fbpx
อ่านใจนักวิจารณ์วรรณกรรม กับ สุธิดา วิมุตติโกศล

อ่านใจนักวิจารณ์วรรณกรรม กับ สุธิดา วิมุตติโกศล

101 จับประเด็นบางส่วนจากการพูดคุยกับ สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ อ่านออกเสียง ในรายการ 101 One-On-One EP.88

ในฐานะนักวิชาการ และนักวิจารณ์วรรณกรรม เธอประเมินสถานการณ์ด้านการอ่าน-การวิจารณ์ในสังคมไทยอย่างไร

วัฒนธรรมการอ่านแบบไทยๆ ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดแบบไหน พื้นที่การวิพากษ์วิจารณ์มีความสำคัญอย่างไร และการอ่าน-การวิจารณ์ จะช่วยยกระดับความคิดผู้คนและสังคมได้อย่างไร

เปิดความคิด เปลือยความในใจ จากประสบการณ์ตรงทั้งในและนอกห้องเรียน

:: อ่านเยอะหรือน้อย ไม่สำคัญเท่า ‘อ่านอย่างไร’ ::

สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ที่พูดกันว่าคนไทยอ่านหนังสือน้อยหรือบอกว่าอ่านปีละ 7 บรรทัด มีข้อถกเถียงเรื่องนี้นานมากแล้วว่าไม่มีทางที่จะเป็น 7 บรรทัดได้ โลกเดี๋ยวนี้ไม่ได้อยู่แค่ในหนังสือเล่ม ต่อให้หนังสือขายได้น้อยลงก็ยังมีแพลตฟอร์มออนไลน์อยู่ ส่วนตัวไม่คิดว่าอ่านน้อยในแง่ปริมาณ

บางคนพูดถึงความสำคัญของ ‘อ่านอะไร’ เช่นบอกว่า แม้จะอ่านมากเท่าไหร่ แต่ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนั้นเล่มนี้ก็ไม่เวิร์ก ต้องอ่านสิ่งมีคุณค่า ประเทืองปัญญา แต่ส่วนตัวคิดว่าความสำคัญอยู่ที่ ‘อ่านอย่างไร’ มากกว่า ต่อให้อ่านเว็บพันทิปหรืออ่านการ์ตูนก็ไม่ได้เป็นปัญหา ถ้าอ่านอย่างพินิจพิเคราะห์ อยู่ที่ว่าเรามองสิ่งที่อ่านอย่างไร และได้อะไรจากสิ่งที่อ่าน

วัฒนธรรมการอ่านของไทยยังอ่อนแอ เพราะเราเคารพสิ่งที่เราอ่านมากเกินไป เหมือนที่เคารพสิ่งอื่นที่มีอำนาจสูงกว่าเรา ให้ในสิ่งที่เราไม่มีได้ เรามีแนวโน้มที่จะให้ความเคารพเชื่อถือต่อสิ่งที่อ่าน ให้หนังสือเป็นตัวกำหนดว่าเราจะเข้าถึงมันยังไง ถ้าเราลองเปลี่ยน ไม่เชื่อถือมัน เถียงกับมันได้ วิเคราะห์วิจารณ์มันได้ จะเป็นวิธีการอ่านอีกแบบหนึ่ง

ในแวดวงการศึกษา เราอ่านเพื่อเรียนรู้จากหนังสือ ส่วนใหญ่หนังสือที่เราอ่านถ้าไม่ใช่แบบเรียน ก็ถูกคัดมาโดยคนที่มีอำนาจในสังคมว่าสิ่งนี้ดีสำหรับเรา รวมไปถึงสื่ออื่นๆ สังคมไทยมีการเซ็นเซอร์ว่าเด็กวัยนี้ควรได้ดูอะไร ซึ่งมาพร้อมแนวคิดการสั่งสอน เรื่องศีลธรรมอันดีต่างๆ ไม่แปลกที่เราจะมองว่าตัวบทต้องสอนอะไรเรา

ตอนเรียนวรรณคดีอังกฤษในมหาวิทยาลัยช่วงแรก ก็คิดว่าหนังสือที่เราต้องอ่าน จะต้องเป็นหนังสือดีที่สอนใจ ต้องให้เรารักชาติ เป็นคนดี กตัญญู แต่พออ่านเทพปกรณัมกรีก มีแต่คนชั่วทั้งนั้นเลย คนโน้นเป็นชู้ คนนี้ขี้อิจฉา คนนั้นทิ้งเมีย เราก็ถามอาจารย์ว่าให้เรียนทำไม มันดียังไงต่อสังคม อาจารย์บอกว่าวรรณกรรมไม่จำเป็นต้องสอนเราแบบนั้น ทำให้เราเข้าใจใหม่ว่า วรรณกรรมหรืออะไรที่เราอ่าน ไม่จำเป็นต้องสอนเราเสมอไป และเรามีวิธีอื่นที่จะเข้าถึงมันได้

:: พื้นที่การวิจารณ์วรรณกรรมที่เลี้ยงชีพไม่ได้ ::

สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

คนส่วนใหญ่มองว่านักวิจารณ์คือคนที่ฝึกมาให้อ่านหนังสือเป็น อ่านหนังสือเก่ง แล้วบอกได้ว่าควรซื้อหนังสือเล่มนี้ไหม แต่นักวิจารณ์ไม่ได้มีแค่นั้น บางทีคุณแค่อธิบายหรือพูดถึงตัวบทในมุมที่คุณมองเท่านั้นเอง นักวิจารณ์อาจเป็นกลุ่มคนที่ถูกมองว่ามีกรอบคิดบางอย่างที่จะพูดถึงตัวบท ในแบบที่ไม่ใช่แค่ในระดับความหมาย อาจมีการชี้ช่องโหว่ต่างๆ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นการตัดสินคุณค่าของงานชิ้นนั้นเสมอไป

ในต่างประเทศมีนักวิจารณ์ที่ไม่ใช่นักวิชาการ อาจเป็นนักหนังสือพิมพ์หรือคนที่อ่านหนังสือมาเยอะพอควร มีความเชี่ยวชาญประมาณหนึ่งที่จะวิจารณ์ได้โดยไม่จำเป็นต้องมีความรู้เชิงทฤษฎีแบบอาจารย์ แต่ในเมืองไทย เราไม่แน่ใจว่าคนที่เป็นสื่อมวลชนมองบทบาทตัวเองอย่างไร สามารถทำอย่างนั้นได้ไหม หรือมองว่าบทบาทนี้ต้องเป็นของผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น แต่พอบทบาทของนักวิจารณ์ไปกองอยู่กับอาจารย์หรือนักวิชาการ ก็เลยหลบอยู่ในมหาวิทยาลัยซะเยอะ บางทีอยู่ในวารสารวิชาการ หรือนานๆ ทีออกมาชิ้นหนึ่ง

เรานึกกันไม่ออกว่าพื้นที่การวิจารณ์วรรณกรรมอยู่ที่ไหน โดยทั่วไปแทบไม่มีพื้นที่ให้การวิจารณ์วรรณกรรมทำเป็นอาชีพได้ แม้แต่นักเขียนยังต้องมีอาชีพหลักแล้วให้การเขียนหนังสือเป็นอาชีพเสริมเลย พอคนวิจารณ์วรรณกรรมส่วนใหญ่มีงานหลักเป็นอาจารย์ ก็จะมีอุปสรรคว่าต้องทำหน้าที่นักวิชาการ เช่น การผลิตงานวิจัย เผยแพร่งานวิชาการในวารสารวิชาการระดับชาติ เมื่อคุณไม่ได้ทำสิ่งนี้เป็นอาชีพจึงยากมากที่จะทำได้ต่อเนื่อง

ส่วนใหญ่งานที่พูดถึงหนังสือที่ปรากฏตามสื่อ โดยเฉพาะสื่อออนไลน์ จะเป็นการแนะนำหนังสือซะมาก เป็นการรีวิวหรือช่วยกันในหมู่มิตรสหาย ทำให้คนงงว่าการเป็นนักวิจารณ์ทำอย่างนี้เหรอ ซึ่งมันไม่ใช่

:: การวิจารณ์ช่วยกระตุ้นให้มองมุมอื่น ::

สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ถามว่าสังคมจำเป็นต้องมีนักวิจารณ์ไหม ถ้าคนในสังคมเป็นนักวิจารณ์ได้ด้วยตัวเองก็คงไม่ต้องมีนักวิจารณ์ หมายถึงว่าคุณอ่านหรือรับสื่อโดยพินิจพิเคราะห์ มีการถกเถียง มีสปิริตของการวิพากษ์วิจารณ์ นักวิจารณ์ก็อาจจะไม่จำเป็น แต่ถามว่าสังคมเป็นแบบนั้นไหม ก็ไม่

ถ้ามองอย่างสัมพันธ์กับสังคมปัจจุบัน อาจเคลมได้ว่าการมีนักวิจารณ์อยู่อาจช่วยสังคมในแง่การกระตุกให้คนได้คิด มองจุดที่ไม่เคยมองหรือชวนตั้งคำถามที่ไม่เคยนึกถึงมาก่อน นี่เป็นฟังก์ชันหลักของนักวิจารณ์ในสายตาเรา แต่ถ้านักวิจารณ์มีไว้เพื่อชี้นำสังคม บอกว่าเราควรอ่านอะไร ควรใช้กรอบคิดอะไรในการมอง คงไม่ต้องมีก็ได้ เพราะเรามีคนที่บอกให้คนอื่นทำอะไรเยอะพอแล้ว

เราไม่เชื่อว่างานวิจารณ์มีไว้เพื่อตัดสินว่าอะไรดีหรือไม่ดี แต่เป็นการหยิบมุมมองบางอย่างในตัวบทมาพูดถึง

การวิจารณ์ที่ดีคือการทำให้คนอ่านตระหนักว่าเนื้อหาที่เราพูดถึง มันไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของความหมายในตัวบท เมื่อไหร่ที่งานวิจารณ์เข้ามากำหนดความหมายตัวบทเสียเอง เราคิดว่ามันจะไม่เวิร์กแล้ว

:: สังคมที่ไม่เอื้อต่อการวิจารณ์ ::

สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

สังคมไทยในภาพรวมยังไม่เอื้อต่อการวิจารณ์ ไม่รู้ว่าจะโทษสื่อหรือคนในแวดวงสิ่งพิมพ์ด้วยได้ไหม แม้แต่กลุ่มคนที่มองว่าตัวเองต้องต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย จะมีไอเดียหนึ่งที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นประชาธิปไตย คือ แนวคิดระบบอุปถัมภ์

จะเห็นภาพว่าเรื่องนี้ซ้อนกันกับสังคมระดับใหญ่หรือโลกการเมือง ปัจจุบันคนมีโอกาสได้อ่านอะไรเยอะแยะมากมาย หลายคนบอกว่าเดี๋ยวนี้มีความเป็นประชาธิปไตยทางการอ่านมากขึ้น ปัจจุบันคนได้ออกเสียงเยอะแล้วทั้งในทวิตเตอร์และเฟซบุ๊ก น่าจะเป็นโอกาสที่ทำให้การวิจารณ์เฟื่องฟู แต่ทำไมในความเป็นจริงแล้วงานวิจารณ์ยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่

ในทุกแวดวงจะมีความสัมพันธ์เชิงเครือญาติอยู่ ระบบอุปถัมภ์แทรกซึมอยู่ในทุกแวดวง ต่อให้คุณมีระบอบประชาธิปไตยที่มาพร้อมกับตลาดเสรี ทุกวันนี้หนังสือมีขายมากมาย ใครใคร่ซื้อก็ซื้อ อยากดาวน์โหลดก็ทำได้ แต่สิ่งนี้ถูกกลืนกินโดยวัฒนธรรมอุปถัมภ์ ใครติดหนี้ใคร คนนี้เคยฝากงานให้ คนนี้เป็นรุ่นพี่ที่มหาวิทยาลัย ทำให้ท้ายที่สุด แม้แต่ในแวดวงสื่อสิงพิมพ์ก็มีลักษณะอุปถัมภ์ค้ำจุน ผลัดกันเขียน เวียนกันอ่าน วานกันชม

ปรากฏการณ์นี้ค่อนข้างเด่นชัดในแวดวงสื่อสิ่งพิมพ์ พอจะวิจารณ์อะไรก็ลูบหน้าปะจมูก จึงจะเห็นว่ามีแต่การเขียนเชียร์ๆ ช่วยๆ กัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้การวิจารณ์อีกด้านเกิดขึ้นได้ยากด้วยหรือเปล่า

:: พระเจ้าตายแล้ว ::

สุธิดา วิมุตติโกศล ภาควิชาประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวรรณคดีอังกฤษ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

เรายังมีแนวโน้มจะเชื่อตัวบุคคล ถ้ามีคนที่เราเชื่อถือหรือชื่นชมบอกให้อ่านสิ่งนี้หรือทำสิ่งนี้ เราก็มีแนวโน้มที่จะทำตาม เหมือนเป็นมิติใหม่ของสังคมที่เรากล้าถกเถียง กล้าวิพากษ์วิจารณ์ผู้มีอำนาจ แต่ยังต้องมีใครสักคนมาบอกว่าสิ่งไหนดี

แม้เราจะคิดว่าไม่ควรมีสิ่งนี้ แต่เราเองก็มีอาจารย์ที่ปฏิเสธไม่ได้ว่าได้รับอิทธิพลจากเขา เป็นเหมือนกับดักเวลาเราชื่นชมใครจากงานเขียนหรือคำสั่งสอนของเขา ซึ่งจะทำให้เราไปต่อไม่ได้

ตอนเรียนทฤษฎีวิจารณ์วรรณกรรม เราพยายามเข้าใจหนังสือเล่มหนึ่งเพื่ออยากรู้ว่าคนเขียนสื่ออะไร แต่พอได้เรียนกับ อ.ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์ แทนที่จะถามว่า “ฌาคส์ ลากอง บอกอะไร?” แต่อาจารย์กลับถามว่า “มันมีปัญหาอะไร?” คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าเขาจะสื่ออะไร แต่ต้องไม่หยุดอยู่แค่นั้น เราต้องถามต่อว่าสิ่งที่เขาบอกมีปัญหาหรือช่องโหว่อะไรหรือเปล่า เราเถียงเขาได้หรือเปล่า

คิดดูว่านักศึกษาปริญญาตรีต้องไปเถียงกับเพลโต เรามีความไม่รู้เยอะมาก แต่อย่างน้อยมันเป็นพื้นที่ที่เปิดโอกาสให้เราเถียงกับเพลโตได้ โดยเป็นการเถียงที่ต้องมีสิ่งสนับสนุนว่าทำไมเราคิดว่าแนวคิดเพลโตมีปัญหา ไม่ว่าเขาเป็นใครใหญ่มาจากไหน เราต้องตั้งคำถามกับเขาได้

บางคนมองว่าคนที่เชื่อในพระเจ้าหรือคนมีศาสนานั้นงมงาย แต่วิธีคิดของเรายังวนอยู่ว่าเราต้องหาใครสักคนยึดเหนี่ยว ถ้าไม่ใช่พระเจ้าก็เป็นคนอื่น การบอกว่าไม่ต้องไปเชื่อคนอื่น มันทำให้ชีวิตยากขึ้น แต่อาจจะเป็นชีวิตที่ดีก็ได้

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save