fbpx
เกมการบั่นคลอนสถานะ : อีกหนึ่งแนวปะทะสองฝั่งฟากช่องแคบไต้หวัน

เกมการบั่นคลอนสถานะ : อีกหนึ่งแนวปะทะสองฝั่งฟากช่องแคบไต้หวัน

ธีวินท์ สุพุทธิกุล เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

 

ปัญหาเรื่อง ‘สถานะของไต้หวัน’ เป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและถูกถกเถียงในเวทีการเมืองระหว่างประเทศอยู่บ่อยครั้ง เพราะแม้ในทางปฏิบัติ ไต้หวันจะมีสถานะเหมือนรัฐอธิปไตย แต่จีนมักยืนกรานว่า ไต้หวันเป็นมณฑลหนึ่งของจีนที่รอการ ‘ผนวกกลับคืน’ (reunify) อยู่

อย่างไรก็ดี การเลือกตั้งประธานาธิบดีไต้หวันเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ดูจะเป็นการแสดงออกถึงมติมหาชนของไต้หวันได้อย่างชัดเจน เมื่อพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ของไช่อิงเหวินได้คะแนนเสียงมากเป็นประวัติการณ์ และยังครองเสียงข้างมากในสภาไว้ได้ ประกอบกับความตื่นตัวทางการเมืองที่มีผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งมากถึง 70% นี่แสดงให้เห็นถึงความนิยมที่คนไต้หวันมีต่อผู้นำที่กล้ายืนหยัดขัดขืนจีนแผ่นดินใหญ่ และเป็นการพลิกกระแสที่เคยมีคนมองว่า นโยบายของพรรค DPP ที่แข็งกร้าวต่อจีนทำให้คนเอือมระอา เพราะถ้าย้อนกลับไปในการเลือกตั้งท้องถิ่น ปี 2018 พรรคคู่แข่งอย่างก๊กมินตั๋ง (KMT) ที่มีแนวทางเข้าหาจีนกวาดชัยชนะไปในหลายพื้นที่ การพลิกกลับมาชนะของไช่และพรรค DPP ในปีนี้จึงแสดงว่า แรงกดดันจากฝั่งจีนดูจะไม่สามารถเปลี่ยนมติมหาชนไต้หวันได้ และปัญหาข้ามช่องแคบจะยังดำเนินไปในแบบที่ไม่เข้าข้างจีนนัก

เหตุใดจีนกับไต้หวันถึงได้มีปัญหาเรื่องสถานะกันเช่นนี้? หากจะหาต้นตอของปัญหานี้ ต้องย้อนกลับไปในสมัยสงครามกลางเมืองปี 1949 ระหว่างพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) และพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ซึ่งสุดท้าย พรรคคอมมิวนิสต์ได้รับชัยชนะ และสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนขึ้น ขณะที่พรรค KMT ต้องล่าถอยไปตั้งฐานที่มั่นใหม่ และกลายเป็นไต้หวันในปัจจุบัน

นับจากปี 1949 เป็นต้นมา จีนแผ่นดินใหญ่ถูกปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่พรรค KMT ปกครองไต้หวัน ทำให้ไต้หวันมีพัฒนาการที่เป็นเอกเทศ และมีการปกครองแบบประชาธิปไตย ซึ่งแตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง อย่างไรก็ดี พรรค KMT ค่อยๆ เปลี่ยนแนวทางของตนที่มีต่อจีน คือแม้จะไม่ได้อ่อนข้อให้จนถึงขั้นยอมเสียอิสรภาพและอธิปไตยของไต้หวัน แต่ก็หันมาสานสัมพันธ์กับจีนมากขึ้น โดยเน้นผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และด้วยความที่พรรค KMT ไม่ได้เน้นประเด็นยั่วยุอย่างการแยกประเทศ ก็ทำให้ตัวพรรคมีจุดยืนที่สอดรับกับเป้าหมายของจีนในการได้ไต้หวันคืนมามากกว่า หรืออย่างน้อย ก็ช่วยรักษาสภาวะที่เป็นอยู่ (status quo) ไม่ให้ไต้หวันขยับไปไกลจากแผ่นดินใหญ่มากไปกว่านี้

ท่าทีของพรรค KMT แตกต่างจากท่าทีแข็งกร้าวของพรรค DPP อย่างสิ้นเชิง โดยในช่วงการหาเสียงเลือกตั้งประธานาธิบดีที่ผ่านมา พรรค DPP ได้ชูคำขวัญ “วันนี้ฮ่องกง-พรุ่งนี้ไต้หวัน” ยกระดับความหวั่นเกรงต่อการครอบงำของจีน โดยไช่อิงเหวินใช้เหตุประท้วงในฮ่องกงเป็นเครื่องตอกย้ำให้เห็นถึงความของพยายามของจีนในการเข้าไปจำกัดสิทธิเสรีภาพในเขตปกครองพิเศษ จนกลายเป็นการลุกฮือต่อต้านจีนขนานใหญ่

นอกจากนี้ กรณีฮ่องกงยังชี้ให้เห็นถึงความไม่น่าไว้ใจของเงื่อนไข ‘1 ประเทศ 2 ระบบ’ ที่วางข้อยกเว้นให้ฮ่องกงมีกฎระเบียบ และวิถีปกครองที่แตกต่างไป ซึ่งนี่อาจเป็นแนวทางที่จีนจะใช้กับไต้หวัน เมื่อไต้หวันต้องกลับคืนสู่จีนก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี การเสนอภาพจีนเสมือนเป็น ‘ภัยที่คืบคลานเข้ามา’ ไม่ได้เป็นแค่หนึ่งในกลวิธีเรียกคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเท่านั้น แต่ยังถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ต่อกรกับจีนเพื่อความอยู่รอดด้วย ซึ่งจีนก็ใช้กลยุทธ์ทำลายภาพลักษณ์เช่นนี้ตอบโต้กลับอย่างดุเดือดไม่แพ้กัน จนอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นแนวหน้าหนึ่งในการแข่งขันชิงความได้เปรียบ และมุ่ง ‘บั่นคลอน’ สถานะของอีกฝ่าย

เกมการบั่นคลอนสถานะนี้จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะแม้จีนจะย้ำเสมอว่า ปัญหาไต้หวันเป็นเรื่องภายในที่ไม่ควรมีใครเข้ามาก้าวก่าย แต่สองรัฐบาลต่างก็ปะทะกันบนเวทีระหว่างประเทศ เชื้อเชิญรัฐทั่วโลกเข้ามาเป็นผู้ร่วมเล่นและยอมให้เป็นผู้ตัดสิน ทั้งสองต่อกรในเกมนี้ด้วยวิธีใด เกมที่ว่านี้เป็นอีกแนวหน้าที่สำคัญอย่างไร บทความนี้ตั้งใจเสนอเน้นว่า ในการแข่งขันที่มีสถานะของทั้งสองเป็นเดิมพัน ไต้หวันเสี่ยงที่จะสูญเสีย ‘ที่ยืน’ ของตนในประชาคมรัฐ ขณะที่จีนก็เสี่ยงที่จะเสีย ‘จุดยืน’ ในฐานะมหาอำนาจอันเป็นที่ยอมรับในประชาคมโลก จากการที่ต่างฝ่ายต่างบั่นทอนและสั่นคลอนสถานะระหว่างประเทศของกันและกัน

 

ปัญหาคาราคาซังระหว่างสองฝั่งช่องแคบ

 

ปัญหาไต้หวันดำเนินมานับตั้งแต่การสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีน (CCP) ในปี 1949 ขณะที่รัฐบาลพรรค KMT ในฐานที่มั่นใหม่อย่างไต้หวัน ก็ได้อ้างความเป็นผู้นำของชาวจีนทั้งประเทศและหมายมั่นที่จะยึดคืนแผ่นดินใหญ่ โดยต่างฝ่ายต่างอ้างความเป็นจีนเดียว แตกต่างกันตรงที่ว่าใครควรได้เป็นรัฐบาลอันชอบธรรม

การช่วงชิงตำแหน่งดำเนินไปในหลายแนวทาง ทั้งกำลังทหาร เศรษฐกิจ และการหาพันธมิตรเข้าฝ่ายตน การมีสหรัฐอเมริกาสนับสนุนในช่วงแรกทำให้ไต้หวันคงที่นั่งในองค์การระหว่างประเทศต่างๆ ไว้ได้ในฐานะตัวแทนจีน กระทั่งทศวรรษ 1970 สหรัฐฯ พยายามจะถ่วงคานอำนาจกับสหภาพโซเวียต จึงได้ปรับยุทธศาสตร์เข้าหาจีนแผ่นดินใหญ่มากขึ้น โดยรับ ‘หลักการจีนเดียว’ (One China Principle) ซึ่งจีนถือเป็นเงื่อนไขให้สหรัฐฯ ตัดสัมพันธ์กับไต้หวันเพื่อสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีนแทน ถึงกระนั้น สหรัฐฯ ก็ยังทำตนเป็นผู้คุ้มกันไต้หวันผ่าน ‘กฎหมายความสัมพันธ์กับไต้หวัน’ เพื่อคงความสัมพันธ์อย่างไม่เป็นทางการ และปกป้องไต้หวันด้านความมั่นคงเรื่อยมา

ขณะที่ไต้หวัน ซึ่งเริ่มมีระบอบประชาธิปไตยในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ก็ได้ทิ้งความต้องการกลับเข้าครองแผ่นดินใหญ่ไปแล้ว คนรุ่นใหม่เริ่มนิยามตัวตนเข้ากับดินแดนไต้หวัน ทำให้การปกป้องอิสรภาพของไต้หวันกลายเป็นเป้าหมายสำคัญ ขณะที่ไต้หวันในสถานะชาติเศรษฐกิจเกิดใหม่ก็สามารถใช้ความมั่งคั่งเหนี่ยวรั้งมิตรประเทศให้ยืนหยัดสนับสนุนตน โดยการแข่งขันให้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ หรือที่รู้จักในนาม ‘dollar diplomacy’ และดูเหมือนว่าในช่วงแรก สถานะที่ร่ำรวยช่วยให้ไต้หวันคงพันธมิตรของตนเองเอาไว้ได้

อย่างไรก็ดี ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา จีนเริ่มผงาดขึ้นมาและมีเศรษฐกิจแซงหน้ารัฐอื่นๆ ทำให้ไต้หวันประสบปัญหาพันธมิตรร่อยหรออย่างน่าใจหาย ขณะที่จีนก็ใช้ทั้งไม้อ่อนและแข็งสร้างแรงกดดัน โดยในด้านการใช้เศรษฐกิจเพื่อบรรลุผล (economic statecraft) จีนใช้พลังเศรษฐกิจที่ตนครอบครองเป็นเครื่องต่อรองให้ไต้หวันต้องโอนอ่อนผ่อนตาม และใช้การกีดกันจากผลประโยชน์เป็นการกดดันและลงโทษฝ่ายที่ไม่เชื่อฟัง เพื่อกระตุ้นให้คนไต้หวันเห็นประโยชน์ในการผูกมิตรกับจีน และคัดค้านจุดยืนอันยั่วยุของพรรค DPP ในการประกาศเอกราช

นอกจากเรื่องเศรษฐกิจแล้ว จีนยังใช้กำลังข่มขู่ โดยยิงขีปนาวุธกดดันในช่วงก่อนการเลือกตั้งครั้งแรกของไต้หวัน (ปี 1996) เพื่อหวังให้คะแนนเสียงเอียงไปทางผู้สมัครที่จีนต้องการ ซ้ำยังประกาศชัดว่า หากไต้หวันคิดเป็นเอกราช หรือมีเหตุทำให้ไม่อาจรวมไต้หวันได้โดยสันติ จีนจะยังคงทางเลือกที่จะใช้กำลังยึดคืน จุดยืนอันแข็งกร้าวนี้ปรากฎใน ‘กฎหมายต่อต้านการแยกตัว’ ปี 2005 ซึ่งจีนเน้นย้ำเสมอว่ามลฑลไต้หวันเป็น ‘ผลประโยชน์ใหญ่’ (core interest) และเป็นเป้าหมายในการ “ฟื้นฟูความรุ่งโรจน์ของชาติจีน” เช่นนี้แล้วกองกำลังที่จีนสั่งสม รวมไปถึงการอวดให้โลกเห็นถึงแสนยานุภาพ ทั้งด้วยการซ้อมรบ การลาดตระเวนใกล้ไต้หวัน ไปจนถึงการแสดงยุทโธปกรณ์ เช่น การสวนสนามในวาระครบรอบ 70 ปีการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนเมื่อปีที่แล้ว ล้วนมองได้ว่าเป็นไปเพื่อกดดันมลฑลกระด้างกระเดื่องนี้ไม่ให้กล้าเดินหน้าแยกตัว ขณะที่ไต้หวันซึ่งถูกคุกคามก็พยายามหาทางเสริมศักยภาพเพื่อป้องกันตนเอง และหนึ่งในวิธีการของไต้หวันคือ การกระชับพันธมิตรกับอเมริกา อันเป็นทั้งช่องทางได้มาซึ่งอาวุธทันสมัย ตลอดจนเป็นกลไกป้องปรามภัยจากจีน

 

เกมการบั่นคลอนสถานะข้ามช่องแคบ

 

เกมการแข่งขันและการกดดันด้วยอำนาจทางเศรษฐกิจและกองกำลังทหารย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งสองฝั่งอย่างไม่ต้องสงสัย ประการแรกคือ เกมการแข่งขันดังกล่าวจะส่งผลต่อ ‘ความมั่นคงในอธิปไตยทางดินแดน’ ของทั้งคู่ คือไต้หวันเสี่ยงถูกผนวกเข้าเป็นอาณาเขตของจีน ขณะที่จีนก็เสี่ยงเสียดินแดนไต้หวันไปอย่างถาวร

อีกประการหนึ่งคือ ทั้งจีนและไต้หวันต่างช่วงชิงความได้เปรียบกัน และต่อสู้เพื่อให้ได้มาซึ่ง ‘การยอมรับ’ จากสังคมระหว่างประเทศ โดยการปกป้องสถานะ (status) ของตน และบั่นคลอนตัวตนและภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายในเวทีโลกไปด้วย ซึ่งสิ่งสำคัญที่เป็นเดิมพันในเกมนี้คือ ‘ความมั่นคงต่อการดำรงตัวตน’ (ontological security) อันเป็นผลประโยชน์สำคัญด้านหนึ่งของมนุษย์ หรือกลุ่มคนที่ต้องผูกโยงตนกับสังคม ความมั่นคงลักษณะนี้เกิดจากการที่สังคมเห็นค่า ต้อนรับและปฏิบัติต่อเราตามอัตลักษณ์หรือตัวตนอย่างที่เราเองให้ความหมายและนำเสนอต่อโลกภายนอก

หากมองในแง่นี้ สังคมระหว่างประเทศจะมีอิทธิพลต่อรัฐหนึ่งๆ ได้ด้วยการแสดงท่าทียอมรับ หรือตั้งข้อกังขาต่อสิ่งที่รัฐหนึ่งอ้างว่าตนเองเป็น การเป็นที่ยอมรับทำให้รัฐมีความมั่นใจ และดำรงตัวตนในสังคมได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งยังอยู่ได้ด้วยความสง่างามและมีเกียรติ ในทางตรงกันข้าม การถูกตั้งคำถามถึงสถานะที่เหมาะสมและการมีบทบาทที่ได้มาตรฐานตามตัวตนที่รัฐนำเสนอ อาจส่งผลให้รัฐนั้นต้องพยายามปรับปรุงตัว หรือหาข้ออ้างแก้ต่างให้ตนไม่ดูแย่ การถูกต่อว่าและไม่ให้การยอมรับตามสถานะที่ตนอ้างอาจส่งผลให้รัฐนั้นถูกกีดกัน โดดเดี่ยว หรือไม่เป็นที่ไว้วางใจ ซึ่งอาจกระทบต่อไปถึงผลประโยชน์ด้านอื่นๆ อย่างความมั่นคงและเศรษฐกิจได้

เมื่อใช้บรรทัดฐานเช่นนี้มองเหตุการณ์ระหว่างจีนกับไต้หวัน จะเห็นว่า สถานะ ‘รัฐอธิปไตย’ ของไต้หวันกำลังถูกจีนบั่นคลอน เพราะความเป็นรัฐอธิปไตย ซึ่งมีนัยยะของการกุมอำนาจสูงสุดโดยเบ็ดเสร็จและไม่ขึ้นต่อใคร มิใช่สิ่งที่รัฐหนึ่งๆ จะกำหนดได้เอง แม้รัฐนั้นจะมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐทั้ง 4 ประการ (ดินแดน ประชากร รัฐบาล และความสามารถในการดูแลกิจการของตนเอง) ครบ แต่การจะเป็นรัฐอธิปไตยยังต้องอาศัยนัยยะทางสังคมเพื่อดำรงสถานะในการมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐอื่น โดยขึ้นกับประชาคมรัฐว่าจะยอมรับดินแดนนั้นในฐานะรัฐที่ควรปฏิบัติอย่างเท่าเทียมหรือไม่ด้วย

อย่างไรก็ดี ข้อเท็จจริงดังกล่าวยังถูกถกเถียงในทางวิชาการ เพราะมีทฤษฎีที่ไม่ได้มองว่า อำนาจอธิปไตยต้องได้มาจากการรับรองโดยรัฐอื่นๆ เช่นกัน แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ถ้าเราใช้บรรทัดฐานแบบในปัจจุบันนี้ สิ่งสำคัญที่สะท้อนสถานะของรัฐคือ สิทธิที่เท่าเทียมในการมีเสียงในสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ (UNGA) ซึ่งเป็นเวทีพหุภาคีที่มีรัฐอธิปไตยทั่วโลกรวมอยู่ การจะได้ที่นั่งในสถาบันอันเป็นสากลนี้จึงต้องผ่านกระบวนการรับรองจากรัฐอื่นด้วยการลงมติรับเป็นสมาชิก ถ้าใช้เงื่อนไขนี้ เราอาจกล่าวได้ว่า ความเป็นรัฐในยุคใหม่ต้องมีนัยของสถานะทางสังคม ซึ่งมาจากการยอมรับของประชาคมรัฐโดยรวมด้วย

 

จีนผู้กีดกันไต้หวันจากความเป็นรัฐ


ดังที่กล่าวไปว่า จีนกำลังบั่นคลอนที่ยืนของไต้หวันในฐานะรัฐอธิปไตยในประชาคมโลก โดยใช้ ‘หลักการจีนเดียว’ ซึ่งทำให้ชาติต่างๆ ที่ถูกดึงมาพัวพันในเกมนี้เผชิญ ‘ทางแพร่ง’ (dilemma) ในการดำเนินความสัมพันธ์กับรัฐบาลของทั้งสองฝั่งช่องแคบ ยิ่งไปกว่านั้น หลักการจีนเดียวยังเปลี่ยนสัมพันธไมตรีที่รัฐสามารถแบ่งปันให้กันโดยไม่จำกัด ให้กลายเป็นเรื่อง ‘ฝ่ายไหนได้ อีกฝ่ายเสีย’ (zero-sum game) แทน

สำหรับสถานะของไต้หวัน ถ้ามองในทางพฤตินัย ไต้หวันไม่ได้อยู่ใต้บงการของจีนและปกครองตนเองเป็นอิสระมานาน ทั้งยังมีองค์ประกอบของความเป็นรัฐครบ 4 ประการ แต่สถานะรัฐในเชิงสังคมของไต้หวันตกอยู่ในพื้นที่ ‘สีเทา’ คือยังคลุมเครือในแง่การยอมรับจากนานาชาติ และในแง่ที่จีนยืนกรานว่าไต้หวันเป็นมลฑลภายใต้เขตอำนาจปกครองของตน ขณะเดียวกัน จีนก็ใช้พลังเศรษฐกิจลิดรอนสถานะรัฐในทางสังคมของไต้หวัน ด้วยการโน้มน้าวชาติต่างๆ ให้เลิกยอมรับอธิปไตยของไต้หวันโดยการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต ก่อนที่ไช่อิงเหวินจะขึ้นเป็นผู้นำในปี 2016 สถานการณ์ที่จีนกลายมาเป็นต่อในเกม dollar diplomacy ทำให้ไต้หวันมีชาติที่ให้การยอมรับเหลือราว 20 ประเทศเท่านั้น

นอกจากนี้ ความไม่พอใจต่อพรรค DPP ยังเร่งให้จีนเดินหน้าโน้มน้าวพันธมิตรของไต้หวัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาติเล็กๆ ในแอฟริกา มหาสมุทรแปซิฟิกและละตินอเมริกา ให้ทยอยหันหน้าเข้าหาหลักการจีนเดียว แลกกับโอกาสใหญ่หลวงในการรับความช่วยเหลือและการพัฒนาจากจีน ทำให้ประเทศพันธมิตร 7 ประเทศของไต้หวันย้ายไปหาจีน ในช่วงการเป็นผู้นำสมัยแรกของไช่อิงเหวิน

จีนยังใช้ยุทธวิธีตอกย้ำความเป็น ‘มลฑล’ ของไต้หวัน โดยกดดันรัฐและบริษัททั่วโลกที่เห็นผลประโยชน์ในการเข้าถึงตลาดจีน ไม่ให้รับรองสถานะรัฐของไต้หวัน และยังเรียกร้องให้องค์กรต่างๆ เรียกไต้หวันด้วยชื่อที่สื่อถึงความเป็นส่วนหนึ่งของจีน เช่น ‘Taiwan, China’ หรือ ‘Chinese Taipei’ ไม่ใช่ ‘Taiwan’ หรือชื่อทางการอย่าง ‘Republic of China‘ ทำให้เครือโรงแรมใหญ่ๆ และสายการบินต่างๆ ต้องยอมจำนนต่อแรงกดดัน และต้องแก้ไขวิธีการใส่ข้อมูลในแบบฟอร์มเกี่ยวกับไต้หวัน

เรื่องที่ดูเล็กน้อยอย่างการเรียกชื่อ หรือแสดงแผนที่ที่ระบายสีไต้หวันต่างไปจากแผ่นดินใหญ่ แม้จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม กลายเป็นข้อควรระวังและสิ่งต้องห้ามในการทำงานร่วมกับจีน อีกทั้งประเด็นเหล่านี้ยังกระตุ้นความรู้สึกชาตินิยม โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ของจีน เพราะการต่อต้านสถานะรัฐของไต้หวันกลายเป็นเหมือนวาทกรรมในระดับมวลชน ส่งผลให้เกิดกระแสสอดส่องและจับผิดข้อความและกราฟิกในสื่อระหว่างประเทศ และเนื้อหาที่แนะว่าไต้หวันไม่ใช่ของจีน ก็กลายเป็นสิ่งที่ดูหมิ่นศักดิ์ศรีของจีนไปเสียอย่างนั้น

หนึ่งในตัวอย่างที่ค่อนข้างตลกร้ายคือ บริษัทใหญ่สัญชาติจีนอย่างหัวเว่ย (Huawei) กลับตกเป็นเหยื่อของกระแสชาตินิยมต่อต้านการเป็นรัฐของไต้หวันเสียเอง โดยหัวเว่ยถูกโจมตีจากการที่ระบุไต้หวันว่าเป็นหน่วยแยกจากจีนในระบบมือถือรุ่นใหม่ และเมื่อบริษัทแก้ไขให้เป็นดั่งใจจีน ไต้หวันก็กลับเป็นฝ่ายแสดงความไม่พอใจและใช้มาตรการตอบโต้

ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังใช้เวทีระหว่างประเทศเพื่อกีดกันไต้หวัน ทั้งยังสร้างอุปสรรค ตั้งเงื่อนไข หรือคอยผลักไสไม่ให้ไต้หวันร่วมในการประชุม มหกรรมกีฬานานาชาติ หรือกิจกรรมระหว่างประเทศ วิธีการเช่นนี้ส่งผลต่อ ‘ตัวตน’ ของไต้หวัน ทำให้นานาชาติหวาดหวั่นเมื่อต้องทำงานร่วมด้วย เพราะเกรงว่าจะก่อปัญหาและอุปสรรคในความสัมพันธ์กับจีน ไต้หวันจึงกลายเป็นเสมือนตัวปัญหา โดยเฉพาะเมื่อพยายามแสดงทีท่าตื่นตัวและตั้งใจผูกมิตรเข้าหารัฐต่างๆ หรือแสดงท่าทียืนกรานที่จะเข้าร่วมในกิจกรรมนานาชาติให้ได้ รัฐอื่นๆ ก็อาจจะเผชิญกับบรรยากาศน่ากระอักกระอ่วนจากความพยายามป่วนของจีน เพราะเมื่อชาติใดแสดงท่าทีให้ประโยชน์แก่ไต้หวัน หรือแสดงการต้อนรับขับสู้ผู้นำไต้หวันอย่างไช่อิงเหวิน เมื่อนั้นจีนจะยก ‘หลักการจีนเดียว’ ขึ้นมาทวงถาม โดยในการต่อต้านพรรค DPP ตลอดสี่ปีที่ผ่านมา จีนได้ยกระดับหลักการนี้จากที่เคยเป็นความตกลงทวิภาคี ขึ้นมีฐานะเสมือน ‘บรรทัดฐานระดับโลก’ ที่รัฐต่างๆ ให้การเคารพ ดูได้จากการที่ หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนประกาศหลายครั้งว่า “จีนเดียวคือหลักการที่นานาชาติเห็นพ้องเป็นสากล และเป็นสิ่งที่ประชาคมโลกยึดถือ” และ “จีนเดียวคือแนวโน้มที่ไม่อาจหยุดยั้งได้ (irresistible trend)” โวหารเช่นนี้บวกกับสภาวะที่หลายประเทศปลีกตัวจากไต้หวัน ถือเป็นการสั่นคลอนที่ยืนของไต้หวันในประชาคมรัฐอย่างน่าหวั่นวิตก

การสูญเสียที่ยืนใช่ว่าจะกระทบเพียงสถานภาพและเกียรติภูมิเท่านั้น แต่การที่ไต้หวันมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับชาติเพียงไม่กี่ชาติ ทำให้ไต้หวันขาดเสียงสนับสนุนในการเข้าเป็นสมาชิกในสถาบันต่างๆ ซึ่งกระทบกับความสามารถในการดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน มีหลายกรณีที่ผู้กระทำผิดชาวไต้หวันในต่างแดนถูกส่งตัวไปยังจีนแผ่นดินใหญ่แทน เนื่องด้วยชาติเหล่านี้มีความสัมพันธ์เป็นทางการกับจีน และมองว่าไต้หวันอยู่ภายใต้อำนาจของรัฐบาลกลางจีน

นอกจากนี้ การขาดสมาชิกภาพในองค์การต่างๆ และการถูกจีนขัดขวางการเข้าร่วม ทำให้ไต้หวันขาดโอกาสมีสิทธิมีเสียง ทั้งยังอาจถูกกีดกันไม่ให้ได้รับข้อมูลจากหน่วยงานเหล่านี้ ดังที่จะเห็นจากการที่ไต้หวันร้องเรียนว่า ตนถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เรื่องไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่เพราะปัญหาเรื่องสมาชิกภาพ ขณะที่มีบางชาติระงับเที่ยวบินไปไต้หวันทั้งที่ไม่ใช่พื้นที่เสี่ยงต่อโรคระบาด แต่เพราะมองว่าไต้หวันเป็นมลฑลหนึ่งของจีน การงดเที่ยวบินไปจีนจึงหมายถึงงดไปไต้หวันด้วยโดยปริยาย

 

ไต้หวันผู้ปลุกปั่นให้โลกกลัวจีน

 

แล้วไต้หวันต่อกรกับจีนอย่างไรในเกมการบั่นคลอนสถานะ?

สำหรับดินแดนเล็กๆ อย่างไต้หวันแล้ว การต่อสู้ในแนวหน้าอาจมีความสำคัญและมีโอกาสที่ไต้หวันจะพลิกสถานการณ์มาเข้าข้างตนได้ แม้จีนจะเป็นต่อทั้งทางการทหารและเศรษฐกิจ แต่เป้าหมายของไต้หวันคือบ่อนทำลาย ‘จุดยืน’ ของจีนในสายตานานาชาติ โดยการลดทอนความไว้วางใจและทำให้ชาติต่างๆ หวาดระแวงจีน จุดอ่อนของจีนในทางสถานะที่ไต้หวันเล็งเป้านี้ ถือเป็นปัญหาและความท้าทายเชิงโครงสร้างที่รัฐมหาอำนาจใหม่ไม่ว่ายุคใดจำต้องเผชิญ ซึ่งมาจากการที่ชาติต่างๆ คลางแคลงใจว่าจีนจะเป็นมหาอำนาจแบบใดและจะใช้ศักยภาพในทางไหน จีนจะเป็นรัฐที่พอใจในสิ่งที่ตนมี และสร้างสรรค์สิ่งที่ดีให้แก่ระเบียบที่นานาชาติยึดถือ หรือว่าต้องการความเป็นใหญ่และพยายามขยายดินแดนกันแน่?

เท่าที่ผ่านมา จีนดูจะตระหนักถึงปัญหานี้เช่นกัน ผู้นำจีนสมัยต่างๆ จึงมักเน้นย้ำจุดยืนดังที่สะท้อนในคำขวัญเช่น “ซ่อนเขี้ยวเล็บประวิงเวลา” “พัฒนาอย่างสันติ” “ไม่แสวงหาความเป็นใหญ่” ไปจนถึงการใช้หลัก “สันตินิยมอันเผื่อแผ่” ตามคติขงจื้อ ซึ่งถ้าใช้จุดยืนดังกล่าวเป็นกรอบในการมองจีนแล้ว การเจียดความมั่งคั่งช่วยเหลือชาติที่ด้อยกว่า รวมไปถึงโครงการพัฒนาข้ามทวีปอย่างความริเริ่มหนึ่งแถบ หนึ่งเส้นทาง (Belt & Road Initiative) จึงสอดรับกับภาพลักษณ์ที่จีนพยายามนำเสนอ เพื่อหวังลดความกังวลของชาติอื่นต่ออำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีน และลดความเสี่ยงที่จีนอาจถูกมองเป็นภัยคุกคาม ซึ่งอาจนำไปสู่การกระตุ้นให้รัฐต่างๆ รวมตัวถ่วงคานหรือสกัดกั้นอำนาจของจีน

อย่างไรก็ดี การสร้างความมั่นใจและให้ความเชื่อมั่นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะบทเรียนจากทั้งประวัติศาสตร์และตำราว่าด้วยโลกระหว่างประเทศได้เตือนสติผู้นำชาติต่างๆ ให้ระแวดระวังมหาอำนาจใหม่ การสอดส่องและพร้อมถ่วงดุลอำนาจจึงเป็นนโยบายที่ทุกชาติคงไว้เป็นตัวเลือกเสมอ การที่จีนพยายามเรียกคืนพื้นที่ที่ตนมองว่าถูกลิดรอนไปในสมัยที่อ่อนแอ และการผันความมั่งคั่งไปสั่งสมแสนยานุภาพอย่างต่อเนื่อง จึงอาจยิ่งตอกย้ำความกังวลของประชาคมรัฐทั้งหลายที่หวาดระแวงภัยจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ความไม่แน่ใจของนานาชาติที่มีต่อท่าทีของจีน เป็นโอกาสและต้นทุนสำหรับไต้หวันในการบั่นคลอนจุดยืนและตัวตนที่จีนพยายามนำเสนอให้โลกเห็นว่าตนไม่เป็นภัย โดยยุทธวิธีแรกที่ไต้หวันใช้คือ การขยายความหวั่นวิตก (threat inflation) ซึ่งเห็นได้จากโวหารของประธานาธิบดีไช่ที่มักเน้นย้ำว่า จีนมีพฤติกรรมขยายอำนาจอย่างไม่ต้องสงสัย ทั้งยังตีความและสร้างภาพใหม่ว่า ความเอื้อเฟื้อที่จีนมีให้ชาติต่างๆ นั้น แท้จริงแฝงไว้ซึ่งแรงจูงใจเชิงยุทธศาสตร์และการครอบงำ “วันนี้ฮ่องกง – พรุ่งนี้ไต้หวัน” อาจเป็นคำขวัญที่เพิ่งเกิดขึ้นและแพร่หลายก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนก่อน แต่ “วันนี้ไต้หวัน – พรุ่งนี้ชาติต่างๆ” คือวาทกรรมที่ไช่อิงเหวินใช้ต่อต้านหลักการจีนเดียวมาโดยตลอด โดยชี้ให้เห็นพฤติกรรมขยายอำนาจของจีน ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ ไช่ต้องการเสนอภาพว่า จีนไม่ได้มองไต้หวันเป็นดินแดนสุดท้ายที่จะได้กลับคืน อย่างที่จีนอ้างความเป็น ‘ผลประโยชน์ใหญ่’ ในการลบล้างความอัปยศอดสูในอดีต แต่ไต้หวันเป็นเพียงแนวหน้าแรกที่จีนหวังเข้าครอบงำ เพื่อพยายามขยายอำนาจต่อไปอย่างไม่สิ้นสุด

อีกยุทธวิธีที่ไต้หวันใช้คู่กันไปคือ การผูกโยงชะตากรรมของตนเข้ากับระเบียบโลก กล่าวคือหากนานาชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ยอมปล่อยให้จีนยึดครองไต้หวันสำเร็จ ก็อาจเป็นการส่งสัญญาณแสดงความ ‘อ่อนข้อ’ (appease) ต่อความทะเยอทะยานของจีน การร่วมแรงร่วมใจปกป้องอธิปไตยของไต้หวันจึงเป็นการรับประกันไม่ให้จีนเหิมเกริม และป้องปรามการแผ่ขยายอำนาจเพิ่มเติมอย่างไม่หยุดยั้ง

ถ้ามองดูแล้ว จะเห็นว่าแนวทางที่ไต้หวันใช้ เป็นยุทธวิธีที่รัฐเล็กใช้เมื่อต้องเผชิญกับภัยใหญ่ ไต้หวันเองสามารถตระหนักถึงภาวะที่ด้อยกว่าของตนในการยับยั้งมหาอำนาจอย่างจีน จึงพยายามขยายภาพภัยที่เข้ามาประชิดไต้หวันว่า เป็นภัยที่กำลังคืบคลานไปสู่รัฐต่างๆ และอาจสั่นคลอนระเบียบโลกต่อไป นี่จึงเป็นเสมือนแรงกระตุ้นให้นานาชาติเข้ามาสนับสนุนไต้หวัน และรวมตัวกันตรวจสอบถ่วงคานพฤติกรรมของจีน ซึ่งแม้การที่ชาติต่างๆ หนุนหลังไต้หวันจะไม่ใช่ความสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ แต่ก็ถือเป็นกลไกหนึ่งที่ช่วยป้องปรามการกระทำบุ่มบ่ามของจีนได้

เมื่อเป็นเช่นนี้ จีนที่อ้างความชอบธรรมในการผนวกมณฑล (ไต้หวัน) ของตนกลับคืนจึงถูกฉายภาพใหม่ โดยใช้วาทกรรมเน้นย้ำท่าทีที่จีนต้องการครอบงำชาติอื่นๆ ประชาคมโลกจึงต้องร่วมกันต่อต้านการกระทำของจีน นอกจากนี้ วิธีการของไต้หวันยังมีนัยยะของการปรามจีนว่า ท่าทีข่มขู่คุกคามและแข็งกร้าวต่อไต้หวัน รังแต่จะทำให้ตัวตนและภาพลักษณ์อันดีงามที่จีนพยายามสั่งสมสลายไปในสายตานานาประเทศด้วย

 

ก้าวต่อไปของเกมการบั่นคลอนสถานะ 

 

แม้จีนจะดูมีความได้เปรียบในเกมการกดดันและจูงใจรัฐต่างๆ แต่ก็ยากจะปฏิเสธเช่นกันว่า วิธีที่ไต้หวันใช้บั่นคลอนสถานะของจีนก็ส่งผลไม่น้อย แรงสนับสนุนที่ไช่อิงเหวินได้รับจากเหตุปั่นป่วนในฮ่องกง และจากการชี้ให้เห็นภัยจีนที่คืบคลานเข้ามา จึงเหมือนเป็นการบอกใบ้ว่า การขู่เข็ญของจีนเพื่อให้ไต้หวันเกรงกลัวและเชื่อฟัง อาจกลายเป็นการสร้างความเกลียดชังและต่อต้านขึ้นแทน เราอาจเห็นการยอมจำนนขององค์กรต่างๆ ต่อข้อเรียกร้องของจีนให้เปลี่ยนชื่อ ปรับรูปหรือข้อความที่บ่งชี้ว่าไต้หวันเป็นรัฐอธิปไตย ซึ่งแม้จีนอาจมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องไม่เหนือบ่ากว่าแรง แต่ก็มีนักวิเคราะห์เชิงจิตวิทยาชี้ว่า การบีบคั้นในเรื่องที่ดูไม่สลักสำคัญบ่อยๆ อาจสร้างความรู้สึกคุกคามได้มากกว่าการเรียกร้องเรื่องใหญ่ๆ ที่ใครก็เข้าใจได้ว่าสำคัญจริงๆ

นอกจากนี้ อีกปัจจัยที่ทำให้ไต้หวันโจมตีจุดยืนใฝ่สันติของจีนได้ผล และทำให้ชาวไต้หวันหันมาสนับสนุนพรรค DPP ก็คือท่าทีแข็งกร้าวของจีนเอง จึงเป็นที่คาดการณ์ได้ว่า หากรัฐบาลระหว่างสองฝั่งช่องแคบยังอยู่ในสภาวะเผชิญหน้ากันต่อไปเช่นนี้ ต่อให้จีนจะพยายามฉายภาพว่า ตนเป็นมหาอำนาจที่ดีและมีประโยชน์ในเวทีโลกมากเท่าไหร่ ก็จะมีไต้หวันที่นำโดยพรรค DPP คอยสร้างวาทกรรมปลุกปั่นให้ประชาคมนานาชาติหวาดเกรงการขยายอำนาจของจีนอยู่เสมอ ก้าวต่อไปของเกมการบั่นคลอนสถานะระหว่างจีนกับไต้หวันจึงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่น่าจับตามองอย่างยิ่ง

MOST READ

World

1 Oct 2018

แหวกม่านวัฒนธรรม ส่องสถานภาพสตรีในสังคมอินเดีย

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก สำรวจที่มาที่ไปของ ‘สังคมชายเป็นใหญ่’ ในอินเดีย ที่ได้รับอิทธิพลสำคัญมาจากมหากาพย์อันเลื่องชื่อ พร้อมฉายภาพปัจจุบันที่ภาวะดังกล่าวเริ่มสั่นคลอน โดยมีหมุดหมายสำคัญจากการที่ อินทิรา คานธี ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์

ศุภวิชญ์ แก้วคูนอก

1 Oct 2018

World

16 Oct 2023

ฉากทัศน์ต่อไปของอิสราเอล-ปาเลสไตน์ ความขัดแย้งที่สั่นสะเทือนระเบียบโลกใหม่: ศราวุฒิ อารีย์

7 ตุลาคม กลุ่มฮามาสเปิดฉากขีปนาวุธกว่า 5,000 ลูกใส่อิสราเอล จุดชนวนความขัดแย้งซึ่งเดิมทีก็ไม่เคยดับหายไปอยู่แล้วให้ปะทุกว่าที่เคย จนอาจนับได้ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ที่รุนแรงที่สุดในรอบทศวรรษ

จนถึงนาทีนี้ การสู้รบระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ยังดำเนินต่อไปโดยปราศจากทีท่าของความสงบหรือยุติลง 101 สนทนากับ ดร.ศราวุฒิ อารีย์ ผู้อำนวยการศูนย์มุสลิมศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ถึงเงื่อนไขและตัวแปรของความขัดแย้งที่เกิดขึ้น, ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลและรัฐอาหรับ, อนาคตของปาเลสไตน์ ตลอดจนระเบียบโลกใหม่ที่ก่อตัวขึ้นมาหลังยุคสงครามเย็น

พิมพ์ชนก พุกสุข

16 Oct 2023

World

9 Sep 2022

46 ปีแห่งการจากไปของเหมาเจ๋อตง: ทำไมเหมาเจ๋อตง(โหด)ร้ายแค่ไหน คนจีนก็ยังรัก

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์ เขียนถึงการสร้าง ‘เหมาเจ๋อตง’ ให้เป็นวีรบุรุษของจีนมาจนถึงปัจจุบัน แม้ว่าเขาจะอยู่เบื้องหลังการทำร้ายผู้คนจำนวนมหาศาลในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

9 Sep 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save