fbpx

เสียงของนอร์ดิค

ผมจำที่จะต้องเริ่มต้นเล่าด้วยความกระมิดกระเมี้ยนว่า ในยุคที่ผมเติบโตขึ้นทางหูช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 เริ่มฟังดนตรีหลากหลายขึ้น กรุงเทพฯ ในเวลานั้นมีไม่กี่ช่องทางที่จะได้ยินดนตรีสากลใหม่ๆ หรืออย่างน้อยๆ ก็ดนตรีที่กำลังขึ้นมาเป็นที่นิยมในชาร์ตบิลบอร์ด หนึ่งในหนทางแรกๆ ก็จะต้องเป็นวิทยุที่เล่นเพลงสากล และจะจำเพลงใหม่ๆ ที่ติดหูได้

ช่วงวันหยุด ผมจะนั่งรถเมล์ไปสยามเซ็นเตอร์ เพื่อขึ้นบันไดเลื่อนไปที่ร้านทาวเวอร์ เรคคอร์ดส์ชั้นบนสุด ในร้านเขาจะมีเครื่องให้ฟังเพลงใหม่ๆ มันจะเป็นคล้ายๆ สถานีที่มีหูฟัง แขวนไว้ให้ลูกค้าทดลองฟังดูก่อน หากชอบใจก็ซื้อกันตามอัธยาศัย

ด้วยความที่ปกติแล้วผมจะมีเงินเก็บไม่พอซื้อในร้านทาวเวอร์ เรคคอร์ด (Tower Records) ผมก็จะเดินไปเดินมาอยู่ในนั้นหลายชั่วโมง ฟังเพลงเขาฟรีๆ และจะจำเอาชื่อศิลปินและชื่อเพลง เก็บเป็นเพลย์ลิสต์ในใจ จากนั้นก็นั่งรถเมล์มุ่งไปยังพันธุ์ทิพย์ ไปที่ร้านเจ.ยู.ที่เคยอยู่ตรงชั้นสองหรือชั้นสามของพันธุ์ทิพย์ พลาซ่า (ตรงข้ามกับร้านสตาร์ซอคเกอร์) ดูว่ามีซีดีหรือเทปอะไรที่ผมจะพอเก็บได้ไหม แต่ถ้าขัดสนเข้าจริงๆ ก็จะเดินเพ่นพ่านดูแผ่น MP3 ทั่วห้างว่าดนตรีสากลใหม่ๆ มาหรือยัง หากช่วงไหนขัดสนหนักเข้าไปอีก แต่อดรนทนไม่ไหว ก็จะนั่งรถเมล์ไปแถวสะพานเหล็ก ซึ่งจะมีร้านขายเทป ขายซีดีดนตรีสากลใหม่ๆ เสียงใหม่ๆ

ในช่วงขวบปีนั้น ดนตรีสากลใหม่ๆ จะปรากฏบนหน้าจอโทรทัศน์ด้วย แต่ด้วยที่บ้านผมไม่ได้ติดกล่องดาวเทียมใดๆ โอกาสที่จะได้ดูช่องอย่าง Channel V หรือ MTV นั้นก็จะเป็นโทรทัศน์ในห้องนั่งเล่นรวมของโรงเรียน

ช่วงเวลาแบบนั้น จะมีมิวสิควีดิโอที่ติดอยู่ในความทรงจำของผม และคนในรุ่นผมอย่างแกะไม่ออก อย่างเช่นมิวสิคฯ ของเพลง …Baby One More Time (1998) ของบริตนีย์ สเปียส์ อย่างเพลง I Want It That Way (1999) ของ Backstreet Boys หรือเพลง It’s Gonna Be Me (2000) ของ NSYNC เป็นต้น

ผมไม่ทราบจะหาตัวผู้รับผิดชอบได้อย่างไร

บทบาทของคนนอร์ดิคต่ออุตสาหกรรมดนตรี

อีกหลายปีต่อมา อันที่จริงแล้วก็ไม่กี่ปีมานี้เอง ที่ผมเพิ่งจะได้ตัวผู้รับผิดชอบครับ

เพิ่งรู้ว่า ผู้แต่งและอำนวยเพลงดังติดชาร์ตหลายต่อหลายเพลง เป็นเพลงที่มิวสิควีดิโอติดอยู่ในความทรงจำของผมอย่างแกะไม่ออกนี้ เป็นชาวสแกนดิเนเวีย โดยเฉพาะ แมกซ์ มาร์ติน (Max Martin, 1971-ปัจจุบัน) และ อันเดรียส คาร์ลสัน (Andreas Carlsson, 1973-ปัจจุบัน) ซึ่งก้าวขึ้นมาเป็นแถวหน้าของอุตสาหกรรมดนตรีป็อปในช่วงเวลานั้น แมกซ์ มาร์ตินนี่ถือว่าเป็นเจ้าพ่อของวงการเลย ท่านผู้อ่านรุ่นน้องๆ ลองค้นเพลงที่เขาแต่งดูก็จะรู้ และรู้ว่าเพลงที่โด่งดังในยุคของท่านและยุคของผม มีคนแต่งคนเดียวกัน ตั้งแต่ เคธี เพอร์รี (Katy Perry), วง Maroon 5 ไปถึง เทย์เลอร์ สวิฟต์ (Taylor Swift)

แมกซ์ มาร์ติน เจ้าพ่อวงการเพลงป๊อปที่เราไม่ค่อยเห็นหน้าเขา (ที่มาภาพ)

และเป็นช่วงเวลาเดียวกัน ที่ผมได้ยินชื่อของ ลุดวิค เยอร์รันสัน (Ludwig Göransson, 1984-ปัจจุบัน) เพราะสนุกสานและตื่นหูไปกับเพลงประกอบภาพยนตร์เรื่อง Black Panther (2018) และทำให้เขาได้รับรางวัลออสการ์ในปีนั้น และเริ่มจะไม่ประหลาดใจเมื่อชื่อของเยอร์รันสันปรากฏเป็นผู้แต่งเพลงประกอบภาพยนตร์อย่าง Tenet (2020) ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน (Christopher Nolan) และจะร่วมงานกันอีกใน Oppenheimer ซึ่งจะออกฉายกลางปีหน้า

รวมไปทั้งกระแสที่มากับซีรีส์ Chernobyl (2019) ที่โด่งดัง กวาดรางวัลเป็นว่าเล่น ผมก็ขนหูลุกไปกับการฟังดนตรีที่แต่งโดย ฮิลดูร์ กุดนาร์ดอตตีร์ (Hildur Guðnadóttir (1982-ปัจจุบัน) นักแต่งเพลงชาวไอซ์แลนด์ และก็เริ่มไม่ประหลาดใจอีกเช่นกัน เมื่อชื่อของกุดนาร์ดอตตีร์ไปปรากฏในฐานะผู้แต่งเพลงประกอบ Joker (2019) หนังรางวัลออสการ์

นี่จึงทำให้ผมสงสัยอยู่ครามครันว่า เหตุใดคนในอุตสาหกรรมดนตรีจากภูมิภาคเล็กๆ จึงมีบทบาท มีอิทธิพลในอุตสาหกรรมดนตรีขนาดยักษ์ได้ (โดยยังไม่ต้องนับว่า Spotify มาจากสวีเดน แบรนด์ Bang & Olufsen มาจากเดนมาร์ก หรือดนตรีของบยอร์ค กุดมุนส์ดอตตีร์ [Björk Guðmundsdóttir, 1965-ปัจจุบัน])​

หลากหลายแนวดนตรี

ไม่ใช่แค่แต่แนวเพลงป็อป ติดชาร์ตบิลบอร์ดเท่านั้น แต่นักแต่งเพลง นักอำนวยการเพลง นักดนตรีสแกนดิเนเวียเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมดนตรีแขนงอื่นๆ ด้วย

แนวที่สำคัญก็เช่นดนตรีคลาสสิก ผมเพิ่งทราบอีกเหมือนกันว่า ตัวอย่างเช่น ในปี 2021 มีวาทยากรอาชีพจากฟินแลนด์ เดนมาร์ก หรือสวีเดนรับตำแหน่งมีเงินเดือนอยู่ในวงดุริยางค์ซิมโฟนีจำนวนหกวง จากทั้งหมด 16 วงที่อยู่ในประเทศอังกฤษทั้งหมด ซึ่งรวมๆ กันแล้วมากกว่าวาทยากรจากเยอรมนี หรืออิตาลีรวมกันเสียอีก  และนักดนตรีจากภูมิภาคนี้ก็ไปร่วมอยู่ในวงดุริยางค์ทั่วโลก

Finlandia Hall ออกแบบโดย Alvar Aalto ใช้แสดงงานคอนเสิร์ตด้วย (ที่มาภาพ)

เสียงนี้มีที่มา

ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ผมจะขอประกาศด้วยเสียงอันดังสักหน่อย และอย่างไม่กระมิดกระเมี้ยนว่า ไม่ใช่เรื่องความมีพรสวรรค์หรือความสร้างสรรค์ของคนจากภูมิภาคนี้แต่อย่างใด

การส่งออกบุคคลากรทางดนตรีเหล่านี้ มีที่มาจากระบบการศึกษาแบบรัฐสวัสดิการ รัฐบาลใช้เงินจำนวนมหาศาล ในการอุดหนุนการเล่าเรียนดนตรีของเด็กและเยาวชน มีโครงการอะไรต่ออะไรมากมายที่ทำให้เด็กที่สนใจจะศึกษาทางด้านดนตรี แม้จะมีไม่มีเงิน ก็สามารถต่อยอดได้ หรือถ้าไม่มีเงินพอซื้อเครื่องดนตรี ก็ยืมได้

ตัวอย่างรายงานจากการศึกษาสวีเดนปี 2004 ระบุว่า มีเด็กจำนวนร้อยละ 30 จากเด็กทั้งประเทศ ที่ไปเรียนดนตรีในโรงเรียนดนตรีหลังเลิกเรียน ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่สูงมากโดยเปรียบเทียบ

โรงเรียนดนตรี (และศิลปะ) เหล่านี้ต่างได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาล คนอย่างแมกซ์ มาร์ติน และอื่นๆ อีกหลายคน ก็เติบโตทางหูมาจากโอกาสที่ได้รับเหล่านี้ ที่รัฐบาลอุดหนุน จากเงินภาษีของประชาชนเอง

ห้องแสดง วิทยาลัยดุริยางศิลป์ สตอคโฮล์ม (Kungliga Musikhögskolan i Stockholm) (ที่มาภาพ)

หน่วยงานของรัฐเช่น สภาวัฒนธรรมสวีเดน (Kulturrådet) มีบทบาทสำคัญ ว่ากันตามตัวเลขแล้ว สภาฯ ในปี 2010 ให้ทุนสนับสนุนประมาณปีละ 1.65 ล้านดอลล่าร์ แก่วงดนตรีและนักดนตรี จากผู้สมัครขอทุน 250 ราย มีถึง 145 รายที่ได้เงินสนับสนุน ซึ่งเป็นอัตราที่สูงมาก ทั้งยังมีเงินสนับสนุนอื่นๆ อีกหลายหลายประเภทต่อทั้งสถาบันทางดนตรี และทุนวิจัยว่าด้วยเรื่องดนตรี

ส่วนสภาวัฒนธรรมนอร์เวย์ (Kulturrådet เช่นกัน) ยิ่งอัดฉีดเงินสูงขึ้นไปอีก เป็นรัฐบาลที่ให้เงินสนุบสนุนศิลปะมากที่สุดในภูมิภาค ในปี 2010 ใช้เงินทั้งหมดไป 21.4 ล้านดอลล่าร์

ทั้งหมดนี้ยังรวมถึงการสร้างสถาบันทางวัฒนธรรมและดนตรี ซึ่งถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการมีชีวิตที่ดี ที่รัฐบาลของทุกประเทศในนอร์ดิคให้ความสำคัญ

นี่เป็นที่มาของเสียงที่กระจายไปทั่วโลก ด้วยวางอยู่บนระบบทางสังคมที่ทำให้คนยังสามารถส่งเสียงได้บ้าง

ป.ล. ระหว่างนี้ผมขอแนะนำสักสามสี่อัลบัมนะครับ ลองไปเปิด Spotify ฟังกัน

Hildur Guðnadóttir, Saman (2014)

Mattias Alkberg, Häxor (2021)

Ane Brun, Rarities (2013)

Erki Pärnoja, Himmelbjerget EP (2015)

ตัวอย่างห้องเรียนดนตรี ในโรงเรียนประถมของนอร์เวย์ (ที่มาภาพ)

อ้างอิง

– Marc Hogan, “What’s the Matter With Sweden?” Pitchfork 29 March 2010 [https://pitchfork.com/features/article/7776-whats-the-matter-with-sweden/]

– Andrew Mellor, The Northern Silence (2022)

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save