fbpx
ไต้ก๋ง : อนุสรณ์สถานแห่งความเป็นชาย

ไต้ก๋ง : อนุสรณ์สถานแห่งความเป็นชาย

อาทิตย์ ศรีจันทร์ เรื่อง

 

นวนิยายเรื่อง “ไต้ก๋ง” เป็นผลงานเล่มล่าสุดของประชาคม ลุนาชัย นักเขียนอีสานผู้มีชีวิตหัวหกและก้นขวิดไปอยู่บนเรือประมงหลายปี เขาใช้การต่อสู้ในชีวิตของเขามาเป็นวัตถุดิบในการเขียนวรรณกรรมอยู่เสมอ ดังนั้นในงานของเขา เราจะได้เห็นและรับรู้ตัวละครผู้ไม่ย่อท้อต่อชีวิตแม้จะถูกฟาดฟันด้วยชะตากรรมอันหนักหน่วง เส้นทางที่ต้องแลกระหว่างความสำเร็จกับริ้วรอยบาดแผลในชีวิตจำนวนนับไม่ถ้วน

ถ้าหากจะกล่าวให้ชัดเจนกว่านั้น คือเราไม่อาจแยกงานของประชาคม ลุนาชัย ออกจากชีวิตจริงของเขาได้  เพราะประสบการณ์แทบทั้งหมดในชีวิตถูกนำมากลั่นเป็นผลงานวรรณกรรมนั่นเอง

ในเรื่อง “ไต้ก๋ง” ก็เป็นผลงานอีกเล่มหนึ่งที่เขานำเอาประสบการณ์การเป็นคนเรือมาเขียน แต่เรื่อง “ไต้ก๋ง” นี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องวิถีชีวิตของคนเรือที่ต้องออกทะเลไปจับปลาเป็นอาชีพเท่านั้น เพราะในนวนิยายยังเต็มไปด้วยกลิ่นอายของความพยายามสร้างอนุสรณ์สถานให้กับความเป็นชาย หรือความเป็นสุภาพบุรุษอันยิ่งใหญ่ (?) ที่ควรค่าแก่การบันทึกเอาไว้ของนักเขียน (?) เป็นแบบอย่างของการมีชีวิตอย่างนักสู้ที่ไม่ย่อท้อ และกลายเป็น ‘หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ยังอุดมไปด้วยเลือดเนื้อ’

หากเคยได้อ่านงานของประชาคม ลุนาชัย มาบ้าง เราอาจจะเดาเรื่องได้ไม่ยากนักว่าเรื่องราวที่เขากำลังจะเล่านั้นเกี่ยวข้องกับอะไร เพราะผลงานส่วนมากของเขามักจะเล่าถึงชีวิตของคนเรือหรือคนที่ทำงานบนเรือประมงซึ่งมีที่มาหลากหลาย และตัวละครส่วนใหญ่ไม่ได้เป็น ‘ชาวประมง’ โดยกำเนิดแทบทุกคนเช่นเดียวกับตัวประชาคมนั่นเอง

ผลงานวรรณกรรมของประชาคมนั้นผูกพันและวนเวียนอยู่บนเรือประมง ทะเล วิถีชีวิตของคนระหว่างอยู่บนเรือและบนชายฝั่งหลังเรือเทียบท่า ยกปลาขึ้นฝั่งหมดแล้ว นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในงานของประชาคมแทบทุกชิ้นคือ การพูดถึงคนสามัญธรรมดาหรืออยู่ค่อนไปทางชนชั้นล่างของสังคมที่ไม่มีโอกาสในชีวิตมากนัก  การไต่เต้า ต่อสู้กับชีวิตของตัวละครเหล่านี้กลายเป็นแก่นแกนที่ยึดโยงผลงานวรรณกรรมเกือบทั้งหมดของประชาคม ลุนาชัย

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากจะกล่าวถึงไว้ในที่นี้สักเล็กน้อยคือ ทันทีที่ได้เห็น “ไต้ก๋ง” บนแผงหนังสือและเห็นชื่อผู้เขียนคือประชาคม ลุนาชัย ภาพต่างๆ บรรดามีที่เคยจดจำและรับรู้เกี่ยวกับผลงานและชีวิตของเขาก็วิ่งเข้ามาเป็นฉากๆ และไพล่ให้คิดไปด้วยว่า เรื่องเกี่ยวกับเรือ คนเรือ การออกทะเล และการสู้ชีวิตอีกแล้ว คงไม่พ้นไปจากนี้อย่างแน่นอน

สำหรับผมแล้ว งานของประชาคมเป็นเรื่องเล่าที่ไม่ได้หนีไปจากสิ่งเหล่านี้เท่าใดนัก อีกทั้งงานของเขามีลักษณะคาดเดาได้ค่อนข้างชัดเจน ด้วยขนบการเขียนในลักษณะสัจนิยม ที่ผู้เขียนมักให้ผู้เล่าเรื่องฉายภาพทุกอย่างแบบตรงไปตรงมา และมีความ ‘ละเอียด’ ในการอธิบายสิ่งต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ

กระนั้น ประชาคมเองก็คงตระหนักถึงข้อจำกัดบางอย่างของขนบการเขียนแบบสัจนิยมที่ต้องมองทุกอย่างด้วยสายตาเป็นกลาง ปราศจากการวิพากษ์ใดๆ ทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้ เสียงของผู้เล่าเรื่องในงานของประชาคมจึงพยายามสอดแทรกทัศนคติของตนเองอยู่ทีละน้อย และยังสามารถรักษาสมดุลระหว่างทัศนคติของผู้เล่าเรื่องกับตัวเรื่องที่ถูกเล่าได้อย่างดีอีกด้วย

ผมไม่ได้รู้จักมักจี่กับประชาคม แต่จากการอ่านและติดตามผลงานเมื่อสมัยที่ผมยังเรียนอยู่ก็แลเห็นได้ชัดเจนว่า ประชาคมเป็นนักเขียนประเภท ‘กรีดเอาเลือดเนื้อมาเขียนหนังสือ’ ประสบการณ์ที่ฝังแน่นและตราตรึงของประชาคมเกี่ยวกับการเป็นชาว ‘คนเรือ’ ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่มีทางหายไปจากชีวิตเขา เพราะมันได้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเขาไปแล้ว

อย่างไรก็ตาม ถ้าหากพิจารณาว่านักเขียนและศิลปินนั้น ‘ควร’ และ/หรือ ‘มักจะ’ กลั่นกรองเอาประสบการณ์ในชีวิตของตนออกมาเป็นงานศิลปะ ก็เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ที่ประชาคมจะยืนหยัดในสิ่งที่เขานำเสนอมาตลอดหลายปี ไม่เพียงแต่เรื่องเรือและทะเลเท่านั้น แต่ยังหมายถึงเรื่องราวของการต่อสู้ การไม่ยอมจำนนต่อโชคชะตาในชีวิต ตัวละครเอกมีพัฒนาการชัดเจน มีการเรียนรู้โลกที่รอบด้านและนำไปสู่ความสำเร็จในชีวิตบั้นปลายของตัวละคร สิ่งเหล่านี้คือเอกลักษณ์ในงานของประชาคม

สิ่งที่น่าสนใจอีกประการคือ แม้ผลงานแต่ละชิ้นของประชาคมจะถูกร้อยรัดด้วยประเด็นหรือปมปัญหาแบบเดียวกัน แต่กลวิธีทางศิลปะในการให้รายละเอียด การมอง และการพิจารณาปัจจัยภายในตัวเรื่อง เพื่อทำให้ตัวเรื่องมีพัฒนาการนั้น มีความแตกต่างกัน

นวนิยาย “ไต้ก๋ง” เป็นเรื่องราวชีวิตดั่งมหากาพย์การต่อสู้ดิ้นรนของ “กิ่ง” ตัวละครหลักในเรื่องที่เริ่มออกเดินเรือตั้งแต่อายุยังไม่ถึงยี่สิบ ในวัยที่เพิ่งจะพ้นวัยหนุ่มไม่นาน เขาต้องเผชิญหน้ากับโศกนาฏกรรม ไต้ก๋งและลูกเรือคนอื่นๆ บนเรือที่เขาไปทำงานด้วยถูกแรงงานพม่าฆ่าตายทั้งหมด เหลือเพียงกิ่ง เพราะเขาเป็นคนเดียวที่มีน้ำใจและโอบอ้อมอารีกับลูกเรือชาวพม่าที่บาดเจ็บ

หลังจากทุกคนในเรือตาย กิ่งต้องถือท้ายเรือคุมเรือ “นำโชคชัย 5” เข้าฝั่งเพียงคนเดียว ด้วยความที่เป็นเด็กหนุ่มรอดตายและคุมเรือขนาดใหญ่ข้ามฝั่งอันดามันเพียงลำพัง นั่นทำให้ชื่อเสียงของกิ่งเป็นที่ร่ำลือกว้างขวาง

หลังจากนั้น กิ่งได้รับโอกาสที่ดีจากเถ้าแก่เจียง เจ้าของบริษัทเรือนำโชคชัยให้ไปออกเรือกับ “ไต๋จ๊อด” ในเรือ “นำโชคชัย 1” ด้วยหวังว่าจะให้กิ่งเรียนรู้การเป็นไต้ก๋งและทักษะการคุมเรือประมงที่ดี ตลอดระยะเวลาที่กิ่งอยู่กับไต๋จ๊อด กิ่งได้เรียนรู้สิ่งต่างๆ มากมาย ทั้งการหาปลา การเดินเรือ การดูน้ำ สังเกตเกาะต่างๆ นอกจากนี้ กิ่งเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำบนเรือแบบไต๋จ๊อดอีกด้วย

นอกจากไต๋จ๊อดแล้วก็ยังมี “ไต๋ง้าว” ไต้ก๋งของเรือ “พ.เทพยุทธ์” รุ่นน้องคนสนิทของไต๋จ๊อดที่มักจะออกทะเลไปด้วยกัน ไต๋ง้าวเป็นคนที่นำนิยายกำลังภายในมาให้กิ่งอ่านอยู่เสมอ และทำให้กิ่งกลายเป็นนักอ่านไปโดยปริยาย ต่อมาไต๋จ๊อดถูกยิงตายบนเรือ กิ่งจึงได้รับโอกาสจากเถ้าแก่เจียงอีกครั้งให้เป็นไต้ก๋งเรือ “นำโชคชัย 10” ซึ่งเป็นเรือที่ดีที่สุดของบริษัท

กิ่งเป็นไต้ก๋งที่ดีตามรอยของไต๋จ๊อดและไต๋ง้าว ด้วยความที่กิ่งเป็นคนนอบน้อมถ่อมตน หมั่นฝึกฝน หมั่นเรียนรู้งานหนักงานเบาตลอดเวลาที่อยู่กับครูไต้ก๋งทั้งสองของเขา กิ่งจึงกลายเป็นไต้ก๋งที่ทุกคนในเรือ “นำโชคชัย 10” ยอมรับ นอกจากนี้ เขายังเป็นคนที่มีคุณธรรมและความอดทน ตลอดจนมีเมตตาต่อผู้อื่นเสมอทำให้เขากลายเป็นที่รักของทุกๆ คน แม้ในเวลาต่อมา กิ่งจะถูกปืนใหญ่ยิงเข้าที่แขนจนแขนขาด กลายเป็นไต้ก๋งแขนเดียว เขาก็ยังคงเป็นไต้ก๋งที่ได้รับการยอมรับนับถือจากทุกๆ คน

กิ่ง หรือ ไต๋กิ่ง ดูแลทุกคนในครอบครัวเป็นอย่างดีและดูแลลูกเรือของเขาประดุจญาติมิตร แต่ในชีวิตรักของกิ่งกลับไม่พบกับความสมหวังเลย รักครั้งแรกกับพัชรี กิ่งก็ถูกแต๊ก เพื่อนที่โตมาด้วยกันแย่งไป และแต๊กนี่เองที่เป็นต้นเหตุทำให้กิ่งเสียแขนและเอาเรือ “นำโชคชัย 10” ของกิ่งไปคุม ทว่าท้ายที่สุดก็ถูกจับเพราะไปรุกน่านน้ำของเวียดนาม

หลังจากนั้น กิ่งได้พบกับอาย ทั้งสองรักและปลงใจจะแต่งงานกัน แต่แล้วอายก็เสียชีวิตก่อนวันที่กิ่งจะมาแต่งงานด้วย แม้ชีวิตรักของกิ่งจะไม่ประสบความสำเร็จ มิหนำซ้ำยังต้องพบกับชะตากรรมที่โหดร้าย แต่กิ่งก็ไม่เคยฟูมฟายกับรักที่ไม่สมหวัง เขาเก็บความรู้สึกต่างๆ ไว้ภายในอยู่เสมอ

กิ่งได้กลับมาดูแลเรือ “นำโชคชัย 10” อีกครั้ง และครั้งนี้เขาก็อยู่กับเรือจนกระทั่งปลดเกษียณตัวเอง ชีวิตของกิ่งและสิ่งที่กิ่งทำขณะที่เป็นไต้ก๋งเรือให้กับบริษัทนำโชคชัย ถูกนำไปทำเป็นอนุสรณ์สถาน โดยใช้เรือ “นำโชคชัย 10” เป็นเหมือนพิพิธภัณฑ์เล็กๆ ที่แสดงให้เห็นถึงกิจการของบริษัทนำโชคชัยที่กว้างขวางใหญ่โตขึ้น และกิ่งผู้เป็นไต้ก๋งคุมเรือลำนี้ก็ได้รับการสดุดีราวกับเป็นวีรบุรุษของท้องทะเลเลยทีเดียว

สิ่งที่น่าสนใจเมื่อได้อ่าน “ไต้ก๋ง” คือ ‘ความเป็นชาย’ ที่ล้นทะลักออกมาจากตัวเรื่องอยู่ตลอดเวลา ด้วยความที่ผมเป็นนักเรียนวรรณคดีไทย เวลาเห็นเรือ หรือเรื่องเกี่ยวกับเรือที่ต้องออกทะเล ผมมักจะนึกถึง ‘บทอัศจรรย์’ หรือฉาก sex อยู่เสมอ เพราะในวรรณคดีไทย เรือมักถูกใช้เป็นสัญลักษณ์ในเรื่องเพศ โดยเฉพาะเพศชายอยู่บ่อยครั้ง อาจเป็นเพราะเรือมีลักษณะเคลื่อนที่และเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา การเคลื่อนที่ของเรือนั้นเป็นการล่องไปตาม ‘ร่องน้ำ’ หรือการเรือที่ ‘เข้าคลอง’ นั้นก็เป็นลักษณะของการร่วมเพศอย่างชัดเจน

ความเปรียบดังกล่าวนี้พบได้มากในบทอัศจรรย์ของวรรณคดีไทยโบราณ นอกจากเรือแล้ว ท้องทะเลยังเป็นฉากที่ใช้เป็นสัญลักษณ์ทางเพศอีกด้วย โดยมากมักใช้เป็นสื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกและลีลาในการร่วมเพศอันรุนแรงดั่งพายุโหมกระหน่ำ ลองดูในตัวอย่างเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ตอนที่พลายแก้วสึกเณรแล้วไปหานางพิม

 

พระพายพัดซัดคลื่นให้สาคร                    กระท้อนกระทบกระทั่งฝั่งกระเทือน

เรือไหหลำแล่นล่องเข้าคลองน้อย             ฝนปรอยฟ้าลั่นสนั่นเลื่อน

ไต้ก๋งหลงบ่ายศีรษะเชือน                         เบือนเข้าติดตื้นแตกกับตอฯ

(เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน, เล่ม 1, หน้า 114)

 

เมื่อกลับมาพิจารณานวนิยาย “ไต้ก๋ง” ของประชาคม ‘เรือ’ ในนวนิยายเรื่องนี้มีลักษณะบางอย่างที่น่าสนใจพิจารณาในประเด็นเกี่ยวกับเรื่องเพศ เพราะหากพิจารณาว่า “ไต้ก๋ง” นั้น คือนวนิยายที่เป็นเหมือนการสดุดีวีรบุรุษหรือสุภาพบุรุษแห่งท้องทะเลอย่าง “กิ่ง” ในแง่หนึ่ง มันก็คือการสดุดี ‘ความเป็นชาย’ ของกิ่ง จนนำมาสู่การสร้างเป็นอนุสรณ์สถานในตอนจบเรื่อง

อาจกล่าวได้ว่า “ไต้ก๋ง” คือนวนิยายที่ ‘หลงใหลในความเป็นชายของตัวเอง’ อย่างถอนตัวไม่ขึ้น

หาก “เรือ” ในนวนิยายเรื่องนี้เป็นเรือที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาย สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นชายดังกล่าวเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันรุ่นต่อรุ่น เพราะเราจะสังเกตได้ว่า กว่าจะเป็น “ไต๋กิ่ง” ที่ได้รับการยอมรับนับถือจากเพื่อนร่วมอาชีพทุกคนในช่วงท้ายๆ ของเรื่อง “ไต๋กิ่ง”​ ต้องได้รับการถ่ายทอดและสั่งสอนมาจากไต้ก๋ง 2 คน คนหนึ่งคือ ไต๋จ๊อด ผู้ยิ่งยงแห่งท้องทะเล อีกคนคือไต๋ง้าว ไต้ก๋งคู่ใจของไต๋จ๊อดที่ออกเรือด้วยกันอยู่บ่อยครั้ง

ไต๋จ๊อดเป็นแบบอย่างที่สำคัญให้กับกิ่ง ส่วนไต๋ง้าวมักเป็นคนที่ ‘เล่าเรื่อง’ ของไต๋จ๊อดให้กิ่งฟังอยู่เสมอ เช่น การเอาตัวรอดจากเรือโจรสลัดหรือยามฝั่งของประเทศพม่า เนื่องจากเอาเรือเข้าไปจับปลาอย่างผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นการรุกล้ำน่านน้ำของชาติอื่นนั่นเอง หลังการประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้จากทั้งสองให้กับกิ่งทั้งในด้านการเดินเรือและการใช้ชีวิต ทำให้กิ่งนั้นกลายเป็น “สุภาพบุรุษแห่งท้องทะเล” คนถัดมา

สำหรับกิ่งแล้ว ไต๋จ๊อดคือไต้ก๋งที่น่าเคารพนับถือ เพราะจากประสบการณ์ในการทำงานบนเรือของเขา ไต้ก๋งคนอื่นมักจะหยาบคาย ชอบขู่เข็ญ เอารัดเอาเปรียบลูกน้องอยู่เสมอ ลักษณะเหล่านี้คือสิ่งที่กิ่งหาไม่พบในตัวไต๋จ๊อดเลย อีกทั้งทุกคนบนเรือยังช่วยเหลือกัน และดูเหมือนว่าทุกคนจะมีศูนย์รวมจิตใจอยู่ที่ไต๋จ๊อดอีกด้วย

คุณลักษณะบางอย่างของไต๋จ๊อดนั้นคล้ายคลึงกับไต้ก๋งที่ดี และเก่งกาจสามารถจนได้รับฉายาว่า “ไต๋อัศวิน” หรือก็คือ “ไต้ก๋งที่สร้างตัวเลขการจับปลาได้อย่างน่าทึ่ง ก้าวข้ามข้อจำกัดทางเครื่องมือเครื่องไม้และขนาดของตัวเรือ สายตาการอ่านทะเลปรุโปร่ง เข้าใจนิสัยของฝูงปลาแต่ละชนิด เจนจัดย่านน้ำจนไม่สามารถเขียนแผนที่ทะเลฝังไว้ในสมอง ไต้ก๋งอัศวินไม่เพียงเป็นแม่ทัพน้ำศึก หากสุมรวมไว้ทั้งตัวเรือ ตัวอวน คนงานทุกตำแหน่ง ดวงดาวนำทางและน้ำมือแห่งโชค” (หน้า 222-223)

อย่างไรก็ตาม แม้ไต๋จ๊อดจะไม่ได้เป็นไต้ก๋งที่มีสถิติการจับปลาได้เป็นกอบเป็นกำ แต่ฝีไม้ลายมือและทักษะของไต๋จ๊อดก็เป็นที่ยอมรับและเลื่องลือในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกัน คุณลักษณะดังกล่าวของไต๋จ๊อดนั้นซึมซับและเข้าไปอยู่ในตัวกิ่งทุกวันๆ จนกระทั่ง กิ่งได้เป็นไต้ก๋งเรือ “นำโชคชัย 10” ซึ่งเป็นเรือที่ดีที่สุดของบริษัท ก็ยังคงระลึกนึกถึงคำสั่งสอนของไต๋จ๊อดอยู่เสมอ ทำให้ตัวกิ่งเองเป็นที่ยอมรับนับถือในหมู่เพื่อนร่วมอาชีพในตอนท้ายของเรื่องเช่นเดียวกัน

อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือความเป็นนักอ่านของกิ่งที่ได้รับมาจาก “ไต๋ง้าว” เพราะไต๋ง้าวเป็นคนเอาหนังสือนิยายกำลังภายในมาให้กิ่งอ่านเพื่อคลายเหงาเวลาอยู่บนเรือ นิสัยรักการอ่านจึงเริ่มติดตัวกิ่งไปทีละเล็กทีละน้อย ประเด็นที่น่าขบคิดคือ การอ่านหนังสือของตัวละครที่สำคัญ ในเรื่อง คือ ไต๋จ๊อด ไต๋ง้าว และกิ่งนั้น ล้วนแล้วแต่เป็นหนังสือที่แสดงให้เห็นความเป็นชายสูงมากๆ เช่น ไต๋จ๊อดชอบอ่านหนังสือพระเครื่องและหนังสือโป๊ ไต๋ง้าวชอบอ่านนิยายกำลังภายใน กิ่งเองก็ได้รับอิทธิพลการอ่านจากไต้ก๋งทั้งสองมา

หนังสือพระเครื่อง หนังสือโป๊ และนิยายกำลังภายในนั้นเป็นสิ่งที่น่าพิจารณาในฐานะเครื่องมือแสดงความเป็นชาย เพราะเนื้อหาในหนังสือเหล่านั้นล้วนเป็นสิ่งที่อยู่ในโลกของผู้ชายแทบทั้งสิ้น พระเครื่องเป็นเรื่องราวในโลกของพุทธศาสนาซึ่งเป็นโลกของผู้ชาย เรื่องหนังสือโป๊และนิยายกำลังภายในก็มีผู้ชายเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก เนื่องจากเป็นหนังสือที่ตอบสนองจินตนาการเรื่องเพศของผู้ชายได้เป็นอย่างดี

ถ้าหากเรือเป็นอีกสัญลักษณ์หนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชาย ความน่าสนใจคือความเป็นชายในนวนิยาย “ไต้ก๋ง” นั้นมีลักษณะต้องฝ่าฟันและผาดโผนเฉกเช่นนิยายกำลังภายในนั่นเอง ดังนั้น นอกจากเรือจะเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นชายแล้ว อีกแง่หนึ่ง มันคือหลักฐานเชิงประจักษ์ที่แสดงให้เห็นถึงการต่อสู้ของความเป็นชายในสมรภูมิทางเพศอีกด้วย

การออกเรือของตัวละครในเรื่อง “ไต้ก๋ง” แต่ละตอนนั้นให้ความรู้สึกเหมือนการได้ออกไปผจญภัยทางเพศ เพราะมันเต็มไปด้วยความตื่นเต้น และดูเหมือนทะเลเองก็เพรียกหาตัวละครเหล่านั้นอยู่ตลอดเวลา เช่น ในตอนที่กิ่งต้องออกเรือนั้น เขารู้สึกว่า “การพลัดพรากก็เหมือนเสียงปี่กลองเร่งจังหวะเร้าใจ กวักมือเรียกที่ปลายขอบฟ้า เทาที่ย่างก้าวบนดินอีกไม่กี่ชั่วโมงข้างหน้าก็จะเหินลอยไปเหนือผืนน้ำห่างแผ่นดินไกลออกไป ท่ามกลางกฎเถื่อนของคนทะเลเปล่าเปลี่ยวใต้แสงดาวและเงาจันทร์เสี้ยว ระงมเสียงคลื่นประหนึ่งคีย์ดนตรีชีวิตไม่เคยหยุดท่วงทำนอง” (หน้า 75)

การออกเรือเป็นการเสาะแสวงหาความตื่นเต้นทางเพศอย่างไม่มีที่สิ้นสุด เพราะมันคือการเดินทางไปบนผืนน้ำ เข้าไปตามลำคลองซึ่งเป็น “ทางเข้า” ของเรือ การได้ไปจับปลานั้นเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นเฉกเช่นกิจกรรมทางเพศทั่วๆ ไป แต่การไปจับปลาในน่านน้ำต่างชาติที่ผิดกฎหมายนั้น แง่หนึ่งอาจพิจารณาว่าเป็นเหมือนกับการแสวงความสุขจากเพศรสจากพื้นที่ต้องห้าม เป็นความสุขที่ได้จากฝ่าฝืนข้อห้ามหรือระเบียบต่างๆ

ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างคือ หากเปรียบเทียบเรือของ “ไต๋จ๊อด” กับ “กิ่ง” แล้ว เรือทั้งสองมีความแตกต่างกันเรือของไต๋จ๊อดเป็นเรือที่ผาดโผนและบุกตะลุยไปพิชิตแทบทุกจะน่านน้ำดังที่กล่าวว่า “ไต้ก๋งผู้ซึ่งพาเรือลำน้อยผ่านช่องแคบมะละกา ล่วงวันเวลาอันแสนโหดร้ายในทะเลอันดามัน รอดคมกระสุนเรือยามฝั่งพม่า นำเรือล่องใต้ล่าฝูงปลาทั้งย่านน้ำมาเลย์นับไมล์ทะเลด้วยสายตาทั่วอ่าวไทยด้านตะวันออก…” (หน้า 103) เหมาะสมกับความเป็นวีรบุรุษเจ้าสำราญอย่างที่ไต๋ง้าวเคยบอกกับกิ่ง “เป็นไต๋ต้องเป็นให้ได้อย่างพี่จ๊อด นี่แหละวีรบุรุษสำราญตัวจริง” (หน้า 65)

ในขณะที่เรือของกิ่งนั้นไม่ได้มีอะไรหวือหวามากเท่ากับเรือของไต๋จ๊อด แต่ก็เป็นเรือที่พิชิตน่านน้ำมาเป็นจำนวนมากทั้งในและต่างประเทศ มิหนำซ้ำ กิ่งยังมั่งคั่งจากการ “ออกเรือ” ของเขาอีกด้วย ในประเด็นนี้เราอาจคิดไปได้อีกหรือไม่ว่า กิ่งสามารถทำเงินและความมั่งคั่งจากการหาความสุขในเรื่องเพศของเขาได้…

ประเด็นอีกประการที่น่าสนใจก็คือ ความเป็นชายที่พลุ่งพล่านในนวนิยายเรื่อง “ไต้ก๋ง” นั้นยังอยู่ในรูปแบบของการบรรยายเรือนร่างของผู้ชาย การบรรยายถึงกล้ามเนื้อ รูปร่างที่บึกบึนของผู้ชายนั้น ทำให้อดคิดไม่ได้ว่านวนิยายเรื่องนี้ คือความหลงตัวเองเรื่องความเป็นชายอย่างถอนตัวไม่ขึ้น

การบรรยายถึงเรือนร่างของผู้ชายนั้นมีอยู่เกือบตลอดทั้งเรื่อง เช่น ในตอนที่พูดถึงรูปร่างของไต๋จ๊อด “แกยืนตระหง่านอยู่บนความสูงร้อยหกสิบห้าเซนติเมตร” (หน้า 54) หรือการบรรยายถึงลักษณะของกิ่งในบรรทัดถัดมาว่า “รูปร่างกิ่งสูงกว่าแกเล็กน้อย แววตาคมวาวดูสงบแขนขาเรียวยาวเยี่ยงคนที่ไม่ค่อยได้กรำงานหนักมาเต็มเหนี่ยวเหมือนพวกคนอวน และยังอยู่ในวัยที่ยังยืดสูงได้อีก” (หน้า 54)

หรือจะเป็นตอนที่กิ่งได้รับตำแหน่งเป็นไต้ก๋งเรือ “นำโชคชัย 10” และมีการบรรยายถึงลูกเรือของเขาว่า “ดาดฟ้ากว้างทั้งหน้าเรือและด้านท้าย หนุ่มฉกรรจ์ยืนอวดความกำยำราวกับทหารกล้าที่พร้อมออกสู่สมรภูมิ หลายคนเปลือกอกที่อัดแน่นด้วยกล้ามเนื้อ เชิดหน้ามองไปยังฝั่งน้ำด้วยสายตากระหยิ่ม นี่คือที่ทำงานของพวกเขาและเป็นบ้านพักนอนอันโอ่อ่ากลางทะเล” (หน้า 123)

นอกจากนี้ในตอนที่บรรยายถึง “มิ่ง” ลูกเรืออีกคนของกิ่งที่ได้มาในตอนท้ายๆ ของเรื่องนั้นถูกบรรยายว่า “รูปร่างสูงใหญ่กล้ามเป็นมัดๆ อยู่ในวัยฉกรรจ์ที่แรงงานของเขาสร้างประโยชน์แก่กิจการลากอวนไปอีกนาน” (หน้า 306)

ข้อสังเกตอีกประการคือ ในทุกๆ ครั้งที่ผู้เล่าเรื่องกำลังพูดถึงตัวละครชาย ก็มักจะอธิบายและพรรณนาลักษณะทางกายภาพของตัวละครชายนั้นๆ อย่างละเอียดลออ และเน้นในเรื่องของการพรรณนากล้ามเนื้อ

คำถามที่สำคัญคือเหตุใดจะต้องเน้นการบรรยายเรือนร่างอันกำยำของชาย ‘ฉกรรจ์’ ในเรื่องด้วย

การเน้นในเรื่องลักษณะทางกายภาพและกล้ามเนื้อของตัวละครอยู่บ่อยครั้งไม่อาจทำให้คิดเป็นอื่นได้เลยว่าผู้เล่าเรื่องนั้นมีเจตนาและความหมกมุ่นบางอย่างเกี่ยวเรือนร่างของผู้ชาย การมองเห็นความกำยำของกล้ามเนื้อนั้นไม่น่าเป็นเพียงแค่มองอย่างผิวเผิน แต่มันต้องอาศัยการ ‘จ้องมอง’ ด้วยความพินิจพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและหลงใหลอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือหลักฐานที่ยืนยันของความหมกมุ่นในเรือนกายอันกำยำของชายฉกรรจ์ของตัวเรื่องนี้ และมันได้ทำให้เราตระหนักถึงความหลงใหลในเรือนร่างเหล่านั้นและความ ‘หลงตัวเอง’ ของตัวเรื่องที่ถูกเล่าจากสายตาของผู้เล่าเรื่อง

สิ่งที่น่าสนใจของอาการหลงตัวเองนี้ คือการแสดงออกให้เห็นถึงความเป็นชายผ่านความพยายามในการสร้าง ‘อนุสรณ์สถาน’ ความเป็นชายผ่าน ‘เรือ’ นั่นเอง

ในเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรือ “นำโชคชัย 1” หรือ “นำโชคชัย 10” นั้นต่างก็เป็นเครื่องยืนยันของการดำรงอยู่ของความเป็นชายสองแบบ นั่นคือ ความเป็นชายแบบไต๋จ๊อด และความเป็นชายแบบกิ่ง และดูเหมือนว่าตัวเรื่องพยายามให้ความสำคัญกับความเป็นชายแบบกิ่งมากกว่า เพราะเรือ “นำโชคชัย 10” ถูกนำมาจัดแสดงคล้ายกับพิพิธภัณฑ์เพื่อเป็นเกียรติประวัติของบริษัทนำโชคชัย และยังเป็นการประกาศให้ความเป็นชายของกิ่งได้รับการยกย่องอีกด้วย

ความเป็นชายที่ได้รับการยกย่องของกิ่งนั้นก็คือ ‘ความเป็นสุภาพบุรุษ’ ดังจะเห็นได้ว่ามีการสดุดีความเป็น “สุภาพบุรุษแห่งท้องทะเล” ของกิ่งในตอนท้าย ดังนั้น ความเป็นชายแบบกิ่งจึงถูกเชิดชูและตั้งตระหง่านเหนือความเป็นชายใดๆ ที่ปรากฏในตัวเรื่องจนต้องสร้างอนุสรณ์สถานเพื่อเป็นที่ระลึกแต่เป็นที่จดจำแก่คนในรุ่นถัดไป

 

รายการอ้างอิง

ประชาคม ลุนาชัย. 2562. ไต้ก๋ง.  นนทบุรี: ดินแดนบุ๊ค.

เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน เล่ม 1. 2544. 2 เล่ม. พิมพ์ครั้งที่ 18. กรุงเทพฯ: ศิลปาบรรณาคาร.

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save