แรง เร็ว และรักษ์โลก น่าจะเป็นคำนิยามที่กล่าวถึงการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถ EV ในช่วงเวลานี้ได้ดี ในยุคที่เทรนด์การเดินทางแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกำลังมา ‘แรง’ เนื่องด้วยสภาพปัญหาภาวะโลกเดือด รถยนต์สันดาปภายในที่ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิงหลักอาจไม่ใช่ตัวเลือกแรกของคนขับรถรุ่นใหม่อีกต่อไป สะท้อนผ่านตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศที่ขยายตัว ‘เร็ว’ ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นและกำลังเติบโตราบรื่นในประเทศใหญ่ๆ อย่างจีน อินเดีย ฝรั่งเศส กระทั่งประเทศไทย ยอดขายดังกล่าวก็มีแนวโน้มจะทุบทำลายสถิติใหม่ในทุกปี
แต่ขณะเดียวกัน ภาพลักษณ์ยานพาหนะ ‘รักษ์โลก’ ของรถยนต์ประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะไม่ถูกตั้งคำถามเลย ถึงแม้รถยนต์ไฟฟ้าจะไม่มีภาพการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือมลพิษทางอากาศจากการสันดาปแบบเดียวกับรถที่ใช้น้ำมัน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงมากกว่านั้นคือภาพรวมของห่วงโซ่อุปทาน กระบวนการผลิตและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้าว่าดีต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
ตัวอย่างประเด็นที่ใกล้ตัวผู้ขับขี่มากที่สุดคือเรื่องแหล่งที่มาของพลังงานขับเคลื่อนรถยนต์ เพราะตราบใดที่กำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าส่วนใหญ่ในประเทศผู้ใช้งานยังคงขึ้นอยู่กับการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลแทนการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ ลม หรือน้ำ ต่อให้เปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าในฐานะยานพาหนะส่วนบุคคล ก็คงไม่อาจหลีกหนีจากห่วงโซ่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปได้
ต่อมาคือประเด็นใหญ่อย่างการผลิตแบตเตอรี่อันเป็นหัวใจสำคัญของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนประกอบของแบตเตอรี่ยอดนิยมประเภทลิเธียมไอออน เช่น โคบอลต์ นิกเกิล แร่แรร์เอิร์ธ ล้วนได้จากการทำเหมืองแร่ ซึ่งที่ผ่านมาก็มักปรากฏปัญหาเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน การใช้แรงงาน หรือผลกระทบจากกระบวนการผลิตต่อสิ่งแวดล้อมในชุมชนใกล้เคียงและระบบนิเวศองค์รวมอยู่เสมอ และถึงแม้ว่าการเข้าควบคุมมาตรฐานการผลิตอย่างเข้มงวดอาจช่วยลดปัญหาเหล่านี้ได้ แต่ข้อน่ากังวลคือจะดูแลได้ครอบคลุมแค่ไหนในภาวะที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้ารายใหญ่ต่างขยับขยายการลงทุนเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่วัตถุดิบหายาก และนับวันจะยิ่งแข่งขันยื้อแย่งกันอย่างดุเดือด
ต่อเนื่องจากการผลิต อีกประเด็นที่น่าขบคิดคือการจัดการขยะแบตเตอรี่หลังสิ้นอายุใช้งาน ปัจจุบันแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนของรถยนต์ไฟฟ้ามีอัตราการรีไซเคิลที่ต่ำมาก เมื่อเทียบกับขยะแบตเตอรี่ประเภทตะกั่ว-กรด โดยตัวเลขประมาณการจากผู้เชี่ยวชาญคาดว่ามีการรีไซเคิลเพียง 5% จากทั่วโลกเท่านั้น เนื่องจากแบตเตอรี่รถยนต์มีขนาดใหญ่ สร้างจากเซลล์ลิเธียมไอออนประกอบกันเป็นร้อยๆ เซลล์และบรรจุสารอันตรายหลายอย่างที่ถ้ารื้อถอนผิดวิธีก็อาจเกิดการระเบิดได้ ทำให้การจัดการขยะแบตเตอรีลิเธียมไอออนเป็นไปอย่างยากลำบากและยังเป็นประเด็นที่แม้กระทั่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าหลายเจ้าก็กำลังทดลองหาวิธีรับมืออยู่
พ้นไปจากคำถามเรื่องความ ‘รักษ์โลก’ ต่อตัวรถยนต์ไฟฟ้าข้างต้น อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแนบแน่นอย่าง ‘ยางรถยนต์’ เองก็พบเจอกับความท้าทายเมื่อตลาดรถยนต์ไฟฟ้าเติบโตเช่นเดียวกัน
ด้วยลักษณะโครงสร้างของรถยนต์ไฟฟ้าที่แตกต่างไปจากรถยนต์สันดาปภายใน ทั้งน้ำหนักมากกว่าจากการบรรทุกแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ -ที่มีแนวโน้มจะหนักขึ้นเรื่อยๆ หากผู้ขับขี่ต้องการให้รถวิ่งได้ระยะทางไกลขึ้น ใช้งานนานขึ้น- เครื่องยนต์มีแรงบิดสูง เร่งเครื่องไว แต่ทำงานเงียบ ทำให้ต้องการยางที่มีคุณสมบัติรองรับสมรรถนะของรถ เช่น ผลิตจากวัสดุแข็งแรงทนทาน รองรับน้ำหนักตัวรถและแบตเตอรี่ได้ มีดอกยางที่ออกแบบมาให้เพิ่มการยึดเกาะพื้นผิวถนน ลดการสึกกร่อนเพื่อยืดอายุการใช้งาน รวมถึงมีแรงต้านทานการหมุน (rolling resistance) ต่ำ เพื่อประหยัดพลังงาน และสามารถลดการเกิดเสียงขณะวิ่งให้ได้มากที่สุด
ผู้ผลิตยางจำนวนไม่น้อยจึงเลือกเปิดสายพานการผลิตยางรถยนต์ไฟฟ้าขึ้นมาโดยเฉพาะ หวังตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งานและสอดรับกับเทรนด์การเพิ่มจำนวนของรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ผู้ผลิตต้องคำนึงถึงเพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการพัฒนายางเข้าคู่กับรถยนต์ไฟฟ้าในการคมนาคมยุคใหม่ คือการลดขยะมลภาวะจากยางขณะขับขี่ และขยะยางรถยนต์หลังหมดอายุการใช้งานด้วย
จากรายงานล่าสุดจากองค์กร The Recycled Rubber Coalition ซึ่งสำรวจผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกา เผยว่ารถยนต์ไฟฟ้ามีแนวโน้มจะสร้างขยะเศษยางปริมาณมากกว่ารถยนต์สันดาปภายใน เนื่องจากน้ำหนักของตัวรถและแรงบิดจะทำให้ยางเกิดการเสียดสีกับพื้นถนนมากขึ้น จนสึกกร่อนเกิดเป็นยางชิ้นเล็กๆ จากสถิติที่ผ่านมา นับเฉพาะแค่สหรัฐอเมริกา ก็มีปริมาณเศษยางเกิดขึ้นจากการขับขี่จำนวนกว่า 315 ล้านชิ้นต่อปีแล้ว หากเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น คาดว่าในปี 2030 จะมีขยะเศษยางมากกว่า 350 ชิ้นต่อปีเลยทีเดียว
ยิ่งไปกว่านั้น ทุกครั้งของการเบรกและเสียดสีระหว่างยางกับพื้นถนน ยังก่อให้เกิดอนุภาคขนาดเล็ก (particle emission) กลายเป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งทางอากาศและเจือปนในน้ำ ซึ่งมีงานศึกษาว่ารถยนต์ไฟฟ้าเองก็มีแนวโน้มจะปล่อยมลภาวะชนิดนี้มากกว่ารถยนต์สันดาปภายในเช่นกัน
ข้อมูลเหล่านี้สอดคล้องกับคำบอกเล่าของซีริลล์ โรเฌต์ (Cyrille Roget) ผู้อำนวยการฝ่ายนวัตกรรมและการสื่อสารเชิงวิทยาศาสตร์ของมิชลิน หนึ่งในผู้ผลิตยางรถยนต์ระดับโลก ในงาน Michelin Asia Pacific Media Day 2024 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าหากพิจารณาวัฏจักรของยางรถยนต์หนึ่งชิ้น นับตั้งแต่การออกแบบผลิตภัณฑ์และคัดสรรวัสดุ เข้าสู่กระบวนการผลิต ขนส่งถึงผู้ขับขี่ ไปจนถึงการใช้งานจนหมดอายุขัย จะพบว่าสัดส่วนผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นระหว่างการใช้งานเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือขั้นตอนการออกแบบและเลือกใช้วัสดุของยาง
อนึ่ง โรเฌต์ยังเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ในแต่ละปีมีจำนวนขยะยางรถยนต์ที่ยังไม่เสื่อมสภาพถูกทิ้งก่อนหมดอายุการใช้งานมากถึง 1-2 พันล้านชิ้น หรือราวๆ 30 ล้านตันทั่วโลก เพราะหลังจากยางถูกใช้ไประยะหนึ่ง ผู้ขับขี่ส่วนมากมักไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ และเลือกเปลี่ยนยางก่อนสิ้นอายุการใช้งานเพื่อความปลอดภัย หรือไม่ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนยางใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับฤดูกาลและสภาพอากาศ ซึ่งรังแต่จะแปรปรวนรุนแรงมากขึ้นทุกที
เมื่อโจทย์รถยนต์ไฟฟ้ามาผนวกกับโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม ทางออกของผู้ผลิตยางรถยนต์จึงเป็นการสร้างนวัตกรรมยางที่มีสมรรถนะสูง ซึ่งโรเฌต์มองว่าการพัฒนาคุณภาพความทนทานและประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้งานถือเป็นโจทย์ของยางรถยนต์ทุกประเภทอยู่แล้ว ทั้งต่อรถสันดาปภายในที่มีอยู่ รถยนต์ไฟฟ้าที่กำลังเพิ่มจำนวน หรือแม้แต่รถยนต์พลังงานไฮโดรเจนที่เขาคาดคะเนว่าจะเข้ามามีบทบาทต่อการคมนาคมแห่งอนาคตในอีกไม่ช้า หากยางมีความแข็งแรงทนทาน ประหยัดพลังงาน พร้อมรับมือกับน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นและแรงบิดสูงได้ดี ลดการสึกกร่อนอันก่อให้เกิดเศษยางและมลภาวะจากอนุภาคขณะวิ่ง ต่อไปก็ไม่จำเป็นต้องแยกสายการผลิตสำหรับรถยนต์แต่ละประเภทแต่อย่างใด
อีกด้านหนึ่งเพื่อลดปริมาณขยะยางรถยนต์และสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม มิชลินจึงพัฒนายางล้อซึ่งมีส่วนผสมจากวัสดุหมุนเวียนและวัสดุรีไซเคิล (renewable and recycled materials) มาตั้งแต่ปี 2017 ตัวอย่างวัสดุหมุนเวียน ได้แก่ น้ำยางธรรมชาติ ซิลิกาจากแกลบข้าว และวัสดุชีวภาพทั้งมวลที่สามารถผลิตทดแทนได้เรื่อยๆ ส่วนวัสดุรีไซเคิล ได้แก่ คาร์บอนแบล็กจากการรีไซเคิลขยะยางรถยนต์เก่า ขยะพลาสติกหรือโลหะที่นำมาแปรสภาพ เป็นต้น
มานูเอล ฟาเฟียง (Manuel Fafian) ประธานกลุ่มมิชลินประจำภาคพื้นเอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย เผยว่ามิชลินจะมุ่งเพิ่มสัดส่วนของวัสดุทั้งสองประเภทในผลิตภัณฑ์ยางรถยนต์มากขึ้นเรื่อยๆ จากปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 30% ในยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลซึ่งวางจำหน่ายในตลาด ขยับเป็น 40% ในปี 2030 จนใช้เป็นส่วนประกอบทั้งหมด 100% ควบคู่กับเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) จากกระบวนการผลิตและกิจกรรมทั้งหมดของบริษัท ภายในปี 2050
ล่าสุด มิชลินได้นำเสนอยางล้อรถยนต์ส่วนบุคคลที่ใช้วัสดุยั่งยืน 45% ซึ่งรอการวางจำหน่ายในตลาด และ 71% สำหรับยางล้อรถในสนาม 24 Hours of Le Mans (รายการแข่งขันขับรถความเร็วสูงต่อเนื่องเป็นเวลา 24 ชั่วโมง ในสนามใกล้เมืองเลอม็อง ประเทศฝรั่งเศส) ปี 2024 แล้ว ถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญที่ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ชั้นนำของโลกเจ้านี้อาจขยับเข้าใกล้เส้นชัยเร็วกว่าที่ตั้งเป้าหมายไว้
อย่างไรก็ดี นอกเหนือไปจากมิชลิน ผู้ผลิตรายสำคัญของอุตสาหกรรมยางล้อเจ้าอื่น อาทิ บริดจ์สโตน (Bridgestone) หรือกู๊ดเยียร์ (Goodyear) ก็เปิดตัวนวัตกรรมยางรถยนต์ชนิดเน้นความยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน บ้างใช้วัสดุทดแทนและรีไซเคิลด้วยสัดส่วนที่แตกต่างกันไป บ้างใช้วัสดุธรรมชาติมาเป็นส่วนผสม
ที่ผ่านมา มีรายงานสำรวจว่าตัวเลขมูลค่าของตลาด ‘ยางยั่งยืน’ (sustainable tire) ปี 2023 สูงถึง 190.91 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ก่อนขยับเป็น 218.87 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2024 และคาดการณ์กันว่าจะโตต่อเนื่องในอัตราการเติบโตต่อปีแบบทบต้นราว 16.87% จนแตะมูลค่า 568.86 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 19,500 กว่าล้านบาทภายในปี 2030 ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมยางรถยนต์นับจากนี้คงไม่แคล้วดำเนินไปในลักษณะมุ่งสรรค์สร้างนวัตกรรม ‘ยางยั่งยืน’ ออกมาแข่งขันกันและคงทวีความเข้มข้นดุเดือดขึ้นเรื่อยๆ
สิ่งที่น่าจับตาคือ สุดท้ายใครจะขึ้นมาเป็นผู้นำของตลาดและยางยั่งยืนจะเปลี่ยนโฉมการเดินทางในโลกอนาคตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้มากน้อยแค่ไหน
อ้างอิง
Are electric cars really better for the environment?
How Green Are Electric Vehicles?
Electric cars: What will happen to all the dead batteries?