fbpx
ข้างหลังอุปลักษณ์

ข้างหลังอุปลักษณ์

แมท ช่างสุพรรณ เรื่อง

 

ทำไมเราจึงอ่านงานเขียนชีวประวัติ? ทำไมจึงต้องมีงานเขียนประเภทนี้?

เพราะมันคือศิลปะชั้นสูงของการนินทา (?) เพราะมันคือความเนียนตาแห่งการสร้างภาพ (?) เพราะมันคือที่มาของแรงบันดาลใจ (?)

 

“The only interesting answers are those which destroy the questions.” – Susan Sontag

 

 

เมื่อต้นปี 2013 เบนจามิน โมเซอร์ (Benjamin Moser) เซ็นสัญญารับการว่าจ้างเขียนชีวประวัติของซูซาน ซอนแทก (Susan Sontag) จากทายาทและผู้เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ

นั่นหมายถึงเขาสามารถเข้าถึงหลักฐานที่ยังไม่เป็นสาธารณะและยังไม่ได้รับการเผยแพร่ที่อยู่ในครอบครองของครอบครัว และความเป็นทางการยังสื่อถึงสิทธิพิเศษในการขอความร่วมมือจากผู้ที่เคยข้องเกี่ยวไม่ว่าจะเป็นมิตรหรือศัตรู ซึ่งก่อนหน้านั้น โมเซอร์มีชื่อเสียงมาแล้วจาก Why This World: A Biography of Clarice Lispector งานเขียนชีวประวัติของคลาริซ ลิซเปคเตอร์ นักเขียนบราซิลเชื้อสายยิวที่อพยพมาจากยูเครน

 

Susan Sontag: Her Life ได้ตีพิมพ์ในอีก 6 ปีต่อมา จากนั้นไม่กี่เดือน หนังสือก็ได้รับรางวัลพูลิตเซอร์ไพรซ์ (The Pulitzer Prizes) ในประเภทชีวประวัติ

 

ซูซาน โรเซนแบลทท์ (Susan Rosenblatt) เกิดที่นิวยอร์กเมื่อปี 1933 ในครอบครัวของชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป พ่อของเธอเป็นพ่อค้าขนเฟอร์ที่เดินทางค้าขายระหว่างสหรัฐอเมริกากับประเทศจีน เมื่อเธออายุได้ห้าขวบ พ่อของเธอเสียชีวิตในประเทศจีน แม่ผู้ติดเหล้าจึงพาเธอและน้องสาวย้ายออกจากนิวยอร์กไปหาที่อยู่ใหม่เนื่องจากน้องสาวของเธอเป็นโรคหืด

หลังจากผ่านการโยกย้ายหลายต่อหลายครั้ง ครอบครัวของเธอก็ลงหลักปักฐานที่ลอส แองเจลิสในปี 1945 ในช่วงชีวิตของการโยกย้าย มิลเดรด โรเซนแบลทท์ (Mildred Rosenblatt) ผู้เป็นมารดาได้พบรักกับนาธาน ซอนแทก (Nathan Sontag) ซูซานจึงเปลี่ยนมาใช้นามสกุลของพ่อเลี้ยงเนื่องจากนามสกุลเดิมของเธอบ่งบอกอย่างชัดเจนเกินไปว่าเธอมีเชื้อสายยิว

 

“I gave it up when my mother re-married, and not because she or my step-father ask me to. I wanted to. I always wish my mother would remarry. I wanted a new name, the name I had was ugly and foreign.”

 

ซูซาน ซอนแทกในวัยเด็กค้นพบโลกจากการอ่าน เธอจึงช่างคิดและแตกต่างจากเด็กคนอื่น ซูซานเข้าเรียนมหาวิทยาลัยครั้งแรกก่อนอายุ 16 ปี โดยที่แรกคือ University of California, Berkley หลังจากนั้นหนึ่งเทอม เธอย้ายไปเรียนที่ University of Chicago และได้พบกับฟิลิป รีฟฟ์ (Philip Rieff) นักมานุษยวิทยาผู้ปราดเปรื่อง ทั้งสองตกหลุมรักกันอย่างรวดเร็ว และเมื่อผ่านไปเพียงสิบวันก็ตกลงแต่งงานกัน

หลังจากเรียนจบ ซอนแทกย้ายตามสามีไปบอสตัน เธอเรียนต่อปริญญาโทสาขาภาษาอังกฤษและสาขาปรัชญาต่อที่ Harvard จากนั้นไม่นานก็มีลูกชายชื่อเดวิด รีฟฟ์ (David Rieff)

เมื่ออายุ 19 ปี ซอนแทกได้ทุนไปเรียนต่อที่ Oxford แต่ไม่ชอบบรรยากาศที่นั่น จึงย้ายไปปารีสและใช้ชีวิตในช่วงนั้นอยู่กับแฮริเอต โซห์เมอร์ (Harriet Sohmer) คู่รักเก่าที่เป็นหญิง

 

บรรยากาศของศิลปะและชีวิตปัญญาชนในปารีสทำให้เปลวไฟแห่งการหย่าร้างเริ่มรุกลาม

เมื่อกลับสู่สหรัฐอเมริกา เธอได้หย่าร้างกับรีฟฟ์ โดยขอสิทธิ์ขาดในการเลี้ยงดูลูกชาย และย้ายไปอยู่ที่นิวยอร์ก

 

ในปี 1959  รีฟฟ์ตีพิมพ์หนังสือ Freud: The Mind of the Moralist ซึ่งได้รับการยกย่องว่าเป็นหนังสือที่ดีที่สุดในชีวิตของเขา แต่ท่ามกลางคำยกย่องนั้นก็เต็มไปด้วยข้อสงสัยและปริศนาว่าใครกันแน่เป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ เพราะภาษาและรูปแบบในการเขียนผ่านการร้อยเรียงอย่างดีเมื่อเทียบกับหนังสือเล่มอื่นๆ  ของเขา

ยิ่งไปกว่านั้น ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ซอนแทกส่งถึงจูดิธ โคเอน (Judith Cohen) น้องสาวของเธอบอกเล่าว่าได้ช่วยเขียนงานรีวิวหนังสือให้กับรีฟฟ์ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระ “the trouble of reading the book” ของเขา

ยาคอบ เทาเบส (Jacob Taubes) นักวิชาการหนึ่งในเพื่อนผู้สนิทสนมและมีความสัมพันธ์กับซอนแทกยังเคยเตือนเธอในเรื่องนี้ว่า “I told [the editor] you are an excellent ghostwriter. I wish I would not be bound by your confidence to what degree! Did you, by the way, relinquish all rights on the Freud? It would be a crime.” รวมถึงมีเรื่องเล่ากันต่อมาว่าซอนแทกยอมสละสิทธิ์ทุกอย่างในหนังสือเพื่อตัดขาดจากรีฟฟ์

นอกจากนี้ สี่ทศวรรษต่อมา มีพัสดุส่งถึงอพาร์ทเมนท์ของเธอในนิวยอร์ก ในนั้นมีหนังสือ Freud: The Mind of the Moralist. พร้อมด้วยลายเซ็นว่า “Susan, Love of my life, mother of my son, co-author of this book: forgive me. Please. Philip.”

แต่ถึงแม้จะมีหลักฐานแบบนี้ สำหรับหลายๆ คนก็ยังถือว่าเป็นเรื่องคลุมเครือในปัจจุบัน

 

หลังจากย้ายเข้ามาอยู่ที่นิวยอร์ก ซอนแทกได้สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย และคบหากับผู้คนในแวดวงศิลปะ มีความสัมพันธ์กับผู้คนมากมายทั้งชายและหญิง เขียนนวนิยาย เพื่อสานต่อหนึ่งในความฝันวัยเยาว์ของเธอ นั่นคือการเขียนหนังสือให้กับ Partisan Review นิตยสารที่เธอค้นพบในวัยเด็กว่าโลกมีที่อยู่สำหรับคนที่ไม่เข้าพวกอย่างเธอ

วันหนึ่งหลังจาก The Benefactor (1963) นวนิยายของเธอตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Farrar, Straus, and Giroux (FSG) ซอนแทกได้พบกับวิลเลียม ฟิลลิปส์ (William Phillips) บรรณาธิการร่วมของ Partisan Review เธอเข้าไปถามเขาว่าต้องทำอย่างไรจึงจะได้เขียนลงในนิตยสาร

 

“You ask,”

“I’m asking,”

 

ฤดูร้อนของปี 1964 ซอนแทกกลับไปที่ปารีสอีกครั้ง และเขียนบทความขนาดยาวหนึ่งชิ้นที่นั้น ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์ใน Partisan Review ฉบับฤดูใบไม้ร่วงของปีเดียวกัน

 

นั่นคือการปรากฏกายครั้งแรกของ Notes on “Camp” หลังจากนั้นเรื่องราวต่างๆ ก็กลายเป็นตำนาน

 

มาถึงจุดนี้ คำถามคือเราจะเขียนชีวประวัติของผู้มีชื่อเสียงอย่างไร?

 

คงไม่ยากนักถ้ามุ่งหน้าไปยังการยอยศ หนทางคงราบรื่นเพราะไม่ต้องสะดุดสะดุ้งกับหลุมบ่อ แต่หนทางของหนังสือชีวประวัติไม่ใช่หนทางของหนังสืออนุสรณ์งานศพที่มีป้ายเตือน “อย่าทำอะไรไม่ให้เกียรติผู้เสียชีวิต” ติดอยู่ในบรรยากาศตลอดทางระหว่างการอ่าน ความสนุกที่อยู่นอกเหนือเรื่องราวคือการจับตามองไปที่วิธีการ

 

Susan Sontag: Her Life มีลักษณะของการวางโครงสร้างเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากภาพ ไม่ใช่จากคำ เหตุผลนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากสมมติฐานว่าโมเซอร์ตั้งต้นการเขียนด้วยการใช้ประเด็นการอ่านภาพของ On Photography (1977) ซึ่งเป็นผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นของซอนแทก หรือตั้งต้นจากสมุดบันทึกเรื่องราวส่วนตัวนับร้อยเล่มของเธอ หากเกิดจากการสังเกตวิธีการ

โมเซอร์ใช้วิธีมองไปข้างนอกก่อนว่า ผู้คนรู้สึกอย่างไรต่อเธอ เพื่อร้อยเรียงเรื่องราวอันน่าสนใจสอดคล้องไปกับสิ่งที่พวกเขาอยากรู้ อาจเป็นเพราะภาพลักษณ์ที่โดดเด่นเสมือนเป็นดารา การศึกษาด้วยการมองเข้าไปจากข้างนอกจึงง่ายกว่าการมองออกมาจากข้างใน แต่ในขณะเดียวกัน สายตาที่จับจ้องมีผลต่อพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ที่ถูกจ้องมอง สิ่งที่เห็นส่วนใหญ่จึงไม่ใช่สิ่งที่อยากให้เห็น

ซอนแทกมีภาพที่อยู่ในความสนใจหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นความเป็นปัญญาชนสาธารณะ การมีคู่รักมีชื่อเสียงมากหน้าหลายตาทั้งหญิงและชาย การปฏิบัติตัวต่อผู้คนรอบข้าง และความสัมพันธ์ของแม่กับลูกชาย

โมเซอร์ใช้ประเด็นเหล่านี้วางลงคู่กับชีวิตที่มีจุดเริ่มต้นจากการขาดพ่อตั้งแต่วัยเด็ก แม่ที่ติดเหล้า การปฏิเสธตัวตนของตัวเอง ความสับสนในเรื่องเพศ การมีลูกตั้งแต่วัยรุ่น การแสวงหาและการยืนระยะอย่างยาวนานอยู่บนความสำเร็จ เพื่อชี้ให้เห็นว่าความเป็น ‘ซูซาน ซอนแทก’ ก่อร่างสร้างรูปขึ้นมาอย่างไร โดยใช้ข้อความในสมุดบันทึก ประเด็นสำคัญที่พบได้ในงานเขียนทุกเล่มของเธอ รวมทั้งข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์​ แสดงให้เห็นความเชื่อมโยงของสิ่งที่เปิดเผยและปกปิด

 

“The facts were fake. But the shame was real.” – Benjamin Moser

 

บนความขัดแย้งของตัวตน โมเซอร์ถ่ายทอดเรื่องราวของซอนแทกประหนึ่งการบอกเล่าถึงความหลังครั้งเก่าที่เกิดขึ้นกับคู่รัก ที่แม้จะมีข้อผิดพลาด แต่ก็พร้อมจะเคียงข้างอยู่เสมอ ไม่มีคู่ครองใดที่ปราศจากความบาดหมาง

 

อย่างไรก็ตาม น้ำเสียงของโมเซอร์แข็งกร้าวขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเมื่อมาถึงเรื่องการแสดงความชัดเจนในการเปิดเผยความสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศ ซอนแทกบ่ายเบี่ยงที่จะพูดถึงความสัมพันธ์กับผู้หญิงมาโดยตลอด แม้แต่ความสัมพันธ์ที่เปิดเผยชัดเจนกับแอนนี่ ลีโบวิตช์ (Annie Leibovitz) ช่างภาพชื่อดังซึ่งดูแลเธอจนวาระสุดท้ายของชีวิต ซอนแทกก็ยังบ่ายเบี่ยงไม่ยอมรับออกมาตรงๆ จนกระทั่งเรื่องราวจวนตัว

ดูเหมือนว่านี่จะเป็นเรื่องที่ให้อภัยไม่ได้สำหรับโมเซอร์ (ซึ่งโดยส่วนตัวมีคู่ครองเพศเดียวกัน) เพราะการเปิดเผยตัวตน คือการยืนยันความชอบธรรมในสิทธิเสรีภาพ และความรักไม่ใช่เรื่องที่ต้องอับอาย

การแสดงจุดยืนเรื่องความสัมพันธ์ผ่านน้ำเสียงน่าจะเป็นครั้งเดียวที่โมเซอร์ออกมาจากการพรางกายอยู่ในเรื่องเล่า แต่ก็เป็นเพียงแวบเดียวเท่านั้น แล้วตลอดเวลาโมเซอร์ซ่อนตัวอยู่ที่ไหน?

 

ผู้เขียนตระหนักดีว่าโมเซอร์พรางกายอยู่ในตำแหน่งใดของเรื่องเล่า แต่ด้วยจรรยาบรรณของผู้เล่าทำให้ไม่อาจเปิดเผยได้ และผู้เขียนคิดว่า นี่คือเส้นแบ่งสำคัญระหว่างการเป็นทั้งข้อดีและข้อด้อยของหนังสือเล่มนี้ในสายตาของผู้อ่าน จึงทำได้แต่เพียงหยิบยืมถ้อยคำของบ๊อบ ดีแลน (Bob Dylan) มาบอกชี้ทิศทาง

 

“The answer, my friend, is blowin’ in the wind. The answer is blowin’ in the wind.”

 

ชีวิตของซูซาน ซอนแทก ทั้งหมดคือการเดินข้ามสะพานระหว่างความจริงและการรับรู้ เธอไขรหัสและสร้างอุปลักษณ์เพื่ออธิบายมันด้วยภาษา ราคาที่เธอต้องจ่ายคือการมีตัวตนที่ย้อนแย้ง ในขณะที่เปิดเผยความจริงจากสิ่งอำพรางที่อยู่ภายนอก เธอก็สวมหน้ากากแห่งอุปลักษณ์เพื่ออำพรางความจริงที่อยู่ภายใน

 

อาจไม่มีคำพูดใดจะเข้าถึงและเปิดเผยตัวตนของซอนแทกได้ดีเท่าประโยคนี้ของตัวเธอเอง

 

“I’m only interested in people engaged in a project of self-transformation.”

เพราะทุกการเปลี่ยนแปลงตัวตนล้วนแล้วแต่แอบแฝงไปด้วยอุปลักษณ์ และนั่นคือสนามของเธอ

 

หมายเหตุ ขอมอบบทความนี้แด่วันเฉลิม สัตย์ศักดิ์สิทธิ์ ผู้ยังคงสูญหาย และอยู่ในความหวังว่าจะได้กลับมาโดยปลอดภัย เพื่อเป็นการระลึกถึงความทรงจำในการพบกันเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ที่พนมเปญเมื่อปี 2015

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

22 Feb 2022

คราฟต์เบียร์และความเหลื่อมล้ำ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์ เขียนถึงอุตสาหกรรมเบียร์ไทย ที่ผู้ประกอบการคราฟต์เบียร์รายเล็กไม่อาจเติบโตได้ เพราะติดล็อกข้อกฎหมาย และกลุ่มทุนที่ผูกขาด ทั้งที่มีศักยภาพ

วันชัย ตันติวิทยาพิทักษ์

22 Feb 2022

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save