fbpx
สุธี โอบอ้อม ผู้เอื้ออารีต่อปรีดีในยามยาก

สุธี โอบอ้อม ผู้เอื้ออารีต่อปรีดีในยามยาก

กษิดิศ อนันทนาธร เรื่อง

26 กุมภาพันธ์ 2492 หลังจากนายปรีดี พนมยงค์และพวก ล้มเหลวในการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของไทยที่ถูกพรากไปนับแต่การรัฐประหารทางทหาร ที่มีการฉีกรัฐธรรมนูญครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 จนถูกให้ชื่อว่าเป็น ‘กบฏวังหลวง’ นั้น ปรีดีต้องหลบหนีการจับกุมของทางการอย่างยากลำบาก กว่าจะหลบออกไปลี้ภัยนอกประเทศได้

ในยามที่รัฐบุรุษอาวุโสพลั้งพลาดเช่นนี้ คู่ชีวิตของเขาอย่างท่านผู้หญิงพูนศุขเป็นผู้ที่มีบทบาทอย่างสำคัญ ไม่เพียงการให้ความรักและกำลังใจ แต่ยังรวมถึงการจัดสถานที่หลบซ่อนให้อีกด้วย ในชั้นแรกท่านผู้หญิงนำปรีดีไปอยู่ที่บ้านถนนสุรวงศ์ของนายแพทย์โกวิท อัศวนนท์[1] ผู้เป็นหลานเขย  แต่ก็เกรงว่าเมื่อทางการตรวจค้นตามบ้านญาติพี่น้องแล้วจะไม่ปลอดภัย ท่านผู้หญิงจึงต้องย้ายปรีดีไปยังสถานที่ซึ่งปลอดภัยกว่า

หลังจากนั้น ก่อนที่จะสามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ ปรีดีจึงได้มาอยู่ที่บ้านฉางเกลือของนายอุดร รักษมณี บุคคลซึ่งไม่เคยรู้จักกันเป็นการส่วนตัวมาก่อน แต่ก็เต็มใจช่วยเหลือเพราะศรัทธาในระบอบประชาธิปไตย และได้รับการร้องขอจากเพื่อนรักของเขาที่มีชื่อว่า สุธี โอบอ้อม

บุคคลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการรอดชีวิตของรัฐบุรุษอาวุโสในช่วงเวลาที่ตกต่ำที่สุด ก็คือ ‘สุธี’ ผู้นี้นี่เอง

สุธี โอบอ้อม
สุธี โอบอ้อม (5 ตุลาคม 2460 – 24 พฤษภาคม 2525)

กำเนิด

สุธี โอบอ้อม เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2460 ที่ตำบลเสาชิงช้า อำเภอพระนคร จังหวัดพระนคร  เป็นบุตรของนายศิริ และนางจันทร์ โอบอ้อม

คุณตาของเขา คือนายพลับ จีรเศรษฐ เป็นอดีตมหาดเล็กในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งหากนับย้อนขึ้นไปทางสายนี้ ก็จะพบว่าเป็นขุนนางที่รับราชการในตำแหน่งสำคัญมาก่อน กล่าวคือ เขามี พระยาจิรายุมนตรี สีหราชรองเมือง (เนียม) เป็นทวด  และพระยาประเสริฐวานิช (ฉิม) เป็นเทียด

ทีแรกสุธีใช้ชื่อว่า ‘สรวลเส’ ที่ ‘ท่านปู่’ (ซึ่งสุธีเรียก) พันโท หม่อมเจ้ากรรมสิทธิ์ ปราโมช ทรงตั้งให้  ครั้นถึงสมัยรัฐนิยมของจอมพล ป. พิบูลสงคราม เขาต้องเปลี่ยนชื่อเพราะมีผู้ใหญ่ทักมาว่าชื่อเดิมเป็นชื่อผู้หญิง ไม่เหมาะสมที่จะออกไปเป็นนายอำเภอ จึงขอให้นายปรีดี พนมยงค์ ผู้ประศาสน์การมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองเป็นผู้ตั้งให้ จึงได้ชื่อ ‘สุธี’ มาใช้ตราบสิ้นอายุขัย

การศึกษา

เริ่มศึกษาที่โรงเรียนวัดบวรนิเวศ ตั้งแต่ชั้นประถมปีที่ 1 จนถึงมัธยมปีที่ 5  จากนั้นย้ายไปโรงเรียนเทพศิรินทร์จนจบชั้นมัธยมปีที่ 8 เมื่อ พ.ศ.2478 จากนั้นในปีถัดมาไปเรียนที่โรงเรียนราชบุรีวิทยาลัยเป็นเวลา 1 ปี

ระหว่างที่เข้ารับราชการแล้ว ได้สมัครเรียนในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมืองในปี 2480 จนสำเร็จการศึกษาเป็นธรรมศาสตร์บัณฑิต

ในด้านพระพุทธศาสนา สุธีอุปสมบทที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม ในปี 2490 ได้ฉายาว่า ‘สุธีสโม’ โดยจำพรรษาครบไตรมาสแล้วจึงลาสิกขา จึงมีความสนิทสนมคุ้นเคยกับภิกษุสามเณรในอารามนี้เรื่อยมา และเป็นศิษย์ของสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช (วาสน์ วาสโน)

สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์) ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองปทุมธานี
สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (วาสน์) ทรงเจิมแผ่นศิลาฤกษ์ศาลหลักเมืองปทุมธานี

ตำแหน่งในราชการ

สุธีเข้ารับราชการครั้งแรกในตำแหน่งเสมียนวิสามัญ กระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2480 ขณะอายุ 19 ปี 11 เดือน 17 วัน โดยปรีดี พนมยงค์ เขียนถึงเขาว่า “ระหว่างศึกษานั้น ข้าพเจ้าได้ฝากให้เข้าทำงานในกองตรวจการเทศบาล กระทรวงมหาดไทย”

หลังจากนั้นก็ก้าวหน้าตามลำดับ ในระยะแรกเป็นปลัดอำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม และอำเภอพระโขนง จังหวัดพระนคร  ครั้นถึงปี 2493-2509 ได้ดำรงตำแหน่งนายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี  อำเภอสรรพยา จังหวัดชัยนาท  อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย  อำเภอเมือง จังหวัดชัยนาท  อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี  และอำเภอชุมแสง จังหวัดนครสวรรค์ ตามลำดับ

จากนั้นในปี 2509-2513 ได้เป็นปลัดจังหวัดที่ร้อยเอ็ด นครพนม และลำปาง ตามลำดับ  ต่อมาในปี 2515 เป็นผู้ตรวจราชการกรมการปกครอง และรองผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์

ถึงปี 2516 จึงได้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดที่สุรินทร์ ก่อนที่จะย้ายมาที่ปทุมธานีจนเกษียณอายุราชการในปี 2521

เปิดการอบรมสมาชิกอาสากาชาดจังหวัดปทุมธานี ปี 2519
เปิดการอบรมสมาชิกอาสากาชาดจังหวัดปทุมธานี ปี 2519

คนขยัน

สุธีเป็นคนขยันทำงาน มีคติว่าการทำงานเป็นความสุข ด้วยเขาคิดแต่ว่าเรากินเงินหลวง ก็ต้องทำงานให้คุ้มค่า

พลเรือตรี ชาติชาย พุกกะรัตน์ เล่าว่า เมื่อไปเยี่ยมสุธีที่บ้าน เห็นมีงานมาทำงานที่บ้านทุกวัน ไม่น้อยกว่าวันละ 5-6 แฟ้ม  นอกจากนี้ มีหลายครั้งที่เลิกงานแล้วกลับมากินอาหารเย็นแล้ว ยังขอตัวกลับไปทำงานต่อที่ศาลากลางจังหวัดจนดึกดื่นและนอนค้างคืนที่นั่น เพราะไม่อยากให้งานคั่งค้าง จึงได้นอนเฝ้าศาลากลางตั้งแต่เป็นปลัดจังหวัดจนเกษียณอายุราชการ

ตลอดชีวิตราชการ สุธีไม่เคยลาพักร้อนเพื่อไปเที่ยวเลย เพราะเป็นห่วงงาน จนถึงเมื่อเกษียณอายุราชการแล้ว ลูกสาวยังร้องขอให้พักผ่อนบ้างอย่าทำงานหนัก กลับโดนว่าเสียอีกว่า เขาทำโดยเต็มใจ และ “คนที่เกิดมาไม่ได้ทำงานก็เสียชาติเกิด”

ผลงานของนักปกครอง

สุธีสามารถปฏิบัติภารกิจที่มีในฐานะนักปกครองได้เป็นอย่างดี ดังที่พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ อดีตแม่ทัพภาคที่ 2 กล่าวชมเชยว่า “คุณสุธีได้มีโอกาสประกอบคุณงามความดีไว้กับทางราชการมิใช่น้อย …จนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับบรรดาข้าราชการพลเรือน ตำรวจ ทหาร ในกองทัพภาคที่ 2 ส่วนหน้า และกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 2 เป็นอย่างดี ในฐานะที่เป็นผู้หนึ่งที่มีฝีไม้ลายมือในการทำงานเก่ง” นอกจากนั้นสุธียังได้สร้างผลงานในทางถาวรวัตถุต่างๆ ไว้ด้วยเช่นกัน ดังนี้  

เจดีย์พระธาตุดอยวาว

เมื่อคราวเป็นนายอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย  พ่อเลี้ยงบุญยืน ศรีสมุทร เจ้าของตลาดแม่สาย มีศรัทธาจะสร้างเจดีย์บนดอยวาว เพราะมีคนเห็นแสงสว่างจากดอยนั้น จนเชื่อกันว่าเป็นแสงอภินิหารของพระธาตุ แต่ตามหาพระธาตุกันมานานนับสิบปี  จนถึงวันหนึ่งที่ได้ฤกษ์วันดี พ่อเลี้ยงบุญยืนมาหาสุธีขอให้นายอำเภอเป็นผู้ชี้ที่ที่เหมาะสม

วันนั้นเอง จึงมีคนขุดพบผอบสำริด ที่บรรจุพระธาตุอยู่ 9-10 องค์ ซึ่งหลวงรณสิทธิพิชัย อธิบดีกรมศิลปากร ได้นำไปให้ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์พบว่าเป็นพระธาตุแท้ จึงได้มีการสมโภชน์แล้วฝังกลับไปในตำแหน่งเดิมและสร้างพระเจดีย์ครอบทับไว้ มีชื่อมาจนปัจจุบันนี้ว่า เจดีย์พระธาตุดอยวาว

เหตุการณ์นี้ทำให้ราษฎรชื่นชมสุธีมาก เพราะนับเป็นสิ่งมหัศจรรย์ ด้วยไม่เคยเห็นหรือได้ยินใครสามารถชี้จุดให้คนขุดพระธาตุได้

สุขศาลา หมู่บ้านปากทวาร

ระหว่างดำรงตำแหน่งนายอำเภอหัวหิน สุธีได้ชักชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน สร้างสุขศาลาที่หมู่บ้านปากทวาร ตำบลหินเหล็กไฟ เพราะในสมัยนั้นการเดินทางลำบาก บริเวณนั้นหน้าฝนก็งูชุกชุม เมื่อถูกงูกัด ราษฎรก็มักจะไปยังสถานีกาชาดหรือหาหมอไม่ทัน เสียชีวิตกันไม่น้อย  ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ทรงพระมหากรุณา พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ร่วมด้วยจำนวนหนึ่ง

นอกจากนั้น ในระหว่างที่เป็นนายอำเภอที่นี่ เขายังได้รับพระราชทานกล่องบุหรี่ถมเงิน พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ทองคำลงยา และปากกาปาร์คเกอร์สีน้ำทะเล จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช และหีบบุหรี่ถมเงิน พระนามาภิไธยย่อ ส.ว. จากสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีอีกด้วย

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกล่องบุหรี่แก่สุธี
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกล่องบุหรี่แก่สุธี

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ และพระพุทธรูปเขาสวาย

พิพิธภัณฑสถานแห่งนี้เกิดขึ้นจากดำริของผู้ว่าฯ สุธี ในปี 2517 ที่ต้องการอนุรักษ์และเผยแพร่ความรู้ในด้านนี้ให้กว้างขวาง จึงชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ให้นำโบราณวัตถุและศิลปวัตถุมาบริจาค โดยเริ่มจัดแสดงที่ศาลากลางจังหวัด ต่อมาจึงย้ายไปที่สำนักงานศึกษาธิการจังหวัด และจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติในที่สุด

สมดังที่ราชเลขาธิการ ม.ล.ทวีสันต์ ลดาวัลย์ กล่าวถึงเขาว่า “เป็นผู้ค้นคว้าประวัติศาสตร์ ประวัติบุคคลสำคัญ ประเพณีต่างๆ ของท้องถิ่น และฟื้นฟูการดนตรีด้วยใจรัก และเสียสละในความสุขส่วนตัวมาโดยตลอด”

นอกจากนี้ ระหว่างดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ เขายังเป็นประธานก่อสร้างพระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่เขาสวาย แบบพระพุทธรูป ภ.ป.ร. ปางประทานพร สูง 29.2 เมตร จนสำเร็จลุล่วง

สร้างศาลหลักเมืองปทุมธานี

เมื่อดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี เขาเห็นว่าปทุมธานีเป็นเมืองเก่าแก่แต่ไม่มีศาลหลักเมืองเป็นที่สักการะและยึดเหนี่ยวจิตใจของประชาชน จึงได้ปรึกษาคณะสงฆ์ แล้วเชิญชวนข้าราชการ พ่อค้า ประชาชน ร่วมระดมทุนทรัพย์สร้างศาลหลักเมืองขึ้นหน้าศาลากลางจังหวัด จนแล้วเสร็จในปี 2521 โดยมีพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ เป็นประธานในพิธียกยอดเสาหลักเมือง

รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี
รับเสด็จสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อทรงเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ เสด็จพระราชทานธงลูกเสือชาวบ้าน อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี

งานสาธารณกุศล

ในปี 2521 เมื่อ อำนวย อินทุภูติ (ตำแหน่งสุดท้ายคือผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา) ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสุธี ผู้กำลังจะเกษียณอายุราชการ ได้รับเลือกเป็นกรรมการอำนวยการ  อำนวยจึงได้เชิญให้สุธีมาเป็นเลขาธิการ ซึ่งเป็นตำแหน่งบริหารสำคัญ ซึ่งเขาก็ตอบรับด้วยความยินดี ไม่เพียงเท่านั้น ยังชวนอัญชนามาร่วมงานด้วย

เมื่อหมดสมัยจากสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทย อำนวยยังชวนสุธีมาทำงานที่พุทธสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ด้วยในตำแหน่งกรรมการเครือข่ายสมาคม  มิพักต้องเอ่ยถึงงานที่สันนิบาตมูลนิธิ ซึ่งสุธีเป็นอุปนายก

 

ครอบครัว

นางจันทร์ แม่ของสุธี ขายข้าวเหนียวมูลมีชื่อว่าอร่อยมาก อยู่ที่แพ่งนรา  คุณหญิงเพ็ง ชัยวิชิตวิศิษฏ์ธรรมธาดา ก็เป็นลูกค้าประจำคนหนึ่ง จันทร์จึงมักไปมาหาสู่คุณหญิงเพ็งที่บ้านป้อมเพชร์เป็นประจำ จนได้พบกับหญิงสาวในบ้านนั้นผู้หนึ่งชื่อ อัญชนา แช่มสุวรรณ

อัญชนา เดิมชื่อชั้น เป็นลูกสาวของนางเชื้อ มีพี่สาวคนหนึ่งชื่อชุบ แต่งงานกับพูน พุกกะรัตน์ คนสนิทของปรีดี พนมยงค์ด้วย  ปรีดีกล่าวถึงเธอว่าเป็นผู้ที่ “ข้าพเจ้ากับภรรยาได้เลี้ยงอย่างลูกหลานตั้งแต่เยาว์วัย” นอกจากทำงานเป็นพี่เลี้ยงหลานของคุณหญิงเพ็งอย่างดุษฎีและวาณี พนมยงค์ และช่วยงานอื่นๆ ในบ้านแล้ว ยังได้รับโอกาสให้ศึกษาหาความรู้อย่างเต็มที่ คือให้เข้าเรียนในโรงเรียนการเรือนจนมีฝีมือ

นางจันทร์เห็นว่าบุตรชายยังเป็นโสดอยู่ และอัญชนาก็ยังไม่มีคู่ คุณสมบัติก็เหมาะสม จึงขอเธอจากคุณหญิงเพ็งมาเป็นสะใภ้ คุณหญิงไม่ขัดข้อง ทั้งคู่จึงได้มาเป็นสามีภรรยากัน โดยที่ไม่เคยพบกันมาก่อนเลย ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ได้เป็นเจ้าภาพจัดการสมรสให้เมื่อวันที่ 5 มกราคม 2492

สุธีกับอัญชนามีบุตรสาวด้วยกัน 1 คน คือ จิระพรรณ

 

ผู้โอบอ้อมรัฐบุรุษอาวุโส

ปรีดี พนมยงค์ ระลึกถึงสุธีว่า “ไม่ว่าข้าพเจ้าจะอยู่ในฐานะและสภาพอย่างไร ทางด้านครอบครัวสุธีก็มิได้เปลี่ยนแปลง เคยปฏิบัติอย่างไรก็คงเป็นอย่างเช่นเคย …เมื่อข้าพเจ้าต้องลี้ภัยการเมือง สุธีได้เป็นผู้หนึ่งที่ช่วยเหลือให้ข้าพเจ้าพ้นภัย ข้าพเจ้าระลึกถึงบุญคุณของสุธีอยู่เสมอ”

กล่าวคือหลัง ‘ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์ 2492’ ประสบความล้มเหลว ปรีดีกลายเป็นผู้ร้ายที่มีสินบนนำจับราคาสูง ต้องหลบหนีจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด แต่ก็ได้รับการโอบอ้อมอารีจากสุธีผู้นี้ ดังที่อัญชนา ภรรยาของเขาเล่าว่า เช้าวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ท่านผู้หญิงพูนศุขเรียกสุธี (ขณะนั้นเป็นปลัดอำเภอพระโขนง) ไปพบ เล่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นให้ฟัง และขอให้สุธีหาที่สำหรับพาปรีดีไปพัก

ทีแรกสุธีจะให้ไปพักที่บ้านกำนันเฉลิมชัย แต่อัญชนาทักว่าไม่สมควรเพราะด้านหน้าเป็นคลองแสนแสบ ด้านหลังเป็นท้องนา และการไปบ้านนี้ต้องลงเรือจ้างที่ตลาดผ่านผู้คน  เธอจึงเสนอว่า “บ้านฉางเกลือที่คุณอุดรพักที่เราไปเยี่ยมเมื่อวันก่อนนี้ ที่นั่นเหมาะที่จะให้ท่านไปพัก” แต่สุธีแย้งว่าบ้านนั้นไม่ใช่ของอุดร เป็นบ้านพักของคุณอาเขา แล้วคุณอาเขาจะยอมหรือ  เธอจึงบอกว่าถ้าสุธีไปเล่าให้อุดรฟัง เขาเป็นเห็นใจเป็นแน่ สุดท้ายก็เป็นไปตามคาด อุดรยอม แต่จะไม่บอกให้คุณอาทราบ  และในคืนนั้นเอง ที่สุธีพาปรีดีไปพักที่บ้านฉางเกลือ

โดยบ้านฉางเกลือที่ว่านี้ อยู่ในบริเวณกว่า 20 ไร่ของบริษัทเกลือไทยฝั่งธนบุรีริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานสาทร อันเป็นที่ตั้งของตึกสุภาคารในเวลาต่อมา สมัยนั้นร่มรื่นไปด้วยไม้ผล ด้านหน้าริมน้ำเป็นโกดังสินค้า ตัวตึกตั้งลึกเข้าไปในสวนประมาณ 100 เมตร รอบๆ ไม่มีบ้านใกล้เรือนเคียง

บ้านฉางเกลือที่ปรีดีมาหลบซ่อน ห้องที่ปรีดีพัก อยู่ชั้นบนด้านขวาของตึก (ภาพนี้ถ่ายก่อนที่จะถูกทุกทิ้งในช่วงปี 2518)
บ้านฉางเกลือที่ปรีดีมาหลบซ่อน ห้องที่ปรีดีพัก อยู่ชั้นบนด้านขวาของตึก (ภาพนี้ถ่ายก่อนที่จะถูกทุกทิ้งในช่วงปี 2518)

สำหรับ อุดร รักษมณี เอง เขาอธิบายว่า “ผมเองมีความเลื่อมใสในตัวท่านอยู่แล้ว ท่านเป็นคนดี ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติอย่างมากมาย … ผมศรัทธาท่านอยู่แล้ว ตกลงตัดสินใจรับ  สถานที่รับก็เหมาะสม ไม่มีใครอยู่มากมาย เราสามารถที่จะควบคุมสถานการณ์ได้  ก่อนที่สุธีจะตัดสินใจ ได้ให้คุณปาลไปดูสถานที่ด้วย ทั้งสองเห็นพ้องกันว่าที่นี่เหมาะดี  และอีกอย่างผมก็เป็นเพื่อนรักสุธี สุธีเคารพท่านมาก แล้วก็เป็นห่วงอยากให้ท่านปลอดภัย เมื่อสุธีเห็นว่าไว้ใจได้ ผมก็ตัดสินใจรับทันที”

อุดร รักษมณี ผู้เป็นเพื่อนกับสุธีมาตั้งแต่ชั้นประถม รักและสนิทสนมกันเหมือนญาติ ไปมาหาสู่ไปกินนอนที่บ้านกันอยู่เสมอ ได้สรุปคุณลักษณะของสุธีไว้ว่า “สุธีเป็นผู้เข้มแข็งอดทน มีความกตัญญูกตเวทีอย่างหาที่เปรียบมิได้” ซึ่งไม่เกินจริงเลย

ต้องไม่ลืมว่าในเวลาที่ปรีดีหลบซ่อนตัวนั้น มีการประกาศให้สินบนนำจับปรีดีเป็นเงินมากด้วย  วันหนึ่งปรีดีก็ถามอุดรเหมือนกันถึงเรื่องนี้ เขาตอบว่า “ผมมีอุดมคติอยู่อย่างหนึ่ง คือว่า รับปากจากเพื่อนแล้ว ก็ต้องการที่จะรับใช้ประเทศชาติ ก็ไม่ได้คิดอะไร  จริงๆ นะ รักสุธีมาก อยากให้สุธีสบายใจได้  แล้วก็อยากให้ท่านรอดพ้นภยันตราย คือจะได้มีโอกาสทำประโยชน์ให้ประเทศชาติต่อไป”

ตรงกับที่ปรีดีบันทึกเอาไว้ว่า “เขาได้กรุณาให้ที่พักแก่ข้าพเจ้าตลอดระยะเวลา 5 เดือน แม้ว่ารัฐบาลตั้งสินบนนำจับด้วยราคาสูงแก่ผู้ที่บอกที่ซ่อนของข้าพเจ้า แต่ผู้รักความเป็นธรรมผู้นี้ ก็ไม่ได้มีความอยากได้ผลประโยชน์อันนี้เลย”

อุดรรักษาความลับเรื่องนี้เป็นอย่างดี รวมถึงกิ่ง ภรรยาของเขา อดีตอาจารย์วัฒนาวิทยาลัย ที่ช่วยดูแลปรีดี  อุดรเล่าต่อไปว่าในเวลานั้นภรรยาของตนกำลังตั้งครรภ์บุตรคนที่ 2 เมื่อปรีดีมาพักด้วย จึงต้องให้คนช่วยงานในบ้านออกไปเพื่อรักษาความลับ งานบ้านเช่นการเทกระโทน การตักน้ำขึ้นไปให้ปรีดีอาบ จึงตกเป็นภาระของอุดร กิ่ง และน้องของเธอ

ส่วนการสื่อสารกับครอบครัวนั้นมี อัญชนาเป็นสื่อกลาง เพราะเป็นคนในบ้านป้อมเพชร์ของท่านผู้หญิงพูนศูขมาก่อน ที่พิเศษก็คือทุกสิ่งทุกอย่างที่จะสื่อสารกันนั้นต้องใช้คำพูด จะจดหรือเขียนโน้ตอะไรไม่ได้เลย เพื่อไม่ให้มีหลักฐานใดๆ

จนเมื่อกิ่งท้องโตขึ้นเรื่อยๆ ปรีดีขอให้ท่านผู้หญิงพูนศุขรีบหาทางออกนอกประเทศโดยเร็ว เพราะเกรงใจคนท้องที่ต้องมาคอยดูแล และหากเธอคลอดลูกเมื่อไหร่ เขาจะเป็นภาระเปล่าๆ ดังที่อัญชนาเล่าไว้ว่า “ท่านเกรงใจคุณอุดรกับคุณกิ่ง ท่านพูดอยู่เรื่อยนะคะ แหม เขาดีเหลือเกิน”

ในที่สุด ท่านผู้หญิงพูนศุขได้วางแผนให้ปรีดีหลบหนีไปยังประเทศสิงคโปร์ ในวันที่ 6 สิงหาคม อันเป็นวันครบรอบวันตายของนางลูกจันทน์ แม่ของปรีดี เพราะอย่างน้อยจะได้มีกำลังใจว่าคุณแม่ย่อมจะคุ้มครองลูกชาย  ในเย็นวันนั้นเองปรีดีปลอมตัวเป็นช่างไฟฟ้า แล้วลงเรือหาปลาลำเล็กออกไป โดยมี ร.ต. อมฤต วิสุทธิธรรม รน. เป็นกัปตัน จนมาขึ้นฝั่งที่สิงคโปร์ได้อย่างปลอดภัย

อุดร รักษมณี, ท่านผู้หญิงพูนศุข, อัญชนา โอบอ้อม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536
อุดร รักษมณี, ท่านผู้หญิงพูนศุข, อัญชนา โอบอ้อม เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2536

 

อุปนิสัย

สุธีเป็นคนสุภาพ โอบอ้อมอารี เป็นคนอ่อนน้อมกับบุคคลทั่วไป แม้จะมีตำแหน่งหน้าที่ราชการสูงก็ไม่ถือตัว จนเป็นที่รักใคร่ของญาติมิตร และผู้คนที่ได้รู้จัก

เขาเป็นคนใจเย็น สุขุม  สุธีไม่เคยตีลูกเลยตั้งแต่เล็กจนโต เมื่อเธอทำผิด เขาจะชี้แจงเหตุผลให้ฟังโดยไม่ใช้อารมณ์ดุว่า

ความเป็นคนรักครอบครัวของเขา ปรากฏแก่เมียและลูกของเขาอย่างจับใจ  ไปงานไหนก็มักไปด้วยกัน แต่ถ้าวันไหนอัญชนาออกไปทำธุระนอกบ้าน แล้วสุธีไม่ได้ไปด้วย เขามักบ่นเป็นห่วง และคอยเธอกลับมาร่วมโต๊ะกินข้าวเย็น แม้ลูกสาวขอให้กินเสียก่อน เขาก็ไม่ยอม

สุธีเป็นคนมีระเบียบเรียบร้อยอยู่เสมอ ของใช้ทุกชิ้นต้องจัดเอง วางเอง หนังสือทุกชนิดก็จัดเข้าแฟ้ม และจดไว้บนแฟ้ม วางเข้าที่เป็นระเบียบ เมื่อต้องการใช้ก็หยิบได้ทันที  หรือจนในคราวสุดท้ายของชีวิตที่อยู่ในโรงพยาบาล เขายังปรารภกับภรรยาว่า “เรียบร้อยไหมเธอ … กางเกงนะซิ ดูให้เรียบร้อยนะ อย่าให้หลุดลุ่ยไม่เรียบร้อย เผื่อพยาบาลเข้ามา เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว ทำอะไรต้องให้เรียบร้อย อย่าให้เขาว่าได้ ” เพราะปกติ เขาแต่งตัวสะอาดเรียบร้อย การแต่งตัวจะต้องเข้าชุดกันหมดทุกอย่าง

นอกจากนี้แม้เมื่อป่วยเข้าโรงพยาบาลแล้ว ยังมีจิตใจดี ยิ้มแย้มและขอบคุณพยาบาลทุกครั้งที่เข้ามาดูแล จนพวกเธอเอ่ยปากชมผู้ป่วย

สุธีเป็นหัวหน้าคณะรำกลองยาว เนื่องในงานสงกรานต์ จังหวัดปทุมธานี
สุธีเป็นหัวหน้าคณะรำกลองยาว เนื่องในงานสงกรานต์ จังหวัดปทุมธานี

ช่วงท้ายของชีวิต

ในการเข้าโรงพยาบาลครั้งสุดท้ายของสุธีที่โรงพยาบาลเพชรเวช ตั้งแต่วันที่ 19 พฤษภาคม 2525 เนื่องจากมือข้างซ้ายชาไม่มีแรง ตรวจพบว่าเส้นเลือดฝอยในสมองตีบ ทำให้มือชาเป็นอาการของอัมพฤต และมีโรคหัวใจแทรกจากเส้นเลือดฝอยที่หัวใจอุดตัน  สุธีบ่นกับอัญชนา คู่ชีวิตของเขาว่า “ถ้าเป็นอัมพฤตและไม่หาย ก็จะกลายเป็นคนที่ไม่มีค่า ทำคุณประโยชน์ให้แก่สังคมไม่ได้”  ดังที่เขาพูดอยู่เสมอว่า “เกิดมาทั้งที ถ้าไม่ได้สร้างประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง ก็เสียชาติเกิด”

แล้วในวันที่ 24 พฤษภาคม 2525 สุธีก็จากไปด้วยโรคเส้นเลือดที่หัวใจอุดตัน สิริรวมอายุได้ 64 ปี 7 เดือน 19 วัน

พระวินัยโสภณ วัดจันทน์กะพ้อ เจ้าคณะจังหวัดปทุมธานี (ธรรมยุต) ในเวลานั้น กล่าวถึงความตายของสุธีไว้ว่า “เมื่อต้องมาถึงแก่อนิจกรรมในขณะที่ชีวิตยังเป็นประโยชน์ต่อสังคม จึงเป็นที่อาลัยระลึกถึงของปิยชนโดยทั่วไป”  ขณะที่สัญญา ธรรมศักดิ์ ก็แสดงความเสียดายในทำนองเดียวกันว่า “ถ้าท่านยังมีชีวิตอยู่ จะทำประโยชน์ได้อีกมาก”

ส่งท้าย

น่าเสียดายที่ในชั่วชีวิตของเขา สุธีไม่เคยบันทึกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับรัฐบุรุษอาวุโส ปรีดี พนมยงค์ เอาไว้เลย คงจะไม่เกินเลยไปนักที่จะกล่าวว่าคงเป็นเพราะสุธีนั้นทำความดีด้วยหัวใจ ทำงานอย่างปิดทองหลังพระ และรู้สึกว่าการกระทำที่แสดงความกตัญญูกตเวทีเป็นเรื่องปกติธรรมดา

ทั้งๆ ที่การที่สุธีจัดหาที่พักที่ปลอดภัยของคนที่ไว้ใจได้ให้กับปรีดี ในยามที่เขากลายเป็นคนที่ทางการตามล่านั้น เป็นข้อต่อที่สำคัญมากในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ที่ช่วยไขปริศนาให้เราได้ว่า ทำไมปรีดีจึงสามารถหลบซ่อนตัวในประเทศได้นานกว่า 5 เดือน โดยทางการไม่ทราบเลย

มิตรภาพของสุธี โอบอ้อม และอุดร รักษมณี ก็เป็นความสัมพันธ์ที่น่านับถือ  ความรัก ความเข้าใจ ความไว้ใจกันและกันเช่นนี้ล้วนเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์ทุกคน แต่จะมีสักกี่คนที่มีเพื่อนอย่างนี้ได้ในชีวิต

และบ้านฉางเกลือนี่เองที่เป็นถิ่นที่พักสุดท้ายของปรีดี พนมยงค์ ในมาตุภูมิของเขา ก่อนที่จะต้องออกไปตายในแผ่นดินอื่น

ที่มา

  • ปรีดี พนมยงค์, ชีวิตผันผวนของข้าพเจ้าและ 21 ปีที่ลี้ภัยในสาธารณรัฐราษฎรจีน, แปลโดย จำนงค์ ภควรวุฒิ และพรทิพย์ โตใหญ่ (กรุงเทพฯ: เทียนวรรณ, 2529) ,น. 117.
  • วาณี พนมยงค์ สายประดิษฐ์, “บันทึกอันระทึกใจ,” ใน วัน “ปรีดี พนมยงค์” 11 พฤษภาคม 2538, น.63 – 74.
  • สนทนากับสุดาและดุษฎี พนมยงค์ ที่อาคารชุดบ้านสาทร เมื่อวันที่ 31 มกราคม
  • อนุสรณ์พระราชทานเพลิงศพ นายสุธี โอบอ้อม ป.ช.,ป.ม. ณ เมรุพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส วันเสาร์ที่ 16 ตุลาคม 2525.
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติสุรินทร์ [http://lrls.nfe.go.th/LRLS/frontend/theme/view_page.php?ID_Page=10189]

[1] ปัจจุบันคือธนาคารกรุงไทย ที่อยู่ตรงข้ามบ้านสุริยาศัย

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save