fbpx

วาระใหม่ประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 กับ สุวิทย์ เมษินทรีย์

จากความร้อนแรงของการเมืองโลกและไทย วิกฤตเศรษฐกิจ มาถึงโควิด-19 อาจกล่าวได้ว่าสังคมไทยกำลังเผชิญกับโจทย์ยากและท้าทายมากที่สุดครั้งหนึ่ง นอกจากปัญหาเฉพาะหน้าที่มีมากจนน่าหวั่นใจแล้ว วิกฤตยังเผยให้เห็นปัญหาเรื้อรังหลายด้านที่มีมาก่อนหน้าและยังไม่ได้รับการแก้ไข ด้วยความซับซ้อนของวิกฤตเช่นนี้จึงคล้ายเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า ประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

แต่เรื่องยากดังกล่าวก็เป็นโจทย์สำคัญที่จะตัดสินอนาคตของประเทศไทย และจำเป็นต้องตั้งหลักคิดกันตั้งแต่วันนี้ ในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อที่เราเริ่มเห็นบางประเทศกลับมาลืมตาอ้าปาก อัดฉีดนโยบายฟื้นฟูประเทศ และเข้าใกล้เส้นชัยผลัดเปลี่ยนสู่โลกหลังโรคระบาด คำถามสำคัญคือโจทย์ใหญ่ที่เราต้องทบทวนสะสางคืออะไร และเราจะเดินเกมอนาคตอย่างไร

101 ชวนสำรวจวาระประเทศไทยกับ ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม เพื่อตั้งโจทย์ใหม่ของประเทศไทยในโลกที่กำลังผันผวน


คุณพ้นตำแหน่งทางการเมืองประมาณหนึ่งปีแล้ว เปรียบเทียบกันระหว่างช่วงที่มีตำแหน่งอยู่กับปัจจุบัน คุณมองเห็นสถานการณ์บ้านเมืองอย่างไรบ้าง เรื่องไหนที่มีแนวโน้มไม่ค่อยดี เรื่องไหนที่ยังน่ากังวลหรือเป็นห่วงอยู่บ้าง

เรื่องที่น่ากังวลคงเป็นการระบาดของโควิด-19 ระลอกสี่ที่กำลังเผชิญอยู่ ก็มีสะดุดไปบ้างในการสื่อสารกับประชาชนและการสร้างความมั่นใจให้ประชาชนในเรื่องวัคซีน ซึ่งผมเชื่อว่าวัคซีนจะเป็นหนึ่งในคำตอบที่ทำให้สภาวะเศรษฐกิจสังคมของเรากลับสู่สภาพเดิม

เป็นเรื่องปกติที่จะเกิดวิกฤตเชิงซ้อนขึ้น วิกฤตโควิดนำมาสู่วิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งตอนนี้ก็ถือว่ารัฐบาลเองพยายามจะทำให้ทุเลาลงให้มากที่สุด พร้อมกันนั้น เราก็มีวิกฤตทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะฉะนั้นช่วงเวลานี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่ท้าทายของประเทศไทย ในขณะที่โลกเผชิญกับโควิด-19 เหมือนกับเรา หลายๆ ประเทศเริ่มฟื้นตัว แต่เรายังเผชิญกับวิกฤตเชิงซ้อนอยู่ ก็ให้กำลังใจทุกภาคส่วนที่กำลังทำงานอย่างหนักครับในตอนนี้


การแก้ปัญหาและรับมือกับวิกฤตเชิงซ้อนเช่นนี้ ควรตั้งต้นจากตรงไหนก่อน

ข้อที่หนึ่ง ภายใต้วิกฤต การเมืองต้องนิ่ง สิ่งสำคัญที่สุดคือความเป็นผู้นำและการสร้างความเชื่อมั่น ต่อให้วิกฤตจะเป็นอย่างไรก็ตาม ต้องทำให้ประชาชนมั่นใจว่ารัฐจะสามารถนำพาฝ่าฟันวิกฤตไปได้

ข้อที่สอง เรารับมือและบริหารจัดการวิกฤตอย่างไร ช่วงการระบาดของโควิดระลอกแรกเราทำงานได้ค่อนข้างดี แต่รอบนี้อาจต้องนั่งลุ้นว่าในช่วงที่โควิดกลายพันธุ์และวัคซีนยังมาไม่ถึง เราจะบริหารจัดการวิกฤตในระยะสั้นและกลางอย่างไร โดยพิจารณาควบคู่ไปกับเรื่องเศรษฐกิจซึ่งกำลังหนักหน่วงมาก

นอกจากการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าและปัญหาเร่งด่วนซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องคิดว่าหลังโควิดเราจะเดินหน้าประเทศต่อไปอย่างไร เช่น เรารู้ว่าเศรษฐกิจของเราผูกอยู่กับโควิดไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นภาคบริการหรือการท่องเที่ยว ในระยะยาวหลังโควิดจะทำอย่างไร เราต้องคิดข้ามไปอีกหนึ่งช็อต

ผมเคยพูดอยู่เสมอว่าเราอยู่ในโลกที่ ‘One world One destiny’ หรือหนึ่งโลกหนึ่งชะตากรรมร่วม สุขก็สุขด้วยกัน ทุกข์ก็ทุกข์ด้วยกัน จากนี้ไป ผมถือว่าวิกฤตจะกลายเป็น new normal จบโควิดก็อาจมีวิกฤต climate change และวิกฤตอื่นๆ อีกมากมาย เราจะช่วยกันรับมืออย่างไร 


เข้าปีที่สองแล้วที่เราอยู่กับปัญหาเฉพาะหน้าอย่างโควิด-19 ถือว่าประเทศไทยสามารถรับมือสถานการณ์โควิดได้น่าพอใจหรือยัง อะไรเป็นประเด็นสำคัญที่ประเทศไทยควรจะให้ความสำคัญหรือควรเร่งแก้ไข

ในช่วงหลัง การสื่อสารกับประชาชนแบบเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาทำให้เกิดความไม่มั่นใจ ถือเป็นประเด็นที่ท้าทายผู้นำอย่างมากว่าจะสื่อสารแล้วสร้างความเชื่อมั่นในเรื่องต่างๆ ได้อย่างไร อย่างก่อนหน้านี้เห็นนายกฯ ประกาศนับถอยหลังเปิดประเทศ แต่มันจะเป็นไปได้จริงก็ต่อเมื่อเรามีวัคซีนพร้อมทั้งในแง่ปริมาณและคุณภาพ รวมทั้งการกระจายวัคซีนอย่างมีประสิทธิภาพ

สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือ หนึ่ง ต้องส่งสัญญาณเรื่องวัคซีนว่าได้มาจริงหรือเปล่า ทั้งวัคซีนทางเลือกและวัคซีนหลัก เอาให้ชัดเจน สอง การจัดการกระจายวัคซีน ถ้าเราสามารถป้องกันการระบาดได้มากกว่านี้ ก็จะส่งผลทางบวกกับเศรษฐกิจ การสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่ได้ฉีด ผมว่าก็เป็นสิ่งที่รัฐบาลกำลังทำอยู่ แม้ว่าจะมีตัวกวนสัญญาณถูกๆ ผิดๆ อยู่บ้างก็ตาม


คุณบอกว่าในขณะที่รับมือปัญหาระยะสั้น ก็ต้องมองหาวิธีรับมือกับการเปลี่ยนแปลงระยะยาวด้วย หลังจากวิกฤตโควิดผ่านไปแล้ว ประเทศไทยจะมีโจทย์สำคัญอะไรรออยู่บ้าง

คำถามนี่สำคัญมาก เพราะจริงๆ ประเทศไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้างมาตั้งแต่ก่อนโควิด เพียงแต่พอน้ำลดตอผุด โควิดทำให้เกิดความหนักหน่วงมากขึ้น สำหรับผมแล้ว ประเทศไทยกำลังเจอกับดัก 4 อย่างที่สำคัญ เป็นกับดักที่เรื้อรัง ไม่ได้รับการแก้ไขหรือปฏิรูปเชิงโครงสร้างอย่างแท้จริง

กับดักแรกคือกับดักความเหลื่อมล้ำ ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำสูงมาก เป็นความเหลื่อมล้ำที่ผสมผสานกับความเป็นอภิสิทธิ์ชนและการคอร์รัปชัน เลยกลายเป็นวิกฤตเชิงซ้อนที่แก้ยากมาก กับดักนี้จะต้องใช้เจตจำนงทางการเมือง (political will) ใช้ความมุ่งมั่นตั้งใจของผู้นำอย่างแท้จริงในการแก้

กับดักที่สองคือปัญหาทางการเมือง ซึ่งผมขอเรียกว่า ‘กับดัก 3 ป.’ คือ ‘ปฏิวัติ’ ‘ประชาธิปไตยเทียม’ และ ‘ประท้วง’ เรากำลังเจอกับวงจรอุบาทว์ของการปฏิวัติรัฐประหาร หลังการปฏิวัติก็เกิดประชาธิปไตยที่เป็นประชาธิปไตยเทียม (pseudo democracy) นำมาสู่การประท้วงต่อต้าน และเมื่อมีการประท้วงต่อต้านก็จะเกิดการปฏิวัติขึ้นมาอีก เป็นวงจรอุบาทว์ 3 ป. ที่ไม่รู้จบ

กับดักที่สามคือกับดักเชิงซ้อนของทุนมนุษย์ ประเทศไทยมีคุณภาพคนค่อนข้างต่ำ แถมเรายังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่คนวัยอื่นที่จะมาช่วยเหลือเกื้อหนุนผู้สูงอายุก็มีคุณภาพที่ต่ำลง ตรงนี้น่ากลัวนะครับ เป็นกับดักสองเด้ง เปรียบเทียบกับบางประเทศ เขาอาจเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่คุณภาพคนเขาดี โครงสร้างพื้นฐานเขาดี เขาก็อยู่ได้

กับดักที่สี่คือกับดักการเป็นประเทศรายได้ปานกลาง (middle-income trap) เป็นกับดักที่หลายคนพูดกันมานาน คือเรารวยกว่านี้ไม่ได้แล้ว แถมเรายังรวยแบบกระจุก ไม่ได้รวยกระจาย กับดักนี้เป็นประเด็นเชิงโครงสร้างที่มีมาก่อนโควิด ผมจึงเรียนว่าเราต้องไม่มัวงมอยู่แต่กับเรื่องโควิด เราต้องมองข้างหน้า ถ้าเราไม่แก้ไขอย่างจริงจัง หลังโควิดเราจะตามประเทศอื่นไม่ทัน เพราะวิกฤตประเทศอื่นเริ่มคลี่คลายแล้ว และเขาไม่ได้มีปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรังแบบเรา


อะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้

ความไม่จริงจังครับ เราไปปฏิรูปเรื่องต่างๆ ทีละ 10-20 เรื่อง และเป็นการปฏิรูปในเชิง functional reform หรือการปฏิรูปทีละเรื่องเล็กๆ แทนที่จะมองการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง การปฏิรูปที่แท้จริงต้องใช้เจตจำนงทางการเมือง (political will) และต้องจำไว้เลยว่าการปฏิรูปนั้น no pain, no gain ไม่เจ็บปวด ก็ไม่มีทางได้ เพราะฉะนั้นถึงเวลาที่สังคมไทยต้องผ่าตัดอย่างเอาจริงเอาจัง

ประเทศต่างๆ ที่เขาปฏิรูปได้อย่างต่อเนื่อง เช่น จีน สิงคโปร์ ทำไปถึงระดับหนึ่งเขาก็ทะยานขึ้นมา แต่ประเทศเราไม่ประสบความสำเร็จในการทำให้เกิดการปฏิรูป ที่ผ่านมามีทั้งแรงต้านและแรงเฉื่อย คนที่ได้ประโยชน์รู้สึกว่าไม่เห็นจำเป็นต้องปฏิรูป แต่ยังมีคนที่เดือดร้อนและคนที่ไม่รู้แม้กระทั่งว่าจริงๆ ต้องมีการปฏิรูปอยู่ เพราะฉะนั้นประเทศไทยต้องสร้างสปิริต ต้องทำให้ประชาชนรู้สึกว่าไม่ปฏิรูปไม่ได้ เขาต้องลุกขึ้นมาส่งเสียงว่าต้องการอะไร ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไร และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ใช่เพื่อตัวเองเพียงอย่างเดียวด้วย

การปฏิรูปที่แท้จริงทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม แต่การปฏิรูปที่ผ่านมาเป็นการปฏิรูปที่ขีดๆ เขียนๆ โดยคนไม่กี่คน ประชาชนแทบไม่มีส่วนร่วมเลย เราไม่เคย empower ภาคประชาชนให้แข็งแรง โอกาสที่จะผลักดันให้เกิดผลจึงยากมาก พอเกิดอะไรขึ้นภาคประชาชนก็ยังต้องพึ่งพิงภาครัฐ และภาครัฐก็ไม่ได้มีทรัพยากรและศักยภาพที่จะดูแลคนได้ดีมากพอ ถ้าเป็นอย่างนี้ต่อไป ถึงอย่างไรเราก็ไม่สามารถรองรับการพึ่งพิงรูปแบบนี้ได้


การเคลื่อนไหวแบบใดถึงจะเรียกว่าจริงจัง ปีที่ผ่านมาเราเห็นการตื่นตัวทางการเมืองและการออกมาเคลื่อนไหวของกลุ่มคนรุ่นใหม่ คุณมองว่านี่เป็นความคืบหน้าหรือความจริงจังในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยหรือเปล่า

ผมคิดว่าตอนนี้เราควรจะอยู่ในโลกของความเป็นจริง โลกสมัยใหม่ที่มีหลากหลายความต้องการ มีกลุ่มก้อนที่แตกต่างกัน การเรียกร้องเป็นสิทธิของประชาชน เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่หรือผู้มีอำนาจจึงต้องฟังให้เยอะ เป็น deep listener และ active listener หลายส่วนของการเรียกร้องสะท้อนความเดือดร้อนที่แท้จริงของเขา สะท้อนกับดักทั้ง 4 และปะทุออกมาเป็นข้อเรียกร้องต่างๆ บางอย่างอาจเกินเลยไปบ้าง แต่บางอย่างก็เป็นความจริง

ผมเคยเรียนนายกฯ ว่าจริงๆ แล้วถ้าจะทำแผนการพัฒนาฉบับที่ 13 ให้เป็นเรื่องเป็นราว ควรจะมีนโยบายที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน โดยเป็นนโยบายที่ ‘With youth, for youth, by youth’ ที่ให้เยาวชนเขียนร่วมกับเรา ไม่ใช่ว่าเราเป็นคุณพ่อผู้รู้ดีเขียนนโยบายเพื่อเยาวชนอย่างเดียว โดยส่วนใหญ่ผมว่าพวกเขามีเจตนารมณ์ที่ดี ช่วงที่ผ่านมาอาจเลยเถิดไปบ้าง แต่ในที่สุดเราต้องตั้งหลักใหม่ว่าจะอยู่ร่วมกันในสังคมแบบนี้อย่างไร ในสังคมที่คนบางกลุ่มอยากจะคงสถานะ มองว่าอยู่ในสภาพเดิมดีแล้ว แต่ขณะเดียวกันก็มีคนที่รู้สึกว่าโลกเปลี่ยนไปตั้งนานแล้วและเขาอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ ในสถานการณ์แบบนี้คนที่อยู่ตรงกลางระหว่างสองกลุ่มก้อนต้องพาเขามาเจอกัน ไม่ใช่เพื่อมาปะทะกัน แต่ต้องมาหาคำตอบร่วมกัน


คุณคิดว่ากระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มก้อนที่เห็นต่างหาคำตอบร่วมกันได้ควรเป็นแบบไหน

คนที่มีอำนาจต้องถอยหนึ่งก้าว เพื่อให้คนที่เดือดร้อนมีโอกาสเข้ามา ทุกอย่างอยู่ที่สปิริตว่าสุดท้ายเราต้องการอะไร ถ้าเราต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในทิศทางที่ดีขึ้น แม้คนบางกลุ่มอาจจะมองอะไรอย่างสุดโต่ง เพราะเขาอยู่ในโลกที่มองไม่เห็นความสวยหรู เขามองว่าที่ผ่านมามันไม่ดี จะจริงหรือไม่จริงก็ไม่รู้ แต่เราต้องฟังเขา และสร้างความเข้าใจพื้นฐานที่มีร่วมกัน (common ground) ไม่อย่างนั้นจะเกิดเป็นสังคมสองขั้วอยู่ตลอดเวลา ถ้าผมมีอำนาจหรือเป็นภาครัฐ ผมต้องเปิดใจรับฟังมากกว่าจะมองเขาเป็นคู่ต่อสู้  ต้องฟังเขาแบบจริงๆ จังๆ  ไม่ใช่ว่าสักแต่มีเวทีรับฟังไปเรื่อย อันนั้นมันของปลอม เมื่อมีความเข้าใจร่วมถึงจะมีเป้าหมายร่วมได้

การบริหารจัดการภาครัฐยังมีวิธีคิดที่ค่อนข้างเก่าซึ่งต้องปล่อยตามสภาพ แต่เป้าหมายยังคงเดิมคือความมั่นคง แต่เราจะนิยามความมั่นคงอย่างไร ความมั่นคงไม่ใช่แค่ทุกคนต้องอยู่ในความสงบ แต่มันจะมีพลวัตมากขึ้น มีสีสันมากขึ้น มีความตื่นรู้ตื่นตัวมากขึ้น สิ่งเหล่านี้กดทับไม่ได้หรอกครับ ถึงวันหนึ่งก็จะเกิดพลวัตของการเปลี่ยนแปลง


หากเราอยากจะหลุดพ้นจากกับดักเรื้อรังทั้ง 4 ผู้มีอำนาจควรจะโฟกัสไปที่เรื่องไหน หรือควรมีแนวทางอย่างไรนับจากวันนี้

ก่อนหน้านี้ผมเคยเขียนถึง 7 วาระประเทศไทยหลังโควิด (วาระที่ 1.สร้างสังคมที่เป็นธรรม, วาระที่ 2.ปูฐานราก ปักเสาหลักประชาธิปไตย, วาระที่ 3.ซ่อมวัฒนธรรมเดิม สร้างวัฒนธรรมใหม่, วาระที่ 4.รู้จักเติม รู้จักพอ รู้จักปัน, วาระที่ 5.สร้างรัฐที่น่าเชื่อถือ, วาระที่ 6.เปลี่ยนกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และวาระที่ 7.เตรียมคนไทยสู่โลกที่หนึ่ง )

น้ำหนักของ 7 วาระไม่เท่ากันหรอก แต่จุดที่จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงคือการสร้างสังคมที่เป็นธรรม ที่สังคมเราวุ่นวายกันอยู่ทุกวันนี้เพราะเกิดความไม่เป็นธรรมในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ สังคม การเข้าถึงทรัพยากรและอีกมากมาย จึงเกิดความเหลื่อมล้ำและทำให้เกิดความขัดแย้ง ความขัดแย้งก็ทำให้เกิดความแตกแยกตามมา กลายเป็นวงจรอุบาทว์ เพราะฉะนั้นปฐมบทของทุกเรื่องคือความเป็นธรรม ถ้าเราสามารถสร้างความเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างแท้จริง ผมเชื่อว่า 4 กับดักที่ผมบอกจะคลายตัวลง

สังคมไทยเคยอยู่ในอิทธิพลของอุปถัมภ์นิยมและอำนาจนิยม แต่ในโลกปัจจุบัน คนที่มีโอกาสหรือคนที่ได้เปรียบต้องถอยออกมาก้าวสองก้าวเพื่อให้สังคมอยู่ได้ สุขจะได้สุขด้วยกัน ทุกข์จะได้ทุกข์ด้วยกัน ไม่อย่างนั้นถึงจุดหนึ่งเมื่อเกิดวิกฤตจริงๆ มันอยู่ไม่ได้สักคนนะครับ เราอยากให้ไปถึงจุดนั้นหรือ สังคมจะกลายเป็น me-society สังคมแบบพวกกู-ของกู แต่จริงๆ แล้วเราอยากได้สังคมแบบ we-society คือสังคมของพวกเรา โดยเริ่มต้นจากสังคมที่เป็นธรรม


จากวิกฤตโควิดทำให้ได้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยเปราะบางมาก เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักและฟื้นฟูช้า ไม่ว่าจะพิจารณาจากตัวเลขเศรษฐกิจของเราเองหรือเปรียบเทียบกับเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ การที่เศรษฐกิจไทยเปราะบางขนาดนี้ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจหรือเปล่า

เป็นความเซอร์ไพรส์ที่ทำนายได้ เพราะเราปล่อยให้โครงสร้างเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้มานานแสนนาน มีแต่ลมปากว่าต้องปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจนะ แต่ไม่เคยเกิดเป็นรูปธรรมจริง โครงสร้างของเศรษฐกิจไทยเป็นแบบปลาใหญ่ก็กินปลาเล็ก แล้วยิ่งถูกโหมกระหน่ำด้วยกระแสโลกาภิวัตน์ ก็ยิ่งเป็นเรื่องที่ต้องตัดสินใจทางการเมืองอย่างจริงจังว่าเรากล้าจะผ่าตัดไหม จะทำอย่างไรให้เกิดการแบ่งชิ้นพายที่เป็นธรรมมากขึ้น

ในการสร้างความเป็นธรรมประเด็นสำคัญคือ ทำไมเราไม่ทำให้พายใหญ่ขึ้นเพื่อเผื่อแผ่คนอื่นบ้าง ประเทศอื่นเขามอง SME แบบจริงจัง บางประเทศมีกระทรวง SME ด้วยซ้ำ แต่เรามองสตาร์ทอัพหรือ SME เหมือนของเล่น ไม่ได้มองว่าเขาเป็นพลังที่แท้จริง จริงๆ ต้องยกเครื่องขนานใหญ่ เพราะหลายคนเริ่มล้มหายตายจากไปในยุคโควิด แล้วหลังโควิดเราจะมีอะไรขับเคลื่อนประเทศล่ะนอกเหนือจากธุรกิจรายใหญ่ ซึ่งมันไม่เพียงพอ ผมไม่ได้ปฏิเสธรายใหญ่นะครับ แต่ผมคิดว่าประเทศอยู่ไม่ได้หรอก ถ้าโครงสร้างเศรษฐกิจเปราะบางแบบนี้

เรื่องทรัพยากรมนุษย์ พอเกิดโควิดเราก็บอกว่าเรียนออนไลน์สิ แตมีคนที่มีปัญญาเรียนออนไลน์แบบมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหน แล้วยิ่งพ่อแม่ต้อง work from home ส่วนบางคนที่ตกงานหรือไม่มีงานทำจากโควิด ก็ต้องคิดว่าจะอยู่อย่างไร ผมเห็นตัวเลขของเด็กที่ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา ตอนนี้ 6,000 กว่าคนแล้ว ยังมีการประเมินว่าจะหลุดออกจากระบบเกือบ 65,000 คนในปีการศึกษานี้อีก นี่คือความเหลื่อมล้ำซึ่งมาจากความไม่เป็นธรรม มาจากการปล่อยปละละเลย จากการที่รัฐไม่ลงทุนในทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง


โมเดลเศรษฐกิจที่เรากำลังใช้อยู่ตอนนี้ถือว่าเรามาถูกทางหรือเปล่า ปัญหาสำคัญของการใช้นโยบายขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตอนนี้มีเรื่องอะไรบ้าง

ถ้ามาถูกทาง หนี้สินของภาคประชาชนคงไม่เยอะอย่างนี้ โอกาสในการสร้างรายได้ของประชาชนจะไม่ถูกจำกัดจำเขี่ยแบบนี้ ไม่ต้องมานั่งกลัวว่า เฮ้ย เราจะถูก lay off หรือเปล่า ถ้ามาถูกทาง SME ต้องกลายเป็นพลังสำคัญแบบเดียวกับไต้หวันและหลายๆ ประเทศ ฉะนั้น ก็ยังไม่น่าจะถูกทาง

บางอย่างเราก็ไปพึ่งพิงอาศัยต่างชาติเพียงแค่เม็ดเงินลงทุนและการจ้างงาน ซึ่งไม่ได้ถ่ายทอดทักษะหรือเทคโนโลยีอะไรเท่าไหร่ เราดูเหมือนประเทศที่ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เรามีทุกอย่าง แต่ถามว่าเป็นของเราหรือเปล่า ก็ไม่ใช่ ผมเคยเรียนท่านนายกไปว่า ถึงเวลาที่ต้องปรับโครงสร้างเศรษฐกิจแบบจริงจัง แต่ต้องสรุปบทเรียนของ 4 กับดัก ทำอย่างไรให้คนส่วนใหญ่มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วม เพราะผมว่านั่นคือกระบวนการประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ

กระบวนการทำให้เป็นประชาธิปไตยมีอยู่สองอย่างคือทางการเมืองกับเศรษฐกิจ จริงๆ ปากท้องต้องมาก่อน คนคงไม่เรียกหาแต่อุดมการณ์ทางการเมืองโดยที่เลี้ยงปากท้องไม่ได้ เพราะฉะนั้นวิธีแก้แรกสุดของรัฐคือทำให้เกิดประชาธิปไตยทางเศรษฐกิจ (economic democratization) จึงเป็นที่มาที่ท่านนายกประกาศว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-Circular-Green Economy: เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว) เป็นวาระแห่งชาติ คือการนำสิ่งที่เรามีอยู่แล้วมาสร้างความเข้มแข็งจากภายใน และเชื่อมไทยสู่ประชาคมโลก ทั้งเรื่องการเกษตร อาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานสะอาด การท่องเที่ยว และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ทั้งหมดเป็นของเราอยู่แล้ว แต่เติมเต็มด้วยการบริหารการจัดการ นโยบายที่ชัดเจน และการใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่อยู่ในโมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นอุตสาหกรรมที่ประชาชนมีส่วนร่วม BCG จึงเป็นโมเดลที่ไม่ได้มีแต่ธุรกิจรายใหญ่ แต่มีทั้ง SME สตาร์ทอัพ และวิสาหกิจชุมชนอยู่ด้วยกัน

ผมคิดว่า BCG ตอบโจทย์สามเรื่อง หนึ่ง ตอบโจทย์การเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (inclusive growth) อย่างน้อยคนส่วนใหญ่มีโอกาสเข้ามาหยิบส่วนแบ่งชิ้นพาย สอง ตอบโจทย์การขับเคลื่อนผลิตภาพด้วยนวัตกรรม (productive growth engine) เช่น จะทำเกษตรแบบสมัยก่อนไม่ได้ ต้องเป็น smart farming ต้องมองว่าเทคโนโลยีเป็นเรื่องใกล้ตัว สาม ตอบโจทย์ความสมดุล โมเดลเศรษฐกิจที่ผ่านมาเน้นเรื่องเศรษฐกิจ แต่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งในด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และความเป็นมนุษย์เยอะมาก BCG คือการตัดสินใจบนฐานของโลกอนาคต ถ้าทำดีๆ จะไม่ได้ตอบโจทย์เฉพาะในประเทศไทย แต่จะตอบโจทย์ในระดับโลกด้วย


คุณพูดถึงหลายเรื่องเกี่ยวกับการเมืองและเศรษฐกิจตั้งแต่สมัยที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมือง แต่จะเห็นว่านโยบายทั้งการเมืองและเศรษฐกิจที่ออกมา ไม่ใช่ทุกเรื่องที่จะถูกตอบรับหรือผลักดันให้เป็นรูปธรรม คุณคิดว่าอะไรคือปัญหาที่เป็นคอขวดสำคัญในการผลักดันนโยบายที่ดีของประเทศไทย

ความโชคร้ายของประเทศไทยมีอยู่สองปัจจัยคือ ปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก ปัจจัยภายนอกตอนนี้คือโควิดซึ่งควบคุมไม่ได้ ถือว่าเป็น negative-sum game คือทุกคนโดนหมด ตัวใครตัวมัน สภาพเศรษฐกิจทรุดตัวลงทั้งระบบทั้งโลก แต่ปัจจัยภายในคือการที่การเมืองเราไม่นิ่ง ถ้าการเมืองนิ่งเราจะสามารถบริหารจัดการสิ่งต่างๆ ได้เหมือนกับการโต้คลื่น วิกฤตคือคลื่นระลอกแล้วระลอกเล่า แต่วัดฝีมือกันที่การโต้คลื่น ไม่ใช่ฝีมือของการทำให้ไม่เกิดคลื่น ฉะนั้นถ้าเราการเมืองนิ่ง ผู้นำมีวิสัยทัศน์ และกล้าตัดสินใจเรื่องที่สำคัญ ผมเชื่อว่าเราจะรับมือปัจจัยภายนอกได้ไม่ว่าจะเป็นอย่างไร


ในการผลักดันแผนยุทธศาสตร์ของประเทศไทยซึ่งเป็นนโยบายระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ แผนเศรษฐกิจ หรือโครงการต่างๆ หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าบางนโยบายซ้อนทับกัน เป็นการพูดเรื่องเดียวกันแต่ออกมาหลายฉบับ หลายเค้าโครง ในอนาคตถ้าหากเราจะผลักดันยุทธศาสตร์ของประเทศไทยอย่างมั่นคงและถูกทิศทางเราควรจะมีวิธีการกำหนดนโยบายประเทศไทยอย่างไร

เรื่องแรก ผมว่าต้องช่วยกันกล้าคิดกล้าฝันว่าประเทศไทยหลังโควิดจะเป็นอย่างไร ในเมื่อโควิดรีเซ็ตทุกประเทศ มีโอกาสที่จะทำให้บางประเทศทรุดตัวลงและทำให้ประเทศบางประเทศทะยานขึ้นมาได้ เราจึงต้องมองให้ขาดว่าประเทศไทยจะเดินต่อไปอย่างไรหลังโควิด

เรื่องที่สอง ผมคิดว่าเราทำแผนนโยบายอยู่บนเปเปอร์เยอะ แต่ได้ทำจริงหรือเปล่า ทำแล้วมีอิมแพคหรือเปล่า มีการจัดลำดับความสำคัญหรือเปล่า ถ้าทำไม่ได้ เป็นเพราะอะไร สำหรับผมยุทธศาสตร์ที่ดีต้องมีคำสองคำคือ ยุทธศาสตร์ (strategic) และ ปฏิบัตินิยม (pragmatism) เราต้องมองยุทธศาสตร์ภาพใหญ่เชิงโครงสร้าง ไม่ต้องทำเยอะ แต่ทำแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างมียุทธศาสตร์ และต้องปฏิบัติได้ ปัญหาบ้านเราคือเขียนแผนไปปฏิบัติไม่ได้ แต่เราก็ปล่อยให้มันเป็นแบบนี้แล้วก็เขียนใหม่

นอกจากนี้ ประชาชนต้องมีสปิริตในการปฏิรูป ต้องรู้สึกว่าอยู่อย่างนี้ไม่ได้ อยากจะเปลี่ยนแปลง ต่อให้ไม่รู้ว่าจะเปลี่ยนอย่างไร อย่างน้อยก็ให้อยากมีส่วนร่วนในการผลักดัน ถ้าสปิริตแบบนี้ไม่เกิดขึ้น เราจะไม่มีทางที่จะเห็นรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนในอนาคต ผมคิดว่าแผนนโยบายของเราค่อนข้างมีลักษณะแบบบนลงล่าง แผนบางอย่างในโลกหลังศตวรรษ 21 ต้องมีลักษณะบนลงล่างจริง เพราะเป็นวิกฤตที่ต้องมีศูนย์กลางในการขับเคลื่อน แต่หลายเรื่องต้องปล่อยออกไปให้ชุมชน ให้พื้นที่ในการจัดการตัวเองได้ การคิดว่าประชาชนมีหน้าที่เป็นแค่ผู้ปฏิบัติหรือประชาชนควรจะมีส่วนร่วม แค่นี้ก็ต่างกันแล้ว


ปัจจุบันคุณเป็นที่ปรึกษาและเป็นคณะทำงานปรับปรุงระบบข้าราชการ แน่นอนว่า ข้าราชการเป็นตัวแปรหนึ่งที่ชี้วัดว่านโยบายที่ภาครัฐกำหนด จะถูกนำไปผลักดันและปฏิบัติต่ออย่างไร คุณมองเห็นปัญหาของระบบราชการไทยอย่างไร คิดว่าควรปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงอย่างไรบ้าง

ข้อดีของระบบราชการคือเป็นระบบที่มีความต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับระบบการเมืองที่ยังลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวก็มาเดี๋ยวก็ไป และเป็นระบบที่มีแบบแผนกฎเกณฑ์ที่ใช้กับทุกคนได้ แต่ระบบราชการก็มีจุดบกพร่องอยู่หลายจุด จุดแรกคือความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองกับข้าราชการ ถ้าการเมืองยังคงแทรกแซงระบบราชการได้ จะไปหวังอะไรกับระบบราชการมากไม่ได้ เพราะเมื่อไหร่ที่มีอำนาจเหนือนโยบาย หลายอย่างจะรวนหมด คนดีๆ ที่อยู่ในระบบราชการก็เสียกำลังใจ เพราะฉะนั้น ก่อนจะออกแบบว่าทำอย่างไรให้ระบบราชการมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง คำถามแรกคือระบบการจัดการและปกครองราชการเป็นอย่างไร ความสัมพันธ์ระหว่างการเมืองซึ่งเป็นผู้วางนโยบาย กับราชการที่ควรเป็นผู้ดำเนินการ มันไม่ชัดเจน และไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจ ต้องปฏิรูปครั้งใหญ่ว่าจากนี้ไปการเมืองกับราชการจะอยู่กันอย่างไร

จุดบกพร่องที่สองคือ หลายเรื่องๆ ไม่ควรให้ราชการทำแล้ว บางเรื่องสามารถให้ภาคเอกชนหรือภาคประชาสังคมไปทำได้แล้ว บางครั้งเราปล่อยให้เขาทำ แต่ยังซ้อนเขาไว้อยู่ ยังกล้าๆ กลัวๆ ที่จะปล่อยสุด การร่วมทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (public–private partnership) ที่ไม่ชัดเจนทำให้ระบบราชการเรากลายเป็น big government, small society และเป็น big government ที่ไม่มีประสิทธิภาพด้วย นี่เป็นโจทย์ที่ต้องคิดว่าจะแก้อย่างไร

กระทั่งเรื่อง digital government หรือการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ จริงๆ วันนี้ควรต้องทำแล้ว เพราะจะช่วยให้เกิดความโปร่งใสโดยปริยาย การบริการจะถูกลง เร็วขึ้น และคุณภาพดีขึ้นในเวลาเดียวกัน ถามว่าเรื่องดิจิทัลพูดมาเป็นสิบปีแล้วทำไมยังไม่คืบหน้า ผมก็ไม่รู้ว่าเพราะมีวาระซ้อนเร้นหรือเปล่า เช่น กลัวว่าเมื่อมีดิจิทัลแล้วเดี๋ยวอำนาจเดิมๆ จะหายไป เพราะหลายสิ่งหลายอย่างทำให้ไม่ต้องใช้คนและประชาชนสามารถตรวจสอบอะไรได้เอง บ้านเราชอบเป็นอย่างนี้ มีอะไรซ่อนอยู่ซึ่งยากที่จะอธิบาย แต่คนที่เป็นผู้นำทางการเมืองต้องใช้ความกล้าทางการเมือง เรื่องดิจิทัลจำเป็นต้องทำ รีบทำเถอะครับ ให้เดดไลน์ไปเลยว่าหนึ่งปีต้องเสร็จหมด ไม่ใช่สะเปะสะปะเป็นหย่อมๆ อย่างที่เราเห็นทุกวันนี้

*หมายเหตุ บทสัมภาษณ์เรียบเรียงจากรายการ 101 One-on-One Ep.229 ‘วาระใหม่ประเทศไทยในโลกหลังโควิด-19’ กับสุวิทย์ เมษินทรีย์ สัมภาษณ์เมื่อวันที่  21 มิ.ย. 2564


ผลงานชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่าง แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประจำปีงบประมาณ 2563 และ The101.world

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Politics

23 Feb 2023

จากสู้บนถนน สู่คนในสภา: 4 ปีชีวิตนักการเมืองของอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล

101 ชวนอมรัตน์สนทนาว่าด้วยข้อเรียกร้องจากนอกสภาฯ ถึงการถกเถียงในสภาฯ โจทย์การเมืองของก้าวไกลในการเลือกตั้ง บทเรียนในการทำงานการเมืองกว่า 4 ปี คอขวดของการพัฒนาสังคมไทย และบทบาทในอนาคตของเธอในการเมืองไทย

ภัคจิรา มาตาพิทักษ์

23 Feb 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save