fbpx
เปิดทางรอด ‘ร้านหนังสืออิสระ’: ล้อมวงคุยกับ 3 คนทำร้านหนังสือยุคใหม่

เปิดทางรอด ‘ร้านหนังสืออิสระ’: ล้อมวงคุยกับ 3 คนทำร้านหนังสือยุคใหม่

พันธวัฒน์ เศรษฐวิไล เรื่อง

Goethe-Institut Thailand ภาพ

 

บ่ายวันเสาร์ เมืองกรุงฉ่ำฝน คนกลุ่มหนึ่งมารวมตัวกันในร้านหนังสือเล็กๆ ย่านสาทร

อาจมีบ้างที่เข้ามาหลบเลี่ยงความเปียกปอน แต่ส่วนใหญ่นั้นตั้งใจมาล้อมวงเสวนา ว่าด้วยเรื่องราวของ ‘ร้านหนังสืออิสระ’

ในยุคที่สิ่งพิมพ์กระดาษเริ่มขาดสภาพคล่อง และการเลือกซื้อหนังสือสามารถทำได้ผ่านจอ ใครหลายคนอาจมีข้อสงสัย ร้านหนังสือจะอยู่รอดอย่างไร—โดยเฉพาะร้านเล็กๆ แบบนี้?

เมื่อสบโอกาสอันดี สถาบันเกอเธ่ ประเทศไทย (Goethe-Institut Thailand) จึงถือโอกาสชักชวนผองเพื่อนคนทำร้านหนังสืออิสระ มาตั้งวงสนทนาว่าด้วยสถานการณ์ของร้านหนังสือในปัจจุบัน

แขกรับเชิญ 3 ท่านประกอบด้วย ‘ป่าน’-ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ เจ้าของร้านหนังสือ Fathom Bookspace ที่ทุกคนมารวมตัวกันในวันนี้ , สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้านหนังสือ The Booksmith อดีตกรรมการผู้จัดการร้าน Asia Books ผู้คลุกคลีอยู่กับธุรกิจหนังสือมาหลายสิบปี และ เอ็ดการ์ ไร (Edgar Rai) แขกรับเชิญพิเศษจากเยอรมนี นักเขียน นักแปล และเจ้าของร้านหนังสือเล็กๆ ในกรุงเบอร์ลินที่ชื่อว่า Uslar & Rai

หัวใจของการทำร้านหนังสืออิสระคืออะไร การลดราคาหนังสือไม่ดีตรงไหน ทำไมร้านเชนสโตร์ใหญ่ๆ จึงอยู่ยากขึ้นทุกวัน คือประเด็นใหญ่ๆ ที่ถูกยกมาพูดคุยกันในวันนี้

ตลอดสองชั่วโมงที่การสนทนาดำเนินไป นอกจากจะช่วยเปิดมุมมองใหม่ๆ ต่อการทำธุรกิจหนังสือแล้ว หลายคำหลายประโยค ยังสะท้อนให้เห็นบางปัญหาที่ถูกซุกซ่อนมาเนิ่นนาน และส่งผลให้แวดวงการอ่านการเขียนของไทยไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น

 

 

จาก ‘Bookshop’ สู่ ‘Bookspace’

 

“ทุกวันนี้ไม่มีใครไปร้านหนังสือ เพื่อซื้อหนังสืออย่างเดียวอีกต่อไปแล้ว” เอ็ดการ์เปิดประเด็นว่านี่คือโจทย์ใหญ่ของคนทำร้านหนังสือในปัจจุบัน

แม้ประเทศเยอรมนีจะมีวัฒนธรรมการอ่านแข็งแรงกว่าบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือพฤติกรรมการซื้อที่เปลี่ยนไปจากการใช้โซเชียลมีเดีย

ในฐานะที่เป็นทั้งนักเขียนและคนทำร้านหนังสือ เอ็ดการ์มองว่าการที่ร้านหนังสืออิสระจะอยู่รอดได้ในยุคนี้ มาจากสองปัจจัย ปัจจัยแรกคือการออกแบบร้านหนังสือให้มีลักษณะของ ‘social space’ ที่ผู้คนสามารถมาพบปะกัน มีปฏิสัมพันธ์กันได้

ปัจจัยที่สองคือการให้ความสำคัญกับการเลือกหนังสือ โดยมีหลักสำคัญคือเลือกจากความชอบของตัวเองก่อน ซึ่งเป็นสิ่งที่สะท้อนตัวตนของร้านและทำให้ร้านมีเอกลักษณ์ วิธีที่เอ็ดการ์ใช้คือการเลือกหนังสือที่ตัวเองชอบ 80% ส่วนอีก 20% เป็นหนังสือที่ตัวเองอาจไม่สนใจ แต่ ‘ควรมี’ ในร้าน เช่น หนังสือที่อยู่ในกระแส หรือหนังสือแนวอื่นที่คนทั่วไปสนใจ

“วิธีนี้อาจไม่ได้ทำให้คุณมีเงินมากมาย แต่คุณจะมีความสุขแน่นอน และนั่นเป็นเรื่องสำคัญ” เอ็ดการ์ทิ้งท้าย

ในส่วนของร้าน The Booksmith ก็ให้ความสำคัญกับการเลือกหนังสือเช่นกัน สิโรตม์เล่าว่าเขาสนใจหนังสือต่างประเทศเป็นหลัก แต่ละเล่มที่เลือกมาขายนั้นจะคัดสรรอย่างถี่ถ้วน และสั่งมาในจำนวนจำกัด

“คุณต้องเลือกให้ถูก และขายให้ไว” สิโรตม์บอกว่าเขาให้ความสำคัญกับการหาหนังสือใหม่ๆ มาขาย มากกว่าการพยายามขายหนังสือเล่มเดิมซ้ำๆ แม้บางเล่มสั่งมาแล้วขายดี หมดเร็ว แต่จะไม่สั่งเพิ่ม ซึ่งกลายเป็นจุดขายของร้านไปโดยปริยาย เรียกว่าลงขายในเฟซบุ๊กเมื่อไหร่ ก็มีคนจองเมื่อนั้น

“ในทางธุรกิจ ผมคิดว่า First order ดีกว่า Repeat Order อย่างเรื่อง ‘Fantastic Beast’ ตอนพิมพ์ออกมาใหม่ๆ ก็ขายดี ขายได้ทุกร้าน แต่พอขายหมด สั่งมาเพิ่ม ตลาดก็เริ่มวายแล้ว เพราะฉะนั้นเราหาเล่มใหม่มาขายเลยดีกว่า สนุกกว่า”

ด้าน Fathom Bookspace ก็มีแนวคิดคล้ายๆ กัน ภัทรอนงค์มองว่าร้านหนังสือนั้นเป็นพื้นที่ที่ขับเคลื่อนด้วยหนังสือเป็นหลักก็จริง แต่อีกด้านก็ควรมี ‘เครื่องมือ’ อื่นๆ มาช่วยส่งเสริมผลักดันให้พื้นที่แห่งนี้มีชีวิตชีวา

“ร้านเรามีเป้าหมายใหญ่ว่าอยากทำให้พื้นที่นี้เป็นพื้นที่แห่งการ ‘สร้างความเข้าใจระหว่างมนุษย์’ ซึ่งหนังสืออย่างเดียวอาจไม่พอ เราจึงพยายามมองหาว่าจะใช้เครื่องมืออะไรได้อีกบ้าง จึงนำไปสู่การจัดกิจกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเสวนา หรือ Workshop เพื่อดึงให้คนเข้ามาใช้พื้นที่ร่วมกัน ได้เรียนรู้กันและกัน”

 

ภัทรอนงค์ สิรีพิพัฒน์ เจ้าของร้านหนังสือ Fathom Bookspace

ขายอย่างอื่นได้ แต่ต้องขายหนังสือเป็นหลัก

 

ทุกวันนี้ถ้าคุณเดินเข้าไปในร้านหนังสือตามห้างใหญ่ๆ คงสังเกตเห็นว่าหลายร้านมีการนำสินค้าอื่นๆ มาวางขายรวมอยู่กับหนังสือมากขึ้น ไล่ตั้งแต่เครื่องเขียน โปสต์การ์ด กระเป๋า ไปจนถึงเคสโทรศัพท์มือถือ จนบางครั้งอาจสับสนว่านี่คือร้านอะไรกันแน่

ข่าวดีก็คือ นี่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเฉพาะร้านหนังสือของไทย เพราะในเยอรมนีก็เป็นแบบนี้เหมือนกัน

เอ็ดการ์เล่าว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เขาเห็นว่าร้านเชนสโตร์ใหญ่ๆ พยายามปรับตัวโดยใช้วิธีนี้ เนื่องด้วยยอดขายหนังสือที่ลดลงจากการเกิดขึ้นของร้านหนังสือออนไลน์ โดยเฉพาะ Amazon ทำให้ร้านเหล่านี้ต้องหารายได้เพิ่ม ด้วยการนำสินค้าอื่นๆ เข้ามาขายในร้าน ซึ่งเขามองว่าเป็นวิธีการที่ ‘ไม่เวิร์ก’ เท่าไหร่นัก

เขายกตัวอย่างกรณีของร้าน ‘Thalia’ ที่เป็นร้านหนังสือยักษ์ใหญ่ในเยอรมนี มีหลายสาขาทั่วประเทศ พยายามเพิ่มยอดขายโดยไปจับมือกับร้านขายของเล่นอย่าง Toys”R”Us แต่กลับล้มเหลวไม่เป็นท่า ด้วยเหตุผลง่ายๆ ว่า “จะมีใครหน้าไหนที่อยากเดินเข้าไปซื้อของเล่นในร้านหนังสือ”

มองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย คงไม่แปลกที่เราจะเห็นร้านประเภทนี้แอบปิดสาขาไปอย่างเงียบๆ—ด้วยเหตุผลทำนองเดียวกัน

คำถามที่ตามมาคือ แล้วร้านหนังสือเล็กๆ ประสบปัญหานี้ด้วยหรือไม่ ?

ในมุมของสิโรตม์ มองว่าการนำสินค้าอื่นๆ มาวางขายนั้นเป็นสิ่งที่เข้าใจได้ เพราะลำพังหนังสืออย่างเดียวก็ไม่ได้มีกำไรมากมายนัก แต่หลักสำคัญที่เขาใช้ก็คือ อย่าให้สินค้าอื่นมาเป็นตัวนำหนังสือโดยที่ไม่รู้ตัว

“ช่วงหนึ่งผมก็มีของอื่นๆ มาวางขายเหมือนกัน คิดเป็น 30% ในร้าน ซึ่งก็ขายได้ดี จนกระทั่งจุดหนึ่งที่เห็นว่ามันจะขายดีกว่าหนังสือแล้ว ผมก็เลิกขาย (หัวเราะ) เลิกเพราะว่าผมอยากขายหนังสือเป็นหลัก อย่างอื่นต้องเป็นแค่ส่วนเสริม ถ้าหนังสือไม่โต ของอื่นๆ ก็ต้องไม่โต แต่ถ้าหนังสือเริ่มโต เราค่อยเพิ่มของอื่นๆ เข้ามา”

ทั้งนี้ จากที่หลายคนเคยกังวลว่า เมื่อร้านหนังสือออนไลน์เริ่มขยายตลาดมากขึ้น ประกอบกับการขยายธุรกิจของร้านหนังสือขนาดใหญ่ อาจทำให้บรรดาร้านหนังสือเล็กๆ ไร้ที่ยืน ทว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วง 3-5 ปีที่ผ่านมา ทั้งในไทยและเยอรมัน กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม คือร้านแบบเชนสโตร์เริ่มทยอยปิดสาขา แต่กลับมีร้านหนังสืออิสระใหม่ๆ เกิดขึ้นมามากขึ้น และตอบโจทย์ของคนยุคนี้ได้มากกว่าในแง่ของการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์อันมีเอกลักษณ์ของตัวเอง

นอกจากนี้ การมีช่องทางสื่อสารกับลูกค้าในโซเชียลมีเดีย ยังถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า ‘เป็นประโยชน์’ ทั้งในแง่ของการขายและการประชาสัมพันธ์ ซึ่งสามารถดำเนินควบคู่กันไปกับการขายหน้าร้านแบบดั้งเดิมได้

 

สิโรตม์ จิระประยูร เจ้าของร้านหนังสือ The Booksmith

กับดักของการ ‘ลดราคา’

 

อีกหนึ่งประเด็นสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดกันในงานนี้ คือเรื่องของ ‘ราคา’ และ ‘ส่วนต่าง’ ที่ร้านหนังสือได้รับจากการขาย

หลายคนคงสงสัยว่า เวลาเราควักเงินซื้อหนังสือสักเล่ม ร้านหนังสือได้ส่วนแบ่งไปเท่าไหร่ ?

คำตอบก็คือได้ ‘20-40% จากราคาปก’ หมายความว่าถ้าหนังสือราคา 100 บาท ร้านหนังสือจะได้รับส่วนแบ่งจากสำนักพิมพ์หรือสายส่งประมาณ 20-40 บาท ตามแต่ข้อตกลง พูดกันตามตรงก็ต้องบอกว่า ‘ไม่น้อย แต่ก็ไม่มาก’

ทว่าสิ่งที่ทำให้ร้านหนังสือต้องตกที่นั่งลำบาก ก็คือการลดราคา ลองคิดง่ายๆ ว่า ถ้าคุณได้ส่วนแบ่งจากการขายหนังสือ 1 เล่มมา 25 บาท แต่คุณต้องลดให้ลูกค้าอีก 5-10% คุณจะเหลือเงินจากการขายหนังสือเล่มนี้เท่าไหร่ ยังไม่หักต้นทุนอื่นๆ ที่ถูกมองข้ามไปอีก เช่น ค่าถุง ค่าจัดส่ง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าเช่าร้าน ฯลฯ

หากมองในมุมนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายร้านจะนำสินค้าอื่นๆ ที่นอกเหนือจากหนังสือมาวางขาย เพื่อนำมาถัวเฉลี่ยกับรายได้อันน้อยนิดจากหนังสือ

คำถามที่น่าคิดต่อก็คือ นอกจากวิธีต่างๆ ที่ว่ามาแล้ว มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะช่วยให้ร้านหนังสือได้กำไรมากขึ้น

ในมุมของสิโรตม์ เขาบอกว่าค่อนข้างโชคดีที่เลือกขายหนังสือต่างประเทศเป็นหลัก เพราะนอกจากจะได้ส่วนแบ่งที่มากกว่าแล้ว (55-70%) ค่าขนส่งยังถูกกว่าอีกด้วย อย่างบริการขนส่งที่เขาใช้อยู่ทุกวันนี้ รวมเบ็ดเสร็จจากโกดังที่ยุโรปถึงหน้าบ้าน (All Inclusive) ตกอยู่ที่ ‘กิโลกรัมละ 45 บาท’ เท่านั้น ยิ่งกว่านั้นก็คือหนังสือเป็นสินค้าที่ ‘ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้า’

“ถ้าใครบอกคุณว่าหนังสือต่างประเทศแพง เพราะต้องเสียภาษีนำเข้า แปลว่าคุณโดนเขาหลอกนะครับ แล้วจากประสบการณ์ที่ผ่านมา ผมพบว่าการเอาหนังสือต่างประเทศมาขาย ง่ายกว่าเอาหนังสือในประเทศมาขาย ไม่ว่าจะเป็นของอังกฤษ หรืออเมริกา ส่วนใหญ่คุยกันทางอีเมลไม่เกินสองรอบก็เรียบร้อย แต่ของคนไทยจะยุ่งยากและมีเงื่อนไขมากกว่า”

สิโรตม์อธิบายต่อว่า การที่เรารู้สึกว่าหนังสือต่างประเทศราคาสูงกว่าหนังสือไทย เป็นเพราะระบบการตั้งราคาหนังสือของไทยนั้นผิดเพี้ยนไปมาก โดยมีปัจจัยหลักมาจาก ‘การแข่งกันลดราคา’

“บ้านเรายังไม่มีกลไกควบคุมราคาหนังสือ ทำให้คนรู้สึกชินกับการลดราคา ไม่ว่าจะจากทางร้าน หรือจากมหกรรมหนังสือต่างๆ ทำให้มูลค่าจริงๆ ของหนังสือผิดเพี้ยน และทำให้ลูกค้าติดภาพว่าหนังสือต้องลดราคา หรือจะรอไปซื้อที่งานหนังสือ”

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เอ็ดการ์จึงช่วยอธิบายเพิ่มเติมว่า ในเยอรมนีและอีกหลายประเทศ จะมีมาตรการควบคุมราคาหนังสืออย่างเป็นระบบ ทำให้ทุกร้านต้องขายในราคาเท่ากัน แล้วไปแข่งกันที่ด้านอื่นๆ

“ในเยอรมันจะไม่ซับซ้อนแบบนี้ เพราะเรามีระบบในการควบคุมราคาหนังสือ บรรณาธิการสำนักพิมพ์คือผู้กำหนดว่าจะขายหนังสือเล่มไหนในราคาเท่าไหร่ และทุกร้านต้องขายในราคาที่แจ้งไปเท่านั้น ถ้าฝ่าฝืนก็จะถูกตัดสิทธิ์ในการขาย ไม่เว้นแม้กระทั่งใน Amazon”

เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงไม่เกิดภาวะที่มีลูกค้าเดินเข้ามาเช็คราคา แล้วเดินออกไปหาร้านอื่นที่มีส่วนลดหรือขายถูกกว่า หรือกระทั่งรอไปซื้อในงานมหกรรมหนังสือ (ซึ่งแต่ละบูธก็แข่งกันลดราคาอีกเช่นกัน)

ทั้งนี้ในความเป็นจริง หากจะให้เราเปลี่ยนระบบทันทีก็คงเป็นเรื่องยาก เพราะคนส่วนมากคุ้นชินและติดวัฒนธรรมการซื้อหนังสือแบบนี้ไปแล้ว สิโรตม์จึงเสนอว่า เราสามารถลดราคาได้ แต่ต้องลดอย่างเป็นระบบ เช่น หนังสือใหม่ที่ออกมาไม่เกินหนึ่งปี ต้องขายตามราคาปกเท่านั้น ถ้าเกินหนึ่งปีก็ลดไปตามลำดับขั้น โดยมีสำนักพิมพ์เป็นผู้กำหนดเงื่อนไข

อย่างไรก็ดี หากมองย้อนกลับมาที่สถานการณ์ตอนนี้ สำนักพิมพ์หลายแห่งก็ยังนิยมการใช้โปรโมชั่นลดราคาแบบเฉพาะหน้า รวมถึงกักตุนไว้ขายในงานสัปดาห์หนังสือก่อน

“บางเจ้าบอกว่า ขอเอาไปขายในงานสัปดาห์หนังสือก่อน เราก็รอ ปรากฏว่าพอจบงานหนังสือ เขาบอกว่าหมดแล้ว กำลังพิมพ์ใหม่ แต่ถึงตอนนั้นเราก็ไม่อยากขายแล้ว”

 

Edgar Rai เจ้าของร้านหนังสือ Uslar&Rai ประเทศเยอรมนี

สิ่งสำคัญที่สุดคือ ‘ความจริงใจ’

 

อาจเป็นคำที่ฟังดูเชย แต่ปัญหาหนึ่งที่ทำให้วงการหนังสือ (รวมถึงวงการอื่นๆ) ของไทยพัฒนาไปไม่ถึงไหน ก็คือ ‘ความจริงใจ’ ไล่ตั้งแต่คนในแวดวงด้วยกันเอง ไปจนถึงภาครัฐ

“ผมรู้สึกว่าเราอยู่แบบหน้าไหว้หลังหลอกกันพอสมควร หลายสำนักพิมพ์ ถ้าไปดูหลังฉาก เขาก็คิดแบบเฉพาะหน้าว่าเงินต้องมาก่อน เอาหนังสือไปขายลดราคากับที่นั่นที่นี่ แต่ฉากหน้าก็ออกมาพูดว่าเราต้องสนับสนุนร้านหนังสืออิสระอย่างนั้นอย่างนี้ เราไม่ค่อยมีความจริงใจต่อกันเท่าไหร่ หรือในกลุ่มของร้านหนังสืออิสระเอง ลึกๆ ผมว่าก็ยังมีการแข่งขันกันอยู่ สมมติว่าถ้าคุณอยากทำร้านหนังสือ สิ่งแรกที่คุณต้องทำก็คือไปถามคนที่รู้เรื่อง แต่กับบางกรณี ก็อย่าแปลกใจที่เขาจะไม่บอก (หัวเราะ)”

“สำหรับผม วงการนี้ยังมีเจ้าพ่อเจ้าแม่อยู่เยอะ ซึ่งช่วงหลังผมก็เริ่มค้นพบว่า เราอยู่เงียบๆ ของเราคนเดียวดีกว่า มีความสุขกว่าเยอะ” สิโรตม์เปิดประเด็นในฐานะของคนที่อยู่ในแวดวงมานาน

เมื่อถามต่อว่า แล้วร้านหนังสืออิสระควรแข่งขันกันหรือไม่ สิโรตม์มองว่าคนทำร้านหนังสืออิสระทุกวันนี้ ต่างมีจุดแข็งและจุดขายของตัวเอง ซึ่งแต่ละคนไม่จำเป็นต้องมาแข่งกัน แต่ควรเป็นในลักษณะของการร่วมมือ หรือแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญของกันและกันมากกว่า

ด้านเอ็ดการ์ก็เห็นไปในทางเดียวกัน ข้อมูลหนึ่งที่น่าสนใจคือ สัดส่วนของร้านหนังสือกับประชากรในเยอรมัน อยู่ที่ 200,000 คนต่อร้าน แต่ในย่าน Schonhauser ของกรุงเบอร์ลิน ที่มีร้านของเอ็ดการ์ตั้งอยู่นั้น มีสัดส่วนอยู่ที่ 3,000 คนต่อร้าน ที่สำคัญคือแต่ละร้านนั้นจะขับเคลื่อนด้วยงานประเภทวรรณกรรมเป็นหลัก

เอ็ดการ์เล่าว่าในเยอรมนี งานวรรณกรรมไม่ใช่สิ่งที่ดูสูงส่งหรือเข้าถึงยากแต่อย่างใด ด้วยเหตุผลว่าประเทศของเขามีงานวรรณกรรมที่หลากหลาย ขณะเดียวกันก็ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเต็มที่ เด็กๆ ที่เยอรมนีจะได้รับการปลูกฝังการอ่านตั้งแต่ระดับอนุบาล

ย้อนกลับมาที่เมืองไทย อย่างที่รู้กันว่า นโยบายต่างๆ ที่พยายามผลักดัน มักเป็นไปในเชิงสร้างภาพเพื่อหวังผลระยะสั้น มากกว่าการวางรากฐานในระยะยาว ไม่เว้นแม้กระทั่งการส่งเสริมการอ่านการเขียน

ภัทรอนงค์คือคนหนึ่งที่เคยทำงานด้านส่งเสริมการอ่าน กับทั้งภาครัฐและเอกชน เธอจึงค้นพบว่าสิ่งที่ผู้จัดส่วนใหญ่ต้องการนั้น คือการหวังผลสำเร็จในระยะเวลาอันสั้น ซึ่งเธอมองว่าใช้ไม่ได้กับเรื่อง ‘การอ่าน’

“คุณบอกว่าจะจัดค่าย 3 วัน เพื่อทำให้เด็ก 300 คนรักการอ่าน มันเป็นไปไม่ได้ แล้วถ้าเราเสนอว่าขอลดจำนวน เช่น จาก 300 ขอปรับเหลือ 20 คน เราอาจพอทำได้ ซึ่งพอเสนอแบบนี้ เขาก็จะไม่มีทางเข้าใจ เพราะมันไม่เห็นผลในระยะสั้น ดังนั้นนโยบายรัฐที่ออกมา จึงเป็นนโยบายที่เน้นการสร้างภาพ แต่ไม่มีเนื้อ”

ด้านสิโรตม์ ก็เคยมีส่วนร่วมกับหลายโครงการของทั้งรัฐและเอกชนเช่นกัน และสิ่งที่เขาค้นพบนั้นก็ไม่ต่างจากคนอื่นสักเท่าไหร่

“เราบอกจะเป็นเมืองหนังสือโลก เป็นเมืองวรรณกรรม เป็นนั่นเป็นนี่ สุดท้ายเงินที่เอามาลงทุนก็หายไป แต่ไม่ได้มีอะไรเกิดขึ้นมาเลย ผมคิดว่านโยบายรัฐ เป็นนโยบายที่ทำเพื่อให้ตัวเองมีผลงานและใช้งบประมาณแบบปีต่อปี

“ผมเคยรับงานออกแบบห้องสมุดให้หน่วยงานภาครัฐหลายที่ บางที่เราก็จะเจอว่า ปีนี้ของบไปซื้อคอมพิวเตอร์ก่อน ซื้อโต๊ะก่อน ส่วนหนังสือไว้ทีหลัง ฉะนั้นจึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเราถึงมีโต๊ะ มีตู้ ก่อนมีหนังสือ แล้วก็บอกว่านี่คือห้องสมุด…”

 

 

ฝนหยุดตกแล้ว แต่เสียงเจื้อยแจ้วภายในร้านหนังสือยังดังอย่างต่อเนื่อง

หลากเรื่องราวถูกส่งต่อแบบคนต่อคน หนังสือบางเล่มถูกส่งต่อแบบมือต่อมือ

ความหวังของคนทำร้านหนังสือตัวเล็กๆ ยังเรืองรอง.

MOST READ

Spotlights

14 Aug 2018

เปิดตา ‘ตีหม้อ’ – สำรวจตลาดโสเภณีคลองหลอด

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย พาไปสำรวจ ‘คลองหลอด’ แหล่งค้าประเวณีใจกลางย่านเมืองเก่า เปิดปูมหลังชีวิตหญิงค้าบริการ พร้อมตีแผ่แง่มุมเทาๆ ของอาชีพนี้ที่ถูกซุกไว้ใต้พรมมาเนิ่นนาน

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Aug 2018

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save