โทษอาญาเฟ้อ: ภาพสะท้อนจารีตปกครองแบบไทยๆ
หลายท่านคงเคยได้ยินการดำเนินคดีอาญาหลายคดีที่มีความผิดไม่ร้ายแรง ทั้งคดีเช็คเด้งเนื่องจากผู้ผิดประสบปัญหาสภาพคล่องทางการเงินกะทันหัน คดีหมิ่นประมาทที่ผู้ผิดอาจทำไปด้วยโทสะชั่วคราว คดีบุกรุกป่าไม้ที่ชาวบ้านต้องโทษจำคุกเพียงเพราะยืนยันสิทธิว่าตนเองอยู่มาก่อนการประกาศพื้นที่ป่า รวมทั้งอาจเคยได้ยินกฎระเบียบบางข้อที่คนทั่วไปอาจทำผิดได้เพราะไม่คิดว่ามีกฎหมายแบบนี้ เช่น การแต่งกายชุดนักศึกษาโดยไม่มีสถานะนักศึกษา พวกเขาไม่ได้มีลักษณะเป็นอาชญากร แต่อาจต้องรับโทษจำคุกและมีประวัติอาชญากรติดตัว ความผิดอาญาเหล่านี้เป็นตัวอย่างของการใช้โทษทางอาญามากและรุนแรงเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความหนักเบาของความผิด หรือที่เรียกว่า ‘โทษอาญาเฟ้อ’ ซึ่งเป็นปัญหาที่ตระหนักกันดีในหมู่ผู้ทำงานและผู้กำหนดนโยบายในระบบยุติธรรมอาญาไทย และที่ผ่านมาได้มีการเสนอมาตรการต่างๆ ที่ช่วยลดการใช้โทษอาญาเฟ้อ แต่ยังไม่ค่อยประสบความสำเร็จ บางมาตรการมีการเสนอและถกเถียงกันมายาวนานกว่า 40 ปี แต่ยังไม่นำไปสู่การปฏิบัติจริง บางมาตรการเริ่มมีการใช้จริงแล้วแต่ก็มีข้อจำกัดพอสมควร ทำให้ไม่สามารถลดปัญหาอาญาเฟ้อได้ โทษอาญาเฟ้อมีสภาพและแนวโน้มเป็นอย่างไร? ทำไมการปฏิรูปลดโทษอาญาเฟ้อถึงยังไม่ค่อยมีความคืบหน้า? สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ 101 PUB – 101 Public Policy Think Tank สำรวจสภาพปัญหาโทษอาญาเฟ้อ และวิเคราะห์หาเหตุปัจจัยที่ขัดขวางการลดโทษอาญาเฟ้อเพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ปัญหาโทษอาญาเฟ้อรุนแรงมากขึ้นสวนกระแสการปฏิรูปลดโทษอาญา ปัญหาโทษอาญาเฟ้อ หมายถึงการใช้โทษอาญามากเกินไป ไม่ได้สัดส่วนกับความหนักเบาของความผิด ทำให้เกิดผลร้ายกับผู้ทำผิดมากเกินไป ซึ่งเป็นปัญหาของระบบยุติธรรมไทยที่รับรู้กันมานาน โดยใน พ.ศ. 2540 มีกฎหมายที่มีโทษอาญาบังคับใช้อยู่ 302 ฉบับ และตั้งแต่ พ.ศ. 2540 เป็นต้นมาได้เกิดกระแสการปฏิรูประบบยุติธรรมอาญาที่พยายามจะลดปัญหาโทษอาญาเฟ้อ แต่ในช่วง […]
