fbpx
เรื่องช็อกในวงการศิลปะ : เมื่อ The MET ถังแตก

เรื่องช็อกในวงการศิลปะ : เมื่อ The MET ถังแตก

The Met หรือ The Metropolitan Museum แห่งมหานครนิวยอร์ก คือพิพิธภัณฑ์ที่ ‘ใหญ่’ ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ทั้งยังเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกาด้วย

 

The Met ก่อตั้งในปี 1870 จึงเป็นมิวเซียมที่เก่าแก่มาก ว่ากันว่า นี่อาจเป็นมิวเซียมที่ ‘สำคัญ’ ที่สุดของโลกก็ได้ เพราะว่าเต็มไปด้วยของสะสมเก่าแก่มากมาย แถมที่ตั้งก็ยังเก๋ไก๋ที่สุด เพราะอยู่บนถนสายห้าอันหรูหรา แถมยังอยู่ในพื้นที่ของเซนทรัลปาร์คแห่งนิวยอร์กอีกต่างหาก ดูไปก็ไม่น่ามีปัญหาอะไรเลย

ที่สำคัญ ในช่วงปีงบประมาณที่ผ่านมา The Met ก็มีคนเข้ามาเยือนมากถึง 6.7 ล้านคน (เอ่อ…ต้องย้ำเอาไว้ด้วยนะคุณ ว่า 6.7 ล้านคนนี่ ไม่ใช่คนที่ไปเที่ยวนิวยอร์กนะ แต่คือคนที่สาวเท้าก้าวเข้าประตูของ The Met ไป เพราะฉะนั้นจึงเยอะมาก) แม้จะอยู่ด้วยเงินบริจาค แต่ละปีมีเงินบริจาคมากถึงสองพันห้าร้อยล้านเหรียญ ส่วนรายได้ที่เก็บจากค่าตั๋วต่างๆ ก็มากถึง 390 ล้านเหรียญ ด้วยกัน เมื่อปี 2015 ก็เพิ่งได้รับทุนมาปรับปรุงอาคารอีก 250 ล้านเหรียญ

พูดง่ายๆ ก็คือ The Met กำลังอยู่ใน ‘ขาขึ้น’ อย่างที่สุด ถือได้เลยว่าเป็นมิวเซียมที่ ‘รวย’ ที่สุดของนิวยอร์กก็ว่าได้

แต่แล้วจู่ๆ ก็มีข่าวว่า The Met ถังแตก!

เฮ่ย! มันเกิดขึ้นได้ยังไงกัน?

ข่าวนี้เริ่มต้นจาก The New York Times ที่รายงานเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ในข่าวบอกว่า The Met กำลังขาดเงิน ต้องหาเงินเพิ่มอีก 40 ล้านเหรียญ กำลังมีแผนจะเลย์ออฟพนักงานถึง 90 คน แล้วก็หยุดการขยายงานที่วางแผนเอาไว้หลายอย่าง เช่น ปีกใหม่มูลค่า 600 ล้านเหรียญ ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้ The Met ตกเป็นเบี้ยล่างในการแข่งขัน (ทางมิวเซียมน่ะนะคุณผู้อ่าน) ในสนามพิพิธภัณฑ์ศิลปะทันที

ข่าวนี้ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมมหาศาล เพราะ ‘คนนอก’ ไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า The Met นั้นมีการบริหารแบบไหน ฉากหน้าดูหรูหรายิ่งใหญ่ดีงามให้เดินเข้าไปดูภาพของโมเนต์ก็พึงพอใจกันแล้ว แต่เมื่อเกิดข่าวนี้ขึ้น หลายคนอยากรู้ว่า-มันเกิดอะไรขึ้นใน The Met กันแน่

สามสัปดาห์หลังจากข่าวนั้นตีพิมพ์ ผู้อำนวยการของ The Met ที่มีชื่อว่า โธมัส  แคมพ์เบล (Thomas Campbell) ก็ลาออก แต่จะมีผลในวันที่ 30 มิถุนายนที่จะถึงนี้

การลาออกของแคมพ์เบลทำให้โลกศิลปะตกตะลึง เพราะอย่างที่บอกว่า ดูเผินๆ เหมือนเขาบริหาร The Met ได้ดีมาก แล้วจะทำให้ The Met ขาดทุนได้ยังไงกัน

แคมพ์เบลมาทำงานที่ The Met ในปี 1996 เขาพกประสบการณ์เต็มเปี่ยมในด้านการเป็นภัณฑารักษ์มาด้วยกับหลายพิพิธภัณฑ์ โดยมีความเชี่ยวชาญเรื่องผ้าที่เรียกว่า Tapestry เป็นพิเศษ จนได้ฉายาว่า Tapestry Tom

เป้าหมายของแคมพ์เบลนั้นดีงามมาก เขาอยากทำให้ The Met เป็นมิวเซียมที่เปิดกว้าง เชื้อเชิญคนรุ่นใหม่เข้ามา จึงมีการจัดทำคอลเลคชั่นศิลปะต่างๆ ให้อยู่ในรูปของไฟล์ดิจิทัล เพื่อจะได้สืบค้นได้ง่าย ทำ App ต่างๆ และผลักดันให้คนรุ่นใหม่เข้ามิวเซียมกันมากขึ้น ซึ่งก็ประสบความสำเร็จดียิ่ง

และเอาเข้าจริง แคมพ์เบลก็ผ่าน ‘การทดสอบ’ ครั้งหนักหนามาได้ ตอนที่เกิดวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เพราะตอนนั้นตลาดหุ้นร่วงหนัก ทำให้เงินบริจาคของ The Met ตกต่ำลงไปด้วย ประมาณว่าลดลงไปถึงหนึ่งในสาม แต่แคมพ์เบลก็ดูแลจัดการให้ทุกอย่างผ่านไปได้ด้วยดี ทำให้หลายคนเชื่อมั่นว่าเขาจะดูแล The Met ได้ไม่แพ้ผู้อำนวยการคนก่อน คือ ฟิลิป เดอ มอนเทเบลโล (Philippe de Montebello) ซึ่งเกษียณอายุไป

แต่แล้วอะไรๆ ก็ไม่เป็นอย่างนั้น!

เมื่อเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ก็เริ่มเกิดความไม่พอใจวิธีบริหารสมัยใหม่ของเขา ด้วยความที่แคมพ์เบลอยากให้ The Met นั้นดู ‘ใหม่เก๋’ อยู่เสมอ เขาเลยตั้งภัณฑารักษ์หัวหน้าแผนกใหม่ๆ ขึ้นมาจำนวนมาก (14 คน จากตำแหน่งทั้งหมด 17 ตำแหน่ง) ซึ่งมีความคิดความเชื่อแบบใหม่ๆ โดยจ้างคนทำงานในแผนกดิจิทัลมากถึงราว 75 คน ใช้งบประมาณในแต่ละปี 20 ล้านเหรียญ โดยจำนวนคนที่ทำงานในแผนกดิจิทัลนั้นมีมากกว่า 5-6 แผนกอื่นรวมกัน ซึ่งก็ก่อให้เกิดความไม่พอใจในหมู่คนทำงานเก่าๆ ขึ้นมา

แต่ที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุด เห็นจะเป็นการเปลี่ยน ‘โลโก้’ ของ The Met ซึ่งของเดิมออกแบบโดยอิงกับตัวอักษร M แกะไม้ของ Luca Pacioli ซึ่งเป็นศิลปินอิตาเลียนยุคโน้นผู้เคยร่วมงานกับลีโอนาร์โด ดาวินชี โดยเปลี่ยนมาเป็นโลโก้ที่ ‘เห็นเด่นชัด’ ขึ้น ด้วยภาพตัวอักษรสองแถว เขียนว่า The Met บนพื้นสีแดง ดูสะดุดตา แต่ก็ถูกวิจารณ์จากนิตยสาร New York ว่า ดูแล้วเหมือนรถเมล์สองชั้นสีแดง (แบบรถเมล์ในลอนดอน) ที่เบรคกะทันหันจนผู้โดยสาร (คือตัวอักษร) หัวทิ่มมาชิดกัน

ที่จริงเราก็บอกได้ยาก เพราะเรื่องของศิลปะเป็นเรื่องรสนิยม ใครชอบใครไม่ชอบอะไรก็ว่ากันไปได้ แต่เรื่องที่น่าจะทำให้เกิดปัญหากับแคมพ์เบลขึ้นมาจริงๆ น่าจะเป็นเพราะเขาตกอยู่ใต้ ‘อิทธิพล’ ของผู้บริจาคและกรรมการพิพิธภัณฑ์บางคนมากกว่า

เรื่องหนึ่งที่นิตยสาร Vanity Fair ไปขุดคุ้ยมาก็คือการบริจาคภาพเขียนของเลียวนาร์ด ลอเดอร์ (Leonard Lauder) ซึ่งเป็นทายาทของเอสเต้ลอเดอร์ เขาบริจาคภาพโมเดิร์นให้ The Met ถึง 78 ภาพ ซึ่งมีมูลค่ารวมกันถึงหนึ่งพันล้านเหรียญ และจะทำให้ The Met พุ่งขึ้นไปอยู่แถวหน้าของมิวเซียมแบบโมเดิร์นอาร์ตทันที

แน่นอน เรื่องแบบนี้มิวเซียมไหนไม่รับก็บ้าแล้ว แต่ปัญหาก็คือ พอรับบริจาคมาแบบนี้ ก็ต้องหาที่ทางในการจัดแสดง ซึ่งแคมพ์เบลก็เลยตัดสินใจลงทุนขนานใหญ่ในหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ไปเช่าตึกของอีกมิวเซียมหนึ่งที่อยู่ใกล้ๆ กันเพื่อให้เป็นบ้านของงานศิลปะสมัยใหม่ที่กำลังเพิ่มจำนวนมากขึ้น (ซึ่งก็ใช้เงินราว 17 ล้านเหรีญต่อปี) รวมทั้งการรื้อปีกเก่าของตึก และสร้างปีกใหม่ขึ้นมาอีกด้านหนึ่ง โดยต้องใช้งบประมาณ 600 ล้านเหรียญ โดยที่ปีกใหม่ที่จะสร้างขึ้นมานี้ จะใช้เพื่อจัดแสดงงานที่ลอเดอร์บริจาคมา

หลายคนจึงวิพากษ์วิจารณ์ว่า แคมพ์เบลตกอยู่ใต้อิทธิพลของลอเดอร์มากเกินไปหรือเปล่า

แต่ปัญหาที่แท้จริงอยู่ตรงที่ แคมพ์เบลยังหาเงินได้ไม่ครบ 600 ล้านเหรียญเลย เขาก็ผลักดันให้เกิดการก่อสร้างแล้ว แล้วปรากฏว่าเงินมันเข้ามาช้ากว่าที่คิด ทำให้ขาดเงินกว่า 40 ล้านเหรียญ คือพวกผู้บริจาคเก่าๆ ก็บริจาคกันจนจะหมดเนื้อหมดตัวอยู่แล้ว ทำยังไงก็หาเงินมาไม่ได้ แม้กระทั่งบอร์ดก็ไม่ยอมควักกระเป๋า

ผลลัพธ์ก็คือ The Met ต้องมีประกาศอันน่าอับอายเมื่อต้นปีในการ ‘เลื่อน’ การเปิดปีกตึกใหม่นี้ไปอย่างไม่มีกำหนด

ที่สุดเมื่อมีรายงานข่าวของ The New York Times ออกมา ก็เป็นเหมือนฟางเส้นสุดท้าย ทำให้แคมพ์เบลตัดสินใจช็อกโลกศิลปะด้วยการลาออก

ที่ 101 นำเรื่องนี้มาเล่าให้คุณฟัง ไม่ใช่เพราะจะบอกว่าแคมพ์เบลดีหรือไม่ดี แต่อยากให้คุณได้เห็นว่า กระทั่งในโลกของศิลปะ ก็ยังมีการ ‘ตรวจสอบ’ กันอย่างเข้มข้น ทั้งจากสื่อและจากคนในแวดวงเดียวกันเอง ผลลัพธ์ที่ออกมาจึง ‘โปร่งใส’ อันเป็นหัวใจสำคัญของการทำงานยุคใหม่

 

ถึงจะช็อกโลกศิลปะ แต่ก็เชื่อว่า The Met จะผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้ด้วยดี

MOST READ

Life & Culture

14 Jul 2022

“ความตายคือการเดินทางของทั้งคนตายและคนที่ยังอยู่” นิติ ภวัครพันธุ์

คุยกับนิติ ภวัครพันธุ์ ว่าด้วยเรื่องพิธีกรรมการส่งคนตายในมุมนักมานุษยวิทยา พิธีกรรมของความตายมีความหมายแค่ไหน คุณค่าของการตายและการมีชีวิตอยู่ต่างกันอย่างไร

ปาณิส โพธิ์ศรีวังชัย

14 Jul 2022

Life & Culture

27 Jul 2023

วิตเทเกอร์ ครอบครัวที่ ‘เลือดชิด’ ที่สุดในอเมริกา

เสียงเห่าขรม เพิงเล็กๆ ริมถนนคดเคี้ยว และคนในครอบครัวที่ถูกเรียกว่า ‘เลือดชิด’ ที่สุดในสหรัฐอเมริกา

เรื่องราวของบ้านวิตเทเกอร์ถูกเผยแพร่ครั้งแรกทางยูทูบเมื่อปี 2020 โดยช่างภาพที่ไปพบพวกเขาโดยบังเอิญระหว่างเดินทาง ซึ่งด้านหนึ่งนำสายตาจากคนทั้งเมืองมาสู่ครอบครัวเล็กๆ ครอบครัวนี้

พิมพ์ชนก พุกสุข

27 Jul 2023

Life & Culture

4 Aug 2020

การสืบราชสันตติวงศ์โดยราชสกุล “มหิดล”

กษิดิศ อนันทนาธร เขียนถึงเรื่องราวการขึ้นครองราชสมบัติของกษัตริย์ราชสกุล “มหิดล” ซึ่งมีบทบาทในฐานะผู้สืบราชสันตติวงศ์ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยคณะราษฎร 2475

กษิดิศ อนันทนาธร

4 Aug 2020

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save