งแรกที่ผมได้สัมผัสวิถีของคุณสุทธิชัย – เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พิสูจน์ตัวเองแบบไม่เกี่ยงอายุ ถ้ากล้าลอง ก็กล้าให้ ให้เรียนรู้เอง โตเอง ด้วยประสบการณ์ตัวเองเป็นหลัก

ผมมั่นใจว่าคงมีคนอีกจำนวนมหาศาลที่ได้สัมผัสประสบการณ์แบบเดียวกันจาก “สุทธิชัย หยุ่น”

ผมจัดรายการที่เนชั่นเรดิโออยู่เป็นปี จนกระทั่งเดินทางไปเอเอฟเอสที่ฮังการี จึงหยุดจัดรายการ ในช่วงนั้นมีโอกาสได้สัมภาษณ์คุณสุทธิชัยอีก 1-2 ครั้ง ไปออกรายการให้คุณสุทธิชัยสัมภาษณ์อีก 1-2 ครั้ง

เมื่อชีวิตเปลี่ยนวงโคจร ผมกับคุณสุทธิชัยก็แทบไม่มีโอกาสได้เจอกันอีกเลย จนกระทั่งโลกโซเชียลมีเดียต่อสายให้ได้คุยกันอีกครั้ง

25 ปีผ่านไป สังคมไทยเปลี่ยน วงการสื่อเปลี่ยน คุณสุทธิชัยกับผมก็เปลี่ยน

นัดหมายกันล่วงหน้าหลายเดือน ในที่สุด คุณสุทธิชัยก็ตอบรับมาเยือน 101 เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เพื่อจิบ “กาแฟดำ” นั่งคุยกันสดๆ เรื่องการเปลี่ยนแปลงของโลก การเมืองไทย แวดวงสื่อสารมวลชน ตลอดจนชีวิตและความคิดของคุณสุทธิชัยในยุคโลกป่วน ในรายการ 101 One-on-One ทาง The101.world

ผมถามคุณสุทธิชัยตรงๆ ชัดๆ หลายเรื่อง แบบที่คุณสุทธิชัยสอนไว้เมื่อ 25 ปีก่อน

และนี่คือบันทึกของบทสนทนาอีก 25 ปีต่อมา ระหว่างผมกับ “สุทธิชัย หยุ่น” !

สุทธิชัย หยุ่น

หลังออกจากเนชั่น ทุกวันนี้คุณสุทธิชัยทำงานอะไรอยู่บ้าง

ตื่นเช้ามาก็ทำ Suthichai live วันหนึ่งผมทำ 2 ครั้ง ตอนเช้ากับตอนค่ำ ชวนคนมาคุยเรื่องข่าว แบ่งปันประสบการณ์กัน เป็นโอกาสดีที่มีโซเชียลมีเดียและ facebook live ซึ่งสะดวกมาก ไม่ต้องรบกวนใครให้เดินทางไปไหน เมื่อก่อนกว่าจะนัดแขกรับเชิญผ่านเลขาฯ ใช้เวลาเป็นเดือนก็ไม่รู้ได้คุยหรือเปล่า แต่ตอนนี้สามารถสัมภาษณ์พูดคุยได้ทุกคน

นอกจากนั้น ยังทำรายการ Thailand Live – ฟังเสียงประเทศไทย กับไทยพีบีเอส ลงพื้นที่ต่างจังหวัด ผมเห็นว่าเมื่อเราสามารถทำให้คนพูดจากันสดๆ ได้ ทำไมไม่ให้ชาวบ้านในหมู่บ้านต่างๆ สามารถส่งเสียงดังไปทั่วประเทศ เราเลยลงพื้นที่ไปสัมผัสกับชุมชน ให้ประชาชนพูดถึงปัญหาและวิธีการแก้ไข ผมพบว่าปรัชญาของปราชญ์ชาวบ้านและผู้นำท้องถิ่นที่ไม่ได้เห็นในสื่อหลักนี่สุดยอดเลย

นอกจากรายการ Thailand Live ยังมีรายการ ‘โลกป่วน’ อีกด้วย

“โลกป่วน” มาจากคำว่า disruption ผมอยากให้คนไทยตื่นตัวกับความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้น ผมกลัวว่าคนไทยจะอยู่ในพื้นที่สุขสบาย (comfort zone) คือโลกเปลี่ยนก็เปลี่ยนไป ฉันไม่เกี่ยว ผมกลัวว่าเราจะตามไม่ทัน เลยคิดรายการนี้เพื่อพูดคุย เจาะเรื่องราวที่กำลังจะเข้ามาสร้างความปั่นป่วนให้กับสังคมไทย พูดถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี ความคิดใหม่ๆ เช่น ฟินเทค บิตคอยน์ แม้กระทั่งเรื่องราวความคิดของนักวิทยาศาสตร์ชื่อดัง สตีเฟน ฮอว์คิง ที่เพิ่งเสียชีวิตไป

ดูเหมือนแทนที่จะได้พัก กลับงานเยอะขึ้นกว่าสมัยบริหารเนชั่นอีก ทุกวันนี้มีวิถีการทำงานอย่างไร

ช่วงแรกยุ่งเพราะต้องจัดระบบมากหน่อย แต่สนุก ได้ทำสิ่งที่อยากทำ เมื่อก่อนผมใช้เวลาสำหรับงานบริหารเกินครึ่ง มีเวลาทำเนื้อหาแค่ 30% ของเวลาทั้งหมด แต่ตอนนี้ผมสามารถทำได้เต็มที่

ทุกวันนี้ ผมมีทีมงานทั้งหมด 7 คน มาจากเนชั่นเก่า ตั้งเป็นบริษัท กาแฟดำ จำกัด “กาแฟดำ” เป็นนามปากกาของผม เขียนทุกวันเกือบห้าสิบปี พอออกมาก็คิดว่าคนน่าจะจำ “กาแฟดำ” ได้ จึงตั้งเป็นชื่อบริษัท

 

คุณสุทธิชัยเริ่มเข้าสู่วงการสื่อตั้งแต่เมื่อไหร่ 

ตั้งแต่ผมอายุ 18 ปี ก็เริ่มเขียนหนังสือ พอมาเรียนหนังสือในกรุงเทพฯ ปีแรก ก็ลองเขียนบทความส่งหนังสือพิมพ์สยามรัฐของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ทางไปรษณีย์แบบไม่รู้จักใคร ในที่สุดก็ได้ลงตีพิมพ์ รู้สึกตื่นเต้นมาก ตอนนั้นใช้ชื่อจริง เกือบทุกครั้งที่ส่งไปก็ได้รับการตีพิมพ์ ทำให้มีกำลังใจอยากจะทำ แม้ไม่ได้ค่าเรื่อง เพราะฉะนั้นถ้าพูดถึงการเขียนหนังสือหรือทำสื่อก็คงเริ่มตั้งแต่อายุ 18 ปี

ทำงานในวงการสื่อมา 50 ปี ผ่านงานมาสารพัดแบบ แต่ทุกครั้งที่ผมเห็นคุณสุทธิชัยทำงาน แววตาจะเป็นประกาย สนุกกับงานที่ทำเสมอ  passion ในการทำงานมาจากอะไร เคยรู้สึกเบื่อบ้างไหม

ไม่เบื่อเลย เพราะตั้งแต่เด็ก ผมสนใจการเมือง ไม่ใช่แค่การเมืองในประเทศเท่านั้น ผมชอบอ่านชีวประวัติบุคคลสำคัญด้วย ทั้งนักวิทยาศาสตร์ นักดาราศาสตร์ วิศวกร ศิลปิน นักดนตรี ทุกคนล้วนแต่สร้างแรงบันดาลใจให้เรา และทำให้ผมคิดว่า ทางที่เราจะเข้าใจคนเหล่านี้ได้ คือต้องทำงานเกี่ยวกับสื่อสารมวลชน ตั้งแต่ตอนนั้นจึงตัดสินใจว่าชอบและรัก อยากทำสื่อ

 

passion ในวันนี้แตกต่างจากวันนั้นอย่างไร

ไม่เคยหายไปเลย มีแต่เพิ่มขึ้น เพราะเทคโนโลยีใหม่อย่าง facebook live หรือโซเชียลมีเดีย ทำให้ผมยิ่งเห็นโอกาสในการสื่อสารไปถึงคนอย่างกว้างขวางรวดเร็ว แบบ anywhere และ anytime

ความท้าทายในการทำสื่อทุกวันนี้คืออะไร

ความท้าทายคือการใช้โซเชียลมีเดียทำหน้าที่สื่อให้ดี และให้ประโยชน์แก่คนที่ติดตามอย่างเต็มที่ empower ประชาชนทั่วไป ผมชักชวนคนมา live กับผมเพื่อให้เขาเห็นว่ามันมีวิธี มีโอกาสพูดแสดงความคิดเห็นและสื่อสารกันได้

ผมเชื่อว่าถ้าผมหยุดทำ ผมจะเสียดายโอกาสในการชักชวนให้คนมาใช้เทคโนโลยี สมัยก่อนการถ่ายทอดสดต้องใช้รถ OB คันใหญ่ๆ ใช้เจ้าหน้าที่ 20 คนเป็นอย่างน้อย เสียค่าดาวเทียมนาทีละเป็นแสน การถ่ายทอดสดแต่ละครั้ง เพียงไม่กี่นาที ใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 2-3 แสนบาท ผมเกิดมากับระบบแบบนั้น แล้ววันดีคืนดีก็มี facebook live รายงานสดได้ทุกจุดแบบไม่ต้องเสียเงิน ไม่ต้องใช้คนมากมาย และไม่ใช่แค่เฉพาะการรายงานข่าว แต่ทำให้คนสามารถสื่อสารแลกเปลี่ยนกันได้ด้วย ผมคิดว่ามันวิเศษสุด

ในโลกที่มีเทคโนโลยีใหม่ มีพลังการผลิตรูปแบบใหม่ และมีแกรมม่าใหม่ๆ ในวงการสื่อ ปัญหาของสื่อกระแสหลักคืออะไร

สิ่งที่ผมเสียดายและหวั่นเกรงมากคือ สื่อหลักไม่ปรับตัวเท่าที่ควร การล่มสลายของสื่อ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือพิมพ์และโทรทัศน์กำลังจะเกิดขึ้น และเกิดขึ้นจากความกลัวของคนทำสื่อที่ไม่กล้าปรับตัวฉีกตัวเองออกมาจากกรอบพื้นที่สุขสบายเดิมที่ยืนอยู่

ในวงการตอนนี้ ผมคิดว่ามีคนพยายามปรับตัวไม่ถึง 20% คนที่เหลือ 80% กำลังนั่งนิ่งรอหายนะของวงการ คนทำสื่อทีวียังคงคิดแบบสื่อทีวี มีขั้นตอนแบบทีวี ต้องมีแหล่งข่าว ต้องนัดสัมภาษณ์ แทนที่จะคิดว่าขอทาน ยาม หรือว่าคนเก็บขยะ ก็เป็นสตอรี่ได้ คนทั่วไปไม่มีเหตุผลที่ต้องมานั่งรอหน้าจอทีวีเพื่อดูข่าวเก่า ซึ่งเนื้อหาไม่ได้ใหม่และลึกไปกว่าที่เห็นในโซเชียลมีเดีย

อะไรทำให้สื่อนิ่งเฉย ไม่ยอมปรับตัว 

ความกลัว กลัวว่าฉีกตัวออกมาแล้วจะไหวไหม จะรอดไหม กลัวว่าทำผ่านโซเชียลมีเดียแล้ว จะมีคนดูไหม จะเอาอะไรไปพูด

ความไม่กลัวอย่างเดียวไม่พอ แต่ก็สำคัญมาก เพราะทำให้กล้าทดลองสิ่งต่างๆ ถ้ามันไม่เวิร์คก็ไม่เป็นไร แค่ลองใหม่ ฉะนั้นพอมีทวิตเตอร์ มีบล็อก ผมก็เข้าไปลองเลย ผมไม่ได้รู้เรื่องเทคโนโลยีมาก แต่ระหว่างความกลัวเทคโนโลยี กับความตื่นเต้นที่จะใช้มันให้เป็นประโยชน์ ความตื่นเต้นมีมากกว่า ผมจึงลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ

มันคงไม่ใช่แค่เรื่องของการกล้าใช้ช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ เท่านั้น แต่ในระดับวิธีคิด วิธีทำงาน สื่อต้องปรับตัวอย่างไรในโลกใหม่ 

ต้องปรับวิธีนำเสนอและเนื้อหา คำถามแรกๆ ที่ผมชวนทีมคิดคือ สิ่งที่เราผลิตอยู่ทุกวันนี้ยังมีคนต้องการไหม ถ้าเราไม่มีอะไรที่ลึกและฉีกแนวกว่าคนอื่น คนจะมาเสพเราไหม คนต้องการสิ่งที่หาเสพจากที่อื่นไม่ได้

สำหรับสื่อทั่วไป การปรับตัวยังไม่เกิดขึ้น เพราะคิดว่ายังทำงานแบบเดิมได้ ก้มหน้าก้มตาทำงาน หัวหน้าก็คงพาเราไปรอดได้ ผมขอเปรียบเทียบว่าสื่อดั้งเดิมเหมือนอยู่ในเรือเอี้ยมจุ๊น เทอะทะ ผุพัง รั่วแล้ว ในภาวะปกติก็อาจจะพอแล่นได้ แต่ทุกวันนี้เรือเอี้ยมจุ๊นกำลังเจอพายุ แถมเป็น perfect storm เสียด้วย ผู้โดยสารก็เยอะ สัมภาระก็หนัก แล้วเรือมันจะไปรอดได้อย่างไร อย่าคิดว่ากัปตันหรือเจ้าของเรือจะพาเรารอดได้เสมอไป

แล้วบริษัท กาแฟดำ จำกัด เป็นเรืออะไร 

เราเป็น speed boat ลำเล็กๆ ตอนนี้ทุกคนต้องหา speed boat ของตัวเอง มีคนไม่ต้องเยอะ แต่ต้องนั่งคุยกันให้ชัดว่าเราจะทำเนื้อหาอะไรที่คนต้องการและหาจากที่อื่นไม่ได้ ใครเชี่ยวชาญด้านข่าวสิ่งแวดล้อม ก็ทำให้ลึกและต่อเนื่อง วิเคราะห์จนนำไปสู่การแก้ปัญหา นำเสนอผ่านช่องทางโซเชียลมีเดีย ไม่ต้องลงทุนเยอะ ใช้มือถือนี่แหละ

เนื้อหาต้องลึก ตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม และสร้างให้เกิดกลุ่มผู้ติดตามเราให้ได้ สื่อต้องไม่อยู่ในลัทธิยอมจำนน ไม่ยอมแพ้ตั้งแต่ต้น แต่ต้องลุยทำไป มันจะถูกหรือผิดก็ไม่สำคัญเท่ากับการที่คุณได้เรียนรู้

ในโลกสมัยนี้ คุณ fail ได้ ล้มเหลวได้ ไม่มีใครไม่ล้ม แต่ fail fast ล้มเร็ว แล้วลุกทำใหม่ เรียนรู้ใหม่ จะได้ปรับตัว แก้ไขทัน และเริ่มต้นใหม่

ท่ามกลางภาวะฝุ่นตลบในวงการสื่อที่คนยังไม่รู้ว่าสุดท้ายจะดำเนินไปในทิศทางไหน ประสบการณ์ 50 ปีของ “กาแฟดำ” มองเห็นอะไร

ผมไม่สามารถอ้างได้ว่าผมมองทะลุเมฆหมอกนี้ ผมพอรู้แค่ 3-4 ก้าวเท่าที่มองเห็น แต่ผมเดินไปก่อน และเมื่อผมเดิน 3-4 ก้าวแล้ว ก็จะมองเห็นทางข้างหน้าเพิ่มขึ้นอีก 3-4 ก้าว ฉะนั้น มันไม่ใช่ว่าเดินไปแล้วจะเจอแต่ฝุ่นตลบ มองอะไรไม่เห็น มันไม่จริง

ถ้าคุณเดินสามก้าว คุณก็จะเห็นอีกสามก้าว คุณอาจจะมองไม่เห็นยี่สิบก้าวข้างหน้า แต่คุณอย่าหยุดเดิน ถ้าคุณถอดใจเพราะเห็นแค่สามก้าวแรก คุณก็จะไม่มีทางก้าวไปข้างหน้าได้ ฉะนั้นคุณเดินไปเถอะ มันอาจจะไม่เห็นทัศนวิสัยไกลเหมือนแต่ก่อน แต่คุณต้องปรับตัวให้ทันและมีความมั่นใจว่าต้องเดินต่อไป แล้วถ้าเดินไปถึงจุดนั้นแล้วมันมืดมัว คุณก็แค่รอสักพัก รอให้มันสงบลง แล้วทางจะชัดเจนขึ้นมาเอง

ขณะนี้สื่อกระแสหลักยังจำเป็นอยู่ไหมในสังคมไทย

ไม่จำเป็น สมมติไม่มีทีวีให้ดู ไม่มีหนังสือพิมพ์ให้อ่าน คุณก็เปิดมือถือ ถ้าไม่มีมือถือต่างหาก คุณถึงรู้สึกหงุดหงิด รู้สึกว่าคุณไม่มีอะไรเลย ทุกวันนี้สื่อใหม่ๆ ทำหน้าที่แทนสื่อหลักได้เกือบหมดแล้ว

บทบาทของสื่อหลักที่ผ่านมาทำหน้าที่เป็นคนเฝ้าประตู (gatekeeper) เลือกว่าคุณควรอ่านข่าวนั้นข่าวนี้ ฉันพาดหัวแบบนี้ คุณต้องอ่านตามลำดับที่ฉันจัดให้ ทีวีก็เหมือนกัน มีข่าวอันดับหนึ่ง อันดับสอง จัดเรียงลำดับความสำคัญให้ แต่ทุกวันนี้คนดูไม่ต้องการ ฉันตัดสินเองได้จากมือถือว่าข่าวไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ สื่อไม่ต้องมาบอก

ส่วนบทบาทเดิมในแง่การเป็นหมาเฝ้าบ้าน (watchdog) คอยจับผิดเรื่องเลวร้ายของสังคม ทุกวันนี้โซเชียลมีเดียก็ทำได้ดีกว่าสื่อหลักเช่นกัน เพราะโซเชียลมีเดียมีความหลากหลาย คนรู้จริงในแต่ละวงการเข้ามาให้ข้อมูล ทุกวันนี้ เวลาผมเขียนข้อมูลอะไรผิด ไม่ถึงห้านาทีก็จะมีคนเขียนมาแก้ให้

ฉะนั้น บทบาทของสื่อหลักในฐานะ gatekeeper หายไป คุณไม่มีสิทธิกั้นประตูว่าข่าวไหนผ่านหรือไม่ผ่าน ส่วนบทบาทของสื่อหลักในฐานะ watchdog ก็หายไป เพราะโซเชียลมีเดียทำได้ดี กระทั่งเรื่องการระดมปัญญารวมหมู่ (crowdsourcing) ก็ทำได้ดีกว่าคุณด้วยซ้ำไป ฉะนั้นถ้าสื่อหลักไม่ปรับบทบาทตัวเองให้เป็นประโยชน์ ก็คงไม่มีความจำเป็นอีกต่อไป

สุทธิชัย หยุ่น, สื่อใหม่, การเมืองไทย

แล้วบทบาทของสื่อหลักในแง่การทำข่าวเจาะละครับ บางคนบอกว่า สื่อหลักมีความเป็นสถาบัน ทำงานต่อเนื่องยาวนาน สะสมภูมิปัญญาวิชาชีพไว้ และมีทรัพยากรในการทำข่าวเชิงลึก มันเป็นอย่างนั้นไหม 

สื่อหลักที่ว่าทรัพยากรเยอะ ตอนนี้ก็ค่อยๆ ร่อยหรอลงไปแล้ว กำลังคนเริ่มลดลง คนที่เข้าไปเป็นเจ้าของดิจิทัลทีวีคือกลุ่มนายทุนเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งไม่ลงทุนเรื่องคุณภาพเท่าไร กลุ่มทุนมีแต่ให้คนออก และไม่ส่งเสริมให้มีการใช้ทรัพยากรทางด้านการรายงานข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน แต่ต้องการเรตติ้ง ต้องการดราม่า ต้องการโฆษณา ฉะนั้นยิ่งตรงกันข้ามกับสิ่งที่เราคิดว่าสื่อเก่าควรจะทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะมีประสบการณ์และทรัพยากรมากกว่าคนอื่น ความจริงไม่ใช่เลย หลายคนที่เริ่มสร้างเว็บไซต์ ทำเนื้อหาแบบที่หาที่ไหนไม่ได้ กลับมีบทบาทสำคัญมากกว่าสื่อกระแสหลักเสียอีก

ถ้าสื่อกำลังจะล้ม ทำไมกลุ่มทุนถึงอยากซื้อ

ซื้อเพราะคิดว่าจะมีโอกาสสร้างกำไรจากธุรกิจที่กำลังย่ำแย่ หนึ่ง ราคาถูก สอง คิดว่าสามารถพลิกฟื้นได้ สาม กลุ่มทุนหลายกลุ่มมีธุรกิจอยู่แล้ว จึงคิดใช้สื่อเพื่อเป็นกระบอกเสียงของตัวเอง ฉะนั้นทุนที่เข้าไปจึงไม่ใช่ทุนที่จะสร้างคุณภาพสื่อแน่นอน กลับเป็นแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้มีสื่อใหม่หลายเจ้า มาจากสารพัดแวดวง ทั้งสายวิชาการ สายนิตยสาร ฯลฯ คุณสุทธิชัยอ่านสื่อใหม่แล้ว สังเกตเห็นอะไรบ้าง

ผมชื่นชมสื่อใหม่ที่ตั้งใจนำเสนอเนื้อหาที่หาไม่ได้ในสื่อหลัก แต่ถ้าให้วิจารณ์คือยังมีประเด็นปัญหาว่าวิธีการนำเสนอเนื้อหาสามารถเข้าถึงคนทั่วไปง่ายขึ้นไหม ผมเชื่อในเรื่องการเจาะเข้าไปในแต่ละกลุ่ม แต่วิธีการนำเสนอน่าจะทำให้มันย่อยง่ายขึ้น สามารถทำให้คนรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อหาที่นำเสนอได้ดีขึ้น เพราะเขากำลังโหยหาสิ่งที่สื่อหลักให้ไม่ได้

ผมคิดว่า ทุกวันนี้สื่อใหม่สามารถตอบโจทย์ที่คนอ่านต้องการได้ 30-40% แต่ก็เชื่อว่าต่อไปจะยิ่งพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เนื้อหาที่ต้องการให้ความรู้ เจาะในประเด็นที่สังคมน่าจะตื่นตัว สร้างให้เกิดวาระทางสังคมและนำไปสู่การถกแถลงหาทางออก จะเป็นสิ่งที่คนโหยหามาก เพราะหาไม่ได้จากข่าวปกติทั่วไป

ผมคิดว่าสื่อใหม่มาถูกทางแล้ว แต่ความหลากหลายน่าจะมากกว่านี้ และพยายามเข้าใจคนวงกว้างมากกว่านี้

วงการสื่อในปัจจุบันมีการแข่งขันสูงมาก ทำอย่างไรให้การแข่งขันเป็น climb to the top ไม่ใช่ race to the bottom 

ถ้าเป็นการแข่งขันที่ race to the bottom แข่งกันต่ำเตี้ยลงก็อยู่ไม่รอดอยู่ดี ถ้าแข่งเพื่อเรตติ้ง เพื่อยอดไลก์ คนก็จะรู้ ทุกวันนี้ คนอ่านฉลาดขึ้น เพราะมีทางเลือกมากขึ้น ถ้าเป็นการแข่งกันสร้างคุณภาพ คนจะเห็น ผมฝันถึงขนาดว่าคนไทยพร้อมจะจ่ายเงิน ถ้าคุณทำอย่างมีคุณภาพถึงจุดหนึ่ง คนจะเห็นว่าถ้าไม่สนับสนุนก็จะไม่มีสื่อแบบนี้ต่อไป

สื่อหลักในเมืองนอกอย่าง The New York Times ที่เคยมีปัญหาทางการเงินก็ฟื้นขึ้นมาด้วยระบบจ่ายเงินแบบนี้

ฟื้นมาและดีขึ้นกว่าเดิมด้วย คนอื่นที่ตายไปก็เพราะไม่ปรับตัว เหลืออยู่เพียงไม่กี่เจ้า แต่ตัวจริงยังอยู่ แถมแข็งแกร่งขึ้นอีก รายได้มาจากสมาชิกที่พร้อมจะจ่ายเงิน ซึ่งแสดงว่าต้องรักสถาบันนั้นมาก และมีความรู้สึกร่วมเป็นเจ้าของ

ไม่ใช่แค่หนังสือพิมพ์ นิตยสารอย่าง The New Yorker ก็อยู่รอดได้ The Economist ก็เช่นกัน ใช้สูตรเดียวกัน อ่านออนไลน์ก็ต้องจ่ายเงิน หลายเจ้าอ่านในมือถือก็ราคาเท่ากับนิตยสารเลย เพื่อแลกกับเนื้อหาที่คนอื่นสู้ไม่ได้

คนไทยพร้อมหรือยัง

คนไทยอาจจะเชื่อในความรู้สึกที่ไม่ดีต่อตัวเองตลอดเวลา ว่าทำแบบนั้นไม่ได้ คนไทยไม่เอาหรอก เช่น มายาคติเกี่ยวกับการทำข่าว ทำข่าวต้องสั้น อย่าเขียนข่าวยาว เพราะคนไทยสมาธิสั้น อย่าทำเรื่องซีเรียส แต่ผมไม่เชื่อว่าจริง ประสบการณ์ผมที่ทำ facebook live ไม่รู้สึกว่าคนสมาธิสั้น บางครั้งผมคุยยาวเป็นชั่วโมง คนดูไม่ลดลงเลย มีแต่เพิ่มขึ้น ถ้ามันสนุก เขาจะบอกอย่าเพิ่งจบ ขอตอนต่อไปได้ไหม

ความเชื่ออีกอย่างคือ เราคิดว่าคนคงไม่จ่ายเงิน แต่ถ้าคุยกับคนไทยจำนวนหนึ่งจะพบว่าเขาเบื่อสื่อหลักมาก ไม่มีอะไรดูจึงมาดูในมือถือ ถ้าสื่อมีคุณภาพ ผมเชื่อว่าเราสามารถสร้างวัฒนธรรมใหม่ขึ้นมาได้ ถ้าคนไทยไม่พร้อมจ่าย สื่อคุณภาพจะเจ๊งหมด

ชีวิตคนทำสื่อของผมสวนกระแสอยู่ตลอดเวลา ตอนทำกรุงเทพธุรกิจรายวัน มีคนบอกว่าเจ๊งแน่นอน เพราะคนไทยไม่อ่านข่าวธุรกิจรายวัน ข่าวเศรษฐกิจไม่ได้มีทุกวัน มีเพียงรายสัปดาห์ก็พอแล้ว กระทั่งกองบรรณาธิการก็บอกว่าอย่าออก เจ๊งแน่นอน แต่เชื่อหรือไม่ว่าตั้งแต่เปิดกรุงเทพธุรกิจวันแรกจนผมออกมา ร่วม 30 ปี มีกำไรตลอด ยอดคนอ่านเพิ่มขึ้น อาจไม่ได้เป็นแสนเป็นล้านเหมือนหนังสือพิมพ์แมส แต่ผมเชื่อในคุณภาพ คนอ่านกรุงเทพธุรกิจเป็นคนสนใจเศรษฐกิจ เป็นนักธุรกิจ นักศึกษา ยอดขายอาจไม่ต้องเป็นล้าน แต่เราอธิบายให้ผู้ลงโฆษณาได้ว่ามันไปถึงคนที่มีคุณภาพและมีอำนาจซื้อ

ตอนผมไปทำ itv ด้วยความคิดว่าจะทำเป็นสถานีข่าว 24 ชั่วโมง คนก็ถามว่าใครจะดูข่าว 24 ชั่วโมง ตอนนั้นทีวีมีรายการข่าวแค่ครึ่งชั่วโมง แต่ผมเชื่อว่าคนไทยอยากฉลาดขึ้น อยากดูข่าวตลอดเวลา ฉะนั้น itv จะเป็นสถานีข่าวและเป็นทีวีเสรี คำว่าทีวีเสรีนี้คือการทำข่าวที่ไม่อิงกับรัฐ แล้ว itv ก็เกิด เป็นสถานีข่าวที่ทำให้คนไทยหันมาติดตามข่าวสารอย่างคึกคัก

ฉะนั้นใครบอกว่าคนไทยเป็นอย่างไร ผมจะพิสูจน์ให้ดูว่ามันไม่จริงทุกเรื่อง ถ้าเราเชื่อในคุณภาพ ผมอยากเชียร์ให้ทุกคนกล้าสวนกระแส อย่าไปดูถูกว่าคนไทยจะดูเฉพาะดราม่า ดูละครน้ำเน่าเท่านั้น เคยมีการสำรวจว่าสารคดีดีๆ ที่ออกหน้าจอช่วงไพรม์ไทม์ เรตติ้งคนดูมากกว่ารายการอื่นด้วยซ้ำไป

คุณสุทธิชัยสวนกระแสมาแล้วหลายเรื่อง ยังมีความท้าทายอะไรในใจที่อยากสวนกระแสต่ออีก

อยากสวนกระแสเรื่องโซเชียลมีเดีย คนไทยส่วนใหญ่มองว่าโซเชียลมีเดียเป็นของเล่น ไม่เป็นหลักเป็นเกณฑ์ แต่สำหรับผม มันเป็นหลัก คุณเลิกทำสื่อแบบดั้งเดิมได้เลย แยกมาทำเฉพาะโซเชียลมีเดียเลย ทำเช้าทำเย็น ทำเนื้อหาจริงๆ ลุยสู้ คุณเองก็สามารถเปลี่ยนได้ ผมอยากสร้างกระแสให้สื่อรุ่นใหม่กล้าทำ

ตอนนี้ในต่างประเทศถกเถียงกันมากเรื่องการกำกับดูแล facebook หรือโซเชียลมีเดียอื่นๆ ในฐานะคนที่ใช้พลังของโซเชียลมีเดีย คิดว่า platform เหล่านี้ควรถูกกำกับดูแลอย่างไร 

ผมคิดว่าประเด็นเรื่องความเป็นส่วนตัว (privacy) ที่ facebook ถูกกล่าวหาว่านำข้อมูลส่วนตัวของเราไปใช้ เป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ แต่อย่าลืมว่าเมื่อเราเข้าไปใน facebook ทุกอย่างที่เราทำคือการให้ข้อมูลกับเขา ฉะนั้นกรุณาระวัง

โซเชียลมีเดียไม่ได้เป็นสถานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน ในทุกกรณี ทุกเวลา การเข้าไปใช้ก็เหมือนกับการยืนอยู่ในจัตุรัสกลางเมือง มีผู้คนมากมาย รู้จักบ้างไม่รู้จักบ้าง ในจัตุรัสกลางเมืองนี้ เราต้องรู้ว่าจุดไหนเป็นจุดปลอดภัยของเรา และไม่ใช่ทำทุกอย่างให้ทุกคนเห็นหมด การเข้าไปเล่นโซเชียลมีเดียต้องรู้ว่าเราควรจำกัดกิจกรรมเฉพาะที่เราต้องการให้คนอื่นรู้เท่านั้น บางคนถือว่าโซเชียลมีเดียเป็นพื้นที่ส่วนตัวของตัวเอง ซึ่งไม่จริง อย่าเข้าใจผิด

กสทช.เคยพยายามคิดควบคุม facebook และ google แต่ว่าทำไม่ได้  ถึงจุดหนึ่งเมื่อคนยอมรับกันทั้งโลกก็ไม่จำเป็นต้องผ่านผู้กำกับดูแลใดๆ รัฐบาลไทยควรจับตาดูวิธีการที่เขาทำและพยายามปกป้องดูแลสิทธิของคนไทย แต่อย่าคิดควบคุม มันเป็นไปไม่ได้ เช่น สั่งปิดเพจ เขาก็ยังหลุดไปที่อื่นได้ หาทางออกต่างๆ นานาได้ เมื่อเห็นข้อมูลข่าวสารที่ไม่เหมาะสม ทางเดียวก็คือรัฐบาลหรือเอกชนต้องมีข้อมูลเข้าไปแย้ง สู้กันด้วยปัญญา อย่าคิดใช้กำลังควบคุม

สุทธิชัย หยุ่น, สื่อใหม่, การเมืองไทย

สมัยเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 เนชั่นเป็นธงนำในการเรียกร้องประชาธิปไตย ต่อสู้กับเผด็จการ แต่ช่วงหลังมานี้ มีคนวิจารณ์ว่าเนชั่นไม่ได้เข้มข้นกับเรื่องเหล่านี้เหมือนแต่ก่อน มันเกิดอะไรขึ้น

เพราะสังคมเปลี่ยนไป มีการแยกข้างแยกสี ใครไม่อยู่ข้างนี้ คนก็มองว่าต้องอยู่ข้างนั้น ที่ผ่านมา เนชั่นพยายามรักษาความเป็นมืออาชีพ เราสะท้อนให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของสังคม ถ้าออกตัวแรงก็จะกลายเป็นสื่อเลือกข้างไป จริงๆ แล้ว สื่อเลือกข้างมีคนดูเยอะและเรทติ้งดีนะ แต่เราไม่อยากไปทางนั้น

ตัวคนดูเองก็เริ่มแบ่งข้าง ฉันจะดูเฉพาะที่ชอบและเห็นด้วย จะไม่ยอมดูสื่ออีกข้างหนึ่ง เนชั่นพยายามประคองตัวเองให้เป็นมืออาชีพ แต่เราก็ถูกกดดันจากทั้งสองฝ่าย เชิญคนนั้นคนนี้มาสัมภาษณ์เราก็โดนด่า หาว่าอยู่สีนั้นสีนี้ เราเชิญมาไม่ใช่เพราะเขาเป็นสีอะไร แต่เพราะเขามีเรื่องที่จะพูด เราต้องให้พื้นที่กับทุกฝ่าย

ยืนยันว่าเนชั่นไม่ได้เปลี่ยน?

ความภูมิใจของผมจนถึงทุกวันนี้และจนถึงวันตายของผม คือ นักข่าวเนชั่นไม่เคยได้รับคำสั่งให้เชียร์หรือด่าใคร เพียงเพราะว่าผมชอบหรือไม่ชอบใคร ทุกคนมีอิสระและเสรีภาพของความเป็นมืออาชีพ อาจจะมีความเห็นต่างในกองบรรณาธิการบ้าง แต่หน้าที่ของผมคือประคองให้ทุกคนทำหน้าที่ของสื่อตามหลักจรรยาบรรณที่เขียนเอาไว้เป็น Nation’s way

โจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้ทำงานกันอย่างไร้อคติ (impartial) ไม่ใช่เป็นกลาง (neutral) เพราะการเป็นกลางเป็นไปไม่ได้ คุณไม่มีความรู้สึกเลยหรือว่าคนนี้โกหก คนนั้นพูดความจริง คงไม่ใช่ แต่สิ่งสำคัญคือความพยายามที่จะทำงานอย่างไร้อคติที่สุด ให้โอกาสทุกฝ่าย และนำเสนอให้รอบด้านมากที่สุด อย่าให้ถูกมองว่าเราโดนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้งานเพราะมีผลประโยชน์ทับซ้อน อาจจะมีบางครั้งที่ข่าวด้านนั้นด้านนี้แรงไปบ้าง ก็เป็นเรื่องของความบกพร่องมากกว่า

คิดอย่างไรกับเสียงวิจารณ์ที่ว่า เนชั่นใกล้ชิดทหาร เพราะไม่เอาทักษิณ สมัยทักษิณเคยถูกรังแกมา คุณสุทธิชัยก็เคยถูกกลั่นแกล้งจากเจ้าหน้าที่รัฐ รายการทีวีก็ต้องเลิกทำ ทุกวันนี้เลยกลายเป็นสื่อเข้าข้างอำมาตย์ ไม่เอาประชาธิปไตยไปแล้ว 

ไม่จริง เรายืนยันตลอดว่าเสรีภาพของสื่อกับประชาธิปไตยต้องไปด้วยกัน แต่เราไม่ได้ออกมาตามกระแสใดกระแสหนึ่ง บางฝั่งเลยอาจจะมองว่าเราไม่ได้อยู่ข้างนี้ แต่ผมคิดว่าจะวิจารณ์ใครต้องดูกันยาวๆ ว่าประวัติของคุณเป็นมาอย่างไร

ในช่วงวิกฤตการเมือง บางรายการของเนชั่นพยายามชวนคนทุกฝ่ายมาใช้พื้นที่หน้าจอ แต่บางรายการก็มีผู้ดำเนินรายการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองอย่างชัดแจ้ง ใช้ความคิดเห็นส่วนตัวมาคุยข่าวหน้าจอ เส้นมันอยู่ตรงไหน 

มันสะท้อนถึงความเป็นสังคมไทย ในกองบรรณาธิการก็มีความคิดเห็นแตกแยก สื่อบางคนอาจจะแอ็คทีฟ เข้าไปเกี่ยวข้องทางการเมืองมาก เราก็เคยเตือนว่าอะไรควรทำหรือไม่ควรทำ ในช่วงที่บรรยากาศร้อนแรง ก็อาจมีหลุดออกไปบ้าง มีทั้งคนชอบ คนไม่ชอบ แต่หลักการเรายังคงเหมือนเดิม คุณจะไม่เห็นผมหรือคนดูแลนโยบายเข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเลย

ยังบอกได้ไหมว่า “ผิดจากนี้ไม่ใช่เรา”  

แน่นอน นั่นคือคำมั่นสัญญาของเรากับประชาชน ถ้าเราทำผิดหลักจริยธรรม กรุณาแจ้งเรา กรุณาตำหนิเรา กรุณาวิจารณ์เรา

เรารับปากกับประชาชนว่าจะทำหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต ไร้อคติที่สุด ให้พื้นที่กับคนทุกฝ่าย ผมเชื่อว่าเราพยายาม แต่ในภาวะที่สังคมรวนเร สุดขั้วไปทั้งสองทาง คนยืนอยู่ตรงกลางก็ถูกเขย่า แต่ไม่เคยมีลักษณะที่เอียงไปข้างไหนข้างหนึ่งเพราะผลประโยชน์ทางการเมืองหรือธุรกิจ คนข้างในเป็นพยานได้

เราไม่สามารถบอกได้ว่าเราทำงานได้อย่างสมบูรณ์แบบแล้ว หรือเราสามารถรักษาสถานภาพของเราในทุกกรณีได้ แต่ถ้าพลาดก็จะพยายามแก้ไข กลับมายืนอยู่ตรงกลาง ตั้งหลักใหม่ อย่าให้หลุด อย่าให้พลาดอีก

จะจัดการเรื่องสื่อเลือกข้างอย่างไร 

สื่อเลือกข้างเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดมา 10 กว่าปี และเกิดขึ้นจากการเมืองเข้าไปแทรกแซง มีนักการเมืองเข้าไปทำสื่อ หรืออ้างตัวเองเป็นสื่อ จนทำให้เกิดการเลือกข้างขึ้นมา ปรากฏการณ์เช่นนี้มีจนถึงระดับวิทยุชุมชน ซึ่งน่ากลัวมาก เพราะใส่แต่ข้อมูลด้านเดียวตลอด ฉะนั้นต้องแยกให้ถูกระหว่างสื่ออาชีพกับสื่อที่มาจากไหนก็ไม่รู้ แต่เลือกข้างมาตั้งแต่ก่อนเป็นสื่อแล้ว บทบาทของสื่ออาชีพต้องสร้างความแข็งแกร่งให้มากขึ้น อย่างที่ผมบอกว่าต้องกล้าขึ้น เลิกกลัว ตั้งหลักให้ได้ว่าสื่ออาชีพต้องตรวจสอบข่าว ปฏิเสธข่าว และสร้างเนื้อหาน้ำดีไปล้างน้ำเน่าในโซเชียลมีเดีย

หลังรัฐประหาร เราเห็นตัวแทนสื่อจำนวนหนึ่งไปนั่งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กระทั่งร่างรัฐธรรมนูญ คุณสุทธิชัยเองก็รับตำแหน่งในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสื่อสารมวลชน ทำไมถึงตัดสินใจรับตำแหน่ง ถ้าสื่อรับตำแหน่งจะสามารถตรวจสอบการทำงานกลไกรัฐเหล่านี้ได้เต็มที่ไหม หรือควรจะรักษาระยะห่าง 

เรื่องนี้เป็นประเด็นโต้แย้งในวงการสื่อมาก ผมต่อต้านการที่สื่อเข้าไปอยู่ในองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเรื่องการเมือง จนทำให้ตัวเองไม่สามารถวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างอิสระ ผมคัดค้านมาตลอด ตอนที่เคยถกกันข้างในองค์กรสื่อ ตกลงกันแบบนี้ว่า เราเคารพสิทธิส่วนตัวของเขา แต่ถ้าคุณไปรับตำแหน่ง คุณก็ต้องลาออกจากความเป็นสื่อ ทุกคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปจะไม่มีบทบาทในองค์กรสื่อ

กรณีของผม ผมไม่เคยรับตำแหน่งอะไรเลย แม้จะถูกทาบทามในหลายกรณี เพราะผมถือหลักนี้ แต่กรณีเรื่องปฏิรูปสื่อ คณะกรรมการชุดก่อนออกกฎกติกาที่ผิดเพี้ยนมาก บังคับให้สื่อทุกคนต้องขอใบอนุญาตในการทำหน้าที่เป็นคนข่าว เราก็พยายามรณรงค์ต่อต้านมาตลอด ผมเห็นว่าถ้ารัฐเดินหน้าต่อไป คนกลุ่มเดิมก็จะเข้ามาอีก ฉะนั้นพอมีการติดต่อเข้ามา ผมจึงเข้าไปเพื่อสกัดกั้นเรื่องนี้เท่านั้น

ทำไมจึงไม่เลือกสู้จากวงนอกกับประชาชน

สู้แล้ว และตอนนี้ก็ยังสู้อยู่กับประชาชน แต่ผมเข้าไปข้างใน เพื่อหยุดมัน เพราะอย่าลืมว่ามี คสช. คุมอยู่ด้วย ฉะนั้นการสู้อยู่ข้างนอกจะยาก การรณรงค์จากข้างนอกก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเราจะพยายามทำให้ คสช. เข้าใจว่าเสรีภาพสื่อเป็นอย่างไร ผมคิดว่าต้องยอมเข้าไปข้างในเพื่อที่จะสกัดและอธิบายให้เขารู้ว่าการปฏิรูปสื่อควรทำอย่างไร

นี่เป็นข้อยกเว้นครั้งเดียวในชีวิต ผมไม่เคยรับตำแหน่งเหล่านี้มาก่อน และจะไม่รับต่อไป แต่ครั้งนี้ถ้าไม่เข้าไปจะเป็นเรื่องใหญ่ เพราะ คสช.ได้รับคำบอกเล่าจากคนทั้งหลายให้คุมสื่อให้ได้ด้วยกฎนี้ และถ้ากฎนั้นออกมาจะยุ่งกันไปหมด

การเข้าไปรับตำแหน่งทำให้สู้ได้ดีกว่าการอยู่วงนอกอย่างที่คิดไว้หรือไม่

ดีกว่า เพราะผมวางจุดยืนไว้แล้วว่า ถ้าเขายังยืนยันจะคุมสื่อในลักษณะที่เขาเคยคิด ผมจะประกาศลาออกและประกาศให้เห็นความชั่วร้ายภายในว่าเป็นอย่างไร ฉะนั้นเมื่อเข้าไปจนถึงทุกวันนี้ ผมยังบอกได้ว่าไม่มีการแทรกแซง มีสื่อหลายคนอยู่ในคณะกรรมการชุดนี้เช่นกัน เราสามารถผลักดันให้หลายเรื่องกลับมาสู่การเคารพเสรีภาพของสื่อ มีการจัดตั้งองค์กรสื่อมาดูแลด้านจริยธรรมกันเอง มิฉะนั้นจะมีการตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งขึ้นมา มีจำนวนตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาลเข้ามามากกว่าฝ่ายสื่อมวลชน ถ้าออกมาเป็นกฎหมายแล้ว การต่อสู้ข้างนอกจะยิ่งเหนื่อยมาก ผมเลยคิดว่ากรณีนี้เป็นข้อยกเว้นที่จำเป็นต้องทำ

คุณสุทธิชัยผ่านมาหลายรัฐประหาร ผ่านมาหลายรัฐบาลเผด็จการ การทำงานของรัฐบาลนี้ต่างจากเผด็จการยุคก่อนอย่างไร ในแง่การแทรกแซงสื่อ 

ผมเจอมาแล้วทุกรูปแบบ หลังเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เนชั่นเคยถูกปิดไปเป็นเดือน เคยมีโทรศัพท์เข้ามาขอให้ลงข่าวนี้ ห้ามลงข่าวนั้น ต่างๆ นานา การที่เราสู้มาตลอดและยังคงรักษาความเป็นสื่ออิสระได้ ต้องถือว่าไม่ธรรมดา ทหารมากี่ครั้งกี่หน เราก็มีวิธีการที่ทำให้ทหารรู้ว่าเสียเวลาถ้าจะเข้ามากำกับให้เป็นไปตามที่ต้องการ

ในยุคเผด็จการสมัยก่อน สื่อหนังสือพิมพ์จะร่วมมือกันต่อต้าน บางครั้งก็ออกมาในรูปบทนำเดียวกัน การรวมพลังของสื่อสิ่งพิมพ์ในยุคนั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมมาก มีอยู่ครั้งหนึ่งตกลงกันว่าเราจะไม่ลงข่าวการเมืองเลย ลงแต่ข่าวอาชญากรรมทั้งหมดเป็นการประท้วง ไม่ถึง 7 วันทหารก็บอกว่าพอแล้ว เพราะทำให้เกิดภาพว่าบ้านเมืองไม่สงบ ทุกวันมีแต่อาชญากรรม กรุณาทำงานปกติได้ไหม นี่คือการสั่งสอนเผด็จการโดยสื่อที่มีชั้นเชิง

ทำไมทุกวันนี้สื่อกระแสหลักจึงเลือกที่จะเงียบ หาสุ้มเสียงวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลได้เบาบางมากเลย

สำหรับยุคนี้แรงกดดันคงมาจากเศรษฐกิจเป็นหลัก สื่อหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ซึ่งมีดิจิทัลทีวีกำลังอยู่ในวังวนของความย่ำแย่ทางเศรษฐกิจ ทำให้โอกาสที่จะรวมตัวกันในแง่ของสื่อน้อยลง ต่างคนต่างเอาตัวรอด ผมก็รู้สึกเช่นกันว่าเสียงมันเบา

ส่วนสื่อรุ่นใหม่เองก็ไม่มีพลัง ไม่มี connection ไม่มี passion ในการต่อสู้เรื่องเสรีภาพเพียงพอ ผมคิดว่านี่เป็นจังหวะที่น่าเป็นห่วง

ในรุ่นของผม เราไม่ได้สู้กันแค่เผด็จการทหาร แต่เราสู้กับรัฐบาลที่มาจากเสียงส่วนใหญ่ แล้วไม่พอใจเสียงวิพากษ์วิจารณ์ของสื่อด้วยการสั่งให้กระทรวง ทบวง กรม และเอกชนหลายแห่ง ห้ามลงโฆษณากับสื่อ ฉะนั้นวิธีการลิดรอนเสรีภาพจึงไม่ใช่แค่ทหารสั่งอย่างเดียว

แม้กระทั่งระบอบประชาธิปไตยที่อ้างว่าเป็นประชาธิปไตยปกติก็หนักไม่น้อยไปกว่าทหารในหลายครั้ง มีการใช้แรงกดดันทางธุรกิจซื้อความจงรักภักดี ฉันให้โฆษณาคุณถ้าเป็นพวกผม ใครวิจารณ์ก็ตัดโฆษณา นั่นก็คือการต่อสู้กับเผด็จการอีกรูปแบบหนึ่ง เราอยู่รอดมาทั้งเผด็จการทหารที่พยายามสั่งเรา ข่มขู่จะจับเราติดคุก เราเจอรัฐบาลพลเรือนที่กดขี่ เราก็ผ่านมาได้ตลอด บางทีรายได้หายหมด ทั้งที่ถ้ายอมเขาก็ได้เงินและโฆษณา แต่เราไม่ทำ

ถ้าจะแนะนำสื่อรุ่นใหม่ให้เชิดหน้าสู้กับเผด็จการ จะแนะนำอย่างไร

โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธที่สำคัญมากในการต่อสู้กับเผด็จการ ฉะนั้นผมจึงเชียร์ให้คนทำสื่อลงมาทำโซเชียลมีเดียอย่างจริงจังเพื่อรวมตัวกันต้านเผด็จการทุกรูปแบบ เพียงแต่ว่าตอนนี้สื่อกลัว ไม่กล้าทิ้งพื้นที่สุขสบายหรือการทำงานแบบเดิม ไม่กล้ามาลุยกับโซเชียลมีเดียอย่างจริงจัง จึงไม่มีพลัง มีแต่ยอม รอว่าเมื่อไหร่จะเจ๊ง เมื่อไหร่จะตกงาน แต่ไม่กล้าที่จะทำอะไรใหม่

สื่อต้องเลิกกลัวและสร้างจิตสำนึกใหม่ แล้วมาประเมินทางรอดของหน้าที่สื่อว่าอยู่ตรงไหน ถ้าถึงตรงนั้นได้ ผมเชื่อว่าพลังของการรวมตัวต่อสู้เพื่อเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นจะกลับมา

ผมพูดเสมอว่า freedom of the press คือ freedom of the people ถ้าสื่อมีเสรีเท่ากับประชาชนมีเสรี แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าประชาชนใช้โซเชียลมีเดียปกป้องเสรีภาพของตนเองมากกว่าสื่อแล้ว

 

ทำงานมานาน เรื่องที่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองมีมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนไหม 

ผมคิดเพียงแต่ว่าเรามีคุณภาพพอหรือไม่ที่จะเขียนเรื่องราวต่างๆ ที่เขาห้าม การต่อสู้กับเผด็จการคือการเอาความจริงเอาหลักฐานที่ชัดเจนออกไปเผยแพร่ ที่ผ่านมาประสบการณ์ของผมคือถ้ามีหลักฐานจริงๆ และนำเสนออย่างกล้าหาญ เช่น ปัญหาคอร์รัปชันหรือความชั่วร้ายที่เกิดขึ้นในบ้านเมือง สื่อสามารถสู้ได้ แต่ที่ผ่านมามันมีแต่เสียงซุบซิบ ประชดประชัน ล้อเลียน ซึ่งมันไม่ใช่อาวุธที่แรงพอ อาวุธที่แท้จริงคือความจริง

สุทธิชัย หยุ่น, สื่อใหม่, การเมืองไทย

ขอชวนคุณสุทธิชัยวิเคราะห์การเมืองไทยหน่อย สังคมไทยอยู่กับ คสช. มา 4 ปี ทางไปต่ออยู่ตรงไหน 

ผมอยากจะเห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของการเมืองในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้น เราต้องตั้งความหวังว่ามันจะมีสึนามิทางการเมือง ถ้ามันเกิดในมาเลเซียได้ ทำไมจะเกิดที่เมืองไทยไม่ได้ สึนามิทางการเมืองหมายถึงการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าสู่การเมืองอย่างจริงจัง อาจจะไม่ต้องถึง 100% หรือถึงขั้นเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ของการเมืองไทย แต่ผมเชื่อว่าถ้าคนรุ่นใหม่ชนะเลือกตั้งเข้ามาสัก 30-40% มันก็พลิกโฉมประเทศได้แล้ว เลิกพูดถึงการเมืองแบบเดิมอย่างการดูด ส.ส. ได้เลย มันจะไม่มีความหมายอะไร ถ้าเกิดกระแสการเมืองของคนรุ่นใหม่

เห็นเค้าลางของสึนามิการเมืองไทยบ้างหรือยัง

เห็น ผมมองเห็นจากปรากฏการณ์ของพรรคการเมืองคนรุ่นใหม่ที่ค่อนข้างเป็นระบบในทางความคิด มีข้อเสนอแนวความคิดที่ผมเชื่อว่าได้เวลาแล้วที่ไทยจะต้องเปลี่ยน ถ้าได้จับมือกับนักการเมือง นักธุรกิจ หรือนักวิชาการที่มีประสบการณ์และความมุ่งมั่น รวมพลังกันได้ และมีพลังจากโซเชียลมีเดียช่วยหนุนเสริม

ผมเชื่อว่าโซเชียลมีเดียจะเป็นพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้ ประชาชนต้องรวมตัวกันส่งเสียงว่า วาระของประเทศนี้คืออะไร ต้องการอะไร เป็น people’s agenda ประชาชนร่วมกันสร้างวาระผ่านโซเชียลมีเดีย แล้วค่อยไปถามนักการเมืองที่ลงเลือกตั้งว่ามีนโยบายตอบโจทย์สิ่งที่ประชาชนต้องการอย่างไร

สำหรับการเลือกตั้งครั้งหน้า ถ้าความฝันของผมเป็นจริง มันสามารถพลิกได้ และทำให้คำว่า “รัฐประหาร” กลายเป็นอดีตได้จริง แต่ไม่ใช่แค่พูดเฉยๆ เราต้องลงมือทำด้วย

ผมอาจจะผิด แต่เชื่อว่ามันมีเค้าลางของสัญญาณแห่งความเปลี่ยนแปลง ครั้งนี้มาจากคนรุ่นใหม่ และมันเกิดขึ้นได้จริง เริ่มมีพรรคการเมืองรุ่นใหม่ที่แสดงจุดยืน และกล้าออกมาพูดว่าต้องเปลี่ยนตรงไหนบ้าง ต้องแก้รัฐธรรมนูญอย่างไร

คสช. กุมอำนาจมา 4 ปี มีรัฐธรรมนูญและแผนยุทธศาสตร์ชาติที่กำหนดไว้ให้รัฐบาลใหม่ต้องปฏิบัติตาม เป็นเครื่องมือในการสืบทอดอำนาจ คุณสุทธิชัยคิดว่าพลังคนรุ่นใหม่จะสามารถต่อสู้กลับ และซัดทหารกลับเข้ากรมกองได้ไหม

ได้  พรรคอัมโนครองอำนาจมา 61 ปียังเปลี่ยนได้เลย ก่อนการเลือกตั้งวันเดียว ผมถามคนมาเลเซีย แม้กระทั่งพรรคฝ่ายค้าน อันวาร์และมหาเธร์เองยังคิดว่าพวกเขาคงได้ที่นั่งมากขึ้น แต่พรรคอัมโนคงได้อยู่ต่อ แต่สุดท้ายผลการเลือกตั้งก็เปลี่ยนแปลงประเทศได้

กระแสความต้องการการเปลี่ยนแปลงที่มาเลเซียไม่แตกต่างกับไทย คือคนรุ่นใหม่ ทำไมเราไม่คิดว่าคนไทยรุ่นใหม่จะกล้าเสี่ยงกับนักการเมืองรุ่นใหม่ และทำให้การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผมว่ามันเกิดขึ้นได้ ถ้าเราทำด้วยกัน สร้างทิศทางร่วมกันว่าอยากเห็นประเทศไทยเป็นไปในทางไหน ทหารก็เถอะ จะมีรัฐธรรมนูญ มียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีก็เถอะ ไม่สามารถต้านทานกระแสนี้ได้หรอก

กระแสนี้จะเกิดขึ้นจากสื่อทำหน้าที่ ภาคประชาสังคมร่วมมือกันอย่างจริงจัง ลองดูเรื่องคอร์รัปชันก็ชัดเจนแล้วว่าเกิดขึ้นทุกหนแห่งในสังคมไทย ไม่ว่าใครเข้ามามีอำนาจก็อ้างว่าต้องปราบคอร์รัปชัน แต่มันไม่จริง เรื่องโกงเงินงบประมาณเพื่อคนยากจน ทำกันหลายจังหวัด คอร์รัปชันฝังตัวอยู่อย่างลึกซึ้ง ถ้าคนไทยบอกว่าได้เวลาแล้วที่จะเปลี่ยน ชนชั้นกลางบอกว่าได้เวลาแล้วที่จะเปลี่ยน ก็พลิกได้

เรายังหวังกับชนชั้นกลางได้อีกหรือ ไม่ใช่ชนชั้นกลางหรือที่เรียกทหารออกมา

ใช่ แต่ 4 ปีก็พิสูจน์แล้วว่าไม่มีเปลี่ยนแปลง มีอะไรดีขึ้นบ้างละ มันกลับมาอยู่ในรูปเดิม

สื่อมวลชน ชนชั้นกลาง ประชาสังคม คนรุ่นใหม่ ต้องใช้โซเชียลมีเดียสร้างกระแส ไม่ต้องออกไปเดินขบวนประท้วงอะไร ใช้ความนิ่ง ทำให้มันซึมลงไป สร้างประชามติร่วมกัน

การเลือกตั้งในมาเลเซียครั้งก่อนหน้า ฝ่ายค้านชนะ popular vote แต่ไม่สามารถชนะได้ที่นั่งเสียงข้างมากได้ เพราะผู้มีอำนาจตีเส้นไว้ ทำนองเดียวกันกับ คสช. ตีเส้นการทำงาน มีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี มีวุฒิสภา คนอื่นอาจจะบอกว่าเราแพ้อยู่แล้ว แต่มันไม่ใช่ ผมคิดว่าถ้าเสียงส่วนใหญ่หรือเสียงจำนวนมากพอสมควรแสดงประชามติว่าต้องการความเปลี่ยนแปลงแบบมีนัยสำคัญ ไม่มีใครต้านได้ ปืนก็ต้านไม่ได้

ในภาพรวม 4 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยเปลี่ยนไปอย่างไร อะไรที่ดีขึ้น อะไรที่เลวลง

ในภาพรวม ไม่มีอะไรดีขึ้น ในแง่ความตระหนักในการพาประเทศพ้นจากกับดักเดิม เราก็ยังอยู่ในกับดักของระบบราชการที่ทหารสั่งได้ โดยเฉพาะความตื่นตัวของชนชั้นกลางที่จะลุกขึ้นมาแก้ไขปัญหาบ้านเมืองไม่เกิดขึ้นเลย คำว่าปฏิรูปไม่เคยเป็นรูปธรรมใดๆ ถ้าอยู่ต่ออีก 4 ปีก็มีแต่แย่ลง เพราะศรัทธามีแต่จะหายไป

สิ่งที่ คสช. เสี่ยงที่สุด คือศรัทธาประชาชนที่กำลังบอกว่าไม่เอาแล้ว ผมคิดว่าตรงนี้คือหัวใจสำคัญ แต่การบอกว่าไม่เอา เราสามารถทำได้อย่างสันติผ่านการเลือกตั้ง ผลักดันให้มีนักการเมืองหน้าใหม่เข้าไปสักจำนวนหนึ่ง อาจจะไม่ใช่เสียงส่วนใหญ่ แต่นำเสนอทิศทางที่ทำให้ประชาชนมีความหวัง มันก็จะเกิดการพัฒนาเป็น snowball effect ขึ้นมา

ทำอย่างไรให้ประชาชนเชื่อมั่นในระบบประชาธิปไตย การถ่วงดุลอำนาจ หลักนิติธรรม และคุณภาพของสถาบันการเมือง มากกว่าตัวบุคคล วาทกรรมคนดี และอัศวินขี่ม้าขาว

ผมเชื่อใน deliberative democracy หรือประชาธิปไตยที่มีการถกแถลงและพิเคราะห์ ผมอยากให้สังคมไทยใช้สื่อในการสร้างชุมชนของการถกเถียง ตั้งประเด็น แลกเปลี่ยนมุมมอง สอนให้ตัวเราเองมองรอบด้านและครบถ้วน และพร้อมฟังความเห็นที่แตกต่าง ผมว่านั่นจึงจะเป็นทางออกให้เกิดการสร้างประชาธิปไตยที่ยั่งยืนและถาวร

เราจะป้องกันข่าวลวง (fake news) ได้อย่างไร

ต้องทำให้คนรู้ทันสื่อ เรื่องนี้ควรอยู่ในหลักสูตรตั้งแต่ชั้นมัธยม สอนเด็กให้รู้จักแยกแยะว่าอะไรผิดถูก ต้องตรวจสอบความน่าเชื่อถือของข่าวอย่างไร และไม่ใช่แค่เด็ก ทั้งสังคมต้องรู้ทันสื่อ ไม่ยอมให้สื่อเป็นคนจูงจมูกเราอีกต่อไป โซเชียลมีเดียก็ต้องแยกแยะให้เป็น อย่าเพิ่งแชร์หรือไลก์ถ้ายังไม่ได้ตรวจสอบ

การฝึกให้คนรู้ทันสื่อต้องฝึกให้เขาติดตามข่าวสารและมีประสบการณ์ในการตรวจสอบว่าแหล่งข่าวเชื่อถือได้หรือไม่ สมัยที่เราสอนนักข่าวจะบอกให้เช็คแหล่งข่าวอย่างน้อย 2 แหล่งจึงจะเขียนข่าวได้ ฉะนั้นผู้เสพข่าวสารต้องตรวจสอบข่าวอย่างน้อย 2 แหล่งจึงจะเชื่อได้เช่นกัน ทุกคนต้องมีพฤติกรรมเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน

ข่าวลวงหรือข่าวความจริงครึ่งเดียวมีมากแน่นอนในช่วงการหาเสียงเลือกตั้ง ถ้าทุกคนมี critical thinking หรือคิดอย่างวิเคราะห์ เราจะไม่หลงเชื่อสิ่งต่างๆ เหล่านี้ คำตอบของเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ที่การให้รัฐเป็นคนควบคุม ให้รัฐตัดสินว่าอะไรจริงหรือไม่จริง มันเป็นเรื่องของประชาชนและองค์กรสื่อที่ต้องจัดการกันเอง

หลังจากออกจากเนชั่น ทุกวันนี้เวลาอ่านข่าวในสื่อเครือเนชั่นแล้วคิดเห็นอย่างไร ต่างจากยุคก่อนไหม

ผมพยายามอ่านสื่อในเครือเนชั่นเหมือนกับที่อ่านสื่ออื่นๆ  ไม่ได้คาดหวังมากไปกว่าสื่ออื่น มองมันเป็นแค่หนึ่งในสื่อที่ผมเสพเท่านั้น

ผมพยายามทำใจว่าเราไม่ได้เกี่ยวข้องแล้ว ฉะนั้นจึงวางใจนิ่งได้ ไม่เสียใจหรือหงุดหงิด เมื่อก่อนอาจจะเป็น แต่ตอนนี้เข้าใจถึงความจำเป็น ความกดดัน สภาพที่เกิดขึ้น ก็เลยไม่คาดหวังมากไปกว่าสื่ออื่นๆ  ผมเห็นความพยายามในการรักษาแนวทางเดิมไว้ แต่แน่นอนว่าแนวทางข่าวและการเมืองก็เปลี่ยน

รู้สึกอย่างไรกับสื่อที่สร้างขึ้นมากับมือ แล้ววันหนึ่งต้องเดินออกมา

คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารู้สึกเสียดาย ผิดหวัง แต่ก็ทำใจได้เร็ว เพราะเราเห็นแล้วว่าสื่อดั้งเดิมมีข้อจำกัดมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้เราจะอยู่ต่อไป ก็คงต้องเปลี่ยน คงรักษาสื่อเดิมไม่ได้ ต้องมาทางโซเชียลมีเดีย ซึ่งก็ไม่แน่ใจว่าคนที่อยู่จะรับได้แค่ไหน

บางทีก็มองว่าเป็น blessing in disguise เพราะเป็นจังหวะที่เราอายุเกษียณพอดี และถ้าอยู่ต่อไป ก็คงเหนื่อยในการระดมความเปลี่ยนแปลง เพราะคนไม่ค่อยอยากลงจากเรือเอี้ยมจุ๊นเท่าไหร่

พอออกมา ผมก็เลยทำให้ดูว่า การลงจากเรือเอี้ยมจุ๊นมานั่ง speed boat ทางรอดสูงกว่า มันอาจจะเล็กกว่า แต่ปราดเปรียวกว่า ถ้ามีคนลงมาเยอะๆ อาจจะรอดไปเจอกันข้างหน้าได้

อะไรคือความผิดพลาดของคุณสุทธิชัยที่ผ่านมา และจะทำอย่างไรไม่ให้ซ้ำรอยนั้น

ผิดพลาดที่สุดคือการเข้าวงการนี้ และเลิกไม่ได้ (หัวเราะ)  ต้องพยายามอยู่กับมันและช่วยให้คนในวงการข้ามพ้น disruption นี้ หนึ่งในความผิดพลาดคือ ผมเชื่อความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงของคนในวงการ แต่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น ผมประเมินผิด

ไม่มีอะไรที่ผมทำแล้วรู้สึกผิดพลาดรุนแรงแบบติดอยู่ในใจจนนอนไม่หลับ ทุกอย่างแม้ไม่ได้ผลลัพธ์เต็มที่ 100% แต่ก็ถือว่าได้พยายามถึงที่สุดแล้ว เช่น พยายามระดมพลังให้ทุกคนปรับเปลี่ยนตามเทคโนโลยี ก็ยอมรับว่าไม่ได้เป็นไปตามที่ผมตั้งใจ

ส่วนเรื่องสร้างคน ผมพอใจ เราให้โอกาสทุกคน ผมดีใจที่มีคนบอกว่า ผมสามารถดึงเอาศักยภาพที่เจ้าตัวเองก็ไม่รู้ว่ามีออกมาได้

อะไรคือสิ่งที่ภูมิใจที่สุดใน 50 ปีของการทำหน้าที่สื่อ 

สร้างองค์กรสื่อที่มีจริยธรรม ทุกคนมีศักดิ์ศรี ไม่มีใครสั่งได้ ไม่ว่านักข่าว นักเขียน บรรณาธิการ ผมไม่เคยสั่ง และไม่เคยมีใครสั่งเขาได้

คุณสุทธิชัยไม่อยู่แล้ว คนเนชั่นยังยึดหลักเดิมอยู่ไหม

เรื่องนี้ต้องพิสูจน์กันด้วยกาลเวลา ทุกคนต้องพิสูจน์ด้วยตัวเอง คุณต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นสื่อ

ถ้าคุณสุทธิชัยตั้งใจจะเขียนหนังสือเล่มหนึ่งเกี่ยวกับเครือเนชั่น จะตั้งชื่อหนังสือว่าอะไร

“คนบ้าข่าว ภาคพิสดาร” เพราะมีแง่มุมและประสบการณ์ที่แปลกแตกต่างไปจากหนังสือ “คนบ้าข่าว” ที่ผมเคยเขียนเยอะ ในเล่มแรกผมเล่าประวัติและความรู้สึกของตัวเองตั้งแต่ต้นจนถึงขณะนั้น ผ่านมาเกือบ 20 ปีแล้ว แต่ชีวิตหลังจากนั้นก็มีสีสันมากขึ้นพอสมควร

ตอนนี้กำลังหาเวลาเขียนอยู่

ประสบการณ์สัมภาษณ์ครั้งไหนที่ประทับใจจนลืมไม่ลง

ที่ประทับใจมากคือการสัมภาษณ์ท่านทะไลลามะ และท่านติช นัท ฮันห์ บรมครูทางด้านศาสนา เป็นการสัมภาษณ์ที่สนุก ลึก และได้แรงบันดาลใจมาก เรามีความรู้สึกร่วม ได้เรียนรู้ด้านจิตวิญญาณ เป็นความประทับใจที่ติดอยู่ยาวนานที่สุด

มีใครที่อยากสัมภาษณ์แต่ยังไม่เคยได้สัมภาษณ์ไหม

พระเจ้า

การสัมภาษณ์พระเจ้าต้องสนุกมาก แต่คงยากมาก เพราะคนเรามีคำถาม มีเรื่องที่ไม่เข้าใจเยอะแยะ และมีสิ่งที่อยากรู้จากพระเจ้ามากมาย

จะถามพระเจ้าว่าอะไรบ้าง

คำถามแรกคงจะเป็น “ท่านเป็นใคร” ต่อมาคงถามว่า ท่านมีอีเมลไหม เข้ากรุ๊ปไลน์ด้วยกันไหม (ยิ้ม)

เคยสัมภาษณ์พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หรือยัง 

ไม่เคย ผมยังหวั่นๆ ว่าถ้าพลเอกประยุทธ์บอกว่าให้สัมภาษณ์ได้ ผมจะสัมภาษณ์ท่านดีไหม

ถ้าได้สัมภาษณ์ ผมจะตั้งเงื่อนไขว่า ถ้าผมถามคำถาม ท่านต้องไม่โกรธนะ ถ้าท่านมีอารมณ์แบบที่ชอบด่านักข่าวก็คงไม่ได้เนื้อหาเท่าไร ผมอยากจะสัมภาษณ์ท่านแบบเนื้อๆ จริงๆ อยากถามว่าทำรัฐประหารทำไม นาทีที่ตัดสินใจนั้นคิดก่อนล่วงหน้าหรือคิดเดี๋ยวนั้น และที่บอกว่าจะมาแก้ไขปัญหาประเทศชาติหมายถึงอะไร แต่นายกฯ คนนี้ ผมเชื่อว่าไม่ใจเย็นพอที่จะตอบคำถามแบบนั้น

ถ้านายกฯ ยอมตอบคำถามจริงอย่างนิ่งและใจเย็น ผมว่าคงสนุก คนบอกว่าท่านเป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดน่ากลัว แต่ผมว่าไม่น่ากลัว แค่ท่านต้องใจเย็นที่จะนั่งตอบคำถามที่ประชาชนอยากรู้ แต่ท่านไม่เคยใจเย็นพอ


หมายเหตุ: ผู้สนใจสามารถติดตามชมเทปบันทึกภาพรายการ 101 One-on-One ตอน “คนป่วนในโลกป่วน” กับ สุทธิชัย หยุ่น

ดำเนินรายการโดย ปกป้อง จันวิทย์ ออกอากาศเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2561 ทาง The101.world

MOST READ

Thai Politics

3 May 2023

แดง เหลือง ส้ม ฟ้า ชมพู: ว่าด้วยสีในงานออกแบบของพรรคการเมืองไทย  

คอลัมน์ ‘สารกันเบื่อ’ เดือนนี้ เอกศาสตร์ สรรพช่าง เขียนถึง การหยิบ ‘สี’ เข้ามาใช้สื่อสาร (หรืออาจจะไม่สื่อสาร?) ของพรรคการเมืองต่างๆ ในสนามการเมือง

เอกศาสตร์ สรรพช่าง

3 May 2023

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save