fbpx

จากข้อเรียกร้องของแรงงาน สู่รัฐสวัสดิการเพื่อทุกคน กับ ‘ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี’

‘สวัสดิการแรงงาน’ คือประเด็นที่สังคมไทยขับเคลื่อนมาอย่างยาวนาน และยิ่งทวีความเข้มข้นมากยิ่งขึ้นเมื่อข้อเรียกร้อง ‘รัฐสวัสดิการ’ ถูกจุดติดขึ้นมาอีกครั้งจากเสียงเรียกร้องของมวลชนที่ออกมาประท้วงรัฐบาลในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในหน้าสื่อที่ให้พื้นที่กับประเด็นดังกล่าวมากยิ่งขึ้น

ยิ่งในวันที่ ‘ข้าวของแพง-ค่าแรงถูก’ ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ปัญหาคุณภาพชีวิตและปากท้องของแรงงานยิ่งกลายเป็นประเด็นร้อนอีกครั้ง 101 สนทนากับ รศ.ดร.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ขับเคลื่อนเรื่องรัฐสวัสดิการ ว่าด้วยการต่อสู้เรื่องสวัสดิการแรงงาน ผลกระทบของระบบทุนนิยมต่อชีวิตผู้คน และเส้นทางสู่ ‘รัฐสวัสดิการ’ ที่หลายคนมองว่าอาจดูเหมือนฝันที่ไกลเกินเอื้อม

ภาพใหญ่สถานการณ์แรงงานไทย

ษัษฐรัมย์ฉายภาพให้เห็นปัญหาจากระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมใหม่ (Neoliberalism) ที่เกิดขึ้นในสังคมไทย ผลกระทบที่ตามมาคือ ‘คนทำงาน’ หรือแรงงานจำนวนประมาณ 35-37 ล้านคน ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศกลายเป็นกลุ่มที่เผชิญกับความเปราะบาง รายได้ไม่แน่นอนและความยากจน อีกทั้งไม่มีอำนาจสามารถต่อรองสถานะทางเศรษฐกิจของตนเองได้ เนื่องจากเงื่อนไขทางเศรษฐกิจบีบบังคับให้ตกอยู่ในภาวะไร้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กล่าวคือ ต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ค่าตอบแทนในการหาเลี้ยงครอบครัว แม้จะไม่ใช่อาชีพที่ชอบและมีค่าตอบแทนต่ำก็ตาม

“สภาวะที่เกิดขั้นกับผู้ใช้แรงงานไทยในปัจจุบัน คือคนส่วนมากในวัยทำงานถูกกักขังด้วยชาติกำเนิด ต่อให้คุณพยายามเต็มที่ ขยันเรียน อดออม ลงทุน จากสถิติของธนาคารโลกให้ข้อมูลว่า ด้วยสภาพความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ถ้าคุณเกิดในครอบครัวที่มีสถานะทางเศรษฐกิจครึ่งล่างของสังคม (bottom half) มีเพียงแค่ 1 คนจาก 7 คนเท่านั้นที่จะมีโอกาสขยับสถานะทางเศรษฐกิจขึ้นไปเป็น 25% ส่วนบนของสังคมได้ เพราะฉะนั้น การเลื่อนสถานะทางเศรษฐกิจสังคมจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก สภาวะที่แรงงานไทยถูกขังด้วยชาติกำเนิดยิ่งทวีคูณมากเมื่อเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น คนในวัยทำงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานรุ่นใหม่อยู่กับภาวะที่เรียกกันว่าเป็นแรงงานเสี่ยง เพราะแบกความเสี่ยงแทนชนชั้นนายทุน ทำงานหนักให้กลุ่มทุนมั่งคั่งมากขึ้น แต่มีอำนาจต่อรองได้น้อยลง” ษัษฐรัมย์กล่าว

‘ขบวนการเคลื่อนไหวด้านแรงงาน’ หรือที่ษัษฐรัมย์เรียกว่า ‘ขบวนการต่อสู้ทางชนชั้น’ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีพลวัตขึ้นลงตามสถานการณ์ทางการเมือง ในช่วงที่ปกครองภายใต้รัฐบาลเผด็จการ ขบวนการแรงงานอาจจะถูกจัดการหรือถูกทำให้เชื่องด้วยการกลั่นแกล้งทางกฎหมาย ทำให้สาบสูญ หรืออุ้มหาย อย่างไรก็ดีในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ประเด็นสิทธิแรงงานและคำว่า ‘รัฐสวัสดิการ’ ได้รับความสนใจในวงกว้างจากคนหลากวัยหลายอาชีพ ษัษฐรัมย์มองว่า ปัจจุบันคือยุคสมัยที่คนเริ่มรวมตัว มีข้อเรียกร้องในทิศทางเดียวกันที่เป็นรูปธรรมและท้าทายมากยิ่งขึ้น เมื่อเทียบกับในอดีตที่รัฐสวัสดิการยังอยู่ในความสนใจของคนเฉพาะกลุ่ม

ข้อเรียกร้องเพื่อรัฐสวัสดิการที่ดีกว่าเดิม

ษัษฐรัมย์กล่าวว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ข้อเสนอถึงสิทธิและสวัสดิการในรูปแบบ ‘รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า’ กลายเป็นข้อเสนอรูปธรรมที่ได้รับฉันทามติร่วมกันของผู้คนในสังคมมากขึ้นเรื่อยๆ จากภาคประชาชน สู่ขบวนการคนรุ่นใหม่ และส่งไม้ต่อไปยังสื่อมวลชนและขยับเข้าสู่วงวิชาการ

“รัฐสวัสดิการถ้วนหน้า คือระบบที่ให้ความสำคัญกับชีวิตและคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นอันดับหนึ่ง เงินบาทแรกจนกระทั่งบาทสุดท้ายต้องถูกเอามาใช้เพื่อสวัสดิการของประชาชนก่อน เมื่อเหลือค่อยนำไปทำอย่างอื่น” ษัษฐรัมย์อธิบายนิยามของรัฐสวัสดิการ พร้อมยกตัวอย่างข้อเสนอของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ ถึงสวัสดิการที่ดีกว่า เช่น ข้อเรียกร้องกลุ่มบำนาญถ้วนหน้าที่ต้องการปฏิรูปเงินบำนาญจากเบี้ยผู้สูงอายุ 600 บาทให้กลายเป็น 3,000 บาท ข้อเรียกร้องการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย ข้อเรียกร้องเงินอุดหนุนเด็กเล็กถ้วนหน้า ไปจนถึงการปฏิรูประบบประกันสังคม เป็นต้น ซึ่งเมื่อเชื่อมร้อยข้อเสนอของขบวนการเคลื่อนไหวต่างๆ แล้ว อาจสรุปได้ว่าเป็นสวัสดิการที่เริ่มตั้งแต่จากครรภ์มารดาจนถึงเชิงตะกอน

นอกจากนี้ ษัษฐรัมย์ยังเน้นย้ำถึงความจำเป็นของสวัสดิการถ้วนหน้า โดยตั้งข้อสังเกตว่าประเทศไทยมักพยายามหาระบบสวัสดิการที่จัดสรรงบประมาณให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนที่สุด แต่จากการพิสูจน์ทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม พบว่าระบบสวัสดิการที่ให้อย่างถ้วนหน้า ไม่มีเงื่อนไขตามช่วงอายุจะทำให้ประชาชนสามารถวางแผนทางการเงินได้ดีกว่า และยังช่วยคงไว้ซึ่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของประชาชนที่จะได้รับบริการหรือความช่วยเหลือในฐานะสิทธิขั้นพื้นฐานที่ได้อย่างเท่าเทียมกันในสังคม

แม้ประเทศไทยจะยังห่างไกลจากคำว่ารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า อย่างไรก็ดี ประเทศไทยมีความก้าวหน้าของนโยบายที่ดูแลสวัสดิการในบางประการเช่น 1) หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นในรัฐบาลไทยรักไทยช่วงปี 2544 แม้ในเวลาดังกล่าวจะมีข้อกังวลหลายประการก่อนเริ่มดำเนินนโยบาย เช่น ประชาชนจะไม่ดูแลสุขภาพ แพทย์จะต้องทำงานหนักจนตัดสินใจออกจากราชการ หรือการใช้งบผูกพันสูงถึง 60,000-70,000 ล้านบาทต่อปี แต่ในปัจจุบัน พบว่าหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสามารถรักษาชีวิตประชาชนจำนวนมาก และมีการใช้งบผูกผัน 200,000 ล้านบาทต่อปี  2) เบี้ยผู้สูงอายุถ้วนหน้า ในช่วงรัฐบาลประชาธิปัตย์ปี 2552 ที่เปลี่ยนจากการใช้ระบบสงเคราะห์ พิสูจน์ความยากจนกับหน่วยงานท้องถิ่นมาเป็นรูปแบบถ้วนหน้า ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในประเทศไทยและลดการคอร์รัปชันเบี้ยผู้สูงอายุได้ค่อนข้างดี

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากย้ำคือ ประเทศไทยไม่ได้เป็นอื่นกับแนวคิดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า ไม่ได้เป็นของแปลกแยกแปลกใหม่ ผมมองว่าประเทศไทยมีศักยภาพทั้งในประเด็นเรื่อง GDP งบประมาณรายจ่ายประจำปี และการเก็บภาษี”

ษัษฐรัมย์เสริมว่าแนวทางการเริ่มต้นเป็นรัฐสวัสดิการสามารถเริ่มได้ด้วยสวัสดิการตามช่วงวัย ซึ่งโครงสร้างปัจจุบันสามารถทำได้ทันที ตั้งแต่การให้เงินเด็กเล็กถ้วนหน้า ซึ่งในปัจจุบันในระบบประกันสังคมก็มีการให้เงินเด็กแรกเกิดทุกคน 800 บาทถ้วนหน้า การให้เงินเดือนสำหรับนักเรียน นักศึกษา ไล่ไปจนกระทั่งปรับประกันสังคมให้ครอบคลุมแรงงานอิสระให้เป็นแบบระบบก้าวหน้าระบบเดียว รวมถึงสวัสดิการสำหรับกลุ่มแรงงานที่ย้ายเข้ามาในกรุงเทพมหานครในช่วง 5 ปีแรกของการทำงานผ่านการให้เงินอุดหนุนค่าที่พักและค่าเดินทาง

เส้นทางสู่รัฐสวัสดิการของประเทศไทย เป็นจริงได้แค่ไหน?

แม้คาดว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์จากรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าจ ช่วยทำให้เด็กที่เกิดในครอบครัวรายได้ไม่สูงสามารถขยับชนชั้นทางสังคมไปสู่ชนชั้นกลาง เพื่อที่จะเป็นแรงงานในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต แต่คำถามที่สำคัญคือ โครงสร้างงบประมาณของไทยมีความพร้อมในการดำเนินนโยบายรัฐสวัสดิการถ้วนหน้าหรือไม่

ษัษฐรัมย์ให้คำตอบว่า หากคิดบนฐานเดียวกันกับโมเดลรัฐสวัสดิการนอร์ดิกโมเดล ซึ่งษัษฐรัมย์มองว่าเป็นโมเดลรัฐสวัสดิการที่เป็นมิตรกับส่วนใหญ่ รัฐสวัสดิการตามมาตรฐานค่าครองชีพไทยสามารถเกิดขึ้นได้จริง จากการคำนวณตัวเลขฐานงบประมาณรายจ่ายประจำปีของประเทศ พบว่างบประมาณเพื่อรัฐสวัสดิการจะใช้งบสูงสุดประมาณ 1.6-1.7 ล้านล้านบาท คิดเป็น 50-55% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

“ผมคิดว่าปัญหาใหญ่ไม่ใช้การตั้งคำถามว่างบจะมาจากไหน แต่คำถามใหญ่คือ คุณเชื่อไหมว่าแต่ละคนควรจะได้รับสวัสดิการพื้นฐานที่เท่ากัน ถ้าเราเชื่อ เราจะสามารถออกแบบให้มีงบประมาณตรงนี้ได้” ษัษฐรัมย์กล่าว พร้อมให้ความเห็นถึงประเด็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจในการดำเนินนโยบายสวัสดิการถ้วนหน้าว่า หลายครั้งเป็นการยืนหยัดเจตนารมณ์ว่า ‘คนเท่ากัน’ โดยยกตัวอย่างการเลิกทาส และจ่ายค่าตอบแทนให้คนผิวดำในสหรัฐฯ ที่จะแม้ไม่มีความคุ้มค่าเศรษฐกิจ แต่การตัดสินใจเลิกทาสสะท้อนถึงการยืนยันว่ามนุษย์เท่ากัน การจะเลือกใช้นโยบายจัดสรรเงินบำนาญถ้วนหน้า 3,000 บาทให้แก่ทุกคน ไม่ว่าจะทำอาชีพคนเก็บขยะหรืออธิบดีหรือไม่ก็เป็นคำถามสำคัญที่สะท้อนถึงความเชื่อเรื่องคนเท่ากัน ซึ่งถ้าไม่เชื่อเรื่องดังกล่าวและพอใจในการรักษาสภาวะความเหลื่อมล้ำอาจจะทำให้มีคำถามอื่นๆ ตามมา เช่น จะทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อหรือไม่ จะทำให้คนไม่มีประสิทธิพลในการทำงานหรือไม่ เป็นต้น

เมื่อสังคมผ่านการตอบคำถามใหญ่ดังกล่าวแล้ว หากทุกคนมีฉันทามติที่เชื่อว่าคนเท่ากัน ษัษฐรัมย์สะท้อนว่า ก้าวแรกของสวัสดิการถ้วนหน้าคือการที่ผู้คนในสังคมจะต้องร่วมพูดคุยเพื่อสะท้อนความต้องการที่แท้จริงของประชาชน และไม่ให้อภิสิทธิ์ชนเป็นผู้ออกแบบสวัสดิการแทนคนส่วนใหญ่ในประเทศในท้ายที่สุด เขาถ่ายทอดประสบการณ์ว่าในฐานะนักวิชาการที่ทำงานวิจัยและขับเคลื่อนประเด็นรัฐสวัสดิการมาหลายปี การเปลี่ยนแปลงการรับรู้ของผู้คนในสังคมกลับไม่เกิดจากวงวิชาการ แต่เกิดขึ้นเมื่อผู้คนรวมตัว โดยเฉพาะในช่วงขบวนการเคลื่อนไหวทางการเมือง ในขั้นแรก การเปิดบทสนทนาถึงรัฐสวัสดิการที่ประชาชนต้องการจึงเป็นเรื่องสำคัญ เพื่อให้เกิดกระแสกดดันผู้มีอำนาจ ส่วนด้านพิมพ์เขียวและข้อเสนอนโยบายทางการคลังอื่นๆ ก็มีผู้นำเสนอไว้จำนวนมาก

รัฐสวัสดิการ-ทุนนิยม-ความเหลื่อมล้ำ

เมื่อถามถึงความเป็นไปได้ในการลดช่องว่างของความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยก่อนการสร้างรัฐสวัสดิการ ษัษฐรัมย์ให้ความเห็นว่า ทั้งรัฐสวัสดิการ ประชาธิปไตย การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำและสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องเดียวกันและเกิดขึ้นพร้อมกันได้ พร้อมตั้งข้อสงสัยว่าการแก้ไขความเหลื่อมล้ำโดยที่ไม่มีรัฐสวัสดิการจะเกิดขึ้นได้อย่างไร

“ถ้าคนเติบโตมาในสังคมเสมอภาคและหันมามองในสังคมไทย จะพบว่าสังคมไทยมีอะไรที่ผิดปกติเยอะมากระดับที่ระบบสามารถออกแบบให้คนทั่วไปต้องทำงานประมาณ 1,000 ปีถึงจะมีรายได้และทรัพย์สินเท่ากับคนที่รวยอันดับที่ 100 ของประเทศ โคตรอุดมคติเลย แต่ทุนนิยมอุตส่าห์สร้างมันขึ้นมาได้ และเราก็รู้สึกว่ามันโอเคนะ เราเจียมเนื้อเจียมตัวว่าไม่สามารถที่จะเป็นไปได้อย่างพวกเขา เราไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ คนไทยต้องใช้เวลา 7 ชั่วอายุทำงานที่เราจะสามารถสลัดความจนโดยกำเนิดได้ ถ้าไม่นับว่าถูกลอตเตอรีหรืออื่นๆ แต่ว่าคนในประเทศรัฐสวัสดิการใช้เวลา 2 ชั่วอายุทำงาน หมดรุ่นแม่ ความจนและความซวยของแม่จะไม่ถูกส่งต่อมาที่เรา” ษัษฐรัมย์กล่าวถึงปัญหาของทุนนิยมที่สร้างวงจรความเหลื่อมล้ำอย่างไม่จบสิ้น

แต่ความท้าทายที่ทั่วโลกเผชิญคือ ยังไม่แน่ใจว่าจะใช้ระบบไหนมาแทนที่ทุนนิยม และคงไม่ใช่หน้าที่ของประชาชนในการแก้ต่างหรือปกป้องทุนนิยม เนื่องจากผู้มีอำนาจกำลังปกป้องระบบดังกล่าวอยู่แล้ว

สำหรับประเทศไทย มีการใช้ระบบทุนนิยมมาอย่างยาวนาน เมื่อศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงยุคสงครามเย็นจะพบว่ามีความเชื่อมโยงระหว่างทุนนิยมผูกขาดร่วมกับทุนทหาร และความสัมพันธ์ระหว่างทุนผูกขาดกับรัฐบาลยังคงแนบแน่นจนถึงในปัจจุบัน รวมถึงมีแนวโน้มที่ทั้งอำนาจและความมั่งคั่งจะเพิ่มพูนมากขึ้น ขณะเดียวกัน คนส่วนหนึ่งในสังคมก็เชื่อในกลไกตลาดเสรีว่า หากทำงานหนัก วางแผนชีวิตดีมากพอจะสามารถที่จะเอาชนะทุนนิยมได้ หรืออย่างน้อยที่สุดก็ปรารถนาให้ความโชคร้ายต่างๆ พัดผ่านจากชีวิตตนเอง โดยไม่ได้รับผลกระทบจากทุนนิยม ษัษฐรัมย์ให้ความเห็นว่า ยังคงแคลงใจว่าหากเกิดวิกฤติทางเศรษฐกิจ ผู้คนที่ไม่มีอำนาจต่อรองในระบบทุนนิยมจะดำเนินชีวิตอย่างไร

อย่างไรก็ดี ษัษฐรัมย์มองเห็นความเปลี่ยนแปลงในการต่อสู้กับทุนนิยม โดยหยิบยกตัวอย่างการรวมตัวต่อสู้ของคนตัวเล็กตัวน้อย เพื่อต่อต้านทุนผูกขาดและเรียกร้องสวัสดิการที่พวกเขาควรจะได้รับ อย่างแรงงานแพลตฟอร์ม กลุ่มแรงงานไรเดอร์ที่นัดหยุดงานมากกว่า 10 ครั้งในช่วงปี 2564  และแต่ละครั้งของการนัดหยุดงานก็นำสู่สัญญาณการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก

หลากคำถามถึง ‘รัฐสวัสดิการ’ และ ‘ทุนนิยม’

ยิ่งรัฐสวัสดิการมีแนวโน้มที่จะกลายเป็นข้อเรียกร้องทางการเมืองกระแสหลักมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นยิ่งตามมาด้วยการตั้งคำถามและถกเถียง คำถามของสังคมต่อรัฐสวัสดิการและระบบทุนนิยมส่วนหนึ่งปรากฏในช่วงถามตอบท้ายรายการ

Q: เหตุใดภาคประชาชนมองเห็นและเข้าใจโครงสร้างอำนาจทางการเมืองที่เป็นเผด็จการ ขณะที่มองไม่ค่อยเห็นปัญหาความเท่าเทียมทางชนชั้น รวมทั้งยังมีมุมมองแง่บวกต่อกลุ่มทุน

ต่อประเด็นดังกล่าว ษัษฐรัมย์อธิบายว่าการต่อสู้ในระบบทุนนิยม มีเงื่อนไขที่สำคัญคือการตัดเรื่องมิติทางชนชั้นออกจากการเมืองและทำให้การเมืองเป็นเรื่องรสนิยม

“ผมเคยตั้งคำถามอยู่เสมอกับนักศึกษาว่า ทำไมคนเงินเดือน 30,000 บาท ถึงเห็นอกเห็นใจคนเงินเดือน 300,000 บาทและรังเกียจคนเงินเดือน 13,000 บาททั้งๆ ที่เงินเดือน 13,000 บาทกับ 30,000 บาทใกล้กันกว่ามาก มีคำตอบหนึ่งที่ผมคิดว่าน่าสนใจ นักศึกษาเขาตอบว่าหรือว่าคนเงินเดือน 300,000 ดูใจดี มีศีลธรรม สุภาพ เรียบร้อย” ซึ่งษัษฐรัมย์มองว่า คำตอบนี้อาจสะท้อนนัยยะการเบี่ยงประเด็นเรื่องชนชั้นไปประเด็นอื่นแทน ทั้งๆ ที่เรื่องชนชั้นอยู่ในทุกเรื่อง และการรวมตัวเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงผ่านการขยายความคิดเรื่องชนชั้นก็ยังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น

ส่วนทัศนคติด้านบวกต่อกลุ่มทุน ษัษฐรัมย์ตั้งคำถามว่า คนไทยอาจเป็นชนชั้นกลางเทียมจำนวนมาก กล่าวคือคนไทยเปรียบเทียบชนชั้นผ่านรายได้ แต่ไม่ได้พิจารณาดัชนีอื่นๆ เช่น ภาระค่าใช้จ่ายคนในครอบครัว ทำให้คนไทยมีแนวโน้มที่จะตอบแบบสำรวจว่าตนเองเป็นชนชั้นกลางและคิดว่าสามารถเลื่อนระดับชั้นทางสังคมได้ ทั้งที่คุณภาพชีวิตยังไม่ใช่ชนชั้นกลาง อย่างไรก็ดี พวกเขาก็รู้สึกว่าไม่ใช่พวกเดียวกับคนรายได้ต่ำ นอกจากนี้ทัศนคติเชิงบวกต่อกลุ่มทุนยังมีที่มาจากการที่คนรวยในไทยสร้างค่านิยมหลายอย่างในสังคม โดยษัษฐรัมย์หยิบยกบทสนทนากับอาจารย์ด้านนิเทศศาสตร์ขึ้นมาอธิบายว่า เธอตั้งข้อสังเกตว่าคนรวยในไทยมีพฤติกรรมที่น่าจะต่างกับคนในประเทศอื่นอย่างเห็นได้ชัด กล่าวคือไม่มีความรู้สึกผิด (guilt) กับความละอาย (shame) ในความรวยท่ามกลางในสังคมที่เหลื่อมล้ำสูง พวกเขามีพื้นที่ที่จะขยายวิถีชีวิตในรูปแบบที่ชนชั้นกลางทั้งหลายพึงจะเป็นและเป็นตัวแทนของวิถีชีวิตที่สวยงามและปกติสุข ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าดึงดูดสำหรับคนในสังคมจำนวนหนึ่ง

Q: มีคำกล่าวว่า ‘รัฐบาลที่ไม่เป็นที่นิยม มักจะพยายามสร้างความชอบธรรมผ่านการสร้างนโยบายที่สร้างความนิยมให้แก่ประชาชน’ คิดเห็นอย่างไรหากสวัสดิการถูกนำมาใช้เป็นเพียงนโยบายที่สร้างความนิยม

ษัษฐรัมย์ให้ความเห็นว่า ในสมัยที่ศึกษาในระดับปริญญาตรีช่วงปี 2004-2008 เขาพยายามแยกความแตกต่างรัฐสวัสดิการกับประชานิยม เนื่องจากในอดีต ฝั่งสหรัฐฯ ใช้คำว่าประชานิยม (populism) เพื่อโจมตีผู้นำจากพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายที่เริ่มชนะการเลือกตั้ง เช่น ลูลาจากบราซิล หรืออูโก ชาเบซในเวเนซุเอลาว่า ใช้นโยบายที่หวังผลเฉพาะหน้า แต่หลังปี 2010 เป็นต้นมา คำว่าประชานิยมสำหรับฝ่ายขวาไม่ได้น่ากลัวอีกต่อไป เพราะมีฝ่ายขวาที่นำเสนอนโยบายประชานิยมเช่นเดียวกัน ฉะนั้น ในระดับสากล คำว่า ‘ประชานิยม’ มีความเป็นปีศาจน้อยลงและไม่ค่อยถูกใช้ในปัจจุบัน

ส่วนในประเทศไทย การกล่าวถึงประชานิยมมักเชื่อมโยงกับนโยบายของพรรคไทยรักไทย อย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ษัษฐรัมย์มองว่า หากรัฐสวัสดิการจะเป็นนโยบายที่ประชาชนชื่นชอบผ่านการสื่อสารทางการเมืองก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะแม้การสื่อสารนโยบายของนักการเมืองจะเกี่ยวพันกับผลประโยชน์ไม่มากก็น้อย แต่ในทางปฏิบัติ นักการเมืองย่อมเผชิญต่อการตรวจสอบ ตั้งคำถาม วิพากษ์วิจารณ์จากประชาชน ฉะนั้น ในทัศนะของษัษฐรัมย์ รัฐสวัสดิการกับประชานิยมจึงไม่ใช่คู่ขัดแย้งอย่างมีนัยยะสำคัญ

Q: แนวคิดรังเกียจคอมมิวนิสต์ของคนไทยเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้รัฐสวัสดิการเกิดขึ้นได้ยากหรือไม่

ต่อคำถามดังกล่าว ษัษฐรัมย์มองว่า สังคมไทยอาจกลัวฝ่ายซ้าย กลัวคอมมิวนิสต์ กลัวความเสมอภาคก็จริง แต่ตั้งแต่ทำงานเรื่องรัฐสวัสดิการมา กลับไม่เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์

“อาจจะโดนบอกว่าเป็นพวกเพ้อฝัน เพ้อเจ้อ แต่ผมคิดว่าในปัจจุบันคนไทยส่วนใหญ่ในประเทศนี้ไม่ได้เอ็นดูความเหลื่อมล้ำ และถ้านับจากยุคสงครามเย็น เรากำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นของรัฐสวัสดิการ ผมคิดว่ามันเป็นยุคสมัยที่เราอาจจะชนะและได้รัฐสวัสดิการมา มันอาจจะไม่ได้เป็นเรื่องอุดมคติ ทุนนิยมนี่อุดมคติกว่ารัฐสวัสดิการอีก ทุนนิยมที่เพอร์เฟ็กต์ผมไม่เคยเห็น แต่ผมเคยเห็นรัฐสวัสดิการเกิดขึ้น” ษัษฐรัมย์ทิ้งท้าย

MOST READ

Social Issues

27 Aug 2018

เส้นทางที่เลือกไม่ได้ ของ ‘ผู้ชายขายตัว’

วรุตม์ พงศ์พิพัฒน์ พาไปสำรวจโลกของ ‘ผู้ชายขายบริการ’ ในย่านสีลมและพื้นที่ใกล้เคียง เปิดปูมหลังชีวิตของพนักงานบริการในร้านนวด ร้านคาราโอเกะ ไปจนถึงบาร์อะโกโก้ พร้อมตีแผ่แง่มุมลับๆ ที่ยากจะเข้าถึง

กองบรรณาธิการ

27 Aug 2018

Social Issues

21 Nov 2018

เมื่อโรคซึมเศร้าทำให้อยากจากไป

เรื่องราวการรับมือกับความคิด ‘อยากตาย’ ผ่านประสบการณ์ของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า คนเคียงข้าง และบทความจากจิตแพทย์

ศุภาวรรณ คงสุวรรณ์

21 Nov 2018

Social Issues

22 Oct 2018

มิตรภาพยืนยาว แค้นคิดสั้น

จากชาวแก๊งค์สู่คู่อาฆาต ก่อนความแค้นมลายหายกลายเป็นมิตรภาพ คนหนุ่มเลือดร้อนผ่านอดีตระทมมาแบบไหน ‘บ้านกาญจนาฯ’ เปลี่ยนประตูที่เข้าใกล้ความตายให้เป็นประตูสู่ชีวิตที่ดีกว่าได้อย่างไร

ธิติ มีแต้ม

22 Oct 2018

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save