fbpx
Tahrir Square สนามแห่งการเรียกร้องของประชาชนอียิปต์ในช่วง Arab Spring

Tahrir Square สนามแห่งการเรียกร้องของประชาชนอียิปต์ในช่วง Arab Spring

ปรัชญพล เลิศวิชา เรื่อง

 

Tahrir Square Arab Spring
ที่มาภาพ Wikimedia Commons

 

ในช่วงปลายปี 2010 มีเหตุการณ์สำคัญหนึ่งที่เกิดขึ้นในประเทศแถบตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ นั่นคือการลุกฮือของประชาชนเพื่อต่อต้านรัฐบาล หรือที่เรียกว่า ‘อาหรับสปริง’ (Arab Spring) ประเทศต่างๆ ในโลกอาหรับเต็มไปด้วยภาพของมวลชนที่ออกมารวมตัวกันอย่างแน่นขนัด และร่วมส่งเสียงโห่ร้องระบายถึงความอัดอั้นภายใต้การปกครองของรัฐบาลเผด็จการอย่างยาวนาน

หนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้คลื่นความเคลื่อนไหวอาหรับสปริงก็คือประเทศอียิปต์ โดยในช่วงต้นปี 2011 ประชาชนอียิปต์ออกมาประท้วงเพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ซึ่งครองอำนาจมายาวนานกว่า 30 ปี ลาออกจากตำแหน่ง และในการประท้วงครั้งนี้ จตุรัสทาห์รีร (Tahrir Square) พื้นที่สาธารณะขนาดใหญ่ใจกลางกรุงไคโร เมืองหลวงประเทศอียิปต์ ก็รับบทบาทสำคัญด้วยการเป็นฉากหลังการชุมนุมของมวลชนชาวอียิปต์ที่แห่แหนมาจากทั่วทุกภูมิภาคเพื่อต่อต้านรัฐบาล

Tahrir Square ถูกผู้คนยึดครอง ปรับปรุง และเปลี่ยนแปลงการใช้งานให้รองรับการชุมนุมที่เกิดขึ้นอย่างน่าสนใจ และเมื่อมองย้อนกลับไปก่อนการชุมนุม Tahrir Square ก็เคยถูกรัฐบาลเข้ายึดครองและเกิดรูปแบบการควบคุมที่น่าสนใจอีกเช่นกัน ในบทความนี้ จึงอยากชวนทุกคนมาสำรวจรูปแบบการใช้งานและยึดครอง Tahrir Square ของคนแต่ละกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนหรือรัฐบาล และมาดูกันว่าการใช้งานที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เราเห็นอะไรในสังคมอียิปต์บ้าง

 

ที่มาที่ไปของ Tahrir Square

 

Tahrir Square เป็นพื้นที่โล่งสาธารณะที่ตั้งอยู่ทางด้านตะวันตกของแม่น้ำไนล์ในเขตใจกลางเมืองของกรุงไคโร ตำแหน่งที่ตั้งของจัตุรัสถือเป็นตำแหน่งสำคัญของเมือง เพราะเป็นบริเวณจุดตัดของถนนเส้นสำคัญหลายสาย และยังถูกห้อมล้อมด้วยกลุ่มอาคารที่มีความสำคัญระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น พิพิธภัณฑ์อียิปต์ อาคาร Mogamma ที่ทำการของรัฐ อาคารที่ทำการสันนิบาตอาหรับ (Arab League) หรือมหาวิทยาลัย American University of Cairo

 

Tahrir Square
Tahrir Square เป็นพื้นที่สาธารณะที่ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางเมือง และห้อมล้อมด้วยอาคารที่มีความสำคัญ

 

ก่อนที่จะมีชื่อ Tahrir Square อย่างทุกวันนี้ Tahrir Square เคยมีชื่อว่า Ismailia Square มาก่อน ซึ่งเป็นชื่อของราชาอียิปต์ Khedive Ismail ผู้มีแนวคิดริเริ่มให้พื้นที่นี้เกิดขึ้น โดยในศตวรรษที่ 19 Khedive Ismail ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองปารีส ประเทศฝรั่งเศสและได้ยลโฉมความสวยงามของเมืองที่ถูกปรับปรุงผังขึ้นมาใหม่ ความประทับใจในความงามนี้ เป็นผลให้เขาเกิดแผนการปรับปรุงเมืองไคโรให้มีความสวยงามและมีความทันสมัยให้ทัดเทียมกับชาติตะวันตก และผลพวงหนึ่งจากการปรับปรุงเมืองก็คือพื้นที่ Ismailia Square นี่เอง

จากตำแหน่งที่ตั้งของ Ismailia Square ที่ตั้งอยู่ในบริเวณใจกลางของเมือง เป็นจุดตัดของถนนเส้นสำคัญหลายเส้น และการเริ่มมีอาคารสำคัญถูกสร้างขึ้นรายรอบ ทำให้ต่อมา Ismailia Square เริ่มถูกใช้เป็นพื้นที่ประท้วงของประชาชนชาวอียิปต์ และการประท้วงหลายๆ ครั้งก็มีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก จนถูกจารึกให้เป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ เช่น การประท้วงเรียกร้องเอกราชจากอังกฤษในปี 1919 หรือการประท้วงในการปฎิวัติอียิปต์ปี 1952 ที่ทำให้ราชวงศ์ในอียิปต์สิ้นสุดลง

นอกจากนี้ การปฎิวัติในปี 1952 ยังทำให้ชื่อของจัตุรัสนี้ เปลี่ยนไปเป็น Tahrir ซึ่งเป็นคำภาษาอาหรับที่แปลว่า ‘การปลดปล่อย’ (Liberation) และนอกจากจัตุรัสนี้จะเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ของประชาชนแล้ว จากบรรยากาศภายในพื้นที่ที่ถูกออกแบบภูมิทัศน์อย่างสวยงาม มีม้านั่งให้ประชาชนนั่งเล่นพูดคุยกันได้ ทำให้จัตุรัสนี้เป็นพื้นที่สาธารณะสำคัญของเมืองที่ผู้คนเข้ามาใช้งานเพื่อพบปะสังสรรค์กันอย่างอิสระ แต่หลังจากอียิปต์ตกอยู่ภายใต้รัฐบาลเผด็จการที่ดำเนินนโยบายจำกัดสิทธิเสรีภาพการแสดงออก บทบาทความเป็นพื้นที่สาธารณะของ Tahrir Square ก็เริ่มลดหายไป

 

Tahrir Square
ภาพบรรยากาศ Tahrir Square ในปี 1941 ที่แสดงให้เห็นบทบาทของพื้นที่ในการเป็นพื้นที่พบปะนั่งเล่น / ที่มา Wikimedia Commons 

 

Tahrir Square
ภาพบรรยากาศ Tahrir Square ในปี 1965 ที่แสดงให้เห็นทัศนียภาพที่ถูกออกแบบอย่างสวยงาม และเชื้อเชิญให้ผู้คนเข้าใช้งาน / ที่มา GRANGER

 

Tahrir Square กับการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ในช่วงปฏิวัติอียิปต์ 2011

 

ก่อนหน้าที่การประท้วงจะปะทุ อียิปต์อยู่ภายใต้การปกครองของประธานาธิบดี ฮอสนี มูบารัค ผู้นำเผด็จการที่กุมอำนาจเป็นเวลายาวนานกว่า 30 ปี ในช่วงเวลานั้น ความพยายามจำกัดการแสดงออกของประชาชนถูกแสดงออกบน Tahrir Sqaure ผ่านการพัฒนาพื้นที่จัตุรัสที่ไม่สนใจมิติการมีปฏิสัมพันธ์ของผู้คนสักเท่าไหร่ เก้าอี้สำหรับให้ผู้คนนั่งเล่นถูกรื้อถอน โดยรอบบริเวณจัตุรัสอันโล่งกว้างก็ปราศจากพื้นที่อย่างร้านอาหารหรือคาเฟ่ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนเกิดปฏิสัมพันธ์กันได้

นอกจากการควบคุมพื้นที่ทางกายภาพแล้ว รัฐบาลยังใช้กฎหมายควบคุมไม่ให้มีการชุมนุมของคนมากกว่า 5 คน และวางกำลังตำรวจนอกเครื่องแบบให้คอยสอดส่องตรวจตราพื้นที่จัตุรัสตลอดเวลา ซึ่งเป็นผลให้ Tahrir Square เหลือบทบาทเป็นเพียงพื้นที่รองรับการสัญจรของคนและรถยนต์ที่ผ่านไปมา ไม่ใช่สถานที่ที่ผู้คนเข้ามาพบปะพูดคุยและสังสรรค์กันอย่างเคย

 

Tahrir Square 2008
บรรยากาศพื้นที่ Tahrir Square ในปี 2008 ที่แสดงให้เห็นว่า พื้นที่ไม่ได้ถูกพัฒนาให้เหมาะสมกับการเป็นพื้นที่พบปะนัดหมายกันสักเท่าไหร่ / ที่มา Giovanni Zacchini / Shutterstock.com

 

หลังจากเก็บงำความอัดอั้นมาเป็นเวลานาน ในวันที่ 25 มกราคม 2011 ความเคลื่อนไหวของประชาชนอียิปต์ก็ปรากฏ เหล่ามวลชนอียิปต์จากทั่วทุกสารทิศเริ่มยาตราเข้ามาในพื้นที่ Tahrir Square เพื่อเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารัคลาออกจากตำแหน่ง เมื่อเห็นท่าทีว่าจะมีประชาชนหลั่งไหลเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ ในเย็นวันเดียวกันนั้นเอง รัฐบาลจึงใช้กองกำลังรักษาความปลอดภัยทำการปราบปรามผู้ชุมนุม จนทำให้ Tahrir Square ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของรัฐบาลอีกครั้ง แต่ความพยายามนี้ก็เป็นไปได้แค่ชั่วคราว เพราะอีกไม่กี่วันต่อมา เหล่ามวลชนกลับหลั่งไหลเข้ามาใน Tahrir Square มากขึ้นเรื่อยๆ ถึงรัฐจะมีการใช้มาตรการที่รุนแรงกว่าเดิมไม่ว่าจะเป็นการใช้กระสุนยาง ปืนฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา หรือแม้กระทั่งกระสุนจริงในการปราบปรามมวลชนจนถึงกับมีผู้เสียชีวิต แต่ท้ายที่สุดแล้ว เหล่าผู้ชุมนุมก็สามารถยึดครอง Tahrir Square กลับมาเป็นพื้นที่แห่งการต่อสู้เรียกร้องได้อีกครั้ง

เมื่อผู้ชุมนุมสามารถยึดครอง Tahrir Square ให้กลับมาเป็นสนามสำหรับปักหลักต่อสู้ได้แล้ว เหล่าผู้ชุมนุมก็เริ่มสร้างแนวเขตรั้วและ checkpoint เพื่อตรวจสอบคนที่มาเข้าร่วมว่าได้ถืออาวุธอันตรายเข้ามาหรือไม่ หรือเป็นเจ้าหน้าที่รัฐแฝงตัวมาหรือเปล่า เมื่อผ่านการตรวจสอบเรียบร้อย เราก็จะเจอกับพื้นที่ชุมนุมอันอัดแน่นด้วยเหล่ามวลชนที่มาจากต่างถิ่นต่างที่ ต่างฐานะ และต่างความเชื่อทางศาสนา ที่มารวมตัวกันด้วยจุดมุ่งหมายร่วมนั่นคือ การเรียกร้องให้ประธานาธิบดีมูบารัคลาออกจากตำแหน่ง นอกจากในพื้นที่จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนนับร้อยนับพันแล้ว ภายในยังมีการจัดตั้งโครงสร้างอาคารอย่างง่ายๆ ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยรักษาพยาบาล ห้องน้ำ ร้านค้าขายน้ำอาหาร และค่ายพักแรมเพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้เข้าร่วมชุมนุม และยังมีการจัดตั้งเวทีปราศรัยขนาดย่อมที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่ ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนขึ้นมาปราศรัยและแสดงความคิดเห็นกันได้อย่างเสรี

นอกจากในการชุมนุมครั้งนี้ พื้นที่ Tahrir Square จะถูกแปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่สำหรับการประท้วงแล้ว Tahrir Square ยังมีบทบาทเป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูลและทำกิจกรรมที่สำคัญอีกเช่นกัน นอกเหนือการปลุกเร้ามวลชนผ่านการปราศรัยบนเวทีต่างๆ แล้ว บนระดับพื้นดินเรายังพบภาพนักดนตรีมากหน้าหลายตาที่ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเปล่งถ้อยสำเนียงปลุกเร้าผู้เข้าร่วมชุมนุม อีกทั้งยังมีการจัดนิทรรศการศิลปะจากศิลปินทั้งมืออาชีพและมือสมัคร ที่แสดงความคิดความเห็นของตนออกมาผ่านงานศิลปะกันอย่างเสรี เรียกได้ว่าเป็นเสมือนการจัดงานรื่นเริงครั้งหนึ่งเลยทีเดียว

 

Tahrir Square
ที่มา Wikimedia Commons 

 

 

Tahrir Square
ที่มา Wikimedia Commons 

 

จากสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งแนวเขตแดนของการชุมนุม การจัดสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ชุมนุม หรือการสร้างพื้นที่สำหรับงานศิลปะก็ตาม ทำให้เราอาจเรียกการชุมนุมในครั้งนี้ได้ว่าเป็นการเปลี่ยนพื้นที่ Tahrir Square ให้เป็นเมืองในอุดมคติขนาดย่อม เมืองที่ลบภาพความแตกต่างทางชนชั้นและความเชื่อของชาวอียิปต์ออกไป และเปิดโอกาสให้แต่ละคนมีเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ได้พบเห็นบ่อยนักในสังคมอียิปต์โดยปกติ และการเกิดขึ้นของเมืองในอุดมคติบนพื้นที่ Tahrir Square นั้น ก็เป็นเหมือนการประกาศเอกเทศของประชาชนจากการปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการเช่นกัน

นอกเหนือจากการสังเกตกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่แล้ว ถ้าหากลองสังเกตลักษณะการใช้งานพื้นที่ที่เกิดขึ้น จะพบว่าการชุมนุมครั้งนี้ไม่มีเวทีกลางสำหรับการปราศรัย แต่ใช้เวทีขนาดย่อมจำนวนมากที่คนแต่ละกลุ่มสามารถผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันขึ้นมาได้ และเวทีของแต่ละที่ก็ไม่ได้ถูกออกแบบให้มีความโดดเด่นหรือยิ่งใหญ่จนเป็นที่สังเกตได้อย่างชัดเจน หากแต่เป็นโครงสร้างที่มีความกลมกลืนไปกับการชุมนุม และมักชี้ให้เห็นว่าเป็นเวทีด้วยการตั้งลำโพง การยกระดับของพื้นขึ้นมา หรือการมีฉากหลังเป็นผ้าใบสีขาวเพียงเท่านั้น การผุดขึ้นอย่างกระจัดกระจายของเวทีปราศรัยใน Tahrir Square สะท้อนให้เห็นถึงโครงสร้างขบวนการประท้วงที่ไม่ได้มีกลุ่มผู้นำที่ชัดเจน หากแต่เป็นการรวมกันของกลุ่มคนย่อยหลายๆ กลุ่ม ที่ร่วมกันตัดสินใจถึงทิศทางการชุมนุมที่จะเกิดขึ้น

 

การชุมนุมที่Tahrir Square
หนึ่งในเวทีการปราศรัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ Tahrir Square / ที่มา Wikimedia Commons 

 

ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2011 หลังจากประชาชนปักหลักต่อสู้อยู่บน Tahrir square ในระยะกว่า 2 อาทิตย์ ในที่สุด ประธานาธิบดีมูบารัคก็ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เมื่อเหล่ามวลชนบรรลุข้อเรียกร้องได้สำเร็จ พื้นที่ Tahrir Square ก็ถูกปัดกวาดทำความสะอาดให้สวยงาม บรรดาป้ายและโปสเตอร์ประท้วงที่ถูกแปะตามที่ต่างๆ ถูกปลดลง กราฟิตีที่ถูกพ่นบนแนวกำแพงถูกเช็ดล้างทำความสะอาด มีการรวมกลุ่มอาสาสมัครโกยกองขยะรวมจากการชุมนุมรวมกันและนำขนไปทิ้งยังบ่อจัดการขยะนอกเมือง นอกจากจะเป็นการฟื้นฟูและทำความสะอาดพื้นที่แล้ว สิ่งนี้ยังอาจมองได้ว่า เป็นสัญลักษณ์แห่งการเก็บกวาดอำนาจที่ครอบงำสังคมอียิปต์มายาวนานกว่า 30 ปี อีกเช่นกัน

 

การชุมนุมที่Tahrir Square
ที่มา Wikimedia Commons 

 

หลังการปฎิวัติของประชาชนในปี 2011 ผ่านไป เส้นทางการเมืองของประเทศอียิปต์ก็ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ หากแต่เต็มไปด้วยอุปสรรคท้าทายหลากหลาย รัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งหลังจากการปฎิวัติถูกประชาชนต่อต้าน เกิดการรัฐประหารล้มล้างรัฐบาล และเมื่อระยะเวลาผ่านไป รัฐบาลจากการรัฐประหารก็ถูกประชาชนทักท้วงขึ้นมาอีกครั้ง ภายใต้ความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่เกิดขึ้น Tahrir Square ก็ยังถูกใช้งานเป็นพื้นที่รวมตัวของมวลชน พร้อมไปกับการเป็นพื้นที่ที่รัฐบาลใช้แสดงอำนาจและการควบคุม ถึงเราไม่มีทางรู้ว่าอนาคตการเมืองอันร้อนระอุของอียิปต์จะถูกคลี่คลายออกมาอย่างไร แต่ Tahrir Square ก็ดูยังคงเป็นอีกสนามสำคัญ ที่สะท้อนการช่วงชิงยื้อแย่งพื้นที่กันระหว่างประชาชนกับรัฐบาลอียิปต์ต่อไป

 

อ้างอิง

Elshahed, M. (2011). Tahrir Square: Social Media, Public Space. Places Journal, 2011, 1. https://doi.org/10.22269/110227

EGYPTIAN STREETS. (2019, October 4). How Tahrir Square Evolved from a Symbol of Colonization to Liberation. https://egyptianstreets.com/2019/10/04/how-tahrir-square-turned-from-a-symbol-of-colonization-to-liberation/

Salama, Hussam. (2013). Tahrir square a narrative of a public space. Archnet-IJAR. 7. 128-138. 10.26687/archnet-ijar.v7i1.130.

Al Sayyad, N. (n.d.). A History Of Tahrir Square. Http://Www.Midanmasr.Com/En/Article.Aspx?ArticleID=140. http://www.midanmasr.com/en/article.aspx?ArticleID=140

Tali Hatuka. (2011, September 14). Designing Protests in Urban Public Space. http://www.metropolitiques.eu/Designing-Protests-in-Urban-Public.html

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save