fbpx
ทาคาชิ ฮิราซาว่า : นัก ‘เล่น’ แบคทีเรียกับความฝันที่ไม่ได้ทำเล่นๆ

ทาคาชิ ฮิราซาว่า : นัก ‘เล่น’ แบคทีเรียกับความฝันที่ไม่ได้ทำเล่นๆ

คุณเคยคลั่งไคล้อะไรบางอย่างมากๆ ไหม?

ถ้าคำตอบคือใช่ คำถามต่อมาคือ คุณ ‘จริงจัง’ และอยาก ‘ส่งต่อ’ สิ่งที่คุณคลั่งไคล้ไปให้ไกลมากแค่ไหน?

ทาคาชิ ฮิราซาว่า หรือที่หลายคนเรียกเขาว่า ทาคาชิเซ็นเซย์ อาจเป็นคนหนุ่มที่มาพร้อมดีเอ็นเอความเป็นญี่ปุ่นที่เต็มไปด้วยแพสชั่นจนพร้อมทุ่มชีวิตเข้าไปคลุกคลีกับเรื่องที่อินจัดๆ อย่างที่เราพอจะนึกภาพออก แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้ทาคาชิดูจะแตกต่างไปจากคนอื่นๆ คือเรื่องที่เขาคลั่งไคล้อาจจะไม่แมสเหมือนการ์ตูนอนิเมะ ป๊อปเท่าสาวๆ เอเคบี หรือยิ่งใหญ่ระดับชาติเท่าเบสบอล

แต่เป็นเรื่องเล็กๆ (จนตาเปล่ามองไม่เห็น)  อย่าง ‘แบคทีเรีย’

LACTO-LIFE คือชื่อของสิ่งที่เขาเรียกว่าเป็น ‘แนวคิด’ ในการใช้แบคทีเรียจากธรรมชาติที่มนุษย์คิดค้นวิธีใช้ประโยชน์จากมันมาเป็นเวลากว่าพันปี เพื่อสร้างสมดุลของชีวิตที่อยู่ได้อย่างยั่งยืนด้วยตัวเอง ลดการพึ่งพาผลิตภัณฑ์ในวงจรธุรกิจของยักษ์ใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจที่อาจล้มลงมาได้ทุกเมื่อ และเป้าหมายของเขาคือการส่งต่อแนวคิดนี้ไปในวงกว้าง เพื่อให้มนุษย์ได้รับรู้ถึงความสัมพันธ์และประโยชน์ที่เราสร้างได้อย่างมากมายจากสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กจิ๋วเหล่านี้

อย่างที่เราว่า, คุณเคยคลั่งไคล้อะไรบางอย่างจนอยากส่งต่อมันออกไปด้วยเป้าหมายที่ ‘ยิ่งใหญ่’ มากไปกว่าอยากเห็นคนอื่นมาชื่นชอบอะไรเหมือนกันหรือเปล่า?

สารตั้งต้นจากชายคนนี้อาจทำปฏิกิริยาให้คุณลองค้นหาอะไรบางอย่างที่ว่า

และพร้อมส่งต่อด้วยเป้าหมายใหม่ๆ อีกครั้งหนึ่ง

 

 

“ผมออกจากญี่ปุ่นมาตั้งแต่ 14 ปีที่แล้ว” ทาคาชิเริ่มเล่าเรื่องราวของเขาให้เราฟังในมุมหนึ่งของบ้านหลังเล็กๆ บนถนนอโศกที่เขาเปลี่ยนมันเป็นห้องแล็บเอาไว้ใช้ ‘เล่น’ กับสิ่งมีชีวิตขนาดจิ๋ว

เหมือนคนหนุ่มสาวยุคนี้ที่ต้องการค้นหาอะไรใหม่ๆ เพื่อเติมไฟที่ใกล้มอดดับให้กับตัว แต่ออกจะแปลกไปเสียหน่อยจากคนในวัยและชาติเดียวกัน ทาคาชิตัดสินใจลาออกจากงานประจำที่มั่นคงในอุตสาหกรรมอาหาร ขายสิ่งของที่มีติดตัวทิ้งเพื่อนำเงินที่ได้มาใช้ในเป้าหมายออกเดินทางรอบโลกในระยะเวลาที่เขาตั้งไว้ตอนแรกแค่สองปี เพื่อออกตามหาแรงบันดาลใจใหม่ๆ ให้ชีวิต

“หลังจบจากมหาวิทยาลัย ผมก็ยังหาตัวเองไม่เจอว่าจริงๆ แล้วผมอยากจะทำอะไร จะเป็นอะไร ช่วงที่ทำงานประจำก็มีความสุขดีนะครับ แต่ใจมันก็ยังตามหาอะไรบางอย่างที่จะทุ่มแพสชั่นกับมันเต็มๆ ผมเลยตัดสินใจว่าต้องออกไปเจอโลกข้างนอกให้เยอะกว่านี้ ไม่งั้นก็ไม่รู้ซักทีว่าอยากทำอะไรกันแน่

“ผมว่าตัวเองค่อนข้างจะต่างกับคนทั่วไปในญี่ปุ่น แต่ไม่ถึงกับบ้านะครับ (หัวเราะ) ปกติแล้วตามธรรมเนียมหลังจบจากมหา’ลัยคนก็จะสมัครงาน เข้าบริษัทแล้วทำอยู่ที่นั่นนานๆ ไปเลย แต่ผมเป็นคนเดียวในกลุ่มเพ่ือนที่บอกว่า ‘ยังตัดสินใจไม่ได้’ ผมยังไม่อยากเลือกที่จะทำงานในบริษัทเดียวไปตลอดชีวิต” ทาคาชิเล่าพลางทุบโต๊ะเน้นความรู้สึกในสองคำหลัง

กรุงเทพมหานครคือจุดหมายแรกของเขา หลังออกเที่ยวและลงเรียนนวดแผนไทยเป็นวิชาติดตัว ทาคาชิเดินทางลงใต้ไปที่เกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี ธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์เหมือนกับที่เขาฝันเอาไว้ว่าอยากใช้ชีวิตทำให้ชายหนุ่มตัดสินใจทำธุรกิจสปาเล็กๆ ที่เกาะในชื่อ Yakuzen Garden และตัดสินใจว่านี่แหละคือ ‘ปลายทาง’ ของตัวเอง

“เหมือนกับว่าผมพับแผนเดินทางรอบโลกที่ประเทศแรกเท่านั้นเอง” เขาบอกพร้อมเสียงหัวเราะเล็กๆ

 

 

เจ็ดปีผ่านไปหลังทาคาชิเริ่มลงหลักปักฐานอยู่ในเกาะกลางทะเล 11 มีนาคม 2011 หลังเกิดเหตุภัยพิบัติครั้งใหญ่ขึ้นที่ประเทศบ้านเกิด คือวันที่เขาตัดสินใจลงมือทำสิ่งที่เขายังคงทำมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือการสร้างอะไรบางอย่างที่ย้อนกลับไปสู่พื้นฐานของชีวิต

“เหตุการณ์วันนั้นทำให้ไฟในการออกไปทำงานมันหายไปเลย ผมเริ่มรู้สึกว่าอยากทำอะไรบางอย่างที่มีความหมายกับชีวิต สิ่งที่ให้คุณค่ากับร่างกายของเราทุกคน” ทาคาชิบอกกับเรา

เขาเริ่มย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของการใช้ชีวิตตามวิถีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่น นั่นคือการอยู่ร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่เล็กระดับไมครอนอย่างแบคทีเรียชนิดดีที่มีอยู่ตามธรรมชาติ ซึ่งถูกผนวกเข้ากับวัฒนธรรมญี่ปุ่นอย่างแนบแน่น ไม่ว่าจะเป็นอาหารไปจนถึงยารักษาโรค เมื่อไอเดียจากอดีตมารวมกับการค้นคว้าจากงานวิจัยวิทยาศาสตร์ด้วยจากความสนใจแบบคลั่งไคล้ของตัวเอง เขาจึงเริ่ม ‘เล่น’ กับมัน จนไอเดียของ LACTO-LIFE ได้เกิดขึ้นมา

“มันคือวิธีในการเพาะเลี้ยงแบคทีเรียกรดแลคติก (Lactic Acid Bacteria หรือแลคโตบาซิลลัส) ด้วยการหมักแบบธรรมชาติ เพื่อเอามาใช้ในชีวิตประจำวันของเรา เหมือนเป็นไลฟ์สไตล์อย่างหนึ่งที่เราอยู่ร่วมกันกับแบคทีเรีย ใช้มันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย หกปีที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มศึกษาอย่างจริงจัง ผมทดลองหมักเพื่อเพาะเชื้อทุกวัน จนได้ออกมาเป็นตัวที่เรียกว่า LACTO Original ที่เอาไปประยุกต์ใช้ได้หลายอย่างมาก”

วิธีการหมักเพื่อเพาะเชื้อในแบบธรรมชาติที่ว่าไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่เราเข้าใจ (หลังจากเห็นอุปกรณ์หน้าตาวิทยาศาสตร์ในห้องแล็บเล็กๆ ของเขาก่อนที่จะได้พูดคุยกัน) แต่ประกอบไปด้วยวัตถุดิบเริ่มต้นเพียงแค่ 4 ชนิดที่หาได้ง่ายๆ ในบ้านของเรา นั่นคือ ข้าวกล้องออร์แกนิก (ที่แบคทีเรียแอบซ่อนอาศัยอยู่บนนั้น) น้ำตาลทรายแดง เกลือทะเล และน้ำแร่สะอาด เพียงเท่านี้เราก็จะได้สารตั้งต้นที่จะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันได้แล้ว

 

YouTube video

 

ความน่าสนใจคือการ ‘เล่น’ แบคทีเรียจนกลายมาเป็นสูตรที่เขาได้มาทุกวันนี้ แตกต่างจากวิธีการศึกษาแบบจริงจังของนักวิทยาศาสตร์อยู่เล็กน้อย

“วิธีการนี้แตกต่างกับการศึกษาแบคทีเรียทางวิทยาศาสตร์นิดหน่อยครับ เพราะเราใช้วิธีหมักแค่ครั้งเดียว ปกติแล้วการหมักทั่วๆ เพื่อนำแบคทีเรียมาใช้ เค้าจะใช้สารอาหารในการเลี้ยงเฉพาะ เรียกว่า microbial culture ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียหนึ่งสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสารอาหารนั้นๆ เติบโตได้ โดยเพาะเลี้ยงให้โตภายใต้ปัจจัยควบคุมที่เหมาะสมกับการเติบโตของแบคทีเรียชนิดนั้นๆ การผลิตในฝั่งอุตสาหกรรมชอบอะไรแบบนี้ เพราะว่าพวกเขาต้องการผลิตสินค้าให้ได้ออกมาแบบเดียวกันเป๊ะๆ เลยต้องเลือกแบคทีเรียมาชนิดหนึ่ง แล้วเพาะให้ได้ผลลัพธ์ออกมาเหมือนเดิมทุกครั้ง

“แต่ในโลกความเป็นจริงในธรรมชาติของเรา ไม่มีที่ไหนหรอกที่จะมีแบคทีเรียอยู่แค่ชนิดเดียว ทุกอย่างที่คุณใช้ คุณกิน แม้กระทั่งบนตัวคุณตอนนี้ก็มีแบคทีเรียหลายชนิดมากที่มาอยู่รวมกัน แล้วทำไมเราต้องเลือกแค่ชนิดเดียวด้วยล่ะ สำหรับผม นี่คือสิ่งที่เป็น ‘ธรรมชาติ’” ทาคาชิอธิบาย

 

 

เอาเข้าจริง ในวัฒนธรรมและวิถีดั้งเดิมของชาวญี่ปุ่นที่ทาคาชิย้อนกลับไปศึกษาก่อนจะเริ่มทดลองเพาะเลี้ยงแบคทีเรียด้วยตัวเอง ก็ไม่ได้ทันสมัยอย่างในห้องแล็บยุคปัจจุบันขนาดนั้น วิธีการถนอมอาหารหรือทำยารักษาโรค บำรุงร่างกายต่างๆ ก็ใช้วิธีหมักส่วนผสมที่หลากหลาย เพื่อให้มันทำงานอย่างสอดประสานกัน

“ลองคิดดูว่าถ้าเราเลือกแบคทีเรียมาเพาะแค่ชนิดเดียว คุณก็อาจจะเอาไปใช้ประโยชน์ได้แค่ไม่กี่อย่าง แต่ถ้าคุณมีแบคทีเรียหลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ร่วมกันเป็นเนื้อเดียว มันก็จะเปลี่ยนตัวเองไปได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม ถ้าคุณควบคุมการหมักที่เรียกว่า Lactic Acid Fermentation ให้ดี จะมีแค่แบคทีเรียในกลุ่มกรดแลคติกเท่านั้นที่ ‘เป็นใหญ่’ ครองพื้นที่จากแบคทีเรียชนิดอื่นๆ ในการหมักนั้น

“ในสารละลายที่เราหมักเอาไว้นี้ ไม่ได้มีแต่แบคทีเรียกลุ่มนี้อย่างเดียว จะมีแบคทีเรียหลายกลุ่ม รวมไปถึงจุลินทรีย์ที่ไม่ใช่แบคทีเรียอย่างยีสต์ด้วย ทีนี้อะไรจะเจริญเติบโตได้ดีกว่ากัน ก็ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อมแล้ว อย่างเวลาทำขนมปัง ยีสต์ในสารละลายนี้จะเจริญเติบโตได้ดีกว่า แต่ถ้าเอาไปใช้ในนมถั่วเหลือง แลคโตบาซิลลัสจะเจริญเติบโตได้ดีกว่า นั่นหมายความว่าจุลินทรีย์ต่างๆ เป็นตัว ‘เลือก’ สภาพแวดล้อมในการเติบโต ไม่ใช่มนุษย์ เราแค่คุมสภาพแวดล้อมนิดหน่อย แล้วจุลินทรีย์ก็จะปรับตัวและเจริญเติบโตให้อยู่ในสภาพแวดล้อมนั้นด้วยตัวมันเอง นี่คือวิธีการและวิธีคิดแบบธรรมชาติมากๆ”

เพื่อให้เห็นภาพ ทาคาชิหยิบ ‘ชีส’ ทั้งแบบพาร์เมซานและเชดดาร์ที่เขาทดลองทำจากการผสมน้ำแบคทีเรียเข้ากับเม็ดมะม่วงหิมพานต์ออกมาจากตู้เย็นให้ผมทดลองชิม รสชาติออกเปรี้ยวๆ มันๆ อาจจะต่างกับชีสที่ทำจากนมเล็กน้อย แต่ก็ถือว่าใช้ทดแทนกันได้ในอีกรูปแบบหนึ่ง

นอกจากชีส ห้องแล็บแห่งนี้ยังเป็นที่ที่เขาเอาไว้ใช้ทดลองสูตรอาหารใหม่ๆ ที่เอาแบคทีเรียมาประยุกต์เข้ากับวัตถุดิบต่างๆ เพื่อสร้างเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง

แต่ไม่ใช่ว่าจะเอาไปใช้ได้กับอาหารเท่านั้น สารละลายแบคทีเรียที่ทาคาชิคิดขึ้นมายังเอาไปประยุกต์ใช้ได้อีกหลายอย่าง (อย่างที่เราบอกไว้ตอนต้น ว่าเป้าประสงค์ของเขาคือการลดการพึ่งพาระบบอุตสาหกรรมให้น้อยที่สุด) ไม่ว่าจะกินแบบเพียวๆ เพื่อสร้างเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกายและเสริมการทำงานของระบบย่อยอาหาร ใช้บำรุงผิวกายแบบไม่ต้องเสียเงินเป็นหมื่นๆ กับเครื่องสำอางเคาน์เตอร์แบรนด์ หรือจะเอาไปใช้ในการเกษตรด้วยการเป็นตัวช่วยย่อยสลายขยะเอามาเป็นปุ๋ยก็ยังได้

ดูครอบจักรวาลอย่างนี้ เป็นไปได้หรือเปล่าว่าเขาจะทำธุรกิจเป็นจริงเป็นจัง ขัดกับอุดมการณ์ที่ตั้งไว้ตอนแรกเริ่ม เราแอบสงสัย

“วิธีการหมักบ่มอื่นๆ ในโลกนี้อย่างการทำโยเกิร์ตหรือคมบุฉะ (เครื่องดื่มชาที่ผ่านการหมักด้วยยีสต์) คุณจำเป็นต้องซื้อ ‘หัวเชื้อ’ มาใช้ พอเป็นอย่างนี้ คุณเลยต้องพึ่งพาคนที่ขายหัวเชื้อนั้นอยู่ดี เพราะพอจะทำด้วยตัวเองแบบที่มีคุณภาพใช้ได้จริง ก็ต้องใช้หัวเชื้อดีๆ ตามไปด้วย แต่ไอเดียนี้คุณไม่ต้องใช้อะไรอย่างที่ว่าเลยครับ แค่มีข้าวกล้อง เกลือ น้ำตาล แล้วก็น้ำ ทั้งหมดหาได้ทั่วไปในประเทศนี้ คุณก็เริ่มทำได้ด้วยตัวเองแล้ว

“ถ้าผมอยากรวย แค่ผลิตออกมาทีละมากๆ แล้วออกขายก็ได้นะ แต่นี่ไม่ใช่ไอเดีย ‘ของเรา’ คนเดียว ผมอยากทำให้คนทั่วไปเห็นว่าการใช้ชีวิตร่วมกับจุลินทรีย์มันดีต่อสุขภาพของเราจริงๆ แล้วพวกเขาก็ทำได้เองที่บ้าน โดยมีเราเป็นคนช่วยเหลืออยู่ข้างหลัง ฐานคิดมันเลยต่างออกไปจากการทำธุรกิจปกติ

“จะบอกว่าตรงกันข้ามเลยก็ได้ เพราะผมก็ไม่ได้อยากขาย แต่อยากสอนทุกคนมากกว่าว่าจะทำมันได้เองยังไง นี่คือข้อดีอย่างหนึ่งของมัน คือคุณไม่จำเป็นต้องพึ่งพาใครเลย แม้แต่ผม” ทาคาชิตอบคำถามนั้นกับเรา

 

 

ในช่วงตั้งไข่ ทาคาชิเผยแพร่ไอเดีย LACTO-LIFE แค่กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติกลุ่มเล็กๆ บนเกาะเต่าผ่านการเวิร์กช็อปและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยแบคทีเรีย

แต่พอความตั้งใจเริ่มขยายมากขึ้นหลังจากขึ้นมาปักหลักที่กรุงเทพฯ ความท้าทายก็เริ่มเข้ามา

“ด้วยความที่ไอเดียนี้เป็นเรื่องใหม่ มันเลยดูเข้าใจยากสำหรับคนทั่วๆ ไป บางคนก็อาจจะไม่รู้มาก่อนว่ามันทำงานยังไง มันยากมากที่จะอธิบายว่าสิ่งนี้คือ อะไร และมันมีประโยชน์กับทุกคน อย่างไร

ความยากอีกอย่างหนึ่งที่เขามองเห็น คือความ ‘ห่าง’ กับสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ในตัวเรา ที่มีมากขึ้นทุกทีๆ

“ชีวิตประจำวันของเราวนเวียนอยู่กับความคิดที่ว่าแบคทีเรียเป็นสิ่งที่ต้อง ‘กำจัด’ ไอเดียการอยู่ร่วมกับมันก็เลยเป็นเรื่องยากที่จะเข้าใจสำหรับหลายคน” เขาเริ่มอธิบาย

“ตอนที่เราพยายามส่งต่อสิ่งนี้ออกไป ผมก็ต้องใช้วิธีตั้งคำถามกับพวกเขา เช่นการที่คุณต้องเช็ดทุกอย่างให้สะอาดด้วยแอลกอฮอล์ คุณคิดว่ามันจำเป็นจริงๆ เหรอ มันดีต่อตัวคุณจริงหรือเปล่า หรือแม้แต่คำถามว่าทำอย่างนั้นแล้วมัน ‘สะอาด’ จริงไหม

“มันเป็นวิถีที่ขัดกับธรรมชาติ แต่คนส่วนใหญ่ก็คิดว่ามันทำให้เราสะอาดและมีสุขภาพดี เราเข้าใจไปว่าความสะอาดคือไม่มีแบคทีเรียอะไรเหลืออยู่เลย แต่จริงๆ แล้วความสะอาดคือการรักษา ‘สมดุล’ ถ้ามันสมดุลอยู่ได้ ก็คือสะอาดแล้วหรือเปล่า แต่การยิ่งไปทำความสะอาดแบบที่เราทำอยู่ตอนนี้ ก็คือการทำให้ไม่สะอาด ไม่สมดุล แม้กระทั่งบนตัวเราก็ตาม

“สิ่งที่ควรทำก็คือตั้งคำถาม เช็คกับตัวเองเสมอ ถ้าอ่านอะไรแล้วคุณเชื่อเลยก็เหมือนกับถูกล้างสมอง แม้แต่สิ่งที่ผมบอก คุณก็ต้องลองไปเช็คก่อน ผมไม่ได้บอกว่าต้องเชื่อผม อย่าไปเชื่อพวกเขา คุณต้องหาข้อมูลก่อน แล้วลองดูว่าสิ่งที่คุณเข้าใจมันทำให้คุณรู้สึกปลอดภัยหรือยัง

“ปัญหาคือบางคนเชื่ออะไรง่ายไป ผมบอกไม่ได้หรอกว่าผมถูก คนอื่นผิดหมด แต่ผมอยากให้คุณตั้งคำถามว่าอันไหนที่ดีกว่าจากข้อมูลที่คุณค้นคว้ามา แล้วเลือกที่จะเชื่อด้วยตัวเอง”

 

อ่านมาถึงตรงนี้ คุณอาจสงสัยว่าสุดท้ายแล้ว ชายหนุ่มชาวญี่ปุ่นคนนี้จะได้อะไรจากการส่งต่อความคลั่งไคล้ในแบคทีเรียของเขาไปในวงกว้าง

ใช่, เราเองก็นึกสงสัยอยู่ตลอดการพูดคุยกัน

“เหตุผลหลักของผมคือการส่งต่อไอเดียนี้ออกไป นี่คือเป้าหมายที่ใหญ่ที่สุด” เขาตอบหลังเราเอ่ยปากถาม

“โลกทุกวันนี้ทำให้สุขภาพและความเป็นอยู่ของเราเริ่มแย่ลง คนเริ่มเห็นว่ามันมีทางเลือกในการใช้ชีวิตอีกทางที่เป็นธรรมชาติ ที่พอจะหลีกเลี่ยงปัญหาพวกนั้นได้ เราเหมือนยื่นทางเลือกให้พวกเขาน่ะครับ จะไป ‘เปลี่ยน’ เขาเลยมันก็ไม่ได้หรอก แต่เราให้ทางเลือก ให้โอกาสเขาลองอะไรใหม่ๆ เป็นทางเลือกการใช้ชีวิตอีกทางหนึ่งได้

“แต่ก่อนคุณอาจจะต้องเลือกซื้อสินค้าต่างๆ จากระบบอุตสาหกรรม แต่ผมเชื่อว่าคุณทำเองได้นะ นี่เป็นอีกทางเลือกที่เราแนะนำให้ ซึ่งอาจเป็นการสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ผมก็หวังว่าไอเดียนี้อาจจะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้เหมือนกัน แต่อาจจะหวังสูงเกินไปหน่อยก็ได้นะ” เขาตอบพลางหัวเราะ

“คุณอยู่กับพวกมันมาได้นานขนาดนี้ได้ยังไง” เราสงสัยและถามเขาเป็นคำถามสุดท้าย

“มันรู้สึกได้เลยนะครับว่าคุณได้ทำอะไรดีๆ ให้กับคนที่รัก ให้ครอบครัว ให้เพื่อน ให้สังคมรอบๆ การต่อยอดสิ่งใหม่ๆ จากไอเดียนี้ ไม่ว่าจะเป็นอะไร มันเหมือนได้เอาสิ่งดีๆ ให้กับพวกเค้า ผมเองก็มีความสุขที่ได้ทำ แล้วก็มีความสุขที่ได้ส่งต่อสิ่งดีๆ ให้คนอื่นด้วย”

 

 

หากจะมีอะไรสักอย่างเพื่อเป็นมาตรวัดระดับความหลงใหลคลั่งไคล้ในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง นอกจากเสียงที่เปล่งออกมาเป็นคำพูดให้เราตีความหมาย ‘สายตา’ ที่เป็นอวัจนภาษาคงเป็นอีกสิ่งที่พอจะทำให้เราจับสังเกตได้

สำหรับทาคาชิ เราเห็นมากกว่าความคลั่งไคล้อย่างใครๆ ที่อยู่ในสายตาคู่นั้น

เพราะมันยังมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ที่ชายหนุ่มคนนี้อยากพาเราทุกคนไปให้ถึงเป็นอีกหนึ่งส่วนผสม

 

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมของ LACTO-LIFE ได้ที่ https://www.lacto-life.com และ https://www.facebook.com/lactolifenetwork

 

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save