fbpx

‘ประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยการด่า’: ว่าด้วย ‘การด่า’ ในมุมมองมานุษยวิทยา

เปิดเกณฑ์ใหม่ ฉีด วัคซีนไฟเซอร์ให้บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

“สธ. ปลดล็อก Rapid Antigen Test ประชาชนตรวจโควิด-19 ได้เองที่บ้าน”

นายกฯ สั่งยกเลิกข้อกำหนดตามมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ให้ กสทช.ระงับ IP ตัดบริการอินเทอร์เน็ตสื่อที่นำเสนอข่าวบิดเบือนสร้างความหวาดกลัว หลังศาลแพ่งสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามใช้ข้อกำหนดดังกล่าว

ผบ.ตร. ปรับยุทธวิธีสลายชุมนุม ไม่ให้เจ้าหน้าที่เข้าไปปฏิบัติการภายในที่พักอาศัย-ชุมชน

“กรมควบคุมโรคลงนามซื้อไฟเซอร์เพิ่มอีก 10 ล้านโดส รวม 30 ล้านโดส”

ฯลฯ

คงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่าตลอด 1 ปีที่ผ่านมา หลายพาดหัวข่าวที่สะท้อนภาพการกลับลำนโยบายของรัฐบาลหรือหน่วยงานรัฐดังที่ยกมาข้างต้น ส่วนหนึ่งเกิดจาก ‘พลังการด่า’ ของประชาชน ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบทท้องถนนอย่างเดียว แต่หลายครั้งเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่างทวิตเตอร์ แหล่งผลิต ‘เครื่องด่า’    

นโยบายแล้วนโยบายเล่าที่สร้างความโกรธและไม่พอใจต่อประสิทธิภาพในการบริหารและทางเลือกนโยบายของรัฐบาล จนชาวเน็ตต้องออกมาฉอดจนกว่ารัฐบาลจะยอมปรับนโยบาย ปรากฏการณ์การด่าเพื่อขับเคลื่อนประเทศโดยภาคประชาชน เพื่อประชาชน นำมาสู่การให้สมญานามล้อเลียนประชาชนกันเองขำๆ ผ่านกรอบรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊กอย่าง “นายเองก็เป็นได้นะ เครื่องจักรด่ารัฐบาลน่ะ” “เจ้าพนักงานกระทรวงการด่าเพื่อพัฒนาชาติ” หรือ “#ชมรมเครื่องด่าจิตอาสา”

“นายเองก็เป็นได้นะ เครื่องจักรด่ารัฐบาลน่ะ” หนึ่งในตัวอย่างกรอบรูปที่ชาวเน็ตตั้งประกอบรูปโปรไฟล์เฟซบุ๊ก

การด่าทำงานอย่างไรในสังคม ทำไมการด่ากลายเป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมได้? 101 ร่วมกับศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) ชวน นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) รศ.ดร.จักรกริช สังขมณี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อ.ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ ภาควิชาสื่อศิลปะ และการออกแบบสื่อ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ รศ.ดร.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 4 นักมานุษยวิทยามาถอดรหัสปรากฏการณ์การด่าเพื่อขับเคลื่อนประเทศผ่านมุมมองแบบนักมานุษยวิทยา

หมายเหตุ: ถอดความบางส่วนจากรายการ 101 (mid)night round: อนาคตมานุษยวิทยา-มานุษยวิทยาอนาคต

“การด่าคือความหวัง” – โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์

“การด่าคือความหวัง และเป็นยาขนานสำคัญที่สังคมไทยกำลังใช้กันอยู่”

เสียงก่นด่าวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจากมวลชน โดยเฉพาะในโลกออนไลน์ย่อมเต็มไปด้วยความโกรธและความไม่พอใจต่อการบริหารงานท่ามกลางสถานการณ์โรคระบาดและความชอบธรรมทางการเมือง แต่ในอีกมิติหนึ่ง นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ มองว่าความโกรธของประชาชนคือความหวังเช่นกัน เพราะการด่ามีพลังที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงได้

“ก่อนยุคโซเชียลมีเดีย เราไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่าถ้าไม่ได้ไปด่าที่หน้าทำเนียบแล้วรัฐบาลจะแก้ปัญหา”

ในมุมมองของ นพ.โกมาตร ปรากฏการณ์การด่าเพื่อขับเคลื่อนสังคมเกิดจากการประกอบรวมของหลากหลายเงื่อนไข ทั้งมนุษย์ เทคโนโลยี พื้นที่และเวลาที่ผสานรวมกัน ขยายขอบเขตของเวลาและความเป็นพื้นที่สาธารณะ (public sphere) และทำให้ความเป็นไปได้ในการชุมนุมประท้วงมีมากกว่าแค่บนท้องถนน

แน่นอนว่าในการขับเคลื่อนด้วยการด่า ‘คำด่า’ คืออีกเงื่อนไขหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ซึ่งหลายคำผ่านกระบวนการสร้าง ‘ภาษาที่เป็นสัญญะ’ (semiotic) ขึ้นมาใหม่ อย่างการเขียนถึงแค่ ‘น้าค่อม’ ชาวเน็ตก็รู้แล้วว่ากำลังด่าว่า ‘ไอ้สัส’ อยู่

นพ.โกมาตรอธิบายต่ออีกว่า โครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) หรือสิ่งรอบตัวที่ประกอบสร้างและส่งอิทธิพลต่อพฤติกรรมมนุษย์คืออีกสิ่งหนึ่งที่เปิดให้การขับเคลี่อนด้วยการด่าเป็นไปได้

“มีหลายอย่างที่เราทำได้ในปัจจุบันเพราะมีโครงสร้างบางอย่างที่รองรับอยู่ข้างล่าง”

ในโลกปัจจุบันที่มีโครงสร้างพื้นฐานใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ทั้งโครงสร้างพื้นฐานในโลกทางกายภาพและโครงสร้างดิจิทัลอย่างแพลตฟอร์มออนไลน์ สภาวะเช่นนี้ตามมาด้วยการรวมกลุ่มและความสัมพันธ์ทางสังคม (sociality) รูปแบบใหม่ขึ้นมามากมายที่ไม่ได้เกิดจากการผลิตซ้ำในความสัมพันธ์ทางสังคมสำเร็จรูปอย่างชุมชน เครือญาติ โรงเรียน หรือองค์กร

ทั้งหมดคือกลไกที่ทำงานอยู่เบื้องหลังการขับเคลื่อนด้วยการด่าในสายตาของ นพ.โกมาตร

“การขับเคลื่อนประเทศด้วยการด่าเป็นไปได้และเป็นสิ่งที่น่ากลัว ไม่ใช่เพราะคำด่า แต่เพราะการประกอบรวมของหลายสรรพสิ่งบนโครงสร้างพื้นฐานที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ และสิ่งเหล่านี้เปิดให้คนพูดในสิ่งที่เมื่อ 30 กว่าปีก่อนไม่มีใครกล้าพูด” นพ.โกมาตรกล่าว

“การด่าคือสรรพาวุธของผู้ไร้อำนาจ” – จักรกริช สังขมณี

ในขณะที่ จักรกริช สังขมณี มองว่า ‘การด่า’ คือสรรพาวุธที่ผู้อ่อนแอหรือผู้ไร้อำนาจใช้ต่อรองกับผู้มีอำนาจแบบหนึ่ง โดยอิงจากหนังสือ Weapons of the Weak ของเจมส์ ซี. สก็อตต์ ซึ่งศึกษาการต่อต้านผู้มีอำนาจของชาวไร่ในชนบทของมาเลเซีย “วิถีทางเดียวที่คนตัวเล็กตัวน้อยจะต่อรองอำนาจได้คือการติฉินนินทา การอู้งาน หรือทำอะไรบางอย่างลับหลัง”  

อย่างไรก็ตาม การด่าในยุคดิจิทัลทรงพลังในการต่อรองต่ออำนาจมากยิ่งขึ้น

“ในยุคสมัยที่มีเทคโนโลยี มีการเชื่อมต่อและข้อมูลข่าวสารที่ไหลเวียนอยู่มากมาย การด่าออกไปลอยๆ ไม่ใช่เพียงแค่ด่าออกไปลอยๆ เท่านั้น เพราะคำด่าจะแพร่กระจายไปในโลกอินเทอร์เน็ตผสมรวมกับคำด่าของคนอื่นๆ เกิดเป็นอารมณ์ร่วม ทำให้คนที่ไม่กล้าด่าออกมาร่วมด่า เกิดเป็น echo chamber ขึ้นมา ผสมกับการแปลงคำด่าหรือหลักฐานให้เป็นเรื่องล้อเลียนตลกขบขัน”

“พอการด่ากลายเป็นกระบวนการสาธารณะที่มีพลังทำให้รัฐบาลต้องปรับเปลี่ยนท่าทีหรือนโยบายที่ออกมา คนในสังคมก็เริ่มตระหนักว่าการด่าคือเทคโนโลยีทางอำนาจอย่างหนึ่งที่มีพลังในการเปลี่ยนแปลงสังคมได้แม้การด่าจะเกิดขึ้นเพียงชั่วครู่ก็ตาม”

“การด่าคือความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ด่ากับผู้ที่ถูกด่า” – ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ

“การด่าไม่ใช่เพียงแค่อาวุธในการต่อกร แต่มันยังเปิดให้เห็นความสัมพันธ์เชิงอำนาจในการด่าด้วย”

เมื่อมองนัยยะของการใช้คำดำเป็นอาวุธให้ลึกลงไป ศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ อธิบายว่า การด่ามักมาพร้อมกับการแสดงออกที่ว่าด้วยความเกลียดชัง แต่ที่จริงแล้วกลับไม่ใช่เช่นนั้นเสมอไป

“หากคนด่าเป็นผู้ที่ด้อยอำนาจกว่า นั่นคืออาวุธในการเสียดสี โจมตี หรือแสดงตัวตน แต่หากคนด่าเป็นผู้มีอำนาจ นั่นคือการด้อยค่าความเป็นมนุษย์” เพราะฉะนั้น ศรยุทธจึงมองว่าการด่ามีพลวัตของความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างผู้ด่าและผู้ที่ถูกด่าเช่นกัน

จากการด่าขับเคลื่อนประเทศ สู่การสร้างสรรค์สังคม – เก่งกิจ กิติเรียงลาภ

“การด่าคือการระบายออกทางการเมืองอย่างหนึ่ง แต่อีกมิติหนึ่งของความเป็นมนุษย์ที่สำคัญไม่แพ้กันคือการสร้างสังคมขึ้นมาใหม่ด้วย” เก่งกิจ กิจิเรียงลาภ เปิดให้เห็นความเป็นไปได้อีกมิติหนึ่งในการขับเคลื่อนสังคมของประชาชน

นอกจากปรากฏการณ์ด่าเพื่อขับเคลื่อนประเทศ อีกปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นคู่ขนานไปพร้อมกันคือการ ‘ด่าไปลงมือทำไป’ อย่างที่ประชาชน ‘กลุ่มคนดูแลกันเอง’ เห็นความทุกข์ยากของเพื่อนมนุษย์ร่วมสังคมจากการที่ไม่สามารถเข้าถึงความช่วยเหลือจากรัฐอย่างมีประสิทธิภาพและรวมตัวกันระดมทรัพยากรช่วยเหลือกันเอง จนดูเหมือนว่ารัฐแทบจะไม่มีความหมายในการดำรงอยู่อีกต่อไป

ในมุมมองของเก่งกิจ ไม่เพียงแค่การ ‘ด่าไปลงมือทำไป’ ของกลุ่มคนดูแลกันเองจะเปิดให้เห็นความเป็นไปได้ของสังคมไร้รัฐเท่านั้น แต่อีกมิติหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘ความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์’ ที่นำไปสู่การสร้างสังคมใหม่ได้

“ในสภาวะที่มนุษย์ต้องเผชิญความเป็นอื่น ความไม่ลงรอย ความขัดแย้ง หรือวิกฤตการณ์ มนุษย์มีศักยภาพที่จะสร้างสรรค์ ออกแบบ หรือแก้ปัญหาต่อสิ่งที่ตัวเองกำลังเผชิญอยู่ ซึ่งความคิดสร้างสรรค์ในที่นี้ไม่ใช่เพียงแค่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์จะต้องมีร่วมกัน”

“ทั้งหมดทั้งมวล เราต้องอาศัยจินตนาการว่าเราจะสร้างเครื่องมือแบบไหนหรือจะออกแบบและสร้างสรรค์ความสัมพันธ์ทางสังคมอย่างไรที่จะทำให้มนุษย์สามารถใช้ชีวิตได้ หรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขที่เป็นอยู่ในปัจจุบันได้”


ผลงานชิ้นนี้เป็นความร่วมมือระหว่างศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) และ The101.world

MOST READ

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

Politics

16 Dec 2021

สิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับและถูกควบคุมตัว (ตอนที่ 1) : เหตุใดจึงต้องพบศาล และต้องพบศาลเมื่อใด

ปกป้อง ศรีสนิท อธิบายถึงวิธีคิดของสิทธิที่จะพบศาลภายหลังถูกจับกุมและควบคุมตัว และบทบาทของศาลในการพิทักษ์เสรีภาพปัจเจกชน

ปกป้อง ศรีสนิท

16 Dec 2021

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save