fbpx
ครีมอาบน้ำ เสื้อผ้า ล้อรถ กับขยะพลาสติกที่มองไม่เห็น

หวานปนเศร้า? : นักวิจัยพบความเชื่อมโยงใหม่ ระหว่างการกินหวานกับอาการซึมเศร้า

ในสังคมสมัยใหม่ที่ ‘โรคซึมเศร้า’ กลายเป็นโรคใกล้ตัวที่เราหรือคนรอบข้างอาจเผชิญอยู่โดยไม่รู้ตัว ผู้คนเริ่มหันมาสนใจที่มาที่ไปของโรคนี้มากขึ้น มีการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจจากผู้เชี่ยวชาญในแวดวงการแพทย์ ขณะเดียวกันก็มีการศึกษาวิจัยใหม่ๆ ออกมาไม่ขาดสาย

 

อย่างที่เรารู้กันว่าบ่อเกิดของโรคซึมเศร้านั้นมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน แต่ใครจะไปคิดเล่าว่า การกินของหวานในระดับที่เกินปกติ ก็อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่นำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ด้วย!

ล่าสุด นักวิจัยพบหลักฐานใหม่ว่าการกินน้ำตาลในระดับที่เกินควร นอกจากจะเป็นบ่อเกิดของโรคต่างๆ มากมาย ตั้งแต่โรคอ้วน ความดัน เบาหวาน ฯลฯ แล้ว มันอาจมีผลต่อภาวะหดหู่ซึมเศร้าด้วย

เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทีมผู้วิจัยจาก University College London ได้เผยแพร่ผลการศึกษาชิ้นใหม่ หลังจากเฝ้าติดตาม ‘พฤติกรรมการกิน’ ของกลุ่มตัวอย่าง 8,000 คน ต่อเนื่องเป็นเวลา 22 ปี พบว่าผู้ชายที่กินน้ำตาลในปริมาณตั้งแต่ 67 กรัมต่อวันขึ้นไป (ระดับมาตรฐานคือ 36 กรัมต่อวัน) มีแนวโน้มที่จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากกว่าคนที่กินน้ำตาลในระดับปกติ

การศึกษาที่ว่านี้ ต่อยอดมาจากการศึกษาที่ชื่อว่า Whitehall Study II ในปี 1985 ที่ทำการสำรวจปัญหาด้านสุขภาพและภาวะตึงเครียดของผู้ใช้แรงงานอายุ 35-55 ปีในกรุงลอนดอน โดยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบสำรวจเกี่ยวกับสุขภาพทุกๆ 2-3 ปี เก็บรายละเอียดตั้งแต่ประวัติโรคภัยไข้เจ็บ ภาวะตึงเครียด นอนไม่หลับ พฤติกรรมการกิน ไปจนถึงระดับน้ำตาลที่กินในแต่ละวัน

หลังจากเก็บข้อมูลครบ 5 ปี ทีมวิจัยพบว่ากลุ่มตัวอย่างที่กินน้ำตาลในระดับที่เกินมาตรฐาน ตรวจพบอาการซึมเศร้า มากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่กินน้ำตาลในระดับปกติ ทั้งนี้ ความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นปรากฏในเฉพาะกลุ่มตัวอย่างผู้ชายเท่านั้น ส่วนกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิงกลับไม่พบความเชื่อมโยงที่เด่นชัด

Anika Knuppel หัวหน้าทีมวิจัย ให้ความเห็นว่าการศึกษาครั้งนี้ยังพิสูจน์สมมุติฐานดังกล่าวได้ไม่เต็มร้อย เนื่องจากการให้กลุ่มตัวอย่างกรอกแบบสอบถามด้วยตัวเอง อาจส่งผลต่อ ‘ความเที่ยงตรง’ ของข้อมูลได้ ขณะที่สัดส่วนของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้หญิง นับเป็นแค่ 1 ใน 3 ของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งอาจไม่ครอบคลุมมากพอที่จะชี้ชัดได้ว่า การกินน้ำตาลในกลุ่มผู้หญิงจะไม่มีผลต่อภาวะซึมเศร้า

อย่างไรก็ดี งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ที่ทำการทดลองเรื่องนี้กับหนู แสดงให้เห็นว่าการได้รับน้ำตาลในปริมาณที่เกินขนาด จะทำให้การผลิตโปรตีนที่ชื่อว่า BDNF ในสมองลดลง ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการควบคุมระดับความเครียด และนำไปสู่ภาวะอารมณ์แปรปรวนขั้นรุนแรงได้

นอกจากการศึกษาที่ว่ามา ยังมีงานวิจัยจากฝั่งอเมริกาที่บอกว่าการกินหวานกับโรคซึมเศร้านั้นมีความเกี่ยวข้องกัน คือการศึกษาของ James Gangwisch นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาโคลัมเบีย ที่ตั้งสมมุติฐานว่า อาหารจำพวกแป้งที่มีค่าดัชนีน้ำตาลสูง (Glycamix Index) ซึ่งร่างกายดูดซับได้เร็วกว่าปกตินั้น จะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายเกิดภาวะตึงเครียด และการเผชิญภาวะนี้อย่างต่อเนื่องก็อาจนำไปสู่การเป็นโรคซึมเศร้าได้ ดังนั้นคนที่เลือกกินอาหารที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำ ย่อมมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าที่น้อยกว่า โดยทีมวิจัยได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ที่มีความเสี่ยงต่อภาวะดังกล่าวคือกลุ่มคนสูงวัย โดยเฉพาะผู้หญิงวัยทองที่หมดประจำเดือนแล้ว

นอกจากนี้ ยังมีเกร็ดข้อมูลที่น่าสนใจด้วยว่า จากเดิมที่เรามักเข้าใจว่าผู้หญิงบริโภคน้ำตาลมากกว่าผู้ชาย แต่ผลวิจัยกลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม โดยพบว่าพฤติกรรมการกินของผู้ชายโดยเฉลี่ยนั้น มักเป็นอาหารที่มีส่วนประกอบของน้ำตาลมากกว่า โดยเฉพาะอาหารจำพวกแป้ง

แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีการทดลองที่สามารถพิสูจน์ความเชื่อมโยงนี้ได้อย่างเป็นทางการ แต่การศึกษาต่างๆ ที่ว่ามานั้น ก็เพียงพอที่จะทำให้หลายๆ หน่วยงาน หันมาให้ความสำคัญกับการควบคุมระดับน้ำตาลในอาหารแต่ละชนิดมากขึ้น เพราะนอกจากมันจะเป็นบ่อเกิดของสารพัดโรค (ทางกาย) มันยังอาจส่งผลต่อสภาวะทางจิตใจของเราด้วยเช่นกัน ล่าสุดองค์กรด้านอาหารและยา ของสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดให้ผู้ผลิตอาหารระบุปริมาณน้ำตาลลงไปในฉลากด้วย

 

ส่วนจุดที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ควรระมัดระวัง ก็คือการเอาใจใส่กับอาหารการกินมากขึ้น และต้องไม่ลืมว่าระดับน้ำตาลที่กล่าวถึงในที่นี้ ไม่ได้หมายถึง ‘ของหวาน’ อย่างเดียวเท่านั้น แต่หมายถึงอาหาร ‘จำพวกแป้ง’ ที่จะย่อยสลายเป็นน้ำตาลด้วย

 

อ่านเพิ่มเติม

– บทความเรื่อง Scientists just found another worrying link between sugar and depression โดย Katherine Ellen Foley จาก Quartz

– บทความเรื่อง Sugar 101 จาก American Heart Association

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save