fbpx
‘Talat Noi Archives’ : ห้องสมุดดิจิทัล บันทึก ‘ชุมชนตลาดน้อย’ ในปี 2020 ผ่านสายตานักออกแบบ

‘Talat Noi Archives’ : ห้องสมุดดิจิทัล บันทึก ‘ชุมชนตลาดน้อย’ ในปี 2020 ผ่านสายตานักออกแบบ

บทความชวนดูงานศิลปะและนวัตกรรมจากโลกที่หนึ่ง ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีให้สังคมและชีวิตคน ผ่านสายตานักออกแบบมัลติมีเดียจากโลกที่สามในนามกลุ่ม Eyedropper Fill

 

Eyedropper Fill เรื่อง

กฤตพร โทจันทร์ ภาพประกอบ

 

Bangkok Design Week 2020 เป็นช่วงเวลา 9 วันที่สตูดิโอออกแบบทั่วกรุงเทพฯ นำผลงานของตัวเองออกโชว์ท่ามกลางสปอตไลต์ให้คนทั่วไปได้รับชม โดยพื้นที่จัดงานหลักคือ ย่านเจริญกรุง ย่านอารีย์ประดิพัทธ์ และย่านทองหล่อเอกมัย พวกเรา Eyedropper Fill ได้มีส่วนร่วมเล็กๆ ในงานนี้ด้วยการร่วมทำงานศิลปะมัลติมีเดียร่วมกับชุมชน ในชุด ‘DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย’ กับกลุ่มนักออกแบบไฟแรงอย่าง Yimsamer ที่ชักชวนกลุ่มศิลปินเด็ดๆ อีกมากมายมาร่วมทำงานนี้

 

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย
ภาพจาก: facebook.com/yimsamer

 

ชิ้นงานของเราคือ ‘LnWs:nuIwJ’ (เทพประทานเพลง) เปลี่ยนโฉมลานด้านหน้าศาลเจ้าโรงเกือกซึ่งเป็นศาลเจ้าประจำชุมชนตลาดน้อยให้กลายเป็นลานคาราโอเกะสาธารณะ ชวนชาวบ้านและคนที่ผ่านไปมาร้องเพลงร่วมกัน นอกจากสนุกแล้วยังได้บริจาคเงินสนับสนุนศาลเจ้า หลายคนอาจได้ไปเยี่ยมชมงานนี้ด้วยตัวเอง หรือบางคนอาจเคยเห็นผ่านตาในโซเชียลมีเดียกันมาบ้าง

 

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย

 

หากชิ้นงานที่จัดแสดง 9 วัน เปรียบเหมือนหน้าบ้านต้อนรับผู้ชม กระบวนการพัฒนาผลงานศิลปะร่วมกับชุมชน ก็เปรียบเหมือนหลังบ้าน’ 

หลายปีมานี้ ศิลปิน นักออกแบบ ผู้จัดเทศกาล พร้อมใจกันเข้าไปทำงานในพื้นที่ชุมชนมากขึ้น โดยเฉพาะในย่านที่รุ่มรวยวัตถุดิบและคาแร็กเตอร์จัดอย่างย่านตลาดน้อยแห่งนี้ หลายงานสร้างปรากฏการณ์ในทางบวกให้กับชุมชน ทำให้ชุมชนได้ประโยชน์ ชาวบ้านมีความสุข พ่อค้าแม่ค้าในชุมชนขายของดีขึ้น แต่ก็มีหลายงานที่สร้างผลกระทบในทางลบ ทำให้ชุมชนเดือดร้อน คนอยู่อาศัยถูกรบกวน สถานที่ดั้งเดิมในชุมชนได้รับความเสียหาย  โอกาสที่ศิลปินและนักออกแบบจะได้รับคอมเมนต์จากผู้ชมและชาวชุมชนเพื่อเรียนรู้และปรับปรุงผลงานของตัวเองก็มีอยู่เพียงช่วงเวลาสั้นๆ หลังจบงาน ในขณะที่ศิลปินและนักออกแบบหน้าใหม่รวมถึงนักศึกษาที่กำลังจะแห่เข้าไปทำงานในชุมชนในปีต่อๆ ไป ก็ไม่มีช่องทางเรียนรู้ว่าการทำงานศิลปะร่วมกับชุมชนต้องทำอย่างไร เพราะเป็นหลักสูตรที่ไม่มีสอนที่ไหน หันมองรอบตัวก็ไม่มีใครถ่ายทอดประสบการณ์เรื่องนี้อย่างจริงจัง

เราจึงหันกลับมามองวัตถุดิบในมืออีกครั้ง กระบวนการหลังบ้านกว่าสองเดือนของการทำงานศิลปะร่วมกับชุมชนตลาดน้อย เรามีทั้งบทสัมภาษณ์  สเก็ตช์ไอเดีย ภาพถ่าย วิดีโอฯลฯ จะมีประโยชน์กว่าไหม ถ้าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้เก็บอยู่แค่ในลิ้นชักและฮาร์ดดิสก์ของเราคนเดียว แต่ถูกนำออกมาเล่าต่อให้ศิลปิน นักออกแบบ นักศึกษา และคนอื่นๆ ได้เรียนรู้ทั้งข้อดีและข้อเสียจากกระบวนการทำงานศิลปะร่วมกับชุมชนในงานของเราด้วย

ฟ้าใสหัสมา จันทรัตนา คือ Design Director ของ Eyedropper Fill ที่ในงานนี้เปลี่ยนบทมาเป็นผู้ออกแบบเว็บไซต์จัดแสดงสิ่งที่เราเล่ามาทั้งหมด ในชื่อว่า ‘Talat Noi Archives’ ที่เธอเรียกชื่อเล่นว่าเป็นห้องสมุดดิจิทัล

 

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย

 

หน้าแรกของเว็บ เป็นการหยิบวัตถุดิบจากหมวดหมู่ต่างๆ มารวมกันเป็นการตัดปะ ให้ความรู้สึกเหมือนเปิด scrapbook ของโปรเจ็กต์นี้ฟ้าใสเริ่มต้นพาทัวร์เว็บไซต์

Talad Noi Archives แบ่งออกเป็น 2 ส่วนหลักๆ ส่วนแรก ‘Archives’ คือส่วนที่รวบรวมวัตถุดิบทั้งจากกระบวนการทำงานใน Bangkok Design Week 2020 และการลงพื้นที่ส่วนตัวของฟ้าใส ส่วนที่สอง ‘X’ หมายความถึง experimental เป็นการนำวัตถุดิบที่ได้ มาเล่นแร่แปรธาตุเป็นงานศิลปะทดลองหลายแขนง อย่าง วิดีโออาร์ต เสียง และงานคอลลาจ

ส่วนแรกของ Archives ชื่อว่า Conversation with the Locals เป็นหน้าที่รวบรวมบทสัมภาษณ์ที่ทีม Eyedropper Fill ลงไปพูดคุยหาข้อมูลกับชาวบ้านในพื้นที่ตลาดน้อย มีทั้งเสียงและวิดีโอ เราแนบชุดคำถามส่วนหนึ่งที่ทีมครีเอทีฟและทีมออกแบบลิสต์เพื่อไปสัมภาษณ์ไว้ในหน้านี้ด้วย เผื่อใครอยากรู้ว่า ในการลงพื้นที่รีเสิร์ช เราถามคำถามอะไรบ้าง

 

YouTube video

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย

 

ส่วนถัดไปคือ Design Process ส่วนนี้เราคิดว่ามีประโยชน์กับนักออกแบบหรือนักศึกษาออกแบบมากๆ เพราะเป็นส่วนที่รวบรวมกระบวนการออกแบบงาน LnWs:nuIwJ ตั้งแต่คิดไอเดีย สเก็ตช์ ออกแบบ จนก่อสร้างกลายเป็นงานจริง รวมไปถึงโปสเตอร์และสื่อโปรโมตต่างๆ ด้วย ลองไล่ดูตั้งแต่ต้นจนจบ ส่วนนี้สามารถเป็นไกด์ไลน์ให้คนที่อยากทำงานออกแบบเห็นภาพรวมของกระบวนการ

 

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย

 

ต่อด้วยส่วน Pin-up Conversation ที่ต่อเนื่องจาก Design Process ส่วนนี้จะเป็นวิดีโอบันทึกบทสนทนาที่ทีมครีเอทีฟ นักออกแบบ และฟ้าใสในฐานะผู้เก็บข้อมูลสุมหัวกันพูดคุย แชร์ความคิดเห็น ต่อยอดความคิดจากวัตถุดิบที่สะสมมาจากการลงพื้นที่ชุมชน

 

YouTube video

บรรยากาศการแชร์ความคิดเห็น

 

ในหมวด Spiritual Dialogue , Miscellaneous Places, People of Talat Noi และ 39 Kinds of Cart คือภาพถ่ายที่ฟ้าใสไปเก็บสิ่งละอันพันละน้อยในชุมชนตลาดน้อยระหว่างการลงพื้นที่ ตั้งแต่เครื่องบูชาในศาลเจ้าจีน สถานที่ต่างๆ ในตลาดน้อย ผู้คนในตลาดน้อย และที่เราชอบที่สุดคือ เซ็ตภาพของรถเข็นที่ทำให้เราเห็นว่ารถเข็นคือยานพาหนะยอดนิยมในย่านนี้ เนื่องจากลักษณะย่านที่เป็นตรอกซอย มีหลืบมุม การค้าขายหรือขนส่งสิ่งของด้วยรถเข็นจึงเป็นวิธีที่เวิร์กที่สุด รถเข็นทั้งหมดมีดีไซน์ที่ต่างกันไปตามฟังก์ชัน และทำให้เห็นว่าสัญชาตญาณการออกแบบนั้นมีอยู่ในพ่อค้าแม่ค้าทุกคนจริงๆ

 

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย

 

ฟ้าใสเล่าว่า ภาพส่วนใหญ่จะถูกถ่ายด้วยกล้องฟิล์ม ด้วยเหตุผลว่าการมองผ่านช่องมองทำให้สายตาสามารถโฟกัสสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ละเอียดขึ้น เพราะช่องมองจะช่วยกรอบสายตาของเราขณะถ่าย ซึ่งต่างจากใช้กล้องมือถือถ่าย

ไม่ได้เก็บบันทึกแค่ภาพ แต่ Talat Noi Archives ยังเก็บบันทึกเสียงของย่านตลาดน้อยเอาไว้ด้วย ซึ่งรวบรวมอยู่ในหมวด Field Recording

จากบทบาทผู้สังเกตการณ์และเก็บบันทึก ในหมวด X ฟ้าใสได้ใช้ความเป็นนักออกแบบ ทดลองสร้างงานศิลปะเล็กๆ จากวัตถุดิบที่เก็บมา

 

YouTube video

 

DIVERSCITY เมืองของความหลากหลาย Re-Imagine the Doorway
Re-Imagine the Doorway

 

วิดีโอ multiperspective คือการทดลองเดินบนเส้นทางเดิมจากวงเวียนกาลหว่าร์เข้าไปในตลาดน้อยเป็นจำนวน 4 รอบ โดยแต่ละรอบถือกล้องถ่ายวิดีโอในมุมมองที่ต่างกัน หันกล้องขึ้นฟ้า กดกล้องลงพื้น และหันกล้องไปด้านข้าง ซ้ายและขวา เมื่อนำวิดีโอทั้งหมดมาประกอบกันเป็น perspective ก็จะให้ความรู้สึกเหมือนคนดูเดินอยู่ในเส้นทางนั้นจริงๆ เหมือนภาพจากกล้อง 360 องศา

ส่วน Re-Imagine the Doorway มาจากความสนใจของฟ้าใสตั้งแต่เรียนสถาปัตยกรรมเกี่ยวกับกรอบประตูเป็นเสมือนเฟรมที่ช่วยกรอบภาพที่เราจะเห็นจากอีกฝั่ง ฟ้าใสจึงนำภาพถ่ายมาคอลลาจ ตัดปะเรื่องราวอื่นๆ เข้าไปในกรอบประตู ภาพที่ออกมาจึงทำให้เราเห็นความเป็นไปได้อื่นๆ บนกรอบประตูบานเดิม

 

 

ชิ้นที่ทั้งเราและฟ้าใสชอบที่สุดในหมวด X นี้เห็นจะเป็นภาพชุด Burnt Offering ที่กดเข้าไปทีแรก เป็นใครก็คงนึกไม่ถึงว่าวัตถุในภาพคือกระดาษเงินกระดาษทองที่ใช้เผาบูชาเทพเจ้าในศาลจีน เมื่อถูกนำมาจัดวางองค์ประกอบใหม่และบันทึกด้วยเครื่องสแกนแล้ว วัตถุทางพิธีกรรมเหล่านี้ก็ดูร่วมสมัยขึ้นมาทันตา

เมื่อทัวร์ Talat Noi Archives จนจบ ฟ้าใสสรุปให้ฟังว่า เว็บนี้เป็นเหมือนจดหมายเหตุเชิงประสบการณ์มันอาจไม่ได้บันทึกข้อมูลเชิงตัวเลขหรือเรื่องราวที่เกิดขึ้นในพื้นที่ในเชิงลายลักษณ์อักษรเหมือนจดหมายเหตุที่เราคุ้นเคย แต่บันทึกประสบการณ์ตรงที่นักออกแบบคนหนึ่งมีต่อพื้นที่ตลาดน้อย ทั้งภาพ เสียง บรรยากาศ พื้นผิวสัมผัส วัสดุที่เป็นเอกลักษณ์ของย่าน ฯลฯ ไปจนถึงความคิดของชาวตลาดน้อยในปี 2020 เอาไว้ ซึ่งหากในอนาคตเกิดการเปลี่ยนแปลงของเมืองหรือพื้นที่ จดหมายเหตุเชิงประสบการณ์นี้ก็อาจเป็นหลักฐานสำคัญไม่แพ้หลักฐานเชิงข้อมูล เพื่อบอกเล่าว่าย่านตลาดน้อยแห่งนี้เคยเป็นอย่างไรในอดีต

และอย่างที่บอกในตอนต้น เราหวังว่าเว็บไซต์นี้ จะเป็นกรณีศึกษาให้กับศิลปินและนักออกแบบคนอื่นๆ

การทำงานศิลปะในชุมชนเป็นกระบวนการที่ละเอียดอ่อนและใช้เวลา ใช้ตาเพื่อสังเกต และใช้หูฟังเสียงของคนอย่างละเอียดถี่ถ้วน แม้แต่งานของเราเองก็ยังมีข้อผิดพลาดและผลตอบรับในเชิงลบจากชาวชุมชนและผู้ชมงานไม่น้อยไปกว่าความสำเร็จและผลตอบรับที่ดี เราหวังว่ามันจะเป็นต้นทุนให้แก่นักออกแบบคนอื่นๆ ที่อยากทำงานศิลปะในชุมชนได้บ้าง และที่แน่ๆ มันจะเป็นต้นทุนที่ดีให้ทีมของเราเองในการทำงานต่อไป

เชิญเข้าไปชม Talat Noi Archives ได้ที่ eyedropperfill.wixsite.com/talatnoiarchives

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save