fbpx
เปิดโลก Documentary กับ ‘เทศกาลสารคดีไต้หวัน 2019’

เปิดโลก Documentary กับ ‘เทศกาลสารคดีไต้หวัน 2019’

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

ช่วงหลายปีมานี้ กระแสการชมหนังสารคดีเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในหมู่คนไทย การเกิดขึ้นของ Documentary Club รวมถึงแพล็ตฟอร์มหนังออนไลน์อย่าง Netflix ช่วยเปิดโลกของสารคดีให้กว้างกว่าที่เคยเป็นมา เราได้เห็นสารคดีที่สนุกและสร้างความบันเทิงได้ไม่แพ้หนังที่อยู่ในกระแส ผิดจากภาพจำเดิมๆ ที่ดูน่าเบื่อและเข้าถึงยาก

จากเดิมที่มักจำกัดการฉายอยู่ในพื้นที่เล็กๆ ทั้งในแง่ของโรงฉายและกลุ่มคนดู ปัจจุบันหนังสารคดีเริ่มมีที่ทางในโรงใหญ่มากขึ้น มีรอบฉายสอดแทรกอยู่ท่ามกลางบรรดาภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ เช่นเดียวกับเกิดขึ้นเทศกาลหนังและกิจกรรมเวิร์กช็อปต่างๆ

หนึ่งในเทศกาลที่เป็นหมุดหมายในรอบสองปีมานี้ คือ ‘เทศกาลสารคดีไต้หวัน’ หรือ Taiwan Documentary Film Festival in Thailand ที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมชาวไทยได้มีโอกาสรับชมหนังสารคดีชั้นเยี่ยมจากไต้หวัน

ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 ตุลาคมที่ผ่านมา เทศกาลสารคดีไต้หวัน 2019 ได้ฤกษ์เปิดตัวอย่างเป็นทางการ โดยงานครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันของหลายภาคส่วน ตั้งแต่กระทรวงวัฒนธรรมไต้หวัน, สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย, Taiwan Film Institute, Taiwan Docs, New Taipei City Government, กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (Thai Media Fund) ร่วมกับ Movies Matter, Documentary Club,  SF Corporation Public Co.,Ltd และ Doc Club Theater

ผู้เขียนมีโอกาสได้เข้าร่วมงานดังกล่าว พร้อมชมภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘Blood Amber’ ที่ถ่ายทอดเรื่องราวชีวิตของคนงานเหมืองในเมียนมา และ ‘Quan Ma He’ ว่าด้วยเรื่องราวพ่อลูกอ่อนที่กำลังเผชิญกับจุดเปลี่ยนสำคัญในชีวิต ทั้งสองเรื่องเป็นผลงานการกำกับของ LEE Yong-chao ผู้เกิดและเติบโตในเมียนมา ก่อนจะย้ายมาเรียนต่อด้านภาพยนตร์ที่ไต้หวัน

โดยส่วนตัว ผู้เขียนจัดอยู่ในคนประเภทที่นานๆ ครั้งจะได้ดูหนังประเภทนี้ สารภาพว่าหลังจากชมภาพยนตร์จบทั้งสองเรื่อง มีความรู้สึกหลายอย่างที่ปนเปกันไป ทั้งสะเทือนใจ ประหลาดใจ มึนงงสงสัย เป็นมวลความรู้สึกที่หมุนวนอยู่ในหัวเช่นเดียวกับฉากบางฉากที่ยังติดตา

ต่อไปนี้คือบางตะกอนที่ตกค้างอยู่ในใจผู้เขียนเมื่อเดินออกมาจากโรง และคำถามของบางข้อสงสัยจากปากคำของผู้ร่วมจัดงาน

เปิดโลก Documentary กับ ‘เทศกาลสารคดีไต้หวัน 2019’

อำพันเปื้อนเลือด มรดกฟาร์มแพะ และความหวังชั่ววูบ

“ณ ที่แห่งหนึ่งในประเทศพม่า มีป่าแห่งหนึ่งที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยอำพัน และถูกควบคุมโดยกองกำลังอิสระคะฉิ่น เหล่าผู้อยู่อาศัยหาเลี้ยงชีพด้วยการขุดเหมืองแร่อำพันที่เป็นเหมือนความหวังหนึ่งเดียวที่จะพาพวกเขาออกจากความยากจน…”

ข้างต้นคือคำโปรยของภาพยนตร์เรื่อง Blood Amber สารคดีความยาวราวๆ ชั่วโมงครึ่งซึ่งถ่ายทอดชีวิตการทำงานและความเป็นอยู่ของแรงงานในเหมืองอำพัน หากอ่านอย่างเผินๆ คงยากจะนึกภาพว่าการหาชีวิตในเหมืองเป็นอย่างไร ลำบากลำบนแค่ไหน และเหตุใดจึงเป็นความหวังหนึ่งเดียวในการออกจากความยากจน

ต่อเมื่อฉากแรกปรากฏขึ้นบนจอพร้อมๆ กับเสียงเครื่องจักรอื้ออึง ภาพโคล้สอัพไปที่ ‘บางโม่’ ชายหนุ่มนักขุดเหมือง ตัวละครหลักของเรื่อง กำลังก้มสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ใต้เพิงเล็กๆ จากนั้นกล้องจึงค่อยๆ เคลื่อนห่างออกมาตามอิริยาบถของเขา เผยให้เห็นฉากหลังที่เป็นป่าทึบ ห่างออกไปไม่ไกลคือโพรงเล็กแคบที่เจาะลึกลงไปใต้ดิน

หลังเสร็จสิ้นพิธีกรรม บางโม่ปีนลงไปในโพรงนั้นด้วยสองมือและสองเท้า ลึกลงไปทีละเมตร ทีละเมตร กล้องถ่ายแช่จากมุมสูง บางโม่ค่อยๆ หายลับไปใต้ผืนดินคล้ายไม่มีจุดสิ้นสุด

ถัดจากนั้นหนังก็ค่อยๆ พาเราไปตามติดชีวิตประจำวันของบางโม่ รวมถึงเพื่อนๆ นักขุดเหมืองและหัวหน้างานของเขา ภารกิจหลักของบางโม่คือการปีนลงไปขุดหาอำพันจากโพรงหินบาดาลที่กินพื้นที่มหาศาล บางขณะอาจไม่ต่างจากการงมเข็มในมหาสมุทร เมื่อขุดเสร็จก็ต้องแบบหินเหล่านั้นมาคัดแยก ทำวนอยู่อย่างนั้นเป็นชั่วโมๆง หรือบางครั้งก็เป็นวันหากหัวหน้าบอกว่า ‘ยอดไม่เข้าเป้า’

ไม่นับงานจิปาถะอย่างการเดินลงเขาไปแบกน้ำใส่กระสอบใบใหญ่ แล้วเดินกลับขึ้นเขาสูงชันเป็นระยะทางเกือบกิโล หรือการเข้าป่าไปโค่นไม้ใหญ่เพื่อมาใช้เป็นฟื้นไฟด้วยขวานเล่มเดียว

ทั้งหมดนั้นแลกกับค่าแรงแปลงเป็นหลักไม่ร้อยบาทไทย

ทุกคนในเหมืองต่างมีความหวัง บางโม่อยากเก็บเงินก้อนให้ได้เพื่อจะได้กลับบ้านอย่างภาคภูมิใจ เพื่อนร่วมเหมืองรวมถึงหัวหน้างานก็แทบไม่ต่างกัน พวกเขาต่างอยากมีเงินก้อนเพื่อจะได้ไปออกไปทำเหมืองของตัวเองบ้าง เพื่อที่จะได้กอบโกยเงินได้มากกว่านี้

ทั้งหมดนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณอำพันที่พวกเขาขุดเจอ ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าจะเจอเมื่อไหร่ เจอเยอะแค่ไหน และยังไม่นับว่าจะมีลูกปืนใหญ่พลัดหลงมาหล่นลงกลางเหมืองตอนไหนด้วย

ทำนองเดียวกับเรื่อง Blood Amber สารคดีสั้นที่ฉายต่อกันเรื่อง Quan Ma He ฉายให้เห็นภาพความหวังของชายหนุ่มตกอับคนหนึ่งที่เพิ่งมีลูกหมาดๆ เขากับภรรยาปักหลักอยู่บนดอยสูงชายแดนประเทศพม่า พื้นที่ซึ่งครั้งหนึ่งเคยคึกคักและอุดมสมบูรณ์ไปด้วยไร่ฝิ่น ก่อนจะค่อยๆ ซบเซาลงจากมาตรการของรัฐบาล ผู้คนทยอยกันอพยพไปหางานยังต่างถิ่น โดยเฉพาะการข้ามฝั่งไปยังประเทศจีน

เขาเองก็อยากไปหาที่ตั้งหลักปักฐานอย่างคนอื่น แต่กลับขยับขยายไปไหนไม่ได้ ด้วยลูกน้อยที่เพิ่งลืมตาออกมาดูโลก รวมถึงฟาร์มแพะที่พ่อเขาทิ้งไว้ให้เป็นมรดก—ซึ่งเขามองว่าเป็นภาระ

ขณะนั่งดูความเป็นไปของตัวละครทั้งสอง บางจังหวะผู้เขียนนึกย้อนกลับมามองชีวิตตัวเอง และใครอีกหลายคนรอบตัว

แม้จะอยู่ต่างที่ต่างถิ่น กระทั่งต่างฐานะ สิ่งที่เราใช้หล่อเลี้ยงชีวิตในฐานะมนุษย์เหมือนๆ กัน คือความหวังถึงชีวิตที่ดีกว่าเดิม เราต่างวาดหวังอะไรสักอย่างไว้ในจินตนาการ แล้วค่อยๆ ต่อเติมแต้มสีด้วยการกระทำ ทีละเล็กทีละน้อย

ความโหดร้ายของชีวิตคือไม่ใช่ทุกคนที่สมหวัง โดยเฉพาะเมื่อใครคนนั้นถูกหลอกล่อ-หล่อเลี้ยงความหวัง (ชั่ววูบ) จากความเลือดเย็นและเห็นแก่ได้ของคนอื่นอีกต่อหนึ่ง

เปิดโลก Documentary กับ ‘เทศกาลสารคดีไต้หวัน 2019’

ความในใจจาก ‘Filmvirus’

 

หลังชมภาพยนตร์เปิดเทศกาลจบไปทั้งสองเรื่อง ผู้เขียนมีโอกาสพูดคุยสั้นๆ กับ วิวัฒน์ เลิศวิวัฒน์วงศา หนึ่งในเรี่ยวแรงสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการจัดงานในครั้งนี้

เขาเป็นที่รู้จักในแวดวงภาพยนตร์ในชื่อ ‘Filmvirus’ เป็นโต้โผในการจัดฉายหนังนอกกระแสหลายต่อหลายงาน ไล่ตั้งแต่หนังธีสิสของนักศึกษาไปจนถึงเทศกาลใหญ่ๆ ระดับประเทศ

สำหรับงานเทศกาลสารคดีไต้หวัน วิวัฒน์มีส่วนร่วมปลุกปั้นมาตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดขึ้นเมื่อต้นปี 2018 ต่อเนื่องมาถึงครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งเขาบอกว่ายิ่งใหญ่กว่าเดิมและได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหลายฝ่าย

เล่าที่มาที่ไปของงานนี้ให้ฟังคร่าวๆ หน่อย

งานนี้เริ่มจากการบังเอิญได้เจอกับ Flora Huang นักศึกษาแลกเปลี่ยนไต้หวันในเมืองไทยคนหนึ่งที่แวะมาดูตอนที่ Filmvirus จัดฉายหนังของ Midi Z เรื่อง ‘City of Jade’

หลังจากนั่งสนทนากัน Flora บอกว่ามันเป็นไปได้ที่เราจะเอาหนังสารคดีไต้หวันมาฉายในไทย เราเลยเอาโปรเจ็กต์นี้ไปคุยต่อกับทาง Documentary club ของพี่ธิดา ผลิตผลการพิมพ์ ตอนแรกตั้งใจแค่จะฉายกันเล็กๆ น้อยๆ แต่เราพบว่าทางไต้หวันให้ความสนใจในการสนับสนุนกิจกรรมเชิงวัฒนธรรมเยอะมาก และให้ความช่วยเหลือเราอย่างดี จนในที่สุดก็ลงเอยมาเป็นเทศกาลสารคดีไต้หวันครั้งแรก เมื่อต้นปี 2018

ความน่าสนใจของงานครั้งนี้ และไฮไลต์เด่นๆ มีอะไรบ้าง

ปีนี้เราได้รับการสนับสนุนเยอะมากจากหลายๆ ฝ่าย ทำให้หนังเยอะขึ้นกว่าปีที่แล้วและหลากหลายขึ้นมากๆ

หนังที่อยากพูดถึงมากๆ เรื่องแรกคือหนังยาวที่ไม่ใช่หนังสารคดี แต่เป็นหนังเล่าเรื่องเรื่องเดียวในงานนี้ คือหนังเก่าเรื่อง ‘The End of the Tracks’ นี่เป็นหนังที่มีคนรับรู้ว่ามีตัวตนอยู่น้อยมาก เพราะมันสูญหายไปสี่สิบปี จนมีการค้นเจอในหอภาพยนตร์ แล้วถูกนำกลับมาฉายใหม่ มันเป็นหนังที่อ่อนโยนและเศร้า และควรถูกนับเป็นหนึ่งในหนังเรื่องสำคัญของไต้หวัน

อีกเรื่องคือสารคดีตามชีวิตพระในพม่าของ Midi Z ซึ่งเป็นผลงานคนทำหนังไต้หวัน-พม่า ที่น่าจับตามองมากที่สุดคนหนึ่ง เรื่องนี้เป็นการตามถ่ายเพื่อนที่ต้องไปบวชแก้ชง แล้วต้องไปบวชไกลมาก กินแอปเปิ้ลได้วันละลูก ส่วนอีกเรื่องคือหนังที่มีแต่หน้าคนของ Thai Ming-Liang เป็นหนังที่ท้าทายคนดูพอสมควร แต่เราคิดว่าการได้เผชิญหน้ากับหนังกึ่งทดลองที่ฉายในแกลเลอรี่ แล้วเอามาขึ้นจอในโรงภาพยนตร์ มันเป็นประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้น

นอกจากนี้ยังมีหนังสั้นสองเรื่องของ Huang Pang Chuan คนทำหนังที่ตอนนี้ไม่ว่าจะไปไหน ก็จะได้ยินชื่อเขา เราได้หนังสั้นทั้งสองเรื่องของเขามาฉาย ทั้งสองเรื่องกระโดดข้ามไปมาระหว่างการเป็นสารคดีส่วนตัวและหนังทดลอง เขาสามารถพารูปภาพหนึ่งใบไปสอบสวนทวนความถึงประวัติศาสตร์ครอบครัวในฐานะคนจีนอพยพได้อย่างน่าทึ่ง ขณะเดียวกันก็ถ่ายทำออกมาสวยมากๆ

ทำไมถึงเลือกเรื่อง ‘Blood Amber’ กับ ‘Quan Ma He’ มาฉายเปิดเทศกาล สองเรื่องนี้มีความพิเศษยังไง

จริงๆ Blood Amber เป็นหนังที่อยากฉายตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่เรามาเจอหนังเรื่องนี้ช้าไป มันเลยเป็นหนังที่ตั้งใจไว้ว่าจะฉายให้ได้ในปีนี้ พอดีกับที่ Lee Yong-Chao ผู้กำกับได้รับคัดเลือกให้เป็น Artist in focus ของเทศกาลสารคดีไต้หวัน เราเลยได้รับการสนับสนุนจากทางไต้หวันอีกทาง

ตัวเขาเกิดในพม่า ก่อนจะย้ายมาไต้หวันตอนโตแล้ว แล้วก็เรียนต่อด้านภาพยนตร์ในไต้หวัน แต่ความปรารถนาของเขาคือการกลับไปทำหนังที่บ้านเกิด จริงๆ มีหนังของเขาสามเรื่องฉายในเทศกาลนี้ ทั้งสามเรื่องล้วนทำในพม่า แต่ Blood Amber เป็นหนังยาวเรื่องเดียว และโด่งดังในระดับนานาชาติ ได้ไปเทศกาลมาแล้วหลายที่

สิ่งที่พิเศษคือนี่ไม่ใช่สารคดีอีกเรื่องที่พูดถึงเหมืองในพม่า แต่มันเป็นสารคดีที่พูดถึงการใช้แรงกายในการทำมาหากิน ตามติดชิดใกล้และสามารถดึงดูดผู้ชมลงไปในกิจกรรมของแรงงานที่หนักหนาสาหัส ในแบบที่เรียกว่าแทบจะไม่เหลือความสะดวกสบายใดๆ สำหรับมนุษย์ เราคิดว่าการที่มันหันมาโฟกัสสิ่งนี้ทำให้หนังมันพิเศษมากๆ

ในมุมของคุณ หนังสารคดีมีความน่าสนใจและแตกต่างจากหนังประเภทอื่นๆ ยังไง

จริงๆ เราคงจะยกสารคดีให้เหนือกว่าหนังแนวอื่นไม่ได้ แต่ถ้าถามรสนิยมส่วนตัว เราชอบการเลือนระหว่างความจริงกับเรื่องแต่ง เราชอบการที่สารคดีควบคุมได้น้อยกว่าหนังเล่าเรื่อง สารคดีอาจสามารถปรุงแต่งได้พอๆ กัน แต่ในบางนาทีมันจะมีความจริงบางอย่างหลุดรอดออกมา ควาไม่สมบูรณ์ ไม่ลงรอย ไม่อาจควบคุม มันทำให้เรื่องเล่าไปไกลกว่าเดิม

สารคดีเป็นทั้งบันทึกของยุคสมัยผ่านการถ่ายทั้งสิ่งที่ตั้งใจ และไม่ตั้งใจ เป็นประวัติศาสตร์ส่วนบุคคล และเป็นเครื่องมือทางการเมืองที่ทรงพลังมากๆ ไม่ได้หมายความว่าหนังเล่าเรื่องไม่เป็น แต่การลื่นไหลของความจริงกับเรื่องเล่าทำให้มันมีคุณสมบัติที่พิเศษ

อยากให้มาลองดูกันครับ หนังสารคดีไม่ได้มีรูปแบบเหมือนข่าวแต่เพียงอย่างเดียว มันมีทั้งรูปแบบที่เป็นหนังเล่าเรื่องที่เข้มข้น มีรูปแบบที่งดงามเหมือนกวี และมีรูปแบบที่ท้าทายทั้งความคิดและความรู้สึก ในฐานะผู้จัด เราหวังแค่ให้ทุกคนได้ลองมาดูกัน อาจได้อะไรกลับไปคิดต่อคุยต่อ หรือแค่ดูแล้วเผลอหลับไป แล้วหนังที่กำลังดูมันซึมเข้าไปปนกับความฝัน แค่นั้นก็ยอดเยี่ยมแล้วครับ

จากการเป็นผู้ร่วมจัดงานนี้ คุณเห็นว่าการผลักดันหนังประเภทนี้ในไทยกับไต้หวัน มีความเหมือนหรือต่างกันอย่างไร

พูดตามตรงว่าในประเทศเราแทบไม่มีการสนับสนุนใดๆ อย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าการให้เงินเล็กๆ น้อยๆ แต่เต็มไปด้วยข้อแม้จากรัฐ

แต่ในไต้หวัน การสนับสนุนไม่ได้มาจากรัฐส่วนกลางอย่างเดียว มันสามารถมาจากรัฐบาลท้องถิ่นที่บ้านเราไม่มี และการสนับสนุนก็ไม่ได้มาในฐานะเงินทุนเท่านั้น แต่ยังมาในรูปแบบของการสนับสนุนการฉาย การพยายามส่งออก ไปจนถึงการเก็บรวบรวมสร้างฐานข้อมูล

สิ่งที่ประทับใจมากอย่างนึงคือ มีหน่วยงานที่เกิดจากการรวมตัวของคนทำสารคดีในไต้หวัน ในชื่อ ‘Doc union’ จริงๆ มันเป็นสหภาพแรงงานของคนทำสารคดีเพื่อต่อรองเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาล แต่พวกเขาไปไกลกว่านั้น เช่น ในตอนที่มีการชุมนุม Sunflower occupation พวกเขาร่วมมือกันถ่ายภาพเคลื่อนไหวของการชุมนุม มีการทำ crowdfunding จนออกมาเป็นหนังที่มีหลากหลายมุมมอง ยิ่งกว่านั้นคือพวกเขารวบรวมฟุตเทจทั้งหมดมาจัดทำเป็น public library ด้วย แปลว่าพวกเขามีฐานข้อมูลภาพเคลื่อนไหวจากการชุมนุมของผู้คน และเราสามารถศึกษาอะไรได้มากเหลือเกินจากสิ่งเหล่านั้น

เรื่องทั้งหลายเหล่านี้คือสิ่งที่เราอยากเห็นทั้งจากรัฐและเอกชนในบ้านเรา


หมายเหตุ : เทศกาล Taiwan Documentary Film Festival in Thailand 2019 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงภาพยนตร์ SF World Cinema CentralWorld และโรงภาพยนตร์ Doc Club Theater (Warehouse 30) และวันที่ 9-10 พฤศจิกายน 2562 ณ โรงภาพยนตร์ SFX Cinema MAYA Lifestyle Shopping Center Chiangmai และ SF Cinema CentralPlaza KhonKaen

ผู้สนใจสามารถดูโปรแกรมภาพยนตร์และกิจกรรมทั้งหมดได้ ทีนี่

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save